หากเราลองเปรียบเทียบว่าระหว่างเศรษฐีอังกฤษที่อาศัยในคฤหาสน์หลังงามกลางกรุงลอนดอน กับคนพื้นเมืองผิวดำที่อาศัยในกระท่อมกลางป่าเขาในแอฟริกา ใครจะถือว่า “มีชีวิตที่ดี” มากกว่ากัน
ตอนผมยังเล็ก ผมคงตอบอย่างง่ายดายว่าเศรษฐีอังกฤษสิมีชีวิตที่ดีกว่า อยู่บ้านสบายกว่า ไฟฟ้ามี ประปาง่าย ของกินอุดม ความเจริญเพียบ ฯลฯ แต่หากเป็นผมในปัจจุบัน ก็คงจะขอนั่งไทม์แมชชีนไปถามตัวเองตอนเล็กๆ นั่นว่า “ตอบแบบนั้นน่ะ แน่ใจแล้วรึ?”
อันที่จริงตัวผมตอนเด็กนั้นไม่ได้ตอบผิดอะไรหรอกครับ เมื่อเทียบจากสิ่งที่เรารู้ สิ่งแวดล้อมที่เราเจอ และค่านิยมอันแสนคุ้นเคย การจะตอบว่าชีวิตเศรษฐีนี่สิถึงจะแสนสบายก็ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพียงแต่มันอาจไม่ใช่คำตอบที่ใช้ได้ในทุกบริบทและทุกสถานที่
ชีวิตที่มี “มาก” อาจเป็นชีวิตที่สบาย (เช่น บ้านเยอะ เงินแยะ เฟอร์นิเจอร์เพียบ ไอโฟน ไอแพดมีครบ) แต่ก็ใช่ว่าชีวิตที่มี “ไม่มาก” (เช่น มีแค่กระท่อมและที่นอน) จะถือว่าเป็นชีวิตที่ลำบาก
นิยามของชีวิตอันแสนสุขสันต์ของแต่ละคนนั้นย่อมต่างกันไป บางคนต้องมีเยอะถึงเรียกว่าสุข แต่สำหรับบางคนแค่พอมีพอกิน ไม่ต้องมีมากก็นับว่าสุขได้แล้ว
หรือเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่งที่ผมเคยได้ทราบมา คือมีบางคนที่โตมาในเมืองใหญ่ที่มีเสียงจ้อกแจ้กจอแจทั้งวันทั้งคืน เรียกว่าเมืองไม่เคยหลับและไม่เคยเงียบ ครั้นพอย้ายมาต่างจังหวัดเจอความเงียบเข้า แทนที่จะหลับง่ายเพราะไม่มีเสียงอะไรกวนดันกลายเป็นทำให้นอนไม่หลับ สุดท้ายต้องหาอะไรมาเปิดฟัง ไล่ให้ความเงียบหายไป เมื่อนั้นค่อยหลับได้สบายหน่อย
เรื่องนี้ก็ชวนให้เข้าใจถึงคำกล่าวว่า “ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน” มากขึ้น หรือถ้าจะบอกให้มันงงหนักอีกนิดก็คงต้องบอกว่า “ชีวิตแต่ละคนเหมือนกันตรงที่ไม่เหมือนกันนั่นแหละ”
นี่คือบทต่อมาแห่งหนังชุด Qatsi ของผู้กำกับ Godfrey Reggio หลังจากภาคแรกอย่าง Koyaanisqatsi ได้การตอบรับอย่างดี เขาและทีมงานเลยมีดำริจะสานต่อเรื่องราวในสไตล์เดิมออกมาอีกครั้ง
เรื่องราวในภาคนี้ก็นำเสนอในแบบเดิมครับ นำภาพมาร้อยเรียงแล้วใส่เสียงดนตรีลงไป เพียงแต่ธีมหลักที่ใช้เล่าเรื่องจะเปลี่ยนไป จากคราวก่อนเป็นเรื่องธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบตัวมนุษย์ มาคราวนี้เป็นการนำเสนอรูปแบบชีวิตต่างๆ ของคนในแต่ละมุมของโลก ไม่ว่าจะคนที่ต้องกรำแดดตากฝน แบกหามของหนัก อยู่อย่างแออัด เรื่อยไปจนถึงคนเมืองที่มีอะไรต่อมิอะไรอำนวยความสะดวกพร้อม
