Action

Watchmen (2009) ศึกซูเปอร์ฮีโร่พันธุ์มหากาฬ

MV5BY2IzNGNiODgtOWYzOS00OTI0LTgxZTUtOTA5OTQ5YmI3NGUzXkEyXkFqcGdeQXVyNjU0OTQ0OTY@._V1_SY1000_CR0,0,666,1000_AL_

ก่อนพบกับรีวิวยาวๆ ตามแบบฉบับ เรามาเจอะเจอรีวิวสั้นๆ กันหน่อยดีไหมครับ เพื่อประหยัดเวลาสำหรับคนที่อยากบริโภครีวิวแบบ Fast Read อ่านปุ๊บตัดสินใจปั๊บได้เลยว่าจะดูไม่ดู ก็ขอเข้าเรื่องแบบตรงประเด็นเลยนะครับ

1. หนังเรื่องนี้ได้เรต R ครับ เพราะมีความรุนแรงในระดับที่มาก ฉากการต่อสู้ก็โหดไม่ใช่น้อย เช่น อัดกันแขนหัก (แบบเห็นกระดูกหักออกมานอกเนื้อ), เห็นเลือดกระจัดกระจายเปรอะจอ ตามด้วยอวัยวะขาดแบบจะๆ (ดูแล้วคุณจะนึกถึง Saw) และอื่นๆ อีกหลายฉาก (บอกมากเดี๋ยวสปอยล์) เอาเป็นว่าแรงมากครับ

นอกจากนี้ยังมีฉากเลิฟซีนเร่าร้อนแบบเห็นหมดอีกต่างหาก ดังนั้นหากจะนำพาเด็กและเยาวชนไปดูก็โปรดพิจารณาด้วยนะครับ มันไม่ใช่หนังฮีโร่ไร้มลพิษแบบ Spider-Man หรือ X-Men เข้าใจตามนี้ด้วยนะครับ

2. นี่ไม่ใช่หนังแบบ Spider-Man หรือหนัง “แอ็กชันฮีโร่” ทั่วๆ ไป ที่เปิดตัวพระเอกแล้วก็เจอตัวร้ายประจำภาค ก่อนจะตีกันในช่วงไคลแม็กซ์ มันไม่ใช่เลยครับ

แต่หนังจะออกแนว “ดราม่าฮีโร่” นั่นคือหนังจะเทน้ำหนักไปที่การเล่าเรื่องปูมหลังของฮีโร่แต่ละคน (อันเป็นเหตุผลให้หนังยาวถึง 163 นาที) เล่าแรงจูงใจ เล่าปมชีวิต ขณะเดียวกันก็ผสมสไตล์หนังสืบสวนลงไปด้วย เพราะพอเปิดเรื่องมาหนังก็เล่าให้ผู้ชมได้รู้ว่ามีฮีโร่คนหนึ่งถูกสังหาร ซึ่งประเด็นหลักๆ ในเรื่องก็คือการไขปริศนาว่าการตายของฮีโร่รายนี้มีเบื้องหลังหรือไม่

ดังนั้นโดยสรุป หนังจะสลับอารมณ์ระหว่างดราม่าแบบหม่นๆ และโหดๆ ของฮีโร่ กับ การสืบสวนเป็นหลักนะครับ

3. ถ้าคุณคาดหวังฉากบู๊มันส์ๆ ขอบอกเลยว่ามี แต่เป็นบู๊แบบขายสไตล์ ออกลีลา มุมกล้องเท่ห์ๆ และไม่ได้มีเยอะแยะนัก แต่ผมถือว่ามันเข้าข่าย น้อยแต่แน่น… แน่นมาก เท่ห์ตัวพ่อครับ

4. โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับคำโปรยบนใบปิดที่ว่า “From the Visionary Director of 300” เพราะลีลาหนังที่ออกมานั้นมันเต็มไปด้วยมุมมอง แง่คิด วิสัยทัศน์ ปรัชญา การวิพากษ์สังคม มันจึงเป็นหนังที่อาจจะไม่บันเทิงเต็มร้อย แต่เป็นงานโชว์พาวทางความคิดที่ดีมากชิ้นหนึ่ง

เพราะภาพที่คุณเห็นสื่ออะไรที่หลากหลาย คำพูดตัวละครก็สื่ออะไรที่หลากหลาย ปูมหลังตัวละครก็สื่ออะไรที่หลากหลาย ไม่ใช่หนังที่ทำออกมาเพื่อผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ดูแล้วยอมรับว่าทีมงาน พิถีพิถันจริงๆ

ถ้าเปรียบเป็นนามธรรม Watchmen ไม่ใช่แค่เอาฉากมาต่อฉาก แต่เป็นการเอา “หนามเตย”มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน…

5. เนื่องด้วยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับยุคสงครามเย็นที่อเมริกากับสหภาพโซเวียต (หรือรัสเซียในขณะนั้น) ดังนั้นหากคุณพอจะมีพื้นเข้าใจถึงไอระอุทางการเมืองของยุคดังกล่าว ก็จะทำให้ซึมซับรสชาติของหนังได้มากขึ้น

