บทที่ห้าของพ่อมดน้อยแฮร์รี่ที่หลายคนคอย ผมก็คอยครับ ตัวอย่างที่ตัดต่อมาก็ทำท่าว่าจะมันส์ ซึ่งผมก็อ่านนิยายจบไปนานแล้ว จากเดิมที่ตั้งใจไว้ว่าจะไม่อ่าน จนกว่าจะออกครบ 7 เล่ม (ซึ่งตอนนี้ออกครบเรียบร้อย) ปรากฎว่าพอดูหนังภาคสามแล้วตบะกระจุย เนื่องจากประเด็นหลักๆ โดนตัดไปหมด ผมเลยไปยกมาจากงานสัปดาห์หนังสือทันที
ผมคิดไว้ตั้งแต่ตอนอ่านเล่ม 5 แล้วนะครับ ว่าตอนอ่านน่ะค่อนข้างผิดหวัง เล่ม 5 นี่หนาจริง แต่รายละเอียดสำคัญๆ มีไม่เยอะ อีกอย่างจังหวะต่างๆ มันก็ไม่ใคร่จะลงตัวเหมือนสี่เล่มแรก ผมก็พอเข้าใจว่าเล่มนี้จะแสดงให้หเนถึงภาวะสับสนและการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของพ่อมดน้อยแฮร์รี่ แต่อ่านไปอ่านมา งง ตกลงว่าคนที่สับสนนี่เป็นแฮร์รี่หรือเจ๊ J.K. Rowling คนเขียนกันแน่ เพราะการต่อเรื่อง ภาษาอะไรมันดูกึ่มๆ ไปหมด
ดังนั้นถ้าถามว่าชอบเล่ม 5 หรือไม่ก็ต้องบอกว่าชอบน้อยกว่าเล่มอื่นๆ (แต่อย่างน้อยก็ชอบกว่าเล่ม 6) ชอบน้อยกว่าที่ว่าคือในส่วนของภาษาการเดินเรื่อง การเล่า แต่หากมองข้ามจุดบกพร่องเหล่านี้ พุ่งความสนใจไปที่ประเด็นหลักๆ ของแฮร์รี่ภาคนี้ ผมกลับชื่นชอบไม่แพ้ตอนอื่นๆ แฮะ
ที่ว่าชอบก็เพราะ ประเด็นภาคนี้มันน่าสนใจมากครับ เต็มไปด้วยพัฒนาการของตัวละคร การจิกกัดโน่นนี่สารพัดอย่างตัวละคร โดโลเรส อัมบริดจ์ หรือ คอร์นีเลียส ฟัดจ์ นี่ด่าบรรดารัฐบาลในหลายประเทศชัดๆ
ดังนั้นหากมีการเล่าที่เฉียบ ไม่ชวนมึนอย่างที่เป็น เห็นทีความเด็ดคงไม่แพ้เล่ม 3 แน่นอน
แต่มันก็เป็นไปแล้วนะครับ ก็เอาเถอะ พอจะสร้างเป็นหนังผมก็ไม่กลัวกับเรื่องเล่มนี้หนาที่สุดเท่าไหร่ ตอนก่อนอ่านนึกในใจ สงสัยหนังคงมา 5 ชม. เลยล่ะมั้งหมาตั้งเท่านี้ แต่พอได้เปิดอ่านก็พบว่าประเด็นที่หนังควรจับมาเล่าน่ะมีไม่เยอะครับ เลยคิดว่าภาคนี้มีสิทธิ์เป็นภาคที่สนุกที่สุดได้ไม่ยาก ถ้าคนทำมือแม่นๆ จับประเด็นมาให้ครบๆ นะ
แต่ใจผมมันเริ่มมาแป้วตนที่ทราบว่าคนกำกับคือ David Yates (กรุณาอ่านนามสกุลของเขาว่า เยตส์นะครับ อย่าออกเสียงสั้นเกินไป เดี่ยวมันจะไม่งาม )
