Action

Iron Man 3 (2013) ไอรอนแมน 3

1368266671

ถ้ามองหนังเรื่องนี้ในฐานะ “ก้าวที่ 3 ของ Iron Man” ผมรู้สึกว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ

ยิ่งถ้ามองในฐานะ “ก้าวที่ 1 ของ Marvel Phase 2” ก็ยิ่งรู้สึกว่าหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ ช่างสะดุดตานัก

Iron Man 3 จริงๆ ก็เหมือนหนังทุกเรื่องในโลกครับ พอออกฉายแล้วย่อมมีทั้งคนที่ชอบ (เพราะมันใช่) คนที่เฉย (เพราะมันเกร่อ) และคนที่เซ็ง (เพราะมันจืด)

ไม่แปลกหากเราจะเฉยหรือไม่ชอบภาคนี้ ไม่ว่าจะเพราะมันเดิมๆ หรือเพราะมัน “ไม่ใช่อ้ะ” (เช่น เรื่องแมนดาริน) หรือหากใครจะชอบก็เป็นธรรมดา แสดงว่าเราถูกเส้นกับสไตล์นี้ และจุดเข้าท่าในหนังมันเข้าตามากกว่าจุดอ่อน

แต่โดยส่วนตัวผมว่าคนที่โอกับ Iron Man 3 น่าจะได้เปรียบเล็กๆ เพราะเป็นไปได้ว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เหลือใน Phase 2 ของ Marvel จะมีกลิ่นอายและแนวทางประมาณเดียวกัน

อ้อ ผมน่ะเหรอครับ… ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่ชอบIron Man 3 ครับ

ต้องบอกก่อนตามเคยครับ รีวิวนี้จะมีสปอยล์เป็นระยะตั้งแต่อย่างอ่อนๆ ไปจนถึงเข้มๆ ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่อยากรู้ ขอแนะนำว่าอ่านที่บรรทัดสุดท้ายพร้อมการให้ดาวได้เลยครับ

ในภาคนี้โทนี่ สตาร์ก หรือพี่ไออ้อนแมนของเรา (Robert Downey Jr.) ต้องเผชิญกับเดอะ แมนดาริน (Ben Kingsley) หัวหน้าผู้ก่อการร้ายกลุ่มเท็นริงส์ที่ข่มขู่โลกด้วยการวางระเบิดตามจุดต่างๆ และยังเดินเกมบุกถล่มโทนี่ถึงบ้าน ทำให้เขาต้องรีบตั้งหลักรับมือ และตามหาที่ซ่อนของแมนดารินให้ทัน ก่อนมันจะก่อหายนะครั้งใหม่อีก

ขณะเดียวกันเขาก็ต้องรับมือกับความกลัวที่ผุดขึ้นในใจ ซึ่งเจ้าความกลัวที่ว่านี้ก็เกิดหลังจากเหตุการณ์ใน The Avengers เมื่อเขารู้ว่ายังมีฮีโร่อีกมากมาย พอๆ กับมีวายร้ายอีกตรึมโบ้ ตั้งแต่ตัวเล็กพอดีคำไปจนถึงตัวเบิ้มเท่าตึก…

เขาสัมผัสถึงความเล็กจ้อยของตน เมื่อเทียบกับจักรวาลอันไพศาล

พล็อตเรื่องทำนองนี้ทำให้นึกถึง Spider-Man 3 นะครับ เป็นอีกครั้งที่ฮีโร่ต้องเผชิญศัตรูทั้งภายนอกและภายใน วายร้ายก็ร้าย ในใจก็ว้าวุุ่น จริงๆ ผมว่ามันเป็นโจทย์ของฮีโร่ที่เจ๋งนะครับ ถ้าทำดีๆ ก็จะออกมาสนุก ตื่นเต้น ได้ทั้งแอ็กชันและดราม่าครบ ซึ่งก่อนหน้านี้ Spider-Man 3 ยังทำไม่ได้ หรือแม้แต่ Iron Man 2 ที่มาพร้อมพล็อตมากมาย ก็ยังออกมาไม่ลงตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะการเดินเรื่องที่ไวเกินไป เหมือนรีบยัดรีบใส่ข้อมูลให้คนดูเป็นหลัก ส่วนความลื่นและการเร้าอารมณ์กลับกลายเป็นรอง ผลที่ออกมาเลยยังไม่สุดครับ

แต่โดยลำดับแล้ว ผมว่ามันมีพัฒนาการที่ดีครับ เพราะ Iron Man 3 ถือว่าหลายอย่างดีขึ้น เข้าที่เข้าทางขึ้น แม้จะไม่ถึงกับสมบูรณ์แต่ก็ถือได้ว่าภาคนี้อร่อยใกล้เคียงกับภาคแรก

1368266577
จุดที่ชอบในหนังเรื่องนี้ก็เหมือนกับจุดที่ผมมักชอบเสมอในหนังภาคต่อน่ะครับ นั่นคือ การย้อนไปเล่้าเหตุการณ์ที่เกิดก่อนภาคแรก แต่เราไม่เคยรู้ หรือไม่ก็ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้น ทำให้ตัวเอกได้ตระหนักถึงบางสิ่งในภาคแรก ที่เขาอาจจะลืมเลือนไป หลังเผชิญเรื่องราวมามากมาย ซึ่งก็พอดีที่หนังมีครบทั้ง 2 อย่างครับ

สิ่งที่เราไม่เคยรู้ก็ได้แก่การย้อนเหตุการณ์ไปเล่าในอดีต เราได้รู้ว่ายินเซน (Shaun Toub) เคยพบโทนี่มาก่อน แต่พี่ท่านไม่สนใจ (หากจำได้ภาคแรกยินเซนก็บอกว่าเคยเจอโทนี่มาก่อน) ตามด้วยการย้อนเล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับอัลดริช คิลเลี่ยน (Guy Pearce) และ มายา แฮนเซน (Rebecca Hall) ที่มีบทบาทสำคัญในภาคนี้

