ตอนจบของ From Russia with Love (1963) ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าเจมส์ บอนด์จะกลับมาในตอน Goldfinger แค่นี้ก็ทำให้แฟนๆ ตั้งตารอคอยเต็มที่ แม้ช่วงแรกของการสร้างจะมีเรื่องให้ทีมงานเหนื่อยกันนิดหน่อยก็ตาม
ความเหนื่อยแรกคือคดีความระหว่าง Kevin McClory กับ Ian Fleming ที่ยังไม่จบสิ้น ซึ่งก็ขอย้อนเล่าเล็กน้อยครับ
อย่างที่ทราบกันว่าก่อนที่บอนด์จะได้รับการสร้างเป็นหนังโดย Harry Saltzman และ Albert R. Broccoli นั้น Fleming เองเคย “เกือบได้ทำหนังบอนด์” โดยเขาได้รู้จักกับ McClory และ Jack Whittingham ก่อนจะคุยกันถูกคอแล้วตกลงว่าจะทำหนังบอนด์กัน โดยทั้ง 3 ต่างพยายามหาทางหาทุนและสร้างบทหนังที่ชื่อ Thunderball ขึ้นมา แต่ปรากฏว่าตอนนั้นทำได้แค่ “จะ” ก่อนจะลงเอยที่ไม่ได้สร้าง จากนั้นก็แยกทางกันไป แล้ว Fleming ก็ตัดสินใจเอาบทหนังที่ไม่ได้สร้างนั้นแปลงเป็นนิยายแทน
ทีนี้พอ McClory รู้เข้าเลยพยายามอ้างสิทธิ์ในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์เนื้อเรื่องของบอนด์ตอน Thunderball ถึงขั้นขอให้ศาลยับยั้งการตีพิมพ์นิยายตอนที่ว่าเลยทีเดียว แต่ศาลก็ตัดสินให้นิยายตีพิมพ์ออกมาได้
จากนั้นพอหนังบอนด์ออกมาดัง เขาเลยตามทวงสิทธิ์ในหนังบอนด์อันนำมาสู่คดีความที่ยืดยาวระหว่าง McClory กับ Fleming ที่ในตอนนั้นยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้ความหวังที่ทีมงานจะเอา Thunderball มาทำเป็นหนังตอนที่ 3 ต้องเป็นหมันลงไป แล้วก็ตัดสินใจเข็น Goldfinger มาขึ้นจอใหญ่แทน
กระนั้นหนังก็มีปัญหาระลอก 2 เมื่อ Terence Young ผู้กำกับจาก 2 ภาคแรก ตัดสินใจถอนตัวหลังจากการเจรจาเรื่องเงินไม่เป็นไปตามที่เขาเห็นสมควร เขาเลยโบกมืออำลาไปกำกับหนัง The Amorous Adventures of Moll Flanders ที่มี Kim Novak แสดงนำแทน (ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จ ได้ชื่อว่าเป็นหนังอังกฤษที่ได้รับความนิยมสูงเรื่องหนึ่งประจำปี 1965)
แม้เก้าอี้ผู้กำกับจะว่างลง แต่โชคดีที่ตอนนั้น Fleming ได้คุยกับ Guy Hamilton ผู้กำกับชาวอังกฤษที่รู้จักกับ Fleming มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ Fleming อยากให้มาทำหนังบอนด์ตอน Dr.No ด้วย แต่ตอนนั้นเขาปฏิเสธไปน่ะครับ
แต่ลองว่าหนังบอนด์ดังขนาดนี้ เขาย่อมตบปากมาทำให้แบบไม่ยาก โดย Hamilton เองมีไอเดียมาเสมอ Fleming ด้วยครับ ว่าเขาอยากลดความเป็นซูเปอร์แมนของเจมส์ บอนด์ลง ไม่อยากเน้นที่ตัวเอกให้มากเกินไปแบบ 2 ภาคแรก แต่จะหันไปเน้นถึงการแสดงอำนาจกับความร้ายกาจของฝ่ายผู้ร้ายให้ถึงใจแทน ซึ่ง Fleming ก็เห็นด้วยครับ จึงเชิญ Hamilton มาทำ Goldfinger ทันที
