ฟังชื่อไทยครั้งแรก สารภาพว่าหิวหมูพะโล้กับต้มจับฉ่ายขึ้นมาทันที!
ส่วนเนื้อหาภายในไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหมูสามชั้นแม้แต่น้อยครับ
นี่คือหนังแนวสืบสวนสร้างจากนิยายของ John Grisham เจ้าพ่อนิยายแนวขึ้นศาลและกฎหมายชื่อดัง หลังจากผมเอา The Pelican Brief และ The Chamber มาแนะนำแล้ว ก็ขอตามทบด้วยเรื่องนี้ ที่จัดว่าสนุก เข้มข้น น่าติดตามกำลังดีกว่าสองเรื่องก่อนที่ผมพูดถึงไป
เหตุเกิดเมื่อเด็กน้อยมาร์ค สเวย์ (Brad Renfro) และน้องชาย (David Speck) ออกไปเที่ยวเล่นในป่า ระหว่างนั้นก็เจอชายคนหนึ่งกำลังพยายามฆ่าตัวตาย มาร์คก็คิดจะช่วยครับแต่โดนเขาจับได้ และนายคนนั้นก็ได้เปิดเผยความลับว่า เขาคือทนายของเจ้าพ่อรายหนึ่งที่ดันไปรู้ว่าเจ้านายฆ่าคนแล้วก็เอาศพไปซ่อนไว้ที่ไหน ทนายรายนี้ก็รู้ตัวครับว่าคงไม่รอดแน่ เลยฆ่าตัวตายหนี เพราะตำรวจก็ต้องตามมาบี้ เจ้าพ่อก็คงไม่ปล่อยเขาเช่นกัน
เมื่อทนายฆ่าตัวตายสำเร็จ มาร์คจึงกลายเป็นพยานปากสำคัญ ทั้งต่อการฆ่าตัวตายของทนายผู้โชคร้ายและยังเป็นพยานที่จะบอกได้ว่า ศพคนที่เจ้าพ่อฆ่าทิ้งนั้นอยู่ที่ไหน เขาเลยโดนตามทึ้งทั้งจากตัวเจ้าพ่อเอง (Anthony LaPaglia) และยังเจออัยการตัวแทนของรัฐนามว่า รอย ฟอลทริกก์ (Tommy Lee Jones) ที่ยินดีทำทุกวิถีทางที่จะทำให้พยานตัวน้อยจอมแสบรายนี้ เปิดปากบอกที่ซ่อนศพออกมา ไม่เว้นแม้แต่การบีบบังคับโดยเอาน้องชายและแม่ของมาร์คมาเป็นเครื่องต่อรอง
เมื่อมาร์คโดนบีบรอบด้านขนาดนี้ เขาเลยตัดสินใจปกป้องตนเองและครอบครัวโดยการหาทนายมาซักคน และทนายที่เขาไปเจอก็คือ เร็จจี้ เลิฟ (Susan Sarandon) สาวแกร่งที่ไม่ยอมแพ้ใคร ซึ่งตอนแรกความสัมพันธ์ระหว่างมาร์คก็เร็จจี้ก็เข้ากันไม่ค่อยได้หรอกครับ แรงทั้งคู่ โวยมาก็โวยตอบ แต่แล้วเมื่อถึงคราวคับขัน ต่างฝ่ายต่างก็คอยช่วยเหลือกัน จนเริ่มจับมือฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน
แล้วเร็จจี้จะพามาร์คไปให้พ้นจากเรื่องวุ่นนี่ได้อย่างไร อันนี้ตามไปดูตามระเบียบครับผม
คราวแรกผมนึกว่าหนังจะเกี่ยวกับขึ้นศาล แต่ก็เปล่าครับ เป็นหนังแนวสืบสวนมากกว่า จุดเด็ดของหนังคือการได้ดาราระดับยอดฝีมือมารวมพลังกัน ทุกคนแสดงได้เยี่ยมสมบทจริงๆ ตามด้วยบทและเรื่องราวที่น่าติดตาม การกำกับของ Joel Schumacher ก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ มีจังหวะเร้า จังหวะผ่อนพอเหมาะ
ทีนี้ลองว่าเป็นงานเขียนของ Grisham แล้ว มันก็คงไม่ใช่สืบไปสืบมาเท่านั้น มันย่อมมีสาระประเด็นดีๆ แทรกลงมาเป็นยาดำเสมอ
ยาดำใน The Client นั้นหนีไม่พ้นการแอบจิกกัดการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและชีวิตทนายได้อย่างออกรสอย่างยิ่ง
หนังตั้งคำถามชวนคิดว่า ระหว่างความยุติธรรม ความถูกต้องกับมนุษยธรรมนั้น เรื่องไหนควรให้น้ำหนักมากกว่ากัน
ตัวละครรอยนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่เห็นแก่ตัวเป็นหลัก อ้างความถูกต้องเป็นสรณะ โดยยินดีโยนมนุษยธรรมทิ้งไปบ้างเป็นครั้งคราว เห็นได้จากที่พี่แกไม่สนว่า มาร์คจะเด็กแค่ไหน รอยเลือกที่จะรีดเค้นข้อมูลมาให้ได้ เพื่อที่จะได้เอาข้อมูลไปทำความดีความชอบ กรุยทางสู่การเมืองให้ตัวเอง จะต้องบีบเค้นให้ตายก็ทำได้เสมอ
คนแบบนี้มีเยอะในสังคมทุกแห่งหน และคนแบบนี้แหละทำให้สมดุลย์หลายๆ อย่างเสียไป
ความถูกต้องบางทีก็ต้องมีมนุษยธรรมความเห็นใจควบคู่ไปด้วย เพื่อไม่ให้มันกลายเป็นความถูกต้องที่หยาบกระด้าง
