Action

Thunderball (1965) ธันเดอร์บอลล์ 007

1352302664

นี่ถือเป็นบอนด์ตอนที่มีคนดูมากที่สุดตลอดกาลเลยก็ว่าได้นะครับ นับจำนวนแล้วก็ประมาณ 74.8 ล้านคนแน่ะ ก็ถ้าคิดเป็นค่าตั๋วในยุคปัจจุบัน (ปี 2560) หนังก็จะทำเงินไปถึง 664 ล้านเลยทีเดียวล่ะครับ

ภาคนี้องค์กร SPECTRE ศัตรูตลอดกาลของบอนด์กลับมาปฏฺบัติการข่มขู่โลกอีกครั้ง หลังจากโดนบอนด์ขัดขวางแผนการหลายครั้ง ทำให้ศักดิ์ศรีและเงินรายได้ (จากธุรกิจมิชอบ) ของพวกมันตกลงไปมาก จนในที่สุดพวกมันก็ได้ลงมือในแผนยิ่งใหญ่ นั่นคือ ขโมยหัวรบนิวเคลียร์ไปจาก NATO แล้วตามด้วยการขู่ว่าจะระเบิดสถานที่สำคัญๆ ให้แหลกยับ เว้นแต่ทางการจะยอมจ่ายค่าไถ่มาเป็นเพชรมูลค่า 100 ล้านปอนด์

แต่มีหรือที่ทางการจะยอมจ่ายค่าไถ่ง่ายๆ ไหนจะมีมีสายลับพระกาฬ เจมส์ บอนด์ (Sean Connery) อยู่ทั้งคน บอนด์เลยเดินหน้าสืบเรื่องราวจนนำพาเขาไปพบกับ เอมิลิโอ ลาร์โก้ (Adolfo Celi) รองหัวหน้าใหญ่แห่งองค์กร SPECTRE ที่ลงมาเดินแผนนี้ด้วยตนเอง, ฟิโอน่า (Luciana Paluzzi) นักฆ่าสาวประจำองค์กรที่มาเพื่อสังหารบอนด์โดยเฉพาะ และ โดมิโน่ (Claudine Auger) สาวบอนด์ประจำตอน

ครับ อย่างที่ทราบกันว่าแรกเริ่มเดิมที Thunderball จะต้องได้รับการสร้างเป็นหนัง 007 เรื่องแรก ก่อน Dr. No เลยด้วย แต่เผอิญลิขสิทธิ์ Thunderball ฉบับนิยายนั้น ไม่ได้เป็นของ Ian Fleming เพียงคนเดียว แต่ยังมีชายชื่อ Kevin McClory มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ด้วย

เรื่องโดยละเอียดมันเป็นแบบนี้ครับ ก่อนที่ Fleming จะขายลิขสิทธิ์หนังบอนด์ให้ Albert R. Broccoli และ Harry Saltzman นั้น เขาเคยติดต่อ Kevin McClory และ Jack Whittingham ให้ช่วยกันเขียนบทหนังเจมส์ บอนด์ขึ้นมาสักเรื่อง แล้วตั้งชื่อว่า Longitude 78 West แต่หนังดันแท้งไม่ได้สร้าง สามคนเลยแยกทางไปทำอย่างอื่น โดย Fleming จัดแจงเอาบทหนังมาเขียนเป็นนิยาย Thunderball

พอ McClory กับ Whittingham เห็นนิยายวางจำหน่ายก็รีบฟ้องศาล อ้างสิทธิ์ว่าเขาสองคนมีส่วนในนิยายด้วย เรื่องขึ้นศาลตั้งแต่ปี 1961 จนในที่สุดศาลมีคำสั่งให้สองคนนี้เป็นผู้ถือสิทธิ์ร่วมในนิยายรวมถึงทุกตัวละครที่ปรากฏตัวครั้งแรกในนิยายเรื่องนี้ (แน่นอนครับว่าองค์กร SPECTRE ก็คือหนึ่งในนั้น)