6. จุดเด่นที่ผมประทับใจคือบทเพลงเก่าๆ ระดับคลาสสิก ที่นำมาประกอบกันในหนัง มันเข้ากับภาพอย่างยอดเยี่ยมครับ ทำเอาผมนั่งเก้าอี้ฟังเพลงจนจบ End Credits ไปเลย เพลงเยี่ยมจริงๆ

7. โดยสรุปนะครับ สำหรับผมแล้ว เป็นหนังฮีโร่ขายสไตล์ที่สนุก อร่อย และสดใหม่มากเรื่องหนึ่ง เป็นหนังฮีโร่ที่ดูแล้วเป็นอะไรมากกว่าแค่หนังฮีโร่ปราบผู้ร้ายทั่วๆ ไป

แต่มันคือหนังศิลป์ มันคือหนังดราม่าที่สามารถสะกิดความคิดเราให้เกิดต่อยอดได้ เป็นหนังฮีโร่ที่ดูแล้ว “อิ่ม” สมบูรณ์ในตัวมันเอง

ถ้าให้จำกัดความ ผมว่าหนังมันผสมเอา The Dark Knight เข้ากับหนังชวนรักษ์โลกแบบ The Day the Earth Stood Still

แต่ต้องเช็คตัวเองก่อนนะครับว่าชอบสไตล์นี้หรือไม่ หากอยากดูหนังสบายๆ ไม่ต้องหนักหัว ไม่โหดมาก หนังเรื่องนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักนะครับ แต่ถ้าชอบสไตล์เข้มๆ สดๆ มีอะไรมากกว่าความบันเทิงล่ะก็ (หรือถ้าคุณชอบ The Dark Knight ล่ะก็) เรื่องนี้จัดว่าไม่ควรพลาดครับ

เอาล่ะ ด้านบนคือสรุปแบบรวบยอดสั้นๆ นะครับ อ่านแล้วตัดสินใจได้เลยว่าจะดูหรือไม่ ถ้าถามผม ผมเชียรให้ไปดู แต่บอกก่อนว่าหนังหนักครับ เป็นฮีโร่ที่ไม่ใช่ฮีโร่ทั่วๆ ไป อีกทั้งเหล่าฮีโร่ในเรื่องก็ไม่ใช่คนดีเต็มร้อยด้วย แต่พวกเขาเป็น “คนที่อยากเปลี่ยนโลก” กลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งแนวทางการเปลี่ยนโลกของพวกเขา บางอย่างก็ผิด บางอย่างก็ถูก บางอย่างก็เบาเกินไป และบางอย่างก็สุดโต่ง… เขาจะเป็นฮีโร่หรือไม่ จริงๆ อยู่ที่มุมมองของคุณเองมากกว่าครับ

ถ้าอยากเดินเข้าไปพิสูจน์… เชิญครับ ผมชวนเลยนะ หนังน่าลองมาก ถ้าอ่านคร่าวๆ แล้วโอเค ผมเชียร์ครับ

จบรีวิวสั้นเพียงเท่านี้ ไว้ผมจะเอารีวิวยาวๆ ออกมาอีกสักอัน

ส่วนจะให้กี่ดาว อดใจรอหน่อยแล้วกัน

ได้เวลาเริ่มต้นรีวิวอย่างยาวแล้วล่ะนะครับ
Watchmen
“พวกเขาคือฮีโร่หรือไม่ คุณคือคนตัดสิน”
Watchmen คือผลงานสร้างสรรค์ของ Alan Moore และ Dave Gibbons ซึ่งรายแรกนี่ก็เป็นนักเขียนการ์ตูนกับนิยายภาพชื่อดังอีกคน ผลงานของพี่ท่านบอกชื่อไปก็น่าจะร้องอ๋อครับ เพราะทำเป็นหนังมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ V for Vendetta, From Hell แล้วก็ The League of Extraordinary Gentlemen ซึ่งสไตล์ของ Moore นั้นจัดว่ามีความโดดเด่นทั้งในแง่มุมมองภาพที่สวยงาม ศิลป์ และแฝงความหมาย เนื้อหาก็ไม่ได้เน้นตามสูตรซูเปอร์ฮีโร่ทั่วไป แต่เขาจะใช้ผลงานของตนถ่ายทอดแนวคิดหลายๆ อย่างที่อยู่ในหัวสมอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการวิพากษ์สิ่งต่างๆ รอบตัว ตั้งแต่สงคราม ความรุนแรง วิพากษ์ได้แม้แต่การ์ตูนคอมมิคกับคนในสังคม… เรียกว่าอ่านเรื่องของ Moore แล้ว นอกจากจะได้อารมณ์ของการอ่านการ์ตูน ก็ยังได้ความรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือปรัชญาแนวคิดมาอีกหนึ่งอย่าง