แรกเริ่มเดิมที หลังจากมีข่าววุ่นวายนิดหน่อยว่าสามดารานำ Daniel Radcliffe, Rupert Grint และ Emma Watson จะไม่กลับมารับเล่นหนังให้ครบเจ็ดภาค ก็ทำเอาแฟนหนังพากันใจหวิวล่ะครับ หนังคงแปลกพิลึกล่ะถ้าดาราเล่นไม่ครบทีม แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้ ขั้นตอนต่อมาที่สำคัญคือผู้กำกับนี่แหละ
หลังจากเสร็จงานภาค 4 ทีมงานก็หมายมั่นให้ Mike Newell ผู้กำกับภาค 4 รับช่วงทำภาค 5 ต่อไปเลย เพราะภาค 4 น่ะมันอยู่ตัวสุดในบรรดาหนังชุดแฮร์รี่ที่ผ่านมา แต่ Newell เกิดเซย์โน อยากทำงานอื่นเสียนี่ ผู้สร้างก็เลยต้องวิ่งวุ่นหาคนกำกับใหม่อีก คนแรกที่โดนหมายตาก็คือ Mira Nair ผู้กำกับสาวชาวอินเดีย ที่มีผลงานเยี่ยมๆ อย่าง Salaam Bombay!, Kama Sutra: A Tale of Love และ Monsoon Wedding เป็นประกัน ก็ทำให้คอหนังสนใจขึ้นมาหน่อย แต่คุณเธอดันไม่สนใจนี่สิครับ เป้าหมายเลยเปลี่ยน เล็งมาที่ Jean-Pierre Jeunet เจ้าของงานหลากแนวไม่ว่าจะ Delicatessen, The City of Lost Children, Alien: Resurrection และ Amelie ที่คำชมเยอะอย่างแรง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ เพราะคนที่อ่านเล่ม 5 มาแล้วย่อมสัมผัสได้ถึงความผันผวนทางอารมณ์ของแฮร์รี่และตัวละคร (ถ้าไม่นับสไตล์การเขียนของเจ๊ J.K. ที่ทำเอาคนอ่านผันผวนตามนะครับ) และเหนืออื่นใดคือ แนวเรื่องค่อนข้างหม่นมืด รวมไปถึงสภาพของสถานที่ในช่วงไคลแม็กซ์ของเรื่อง (คนอ่านแล้วย่อมนึกภาพตามได้) ก็เป็นสถานที่ที่สุดแสนจะหม่นมืด มีช่องมีหลืบ กำแพงเป็นเงาดำขลับ แหม ผมนึกภาพตามแล้วยังอยากให้แกมาทำเลย เพราะแกเนรมิตฉากที่ว่านี่ออกมาได้ทรงพลังแหงมๆ แต่ก็อีกนั่นแหละ Jeunet เซย์โนไปอีกหนึ่งราย
หวยเลยมาลงที่ David Yates ผู้กำกับชาวอังกฤษที่ผลงานไม่ค่อยจะคุ้นตานักดูหนังบ้านเรานัก ก็แกยังไม่มีงานเจ๋งจังเบอร์นี่ครับ ส่วนมากถ้าไม่ใช่งานทีวีก็หนังเล็กๆ ดังนั้นการมาจับงานนี้ของพีแกเลยเล่นเอาแฟนแฮร์รี่หลายรายพากันเสียวไม่ใช่น้อย ว่าจะพาหนังแฮร์รี่ไปไปไหน
แต่ทีมผู้สร้างก็มีเหตุผลนะครับ ที่เลือก Yates มาทำก็เพราะผลงานชิ้นก่อนๆ ของเขาอย่าง Sex Traffic หนังทีวีที่ได้รับคำชมไปพอประมาณ กับสไตล์การเล่าเรื่องของเขาที่ค่อนข้างหม่น อีกทั้งยังชอบเล่าเรื่องโดยมีประเด็นทางการเมืองเป็นฉากหลัง ซึ่งก็น่าจะเหมาะกับภาค 5 ของพ่อมดน้อย