ทีนี้เมื่อ Broccoli และ Saltzman จะเอา Thunderball มาทำเป็นหนัง ก็เลยไม่มีทางเลือกต้องยอมให้ McClory โดดลงมาทำด้วย ซึ่งพี่แกก็เรียกร้องหลายอย่างครับ เช่น ขอขึ้นชื่อผู้อำนวยการสร้าง ตามด้วยการขอมีส่วนร่วมในการเกลาบท ในการถ่ายทำ และในการกำหนดความเป็นไปของเรื่อง อีกอย่าง McClory เป็นคนรักกีฬาดำน้ำมาก เลยสั่งให้บอนด์ภาคนี้ต้องมีฉากลงน้ำเยอะๆ เรียกว่างานนี้ McClory จัดเต็มเลยครับ แล้ว Fleming เองก็มาจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1964 นั่นยิ่งทำให้ McClory มีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในฐานะเจ้าของสิทธิ์ เช่นเดียวกับ Whittingham ที่เขาลงมือร่วมเกลาบทด้วยอีกคน

พอหนังจะเริ่มสร้าง ผู้กำกับ Guy Hamilton ก็ขออำลาไม่กำกับต่อ ด้วยเหตุผลว่า ตอนทำ Goldfinger ได้ใช้จินตนาการทุกอย่างใส่ลงในหนังหมดแล้ว จนตอนนี้หมดมุก ทำต่อไม่ไหว เลยอยากจะขอไปพัก ฟื้นฟูพลังในการสร้างสรรค์ให้กลับมาเสียก่อน

Saltzman เลยพยายามหาผู้กำกับใหม่ แต่เขาเกิดนึกได้ขึ้นมาว่า Terence Young ผู้กำกับเจ้าเดิมจาก 2 ภาคแรก เคยบอกกับเขาตั้งแต่สมัยเริ่มทำ Dr. No ว่า นิยายบอนด์ตอนที่ Young ชอบที่สุด ได้แก่ Dr. No, From Russia with Love และ Thunderball ทำให้ Saltzman ลองชวนอีกครั้งพร้อมจัดเต็มค่าจ้างให้ ทำให้ Young เดินกลับมากำกับบอนด์ภาคนี้ในที่สุด

1352306008

ด้านเนื้อในถือว่ายิ่งใหญ่สมคำร่ำลือ คราวนี้องค์กร SPECTRE กลับมาอีกครั้ง โดยโบลเฟลด์ (ที่ยังคงฉายให้เห็นแต่ด้านหลัง ที่ยังได้ Anthony Dawson มาแสดงอีกเช่นเคย) สั่งการให้ ลาร์โก ซึ่งเป็นหมายเลข 2 ขององค์กรเดินแผนเรียกค่าไถ่โลก แล้วยังเอาเรื่องระเบิดบิวเคลียร์มาเป็นประเด็นอีกต่างหาก เรียกว่ากะเกทับเรื่องตอนก่อนๆ ทั้งหมดเลยครับ

สไตล์ของบอนด์ภาคนี้ถือได้ว่าทำออกมาเพื่อโกยและเรียกความบันเทิงล้วนๆ เน้นแอ็กชันเข้าว่าและเริ่มจะโม้หนักกว่าสามตอนก่อน อุปกรณ์ของบอนด์ก็ออกแนวไซไฟมาขึ้น เช่น เครื่องเจ็ทแพ็คที่ทำให้คนบินได้ และเครื่องหายใจในน้ำรุ่นพกพา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะภาคที่แล้วแฟนๆ ชอบของเล่นแปลกๆ ของบอนด์ เลยมีการเรียกร้องให้ใส่มาเยอะๆ ซึ่งก็นับว่าเยอะใช่เล่น แต่ยังดีที่ไม่ทำให้หนังเลอะเทอะหรือไม่ทำให้บอนด์เอาตัวรอดง่ายเกินไป แต่ยังมีจังหวะให้บอนด์ใช้ไหวพริบบ้าง ทำให้ความสนุกตื่นเต้นยังพอมีอยู่ แม้จะติดเว่อร์ไปบ้างก็ตาม

