รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Patch Adams (1998) แพตช์ อดัมส์ คุณหมออิ๊อ๊ะ คนไข้ฮาเฮ

B00005JCCE.01.LZZZZZZZ

(นี่เป็นรีวิวรอบแรกของหนังเรื่องนี้ ที่ผมเขียนไว้เมื่อ 8 มิถุนายน 2548)

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของนายแพทย์แพตช์ ฮันเตอร์ อดัมส์ (Robin Williams) จากอดีตคนไข้ที่มีปัญหาทางจิตจนเกือบจะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเขาได้เข้าไปในโรงบาลบ้า เขากลับพบว่าเขายังมีประโยชน์และเขาสามารถช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ เขาเลยเบนเข็มชีวิตตนเองมาเป็นหมอครับ หมอที่ใช้รอยยิ้มและเสียงฮา ในการรักษาคนไข้ ซึ่งหมอบางคนก็ไม่ชอบขี้หน้า เนื่องจากไอ้นี่แหกคอก แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาในเวลาต่อมาครับ ซึ่งเขาจะสามารถฟันผ่าอุปสรรต่างๆ ไปได้หรือไม่ ก็ขอเชิญให้ท่านตามมาชมหนังเรื่องนี้เลยครับผม

ผมไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะบอกตรงๆ ว่านี่คือหนังที่ผมชอบสุดๆ เรื่องหนึ่งเลยทีเดียวครับ หนังมีความสนุก น่าติดตามและการแสดงอันยอดเยี่ยมของ Robin Williams และคนอื่นๆ ไม่ว่าจะ Monica Potter ในบทคอรีน ฟิชเชอร์ เพื่อนนักเรียนแพทย์สาวผู้มีอดีตอันขมขื่น อันทำให้เธอก่อกำแพงรอบตัวเองครับ ไม่ยอมเปิดใจรับใครเข้ามาในชีวิตอีกเลย ซึ่งกว่าแพตช์จะทำความรู้จักเธอได้นั้นก็ต้องอาศัยความอดทนอย่างมากจริงๆ Potter สามารถแสดงบทนี้ได้อย่างดีครับ แววตาเธอบอกเลยว่ามีความเจ็บช้ำอยู่ในใจ

Philip Seymour Hoffman นี่ก็เป็นอีกหนึ่งดาราฝีมือสุดยอดครับ กับบท มิชต์ โรมัน นักเรียนแพทย์รูมเมทของแพตช์ที่หมั่นไส้แพตช์อย่างมากที่เรียนดีกว่าเขา ทั้งๆ ที่แพตช์ทำตัวไม่เป็นโล้เป็นพาย แต่เขาดันนั่งอ่านหนังสือแทบตาย มันเลยกลายเป็นความอิจฉาครับ ซึ่งตัวละครนี้ก็เป็นอะไรที่เราเห็นได้บ่อยๆ ในสังคมนั่นแหละครับ คนเราก็มีทิฐิตัวนี้ทั้งนั้น ไม่ชอบให้ใครดูดีกว่าเรา แล้วมันก็เปลี่ยนมาเป็นความอิจฉา ซึ่งผมออกจะสงสารคนเหล่านี้จังเลยล่ะครับ เพราะยิ่งพวกเขาอิจฉามากเท่าไหร่มันก็ยิ่งร้อนรุ่มมากเท่านั้นน่ะฮะ

แล้ว ไอ้ที่ร้อนนี่ไม่ใช่ว่าใครมาทำเขานะครับ เขาทำตัวเองนั่นแหละ เพราะถ้าไม่เก็บมาคิดมาก ถ้าปล่อยวางซะบ้าง ก็หมดเรื่องแล้ว แต่นี่เล่นเก็บเอามายึดติดเอามาคิดเอง ก็ไม่รู้จะว่าไงล่ะครับ ทำให้ตัวเองทรมานเปล่าๆ น่ะ

