Action

Twister (1996) ทวิสเตอร์ ทอร์นาโดมฤตยูถล่มโลก

51GW5RZP9SL._SS500_

พายุ ฝนฟ้า ลมไฟเป็นอะไรที่ไม่มีความแน่นอนครับ เกิดได้ทุกที่และสร้างความหายนะได้ไม่จำกัด เช่นเดียวกับการที่พวกสตูดิโอในฮอลลีวู้ดชอบนำเอาเหตุหายนะทั้งหลายมาสร้างเป็นหนังอยู่ประจำ ผลที่ได้ก็ไม่แน่นอนพอกันครับ ไม่รู้ว่ามันจะออกหัวหรือก้อย ที่ดังก็มี ที่ดับก็มาก

Twister คอหนังน่าจะจำกันได้นะครับ หนังไล่ล่าพายุสุดมันส์ภายใต้การกำกับของ Jan de Bont ที่ตอนนั้นกำลังดังมาจาก Speed ภาคแรก ส่วนหน้าที่คนเขียนบทก็คือ Michael Crichton เจ้าของงานประพันธ์ Jurassic Park ที่ลงมือค้นคว้าเรื่องพายุกับ Anne-Marie Martin ศรีภรรยาเพื่อเขียนบทหนังว่าด้วยมหาพายุขึ้น แล้วก็ออกมาเป็นเรื่องนี้แหละครับ

ตัวเอกคือโจ ฮาร์ดิง (Helen Hunt) สาวแกร่งที่เคยสูญเสียพ่อไปตอนทอร์นาโดเข้าโจมตีบ้าน เลยมีความฝังใจไล่ล่าพายุมาตลอด จุดประสงค์ก็เพื่อจะเอาเครื่องมือที่ชื่อว่า “โดโรธี” ที่ภายในบรรจุเซ็นเซอร์นับร้อยๆ ไว้ วิธีใช้คือต้องเอามาไปตั้งกลางพายุเพื่อให้เซ็นเซอร์เหล่านั้นได้ลอยขึ้นไปใจกลางพาย จากนั้นมันก็จะส่งข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับองค์ประกอบของทอร์นาโดกลับมาให้ทีมงานของโจได้ศึกษาและทำนายการเกิดพายุได้ในครั้งต่อไป ซึ่งตามปกติการทำนายการเกิดพายุจะสามารถทำล่วงหน้าได้แค่ 3 นาทีเท่านั้น อีแบบนั้นใครจะหลบทันล่ะครับ แต่หากโจและพวกทำสำเร็จ การเตือนภัยล่วงหน้าจะสามารถทำได้ถึง 15 นาทีเลยทีเดียว

แต่อย่างที่บอกครับ การจะให้เซ็นเซอร์ของโดโรธีใช้งานได้ก็คือต้องเอาเครื่องไปตั้งกลางพายุ ดังนั้นเหตุการณ์ที่เราจะได้เห็นตลอดทั้งเรื่องคือโจและพรรคพวกต้องยกทีมกันไปไล่ล่าพายุ ไปดักไปขวางมันเพื่อเอาเครื่องโดโรธีไปไว้ในใจกลางให้ได้ ตรงนี้แหละที่ลุ้นสุดขีด เพราะการจะไปกะเกณฑ์เล็งทิศทางของพายุก็ยากพออยู่แล้ว แต่ที่ยากกว่าคือจะหนีจากพายุได้ทันก่อนมันจะพุ่งเข้ามาหรือเปล่านี่สิ

ดูเหมือนหนังจะไม่มีอะไรนะครับ คนกลุ่มหนึ่งวิ่งไล่ตามพายุ บทหนังเลยเสริมโน่นต่อนี่ลงไปสารพัดเพื่อเพิ่มความแน่น ไม่ว่าจะการที่โจมีความแค้นต่อพายุ แล้วยังมี บิลล์ (Bill Paxton) สามีเก่าของโจที่มาเพื่อทำเรื่องหย่าให้เสร็จๆ ไป แต่ที่ไหนได้ดันต้องมาร่วมทีมตามล่าพายุไปอีกราย เพราะสมัยก่อนตอนยังรักกันนายบิลล์คนนี้แหละเป็นหัวหอกฟอร์มทีมตามล่าพายุ ซ้ำตัวเขาเองก็เป็นคนประเภทรู้ใจพายุอีกต่างหาก ดังนั้นพอมีโอกาสได้มาตามล่าพายุแบบนี้เลือดเลยอดสูบฉีดไม่ได้

