หนังเรื่องนี้ดีจริงเจ๋งจริงครับ ไม่ต้องอ่านรีวิวจากที่ไหนทั้งสิ้น อยากแนะนำให้ดูได้เลยครับ
อ้อ แต่ต้องบอกก่อนว่าหนังเรื่องนี้เป็นดราม่าว่าด้วยเรื่องคนค้นข่าวครับ ดังนั้นมันไม่ได้มีอะไรที่ระทึกขวัญหรือตื่นเต้นเร้าใจ มันคือคนกลุ่มหนึ่งตามติดเกาะข่าวแบบไม่ปล่อย ไม่เหมือน Nightcrawler ที่จะมีลูกเล่นมากกว่า (ทั้งด้านภาพและเนื้อเรื่อง)
ดังนั้นหากใครไม่ชอบหนังดราม่าหรือหนังที่มีแต่บทสนทนา ไม่มีอะไรเร้าใจแล้วล่ะก็ นี่อาจไม่ใช่หนังที่โดนสำหรับท่านครับ (แต่ถ้าใครชอบล่ะก็ ผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้ต้องโดนใจท่านครับ)
หนังสร้างจากเค้าโครงเหตุการณ์จริงของทีมนักข่าวที่ขุดคุ้ยกรณีมีคนร้องเรียนว่าถูกบาทหลวงท้องถิ่นล้วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจากคำร้องเพียงไม่กี่ปาก เรื่องก็ลุกลามกลายเป็นประเด็นใหญ่โตและสะเทือนถึงศาสนจักร
อันทำให้นักข่าวทีมนี้ต้องไตร่ตรองให้ดีว่าพวกเขาจะยังเดินหน้าทำงานข่าวนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะสิ่งที่พวกเขาทำนั้น มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเต็มไปหมด
แว่บแรกที่คิดเลยคือหนังคู่ควรกับออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมครับ ที่บอกแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเรื่องอื่้นไม่คู่ควรนะ ผมว่ารางวัลต่างๆ มันก็คือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งน่ะครับ เป็นเหมือนสีสันของวงการ แต่ไม่ได้ตีตราลงไปว่าหนังเรื่องนี้ดีกว่าเรื่องไหน
อย่างรางวัลหนังยอดเยี่ยมนี่ จริงๆ ผมว่ามีหลายเรื่องควรได้ล่ะครับ เพียงแต่อยู่ที่คณะกรรมการว่าจะเทคะแนนไปที่เรื่องไหนมากกว่า แต่แม้เรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้รางวัล ก็ใช่ว่าจะมีคุณค่าต่ำต้อยด้อยกว่า (หรือแม้แต่เรื่องที่ไม่ได้เข้าชิงก็เถอะ)
หนังเดินเรื่องแบบเรียบง่าย แต่ทรงพลังครับ พลังสำคัญคือทีมดาราที่ฝีมือแน่นทุกคน ไม่ว่าจะ Mark Ruffalo, Michael Keaton, Rachel McAdams, Liev Schreiber, John Slattery หรือ Stanley Tucci ทุกคนคือพลังสำคัญยิ่งที่ทำให้หนังออกมาน่าติดตามขนาดนี้
ต่อมาคือเรื่องบทครับ บทจริงๆ ถือว่าไม่มีอะไรซับซ้อนนะ แต่การลำดับเรื่องราวมันทำให้เกิดความน่าติดตาม การเผยปมต่างๆ มันกระตุ้นให้เราอยากรู้ว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เรียกว่าทีมผู้เขียนบท Josh Singer และ Tom McCarthy (ซึ่งรายหลังกำกับด้วย) สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ เดินเรื่องแบบเรียบง่ายไม่หนักลูกเล่น แต่ก็ไม่หนักเกินจนคนดูรู้สึกอึดอัด