สิ่งที่ผมกล่าวไปข้างต้นก็คือรสชาติความรู้สึกระหว่างดูหนังเรื่องนี้ครับ ดูแล้วก็เปิดใจรับชีวิตหลากรูปแบบของมนุษย์ รู้สึกว่าวิถีชีวิตของคนมีหลายแบบจนเรายากที่จะพิพากษาฟันธงลงไปได้ว่าชีวิตแบบไหนดีที่สุด เพราะดีที่สุดของแต่ละคนไม่เท่ากัน สิ่งแวดล้อมแต่ละประเทศไม่ตรงกัน ดังนั้นดีของไทยอาจไม่ใช่ดีของอียิปต์ก็ได้
แต่ความจริงประการหนึ่งก็คือคนส่วนมากมักเอา “ชีวิตที่ดี” ของเราไปสรุปเปรียบเทียบกับชีวิตอื่นๆ แล้วก็สรุปว่าชีวิตเราดีกว่า ชีวิตเขาแย่กว่า ตามด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่พยายามเปลี่ยนวิถีชีวิตมาตามแบบของเรา ครั้นคนอื่นพยายามบอกว่า “สำหรับเขานั้น แค่นี้ก็ดีแล้ว สุขแล้ว” คนอีกพวกก็ยังอาจคิดว่านายคนนั้นช่างไม่รู้อะไรเสียเลย ช่างมีความคิดที่ตีบตันไม่เปิดกว้างจริงๆ
ฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ ว่าตกลงใครกันที่ไม่รู้อะไร และใครเข้าอีหรอบตีบตันไม่เปิดกว้างมากกว่ากัน
เราจะบอกได้อย่างไรว่าชีวิตที่พื้นๆ ไร้เทคโนโลยีคือชีวิตที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่มันก็คือวิถีชีวิตแบบของเขา มันคือวิถีที่เขาอยู่มาตามธรรมชาติ
ในขณะที่วิถีที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีนั้นเราสร้างขึ้น เราสร้างขึ้นมาโดยที่บางทีก็ไม่เข้าใจมันเต็มที่ จริงที่มันมีผลดี แต่มันก็มีผลข้างเคียงร้ายคอยแทงเรายามเผลอ และเราค่อยมาตระหนักถึงอันตรายตอนเกือบสาย (หรือสายไปแล้ว) ไม่ว่าจะสารพิษกลุ้มรุมจนอากาศเสีย น้ำเสีย ชั้นบรรยากาศเสีย ทรัพยากรธรรมชาติเสีย ฯลฯ หรือแม้แต่เด็กและเยาวชนมากมายก็ยังต้องกลายเป็น “นิสัยเสีย” ไปเพราะสิ่งล้ำหน้านำสมัยและอำนวยความสะดวกมากเกินไปจนทำให้พวกเขาห่างไกลจากการเรียนรู้ความจริงของชีวิต
บางทีการโตมากับธรรมชาติที่รู้ว่าอะไรเหมาะกับเราก็คือความปลอดภัยชนิดหนึ่ง มันอาจเชื่องช้า ไม่ทันใจ แต่ก็ปลอดภัย ทว่ามนุษย์ไม่น้อยก็พร้อมเสี่ยงเพื่อความสบายบางประการ เหมือนเรารู้ว่าจะอ้วนถ้ากินขาหมูติดมันมากๆ แต่จนแล้วจนรอดก็อดไม่ได้ที่จะขอกิน “คำสุดท้าย” อีกสักคำ (ซึ่งเป็นคำสุดท้ายที่เกิดได้หลายรอบเหลือเกิน)