มองตรงนี้ไม่เถียงครับว่าสไตล์ดูเหมาะกับหนังแฮร์รี่ แต่ที่สงสัยอยู่ก่อนดูคือจะจับประเด็นหนังเรื่องนี้มาถ่ายทอดได้อยู่หมัดหรือไม่ อีกทั้งคนเขียนบทยังมาเปลี่ยนไปอีก จากเดิมที่ Steve Kloves ที่เขียนมาประจำ 4 ภาค ก็เกิดไม่ว่าง เลยต้องตาม Michael Goldenberg มารับช่วงไปก่อนอีก
ยังไม่หมดครับ ทีมงานส่วนใหญ่ นอกจากดาราแล้ว ก็โดนเปลี่ยนสับย้ายกันไปสมควร รวมไปถึงคอมโพเชอร์คนทำดนตรีที่ได้ Nicholas Hooper มาแทนที่ ยังดีนะครับที่ Stuart Craig คนทำฉากไม่โดนเปลี่ยนไปอีกคน เพราะรายนี้ทำฉากมาดีตลอดทั้งสี่ภาค
สำหรับเรื่องราวในตอนที่ 5 นี่เปิดมาก็แอ้กชันกันเลยครับ พวกผู้คุมวิญญาณ ศัตรูตัวฉกาจจากภาคสามจู่ๆ ก็เดินทางจากคุกอัซคาบันมายังลิตเติ้ล เวอร์จิ้ง ถิ่นที่แฮร์รี่ (Radcliffe) อาศัยอยู่กับครอบครับเดอร์สลี่ย์ พุ่งมาโจมตีแฮร์รี่จนเกือบแย่ แม้เขาจะเอาตัวรอดมาได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภัยร้ายจะหมดไป ตรงกันข้ามครับ การที่พวกผู้คุมวิญญาณมีอิสระและหมายหัวแฮร์รี่แบบนี้ ย่อมแปลว่าลอร์ด โวลเดอร์มอร์ (Ralph Fiennes) จอมมารแห่งโลกเวทย์มนต์ได้ดำเนินแผนการครอบครองโลกแห่งพ่อมดและแม่มดอีกครั้ง
แต่ปัญหาคือไม่มีใครเชื่อแฮร์รี่เลยว่าโวลเดอร์มอร์กำลังกลับมา ไม่ว่าจะฟัดจ์ (Robert Hardy) รัฐมนตรีกระทรวงเวทย์มนต์ที่บอกว่าแฮร์รี่เพ้อเจ้อ ตามหนังสือพิมพ์เดลี่ พร็อพเฟตก็พากันใส่ไข่หาว่าแฮร์รี่เรียกร้องความสนใจอีก มีเพียงสองเพื่อนซี้ รอน (Grint) และเฮอร์ไมโอนี่ (Watson) กับดัมเบิลดอร์ (Michael Gambon) และกองกำลังที่ชื่อว่าภาคีนกฟีนิกซ์เท่านั้นที่เชื่อว่าจอมมารกำลังกลับมา
แต่กระทรวงเวทย์มนต์ก็ไม่ยอมรามือครับ ได้ส่งโดโลเรส อัมบริดจ์ (Imelda Staunton) ไปประจำการณ์ยังฮ็อกวอตส์ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ทุกคนเชื่อว่าจอมมารยังไม่กลับมา ซ้ำยังหาทางยึดอำนาจอาจารย์ใหญ่ไปจากดัมเบิลดอร์อีก
เรื่องทั้งหมดรังแต่จะเลวร้ายลงครับ เพราะการเรียนการสอนในฮ็อกวอตส์ปีนี้โดนอัมบริดจ์คุมหมด เจ๊แกสั่งการให้ทุกคนห้ามสอนและใช้วิชาการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดเป็นอันขาด ด้วยเหตุที่ว่าไมความจำเป็น