ที่มาที่ไปของศัตรูในภาคนี้ โทนี่ก็มีส่วนทำให้มันเกิดครับ ซึ่งการบอกเล่าในส่วนนี้ก็เป็นการสอนคนดูกลายๆ ให้คิดให้ดีเสมอก่อนทำอะไร เพราะเราไม่มีวันรู้ได้ว่าสิ่งที่เราทำอาจนำผลร้ายมาสู่เราในสักวัน ไม่ว่าจะความไม่รับผิดชอบ ความยะโสโอหัง การเอาแต่เล่นจนเสียงาน ฯลฯ

โดยส่วนตัวแล้วประเด็นนี้ผมว่าเราหยิบไปสอนตัวเองได้เป็นอย่างดีครับ เพราะจริงๆ ในบางครั้งยามพวกเราตั้งมานั่งรับกรรมเช่น งานส่งไม่ทัน, เงินไม่พอใช้, ความรู้ไม่พอสอบ, แฟนทนนิสัยของเราไม่ได้, คนข้างบ้านไม่ชอบหน้า, ลูกนิสัยเอาแต่ใจ ไม่น่ารัก ฯลฯ เหล่านี้หากย้อนอดีตไปดีๆ ก็จะพบว่าเรานั้นมักจะเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการให้เรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้น

พอดีว่าในหนังโทนี่เป็นฮีโร่และรวยเว่อร์น่ะครับ ผลร้ายจากสิ่งไม่ดีที่เขาทำเลยอาจจะเยอะและแรงระดับประเทศ แต่ผมก็แน่ใจว่าสำหรับปัญหาที่ผมบอกไปนั้น หากเกิดกับใครมันก็จะมีพลังให้เรารู้สึก “มืดแปดด้าน” ได้เหมือนกัน

จุดแรกนี้ทำให้ผมยิ้มครับ เพราะพอจะรู้เนื้อเรื่องเลยเข้าใจตั้งแต่ฉากแรกว่าหนังเล่าเพื่อจะบอกที่มาที่ไป แม้จะมุขเดิมๆ แต่ก็ถือว่าไม่เชยไม่ตกยุค เนื่องจากมนุษย์เรามากมายในทุกวันนี้ต้องมีแก้ปัญหาก็เพราะเรานั่นแหละเพาะเมล็ดเอาไว้แบบไม่ตั้งใจ เหลือบมาอีกทีต้นปัญหามันก็มาค้ำหัวเราได้พอดี

งานนี้โทนี่เจอศัตรูุรุมจนช้ำก็เพราะเขานั่นแหละที่เริ่มไว้

นี่ถือเป็นบทเรียนอันแรกที่โทนี่เจอในเรื่องภาคนี้

อันนำมาสู่จุดต่อมาที่ผมชอบครับ นั่นคือผมรู้สึกว่า Iron Man 3 บอกเล่าลีลาของแอ็กชันฮีโร่ พร้อมแนบบทเรียนมากมายให้โทนี่ได้เติบโตขึ้นอีกขั้น (หรือหลายๆ ขั้น)

บทเรียนต่อมาคือการต่อสู้กับความกลัวในใจตนครับ เพราะหลังจากเหตุใน The Avengers เขาก็ผลิตชุดเกราะออกมานับสิบชุด พัฒนาผลงานตนเองเพื่อให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น เพราะเขาไม่ได้ห่วงเฉพาะชีวิตตัวเอง แต่เขาห่วงคนรักอย่างเพ็พเพอร์ พ็อตส์ (Gwyneth Paltrow) อย่างมากมาย

ผมไม่แปลกใจหากโทนี่จะเกิดกลัวขึ้นมาจับใจ เพราะใน The Avengers แม้เขาจะชนะศึก แต่เขาก็ชนะเพราะมีทีมคอยช่วย และกว่าจะชนะก็เลือดตาแทบกระเด็น ในนาทีสุดท้ายนั้นตัวเขาเองก็หยุดหายใจไปชั่วระยะหนึ่ง เรียกว่าตายไปแป๊บนึงด้วยซ้ำ

ในนาทีเป็นตายนั้นเขาคิดถึงคนเพียงคนเดียว ซึ่งก็คือเพ็พเพอร์ และเขาก็พยายามติดต่อเธอ ทว่าตอนนั้นเธอไม่ได้รับโทรศัพท์

ผู้ชายคนหนึ่งแม้จะแกร่งแค่ไหน แต่หากชีวิตต้องไปแขวนอยู่กลางอวกาศเพียงลำพัง และพยายามโทรหาคนรักซึ่งสำหรับโทนี่แล้ว เธอคือคนเดียวที่เหลืออยู่ในชีวิตที่ว่างเปล่าของเขา แต่ก็ไม่อาจสั่งเสียได้ ไม่แม้แต่ได้ยินเสียงเป็นครั้งสุดท้าย… แล้วลมหายใจก็หมดลงกลางความมืด ที่เขาเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือตรงไหนของจักรวาลกันแน่!

หากภาพแห่งนาทีนั้นจะหลอนอยู่ในจิตใจ แทรกตัวไปแม้ในฝัน มันก็คงไม่ใช่เรื่องเว่อร์แต่อย่างใด เพราะสำหรับคนทั่วไป เรื่องธรรมดากว่านั้นก็ยังเก็บมาฝันร้ายจนละเมอร้องตื่นได้

Iron-Man-3

ผมเห็นใจพี่โทนี่ตั้งแต่ตอนพล่ามรอบแรก (ตอนที่เพ็พเพอร์ค้นพบว่าหุ่นที่มานวดไหล่ให้เธอนั้นไม่ได้มีโทนี่อยู่ข้างใน)

แล้วพอตอนที่เขาตัวสั่นงันงก เมื่อโดน เจ้าหนูฮาร์ลี่ย์ คีเนอร์ (Ty Simpkins) รัวคำถามใส่ เราจะได้เห็นความกลัวครอบงำโทนี่ชนิดที่เขาเก็บอาการไว้ไม่อยู่…

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ… ผมน้ำตาซึมออกมาเฉยเลย…

ไออ้อนแมนก็คนครับ มีวันอ่อนแรงได้ กลัวได้ ล้มทั้งยืนได้ และดูเหมือนในเวลาที่เขาอ่อนแรงที่สุด เขาก็ต้องรับมือกับมันเพียงลำพัง ไม่มีคนใกล้ตัวอยู่แถวนั้นเลย

… นาทีแห่งความกลัวในอวกาศ กับ นาทีแห่งความโดดเดี่ยวบนโลก ไม่รู้จริงๆ ว่าเข็มนาทีอันไหนมันเสียดแทงหัวใจได้ลึกกว่ากัน?

เมื่อเขากลัวเขาก็ยิ่งต้องหาทางออก แล้วเขาก็เลือกประดิษฐ์ชุดออกมามากๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ เพื่อลดความกลัวที่มีให้บรรเทา แต่ไปๆ มาๆ ยิ่งเขาหมกมุ่นกับการทำชุดมากเท่าไร กลับยิ่งเป็นการตอกย้ำความกลัวในใจ ทุกครั้งที่ชุดใหม่ถือกำเนิดกลับเป็นการหล่อเลี้ยง “ความกลัว” แทนที่จะเติม “ความมั่นใจ” ให้ตนเอง

ไม่แปลกที่การมีชุดมากขึ้น จะไม่ได้ทำให้ความกดดันในใจโทนี่ลดน้อยลงไปเลย และในการกลับกัน เขากลับยิ่งต้องพึ่งพาชุด หากขาดชุดเมื่อใดความมั่นใจจะลบฮวบ ในบางขณะก็เหมือนหัวใจจะวาย จนต้องรีบวิ่งมาเอาชุดใส่ เมื่อนั้นความกลัวถึงจะหายไป ความมั่นใจถึงจะคืนมา

ยิ่งเวลาผ่านไปความอ่อนแอของโทนี่ยิ่งมากขึ้น จึงไม่ต้องถามเลยว่าพอถึงตอนที่เขาไม่เหลืออะไร ชุดที่มีก็ใช้ไม่ได้ ยามนั้นเขาจะหน้าซีดได้แค่ไหน หากความกลัวมันจู่โจมที่ใจยามไร้ชุดเกราะ

แม้จะรู้สึกไม่เชื่อที่ตัวผมน้ำตาซึมยามโทนี่กลัวจับใจ แต่ผมก็เข้าใจในความรู้สึกนั้น

ในใจผมนั้นก็คิดว่า การที่โทนี่ทำชุดเกราะอุปกรณ์มาติดตัวไว้ตลอดเวลาคงไม่ใช่ทางออก แต่การดึงเอาความมั่นใจกลับมาติดตั้งไว้ที่ตนเขาเอง นั่นต่างหากที่จำเป็นเร่งด่วน

แล้วไม่กี่ฉากจากนั้นเจ้าหนูฮาร์ลี่ย์ก็เอ่ยคำสำคัญออกมา ถามโทนี่ว่า “คุณเป็นนายช่างใหญ่ใช่ไหม คุณบอกเองนี่… ทำไมไม่ลองสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างล่ะ?

เมื่อโทนี่ได้ยินคำนี้เขาเริ่มนิ่ง สติเขาเริ่มคืนมา… ใช่สิ เรามันนายช่างนี่หน่า

ก่อนหน้านี้โทนี่มักจะเห็นว่าเกราะสำคัญ อุปกรณ์สำคัญ เอาความมั่นใจไปฝากประจำไว้กับสิ่งประดิษฐ์ แต่พี่ท่านลืมมองไปว่าเจ้าพวกสิ่งประดิษฐ์ล้ำโลก ตั้งแต่หัวใจเทียมชิ้นแรก เกราะไออ้อนแมนชุดแรก มาจนถึงชุดมาร์คทู มาร์คทรี เรื่อยไปเป็นสิบๆ มาร์ค ทั้งหมดนั้นมันถือกำเนิดได้เพราะเขา เพราะโทนี่ สตาร์กไม่ใช่หรือ

แล้วประเด็นนี้ก็มาถึงจุดที่ผมชอบอย่างมากอีกจุดในสูตรหนังภาคต่อ คือ การทำให้ตัวเอกได้ตระหนักถึงบางสิ่งในจุดเริ่มต้น ที่เขาอาจจะลืมเลือนไป และจุดเริ่มที่ว่าคือ เขาสร้างไออ้อนแมนขึ้นมา

1368384373
ไออ้อนแมน คนเหนือมนุษย์ เกราะเหล็กไฮเทค ผู้พิชิตไออ้อนมองเกอร์, วิปแลช, หุ่นรบอีกหลายตน, ปลามังกรต่างดาวตัวเบิ้มๆ หรือแม้แต่ยานแม่ของพวกมัน ก็โดยไออ้อนแมนยัดนิวเคลียร์กระแทกหน้าจนมิติแตกกระเจิง อีกทั้งชุดเกราะอีกสิบๆ มาร์ค… ก็เขาเองไม่ใช่หรือที่ทำคลอดมากับมือ

และนายช่างอย่างเขาทำได้ขนาดนี้… ไม่เก่ง ไม่แน่น่ะทำไม่ได้หรอกพี่

พอเขาตระหนักได้ในเรื่องนี้ จึงไม่แปลกที่ความมั่นใจผสมรสซ่าส์จะกลับมาสิงในร่าง จนพี่แกสามารถกลับมาลงสนามลุยเดี่ยว กล้าบุกถล่มรังแมนดารินได้ โดยใช้แค่ของที่ซื้อหาได้จากโฮมโปรและเสื้อพร้อมฮูดสวมหัวหนึ่งตัว

