(มันยาวมากนะครับ…ถ้าไม่ชอบอะไรยาวๆ ข้ามได้เลยครับ)
และด้วยความที่หนังเรื่องนี้มีทั้งคนชอบ-เฉยๆ-ไม่ชอบ ผมจึงต้องขอความกรุณาให้ทุกท่านแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสุภาพครับ พื้นที่ในเพจนี้ต้อนรับทุกความเห็นเสมอ ขอเพียงเราสนทนากันอย่างฉันท์มิตร ซึ่งเราอาจได้มุมมองใหม่ๆ เพิ่มเติมจากการสนทนาก็ได้ครับ ^_^
การที่ผมเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ในโรงถึง 2 รอบแปลว่าผมชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ใช่หรือไม่? ก็อาจจะใช่นะครับ ผมคงชอบหนังเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว แต่ครั้นพอมาถามใจตัวเองจริงๆ คำตอบมันอาจมีรายละเอียดมากกว่าคำว่า ชอบ หรือ ไม่ชอบ
ผมดู Dunkirk รอบแรกจบลงด้วยความรู้สึกว่าหนังดี หนังเรื่องนี้เราชอบ แต่พอเวลาผ่านไปก็บังเกิดความรู้สึกประมาณว่า “มันยังไม่สุด มีบางจุดของหนังที่แอบขัดๆ ทางอารมณ์ แต่โดยรวมๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เข้าข่ายดีนั่นแหละ”… แต่กระนั้นความค้างคาบางอย่างก็ยังคงอยู่ในหัว
พอค้างคามากๆ ก็เลยขอเข้าไปเก็บอีกสักนัด เพราะหนังก็ไม่ยาวเท่าไรด้วย แค่ 1 ชั่วโมง 40 นาทีนิดๆ ซึ่งถือเป็นหนังที่สั้นที่สุดของ Nolan ตั้งแต่ Following (ที่ยาวแค่ชั่วโมงนิดๆ เท่านั้นเอง… ส่วน Quay ที่เป็นหนังสั้น ผมขอไม่เอามานับครับ)
เมื่อดูจบสองรอบ ผมอาจตอบไม่ได้ว่าหนังต้องการบอกอะไร Christopher Nolan ต้องการสื่ออะไร (ถ้าอยากรู้ควรฟังจากบทสัมภาษณ์ของ Nolan จะดีที่สุด) แต่ผมบอกได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร และเห็นอะไรจากหนังเรื่องนี้…
ยุทธการที่ดันเคิร์กคืออะไร? ผมคงไม่สาธยายนะครับ เพราะเสิร์จ Google ก็เจอแล้ว อ่านตรงนั้นจะละเอียดกว่า ว่าง่ายๆ ก็คือทหารฝ่ายสัมพันธมิตรถูกทหารเยอรมันล้อมที่ชายหาดดันเคิร์กครับ นั่นทำให้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหนีไปจากที่นั่น
แม้นี่จะเป็นหนังสงคราม แต่ลีลาการเล่าจะต่างจากหนังสงครามเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะ The Longest Day, A Bridge to Far, Tora Tora Tora ไล่มาจนถึง Saving Private Ryan ที่มักจะเล่าแบบสำรวจประวัติศาสตร์ เดินเรื่องเป็นเส้นตรง มีจุดเริ่ม จุดจบแบบชัดเจน
Dunkirk เล่าเหตุการณ์ 3 ช่วงเวลาที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่เหตุการณ์ที่หาด, เหตุการณ์ที่ชาวบ้านเดินทางมาช่วยทหาร และเหตุการณ์บนฟ้าของเหล่าเสืออากาศ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเราต้องตามเรื่องดีๆ สังเกตรายละเอียดของแต่ละฉากให้ดี ไม่งั้นอาจงงได้ (ประมาณเดียว Manchester by the Sea น่ะครับ)