ดังนั้นไม่อยากเป็นคนร้อนรุ่ม ก็อย่าอิจฉาผู้อื่นให้มันรุ่มร้อนเลยดีกว่านะครับ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อสุขภาพจิตของท่านเองน่ะแหละ (ด้วยความปรารถนาดี จากหมื่นทิพครับผม )

ส่วน อีกตัวละครหนึ่งที่ถือเป็นตัวแทนของคนอีกประะภทหนึ่งในสังคมก็คือท่านคณบดี ดีน วอลคอตต์ รับบทโดย Bob Gunton ซึ่งขานี้ก็ยอดฝีมืออีกคนครับ ซึ่งวอลคอตต์นี่ก็เป็นตัวแทนของพวกผู้ใหญ่หัวโบราณที่ไม่ยอมรับฟังการ เปลี่ยนแปลงหรือรับฟังคนอื่นทั้งสิ้น ชอบคิดว่าตนเองถูกตลอด ซึ่งผมว่าเด็กมากมายหลายคน โตขึ้นมาหัวดื้อชอบเถียง ชอบเอาชนะ ก็มีสาเหตุมาจากผู้ใหญ่ประเภทนี้ล่ะครับ เพราะผมเชื่อว่าตอนเด็กๆ หลายคนต้องเคยโดนครับ ประโยคที่ว่า “เรื่องของผู้ใหญ่ เด็กไม่เกี่ยว” หรือ “เด็กอย่างหนูจะไปรู้อะไร” ซึ่งมันอาจจะฝังใจนะ แล้วต่อมาก็เลยหล่อหลอมกลายเป็นความต้องการจะเอาชนะไปเลย เอาชนะทางความคิดนี่แหละ

ความอยากเอาชนะ ความที่คิดว่าตนเองถูกตลอดกาลนี่เองที่เป็นตัวทำให้เรารับรู้หลายๆ อย่างคลาดเคลื่อนไป และยังเป็นตัวสกัดกั้นความรู้ใหม่ๆ อีกด้วย คือ พอคนอื่นเสนอความเห็นที่เข้าท่ามา ก็ดันไม่ยอมรับรู้ซะงั้นน่ะ เพราะคิดว่าตัวเองถูกตลอด ซึ่งจริงๆ แล้ว ความคิดจะถูกหรือผิดมันก็สุดแท้แต่น่ะครับ แต่ไอ้การมาปิดกั้นทางความคิดแบบนี้มันออกจะคับแคบไปหน่อยนะ น่าเสียดายอ้ะ

โอเค เราฟังคนอื่นแล้ว เราไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร แต่หากเราลองเก็บมันมาคิดมาขบซักนิด ให้มันงอกเงย ให้มันได้ทำให้เราเห็นถึงมุมมองอื่นๆ บ้าง มันก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่หรือไงล่ะครับ

โอย หนังเรื่องนี้ดูแลต่อมเอะกระจายครับ มีอะไรน่าสนใจแฝงอยู่เยอะจริงๆ

นอก จากสาระกระบุงกว่าๆ แล้ว นะครับ หนังยังมีดนตรีระดับสุดยอดเหนือคำบรรยายที่ผมต้องยกให้เป็นหนึ่งในสิบหนัง ที่มีดนตรีประกอบจากฝีมือของ Marc Shaiman คอมโพเซอร์ที่บรรเลงดนตรีอันสุดแสนจะจับใจที่สุดเท่าที่ผมเคยชมมา และการกำกับที่ลื่นไหลของ Tom Shadyac ก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยให้หนังเยี่ยมไปอีกระดับ