ไม่รู้เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ แต่ผมรู้สึกว่านี่เป็นอีกขั้นของแนวคิด “ฮีโร่มีในตัวทุกคน” (The Hero In You) ที่หนัง Marvel ระยะหลังชอบสอดแทรกนำเสนอ

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่พี่โทนี่แกตัดสินใจ เอาชุดเกราะสารพัดมาร์คมาทำเป็นพลุรับวันคริสต์มาสซะงั้นในตอนท้าย ในมุมหนึ่งก็เสียดายเกราะ อดมองไม่ได้ว่าพี่โทนี่แกเฮี้ยนคิดสั้นอะไรอย่างนั้น ทำไมไม่เอาเกราะมาใช้ต่อ

แต่ผมมองในมุมอย่างที่บอกครับ ว่าเกราะสารพัดที่โทนี่สร้างมันเป็นทั้งอาวุธป้องกันตัวเขา และเป็นอนุสรณ์แห่งความกลัวของเขาด้วย

ในนาทีที่เสร็จศึกเขาเลยเลือกที่จะประกาศอิสรภาพให้ตนเอง ปลดพันธนาการแห่งความกลัวด้วยการสลายอนุสรณ์นั้นให้หมด เพราะยามนี้ความมั่นใจที่เขามอบให้ชุดเกราะตั้งหลายสิบมาร์ค (โดยไม่ตั้งใจ) นั้นได้คืนกลับมาสู่โทนี่ สตาร์กเรียบร้อย

สำหรับบางคนมันอาจเป็นการกระทำที่ประมาท หรือปราศจากความรอบคอบสิ้นดี… อันนี้ผมก็คิดอย่างเดิมครับ “ไออ้อนแมนก็คน โทนี่ สตาร์กยิ่งเป็นคน และคนทำพลาดกันได้ ประมาทกันได้” แน่นอนว่าหนังไม่ได้สรุปฟันธงว่าสิ่งที่โทนี่ทำมันถูกทั้งหมด เช่นนั้นแล้วคนดูอย่างเราก็มีอิสระที่จะคิด จะคิดมุมไหนสุดแท้แต่

ส่วนผมก็ขอมองอย่างที่บอกครับ ว่าโทนี่ได้ความมั่นใจคืนมา และที่สำคัญคือความมั่นใจที่ว่านั่นมันไม่ใช่มั่นใจในตัวเองอย่างเดียวนะครับ แต่เขามั่นใจใน “คนรอบข้างของเขา” ด้วย

เริ่มจาก เพ็พเพอร์ พ็อตส์ คนรักของเขาที่ความกลัวที่มีมันก็เริ่มจากเธอด้วยครับ เมื่อเขาห่วงใย หวงสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิต เขากลัวว่าเธอจะมีอันตรายเลยตระหนักจิตตกไปพักใหญ่ ยิ่งในภาคนี้เธอก็ต้องเจออันตรายแบบเกือบตายก็เนื่องจากสิ่งที่เขาทำในอดีตนั่นเอง

แต่หนังทำการสรุปประเด็นนี้ด้วยฉากง่ายๆ… ให้เพ็พเพอร์ซัดคิลเลี่ยนซะหมอบกระแต

ในตอนแรกเราอาจรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่วายร้ายตัวเอ้ประจำภาคโดนเก็บโดยนางเอกแทนที่จะเป็นพระเอก แต่ผมก็มองว่าหนังเพิ่งย้ำเรื่องสำคัญอีกข้อที่เราเห็นมาตั้งแต่ภาคแรก แต่เราอาจลืมไป

ลืมไปว่า “เพ็พเพอร์ พ็อตส์ไม่ใช่ธรรมดานะครับ

1368384188
หากย้อนไปตั้งแต่ต้นจะพบว่าเพ็พเพอร์นี่แหละคนจัดการบริหารชีวิตให้โทนี่มาตั้งแต่ก่อนเขาจะเป็นไออ้อนแมนด้วยซ้ำ ตั้งแต่งานดูแลบ้านช่อง, จัดคิวสาวๆ, ทำนัดช่วยจัดการงานบริษัท, ตามข่าวและตามเช็ดข่าว ฯลฯ

ครั้นพอโทนี่เป็นไออ้อนแมน เพ็พเพอร์นี่แหละที่เป็นคนเปลี่ยนหัวใจดวงแรกให้โทนี่ ซ้ำยังช่วยชีวิตโทนี่ทางอ้อมด้วยการเก็บหัวใจนั้นไว้ จนโทนี่ใช้ต่อชีวิตได้ในช่วงไคลแม็กซ์ ไหนจะช่วยสอดแนมโอบาไดอาห์ แล้วยังประสานงานกับเจ้าหน้าที่โคลสันแห่งหน่วย S.H.I.E.L.D (ว่ากันตามลำดับแล้ว เพ็พเพอร์รู้จักชิลด์ก่อนโทนี่ซะอีก)

มาภาค 2 ก็เพ็พเพอร์นี่แหละที่เอากระเป๋าชุดเกราะฝ่าอันตรายไปมอบให้โทนี่ที่กลางสนามแข่งรถ ตอนวิปแลชมาวาดแส้สายฟ้า อีกทั้งยังต้องรับหน้าที่บริหารสตาร์ก อินดัสตรี้ตอนโทนี่ไม่สบายอีกด้วย และถ้ายังจำกันได้ เพ็พเพอร์อีกเหมือนกันที่เรียกตำรวจมาลากคออีตาจัสติน แฮมเมอร์ไปเข้าตะราง

ครั้นมาภาค 3 เพ็พเพอร์ก็ยังต้องช่วยงานที่สตาร์ก ครั้นพอต้องสวมชุดเกราะด้วยความบังเอิญ แทนที่เธอจะตกใจ ก็กลายเป็นเพ็พเพอร์อีกนั่นแหละที่ช่วยคุณเจ๊มายาออกมาจากบ้านถล่ม ซ้ำยังออกแรงปกป้อง “คุณถ่านไฟเก่าของสตาร์ก” คนนี้อีกต่างหาก (ยอดหญิงจริงแท้เลยแม่คู๊ณ)

