รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Miracle on 34th Street (1994) ปาฏิหาริย์บนถนนที่ 34

Untitled07201

สำหรับผมแล้ว มันจะไม่ใช่วันคริสต์มาสที่สมบูรณ์ หากผมไม่เอาหนังเรื่องนี้มาดูครับ

นี่คือหนังรีเมคครับ ต้นฉบับเป็นหนังขาวดำปี 1947 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนจะยกย่องชื่นชมฉบับเก่า ในขณะที่ผมนั้นอินกับฉบับใหม่มากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมดูฉบับใหม่นี้ก่อน (แล้วก็ชอบอย่างแรง) จากนั้นค่อยไปหาต้นฉบับมาดู (ซึ่งก็ชอบเหมือนกัน แต่ไม่เท่าฉบับรีเมค)

และอีกเหตุผลก็คงเพราะเสียงพากย์ไทยของหนังเรื่องนี้ครับ ได้คุณอากำธรให้เสียงเป็นคริส คริงเกิ้ล พร้อมด้วยทีม CVD ในตำนาน ทุกท่านพากย์ได้อย่างพอเหมาะ ลงตัว และได้อารมณ์ จนผมบอกได้เลยว่านี่คืองานพากย์ระดับมาสเตอร์พีซอีกชิ้นหนึ่งก็ว่าได้

หนังว่าด้วยคริส คริงเกิล (Richard Attenborough) ชายชราที่บอกกับใครต่อใครว่าเขาคือซานตาคลอส แล้วเขาก็ได้ทำงานเป็นซานต้าประจำห้างโคล (ที่กิจการกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงจะโดนเทคโอเวอร์) และด้วยความจริงใจของเขาทำให้ทุกคนที่ได้เจอพากันชื่นชมและศรัทธาในซานต้าคนนี้อย่างมหาศาล

แต่แล้วพอถึงจุดหนึ่งเขากลับโดนหาว่าเป็นคนวิกลจริตที่เชื่อว่าตนเองคือซานต้า ในที่สุดคดีก็ขึ้นสู่ศาลและกลายเป็นที่จับตาของคนทั้งเมือง เพราะนี่ไม่ใช่คดีธรรมดา แต่เป็นคดีที่จะชี้ชะตาชายชราคนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่าตนคือซานตาคลอส

หนังอบอุ่นมากกกกกกกกก โทนและบรรยากาศเป็นอะไรที่คริสต์มาสมากกกกกกกกก มาเริ่มกันที่ดนตรีประกอบโดย Bruce Broughton ที่ไพเราะเหมาะอารมณ์ ยามสุขสันต์ก็ให้อารมณ์รื่นเริง ยามหมองเศร้าก็ดั่งพาเราก้าวสู่ห้องอันมืดมน และที่ผมติดหูมาจนถึงทุกวันนี้คือ บางท่วงทำนองของดนตรีนั้นจะแฝงไว้ซึ่งศรัทธา, เกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวันคริสต์มาส เพราะถ้าว่ากันในส่วนของเนื้อเรื่องแล้ว หนังมีประเด็นเกี่ยวกับศรัทธาที่ผู้คนมีต่อวันคริสต์มาส และมีประเด็นเกี่ยวกับเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ที่เป็นซานตาตลอส ซึ่งดนตรีสามารถสร้างอารมณ์ร่วมเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน

ที่ลืมไม่ได้คือเพลง Have Yourself a Merry Little Christmas เวอร์ชั่น Kenny G ที่เสริมอารมณ์วันคริสต์มาสและอารมณ์โรแมนติกได้อย่างสุดยอดเหนือคำบรรยาย จนผมเชื่อว่าต้องมีใครเอาไปเปิดสร้างบรรยากาศอย่างแน่นอน

เรื่องราวก็ชวนให้ติดตามครับ ตอนต้นก็ดำเนินไปอย่างอบอุ่น เต็มไปด้วยความรู้สึกดีๆ ครั้นถึงช่วงท้ายเมื่อคดีไปถึงชั้นศาล ก็จะเป็นอะไรที่ลุ้นมากๆ ว่าทนายฝ่ายคริสจะแก้ต่างได้อย่างไร (เพราะโอกาสที่คริสจะโดนตัดสินว่าวิกลจริตมีสูงมากๆ – การจะพิสูจน์ว่าซานตาคลอสมีจริงก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก)

แน่นอนว่าพอถึงตอนแก้ต่างในตอนท้าย ก็ทำเอาอึ้งและแทบจะร้องเฮไปด้วยเลย มันเป็นอะไรที่เจ๋งจริงๆ