สำหรับผม หนังสร้างพลังใจอย่างมากครับ คิดดูคนที่อยากฆ่าตัวตายยังกลับใจและพบทางของตนได้ ด้วยการสร้างรอยยิ้ม แม้ว่าบางอย่างของแพตช์จะแหกคอกไปบ้าง แต่เขาไม่ได้ทำเพราะคิดร้าย เขาทำเพราะเห็นว่ามันมีประโยชน์ต่างหากล่ะ นั่นทำให้ปัจจุบันผมก็ออกจะแหกคอกตามพี่แกไปเหมือนกัน และผมยังชอบเรียกเสียงฮาให้คนอื่น ชอบสร้างความสุขให้คนอื่น สำหรับคนที่สงสัยว่ามีหนังเรื่องไหนมั้ย ที่ทำให้ผมมาเรียนจิตวิทยา คำตอบก็คือ เรื่องนี้ครับ ผมเรียนเพื่อที่จะทำให้คนสบายใจ ไม่ใช่เพื่อตนสบายใจนะ ผมอยากให้คนอื่นสบายใจก่อน ดังนั้น หนังเรื่องนี้เปลี่ยนชีวิตผม … จะว่างั้นก็คงได้น่ะ

อีกส่วน มันทำให้ผมยอมรับน่ะ ว่าบางคนมีความคิดแหกคอก ซึ่งบางคนอาจจะเกลียดก็ได้ เช่น ใครจะมาคิดต่างจากเราได้ไง อะไรทำนองนี้ แต่ผมดูแล้วรู้สึกขึ้นมาเลยว่า นานาจิตตังครับ ทุกคนมีทางของตน ทุกคนมีสิทธิ์คิดได้ ไม่ใช่เพราะประชาธิบไตยหรอกครับ แต่เพราะ คนเรามีความคิดที่หลากหลายต่างหาก แล้วในสนามความคิดมันมีถูกผิดที่ไหนกันล่ะครับ ดังนั้นเราไม่มีหน้าที่จะไปตัดสินความคิดใครซะหน่อย เขาคิดต่างจากเรา … แล้วไงครับ มันทำให้เราเสียชีวิตเหรอ นี่ผมพูดในกรณีทั่วไปนะ ถ้าเป็นเรื่องของพวกผู้มีอิทธิพลก็เป็นอีกเรื่อง (ประมาณว่าเห็นต่างจากเขาแล้วเราะจโดนไข้โป้งไรเงี้ยน่ะครับ) แต่นี่ผมหมายถึงทั่วๆ ไป ไม่ต้องอื่นไกล ในเว็บ PANTIP นี่แหละ เห็นต่างกันก็นั่งตั้งป้อมด่า แล้วมันเรื่องอะไรล่ะครับ สมมติว่าถ้าเจอคนโพสต์กระทู้แล้วมีข้อความอันเป็นความเห็นที่ต่างจากเรา เราก็เพียงแค่บอกว่า “ผมเห็นต่างจากคุณนะ ผมคิดว่าแบบนี้มากกว่า …” อะไรก็ว่าไปก็ได้นี่ครับ ไม่เห็นต้องมีการโต้แย้งซักหน่อย จะเอามาเป็นอารมณ์ทำไม ก็แลกเปลี่ยนความคิดอ้ะ

ถ้าเราไม่ฟังใคร แล้วจะหวังให้ใครมาฟังเราได้ไงล่ะครับ จริงมั้ย

กลับ มาที่เรื่องหนังอีกทีนะครับ ก็นะ หนังมันครบเครื่อง สนุกสนานมีเศร้าซึ้งและเรื่องชวนลุ้นในตอนท้ายๆ ซึ่งแม้มันจะเน้นและเร้าอารมณ์ประทับใจแบบจงใจไปหน่อยก็เถอะ แต่ก็จัดว่าดีครับ

โดยส่วนตัวผมมีมุมมองเทไปทางเชิงบวกต่อหนังนะครับ ผมชอบมากและมันมีผลต่อชีวิตผม ดังนั้นผมคงไม่บังคับให้ใครเชื่อว่านี่เป็นหนังดี เอาเป็นว่าลองดูเองก่อนแล้วกันคับ

(และนี่คือรีวิวฉบับเต็มที่ผมเขียนไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ครับ)