ด้วยเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครนี้ทำให้ผลงานของ Moore ได้รับการตอบสนองด้วยดีจากนักอ่าน แต่กลุ่มคนชื่นชมผลงานของเขาในระยะอาจไม่ค่อยมากมายเท่าพวกการ์ตูนฮีโร่จ๋าอย่างพวก Marvel หรือ DC Comics แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็เหมือนที่เขาว่าน่ะครับ “ของดีย่อมไม่มีตกหายไปตามกาลเวลา” เมื่อเวลาผ่านไป คนอ่านเดิมที่ชอบก็ยังคงชอบ ส่วนนักอ่านรุ่นใหม่ๆ หรือนักอ่านรุ่นเก่าที่ยังไม่สนใจผลงานของ Moore ในตอนแรก ต่างก็ค่อยๆ หันมาติดตามสะสมผลงานของเขามากขึ้น ส่งผลให้ชื่อเสียงของ Moore เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย (ในอเมริกานะครับ)

และหนึ่งในผลงานระดับยอดเยี่ยมของเขาก็คือ Watchmen การ์ตูนความยาว 12 เล่มจบที่วางจำหน่ายในช่วงปี 1986 – 1987 เนื้อเรื่องหลักก็กล่าวถึงการถูกฆาตกรรมอย่างลึกลับของ เอ็ดเวิร์ด เบลค หรือในอีกร่างหนึ่งของเขาคือ เดอะ คอมมิเดี้ยน หนึ่งในฮีโร่กลุ่มวอทช์เมน ซึ่งการตายของเขาสร้างความเคลือบแคลงให้กับ รอร์ชาร์ด ฮีโร่หน้ากากอีกคนที่ยังเดินหน้าทำตัวเป็นฮีโร่ปราบเหล่าร้ายตามสไตล์ “คนเมินกฎหมาย” ในขณะที่คนอื่นๆ ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไปทำอย่างอื่นกัน

รอร์ชาร์คเริ่มสงสัยว่าการตายของเบลคต้องมีเงื่อนงำ มันอาจนำมาสู่แผนร้ายที่น่ากลัวเกินกว่าใครจะจินตนาการได้ เขาเลยไม่รอช้าที่จะสืบหาความจริง ขณะเดียวกันนั้นเอง สถานการณ์บนโลกก็หาได้สงบไม่ เพราะอเมริกากับโซเวียตกำลังทำสงครามเย็นกัน และพร้อมจะเอาระเบิดนิวเคลียร์ของตนมายิงใส่กันได้ทุกเมื่อ… แล้วจะมีฮีโร่คนไหนยับยั้งมหันตภัยนี้ได้

เนื้อหามีส่วนผสมระหว่างดราม่า แอ็กชัน ระทึกขวัญ และสืบสวน ซึ่งมันสร้างแฟนการ์ตูนชุดนี้ได้อย่างน่าพอใจ

กว่าจะเป็น หนัง Watchmen
ด้วยความดีของเรื่อง ทำให้คนสร้างหนังจดๆ จ้องๆ จะเอามันมาทำเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ตั้งแต่มันออกวางจำหน่ายได้ไม่กี่เล่มครับ เจ้าแรกที่ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์คือ Lawrence Gordon ผู้อำนวยการสร้างหนังดังๆ อย่าง Die Hard, 48 Hrs. และ Predator ซึ่งตอนนั้นพี่ท่านก็ร่วมอำนวยการสร้างหนังกับ Joel Silver อยู่บ่อยๆ เลยจับมือกันเอาเรื่องส่งไปยังค่าย 20th Century Fox ซึ่งทางค่ายจิ้งจอกก็ชอบครับ พอไฟเริ่มจะเขียว Gordon เลยรีบติดต่อไปยัง Moore เพื่อขอให้ช่วยดัดแปลงผลงานของเขาเองมาเป็นบทหนังได้หรือไม่ และเขาก็เซย์โนครับ ทีมงานเลยตัดสินใจไปตาม Sam Hamm คนเขียนบท Batman ฉบับ Tim Burton มาแทน จนบทสำเร็จ แล้วยังมีการวางตัวนักแสดงแบบเรียบร้อยเลยครับ วางให้ Robin Williams มาแสดงเป็นรอร์ชาร์ค, Jamie Lee Curtis มาเป็นซิลค์ สเปกเตอร์, Gary Busey เป็น เดอะ คอมมิเดี้ยน ส่วนบทไนท์ อาวล์ก็ยังเล็งๆ กันอยู่ว่า Richard Gere หรือ Kevin Costner มาแสดงบทนี้ดี

แต่กระนั้นหนังก็ยังไม่ได้สร้างครับ เมื่อสตูดิโอเกิดมีปัญหาทางการเงินขึ้นมาเล็กน้อย และบทก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เพราะ Hamm จัดแจงถอดของดีๆ จากฉบับการ์ตูนออกไปเยอะมาก ทำให้สร้างไม่ได้ จนงานถูกดองไว้