ถึงนาทีนี้แล้ว… การที่เจ๊เพ็พเพอร์เสยคิลเลียนจนม่อยกระรอกหมอบกระแตเนี่ย… ยังเป็นเรื่องแปลกอีกรึ

หลังจากเพ็พเพอร์สยบคิลเลียนแล้ว พี่โทนี่แกก็เอาเกราะมาจุดพลุเล่น ในแง่หนึ่งก็เพื่อประกาศความมั่นใจคืนสู่ตน อีกแง่ก็เพื่อเอาใจเพ็พเพอร์สุดที่รัก เพราะเธอเครียดมาเยอะแล้วที่เขาเอาแต่หมกมุ่นชุดเกราะจนห่างเหินกับเธอ แล้วชุดเจ้ากรรมยังทำเธอตกใจอีกต่างหาก

และอีกแง่หนึ่งก็คือ… เขามียอดหญิงคนนี้อยู่แล้วทั้งคน!

และไม่ใช่แค่เพ็พเพอร์ครับ โทนี่ยังมี จาร์วิส สมองกลระดับเทพที่ช่วยจัดการสารพัดเรื่องให้กับเขา ตั้งแต่คุมชุดเกราะ คุมระบบเทคโนโลยีต่างๆ เรียกว่าชุดเกราะนับสิบๆ จะไร้ค่า หากไร้สมองกลที่ชื่อว่า จาร์วิส

อีกทั้งยังมี เจมส์ โรดส์ (Don Cheadle) เพื่อนซี้ตัวจริงที่ช่วยเขาบ่อยครั้ง (แต่ก็ยังน้อยกว่าเพ็พเพอร์) ไม่ว่าจะการเตือนสติ ช่วยถล่มผู้ร้าย หรือในภาคนี้หากไม่มีโรดส์ล่ะก็ โทนี่คงต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เพราะไม่สามารถช่วยทั้งเพ็พเพอร์และท่านประธานาธิบดีเอลลิส (William Sadler) ได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นแม้โรดส์ไม่ถึงกับเคียงบ้าเคียงไหล่โทนี่ แต่เขาก็ช่วยแบ่งเบาภาระได้พอสมควร

ดังนั้นตอนท้ายสิ่งที่กลับมาหาโทนี่ นอกจากความมั่นใจในตนเองแล้ว ยังพ่วงด้วยความไว้ใจและวางใจในคนรอบตัวที่คนเก่งเช่นเขา (หรือเก่งกว่าเขาสักร้อยเท่า) ก็คงไม่สามารถประดิษฐ์ออกมาได้

ในคราวแรกๆ เขาเป็นไออ้อนแมนด้วยความมั่นใจเต็มร้อย แต่ในคราวนี้เขาก็ยังเป็นไออ้อนแมนครับ แต่เป็นไออ้อนแมนที่มั่นใจเพิ่มขึ้นจนทะลุร้อย

เพราะเขาตระหนักถึงความจริงง่ายๆ ว่า ความสำเร็จของคนหนึ่งคน มักไม่ได้เกิดเพียงเพราะคนหนึ่งคน

1368266702
การเดินทางของไออ้อนแมนนับว่าน่าสนใจนะครับ ภาคแรกเขาพบจุดเปลี่ยน จากเดิมที่เอาแต่ค้าอาวุธ เหลิงในความสามารถ และเห็นแก่ตัว ก็กลายเป็นคนที่สำนึกในสิ่งที่ตนเองได้ก่อ ตามด้วยการแก้ไขและต่อต้านเหล่าร้าย และหันมามองสิ่งล้ำค่าหนึ่งเดียวในชีวิต (เพ็พเพอร์) ที่เขามองข้ามมานานแสนนาน

พอมาภาค 2 เขาก็ได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต หลังจากใกล้ความตายมากขึ้นทุกขณะอันเนื่องมาจากพิษของชุดเกราะ ตามด้วยการเข้าใจพ่อของเขาว่าแท้จริงแล้วพ่อรักเขาเสมอ และคิดถึงอนาคตของลูกมานานแสนนาน เพียงแต่ตอนนั้นเขายังเด็กและไม่เข้าใจ เขาเลยโตมาพร้อมนิสัยเสียสไตล์เด็กรวยที่ไม่ค่อยได้รับการสั่งสอนและเอาแต่ใจ แต่ในที่สุดเขาก็ได้โตขึ้นอีกขั้น

ในภาค The Avengers เขาได้เปิดโลกทัศน์ของตน และตระหนักถึงความสำคัญของคนอื่นๆ ตระหนักถึงการทำงานเป็นทีม และเข้าใจความจริงว่าเขาไม่ใช่คนเก่งสุดยอดอย่างที่เคยหลงระเริง

และในภาค 3… ก็อย่างที่ผมร่ายไปยาวยืดครับ เขาได้พบเรียนมากมาย และผมก็เข้าใจว่าทำไมในภาคนี้ถึงไม่มีร่องรอยของหน่วยชิลด์หรือฮีโร่คนอื่นมาช่วยไออ้อนแมน… ก็บทเอื้อให้เขาได้เรียนรู้แบบจัดเต็มไงครับ และมันก็เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตคนทุกคน ที่ต้องมีวาระเผชิญกับปัญหาด้วยตัวเองลำพัง และจะว่าไปตอนนี้หน่วย S.H.I.E.L.D. เองก็อาจเผฃิญกับอะไรที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันก็ได้ (เหมือน Phase ที่แล้วที่เหตุการณ์ส่วนใหญ่ในหนังซูเปอร์ฮีโร่แต่ละตัว จะเดินเรื่องไปพร้อมๆ ัน)

นอกจากนี้ Iron Man 3 ยังสะท้อนแง่มุมน่าสนใจอีก เช่น การที่มนุษย์พึ่งพาเทคโนโลยีมากจนแทบจะฝากชีวิตไว้กับมัน (แบบที่โทนี่เป็น) และขาดมันไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ เมื่อก่อนไม่มีมันเราก็อยู่ได้ ศักยภาพบางอย่างของเราก็พอจะใช้ทดแทนเทคโนโลยีได้ แต่เรากลับเลือกที่จะพึ่งพามันก่อนจะพึ่งพาตนเอง… แล้วสักวันเราจะเป็นเช่นโทนี่ไหมนะ?

