Naqoyqatsi เป็นเรื่องที่ 3 ในหนังสารคดีชุดไตรภาค Qatsi ของ Godfrey Reggio ที่มาพร้อมคอนเซปต์เดิมครับ นั่นคือเป็นการร้อยเรียงภาพอันหลากหลายเข้ากับดนตรีอันทรงพลัง (ฝีมือของ Philip Glass เช่นเคย)
หน้าที่ของคนดูก็คือดูครับ ดูภาพที่ Reggio ร้อยเรียง ซึมซาบไปกับมัน จะตีความภาพตรงหน้าว่าอย่างไรก็สุดแท้แต่ใจคิด นั่นคือสิ่งที่ Reggio ให้อิสระกับเราครับ ดูแล้วคิดแบบไหน ดูแล้วได้แก่นสารอะไร (หรือไม่ได้อะไรก็ตาม) คือหน้าที่ของเราล้วนๆ ส่วนหน้าที่ของเขาและทีมงานจบหลังจากตัดต่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย
ธีมของ Naqoyqatsi สะท้อนให้เห็นถึงโลกแห่งการแก่งแย่ง สงคราม การทำร้ายกันและกันของมนุษย์ อีกทั้งธรรมชาติของเทคโนโลยีที่มนุษย์นำมาใช้ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และทำลาย
ลึกๆ แล้วผมชอบ Koyaanisqatsi ที่สุดครับ มันลงตัว เต็มอิ่ม ทรงพลัง เร้าอารมณ์ และบางจังหวะก็ลดระดับชีพจรของเราได้อย่างน่าทึ่ง ส่วน Powaqqatsi ผมก็ชอบครับ มันสะท้อนมิติอันซับซ้อนและยอกย้อนของคนได้อย่างน่าสนใจ แน่นอนว่ามิติของมนุษย์ย่อมมีทั้งส่วนที่น่ามองและน่าหันหนี แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเมื่อเราเกิดมาเป็นคนแล้ว การหันไปเผชิญหน้ากับมันสักครั้ง จดจ้องมันด้วยดวงตาที่เปิดกว้างและยอมรับความจริงถือเป็นสิ่งที่ควรลองทำให้ได้สักครั้งครา
สำหรับ Naqoyqatsi รสชาตินับว่าต่างออกไปครับ มันไม่ใช่ภาพจริงของคนและธรรมชาติอีกต่อไป ส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่ได้รับการตกแต่งด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะภาพตัวเลข 001100 สัญลักษณ์ดิจิตอล หรือภาพอื่นๆ ที่ถูกย้อมสีให้ออกมาเหมือนภาพนั้นถูกมองผ่านโลกเทคโนโลยี ว่าง่ายๆ คึอเป็นภาพประดิษฐ์นั่นเองครับ
จริงๆ งานด้านภาพยังเข้าท่าอยู่ครับ ดนตรีก็ดี แต่กระนั้นด้วยลีลาการนำเสนอแบบภาพแต่งมันเลยให้อารมณ์เหมือนเราดูสกรีนเซิร์ฟเวอร์บนหน้าจอคอม หากเป็นสมัยก่อนก็คงแปลกตาอยู่ครับ แต่พอเราอยู่กับโลกดิจิตอลมามาก เห็นภาพแต่งภาพ Effect มามาก เราก็เลยรู้สึกชิน ไม่ค่อยอะไรกับมันมาก ไม่เหมือนกับตอนดูภาพธรรมชาติที่มันให้อารมณ์ความรู้สึกกับเรามากกว่าเยอะ
การดูสารคดีเรื่องนี้มันเลยทำให้คิดบางอย่างครับ คือถ้าดูในแง่พลังภาพ ในแง่สารในหนังเราอาจไม่รู้สึกชื่นชอบเท่า 2 เรื่องแรก แต่ผมไม่แน่ใจว่างานชิ้นนี้ของ Reggio จงใจร้อยเรียงออกมาเพื่อให้คนดูอย่างเราๆ สำรวจความคิด สำรวจจิตใจ
คนชอบหนังเรื่องนี้ก็ไม่แปลกครับ แสดงว่ามันถูกจริตหรือมีจุดที่ทำให้รู้สึกสนใจ แต่กับคนที่ชอบไม่มาก (หรือไม่ชอบ) ก็อาจนำให้เราเข้าใจจริตส่วนลึกของตนมากขึ้น
หนังเรื่องนี้จึงเป็นดั่งภาพหยดหมึก ที่ไม่ได้มีเพียงภาพตรงหน้า แต่มันสื่อถึงภาพในใจให้ผุดขึ้นมาในหัวเราด้วย
และถ้าเรามองภาพในใจนั้นชัดพอ เราก็จะได้เห็นตัวเราชัดขึ้นอีก
สำหรับผม มันทำให้ผมตระหนักครับว่าผมหลงรักโลกแห่งธรรมชาติ การดูภาพต้นไม้ แม่น้ำ ผินดินกว้างใหญ่ หรือธรรมชาติมันคือแหล่งพลังอันไร้ขีดขั้น ที่ทำให้เราอิ่มเอมได้เพียงแค่มองมันและให้เวลามันทำหน้าที่เยียวยาใจเราสักพัก
ส่วนภาพสไตล์เทคโนโลยี ภาพประดิษฐ์ หรือภาพดิจิตอลทั้งหลาย… เราคงต้องให้เวลาเพื่อคุ้นกับมันอีกสักระยะ
เอาเป็นว่าถ้าคุณชอบหนังสารคดีที่ไร้คำพูด มีแต่ภาพและดนตรีล่ะก็ ลองดูได้ครับ แต่หากคุณชอบ 2 เรื่องแรกของไตรภาคนี้ อาจต้องเผื่อใจไว้นิดหนึ่งนะครับ
สองดาวบวกๆ ครับ
(6.5/10)
หมวดหมู่:รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Documentary, Music, Non-narrative films