พอ Gordon และ Silver เห็นค่าย Fox ไม่ขยับตัวสักทีเลยคิดว่างานนี้ค่ายจิ้งจอกคงถอยอีกแน่นอน (เนื่องจากค่าย Fox ในยุค 90 ได้ชื่อว่าเป็นค่ายจอมถอยครับ หรือ “จิ้งจอกใจเสาะ” มีปัญหาอะไรหน่อยก็ถอยเป็นหลัก) สองคนนี้เลยหอบโปรเจคท์ไปที่ Warner Bros แทน พร้อมทั้งทาบทามผู้กำกับ Terry Gilliam ซึ่งเป็นคนทำหนังที่มีวิสัยทัศน์บรรเจิดมากในตอนนั้น ผลงานชิ้นหนึ่งของเขาก็อาทิ Time Bandits หนังแฟนตาซีว่าด้วยการมุดมิติผจญภัย, Brazil หนังไซไฟที่จิกกัดอนาคตได้อย่างถึงใจ และ The Adventures of Baron Munchausen เรื่องของชายชราคนหนึ่งที่ต้องการผจญภัยครั้งสุดท้ายในชีวิตก่อนจะไม่มีโอกาสอีก อันทำให้เขาได้ไปถึงดวงจันทร์และใต้สมุทร… งานรับประกันคุณภาพความมี “จินตนาการและวิสัยทัศน์” เยอะแบบนี้เลยได้โอกาสทำทันที

Gilliam ไม่รอช้าที่จะดัดแปลงบทของ Hamm โดยการจับเอาสิ่งที่ Hamm ตัดออกไปจากฉบับการ์ตูนมาใส่กลับคืนลงไปในบท พร้อมทั้งยังวางโครงเรื่องให้เล่าเรื่องผ่านทาง บันทึกของรอร์ชาร์คอีกด้วย (ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องแบบที่ใช้ในหนังนั่นเอง)

แต่พอทำไปทำมา Gilliam ก็เริ่มพบปัญหาว่าหากจะว่ากันจริงๆ แล้ว หนังควรยาวสัก 5 ชั่วโมงถึงจะสามารถใส่ทุกอย่างของ Watchmen ลงในหนังได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด และแน่นอนว่าทุนต้องบานสุดๆ จน Warner ขอระงับโปรเจคท์ไว้ก่อน ส่วน Gilliam เองก็เริ่มจะถอนสมอเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าทำให้หนังลงตัวในไม่กี่ชั่วโมงไม่ได้แน่ๆ พร้อมแนะนำทาง Warner Bros ว่า “ทำเป็นมินิซีรี่ส์จะดีกว่า” ซึ่งถ้าทาง WB ยอมทำเขาก็ยอมกำกับให้ แต่หากทำหนังใหญ่ พี่แกเซย์โนลูกเดียว โปรเจคท์เลยติดไฟแดงอีกรอบ

จากนั้นช่วงปี 2001 โปรเจคท์ค่อยเริ่มขยับอีกรอบ โดยบทได้ David Hayter เป็นคนดัดแปลงซึ่งพี่ท่านก็ผ่านงานหนังซูเปอร์ฮีโร่ทำเงินมาแล้วใน X-Men แต่ก็แย้งกับสตูดิโอมาตลอด เพราะบทของเขามืดมาก หม่นมากจนสตูดิโอไม่ยอมปล่อยให้สร้าง ส่วนผู้กำกับที่แวะเวียนสนใจว่าจะทำก็มี Darren Aronofsky แต่ก็โบกมืออำลาไปทำ The Fountain แทน แล้วก็มี Paul Greengrass (ผู้กำกับหนัง Jason Bourne สองภาคหลัง) มาต่อคิว แต่ก็ไม่ได้ทำอีก เพราะสไตล์หนัง Watchmen ของเขามืดหนักมากๆ จนไม่คิดว่าคนดูทั่วไปจะโอเค

แล้วโปรเจคท์ก็มาเรืองรองเป็นรูปร่างจริงๆ ตอน Zack Snyder (Dawn of the Dead และ 300) ก้าวเข้ามาครับ พี่ท่านมาพร้อมวิสัยทัศน์จริงๆ ไม่ว่าจะการปรับแก้เรื่องให้ซื่อสัตย์ต่อการ์ตูนต้นฉบับที่สุด กับการถ่ายทอดเรื่องราวโดยมุ่งจะเจาะลึกไปที่ทุกตัวละครโดยการมุ่งหวังว่าจะบรรยายเรื่องราวของ Watchmen ให้สดใหม่ไม่ซ้ำแนวใคร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ได้กลิ่นอายต้บฉบับเพื่อไม่ให้ถูกแฟนๆ โห่ไล่ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายไม่ใช่น้อยครับสำหรับการที่จะทำหนังซูเปอร์ฮีโร่ให้ออกมาในแนว “ดราม่าฮีโร่” แทนที่จะเป็น “แอ็กชันฮีโร่” แบบพิมพ์นิยม ทาง WB ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่างานนี้จะออกหัวหรือออกก้อย และประเด็นนี้เองก็มีผลต่อทุนสร้างอย่างยิ่งยวดครับ เพราะ Snyder เรียกทุนไป $150 ล้าน แต่ทาง WB ก็ให้มาได้แค่ $100 ล้านเท่านั้นเอง ซึ่งพอคุยกับคุยมาก็มาลงเอยที่ประมาณ $120 ล้าน แบบนี้ก็เข้าอีหรอบพบกันครึ่งทาง