อีกหนึ่งหนังโปรดของผม ที่แสดงโดยลุง Robin Williams ดาราผู้น่ารักที่ขยันเล่นบทดีๆ เอาไว้เยอะจริงๆ ครับ อย่างบทครูคีตติ้งผู้สร้างแรงบันดาลใจใน Dead Poets Society เรื่อยมาจนถึงบท ฮันเตอร์ แพตช์ อดัมส์ ชายผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยคิดสั้น แต่แล้วเขาก็ได้ผันตัวเองมาเป็นคุณหมออารมณ์ดี ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณหมอหนุ่มสาวทั่วอเมริกา

เขามีตัวตนจริงๆ ครับ คุณหมอแพตช์ อดัมส์ เนี่ย ซึ่งกว่าเขาจะมาเป็นหมอในดวงใจของคนไข้ทั้งหลายนั้น เขามีชีวิตวัยเด็กที่แสนทุกข์ครับ ตั้งแต่การสูญเสียพ่อตอนอายุได้ 16 ปี ซ้ำพอเข้าช่วงวัยรุ่น ก็ยังมาโดนพวกอันธพาลประจำโรงเรียนกลั่นแกล้ง รังแกซะจนเขาเกิดอาการทางประสาท เป็นโรคซึมเศร้า ตามด้วยการคิดสั้น และอยากฆ่าตัวตายไปซะ จะได้จบชีวิตแย่ๆ นี้ลงเสียที

แพตช์เลยต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอยู่ 3 ครั้งครับ และยังคิดฆ่าตัวตายอีกนับครั้งไม่ถ้วน แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาก็ตระหนักได้ครับว่า ความตายไม่ใช่ทางออก แต่การเปลี่ยนความคิด ปฏิวัติตนเองให้เป็นคนใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ให้มีคุณค่า นั่นต่างหากล่ะถึงจะเป็นทางออกที่ดี

และจากการได้สังเกตเพื่อนคนไข้ร่วมโรงพยาบาล ทำให้เขาตระหนักได้ว่า เขาน่าจะมีโอกาสได้ลองช่วยเหลือคนที่ต้องเป็นทุกข์เพราะโรคภัย ไม่ว่าจะเป็นโรคทางใจแบบที่เขาเป็น หรือโรคทางกายอื่นๆ อันทำให้เขาตัดสินใจเรียนต่อเป็นคุณหมอในเวลาต่อมา

เรื่องราวของแพตช์ก็ถูกนำมาสร้างเป็นหนังครับ ได้ลุง Robin รับบทไป (ซึ่งเหมาะมากๆ ครับ) โดยจับเอาเรื่องราวในช่วงชีวิตตอนที่เขาต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลประสาท ก่อนจะคิดได้และผันตัวมาเป็นนักเรียนหมอที่เชื่อว่ารอยยิ้มคือกุญแจแห่งชีวิต ที่จะนำเราไปสู่สิ่งดีสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะชีวิตที่ดี สุขภาพที่แข็งแรง มิตรภาพที่ไม่จำกัด ความสุขที่เยอะได้อีก

อีกทั้งยังเป็นคนสนับสนุนการบำบัดรักษาโรคโดยใช้ศาสตร์ทางการแพทย์และจิตวิทยา รักษาคนไข้ด้วยยาและเสียงหัวเราะ ผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้คนไข้ฟื้นตัวครบถ้วนทั้งกายและใจ เป็นทั้งการรักษาและป้องกันโรคภัยไปในคราวเดียว

นี่คือตัวจริงของคุณหมอ ฮันเตอร์ แพตช์ อดัมส์ ครับ

มาว่ากันที่ตัวหนังนะครับ กำกับโดย Tom Shadyac เจ้าของผลงานอย่าง Ace Ventura: Pet Detective, The Nutty Professor, Liar Liar และ Bruce Almighty ที่ผมชอบทั้งนั้นล่ะครับ แต่ละเรื่องก็ล้วนมีทั้งอารมณ์ขันและสาระดีๆ แทรกเสมอ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมออกจะชอบเรื่องนี้มากกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะมันสนุกแบบลงตัว มีส่วนผสมระหว่างความฮาและสาระที่สร้างแรงบันดาลใจเยอะกว่าเรื่องอื่นพอตัว