Untitled07204

ผมดูเรื่องนี้ทุกๆ คริสต์มาสมากว่า 20 ปีจนจำบทพูดได้ (ต้องยอมรับอีกอย่างว่าบทพากย์สละสลวยอย่างแรงจริงๆ) ผมชอบหนังเรื่องนี้ตามเหตุผลที่บอกไปข้างต้นครับ และยังชอบบรรยากาศในเรื่อง (โดยเฉพาะตอนที่พระเอก-นางเอกออกเดตกลางลมหนาว เป็นอะไรที่โรแมนติกมาก) ชอบความอบอุ่นละมุนที่หนังมี ชอบในความ Feel Good ที่ทำให้เรายิ้มได้อย่างมีความสุขและมีความหวังเมื่อเราดูหนังจบ

Attenborough เป็นคริส คริงเกิลได้อย่างน่ารักครับ ดูแล้วเราจะอดรักชายชราคนนี้ไม่ได้ ท่าทางเวลาเขาอยู่กับเด็กๆ เต็มไปด้วยความเมตตาและเอื้ออาทร จนเราอดไม่ได้ที่จะเอาใจช่วยเขาให้รอดพ้นจากเรื่องร้าย, Dylan McDermott ก็ดูเป็นพระเอกที่อบอุ่นครับ เวลาเข้าซีนกับ Elizabeth Perkins ก็ให้รู้สึกว่าสองคนนี้เคมีเข้ากัน และอยากให้พวกเขาได้สมหวัง ส่วน Perkins รับบทคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่แกร่งนอกแต่อ่อนข้างใน ด้วยความที่ชีวิตของเธอเคยพบเจออดีตอันขมขื่น ผิดหวัง และต้องทำอะไรด้วยตัวเองมาโดยตลอด จึงทำให้เธอมีเกราะป้องกันตัวเองสูง เธอไม่เชื่อในวันคริสต์มาส ไม่เชื่อในปาฏิหาริย์ ไม่เชื่อในซานตาคลอส จนกระทั่งการมาของคริส คริงเกิลที่ทำให้ความคิดของเธอต้องเปลี่ยนไป

และรายที่น่าจดจำสุดๆ ต้องยกให้ Mara Wilson ในบทซูซาน หนูน้อยที่ดูโตเกินวัย ช่างสงสัย และช่างซักช่างถาม ความน่าหยิกของหนูน้อยคนนี้เป็นอะไรที่น่ารักจริงๆ ครับ

หนังฉบับนี้ John Hughes ผู้อำนวยการสร้างได้นำเอาบทของผู้กำกับเวอร์ชั่นต้นฉบับอย่าง George Seaton มาเกลาและดัดแปลงครับ ส่วนหน้าที่กำกับตกเป็นของ Les Mayfield ที่ตอนนั้นสร้างชื่อจาก California Man หรือชื่อไทยว่า มนุษย์หินแทรกรุ่น แล้วถัดจากเรื่องนี้เขาก็ไปสร้างชื่อต่อกับ Flubber และ Blue Streak แต่สำหรับเรื่องนี้ไม่ถือเป็นผลงานสร้างชื่อของเขาครับเพราะผลตอบรับในวงกว้างไม่สวยงามสักเท่าไร

ผมรู้ครับว่าหนังเรื่องนี้อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบอะไร จริงๆ คือหนังไม่ทำเงินด้วย ทำในอเมริกาไปเพียง $17 ล้าน หรือถ้ารวมทั่วโลกก็ประมาณ $46.2 ล้าน ยิ่งปีนั้นฉายใกล้กับ The Santa Clause ของ Tim Allen เรื่องนั้นโกยไปเป็นร้อยล้านก็ยิ่งตอกย้ำว่าหนังเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร

นอกจากนี้ตอนที่หนังลงโรงฉาย ทางค่าย Twentieth Century Fox เคยออกแคมเปญว่า หากท่านใดดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่พึงพอใจ ทางค่ายจะยินดีคืนค่าตั๋วให้แบบเต็มจำนวน ปรากฏว่ามีตั๋วคืนกลับมาราวๆ 1,500 ใบครับ แสดงว่าคนไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

แต่ก็นั่นล่ะครับ หนังอาจไม่เป็นที่ถูกใจของใครๆ แต่สำหรับตัวเราแล้ว หากเราชื่นชอบ หลงรัก และรู้สึกดีกับหนังสักเรื่อง ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะมีความสุขเสมอยามได้ดูหนังที่เรารัก ว่าอย่างนั้นไหมครับ