แฮร์รี่กับพวกเลยของขึ้นสิครับ จอมมารกำลังจะมาก่อการร้ายอยู่แล้ว ยังมาโดนบังคับสารพัด ฝึกเวทย์ป้องกันตัวก็ไม่ได้ ดัมเบิลดอร์ยังมาโดนถอดจากตำแหน่งอีก แฮร์รี่เลยรวมตัวกับเพื่อนนักเรียก ตั้งกองทัพดัมเบิลดอร์ขึ้นมา เพื่อฝึกซ้อมวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดกันเอง ซึ่งในกองกำลังนี้ก็มีทั้งรอน, เฮอร์ไมโอนี่, เฟรด (James Phelps), จอร์จ (Oliver Phelps) และจินนี่ วีสลีย์ (Bonnie Wright) กับอีกหนึ่งสาวน้อยที่แฮร์รี่แอบชอบนามว่าโชแชง (Katie Leung) ก็มาร่วมทีมกับเขาด้วย
ส่วนเรื่องราวหลังจากนี้จะเป็นยังกันต่อ ก็เหลือไว้ให้ไปดูกันต่อนะครับ
ในเบื้องต้นสิ่งที่ผมพอจะพูดได้เกี่ยวกับหนังโดยไม่สปอยล์น่ะนะครับ คือ หนังสนุกดูได้เรื่อยๆ แต่ไม่เท่าภาคที่แล้ว ซึ่งลงตัวออกรสกำลังเหมาะ แต่นี่คืออย่าตั้งความหวังมากเกินไปนะครับ เพราะตอนแรกผมก็ตั้งความหวังเยอะอยุ่ ตัวอย่างตัดมาเร้าใจจริงๆ แต่เพื่อนก็มาเบรคไว้ว่าอย่าไปหวังมาก เพราะเพื่อนผมส่วนมากก็เฉยๆ ตอนดูผมเลยเผื่อใจไว้บ้าง ก็เลยรู้สึกโอเค ไม่สมหวัง แต่ก็ไม่ถึงกับผิดหวัง จะมีก็มีคำว่า เสียดาย มากกว่า
เอาล่ะนะครับ เดี๋ยวจะลงลึกตามธรรมเนียมปฏิบัติ ถ้าไม่อยากทราบก็จบลงตรงนี้ได้เลย เพราะคงมีการสปอยล์บ้างพอหอมปากหอมคอ
หนังมีจุดที่พอไหวและน่าเสียดายคละเคล้ากันไปครับ อย่างพล็อตหลัก ตัวเนื้อหลักของเรื่องเนี่ย เหมือนจะครบครับในช่วงต้น พวกปมการเปลี่ยนแปลงของแฮร์รี่, พฤติกรรมน่าตบเหลือคณาของอัมบริดจ์ และการรวมตัวกันของกลุ่มกองทัพดัมเบิลดอร์ มากันครบองค์เลย ผมก็นึกว่าจะโอเค แต่ปรากฎว่าหนังเปิดปมไปอย่างนั้นน่ะ ช่วงท้ายเล่นกับแค่แอ็กชันอย่างเดียว ส่วนของความผูกพัน อารมณ์ที่ขึ้นลงของแฮร์รี่ที่อุตส่าห์ปูมากลับไม่ได้รับการสานต่อเท่าไหร่
จุดนี้ก็เสียดายล่ะครับ เพราะจะว่าไปเนี่ย พล็อตหลักของภาคนี้เปิดโอกาสให้แฮร์รี่แสดงมิติต่างๆ ออกมามากที่สุดเลยนะครับ มากกว่าภาคสามด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะการสูญเสีย การเก็บกด และการป้องกันตนเอง เป็นช่วงก้าวข้ามวัยจากเด็กมาสู่วัยรุ่น แต่หนังกลับละเลยส่วนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เน้นแต่เอาไม้กายสิทธ์มาไล่ยิงกันเท่านั้น นอกจากนี้อีกหนึ่งตัวละครที่น่าจะให้ความสำคัญมากๆ หน่อยคือ ซีเรียส แบล็ค (Gary Oldman) ที่คอนิยายย่อมทราบดีว่าบทนี้สำคัญแค่ไหนในภาค 5 แต่นี่ยังเจอไม่จุใจเลยอ้ะ อีกอย่างก็ยังมีเจ้าเอล์ฟครีเชอร์อีก ตอนแรกนึกว่าจะออกมาบ้านะครับ เพราะในนิยายนี่ครีเชอร์บ้ากว่านี้เยอะมากๆ แต่นี่ไปกินยากล่อมประสาทมารึไงไม่รู้ เงียบเรียบร้อยเชียว
ถ้าว่ากันถึง Effect ก็ไม่ต้องห่วงล่ะครับ สบายอยู่แล้ว ออกแบบศิลป์ก็น่าพอใจ ช่วงท้ายที่มาแอ็กชันตีกันก็เมามันส์ใช่เล่น เสียแต่มันยิงกันแบบมั่วไปหน่อย รีบตัดซะฉับไวเชียว ก็ไม่เถียงว่ามันส์พอสมควร แต่มันดูไม่รู้เรื่องครับ ไวไปหน่อยอ้ะ ลากช้าลงกว่านี้อีกจี๊ดนึงคงสามารถดึงอารมณ์คนดูให้คล้อยตามได้มากกว่านี้
ในเบื้องต้นก็ต้องบอกว่าหนังยังไม่ลงตัวเท่าไหร่ครับ มีขาดโน่นเกินนี่เยอะ ฉากที่ได้ใจจริงๆ คือตอนแอ็กชันช่วงท้ายนั่นแหละ ยิงกันมันส์ดี นอกนั้นเรื่อยๆ อารมณ์เนิ่บๆ อาจจะมีดีอีกหน่อยที่หนังมีสไตล์การเสียดสีการเมืองได้ดีอย่างที่ผู้สร้างคุยไว้ว่า Yates ทำได้ ก็ทำได้จริงๆ ครับ แต่อย่างอื่นมันไม่ค่อยอ้ะ
นักแสดงนั้น โดยมากจะเป็นบทสมทบเสียมากกว่าครับ นอกจาก Radcliffe ที่เด่นแล้ว คนอื่นก็มาแบบผ่านมาผ่านไป ไม่ว่าจะ Grint หรือ Watson ที่ปกติสองคนนี้จะต้องขโมยซีนทุกรอบ แต่นี่ เฮ่อ สามัญมากๆ ไปๆ มาๆ คนที่ขโมยซีนได้คือเจ๊ลูน่า เลิฟกู๊ด (Evanna Lynch) ผู้น่ารัก ดูแล้วเธอลอยไปลอยมาเหมือนในหนังสือเลยครับ และอีกคนที่เด่นขึ้นมาเยอะคือเนวิลล์ (Matthew Lewis) แหม หล่อเชียวนะภาคเนี้ย
และรายที่ต้องปรบมือให้ พร้อมอยากยื่นมือเข้าไปตบคือโดโลเรส อัมบริดจ์ ที่ Staunton มาเล่น โอ้ สุดยอดครับ ป้าเล่นได้น่าหมั่นไส้เกินร้อย นี่ถ้าป้ามาเมืองไทยล่ะระวังหนามทุเรียนไว้เลยนะครับ ทำเป็นเล่นไป เยี่ยมจริงๆ หนังมีสีสันเยอะขึ้นก็เพราะป้านี่แหละ
นอกนั้นดาราเก่าก็มาแบบกลับมาสวมบทมากกว่า หาได้มีความเด่นเป็นชิ้นเป็นอันไม่ ทั้ง แม็ดอาย มูดดี้ (Brendan Gleeson), ลูปิน (David Thewlis), ศจ.แมกกอนากัล (Maggie Smith), ลูเซียส มัลฟอย (Jason Isaacs) หรือแม้แต่ ดัมเบิลดอร์ (Gambon) ไม่ใช่ว่าแสดงไม่ดีนะครับ แต่บทมันหามีอะไรให้แสดงไม่อ้ะ อันนี้สุดวิสัยจริงๆ