เมื่อทุกอย่างพร้อมและ Snyder สามารถสร้างความเชื่อถือให้ทาง WB ด้วยการนำพา 300 ให้ทำเงินไปถึง $456 ล้านจากทั่วโลก ซึ่งที่ประทับใจค่าย WB ที่สุดคือ 300 เปิดตัวได้แรงที่สุดตั้งแต่โลกนี้มีเดือนมีนาคม จนนายทุนยอมเปิดไฟเขียวให้

ในที่สุดหลังจากคั่วกันมากว่า 20 ปี หนังก็ได้สร้างซะที… ดูสิครับ หนังสักเรื่องกับการเดินทางอันยาวนานกว่าจะได้ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวให้เราดูกัน เฮ่อ ก็ดีใจแทน Gordon ด้วยล่ะครับ เขาคือคนที่เดินเรื่องเข็นให้สร้าง Watchmen ตั้งแต่ต้นแบบไม่ยอมถอย และวันนี้เขาก็ได้ถึงฝั่นฝัน (ในขณะที่ Silver ก็โบกมืออำลาไปก่อนหน้านี้เรียบร้อย)

… และบัดนี้ Watchmen ก็ได้ฤกษ์ลงโรงให้เราได้พิสูจน์ผลลัพธ์แล้วนะครับ มาครับ มาดูผลกัน

เนื้อเรื่องหลัก
เมื่อหนึ่งในทีมฮีโร่กลุ่มวอทช์เมนที่ชื่อ เอ็ดเวิร์ด เบลค หรือ เดอะ คอมมิเดี้ยน (Jeffrey Dean Morgan) โดนฆาตกรรม ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุเนื่องจากสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตที่ทำสงครามเย็นกันมานาน ก็หมายมั่นจะยิงระเบิดนิวเคลียร์เข้าใส่กันอยู่ในอีกไม่กี่วัน ทำให้ รอร์ชาร์ค (Jackie Earle Haley) ฮีโร่สวมหน้ากากอีกคนลงมือสืบสวนความจริงด้วยตนเอง เขาเชื่อว่าการฆาตกรรม เดอะ คอมมิเดี้ยน เป็นเพียงการเริ่มต้นของแผนร้ายที่อาจจะถึงขั้นสะเทือนโลกได้

แต่พอเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับคู่หูฮีโร่อย่าง ไนท์อาวล์ (Patrick Wilson) หรือชื่อตอนเป็นคนธรรมดาก็คือ แดเนียล ไดร์เบิร์ก ซึ่งแม้เขาจะสงสัยในการตายของเพื่อนฮีโร่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนักเนื่องจากเขาตั้งใจจะล้างมือจากวงการฮีโร่เสียที หลังจากทางการไม่สนับสนุนให้โลกนี้มีซูเปอร์ฮีโร่สวมหน้ากากอีกต่อไป (อันเป็นเหตุกลุ่มวอทช์เมนจำต้องยุติบทบาทตัวเองลงด้วย)

ส่วนฮีโร่รายอื่นๆ พอไม่ได้ทำหน้าที่กู้โลกอย่างเคยก็แยกย้ายกันไปทำงานของตนอย่าง ดร.แมนฮัตตัน (Billy Crudup) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะร่างเรืองแสงสีฟ้าที่กำลังทำการทดลองเพื่อมวลมนุษยชาติอยู่ ซึ่งเขาเก่งกาจมากในเรื่องวิชาการ แต่เรื่องชีวิตคู่กลับไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไร เพราะแฟนของเขาอย่าง ซิลค์ สเปกเตอร์ (Malin Akerman) หนึ่งในฮีโร่กลุ่มวอทช์เมนเหมือนกันก็เริ่มจะรู้สึกห่างเหินกับเขามากขึ้นเรื่อยๆ จนเธอต้องมาปรึกษาแก้เหงากับไนท์อาวล์อยู่บ่อยๆ

และอีกหนึ่งฮีโร่ก็คือ เอเดรียน ไวด์ท (Matthew Goode) ฮีโร่กลุ่มวอทช์แมนที่เปิดเผยฐานะและหน้าตาอย่างโจ่งแจ้ง ไม่มีการสวมหน้ากากใดๆ พอล้างมือแล้วก็หันไปทำธุรกิจทำเงินทำทองแบบเต็มตัว ซึ่งเขาก็ไม่ได้สนใจกับการตายของฮีโร่รายนั้นเท่าไร

แล้วการตายของเดอะ คอมมิเดี้ยนจะนำพวกเขาไปสู่อะไร มันมีแผนจริงอย่างที่รอร์ชาร์คคิด หรือเป็นเพียงแค่เหตุบังเอิญ… คำตอบรอคุณอยู่ในหนังแล้วครับ