ตัวหนังจัดว่าสนุกเอาเรื่องเลยนะครับ ดูเอามันส์ก็ดี หรือจะเอาไว้คิดก็ไม่เลว

พูดถึงเรื่องความมันส์ก่อน ก็หนังไล่ล่าพายุนี่ครับ ส่วนหนึ่งที่เป็นพระเอกสำคัญคือ Special Effects ที่สามารถเนรมิตพายุขึ้นมาสนมจริง แล้วยังดูมีชีวิตอีก อันนี้ถือเป็นอะไรที่สำคัญไม่ใช่หยอก แม้มันจะเป็นแค่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่หากให้มันมาเป็นลมพัดแบบดื้อๆ เห็นทีหนังคงกลายเป็นสารคดีกันไป

เจ้าทอร์นาโดในเรื่องนี่จะว่าเป็นตัวร้ายก็ไม่เชิงครับ ถือเป็นตัวละครหนึ่งเลยดีกว่า คือแม้จะดูเป็นผู้ร้ายที่เอาแต่ทำลายบ้างช่อง แต่เอาเข้าจริงมันก็เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตอีกประเภทที่ไม่เข้าใจหรอกครับว่าตรงนี้คือบ้าน ตรงนี้คือโรงนาร้าง ไม่รู้ว่าอันไหนคนอันไหนต้นไม้ พัดย้ายไปเรื่อยๆ ตามแต่สภาวะอากาศจะนำพาไป ซึ่งแบบนี้ทำให้มันมีทั้งเสน่ห์และความน่ากลัวในเวลาเดียวกัน

และหนังก็ฉลาดพอที่จะให้ตัวเอกอย่างบิลล์เป็นคนรู้ใจพายุ หนังเลยเหมือนสองสิงห์ไล่ล่ากันครับ สนุกไปอีกแบบ สลับกันเป็นคนล่าและถูกล่า หนังเลยลากยาวไปได้ไม่น่าเบื่อ

อีกส่วนหนึ่งที่ผมชอบเอาเรื่องคือมุมมองครับ ที่หนังถ่ายทอดออกมา ว่าการจะรับมือกับธรรมชาติ ก็ต้องอาศัยธรรมชาตินี่แหละ อย่างการไปตามล่าพายุ ต่อให้มีอุปกรณ์ไฮเทคแค่ไหน เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่แม่นยำที่สุดคือสามัญสำนึกและสัมผัสของคน อย่างบิลลืไงครับ คลุกคลีกับพายุจนรู้จักมันดี เดาใจมันได้โดยไม่ต้องไปคำนวณองศาหาตัวเลขให้มากความ แค่ใช้เศษดินเล็กๆ หรือไม่ก็รูปร่างทั้งหลายของเมฆบนท้องฟ้าก็สามารถเดาทางพายุได้อย่างไม่ยากเย็น

แม้ในความเป็นจริงอาจจะยากครับที่จะหาคนแบบนั้นได้ แต่ผมมองมันในแง่ของการเปรียบเปรยมากกว่า ว่าการใช้ชีวิตปัจจุบันของคนเรามันพึ่งพาเทคโนโลยีเยอะเหลือเกิน โอเค บางอย่างต้องพึ่ง อย่างอินเตอร์เน็ตเป็นต้น ถ้าไม่พึ่งพาผมจะมานั่งพิมพ์ให้ท่านอ่านได้อย่างไรจริงไหมครับ แต่บางอย่างบางสิ่ง ที่อำนวยความสะดวกมากจนเราขี้เกียจ แล้วก็ลืมวิถีเดิมๆ ไปนี่ต่างหากที่ควรตระหนัก ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าคนเราร่างกายอ่อนแอลงไป ไม่ใช่เพราะอากาศที่แย่เท่านั้นนะครับ ยังรวมไปถึงการที่เราได้ใช้พลังงานน้อยลง ออกแรงน้อยทำให้การใช้แรงทำได้น้อยด้วย