นั่นคือส่วนของหนังครับ ที่ยังไม่เต็มที่นัก ไม่ลงตัว จับประเด็นมาดี แต่ดันไม่สานต่อให้จบ การเดินเรื่องก็เหมือนเร่งๆ จะรีบไปไหนก็ไม่ทราบ อะไรๆ มันเลยขาดๆ เกินๆ ดูจบแล้วบอกกับตัวเองเลยว่า ยังไม่อิ่มเท่าไหร่
แม้ผมจะชอบ ภาคนี้น้อยหน่อยในความเป็นหนังเรื่องหนึ่ง แต่หากมองในแง่สาระล่ะผมกลับชอบเป็นอันดับต้นๆ เลยนะครับ
อย่างที่บอกไว้ว่าเนื้อเรื่องภาคนี้ มีปมที่น่าสนคือการเปลี่ยนแปลงของแฮร์รี่ ขนาดเขายังสงสัยตนเองเลยว่า นี่เขากำลังจะกลายเป็นด้านมืดหรือเปล่า เพราะในใจมันรุ่มร้อน กระหายการแก้แค้นอีกต่างหาก ซ้ำยังโดนกดดันมากมายจากรอบด้าน
นี่แหละครับที่เรียกว่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่น
ผมเชื่อว่าวัยรุ่นมากหลายมีคำถามทำนองนี้ในช่วงหนึ่งของชีวิต ช่วงที่ตนเองกำลังเปลี่ยนแปลง จากเด็กเป็นเด็กที่โตขึ้น เพื่อก้าวเป็นผู้ใหญ่ต่อไป และทางแยกที่สำคัญคือ เด็กคนนั้นกำลังจะเติบโตเป็นคนแบบไหน เป็นคนดีมีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น คิดถึงคนอื่นก่อนตนเองโดยไม่มีเงื่อนไข และตั้งใจทำเพื่อสังคมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว หรือเด็กคนนั้นจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว มองแต่เรื่องเงินเป็นหลัก ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้ลาภ ยศ เงินทอง โดยไม่เกี่ยงวิธี และเหนืออื่นคือฟังแต่ตัวเอง ไม่ฟังใคร ไม่สนว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร รู้แค่ว่าถ้าใครคิดไม่เหมือนฉัน คนนั้นก็คือศัตรูดีๆ นี่เอง
เป็นทางแพร่งที่น่ากลัวนะครับ เพราะมันสามารถสร้างคนดีของสังคมและคนพาลของสังคมออกมาได้พอๆ กัน
แต่กับตัวแฮร์รี่เอง สามารถรอดจากทางเดินผิดได้ก็เพราะ เขาอยู่กับคนดีไงครับ อย่างที่เขาว่าคบคนพาลพาลพาไปหาผิด นี่ถ้าแฮร์รี่เลือกเดินไปจับมือกับมัลฟอยตั้งแต่ภาคแรก แทบไม่อยากจะนึกว่าแฮร์รี่ในวันนี้จะเป็นอย่างไร
โชคดีที่แม้เขาจะไม่มีพ่อแม่ แต่ก็ยังมีซีเรียส, ลูปิน, ดัมเบิลดอร์, แฮกริด, รอน และ เฮอร์ไมโอนี่มาช่วยกันนำทางสู่สิ่งที่ถูกควร
ดังนั้นคงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าวัยรุ่นทั้งหลายที่ไม่ได้อยู่ในโลกของพ่อมดเนี่ยจะสามารถรอดจากการเดินทางผิดได้อย่างไร … ก็พ่อแม่พี่น้องเพื่อนพ้องช่วยกันฉุดให้ไปสู่ที่สูงไงครับ