Nolan บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าเขาจะเล่าสไตล์นี้ครับ สำหรับผมถือว่าเป็นการ “ลองของ” ตามสไตล์พี่แกนั่นเอง ซึ่งก็บอกได้เลยครับว่ามันต้องมีทั้งคนที่ชอบ (เพราะจูนกับสไตล์นี้ได้) และต้องมีคนที่ไม่แนวกับสไตล์นี้ จนอาจเฉยๆ หรือไม่ก็ไม่ชอบหนังไป อันนี้ก็บอกไว้ก่อนเผื่อจะมีการปรับใจก่อนดู
ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าการเล่าแบบนี้อาจทำให้หนังไม่สามารถไล่อารมณ์ตามลำดับได้ ประเภทว่าเรียงลำดับตามสูตรเดิม ที่เริ่มด้วยการแนะนำตัวละคร แล้วก็เดินเรื่องไปจนถึงไคลแม็กซ์ ซึ่งประโยชน์ของการเดินเรื่องแบบนั้นคือจะสามารถบิ้วอารมณ์และสร้างให้คนดูเกิดความผูกพันกับตัวละครได้ง่ายกว่า ในขณะที่สไตล์นี้หลายคนอาจรู้สึกโดดทางอารมณ์อยู่บ้าง
สำหรับผมนั้น ถ้าถามว่าอินไหม ผมว่าผมก็ยังอินนะ แต่มันไม่ใช่อินแบบลงลึก แต่จะเป็นอารมณ์อินแบบผู้สังเกตการณ์ อินเป็นฉากๆ เป็นพักๆ แต่ความอินที่ว่านี่ พอถึงคราวจะอินมันก็อินเยอะอยู่นะครับ อย่างฉากแรกเลยที่อารมณ์อินมันไหลมาเทมาก็คือฉาก “หามคนป่วย เดินข้ามไม้แผ่นเดียว”
แน่นอนว่าความอินที่บังเกิด มันก่อกำเนิดขึ้นด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะดนตรีขยี้ใจของ Hans Zimmer ที่ “บีบ เค้น คั้น” จนถึงขั้นต้องร้องขอชีวิต คือมันกดดันมากน่ะครับ บิ้วแบบต่อเนื่องจนความกดดันแผ่ซ่านไปทั่ว การเล่นตัวโน้ตซ้ำๆ ย้ำๆ พร้อมซาวด์รอบๆ ที่เหมือนกับค่อยๆ เป็นกำแพงล้อมตัวเรา แล้วก็บีบเข้ามาเรื่อยๆ… มันได้จริงๆ
ไหนจะเครื่องประกอบฉากที่ถือว่าเสริมความขลังให้หนังได้เยอะครับ เอาแค่ตอนได้เห็นปืนนับร้อยกระบอกพาดเรียงกันเป็นตับอยู่ตรงริมหาด หรือหมวกทหารที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป นี่ก็ทำให้รู้สึกถึงความขลังได้อย่างดีแล้วล่ะครับ
ซึ่งตลอดตั้งแต่ต้นจนจบนั้น ผมก็จะรู้สึกประมาณนี้แหละ ถามว่าอินหรือจมไปกับเรื่องราวไหม ผมว่าผมไม่อินขนาดนั้นนะ จะออกแนวอินเป็นฉากๆ มากกว่า แต่พอถึงคราวอินมันก็อินจนอึน อินจนอิ่มจุกไปเลยเหมือนกัน (อย่างฉากหามคนข้ามไม้นั่น ผมเกือบจะร้อง “เฮ้” ตามเขาไปด้วยเลยล่ะ)
จะว่าไป ผมว่าผมก็อินไม่ต่ำว่า 80% ของเหตุการณ์ในหนังครับ ส่วนช่วงทีเหลือไม่ใช่ไม่อินนะครับ แต่มันเหมือนเป็นช่วงพัก เป็นช่วงที่หนังไม่ขยี้อารมณ์คนดู ความอินเลยไม่ถูกบิ้วครับ
พอมองในจุดนี้ ผมว่า Nolan แกก็แม่นเหมือนเดิม เพียงแต่สไตล์จะต่างออกไปตรงที่หนังเรื่องก่อนๆ เวลาแกบิ้วก็มักจะบิ้วต่อเนื่อง ใช้ทุกองค์ประกอบมารวมพลังเป็นจุดเดียวจนทำให้เราลืมหายใจ แต่กับเรื่องนี้แกอาจไม่ได้บิ้วต่อเนื่องตลอดเวลา แต่พอถึงวาระไหนที่เขาจะบีบใจเรา เขาก็ลงมือบีบ บีบ และบีบจนเราอินได้เมื่อนั้น (แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็คงขึ้นกับจริตความชอบของเราด้วยน่ะครับ ถ้าใครไม่แนวก็อาจเฉยๆ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร)