และตัววายร้ายก็น่าคิดอีกเช่นกัน อย่างอัลดริช คิลเลียน ที่ถือกำเนิดด้วยความแค้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโทนี่ แต่ตัวคิลเลียนเองก็เป็นฝ่ายเลือกด้วยล่ะครับ ว่าเขาจะเดินในเส้นทางไหน ดังนั้นแม้โทนี่จะมีส่วนจุดชนวน แต่ผู้เลือกหลักก็คือคิลเลียนนั่นแหละครับ

ประเด็นนี้ก็โยงใยถึงเรื่องความรับผิดชอบเหมือนกัน ว่าหากเราจะเลือกทำดีหรือทำไม่ดี อย่าเพียงแต่โทษว่าเพราะใครเป็นต้นเหตุ เพราะจริงๆ แล้วหากเราเลือกที่จะทำดีอย่างหนักแน่นในทุกสถานการณ์ไม่ว่าใครจะทำกับเราอย่างไร แค่นี้ก็จบครับ เราเลือกได้เสมอ

แต่ปัญหาที่น่ากลัวชนิดหนึ่งคือเราไม่สนใจ หรือเราอาจหาเหตุผลมาสนับสนุนการกระทำของเรา หาเหตุผลมาเติมเต็มและบอกกับตัวเองว่า “เราจะทำ เราต้องทำ และเราสามารถทำมันได้” ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งดีหรือร้าย แต่หากมันนำเราไปสู่จุดหมายได้เราก็พร้อมทำ และหลายครั้งเหมือนกันที่คนคิดแบบนั้น แล้วลงมือทำ มักจะสร้างความเดือดร้อนลำบากให้ผู้อื่น ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

จริงที่โลกนี้อาจไม่มี “คนดี” หรือ “คนชั่ว” ที่ชัดเจน และคำว่า “ดี” และ “ชั่ว” อาจเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะในโลกแห่งความจริง ในโลกแห่งสรรพสัตว์มันอาจไม่มี “ดี” หรือ “ชั่ว” มีแต่ “มันเป็นเช่นนั้นเอง

แต่กระนั้นถ้าจะบอกว่า “ดี” “ชั่ว” เป็นสิ่งไร้ความหมายก็อาจเป็นการด่วนสรุป เพราะมันอาจถือได้ว่าเป็นเหมือนป้ายบอกทางเล็กๆ เป็นเหมือนเส้นคั่นบางๆ ที่มีไว้แนะแนว ชี้ทาง หรือตักเตือนให้มนุษย์พิจารณาในการก้าวเดินของตน

บอกให้เข้าใจว่าการทำ “สิ่งดี” มันจะให้ผลเช่นไร บอกว่าการทำ “สิ่งไม่ดี” มันจะส่งผลกระทบแบบไหน

ดี – ไม่ดี” ไม่ได้มีไว้ให้ตีตราใคร (ดังนั้นคนที่ด่วนใช้ “ดี-ไม่ดี” ตีตราคน ควรทบทวนว่าเรากำลังใช้คำนี้ผิดวิธีหรือไม่) แต่มันมีไว้ให้เข้าใจทางเดินที่เราเลือก และมีไว้ให้เราคิดเผื่อแผ่ถึงคนอื่น

แต่สำหรับบางคนก็มีแรงผลักดันและแรงจูงใจเพียงพอ ที่จะทำให้ตัวเองลืมเส้นบางๆ ที่มีนามว่า “ดี-ไม่ดี” ไป อย่างที่คิลเลียนเห็นว่าจุดหมายของเขามันสำคัญเกินกว่าแค่จะมองว่าดีหรือไม่ดี

จริงๆ แล้วหากนายคิลเลียนไม่น้อยได้เจอคนมีสติ คนที่คิดสร้างสรรค์นำทาง ด้วยความสามารถที่เขามี ด้วยสติปัญญาที่เขามี คิลเลียนวันนี้อาจไม่ใช่คนที่เราเห็น

ในแง่หนึ่งการจะระบุว่าคิลเลียนคือตัวร้ายก็อาจพูดได้ไม่เต็มปาก… เขาแค่เป็นเหยื่อชนิดหนึ่ง… เหยื่อจากความโกรธ เหยื่อจากการถูกหมางเมิน เหยื่อจากการเลือกทางเดินที่สร้างผลร้ายมากกว่าผลดี

หรือตัวร้ายอย่างเดอะ แมนดารินก็สะท้อนโลกปัจจุบันที่เราไม่สามารถเชื่อเพียงสิ่งที่ตาเห็น สิ่งที่ได้ฟังหรือได้รับรู้มาเพียงอย่างเดียว เพราะโฉมหน้าของผู้ร้ายยุคใหม่มีความซับซ้อนกว่าเดิม คนหน้าตาน่าเชื่อถืออาจซ่อนความร้ายไว้ เช่นเดียวกับคนที่ดูร้ายก็อาจเป็นเพียงหน้าฉากที่ลวงตาเราให้หลงทาง

ความชั่วร้ายไม่ได้มีโฉมหน้าเพิ่มในโลกยุคใหม่ จริงๆ มันมีความซับซ้อนกันมานานแล้วครับ