เอาล่ะ ผมคิดอย่างไรกับหนัง… ก็ขอตอบนะครับ

ผมชอบหนังครับ…เพราะอะไรก็มาว่ากันเลย
สรุปหลักๆ เลยนะครับ ผมชอบน่ะ เพราะอะไรก็อย่างที่สรุปไว้ในเบื้องต้นคงไม่ว่าซ้ำล่ะนะครับ เพราะ 7 ข้อข้างบนก็สรุปแล้วว่าผมชอบหนังแค่ไหน แต่จะขอขยายความแล้วกัน

แต่ก่อนอื่นเข้าใจสักนิดนะครับว่า “หนังที่ผมชอบ ใช่ว่าทุกคนจะต้องชอบเหมือนกันหมด” และ “หนังที่ผมว่าดี ก็ใช่ว่าจะดีและเหมาะสำหรับทุกคนเสียเมื่อไร” อย่าง Watchmen นี้แม้ว่าผมจะชอบ แต่ก็ยอมรับครับว่าไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน ไมเหมาะสำหรับใครก็ตามที่ไม่ชอบดูหนังรุนแรง และคนที่ไม่ถูกเส้นกับหนังแนวนี้ก็อาจไม่ปลื้มกับหนังก็ได้

งานนี้ลางเนื้อชอบลางยา ถ้าอ่านมาตั้งนานยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเหมาะจะดูหนังแนวนี้ก็อย่าดูเลยครับ ตัดสินกันง่ายๆ แบบนี้แล้วกัน

สำหรับผม … ตัวหนังจัดว่าลงตัวในแบบของมัน ถ้าคุณชอบก็จะชอบไปเลย แต่หากไม่ชอบก็จะส่ายหน้าไปเลยเหมือนกัน ทำความเข้าใจก่อนเลยนะครับว่าหนังหนัก และเน้นดราม่าฮีโร่ตามด้วยเนื้อหาหนักๆ ที่เล่นกับความคิด ความรู้สึกของคนแบบไม่บันยะบันยัง ฉากความรุนแรงก็หนักมากประมาณ Saw เลยทีเดียว มันจึงเป็นหนังฮีโร่ที่มีสีสันสดใสที่สุด หลายสีที่สุด แต่ก็หม่นมืดที่สุดด้วยเช่นกัน เรียกว่าสีสันฮีโร่ตัดกับฉากหลังที่กรุ่นไอสงคราม ความขัดแย้ง และมืดทึม ในขณะที่ความสดใสของชุดฮีโร่ก็ยังตัดกับอุปนิสัยและเรื่องราวของพวกเขาด้วย

บางตัวสีสวยสดใสแต่หาได้มีสุขไม่ อย่าง เดอะ คอมมิเดี้ยน น่ะครับ ชื่อบอกว่าคนขายขำ แต่ตัวจริงนั้น หาได้ขำไม่ … หรือชุดของ ซิลค์ สเปกเตอร์ สีสด แต่กลับมีเรื่องในใจมากมายนัก ในขณะที่ฮีโร่ชุดหม่นๆ อย่าง ไนท์อาวล์ กลับมีปูมหลังที่สบายๆ ไม่หนักหนาเท่าใครเขา

เหมือนชีวิตคนจริงๆ ไม่มีผิด บางคนดูหม่นแต่ใช่ว่าจะมืด แต่บางคนดูครื้นเครงก็ใช่ว่าจะเริงรื่นตอนอยู่ลับหลัง

การเล่าเรื่องของ Watchmen ถือว่าซื่อตรงต่อการ์ตูนมาก เนื้อเรื่องหลักๆ เป็นไปตามต้นฉบับ มิหนำซ้ำยังเก็บรายละเอียดของเรื่องราวใส่ลงมาได้อย่างครบถ้วนอีกด้วย ซึ่งถือว่าทีมงานแน่จริง เพราะขนาดผู้กำกับ Gilliam ยังเคยบอกเลยว่า ถ้าจะทำไห้ครบสมบูรณ์ต้องยาว 5 ชั่วโมง แต่นี่ Znyder จัดการสรุปเรื่องใน 163 นาที ก็นับว่าเทพมากๆ แล้วที่สรุปเรื่องได้ดีในเวลาจำกัดเพียงนี้ แต่ได้ข่าวว่าตอนแรกหนังมันยาวกว่านี้ครับ ต้นฉบับแท้ๆ ที่เขาตัดออกมา มันจะยาวประมาณ 190 นาที แต่สตูดิโอก็ขอร้องจน Znyder ต้องยอมตัดอีกหน่อย เพื่อให้รอบฉายมันพอจะเยอะขึ้นบ้าง (ก็หวังว่าจะได้ดูฉบับ Director’s Cut ตอนมันออกแผ่นนะครับ อยากเห็นเวอร์ชั่นเต็มจัง)