ด้านนักแสดงก็ดีทุกคน ตั้งแต่ ลุง Robin ที่ครองหน้งได้สบายๆ, Monica Potter ก็เหมาะมากกับบท คอรีน ฟิชเชอร์ นักศึกษาแพทย์สาวที่มีประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้าย จนเธอไม่อยากเข้าใกล้ผู้ชายคนไหนอีก จนกระทั่งเธอได้มาเจอกับแพตช์

Philip Seymour Hoffman นี่ก็อีกหนึ่งดาราฝีมือสุดยอด ที่ตอนนั้นชื่อยังไม่ดังมาก (แต่มีผลงานดีๆ สม่ำเสมอเหลือเกิน) กับบท มิชต์ โรมัน นักเรียนแพทย์รูมเมทของแพตช์ที่หมั่นไส้แพตช์อย่างมากที่ดันมีผลการเรียนดีกว่าเขา ทั้งๆ ที่แพตช์ลัลล้าไปวันๆ ไม่เห็นจะคร่ำเคร่งอ่านตำราเท่าเขาเลย มันเลยกลายเป็นความอิจฉานั่นเองครับ

คนแบบตัวละครนี้ก็เป็นอะไรที่เราเห็นได้บ่อยๆ ในสังคมครับ คนที่มีทิฐิไม่ชอบให้ใครได้ดีกว่า แล้วมันก็มาเป็นความอิจฉา ซึ่งจะว่าไปแล้ว คนแบบนนี้น่าสงสารครับ เพราะยิ่งพวกเขามีไฟอิจฉาสุมใจมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งร้อนรุ่มมากเท่านั้นน่ะฮะ

ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นคนร้อนรุ่ม ก็อย่าอิจฉาผู้อื่นให้มันรุ่มร้อนดีกว่าครับ เพื่อสุขภาพจิตของเราเองนะครับ

อีกตัวละครหนึ่งที่น่าหยิบยกมาพูดถึงก็คือ คณบดีดีน วอลคอตต์ รับบทโดย Bob Gunton ยอดฝีมืออีกคนครับ ซึ่งคณบดีวอลคอตต์ก็ถือเป็นตัวแทนของพวกผู้ใหญ่หัวโบราณที่ไม่ยอมรับฟังการเปลี่ยนแปลงหรือความเห็นใหม่ๆ ชอบคิดว่าตนเองถูกเสมอ ซึ่งน่าคิดครับว่าส่วนหนึ่งที่เด็กๆ โตขึ้นมาแล้วกลายเป็นคนหัวดื้อชอบเถียง ชอบเอาชนะ และไม่ค่อยฟังใคร ก็อาจเพราะได้รับอิทธิพลหรือได้ต้นฉบับมาจากผู้ใหญ่ลักษณะนี้แหละครับ

การที่เด็กๆ ต้องเจอประโยคอย่าง “เรื่องของผู้ใหญ่ เด็กไม่เกี่ยว” หรือ “เด็กอย่างหนูจะไปรู้อะไร” ปิดปากเป็นประจำ ก็อาจส่งผลให้หมดความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออกและไม่กล้าสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ หรือไม่กลายเป็นคนไม่ฟังใคร ยอมให้ความคิดคนอื่นถูกกว่าตนไม่ได้ กลายเป็นคนอยากจะเอาชนะไปเลยก็มี

ผู้ใหญ่ทั้งหลายครับ พิจารณาดีๆ เน้อ ว่าเรากำลังมีส่วนในการก่อร่างสร้างลูกหลานของเรา ให้โตขึ้นเป็นอย่างไร