และสำหรับผมแล้ว Miracle on 34th Street ฉบับปี 1994 คือหนังที่ผมรักมากที่สุดในบรรดาหนังคริสต์มาสครับ เพราะชอบในทุกองค์ประกอบจริงๆ เอามาดูน่าจะไม่ต่ำกว่า 50 รอบแล้ว ดูจนจบได้ว่าจบฉากนี้แล้วจะไปต่อฉากไหน แต่ความชอบก็ไม่เคยลดลง มีแต่รู้สึกรักหนังเรื่องนี้มากขึ้น… โดยส่วนตัวผมรู้สึกดีใจครับที่ผมได้เจอหนังเรื่องนี้ เพราะมันโดนใจผมจริงๆ – ราวกับหนังเรื่องนี้สร้างมาเพื่อผมอย่างนั้นแหละ

ด้วยความรักที่ผมมีต่อหนัง เลยทำให้ผมอยากบรรยายความรู้สึกดีๆ ที่ผมมีให้ทุกท่านได้ทราบครับ หากใครยังไม่เคยชม ผมอยากขอโอกาสให้กับหนังเรื่องนี้สักครั้ง ลองเปิดใจชมดูสักครั้งนะครับ เพราะท่านไม่มีทางรู้ว่าหนังเรื่องนี้สร้างมาเพื่อท่านด้วยหรือเปล่า – วิธีที่จะรู้ได้ คือดูสักหนครับ ^_^

Untitled07203

การดูหนังเรื่องนี้ทำให้ผมได้คิดใคร่ครวญอะไรหลายๆ อย่างครับ เรื่องแรกก็คือการสอนลูกเกี่ยวกับการคิดและการเชื่อ

ในเรื่อง ดอรี่ย์ วอล์คเกอร์ (Perkins) มีชุดความเชื่อที่ชัดเจนอันได้รับการหล่อหลอมมาจากอดีตของเธอ และชุดความเชื่อนั้นก็ส่งผลสืบทอดไปยังซูซาน (Wilson) ลูกสาวของเธอ ซึ่งสะท้อนความจริงที่ว่าลูกหลานของเราจะมีวิธีคิดแบบไหนนั้น ส่วนใหญ่ก็ถูกหล่อหลอมโดยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นหลักนั่นเอง

และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ซูซานเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เธอเชื่อ และตัดสินใจแบ่งปันบอกเล่าให้ดอรี่ย์ฟัง และสิ่งที่ดอรี่ย์ทำก็คือเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองคิดด้วยตนเอง โดยเธอไม่บังคับสั่งการให้ลูกต้องเชื่อตามที่เธอเชื่อ แต่เธอแนะแนวทางให้ซูซานว่า ซูซานสามารถเลือกที่จะคิด เลือกที่จะเชื่อได้ เพียงแต่ขอให้ซูซานได้ไตร่ตรอง ทดลอง พิสูจน์ และคิดวิเคราะห์ด้วยปัญญาก่อนจะเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งใด กล่าวคือดอรี่ย์เปิดกว้างครับ แม้เธอจะมีเกราะป้องกันตัวและยึดมั่นกับสิิ่งที่เธอเชื่อแค่ไหน แต่เธอก็ไม่ปิดโอกาสการเรียนรู้ของซูซาน – ดูแล้วก็เลยเข้าใจครับว่าเพราะอะไรซูซานถึงช่างคิด ช่างสังเกต และช่างตั้งคำถาม – สิ่งนี้เป็นอะไรที่น่าเรียนรู้ศึกษาสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่

… จริงๆ ผู้ใหญ่ทุกคนก็ควรตระหนักครับ เพราะแนวทางการปฏิบัติของเราเกี่ยวกับเรื่องความคิดความเชื่อนั้น ย่อมถูกส่งต่อไปยังเด็กและเยาวชนที่อยู่รอบๆ ตัวเราไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้หนังยังชี้ชวนให้ผมคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวันคริสต์มาส เกี่ยวกับเรื่องการให้ของขวัญ และเกี่ยวกับเรื่องซานตาคลอส…

ผมคิดในแง่หนึ่งว่าทำไมซานต้า (หรือประเพณีคริสต์มาส) ถึงต้องให้ของขวัญที่เด็กๆ ต้องการ แต่ละปีก็ต่างชิ้นกันไปตามความต้องการของเด็ก… ผมว่าผมพอจะได้คำตอบ…

… เพราะของขวัญแต่ละชิ้นไม่ใช่แค่ของเล่นเพลินๆ แต่มันอาจเป็นของที่ช่วยนำทางให้เด็กน้อยเหล่านั้น สามารถค้นพบ “สิ่งที่ตนรัก” อย่างแท้จริงได้