Watch Closer in Watchmen: The End of the Hero
หนังเรื่องนี้จัดว่ากลมกล่อมลงตัวในแบบของมัน ขณะเดียวกันด้านเนื้อหาสาระก็เรียกได้ว่ามาพร้อมวิสัยทัศน์ของคนทำอย่างแท้จริง เพราะแต่ละฉากแต่ละตอน มันมีแนวคิดแฝงสะท้อนออกมาตลอด ทั้งแนวคิดแบบเดิมๆ ที่ Moore แทรกไว้ กับแนวคิดใหม่ๆ ที่ Znyder เหยาะลงไป… เอาล่ะนะครับ มีสปอยล์นับแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไปครับ เพื่อความปลอดภัยข้ามไปเป็นดี…

หนังเปิดมาฉากแรกก็มีประเด็นกระแทกเข้าเบ้าตาผมแล้วล่ะครับ คนที่ดูแล้วน่าจะจำได้ว่าตอนเปิดตัวช่วงไตเติ้ลเครดิตนั้น หนังได้บอกเล่าถึงกลุ่มฮีโร่สวมหน้ากากรุ่นแรกที่เรียกตนเองว่า มินิทเมน กลุ่มนี้ก็ออกโรงพิทักษ์ธรรมไปตามเรื่อง แต่พอพวกเขาทำหน้าที่ไปได้ไม่นานก็กลับมีอันต้องยุติบทบาท ไม่ว่าจะจากกระแสสังคมที่เริ่มต่อต้านพวกเขาบางคน, แรงกดดันจากภาครัฐและคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่าคนพวกนี้คือศาลเตี้ยที่ไม่เหมาะจะรับหน้าที่ดูแลความสงบให้ประชาชน เอาแต่สร้างความรุนแรงและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนักต่อเยาวชน จนเหล่าฮีโร่บางคนก็โดนเล่นงาน บางคนก็เบื่อหน่ายจนกลุ่มนี้ได้สูญสลายไป

ฉากแรกที่ว่านี้ชวนให้คิด… ต้องเล่าย้อนไปสมัยก่อน ตอนที่การ์ตูนคอมมิคกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงไม่ว่าจะ Superman, Batman ก็กำลังเป็นที่เห่อของเด็กๆ แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อนักจิตวิทยาที่ชื่อ Fredric Wertham ได้จุดประกายให้ประชาชนได้ตระหนักว่าขณะนั้น (ประมาณปี 1954) การ์ตูนคอมมิคทั้งหลายกำลังครอบงำบุตรหลานของพวกเขา อีกทั้งยังสื่อสิ่งไม่เหมาะสมมาปลูกฝังลงในหัวของเด็กๆ เพราะตัวการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายมันแฝงไปด้วยความรุนแรง เช่น การจัดการปัญหาของฮีโร่ทุกคน คือการเข้าไปต่อย ชก อัด การ์ตูนคอมมิคทั้งหลายมีคำที่พบมากที่สุดคือ Bam!, Crash!, Ouck! พูดง่ายๆ คือมันอัดกันมากกว่า ซึ่งนักจิตวิทยาหลายคนก็ตั้งคำถามให้สังคมเก็บไปคิดงว่ามันเป็นการปลูกฝังให้เด็กแก้ปัญหาด้วยอารมณ์และความรุนแรงมากเกินไปหรือเปล่า

นอกจากนี้ พฤติกรรมของซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหมดก็เหมือนจะแฝงความผิดปกติเอาไว้ เช่นคู่หูดูโอ้นักปราบอธรรม Batman กับ Robin ก็มีนัยในเชิงรักร่วมเพศ เช่นเดียวกับ Wonder Woman ที่ถูกมองว่าส่งเสริมให้เด็กหญิงไม่เรียบร้อยและก้าวร้าวกว่าเดิม อีกทั้งยังปลุกเร้าให้ผู้หญิงเป็นเลสเบี้ยนกันมากขึ้นอีกต่างหาก (ทั้งๆ ที่ Wonder Woman นั้นสร้างสรรค์โดย William Moulton Marston ด็อกเตอร์ในสาขาจิตวิทยาเหมือนกัน และเป้าหมายในการสร้างเธอก็เพื่อถ่วงดุลไม่ให้การ์ตูนมีแต่ผู้ชายเก่งเท่านั้น ซึ่ง Marston เองก็ได้ชื่อว่าเป็นเฟมินิสคนหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นเขาไม่ได้อยากจะให้คนเป็นเลสเบี้ยนหรืออะไรหรอก แต่เขาต้องการทำเพื่อสิทธิสตรีเท่านั้นเอง)