ความอยากเอาชนะ และความที่คิดว่าตนเองถูกตลอดนี่เองที่ทำให้เรารับรู้หลายอย่างคลาดเคลื่อนไป และยังเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้สมองเรารับความรู้ใหม่ๆ อีกด้วย อย่างเวลาที่คนอื่นเสนอความเห็นที่แตกต่างมา แทนที่เราจะลองไตร่ตรอง เรียนรู้ ทำความเข้าใจมุมมองใหม่ๆ คิดต่อยอดให้เราเกิดปัญญากว้างไกล เรากลับไม่ยอมรับรู้ซะ เพราะคิดแค่ว่าตัวเองถูกที่สุด ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมากเลยนะครับ

การได้รู้มุมมองใหม่ ได้ยินความคิดที่เราไม่เคยลองคิดถึงมาก่อน อาจทำให้คุณได้กำไรคิด… แต่มีข้อแม้เล็กๆ ว่าเราต้องฟังมันด้วยใจเปิดกว้างนะครับ

หมอแพตช์ตัวจริง เจอหมอแพตช์เวอร์ชั่นลุง Robin

แล้วก็กลับมาที่สาระหลักที่ผมว่าบันดาลใจไม่ใช่น้อยเลยล่ะครับ เรื่องของชายคนหนึ่งที่เคยคิดสั้น แต่ก็พลิกความคิด ผันตัวเองมาเป็นคุณหมอที่สร้างรอยยิ้มและรักษาคนด้วยเสียงหัวเราะ ซึ่งแพตช์ได้พิสูจน์ให้เห็นครับ ว่าเรานั้นเลือกเส้นทางชีวิตได้เสมอ ว่าจะจบมันหรือดำเนินต่อไป ยามที่เราเจอกับปัญหาเรื่องความทุกข์ต่างๆ ที่มักจะถาโถมเข้ามา อันเป็นธรรมดาของชีวิต

และการดำเนินชีวิตต่อไปนั้น เราก็กำหนดได้อีกครับ ว่าเราจะใช้ชีวิตแบบไหน บางคนพอเจอเรื่องร้ายๆ มาเยอะ ก็กลายเป็นคนพาล ทำสิ่งผิดประชดชีวิต แต่กับบางคน เมื่อเขาเข้าใจชีวิตและมองโลกในมุมบวก มันก็จะทำให้เขามองเห็นสิ่งดีๆ ตระหนักได้ว่าตัวเขานั้นมีคุณค่าและสามารถลงมือสร้างสิ่งมีค่า สิ่งอันเป็นประโยชน์ให้กับโลกได้อีกสารพัดเรื่อง อย่างที่แพตช์ทำนี่แหละครับ

สิ่งที่ผมอยากให้สังเกตอย่างหนึ่งก็คือ จริงๆ แล้วแพตช์เป็นคนคิดเยอะนะครับ เวลาจะคิดอะไรทีก็คิดเต็มที่แบบสุดๆ ไปเลย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกครับที่ในคราวแรกพี่ท่านถึงเป็นโรคซึมเศร้าและเกือบจะฆ่าตัวตาย เพราะเขาเป็นคนคิดเยอะ แล้วพอสิ่งที่เขาคิดในสมองนั้นคือความคิดลบ เขาก็เลยกลายเป็นคนหมกมุ่น คิดลบซ้ำไปซ้อนมา จนในที่สุดเจ้าความคิดลบนั่นก็เหมือนโรคร้ายที่แพร่แผ่ซ่านไปทั่วสมองของเขา

แต่ในกาลต่อมา เมื่อเขาพลิกความคิดได้ เจ้าความคิดเยอะของเขาก็ออกฤทธิ์เช่นกัน แต่เป็นฤทธิ์ในทางบวกครับ พลังความคิดของเข้าทุ่มให้กับการคิดบวก คิดหาทางออกให้กับสิ่งที่แพตช์ต้องการ อย่างการหาคำตอบว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่หมอจะต้องไม่ทำตัวเครียด เป็นไปได้หรือไม่ว่าอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะ จะช่วยเหลือคนป่วยได้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการรักษาโรคที่ดีที่สุดคือการรักษาทางกายไปพร้อมๆ กับทางใจ ฯลฯ