ด้านบทนั้น Richard Maibaum เจ้าเก่าก็กลับมาแปลงบทจากนิยายให้ ซึ่งเขาได้ทำการนั่งอ่านนิยายอย่างละเอียดและอุดทุกรูรั่วที่มี ไม่ว่าจะความไม่สมเหตุสมผลหรือการตัดประเด็นที่ไม่ใช่สาระออกไปบ้าง เรียกว่าใส่ใจทุกรายละเอียดเต็มที่
แต่ผลที่ได้กลับทำให้ Maibaum งงเต็กครับ เพราะ Harry Saltzman ดันไม่ปลื้ม แล้วจ้าง Paul Dehn นักเขียนบทมือรางวัลออสการ์จากเรื่อง Seven Days to Noon มาร่างบทแทน ทีนี้ปรากฏว่า Connery ก็ไม่ชอบบทร่างนี้ แต่เขาชอบบทของ Maibaum มากกว่า ทำให้ Maibaum ถูกตามตัวกลับมา แล้วก็มาร่วมงานกับ Dehn ว่าง่ายๆ คือให้ทั้งสองช่วยกันเกลาบทดีกว่า เพราะจะว่าไปแล้วบทที่ทั้งคู่เขียนก็มีดีคนละแบบ เลยจับเอาจุดดีของแต่ละบทมาเขย่าให้เข้ากัน แล้วก็กำจัดจุดอ่อนที่มีในนั้นให้หมด
แล้วความทุ่มเทของทั้งคู่ก็ก่อให้เกิดบทภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ 007 เรื่อง Goldfinger ขึ้นมา ซึ่งบทนี้ไม่ได้เพียงแต่ยอดเยี่ยมเท่านั้นนะครับ แต่ยังเป็ยบทภาพยนตร์ที่กลายเป็นต้นแบบให้หนังบอนด์แทบทุกตอนต่อจากนี้ต้องเดินตามกันเป็นแถว
คราวนี้ เจมส์ บอนด์ (Sean Connery) ต้องเผชิญกับวายร้ายผู้คลั่งไคล้ทองคำนามว่าออริก โกลด์ฟิงเกอร์ (Gert Frobe) ที่หมายใช้ทองสร้างความปั่นป่วนและทำเงินให้ตัวเอง งานนี้บอนด์เลยต้องยับยั้งแผนชั่ว แต่ไม่ง่ายครับเพราะโกลด์ฟิงเกอร์มีสมุนทรงพลังอย่างอ๊อดจ๊อบ (Harold Sakata) และหัวหน้านักบินสาวชื่อพุซซี่ กาลอร์ (Honor Blackman) ที่เย็นชาต่อบอนด์เหลือเกิน (แต่คงเดาได้ใช่ไหมครับว่าไม่พ้นเสน่ห์บอนด์ไปได้หรอก) แต่อย่างน้อยงานนี้บอนด์ก็มีพันธมิตรอย่างเฟลิกซ์ ไลเตอร์ (Cec Linder) มาช่วยรับมือมันอีกแรงหนึ่ง
ภาคนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นต้นแบบสูตรสำเร็จแห่งหนัง 007 และหนังแอ็กชันแนวตลาดทั้งมวล ไล่มาตั้งแต่พระเอกฉลาดหัวไว ตัวร้ายมีแผนระดับโลก พร้อมมือขวาที่แกร่งสุดขีด มีนางเอกสวย อัดแน่นด้วยแอ็กชัน มุกตลก ตามด้วยฉากบู๊อลังการ ก่อนปิดเรื่องด้วยไคลแม็กซ์ชวนลุ้น มิหนำซ้ำยังพ่วงขายซาวน์แทร็กอีกด้วย เพราะนี่คือ 007 ตอนแรกที่มีเพลงเปิดเรื่องแบบเป็นทางการ ขับร้องอย่างทรงพลังโดย Shirley Bassey ลองหาฟังดูครับ เพราะมากจริงๆ