เช่นนั้นแล้วการรับมือกับความชั่วร้าย (หรืออาจแทนมันด้วยคำว่า “ปัญหา” สำหรับคนทั่วไป) เราต้องมองโฉมหน้ามันให้กระจ่างขึ้น ถี่ถ้วนขึ้น และมีสติในการพิจารณามันมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้สามารถเล่นงานยับยั้งมันได้อย่างตรงจุดที่สุด ไม่ต้องเปลืองแรงทำอะไรที่มันเสียเปล่า หรือโดนลวงให้หลงทางจนพลาดที่จะจัดการกับปัญหานั้นให้ลุล่วงแบบทันเวลา

1368266726
จริงๆ แล้ว Iron Man 3 นั้นเป็นตอนที่สนุกครับ ดาราแสดงกันได้ดี พี่ Robert แกก็กลายเป็นไออ้อนแมนไปแล้วครับ ส่วน Paltrow ก็พอกันเป็นเพ็พเพอร์ พ็อตต์ที่อ่อนนอกแต่ในใจเข้มแข็งมาก ผมลองมาคิดดีๆ แล้วเท่าที่จำได้หวานใจของซูเปอร์ฮีโร่เนี่ยส่วนมากมักอยู่ไม่ยืด ไม่ว่าจะเลิกร้างกันหรือไม่ก็มีปัญหาให้ผิดใจ แต่เจ๊เพ็พเพอร์นี่ “ศรีทนได้มั่กๆ” 555

Cheadle ก็ถือว่าไปได้กับบทโรดส์ครับ แต่พี่แกก็ยังไม่เด่นเท่าไร ในใจผมยังไงก็ยังชอบโรดส์แบบ Terrence Howard ในภาคแรกมากกว่า มันดูอายุไล่เลี่ยกัน สไตล์ไปกันได้ ดูขี้เล่นได้พอๆ กับโทนี่น่ะครับ แต่ Cheadle แกจะดูจริงจังไปนิด, Pearce ก็แสดงได้เจ๋งตามเคย พี่คนนี้เขาแสดงได้ดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ บทคนดีน่ารักๆ ก็ได้ แต่ส่วนมากพี่แกมักรับบทคนที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง

แต่รายที่ขอยกนิ้วให้คือ Kingsley ครับ ยอดมากๆ พลิกบทบาทได้เทพสุดๆ ชอบครับชอบมากๆ ทีเดียว และที่ขาดไม่ได้สำหรับหนังชุดนี้ก็คือ Jon Favreau ที่คราวนี้ไม่ได้กำกับ มาแค่รับบทแฮ้ปปี้ โฮแกนอย่างเดียว ในคราวนี้ ผมว่าบทภาคนี่เยอะขึ้นนะครับ แล้วก็สำคัญขึ้น จนอดรู้สึกไม่ได้ครับว่าเขาก็เป็นหนึ่งในส่วนเติมเต็มชีวิตของโทนี่เหมือนกัน

ในขณะที่ Rebecca Hall และ William Sadler ก็ถือว่ากลางๆ ครับ รายหลังออกจะดูเด่นกว่าหน่อยหนึ่ง แต่คนที่เล่นได้ดีจนน่าสนใจคือ Ty Simpkins หนูน้อยคู่หูซูเปอร์ฮีโร่อย่างไออ้อนแมน ซึ่งหนังช่วงที่้ว่านี่ทั้งสนุก น่าติดตาม และดูเป็นความสัมพันธ์ที่น่ารัก มีทั้งความอบอุ่น ความขบขัน และความซาบซึ้งไปในคราวเดียว

ผมว่าส่วนหนึ่งที่โทนี่กับฮาร์ลี่ย์ไปกันได้ก็เพราะเขาอายุพอๆ กันน่ะครับ… จริงๆ นะครับ ผมว่าโทนี่น่ะแกเป็นเด็กไม่รู้จักโตมาแต่ไหนแต่ไร ส่วนฮาร์ลี่ยก็ดูโตเกินวัย มีความคิดอ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ทำให้การเข้าคู่ของพวกเขาดูลงตัว พอดี ไม่เหมือนหนังซูเปอร์ฮีโร่ทั่วๆ ไปที่มักจะให้ฮีโร่เป็นผู้ใหญ่มากๆ ส่วนเด็กก็ออกแนวผู้ตาม หรือไม่ก็คอยเป็นเหยื่อให้ฮีโร่ต้องรีบไปช่วย แต่กับเรื่องนี้… อร่อยพอดีกว่ากันเยอะ

ด้านบทอาจไม่หวือหวาแปลกใหม่แต่ก็น่าสนใจ ยิ่งการหักมุมเกี่ยวกับแมนดารินจริงๆ ก็สร้างสรรค์ครับ เพราะแม้แมนดารินจะไม่ได้สำแดงพลังอย่างที่หลายคนคาดคิด แต่อย่างน้อยฤทธิ์ของคิลเลียนเองก็พอจะช่วยให้ฉากบู๊ในตอนครึ่งหลัง ทำออกมาได้สนุก จนผมอยากจะยกให้ภาคนี้มีการต่อสู้ที่ค่อนข้างเร้าใจและตื่นเต้นยิ่งขึ้นกว่า 2 ภาคก่อน (2 ตอนก่อนมีปัญหาคือตัวร้ายตายง่ายครับ ส่วนภาคนี้จริงๆ ก็ยังง่าย แต่ง่ายน้อยลงนิดหนึ่ง )

ทั้งหมดที่ผมกล่าวไปคือจุดสนใจที่ผมมีต่อ “ก้าวที่ 3 ของ Iron man” ซึ่งแม้หนังจะออกมาดี แต่ก็อาจมีจุดพร่องบ้างเช่นการเดินเรื่องที่ไวไปสักนิดในบางจังหวะ และหนังก็ยังคงมีข้อจำกัดเดิมๆ คือการไม่ค่อยใส่ใจในฉากซีนอารมณ์ ยังดันมันไม่ถึงขีด เราเลยอินแค่ระดับหนึ่ง ยังไม่ถึงขั้นจมหนัก แต่โดยรวมๆ แล้วภาคนี้ก็ถือว่าสนุกไม่แพ้ภาคแรก และสนุกกว่าภาค 2 ด้วย