อะไรพวกนี้ทำให้เราเห็นครับ ว่าความคิดคือสิ่งที่มีพลังมาก มันมีผลต่อชีวิตเราได้ ดังนั้นสิ่งที่เราคิด เข็มทิศและแผนที่ที่เราใส่ไปในสมองนั้น สำคัญครับ เราจึงควรพยายามจัดให้สมองได้วัตถุดิบทางความคิดที่เข้าท่า ไม่ว่าจะความคิดบวก การมองบวก แม้จะเจอเรื่องลบๆ มาก็ควรจัดการแปลงลบให้เป็นบวกก่อน แล้วค่อยนำไปคิดต่อในสมอง

และที่ลืมไม่ได้คือ การมองบวกนั้นเราควรมองบวกบนความเป็นจริงครับ ไม่ใช่เกินจริงจนเป็นเพ้อฝันหรือมองบวกจนก่อให้เกิดความประมาท ซึ่งสำหรับแพตช์นั้นเขาก็มองบวกเยอะไปบ้างในบางช่วง จนพอมีเรื่องสะเทือนใจเขา (ใครดูหนังแล้วย่อมทราบดีครับ ว่าเรื่องนั้นมันสะเทือนใจเขาแรงแค่ไหน) เขาก็เป๋ไปพักหนึ่ง ก่อนจะค่อยๆ คิดและตั้งสติ อันทำให้เขาคิดได้อีกครั้งว่า การมองบวกที่ดี คือ การมองบวกแบบพอเหมาะ บนความเป็นจริง ไม่ใช่หลับหูหลับตามองบวกจนไม่รับรู้อื่นใด

Dead Poets Society หนังดีที่ผมพูดถึงวันก่อน เราคงจำได้ว่าบทของ ลุง Robin ได้พูดถึงพลังแห่งแรงบันดาลใจ และแอบสะกิดให้คนดูมีแรงบันดาลใจอย่างเหมาะสม ไม่ใช่มากเกินไปจนเพ้อหรือจนคิดอะไรสั้นๆ แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีเลย จนทำให้ชีวิตลอยไปอย่างไร้หลักแหล่ง และสำหรับ Patch Adams นี้ก็เป็นอีกครั้งครับ ที่บทของลุง Robin ได้สะกิดให้เราทำอะไรอย่างเหมาะสม ในครั้งนี้ก็คือ “การมองบวก ความรื่นเริง ความ Happy” ที่ควรให้มันพอดี ไม่ใช่มากไปจนทำให้ชีวิตประมาท

ทำอะไรให้พอดี อยู่ตรงทางสายกลางๆ เอาไว้ดีกว่านะครับ

หวังเป็นอย่างยิ่งครับว่า เรื่องของชายที่เคยเกือบจบชีวิตตน แต่แล้วก็คิดได้ แล้วพลิกชีวิต ซึ่งนอกจากเขาจะปิดตายเรื่องการคิดสั้นไปตลอดกาลแล้ว เขายังเป็นคนช่วยให้คนอีกมากมายมีชีวิต มีความสุข มีแรงบันดาลใจที่จะยิ้มต่อไป

ไม่ว่าคุณจะป่วยน้อยหรือมาก ไม่ว่าคุณจะทุกข์เยอะหรือเบา คุณก็มีสิทธิ์ที่จะลองเลือกดูสักตั้งนะครับ ว่าจะเผชิญหน้ากับเรื่องพวกนั้นด้วยรอยยิ้ม สติและความหวัง หรือด้วยหน้าบึ้ง สมองตึง และน้ำตา