อีกอย่างคือหนังเล่นกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากๆ ครับ (เรื่องล่วงละเมิดทางเพศ, ศาสนา, ความเชื่อ และยังอิงจากเค้าโครงเรื่องจริงด้วย) แต่บทหนังก็สามารถแจกแจงนำเสนอประเด็นเหล่านี้ได้อย่างพอเหมาะ คือประเด็นที่ต้องการสื่อมันครบล่ะครับ แต่ก็ไม่ได้ตีตราเทไปด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป ไม่ได้โจมตีศาสนจักร แต่ก็ไม่ถึงกับไม่กล้าแตะ ยังกล้าพูดถึงประเด็นหลักๆ ของเรื่องราวจนครบ ถือว่าจังหวะในการนำเสนอพอเหมาะจริงๆ
หนังได้ออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ไปเหมือนกัน อันนี้ถือว่าคู่ควรเลยล่ะครับ เพราะเขียนบทออกมาได้พอเหมาะ ไม่หนักมือมาก แต่ก็ไม่เบามือเกิน ถือว่าแน่จริงเลยล่ะครับที่กะน้ำหนักได้กำลังดีขนาดนี้ ทั้งบทและดาราสามารถทำงานสอดประสานกันได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ
สำหรับประเด็นข่าวนั้นก็มีจุดน่าสนใจหลายเรื่องครับ (อันนี้คงมีสปอยล์ล่ะนะครับ หากไม่อยากทราบข้ามไปได้เลยครับ)
อย่างแรกคือประเด็นเกี่ยวกับคนข่าวที่หนังย้ำอยู่ตลอดว่าจริงๆ แล้วเรื่องอื้อฉาวนี้มีคนร้องเรียนมายังหนังสือพิมพ์มานานมากๆ แต่ตอนนั้นคนรับเรื่องคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ มีคนโดนล่วงละเมิดแค่ไม่กี่คน ไม่น่าสนใจและไม่น่านำมาเล่นหรอก เอาเวลาไปเล่นข่าวใหญ่ๆ ดีกว่า
แล้วในที่สุดหลายปีต่อมา ข่าวล่วงละเมิดที่ว่าก็ใหญ่ขึ้นมาจริงๆ เพราะมีคนร้องเรียนเพิ่มขึ้น จน วอลเตอร์ โรบินสัน (Michael Keaton) นักข่าวที่เคยรับคำร้องตอนที่เรื่องนี้ยังเป็นเพียง “เรื่องเล็กๆ ของคนไม่กี่คน” เกิดสำนึกขึ้นมาว่า ถ้าเขาจับข่าวนี้มาตั้งแต่แรก ตั้งแต่สมัยที่มีคนโดนล่วงละเมิดเพียงไม่กี่คน เขาอาจจะสามารถช่วยระงับเรื่องนี้ให้ไม่ใหญ่โตแบบนี้ และอาจช่วยคนอีกหลายคนไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นก็ได้
หนังตั้งประเด็นถามเรื่องจรรยาบรรณและบทบาทของสื่อได้ดีล่ะครับ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้หลายคนทำข่าวเพื่อขายข่าวแลกข้าวและเงิน ซึ่งผมก็เข้าใจนะ มันคืออาชีพ จะให้ทำแล้วกัดก้อนเกลือก็อาจไม่ใช่ทางที่ใครอยากจะเลือก
แต่ประเด็นคือ เราจะคิดถึงแต่เรื่องเงินจนละเลยบทบาทจริงๆ ของสื่อที่ส่วนหนึ่งก็มีไว้เพื่อ “ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และตีแผ่ความจริงให้สังคมรับรู้” อย่างนั้นหรือ?