นี่ยังเป็นตอนที่ Q (Desmond Llewelyn) เริ่มมีบทบาทและคาแรคเตอร์เด่นไม่แพ้ M (Bernard Lee) และ มิสมันนี่เพนนี (Lois Maxwell) ฉากที่แฟนๆ ชื่นชอบหนีไม่พ้นตอน Q สาธยายว่ารถแอสตัน มาร์ติน ดีบี5 รถที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บมันทำงานอย่างไร แล้วบอนด์ก็คอยกวนประสาทเป็นพักๆ จน Q ต้องพูดประโยคติดปากว่า “ตั้งใจฟังหน่อย 007” และ “กรุณาคืนของกลับมาในสภาพเดิมด้วยนะ” และมันก็ไปแล้วไปลับ กลับมาแต่ซากทุกที
Goldfinger จัดว่าเป็นบอนด์ตอนที่ยอดเยี่ยมไร้เทียมทานครับ มันส์มาก สนุก ตื่นเต้น มีขำเป็นพักๆ และตัวร้ายอย่างโกลด์ฟิงเกอร์ก็ร้ายจัด ตอนแรกบอนด์นึกว่าพี่แกจะวางแผนขโมยทองจากฟอร์ดน็อกซ์ (คลังเก็บทองของอเมริกา) แต่ที่ไหนได้ แผนหมอนี่เหนือเมฆกว่านั้นมากครับ เป็นอะไรต้องไปชมกัน บอกได้แค่ว่าด้วยความฉลาดความเหี้ยม และแผนการของนายคนนี้ แฟนๆ เลยยกให้เป็นหนึ่งในวายร้ายชั้นยอดที่เกือบสังหารบอนด์สำเร็จ
อันว่าความร้ายแบบน่ายกนิ้วของโกลด์ฟิงเกอร์นั้น เริ่มจากแผนก่อการโฉดที่ดูแฟนตาซีเกินไปหรือเอาแต่หมายจะครองโลกอย่างเดียว ทว่าสิ่งที่เขาต้องการกลับเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ มันคือความโลภที่ใครๆ ก็อาจเป็นได้ ทำให้นายคนนี้ดูร้ายได้สมจริง ไม่โอเวอร์ ยิ่งไปกว่านั้น แฟนบอนด์พอมาดูบอนด์ตอนหลังๆ อาจมีบางตอนที่ชวนให้บ่นว่า “หัวหน้าผู้ร้ายมันก็เจอบอนด์ตั้งแต่ตอนต้นเรื่องนี่หว่า ทำไมไม่สอยมันซะเลยเล่า จะได้หมดเรื่องไม่มีใครมาขัดขวางแผนการณ์” แต่กับบอนด์ตอนนี้ การที่บอนด์ไม่ถูกโกลด์ฟิงเกอร์เก็บนั้น มันมีสาเหตุที่น่าฟังครับ… ถ้าไม่อยากทราบก็ข้ามย่อมหน้าถัดไปเลยนะครับ
การที่โกลด์ฟิงเกอร์นอกจากจะไม่เก็บบอนด์แล้วยังจับตัวไว้อีกต่างหาก ก็เพราะ โกลด์ฟิงเกอร์รู้ดีครับว่า ตอนนี้ทางการส่งสายลับมาสืบเพราะสงสัยเขา แต่ก็ยังไม่มีหลักฐาน บอนด์เลยมีหน้าที่ต้องหาหลักฐานไปยืนกราน แต่ปะเหมาะเคราะห์ร้าย บอนด์โดนจับได้ โกลด์ฟิงเกอร์ก็คิดจะสังหารบอนด์ซะ แต่บอนด์ก็ใช้เหตุผลว่า “หากโกลด์ฟิงเกอร์ฆ่าเขา ทางการจะแน่ใจทันทีว่าโกลด์ฟิงเกอร์มีแผนร้าย และจะส่งสายลับคนใหม่มาขัดขวางแบบเต็มรูปแบบ” ด้วยเหตุนี้เอง โกลด์ฟิงเกอร์จึงไม่สังหารบอนด์ครับ เป็นการมองการณ์ไกลทีเดียว เพื่อกันไม่ให้ทางการมีหลักฐานและส่งคนมาขัดขวางได้ และยังเป็นการประวิงเวลา เลี้ยงบอนด์ไว้ (แบบไม่ให้ติดต่อกับทางการ) ทางการก็ไม่สามารถขยับตัวได้ แบบนี้เรียกว่าเดินหมากได้ฉลาดดีแท้
แต่แล้วใครจะนึกว่า โกลด์ฟิงเกอร์ต้องมาแผนล้มเพราะเสน่ห์ของบอนด์ที่มีต่อผู้หญิง!