สำหรับตัวจริงของแพตช์นั้น ตอนนี้เขาได้ทำงานประจำอยู่ในสถาบันเกซุนด์ไฮท์ (Gesundheit! Institute) ที่เขาได้ก่อตั้งขึ้น ซึ่งเป็นสถานที่บำบัดรักษาอาการคนไข้ด้วยวิธีสร้างรอยยิ้ม ความสุข และกำลังใจแบบที่เราเห็นในหนังนั่นแหละครับ ซึ่งด้วยวิธีรักษาคนไข้ทฤษฎีหรรษาของเขา

และที่สำคัญคือคนไข้ของเขานั้น ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลครับ (แต่ส่วนมาก ใครที่มีเงินก็จะบริจาคช่วยเหลือแพตช์เสมอ) ทำให้สถาบันแห่งนี้ได้ช่วยชีวิตคนที่ไม่มีประกันสุขภาพเอาไว้มากมาย เพราะตามปกติถ้าใครไร้เงิน ไร้ประกันในแผ่นดินอเมริกา ก็เตรียมตัวทำใจได้เลยครับ แต่สำหรับสถาบันแห่งนี้แล้ว ไม่มีใครไม่แพตช์ไม่รักษา จนถึงปัจจุบันมีคนไข้ที่ได้รับการรักษาที่นี่ไปกว่า 15,000 รายแล้วครับ และแน่นอนว่าทุกคน ชื่นชมชายที่ชื่อแพตช์คนนี้ และรู้สึกขอบคุณเขาแบบสุดหัวใจ

สำหรับเหล่าคนไข้หรือญาติคนไข้ที่มาแสดงความขอบคุณต่อความกรุณาของแพตช์นั้น ก็มีหลายแบบครับ บ้างก็ขอบคุณสำหรับการรักษาที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายนี้ โดยการมาเป็นหน่วยอาสา ช่วยดูแลคนไข้ จัดหายาให้ ปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาด ให้เงินบริจาค บางคนก็ช่วยเสนอชื่อให้เขาได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ และบางคนก็เสนอจะดูแลแพตช์ไปตลอดชีวิตเป็นการตอบแทนก็มี… ดูผลลัพธ์แห่งความดีที่แพตช์ทำให้ดีๆ นะครับ มันทำให้เกิดสิ่งใดขึ้น… คุณอาจคิดว่ามันก็แค่การตอบแทนบุญคุณทั่วๆ ไป แต่ผมมองว่า มันคือผลแห่งการบันดาลใจ มันคือเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตากรุณาที่แพตช์เพาะมันลงในตัวคนไข้และญาติๆ

ผมจึงรู้สึกมีความหวังทุกครั้งที่ได้รับรู้เรื่องราวของแพตช์ครับ เขาคิอคนหนึ่งที่พิสูจน์ว่า มนุษย์ยังมีน้ำใจเสมอ เพียงแต่บางครั้งเราอาจหลงลืมไป หรือโดนสิ่งแย่ๆ อย่างความเห็นแก่ตัว ความเจาอารมณ์ที่เราพบเห็นบ่อยกว่าในสังคม หล่อหลอมจนเราไปทำสิ่งแย่ๆ มากกว่าจะทำสิ่งดีๆ

หากสังคมเต็มไปด้วยต้นแบบดีๆ แบบแพตช์ หลายสิ่งคงเปลี่ยนไปในแบบที่ทำให้เรายิ้มได้อย่างแน่นอน… ว่าแต่เรื่องของแพตช์ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณอยาก “เป็นต้นแบบบันดาลใจ” ให้กับคนอื่นๆ บ้างหรือยังครับ

ยิ่งเป็นกันเยอะเท่าไร สังคมย่อมสวยงามมากเท่านั้น… ลองเริ่มจากตัวเรากันนะครับ มาช่วยกันบันดาลใจ ให้ใครๆ ก็อยากทำดีกัน

ผมให้เรื่องนี้สามดาวครึ่งครับ

Star32

(8.5/10)