แต่จุดที่ผมสนใจอีกอย่างคือ “การเป็นก้าวแรกของ Marvel Phase 2” อย่างที่ทราบกันว่าเรื่องใน Iron Man 3 คือจุดเริ่มของการนำไปสู่ The Avengers 2 ที่จะมีขึ้นในปี 2015 ซึ่งในหนังภาคนี้ก็มีอะไรน่าสนใจแทรกอยู่หลายอย่าง

ไม่ว่าจะการเปิดตัวองค์กร A.I.M. ซึ่งในจักรวาล Marvel นั้นถือว่าองค์กรนี้เป็นคู่อาฆาตกลุ่มสำคัญของทีม The Avengers เลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ตัวละครหลายตัวก็ยังเกี่ยวเนื่องกับฉบับคอมมิค เช่น เอริค ซาวิน (James Badge Dale) มือขวาของคิลเลียน หรือ เอลเลน แบรนท์ (Stephanie Szostak) ตัวละครจากคอมมิคชุด The Man-Thing ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะโผล่แค่ในภาคนี้หรือจะไปโผล่ที่ไหนอีกไหม และตัวละครที่หลายคนจับตามากๆ ในตอนนี้ก็คือ หนูน้อยฮาร์ลี่ย์ คีเนอร์ ที่อาจจะมีบทบาทในอนาคตในฐานะฮีโร่อีกคนก็เป็นได้

แต่ร่องรอยอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ Phase 2 ที่มีใน Iron Man 3 คือ “การพลิกแพลง” ครับ อย่างการพลิกแพลงตัวละครแมนดารินแบบหน้ามือเป็นหลังบาทา นั่นทำให้อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่านี่จะเป็นสัญญาณบ่งว่า การมาของศัตรูตัวอื่นๆ ในหนังฮีโร่ถัดจากนี้ อาจไม่เหมือนในฉบับการ์ตูนก็ได้ หรืออาจมีตัวละครที่คาดไม่ถึงโผล่เข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัวก็ได้…

และในแง่หนึ่ง ผมว่าการที่หนังไม่ปล่อยให้แมนดารินฉบับจอมเวทย์มาโผล่ในหนังอาจเพราะไม่อยากให้วายร้ายของหนังมันซ้ำซ้อนกันเกินไปครับ เพราะเดี๋ยวใน Thor: The Dark World นี่ก็จะต้องเป็นจอมเวทย์สุดร้ายเหมือนกัน ดังนั้นการสับขาหลอกงวดนี้ก็อาจเป็นการเพิ่มความหลากให้กับหนังซูเปอร์ฮีโร่ของ Marvel ไม่ย่ำวนอยู่แนวเดียวมากเกินไป และถ้าว่ากันด้วยศักดิ์ศรีแล้ววายร้ายประจำภาคอย่างคิลเลียนก็นับว่าเก่งร้ายไม่น้อย ทั้งมีสมองและมีพลัง และถ้าจะบอกว่าแมนดารินเป็นบทไม่สำคัญก็คงไม่ใช่ เพราะพี่แกก็ทำให้ไออ้อนแมนและสหรัฐอเมริกาหลงทางไปตั้งนานสองนาน และยังจัดว่านานพอให้พี่คิลเลียนแกได้ในสิ่งที่ต้องการครบหมดด้วย

ยอมรับว่าการเปิดเกม Phase 2 นี่เรียกน้ำย่อยได้ไม่เลวจริงๆ ครับ จากเดิมใน Phase แรก Marvel ทำให้เราจับตาฉากหลัง End Credits จนติดเป็นนิสัย แต่ใน Phase 2 นี้ เราจะเห็นได้ว่า End Credits ของ Iron Man 3 ไม่หวือหวาเท่ากับบางร่องรอยที่มีการทิ้งไว้ในตัวหนัง (แต่แม้จะไม่หวือหวา มันก็มีนัยยะนะครับ พี่คนนี้โผล่มาผมว่ามันก็บอกอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน อาจเป็นหนังทีวีของพี่แกก็กำลังวางแผนสร้างกันก็ได้)

Marvel จะมาไม้ไหน คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

สารภาพจริงๆ ว่านึกไม่ถึงครับ ตอนแรกผมก็ไม่มั่นใจว่า Shane Black จะคุมหนังได้ดีแค่ไหน แม้ Kiss Kiss Bang Bang จะทำออกมาสนุก (และ Robert Downey Jr. นำแสดงเหมือนกัน) แต่พอได้ดูก็ยกนิ้วให้ครับ เขาทำออกมาได้สนุกจริงๆ แม้กลิ่นมันจะออกแนวหนังแอ็กชันมากกว่าจะเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่รสชาติมันก็ถือว่ากลมกล่อมไม่เลว

สรุปคร่าวๆ เลยครับว่าไม่ผิดหวังกับ Iron Man 3 ชอบในหลายจุด สนุกในหลายช่วง ดูเอามันส์ได้ เอาฮาก็ได้ ดูแล้วรู้สึกโดนตรงใจในหลายประเด็น และถือเป็นหนังปิดไตรภาคที่สรุปเรื่องได้ครบถ้วนมากๆ เรื่องหนึ่ง (แต่จะมีภาคต่อไปก็ได้ไม่ว่ากัน เพราะพร้อมดูอยู่แล้ว)

และประโยคที่ผมชอบสุดในเรื่องคือ “โอเล โอเล่ โอเล่ โอเล” 5555 ทำไปไปได้

เฉียดสามดาวครับ

Star22

(7.5/10)