แต่ครั้นจะไปให้คนอื่นฉุดเพียงอย่างเดียวโดยเราไม่ยื่นมือให้พ้นจากด้านมืดก็คงกระไร เราคงหลุดออกจากมันได้ไม่เต็มที่นัก เราเองก็ต้องรู้จักยับยั่งชั่งใจด้วย
ในภาคนี้แฮร์รี่ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเขาเลือกที่จะเดินเส้นทางสว่างอย่างชัดเจน โดยการไม่ยอมให้โวลเดอร์มอร์มาครอบงำควบคุมตัวเขา กล่าวคือมารมาสิงใจ แต่จิตก็ไม่ยอมชั่วตาม
ซึ่งก็เป็นการประจวบเหมาะดีเหมือนกัน เพราะสภาพการณ์การเลือกของแฮร์รี่ ก็เหมือนกับการเลือกของพี่สไปเดอร์แมนในภาค 3 เหมือนกัน ที่เขาตัดสินใจถอดเอาเจ้าเมือกสีดำออกจากตัว ประหนึ่งกระชากความมืดมิดออกจากใจ ไม่ให้มันมาครอบงำตัวเขาอีกต่อไป
มาคิดดูดีๆ เราก็มีเมือกดำหรือไม่ก็พี่โวลเดอร์มอร์มาสิงในใจอยู่เสมอจริงไหมครับ ไม่ว่าจะมาในรูปของความโกรธ ความหงุดหงิด เห็นแก่ตัว
ก็ลองสังเกตดูดีๆ ว่าเราทำอย่างไรเมื่อเจ้าเมือกนั่นมาคลุมตัว เราสลัดมันออกไป คุมใจอย่างรวดเร็ว หรือปล่อยให้มันคุมตัวเราจนหมดสิ้น ไม่เหลือสติไว้ไตร่ตรอง
ผมว่าหนังฮอลลีวู้ดระยะหลังๆ จับประเด็นนี้มาพูดมากขึ้นนะ เป็นสัญญาณที่สื่อถึงอะไรบางอย่างได้หรือเปล่าก็ไม่รู้?
นอกจากนี้หนังยังมีประเด็นที่เผอิญเข้ากบสถานการณ์บ้านเราตอนนี้เสียเหลือเกิน นั่นคือพฤติกรรมเอะอะก็จัดระเบียบอย่างหูหนาตาเล่อของเจ๊อัมบริดจ์นี่แหละ
มันช่างเข้ากับสถานการณ์ของเซ็นเซอร์ของบ้านเราเสียนี่กระไร!!!!
จริงๆ การจัดระเบียบสังคมมันเป็นอะไรที่โอเคนะครับ หากทำอย่างพอดีพอเหมาะ แต่หากเอาแต่กีดกันกั้นมันเสียทุกอย่าง แทนที่จะเป็นคุณมันพาลจะกลายเป็นโทษได้
สิ่งที่ควรกระทำคือติดวัคซีนทางวุฒิปัญญาและวุฒิภาวะให้เยาวชน ว่าสิ่งใดควรไม่ควร เพราะเหตุใดจึงไม่สมควร นั่นแหละถึงจะดีกว่า เพราะท่านคิดเหรอครับว่า สิ่งไม่เหมาะสม เช่นความรุนแรง ลามกอนาจารน่ะ มันจะมาจากจอตู้อย่างเดียว
ไม่จำเป็นเลยครับ ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์มีประจำ คนนั้นฆ่าคนนี้ ข่มขืน ฆ่าๆๆๆ เลือดสาดขนาดไหน หรือจะการไปเที่ยวตามเทคตามผับ ไหนจะโลกของมอเตอร์ไซค์ เด็กว้งเด็กแว้นอะไรอีกเยอะแยะ แล้วถามจริงว่าใครมันจะไปปิดได้หมด ถ้าใช้วิธีอุดอย่างเดียวน่ะ?