จุดน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือดาราในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ระดมกันมาแบบเรื่องก่อนๆ คนที่ถือว่าดังและหน้าคุ้นจริงๆ จะมีแค่ Kenneth Branagh, Tom Hardy, James D’Arcy, Mark Rylance (Bridge of Spies) และขาประจำ Nolan อย่าง Cillian Murphy กับ Michael Caine ที่แอบมารับเชิญทางเสียงครับ (เป็นเสียงคนทางวิทยุ)
มองจุดนี้แล้วก็เข้าใจมากขึ้นครับ ว่าหนังไม่ได้กะเน้นที่ตัวละคร แต่เน้นที่สถานการณ์ เน้นที่เรื่องราว เน้นที่งานภาพ (ตากล้อง Hoyte Van Hoytema จับภาพได้อลังและได้อารมณ์อย่างยิ่ง) เหมือนเจตนาจะชี้ชวนให้เราดูองค์รวมของเหตุการณ์ มากกว่าจะให้โฟกัสที่ใครคนใดคนหนึ่ง
แต่ถ้าจะมีใครที่ผมชอบสุด ผมยกให้ Branagh ครับ เขาเป็นตัวเลือกที่เหมาะมากๆ เพราะตัวละครนี้เน้นที่การแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้า ฉากไหนที่คิ้วเขาขมวดขึ้นมานี่ผมขนลุกเลยนะ คือมันส่งอารมณ์ผ่านจอมาทำให้เราตระหนักได้ว่า มันชักจะมีอะไรไม่ชอบมาพากลแล้ว ยอมรับเลยครับว่า Branagh ดึงอารมณ์ผมได้อย่างเทพมากจริงๆ (แน่นอนว่าตอนเขายิ้ม ผมก็ยิ้มตามเลย)
มีคอหนังท่านหนึ่งสนทนากับผมว่า เขานึกว่า Dunkirk จะมีปรัชญาอะไรมากกว่านี้ ในขณะที่ผมนั้นไม่เคยมองว่า Nolan เป็นผู้กำกับที่เจตนาแฝงปรัชญาลงในหนัง เขาเป็นเพียนงคนทำหนังที่มีความคิด มีเรื่องราวอยากเล่า และมีไอเดียอยากเล่น สิ่งที่เขาทำเสมอคือเล่าเรื่องให้สุดทาง สร้างอารมณ์ให้สุดติ่ง (และอาจมีการชี้นำทางอารมณ์ หรือชี้นำให้เรามองจุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษ) แล้วปล่อยให้คนดูไปซึมซับต่อเอาเอง
และลองว่าเขาสามารถนำเสนอสถานการณ์หนึ่งๆ ได้อย่างถึงขีดทั้งภาพ เสียง ดนตรี การแสดง และอารมณ์แล้ว มันก็เป็นเสมือนหนึ่ง “เหตุการณ์” ให้เราได้เรียนรู้ ให้เราได้สังเกตแง่มุมต่างๆ บางครั้งก็เป็นเหมือนนิทานเรื่องเล่าให้เราเก็บสาระ บางครั้งก็เป็นดั่งอุทาหรณ์สอนใจคน
ปรัชญาหรือสาระที่ปรากฎในหนัง Nolan มักจะไม่ใช่อะไรที่อยู่บนหิ้ง ไม่ใช่อภิปรัชญาที่ลึกล้ำ แต่มันคือปรัชญาติดดิน คือข้อเท็จจริงในสังคม ในโลก ในจิต ในวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ทั้งนี้และทั้งนั้นก็อยู่ที่เราว่าจะเห็นมันไหม เราจะใส่ใจสกัดมันออกมาพิจารณาหรือต่อยอดไหม
จึงไม่แปลกที่หนังของ Nolan จะมีคนเห็นคุณค่า ยกย่อง เชิดชู (อาจเพราะถูกจริต, ถูกเส้น, มองเห็นตรงกันกับสิ่งที่ Nolan นำเสนอพอดี) หรือบางคนอาจไม่รู้สึกอะไร รู้สึกเฉยๆ งั้นๆ เพราะส่วนใหญ่สิ่งที่เห็นในหนังของเขาก็ไม่ได้วิจิตรพิสดารอะไร มันคือการเอาความจริงที่เราเห็นได้บ่อยๆ ในสังคมมาขยายความ มาต่อยอด (นอกจาก Inception ที่สวิงสวายในแง่ของจินตนาการ ในขณะที่ Interstellar แม้จะไซไฟแค่ไหน แต่ก็ยังมีความติดดินอิงของจริงอยู่ในนั้น)… ดังนั้นจะชอบหรือไม่ชอบ Nolan ก็ไม่แปลกทั้งนั้นครับ ^_^