ทว่าหากคิดในอีกแง่ จะโทษนักข่าวอย่างเดียวก็คงไม่ได้ล่ะครับ เพราะเอาเข้าจริงคนรับสารอย่างประชาชนทั่วไป ก็ดูเหมือนจะชอบข่าวที่มีสีสันใส่ไข่มากกว่าข่าวที่สะท้อนความจริง
ดังนั้นหากมองแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องของสื่อครับ แต่มันคือองค์รวมทั้งระบบของสังคมมนุษย์ที่หากพิจารณาดีๆ แล้ว จะพบว่าพวกเราอาจหลงระเริงกับการกระทำพฤติกรรมที่ทำลายตัวเอง หรือไม่ก็เพิกเฉยละเว้นไม่ทำพฤติกรรมที่ช่วยปกปักษ์รักษาตนเองแบบไม่รู้ตัวก็ได้
ถึงตอนนี้ผมนั่งคิดว่าคุณลักษณะของมนุษย์ทุกวันนี้มันมีแนวโน้มเป็นเช่นไรกันแน่?
เพราะสังคมที่ดูวุ่นๆ วายๆ ทุกวันนี้ ก็เกิดจากคุณลักษณะของพวกเราช่วยกันบ่มเพาะนั่นเอง… ว่าแต่เราแน่ใจจริงๆ นะว่าจะบ่มเพาะอะไรแบบนี้ต่อไป? บ่มเพาะการเอาหูไปหาเอาตาไปไร่กับเรื่องที่สำคัญๆ แต่มัวหันไปสนใจเพ่งเรื่องที่อร่อยลิ้นอร่อยปาก (อย่างเรื่องดราม่าทั้งหลาย)
ผมตระหนักนะว่าทุกวันนี้เราก็สรรหาเหตุผลมาสนับสนุนในสิ่งที่เรากระทำได้ทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะไร้สาระแค่ไหนก็เถอะ แต่เราก็ยังบอกว่าเรามีเหตุผลและยังยืนยันที่จะทำต่อไป แต่ผมว่าเราอาจต้องลองมอง “แต่ตัวเอง” ให้น้อยลง แลัวหันมามองโลกรอบตัวแบบจริงๆ จังๆ ได้แล้วล่ะครับว่าสิ่งที่เราและหลายๆ คนทำมันส่งผลชนิดใด มันนำสังคมมาสู่จุดใด และถ้ายังทำแบบนี้ต่อไป มันจะนำเราไปไหน?
คนที่ต้องถามตัวเองให้มากหน่อย ก็คือคนที่ไม่รู้สึกโอเคกับหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เรากลับนิ่งและยอมให้มันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากค่านิยมเฉพาะกลุ่มกลายเป็นวัฒนธรรมที่ใครๆ ก็อ้างว่า “ใครก็ทำ”
หากเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ก็เหมือนเราเป็นเบรคที่ไม่ยอมทำหน้าที่ ปล่อยให้รถพุ่งไปตามยถากรรม… ถึงจุดหนึ่งมันก็คงชน
ปัญหาคือ เราก็อยู่ในรถคันนั้นด้วย… ว่าง่ายๆ คือเราก็ต้องเจอผลกระทบด้วยนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็เถอะ
ในแง่หนึ่งหนังเรื่องนี้พยายามปลุกกระตุ้นให้คนดูตื่นครับ แม้เราจะไม่ใช่คนข่าว แต่เราก็มีบทบาทหน้าที่ช่วยพยุงสังคมให้อยู่รอด ดังนั้นก็ต้องช่วยกันตรวจสอบและสอดส่อง อย่าปล่อยให้สิ่งที่อาจทำลายสังคมเติบโตจนเกินไป
ครับ สรุปว่าหนังเรื่องนี้ทำได้ดีเลยครับ น่าติดตาม เข้มข้น ถือเป็นหนังดราม่าคนข่าวที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยมและน่าจดจำชนิดที่ไม่อยากให้พลาดกันเลยล่ะ
ถือเป็นงานกำกับระดับท็อปฟอร์มของ Tom McCarthy ที่ส่งชื่อเขาให้เข้าชิงออสการ์ในหนนี้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเขามีผลงานดีๆ ออกมาเรื่อยๆ ครับ ไม่ว่าจะ The Station Agent, The Visitor และ Win Win จะมีเป๋ไปบ้างก็ตอนทำ The Cobbler (ที่ Adam Sandler นำแสดง)
สามดาวครึ่งครับ
(8.5/10)