ดาราหน้าเดิมแห่มาครบตั้งแต่ Connery เจ้าของบทบอนด์ต้นตำรับที่แสดงได้เหมาะกับบอนด์จนไม่รู้จะเหมาะอย่างไร ตามด้วย Q (Desmond Llewelyn), M (Bernard Lee) และ มิสมันนี่เพนนี (Lois Maxwell) รวมถึง เฟลิกซ์ ไลเตอร์ ซีไอเอหนุ่มผู้คอยช่วยบอนด์เสมอมา มาภาคนี้ก็เปลี่ยนคนแสดงเป็น Rik Van Nutter แทน ซึ่งขานี้ออกจะดูออกแนวนายแบบมากกว่าจะเป็นซีไอเอไปสักนิด แต่ก็ยังโอเคครับ

ด้านนางเอกของเรื่องนั้นก็มีการคัดเลือกอยู่นานเหมือนกัน สาวคนแรกที่ Broccoli หมายตาคือ Julie Christie ที่เขาชื่นชอบมาจากบทบาทในหนังเรื่อง Billy Liar แต่พอ Broccoli นัดเจอจริงๆ เขากลับรู้สึกว่าเธอไม่เหมาะสำหรับบทสาวบอนด์ จึงเปลี่ยนไปติดต่อ Raquel Welch ที่รายนี้ดูเซ็กซี่เหมาะกับบทดี แต่เผอิญเธอไปรับงานแสดงหนังเรื่อง Fantastic Voyage เสียก่อน

รายต่อมาที่เกือบจะได้แสดงบทสาวบอนด์ก็คือ Faye Dunaway ที่เรียกว่าผู้สร้างถูกใจและเกือบได้เซ็นต์สัญญาอยู่แล้วแท้ๆ แต่ระหว่างนั้น Saltzman กับ Broccoli ก็อยากจะขอเลือกต่ออีกสักหน่อย เอาให้ได้คนที่เหมาะกับบทแบบเต็มๆ ไปเลย (เพราะ Dunaway แม้จะเล่นหนังได้ดี แต่ความเซ็กซี่และเสน่ห์ยังไม่มากเท่าที่ควร) พวกเขาจึงตั้งใจเล็งไปที่เหล่านางงามครับ เช่น Maria Grazia Buccella นางามอิตาลี่, Yvonne Monlaur สาวสวยที่ได้รับการกล่าวขวัญ (ด้านความเซ็กซี่) หลังจากแสดงหนังสยองให้กับค่าย Hammer Films เรื่อง The Brides of Dracula และ The Terror of the Tongs

แต่รายที่มาแรงแซงโค้งคืออดีตนางงามฝรั่งเศส Claudine Auger ที่พอทั้งสองเห็นแล้วก็มั่นใจว่าเธอคนนี้แหละ เหมาะเหลือเกินกับบทนี้ หน้าตาน่ารักดี ไหนจะดูมีเสน่ห์มากๆ ตอนสวมชุดว่ายน้ำด้วย ในที่สุดเธอก็ได้รับบทไปครับ ซึ่งถ้าให้ว่าจริงๆ ผมเห็นด้วยในเรื่องความน่ารัก ความเซ็กซี่แบบพอดี แต่ด้านการแสดงนั้นคงต้องบอกว่ายังไม่โดดเด่นเท่าที่ควรครับ

อีกหนึ่งสาวในหนังก็คือ Luciana Paluzzi ในบท ฟีโอน่า วอลเป้ นักฆ่ามือขวาของลาร์โกที่แสนจะร้ายกาจและสวยเซ็กซี่จนเกินห้ามใจ ไปๆ มาๆ รายนี้กลับน่าจดจำมากกว่า แม้จะโผล่น้อยครั้งกว่าสาวบอนด์ตัวจริงก็ตาม

ตัวหนังยังมีเพลงเปิดทรงพลังจาก Tom Jones มาอุ่นเครื่องช่วงไตเติ้ลด้วยครับ เป็นเพลงที่เหมาะกับหนังภาคนี้ดี แต่ก็มีเรื่องขำเล็กๆ ตอนที่นักข่าวสัมภาษณ์ Jones ว่า รู้ไหมว่าคำว่า Thunderball ที่อยู่ในเนื้อเพลงน่ะหมายถึงอะไร ปรากฏว่า Jones ก็ตอบตรงๆ ว่าไม่รู้เหมือนกัน แต่พอดีมันเข้ากับทำนองและชื่อหนังเลยร้องแบบใส่อารมณ์ลงไปเต็มที่ (ทั้งที่ไม่รู้ความหมายของมันนั่นแหละ)