บอนด์ตอนนี้จึงไม่ได้โล่งโถงแบบที่ใครๆ คิด ตัวร้ายอย่างโกลด์ฟิงเกอร์ถือว่าร้าย และเป็นนักวางแผนชั้นยอด นักคิดชั้นเยี่ยม (แต่ดันเอาไปใช้ในทางเลวร้าย) ซ้ำยังมีมือขวาระดับแกร่งอย่างอ๊อดจ๊อบ (Harold Sakata) มาเป็นลูกมือ ครบเลยครับ ตัวเองมีสมอง ส่วนลูกน้องมีกำลัง ประสานงานกันได้ดี
แต่จนแล้วจนรอด บอนด์ก็เอาชนะได้ด้วยไหวพริบอยู่ดี (อาจมีผสมโชคบ้างแต่ก็ไม่มากเกินไปเหมือนภาคหลังๆ บางตอน)
ดูบอนด์ภาคนี้จึงได้ทั้งในแง่ความสนุกและในแง่สาระแฝงครับ เราสามารถดูแต่ละตัวละครได้ว่ามีแรงผลักด้นในใจอย่างไร อะไรคือแรงจูงใจสำหรับแต่ละพฤติกรรม ซึ่งถ้าดูแบบนี้แล้ว หนังจะสนุกแบบป็อบคอร์นแต่ผสมน้ำผึ้งนะครับ หวานอร่อยได้คุณค่าและสุขภาพ
ดาราในเรื่องถือว่าน่าจดจำครับ ไม่ว่าจะ Connery ที่เป็นบอนด์เต็มขั้น บวกอารมณ์ขันอีกต่างหาก, Frobe ก็ดูร้ายกาจ ฉลาดแกมโกง และหลงตัวเองได้เยี่ยมมากๆ ซึ่งไม่น่าแปลกใจครับที่ Saltzman และ Broccoli จะเล็งนายคนนี้มาเล่นแต่แรก ว่ากันว่าเพราะทั้งสองถูกใจการแสดงของเขาในบทฆาตกรต่อเนื่องโรคจิตจากหนังเยอรมันเรื่อง It Happened in Broad Daylight ก็พี่แกเล่นดีขนาดนี้นี่ครับ
Blackman เจ้าของบทสายลับสาว แคทเธอรีน เกล จากซีรี่ส์สายลับสุดฮิตเรื่อง The Avengers ก็มารับบทสาวบอนด์ที่มีชื่อชวนจดจำที่สุด ถ้าจะว่าไปแล้วบทเธออาจจะไม่ถึงกับเด่นมากมายแต่ท่าทางทะมัดทะแมงและแข็งกร้าวต่อบอนด์นั้นทำให้ พุซซี่ กาลอร์คนนี้เป็นแบบฉบับสาวบอนด์ประเภท “ไม่หลงเสน่ห์บอนด์ง่ายๆ”
มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับพุซซี่ กาลอร์ ในฉบับนิยายนั้นเธอเป็นเลสเบี้ยนครับ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอจึงเย็นชากับบอนด์นัก แต่พอมาฉบับหนังเขาก็พยายามดัดแปลงสักหน่อย ไม่งั้นภาคนี้ก็ไม่มีสาวบอนด์กันพอดี
ที่ลืมไม่ได้ก็ยังมี Sakata กับบทมือขวาที่ถือเป็นต้นแบบมือขวาสารพัดในหนังบอนด์ครับ บุคลิกพี่แกสุดยอดจริงๆ ดูตัวกลมๆ เหมือนจะน่ารัก แต่เวลาออกแรงสังหารใครนี่น่ากลัวในบัดดล, Shirley Eaton กับบท จิลล์ มาสเตอร์สัน สาวบอนด์ที่ใครๆ ก็ลืมไม่ลงอีกเช่นกัน เพราะจะว่าไปเธอคือต้นแบบของสาวบอนด์ประเภท “ยุุ่งกับบอนด์แล้ว ไม่รอดชีวิต” ตามด้วย Tania Mallet ในบททิลลี่ พี่สาวของเธอ ต้องยอมรับครับว่าชะตากรรมของสองสาวนี้ก็ทำให้คนดูรู้สึกสะเทือนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว
เรียกว่านอกจากเนื้อเรื่องที่เป็นต้นแบบให้กับหนังบอนด์แล้ว ตัวละครทุกตัวยังเป็นต้นแบบให้กับบอนด์ตอนต่อๆ มาด้วย เพราะทุกตอนหลังจากนี้ล้วนต้องมีบทบาทประมาณนี้ครบ (หรือไม่ก็เกือบครบ) อยู่เสมอทีเดียว
ทุนสร้างภาคนี้พุ่งไปอยู่ที่ $3 ล้าน แต่พอเข้าฉายเท่านั้นล่ะครับ หนังได้รับการบันทึกสถิติลงกินเนสส์บุ๊คในยุคนั้นว่าเป็นหนังทำเงินพุ่งแรงและเร็วที่สุด เพียงสองสัปดาห์ค่าตั๋วก็คืนทุนบวกกำไรอีกเป็นกระบุง ส่วนรายได้ทั่วโลกเบ็ดเสร็จที่ $124.9 ล้าน คำชมจากทั่วสารทิศว่านี่เป็นบอนด์ที่สนุกที่สุด นอกจากนี้ยังมีสารพัดแฟรนไชส์ที่ใช้ชื่อเจมส์ บอนด์ไปผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย กำไรก็มหาศาลจนทีมผู้สร้างไม่รอช้าที่จะทำตอนต่อให้เร็วที่สุด
ความเยี่ยมจึงนำมาที่สามดาวด้วยประการฉะนี้
(8/10)
หมวดหมู่:Action, Adventure, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, หนังแนะนำ Recommended, Thrillers