ต้นไม้ไม่มีทางแข็งแรงได้หากไร้แดด แม้แดดจะร้อนก็เถอะ แต่มันเป็นประโยชน์ เช่นกันกับคนครับ ทำอะไรบางอย่างอาจจะเหนื่อย แต่มันก็เป็นความเหนื่อยที่ให้คุณมากกว่าให้โทษ

twister_xlg

ความสามารถของคนเราเหมือนกำลังจะถูกดูดกลืนไปครับ เทคโนโลยีเก่งขึ้นทุกวันๆ จากเดิมแค่คิดเลข ตอนนี้คุมเครื่องบินทั้งลำยังได้ แต่คนเรากลับลดบทบาทตัวเองลง ทำน้อยสิ่งน้อยอย่างลง อันนี้น่าคิดไม่ใช่น้อย เหมือนคนเราถ้าไม่ได้ใช้อะไรมากๆ ส่วนนั้นก็จะฝ่อกันพอดี

แต่ที่บอกแบบนี้ไม่ใช่ให้เราปิดไฟ เดินเข้าป่าไป ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เราควรบริหารใช้มันอย่างพอดี เครื่องอำนวยความสะดวกก็ดีครับ ช่วยเราได้ แต่ใช้มันเพื่อทุ่นแรงก็พอ ไม่ใช่อะไรทุกอย่างก็ให้มันทำให้หมด เดี๋ยวก็เป็นง่อยพอดี ให้ใช้สมองบ้าง แรงกายบ้าง และเครื่องไฟฟ้าบ้าง อย่างสมส่วน เพื่อรักษาศักยภาพที่ดีของคนเราเอาไว้

เหมือนในเรื่องครับ ถ้าจะบอกว่าบิลล์ใช้แต่สัญชาตญาณอย่างเดียวตลอดทุกขั้นตอนก็เปล่า อย่างตอนล่าพายุก็ต้องใช้รถทุนแรง หรือแม้แต่เครื่องโดโรธีก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งเหมือนกัน แต่ที่บิลล์กับโจและพวกใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นการใช้แบบร่วมมือครับ ไม่ใช่ใครเป็นนายใคร เหมือนใครมีบทบาททำอะไรทำ แบ่งหน้าที่กันปเนทีม ดังนั้นทีมของบิล,เลยถือเป็นสมดุลย์ที่น่าเก็บมาคิดนะครับ เพราะเป็นการร่วมมือกันของเทคโนโลยีและมนุษย์

ไม่เหมือนกับพวกของดร.โจนัส มิลเลอร์ (Cary Elwes) คู่แข่งตัวฉกาจของทีมบิลล์ที่เอาแต่จะฉกฉวยความสำเร็จของบิลล์ไปครอบครองอยู่เสมอ ขนาดโดโรธีของบิลล์ โจนัสยังขโมยไปทำแล้วก็อ้างว่าตนเองคิดค้นขึ้น พวกโจนัสนี่เป็นประเภทคิดอะไรไม่เป็น ก็อปปี้อย่างเดียว พึ่งพาแต่เครื่องยนต์กลไก สมองไม่ใช้ ทำอะไรก็จิ้มๆ แต่คอมพิวเตอร์ แบบนี้เลยตามบิลล์ไม่ค่อยจะทันไครับ ลองว่าปล่อยสมองให้มีแต่หยากไย่เกาะแบบเนี้ย

อะไรเหล่านี้ทำให้หนังที่มีพล็อตหลวมๆ ดูลื่นขึ้นถนัดตา เพราะมันไม่ได้เบาสาระ

คนที่ควรได้รับความดีความชอบหลักๆ คือทีมเนรมิต Effects จาก ILM ที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ ตามด้วยผู้กำกับ de Bont ที่ยังไม่เสียชื่อครับ ตอนนั้น ยังโอเคทำได้ท็อปฟอร์ม (ก่อนจะมีล่มกับ Speed 2: Cruise Control) แต่ที่ลืมไม่ได้คือดาราที่เล่นได้สมหน้าที่ ตัวเด่นจริงๆ น่าจะยกให้ Hunt นางเอกที่มีความแค้นต่อลมพายุจนตามล่ามันอย่างไม่ลืมหูลืมตา รายนี้ก็แสดงได้ดีอยู่แล้วล่ะครับ ท่าทางเป็นสาวมั่นพร้อมลุย แต่แววตาชอบแฝงอะไรบางอย่างในใจเสมอ เช่น ความกลัวหรือหวั่นไหว ในขณะที่ Paxton ที่ดูจะมีความเด่นเยอะ เพราะทั้งเก่งทั้งรู้เรื่องพายุ แต่เหมือนบทหนังจะพยายามจำกัดความเด่นไม่ให้มากเกินไป เพราะหากรายหลังเด่นขึ้นมา ตัวละครอื่นจะถูกเบียดหายไปแน่ๆ โดยเฉพาะบทโจของ Hunt ทำให้สองคนนี้เข้าคู่กันได้ค่อนข้างพอเหมาะครับ มีเกินๆ ขาดๆ บ้างแต่ก็ไม่เป็นไร ขอมองข้ามได้