เปรียบได้กับเขื่อนที่มีน้ำมากขึ้นๆๆๆๆ ซักวันมันก็ต้องพัง ครั้นจะไปแก้ปัญหาโดยการเสริมแนวเขื่อนให้สูงขึ้นๆๆๆๆ เพื่อกันน้ำทะลัก มันก็ไม่มีทางทำได้ตลอดหรอกครับ สักวันเขื่อนมันต้องแตก ดังนั้นการแก้ด้วยวิธีปิดๆๆๆ มันไม่ได้ผลไปตลอดหรอก
ผมมองว่าสื่อลามก หรือความรุนแรงใดๆ ก็เหมือนโจทย์ชนิดหนึ่งนะ ไม่ต่างจากโจทย์เลข แคลคูลัส สถิติ หรือโจทย์ฟิสิกส์ที่มีไว้ให้แก้
ตามโรงเรียนเรามีสอนวิธีแก้โจทย์ต่างๆ ทั้งเลขและเคมีที่ใช้เฉพาะในห้องเรียนหรือไม่ก็ตอนทำงาน แต่กลับไม่ค่อยมีการสอนวิธีแก้โจทย์ “ทางสังคม” ให้เด็กใช้เป็นสูตรติดตัวกันเลย ทั้งๆ ที่โจทย์พวกนี้เราต้องใช้ตลอดตั้งแต่เข้าสู่สังคมไปจนเราตาย
จริงที่โจทย์ทางการศึกษาให้เรามีงานทำและเงินใช้ แต่หากไร้ซึ่งวิธีแก้โจทย์ทางสังคม แล้วคนจะอยู่กันอย่างสบายใจได้อย่างไร มีสุขภาพจิตดีไม่เบียดเบียนกันได้อย่างไร
แต่ก็พอเข้าใจครับ ทำแบบนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ ผุ้มีอำนาจอีกหลายคนคงมีภารกิจอีกเยอะ เลยแก้ปัญหาพวกนี้อย่างลวกๆ ไปก่อน ดังนั้นเราอย่าไปใส่ใจคนมีอำนาจให้มากครับ ทำกันเองก็ได้ เริ่มจากลูกคุณ หลานคุณ เด็กๆ ที่คุณรู้จัก ช่วยกันสอนให้พวกเขารู้จักแก้โจทย์ทางสังคม ไม่ว่าจะเรื่องเพศก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องควรปิดบังครับ … จริงที่มันไม่ควรทำในที่แจ้ง แต่ก็ไม่ใช่ให้พวกเขาไปศึกษากันเอง คิดดูครับพวกที่ศึกษากันเอง ท้องกันไปกี่รายแล้วล่ะครับ
หากผู้ใหญ่ไม่แนะนำ ชี้ทาง ปูแนวทางให้เด็ก แล้วจะให้ใครมาสอนครับ หมาหรือแมวที่ไหนล่ะ ก็ต้องคนนี่แหละที่จะสอนคนด้วยกันได้
เรามาเลิกแก้ปัญหาโดยการลวกจะดีกว่าไหมครับ
ไม่เชื่อดูอัมบริดจ์สิ แก้แบบลวก ปิดหูปิดตา ในที่สุดก็มีแต่ระเบิดออกมานั่นแหละ เชื่อเถอะครับ ถ้ากดดันกันมากๆ มันจะก่อให้เกิดม้อบหรือผู้ต่อต้านขึ้นอย่างไม่จำเป็น … มาสมานฉันท์กันดีกว่าไหม
ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน สมานฉันท์นี่เป็นประโยคที่ฮิตที่สุดในปีนี้เลยนะครับ แต่เท่าที่ดูมา ปีนี้นี่แหละที่สถานการณ์บ้านเมืองห่างไกลกับคำว่าสมานฉันท์มากที่สุด
ไม่หันหน้าเข้าหากัน คุยกันดีๆ หรือครับ
สรุปครับ หนังภาคนี้ ดีไหม ก็ตอบได้ว่าเรื่อยๆ ไม่เลว ไม่สมหวังแต่ไม่ผิดหวัง ทว่าจุดที่ผมชอบกลับเป็นประเด็นต่างๆ ที่ได้จากหนังมากกว่า
ก็ยังได้สองดาวครึ่งอยู่ครับ
(7/10)
หมวดหมู่:Action, Adventure, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Fantasy