อันที่จริงความถูกต้องหรือความยุติธรรมนั้น ส่วนประกอบสำคัญคือ ต้องทำให้คนดีมีสุขไปกับมันด้วย ไม่ใช่ยุติธรรมหรือถูกต้อง แต่ไม่มีใครมีความสุขกับมันเลย
รอยนั้นเรียกร้องหาความถูกต้อง ตั้งท่าให้มาร์คบอกที่ซ่อนศพท่าเดียว เพื่อจะได้ไปจัดการกับเจ้าพ่อนั่น แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจว่าชีวิตมาร์คและครอบครัวจะตกอยู่ในอันตรายหรือไม่ แบบนี้ต่อให้มาร์คทำสิ่งที่ถูกต้องโดยการบอกที่ซ่อนศพ มาร์คก็อาจไม่มีความสุขอย่างที่คนดีควรได้รับ
ผมเลยเริ่มเข้าใจอะไรชัดขึ้นว่า ที่เขาบอกว่าทำดีไม่ได้ดีน่ะ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวรกรรมหรือบุญนำหรอก แต่มันเป็นเพราะการกระทำของคนนี่แหละ ที่มักจะไม่ตอบแทนความดีของคนอื่นด้วยความดี
ถ้ารอยคิดจะตอบแทนความดีของมาร์คด้วยความดี เขาก็ต้องทำดีต่อมาร์คมากกว่านี้ และห่วงใยมาร์คมากกว่านี้ ไม่ใช่เอะอะก็ยืนกรานให้ทำเพื่อความถูกต้องเท่านั้น
ดีที่มาร์คเจอ เร็จจี้ ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนสาวแกร่งยุคใหม่ ที่แม้จะกล้าชนผู้ชายอกสามศอก แต่ก็ยังมีความอ่อนโยนและสัญชาตญาณความเป็นแม่แบบผู้หญิงอยู่
ความถูกต้อง ความยุติธรรม ยังไงก็ควรเดินคู่ไปกับมนุษยธรรมและความอ่อนโยน หากอย่างใดอย่างหนึ่งสุดโต่งเกินไป ก็เท่ากับเสียสมดุลย์ ทีนี้ไม่ใครก็ใครย่อมต้องรู้สึกแย่
ในขณะที่รอยคาดคั้นเอาความจริงจากมาร์ค แต่เร็จจี้กลับเลือกที่จะให้ความคุ้มครองมาร์ค ดูแลเด็กคนนี้ก่อน แล้วค่อยๆ หาความจริงจากมาร์ค จนตอนท้ายมาร์คก็ยอมบอกทุกอย่าง ก็เนื่องมาจาก มีคนมอบความรู้สึกดีๆ ให้ ทำให้เขารู้สึกว่าความดีที่เขาทำนั้น จะทำให้เขาได้รับสิ่งดีตอบแทน (ในรูปแบบของการดูแล การเอาใจใส่และห่วงใย)
สิ่งที่ Grisham กัดระบบกฎหมายคือ การจะเอาแต่ความถูกอย่างเดียวน่ะ มันไม่ได้หรอก แต่มันต้องประสานกันกับมนุษยธรรม และการตอบแทนคนดีด้วยสิ่งดีด้วย คนถึงอยากจะทำดีต่อไป
ที่คนดีหมดกำลังใจไปทีละคนในสมัยนี้ก็เพราะทำดีแล้วไม่ยักกะได้ดี ไอ้ที่ว่าไม่ยักกะได้ดีนี่ไม่ได้หมายถึงอำนาจบันดาลของเทวดาฟ้าดิน แต่หมายถึงการกระทำของคนเราต่างหาก ที่มักไม่สนใจคนทำดี มัวแต่ไปสนใจคนทำไม่ดีมากกว่า แม้จะสนใจในรูปแบบประณามแต่มันก็เท่ากับเราไม่ได้ให้แรงเสริมกับคนดีๆ เลย พอนานๆ เข้า เมื่อคนดีไม่ได้รับแรงเสริมให้ทำดีต่อ สุดท้ายแรงที่จะทำดีก็จะหมดไปในที่สุด
ตัวหนังนั้นออกรสเพราะการแสดงของสามดารานำ ตั้งแต่ Sarandon, Jones และ Renfro เด็กหน้าใหม่ในขณะนั้นที่แสดงหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ก็แจ้งเกิดไปพอตัว น่าเสียดายที่ดาวประดับวงการคนนี้จากโลกไปอีกคนซะแล้ว นึกถึง River Phoenix ขึ้นมาติดหงิดๆ
ถือเป็นหนังสืบสวนอีกเรื่องที่ไม่ได้เน้นการตามปม แต่เน้นการปฏิบัติตนระหว่างคนที่เป็นลูกความ พยาน และนักกฎหมาย หนังแนะนำเราว่า ทำดีต่อกัน พูดดีต่อกัน ดีกว่าทำหน้าบึ้งตึงหรือใช้การบีบคั้น
การทำดีรักษาคนดีได้
แต่การทำไม่ดี รักษาความดีของคนได้ยาก
ผมคิดว่าคำว่า “ทำดีได้ดี” นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นกฎธรรมชาติหรือข้อเท็จจริงที่ต้องเป็นเช่นนั้นเสมอ แต่มันเป็นคำที่ถูกสร้างเพื่อเตือนใจมนุษย์ทุกคนบนโลกว่า “ทำดีควรได้ดีนะ” บอกให้เรารู้จักตอบแทนความดีด้วยสิ่งดีไงล่ะครับ
สองดาวครึ่งครับ
(7/10)
หมวดหมู่:รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, หนังแนะนำ Recommended, Drama, Thrillers