ส่วนดาราเจ้าอื่นก็โผล่หน้าแบบพอหอมปากหอมคอ Elwes กับบทโจนัสก็ร้ายสมบท แต่ไม่ได้เลวจนน่ายัน แค่เห็นแก่ตัวเท่านั้น, Jami Gertz นางเอกหนังแวมไพร์แนววัยรุ่นอย่าง The Lost Boys มาเป็นดร.เมลิสซ่า รีฟส์ แฟนใหม่ของบิลล์ เธอเป็นเสมือนตัวแทนคนดูที่เข้าไปรวมกลุ่มตามล่าพายุแบบไม่รู้ตัว จนเล่นเอาเธอแทบสติแตกไปเหมือนกัน

ตามด้วยลูกทีมของบิลล์และโจที่เฉลี่ยความเด่นได้ตามสมควร ที่ลืมไม่ได้คือ Philip Seymour Hoffman ที่ยังไม่ดังครับ สมัยนั้นชอบเล่นเป็นตัวประกอบประเภทกิ้งก่าเปลี่ยนสี เล่นเป็นตัวอะไรก็ได้ อย่างในเรื่องก็เป็นดัสติน เดวิส มือขวาของโจที่เน้นฮาและบ้าตลอด ดูแล้วนึกถึง Jack Black ขึ้นมาทันที, Alan Ruck ดาราหน้าสุขุมที่เคยโผล่มาในหนัง Speed, Star Trek: Generations มาเป็นโรเบิร์ต “แร็บบิท” นูริค ผู้มีหน้าที่คุมเล่นทาง กางแผนที่บอกว่าทีมควรไปถนนเส้นไหน และ Lois Smith รับบทป้าเม็ก ที่โจและเพื่อนๆ รักมากเพราะเป็นเหมือนแหล่งเสบียงเติมพลังสำคัญให้กับทีมล่าพายุกลุ่มนี้

เป็นอีกหนึ่งหนังภัยธรรมชาติที่สนุกครับ ไม่ผิดหวัง ดูเอาเพลินก็ดี ดูเอาสาระก็มี แต่คงต้องคิดแบบลงลึกกันหน่อยนะครับ

มีเกร็ดย่อยๆ อีกเล็กน้อยว่า คนที่ดูแล้วจะเห็นว่าตอนท้ายๆ ช่วงที่พวกโจแวะพักแถวๆ โมเต็ลแห่งหนึ่งจะมีหนังกลางแปลงฉาย ที่เราได้เห็นมันคือ The Shining ของ Stanley Kubrick แต่เนื่องจากหนังเรื่องนี้เป็นการร่วมทุนของค่าย Universal และ Warner Bros. ฉากที่ว่าเลยมีสองเวอร์ชั่นครับ เวอร์ชั่นที่เราได้ดูเป็นแบบฉายนอกสหรัฐ WB จัดจำหน่าย เลยได้ดู The Shining กัน แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นในอเมริกาที่ Universal จัดจำหน่ายล่ะก็ หนังกลางแปลงจะกลายเป็น Psycho ไปแทน

ในแง่รายได้ก็โกยระเบิดระเบ้อ ในอเมริกาทำไป $241 ล้าน หากรวมทั่วโลกก็จะเป็น $494 ล้าน จากทุนสร้างราว $92 ล้าน ก็ถือว่าทำกำไรสวยงามครับ

อีกหนึ่งเกร็ดคือ นี่เป็นหนังเรื่องแรก ที่ลงแผ่น DVD ครับผม

ผมก็ดูหนังเรื่องนี้หลายรอบแล้วนะครับ ก็ยังดูได้อย่างเพลินๆ สนุกสนาน แต่หากจะมีอะไรให้ใจหายก็คงเป็นเรื่องที่ Bill Paxton และ Philip Seymour Hoffman ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ทำให้ดูกี่ครั้งก็คิดถึงพวกเขาเสมอ

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7.5/10)

Untitled06417

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.