ย้อนกลับไปที่คำถามตั้งต้น “ผมชอบหนังเรื่องนี้ไหม?” ถ้าให้ว่าโดยสรุป ผมก็ชอบครับ ชอบมากในหลายภาคส่วน แต่ก็มีสิ่งที่ยังจูนไม่ติด สิ่งที่ยังไม่คุ้นเจืออยู่บ้าง มันเลยเป็นความชอบที่มี “ความไม่คุ้น” โผล่แทรกมาเล็กๆ แต่กระนั้นก็นับถือล่ะครับที่ Nolan กล้าลองทำ เพราะจะว่าไปมันก็เป็นอะไรที่ออกจะผิดคาดอยู่เหมือนกัน (เชื่อว่าตอนแรกหลายคนก็คงคิดว่ามันจะออกมาเป็นไทม์ไลน์เดียวแบบที่ผ่านมาๆ)
อย่างไรก็อยากให้ลองดูครับ เพราะหนังถือว่าทำได้ถึงฟอร์ม สมทุน $100 ล้าน ซึ่งก็เชื่อว่าไม่ขาดทุนครับ ได้ทั่วโลกน่าจะ 400 – 500 ล้าน แต่ตอนนี้ผมมองไปถึงอนาคตที่ Nolan เปรยๆ ว่าอยากยกเครื่อง James Bond แล้วเล็งๆ ให้ Tom Hardy มารับบทสายลับ 007 ซึ่งก็อาจจะอีกซัก 5 ปีเป็นอย่างน้อย (ว่าง่ายๆ คือต้องรอให้ Craig อำลาบทบอนด์ไปก่อน)
======================
======================
ถัดจากนี้มีสปอยล์ครับ
ไม่อยากทราบไม่ควรอ่านต่อครับ
======================
======================
ผมชอบฉากที่ทหารในเรือหาเหตุผลที่จะให้คนอื่นไปตายแทนตน สะท้อนความจริงที่ว่าการเอาตัวรอดนั้นมันไม่มีคำว่า “เกียรติหรือศักดิ์ศรี” มาเกี่ยวข้อง ซึ่งมันอาจดูดิบหรือโหดร้าย แต่ในความจริงมันก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสนามรบ
เอาเข้าจริงการหาเหตุโยนความตายให้คนอื่น มันก็อยู่ในจำพวกเดียวกับการโยนความผิดให้คนอื่น, โยนภาระให้คนอื่น, ผลักงานให้คนอื่น ฯลฯ มันคือการปัดสวะให้พ้นตัว มันคือความเห็นแก่ตัวของคน มันคือสิ่งที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน
ทว่าในขณะเดียวกัน โลกนี้ก็ยังมีคนที่พร้อมจะเสียสละ คนที่พร้อมจะรับผิดชอบ คนที่พร้อมจะเสี่ยงตายเพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง… ในแง่หนึ่งการดู Dunkirk ก็ตอกย้ำในคำตอบต่อคำถามที่ว่า “เพราะอะไรเราถึงต้องทำสิ่งดีๆ เพราะอะไรคนดีๆ ถึงต้องพยายามเสียสละ ในขณะที่คนเห็นแก่ตัวก็มีอยู่ทั่วไป สู้เราเห็นแก่ตัวด้วย เอาตัวรอดเหมือนอย่างเขาไม่ดีกว่าหรือ?”
ก็เพราะว่าถ้าโลกนี้ทุกคนคิดแต่จะเอาตัวรอด มันคงเต็มไปด้วยความฉิบหาย เต็มไปด้วยการแก่งแย่ง ความตาย และการนองเลือด
จริงที่มนุษย์ก็คือสัตว์ชนิดหนึ่ง เราต่างก็มีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดเหมือนสัตว์ทั่วไป แต่สิ่งที่ธำรงค์ให้โลกนี้ยังพอจะหมุนต่อไปได้ ทำให้เราพอจะมีที่ยืน พอจะมีความปลอดภัยในชีวิตเหลืออยู่บ้าง ก็เพราะคนบนโลกนี้ไม่เห็นแก่ตัวไปเสียทั้งหมด ความดี-ความชั่ว มันเลยยังพอจะคานอำนาจกันได้อยู่บ้าง
ว่าจะไม่คิด แต่พอคิดเท่านั้นล่ะ ก็คิดเลย… ไม่แน่ว่าใจว่าสิ่งที่ Nolan “เห็น” ในเรื่องราวของเหตุการณ์ Dunkirk จนรู้สึกอยากเอามาทำเป็นหนังนั้นคืออะไร ส่วนผมนั้นมองว่าประเด็นมันอาจไม่ใช่เรื่องของสงคราม เรื่องราวทางทหาร หรือการฆ่าฟัน แต่อาจเป็นเรื่อง “ทางรอดของมวลมนุษยชาติ” ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวนี้