สำหรับหนังเรื่องนี้แล้ว โดยส่วนตัวแล้วผมชอบภาคก่อนมากกว่าครับ เพราะสิ่งที่เราเห็นใน Koyaanisqatsi คือสรรพสิ่งในโลกที่มนุษย์ไม่ค่อยได้สละเวลาไปมอง ไม่ว่าจะท้องฟ้า ป่าไม้ สายน้ำ หรือแม้แต่ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง กับแสงไฟยามราตรี ที่น้อยครั้งนักที่เราจะได้เห็น ได้นั่งพิจารณาและสังเกตมันอย่างใส่ใจเต็มที่ แต่ในขณะที่ภาคนี้มนต์ขลังบางประการมันลดลง เพราะหนังจะเล่าโดยใช้ “มนุษย์” เป็นตัวเอก ทำให้ความต่างและความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แบบครั้งก่อนจางหายไปพอสมควร แม้โครงสร้างการนำเสนอจะมาในแนวเดียวกันก็ตาม
แต่กระนั้นถ้าคุณเป็นคอหนังสารคดี หนังเรื่องนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าแก่การลองลิ้มครับ แม้ความเจ๋งจะไม่มากเท่าภาคก่อน แต่คุณค่าอันน่าสนใจของสาระก็ยังมีให้เราเก็บไปขบคิดอยู่ และอันที่จริงแม้พลังความสดจะลดลง แต่มันก็ยังถือว่ามีพลังในแบบตัวเองในระดับที่น่าพอใจ
ดูๆ ไปก็เกิดความคิดอยากพิจารณาตัวเองผ่านการที่ผมมองหนังเรื่องนี้ว่าเราชอบน้อยกว่าภาคแรก ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ได้ตัดสินถึงคุณค่าความดีของหนังหรอกครับ จริงๆ หนังภาคแรกและภาคนี้อาจเทียบกันไม่ได้ เพราะต่างก็มีเอกลักษณ์ประจำเรื่องที่ต่างกันออกไป ดังนั้นเราจึงทำได้แค่บอกว่าเราชอบภาคไหนมากกว่า แต่ยากจะสรุปว่าคุณค่าภาคไหนที่มากกว่ากัน
จริงๆ มันก็มีคุณค่าทั้งคู่นั่นแหละนะครับ
สำหรับชื่อหนังเรื่องนี้ คำว่า Powaqqatsi มาจากภาษาโฮปีเช่นเคยครับ Powaq แปลว่า พ่อมดที่อยู่ได้ด้วยการดูดกินพลังของชีวิตอื่น ส่วน Qatsi แปลว่า สิ่งมีชีวิต
ความหมายของ Powaqqatsi ก็คือ สิ่งมีชีวิต หรือวิถีชีวิตที่ดูดกลืนพลังของสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อดำรงไว้ซึ่งชีวิตของตน
แน่นอนครับว่ามุมหนึ่งที่เราเห็นจากหนังคือการเห็นมนุษย์ดำรงชีวิตผ่านการสูบกินดูดกลืนสรรพสิ่งในธรรมชาติ เราเอาสิ่งมีชีวิตอื่นมาบริโภค (จะเนื้อสัตว์หรือพืชพันธุ์ก็ล้วนเป็นการบริโภคของจากธรรมชาติ) เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่างๆ มาอำนวยความสะดวกให้กับชีวิต และแม้ของบางสิ่งเราอาจเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แต่ของเหล่านั้นก็มักจะดูดกลืนสูบบางสิ่งไปจากธรรมชาติเป็นการตอบแทนเสมอ
ในแง่มุมนี้แล้ว ทำให้เราควรบอกตัวเองครับ บอกอย่างที่ผมเคยบอกในหลายรีวิวว่าเมื่อธรรมชาติเสียสละให้เราเติบโต เราก็ควรใช้ชีวิตให้มีคุณค่าสมกับการที่เราได้อยู่รอด โดยแลกมาด้วยความเอื้ออารีของธรรมชาติ
เป็นอีกหนึ่งหนังสารคดีที่ผมเชียร์ให้ดูกัน ถ้าจะให้ดีหามาดูให้ครบทั้ง 3 ภาคนะครับ
สองดาวครึ่งครับ
(7.5/10)