หนังสือ ตัวต่อเลโก้ จิ๊กซอว์ ของกิน หนังสักเรื่อง เพลงสักแผ่น เสื้อผ้าสวยๆ ต้นไม้สักต้น แก้วน้อยสักใบ ตุ๊กตาสักตัว…

การที่เด็กได้ของเล่นมาเล่นสนุกๆ คงไม่ใช่ปลายทาง แต่มันคือจุดเริ่มต้นแห่งการค้นหา “ตัวตน” ของเขาเอง

Untitled07202

ของขวัญคริสต์มาสขนานแท้ไม่ได้จำกัดแค่ “สิ่งของ” แต่การมอบความรัก ความห่วงใย หรือการสอนวิชาชีวิตให้เด็กได้เข้าใจ เหล่านี้ก็ถือเป็นของขวัญชั้นเลิศได้เหมือนกัน

เมื่อเด็กได้ของขวัญ มันอาจมีส่วนเติมเต็มจิ๊กซอว์ตัวตนของเขา หรือถ้าไม่ เราเองก็สามารถช่วยเสริมช่วยสะกิดให้เขาได้ ผ่านการสอน การคลุกคลีร่วมเล่นกับเด็ก แล้วค่อยๆ สอดแทรกสิ่งที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้ลงไปก็ได้

เพราะบางครั้งความหมายแท้ๆ ที่ซานต้า (หรือผู้ใหญ่) ต้องให้ของขวัญกับเด็กๆ นั้น อาจไมได้หมายถึงแค่ “มอบของขวัญให้แล้วจบ” แต่อาจสื่อนัยให้เรา “มอบของขวัญและติดตามช่วยประคองแนะนำ ให้เด็กพบคุณค่าในของชิ้นนั้นอย่างเต็มที่ที่สุด”

นั่นอาจเติมเต็มความหมายที่ว่า ทำไมซานต้าถึงต้องเป็นมนุษย์ผู้ใหญ่ใจดี หาใช่ภูต เอลฟ์ หรือนางฟ้าเทวดามีปีกที่ไหน…

และไม่แน่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ความสุขของเด็กอาจเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่จากของขวัญชิ้นใหม่ แต่จากของขวัญชิ้นเดิมที่เขาได้รับมานานมากๆ แล้ว – เพราะมันทำให้พวกเขาได้ค้นพบอะไรบางอย่างซึ่งยากที่จะลืม

หรือในบางครั้งที่เด็กไม่ได้ของขวัญ ไม่ว่าจะเพราะเราลืม เพราะเราไม่มีเวลาซื้อหา หรือเพราะเราไม่มีกำลังทรัพย์พอจะซื้อหา เราก็ยังใช้โอกาสนั้นมอบ “ของขวัญแห่งวิชาชีวิต” ให้เด็กได้เช่นกัน

ผมว่ายุคนี้สมัยนี้ โลกเราผ่านอะไรมามาก วิธีคิดของคนก็พลิกแพลงได้มากขึ้น ดังนั้นเราสามารถมองคริสต์มาสให้เป็นอะไรที่มากกว่าเพียงแค่วันมอบของขวัญที่มีลุงพุงพลุ้ยเป็นสัญลักษณ์

คนไทยเช่นเราสามารถร่วมไปสู่จิตวิญญาณหรือคุณค่าแห่งวันคริสต์มาสได้ โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องศาสนา เชื้อชาติ หรืออายุ เพราะสาระอันแท้จริงแลัคุณค่าอันมากมายของเทศกาลนี้ สามารถมอบประโยชน์ให้กับทุกชีวิตบนโลกได้อย่างเท่าเทียมกัน ขอเพียงเราเข้าใจมัน

… นี่ล่ะครับ คืออะไรต่อมิอะไรที่ค่อยๆ ผุดขึ้นในหัวผม จากการดู Miracle on 34th Street อีกทั้งสารพัดหนังคริสต์มาสที่นำมาดูซ้ำตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา… รู้สึกความสุขจริงๆ ครับ

และก่อนจะจบบทความนี้ ผมอยากขอไว้อาลัย Richard Attenborough (คริส คริงเกิล), J.T. Walsh (เอ็ด คอลลินส์), Robert Prosky (ผู้พิพากษาฮาร์เปอร์), William Windom (เจ้าของห้างโคล) รวมถึง John Hughes ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ ขอไว้อาลัยกับการจากไปของทุกท่านมา ณ ที่นี้ครับ

ขอให้ทุกท่านสุขสันต์ในวันนี้ และทุกวันของปีต่อๆ ไป

Merry Christmas ครับทุกท่าน

สำหรับเรื่องนี้ สามดาวครึ่งครับ

Star32

(8.5/10)