ลองมองดีๆ ผมว่าสมรภูมิ Dunkirk อาจเปรียบได้กับสังคมโลกทุกวันนี้… สังคมที่มีความวุ่นวาย คนแบ่งฝักฝ่าย คนเห็นแก่ตัว บางคนชอบหนีเอาตัวรอดและปล่อยให้คนอื่นตาย หรือคนระดับผู้นำก็มีการเขม่นกัน ทำสงครามกัน แย่งชิงอะไรบางอย่างกัน หรือไม่ก็ประลองกำลังและอำนาจกัน
การทำสงครามไม่ว่าจะเป็นสงครามจริงๆ ที่ยิงด้วยอาวุธ หรือสงครามทรัพยากร สงครามเศรษฐกิจ ก็จะต้องมีคนที่ประสบความลำบากอยู่กลางสนามรบ คนมากมายจำเป็นต้องรบ หรือบางคนแม้ไม่ได้รบแต่ก็ได้รับผลจากสงครามเหล่านั้น ต้องติดอยู่กลางสนามแห่งความวุ่นวาย ไปไหนต่อไม่ได้…
ถ้าเหตุการณ์ใน Dunkirk มีแต่คนรอความตาย (ไม่พยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา) หนีความรับผิดชอบ หรือคนที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น หากคิดเอาว่าเราไม่เกี่ยว ไม่ต้องไปยุ่งกับเขาดีกว่า ไม่ต้องช่วยอะไรเขาหรอก… อะไรจะเกิดขึ้น?
ทางรอด (หรือปาฏิหาริย์) ที่เกิดขึ้นในหนัง คือสิ่งที่เกิดจากมือของมนุษย์ จากความพยายามของมนุษย์ และจากการร่วมมือกันของมนุษย์ และที่น่าสังเกตคือตัวละครในเรื่องไม่ใช่คนระดับผู้นำประเทศ ไม่ใช่ประธานาธิบดี ไม่ได้มีการโฟกัสไปที่ผู้มีอำนาจสูงๆ แต่เป็นการโฟกัสเรื่องของคนที่อยู่ตรงนั้น คนที่ต้องเจอกับปัญหา หรือไม่ก็อยู่ใกล้กับปัญหา
ไฮไลท์ของหนังจริงๆ ไม่ใช่ฉากสงครามรบพุ่งหรือความอลังการ แต่คือการที่คนได้ยื่นมือช่วยเหลือคนอื่น ช่วยพาคนที่กำลังจะตายให้รอดออกมา ช่วยดึงคนที่กำลังจะจมน้ำให้ลอยขึ้น… หรือกระทั่งช่วยคนที่กำลังจะสูญเสียตัวตน จิตวิญญาณ หรือกระทั่งความเป็นคน ให้ประคองตนจนผ่านเหตุการณ์นี้ไป และสามารถมีโอกาสที่จะตั้งหลักเริ่มชีวิตใหม่ขึ้นอีกครั้ง
ตัวละครทหารที่ตื่นกลัว (Cillian Murphy) กับกาารตอบสนองของดอว์สัน (Mark Rylance) และลูกชายในตอนท้าย สะท้อนประเด็นนี้ได้ดี
ท่ามกลางสภาวะโลกตอนนี้ (หรือกระทั่งในบ้านเรา) ไม่ว่าจะเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ หรือเงินทองก็ตาม การช่วยเหลือระหว่างคนธรรมดาด้วยกัน คือพลังที่สำคัญที่สุด (หรืออาจเป็นดั่งจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ) เราต้องพยุงกันเอง ประคองกันเอง อย่าหวังแต่จะพึ่งพาผู้มีอำนาจหรือหวังความเปลี่ยนแปลงแบบปาฏิหาริย์จากเทพเทวดา
ถ้าอยากได้ปาฏิหาริย์ต้องช่วยกันสร้าง ถ้าอยากรอดต้องช่วยกันประคอง
พึ่งตนเองให้ได้ ช่วยคนอื่นให้เป็น
Dunkirk สอนเราไว้เช่นนั้น…
ปล. ชอบบทบาทของ Branagh มาก เขาเป็นผู้นำในสถานการณ์นั้นได้ดี เขาทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ บริหารด้วยใจเย็นและมีสติที่สุด… อยากให้มีผู้นำแบบนี้เยอะๆ จัง
ปล 2. ชอบฉากตอนท้ายที่มีเครื่องบินกำลังจะพุ่งไปที่เรือของดอว์สัน แทนที่ดอว์สันจะลนลานหรือหมดหวัง เขากลับพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าโอกาสจะน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ดีกว่ายอมตายโดยไม่ทำอะไร
สามดาวครับ
(8/10)