1352306041

ถ้าว่ากันถึงเรื่องบท จัดว่าไม่มีซับซ้อนเข้มข้นมากนัก ตัวร้ายก็ประกาศทุกเจตนาแต่เริ่มแรก ไม่มีความลับอะไรมากมาย ภาคนี้จึงออกจะเน้นบู๊เอาความสะใจและโชว์เทคนิคพิเศษกันเต็มเหนี่ยว จุดที่โดดเด่นเลยคงต้องยกให้ฉากสู้กันใต้น้ำที่ทำได้ไม่เลว

แม้ด้านคำวิจารณ์จะเริ่มมีคนบ่นเล็กๆ ว่าเนื้อหามันเบากว่าตอนก่อนๆ แต่เมื่อดูโดยรวมแล้ว บอนด์ภาคนี้ก็ยังสนุก ตื่นเต้น มีวิวสวยๆ และมีปฏิบัติการลุ้นนิดๆ ตอบสนองแฟนหนังชุดนี้ได้อยู่

ตัวหนังลงทุนไป $5.6 ล้าน แต่คนทั่วโลกก็จ่ายเงินคืนมาให้ถึง $141.2 ล้าน ถล่มทลายหายห่วงครับ

ต้องยอมรับว่าหลายฉากในหนังภาคนี้แสดงถึง “ความยักษ์ของเรื่องราว” ตั้งแต่การได้เห็นห้องประชุมขององค์กร SPECTRE ได้เห็นวายร้ายระดับสูงขององค์กรมานั่งรวมตัวกัน (ตามด้วยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำงานพลาดที่แสนคลาสสิค จน Austin Powers เอามาล้อซะสนุก) และยังได้เห็นห้องประชุมใหญ่ของ MI6 พูดง่ายๆ คือ สายลับรหัสที่ขึ้นต้นด้วย 00 ทั้งหมด มาโผล่กันในห้องครบ (แต่เราจะไม่ได้เห็นหน้าใครนอกจากบอนด์)

รวมไปถึงฉากใต้น้ำซึ่งมีอยู่มากและน่าจะสะใจคนที่ชอบฉากใต้น้ำครับ เพราะมีเยอะมากจริงๆ อีกทั้งฉากประจัญบานในตอนท้ายของเรื่องก็ยังเป็นการลุยกันใต้น้ำแบบล้วนๆ อีกด้วย ดูแล้วก็ไม่แปลกใจล่ะครับที่ต้องลงทุนมากกว่าตอนก่อนๆตั้ง 2 เท่า ภาคที่แล้วลงทุน 2.5 ล้านครับ ภาคนี้ล่อไป 5.5 ล้าน

จริงครับที่ภาคนี้มีความอลังการ แต่ด้านเนื้อเรื่องอาจยังไม่เข้มนัก หรือตัวร้ายรายใหญ่อย่างลาร์โกก็ยังไม่ร้ายถึงระดับ หน้าตาที่ท่านอาจเหี้ยมใช้ได้ แต่รัศมีกับความปราดเปรื่องนั้นยังจัดว่าเป็นรองตัวร้ายอย่างโกลด์ฟิงเกอร์อยู่พอตัว อีกทั้งฉากพะบู๊บนเรือเร็วในตอนท้ายก็ออกจะเร็วแบบห้วนไปหน่อย (จนบางขณะออกแนวเร็วเกิ๊น จนไม่รู้เรื่อง)

ไปๆ มาๆ จุดที่ทำให้หนังภาคนี้รสชาติยังอร่อยก็คงต้องยกให้พระเอก Connery ที่มาดเยี่ยมเสมอ ไหนจะอารมณ์ขันแสบๆ กำลังดี กับโลเกชั่นหลากหลาย และฉากใหญ่ๆ อีกเพียบ เรียกว่าพร่องแค่เนื้อเรื่องเท่านั้นล่ะครับ

สนุก แต่ไม่มากเท่า 2 ตอนที่แล้ว แต่กระนั้นก็ยังถือเป็นบอนด์ตอนที่สนุกเข้าท่าเป็นอันดับต้นๆ อีกเรื่องหนึ่ง

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)