การนำเสนอมุมนี้ของ Wertham ได้สร้างความหวาดวิตกให้พ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์อย่างยิ่ง จนทางการถึงกับนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ส่วนพ่อแม่ก็จัดการเอาการ์ตูนแนวนี้ออกมาทำลายทิ้งกันให้เหี้ยน หลายโรงเรียนในตอนนั้นมีควันคลุ้งก็เพราะอาจารย์เอาการ์ตูนแนวฮีโร่ที่ยึดได้มาเผาทิ้งนั้นเอง จนในเวลาต่อมาก็ต้องมีการออกระเบียบจำกัดสิ่งต่างๆ ในการ์ตูนคอมมิค ทั้งแนวซูเปอร์ฮีโร่และแนวสยองทั้งหลาย (เช่น Tales From the Crypt) ให้มีอาณาเขตจำกัด และสื่อเฉพาะในสิ่งที่เหมาะสมเท่านั้น

แล้วเราก็ย้อนกลับมาในหนังเหตุการณ์ที่เกิดกับกลุ่มมินิทเมนก็แทบจะไม่ต่างจากเรื่องนี้สักเท่าไร เมื่อฮีโร่บางคนโดนยิงทิ้งเพราะเป็นเลสเบี้ยน, บางคนก็โดนจับเข้าโรงพยาบาลบ้าเพราะแต่งกายเพ้อฝัน… ฮีโร่โดนกำจัดทิ้งเพราะคนเริ่มมองพวกเขาเหล่านี้ในมุมที่ต่างออกไป… การ์ตูนจริงๆ ถูกเผาทิ้ง ส่วนฮีโร่จริงๆ ก็โดนกำจัด… มันสะท้อนบางอย่างในสังคมได้นะครับ

ดูตรงนี้แล้วนึกถึงที่วายร้ายกรีน ก็อบลินแห่ง Spider-Man ภาคแรกบอกกับไอ้แมงมุมไว้ว่า “สักวันแกจะโดนคนที่แกพยายามปกป้องหันมาถีบแกตกลงไปกองกับพื้น” การกระทำดีของฮีโร่วันหนึ่งอาจเป็นวีรกรรมที่น่าชื่นชม แต่หากวันใดเกิดมีคนมองด้านลบหรือฮีโร่เจ้านั้นเกิดทำพลาดขึ้นมาล่ะก็ ชะตากรรมของฮีโร่อาจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยก็ได้

หรือถ้าจะมองให้ใกล้ๆ ก็ดูข่าวที่คนบ้านเราสนใจสิครับ… เรื่องคนทำดีน่ะไม่ใคร่จะพูดกัน แต่ใครทำผิด ทำไม่ดีแบบซุกซ่อน หรือใครเป็นแฟนใคร ลูกใครท้องกับใคร เรื่องไม่ดีๆ ทั้งหลาย คนอยากรู้มากกว่าวีรกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคมเสียอีก!

แบบนี้คนดีๆ จะทนอยู่ในสังคมได้สักกี่น้ำ… น่าเป็นห่วงจริงๆ กับคำที่ว่าคนดีไม่มีที่อยู่ คิดดูครับ ขนาดที่อยู่เล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ยังไม่ค่อยมี แล้วแบบนี้จะไปอยู่ที่ไหนได้… คิดไปคิดมา ตอนจบของหนังเรื่องนี้ก็แอบกัดวงการสื่อสารมวลชนเช่นกัน ว่าชอบเสนอข่าวร้ายๆ พูดถึงเรื่องลบๆ เพื่อยอดขาย แต่สาระจรรโลงใจดันเห็นเป็นของแสลง เพราะลงแล้วไม่ได้ตังค์!

เรื่องนี้หากมองในมุมหนึ่ง ข้อมูลที่ Wertham นำเสนอก็น่าสนใจ เพราะมันก็จริงในระดับหนึ่งที่เด็กๆ สามารถซึมซับความรุนแรงจากการ์ตูนได้ การปรับแก้ก็สมควรกระทำ แต่การแก้ไขให้มันเหมาะสมนี่แหละคือปัญหา เพราะการเอาการ์ตูนไปเผาทิ้ง หรือการยิงฮีโร่ทิ้งแบบในหนัง ย่อมไม่ใช่การสยบปัญหาที่ดีนัก… จริงๆ แล้วการทำเช่นนั้นก็จัดว่าผู้ใหญ่แก้ปัญหาบนความรุนแรงเหมือนกันน่ะแหละ!

นี่ไงครับ แค่ฉากแรกหนังก็ตั้งคำถามใส่ผู้ชมแล้วว่า “ที่ผ่านมา คุณทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไรกับเหล่าฮีโร่ (หรือคนดีๆ) ในสังคมบ้าง…” นั่นสินะครับ เราทำอะไรกับพวกเขา อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหา เราจัดการกับปัญหาอย่างไร… เราเป็นหนึ่งในคนที่ชอบวิจารณ์คนอื่นว่า “ใช้กำลังใช้อารมณ์อยู่ได้” แล้วเรานั้นใช้กำลังกับอารมณ์อยู่หรือเปล่า…

Watch Closer in Watchmen: They are Heroes… Or Not, That’s Question
แล้วเราก็ขยับลงไปในเนื้อเรื่องอีกสักหน่อย ฮีโร่ทั้ง 6 คนในหนังหากคุณดูแล้วจะพบว่า หนังไม่ใคร่จะบอกตรงๆ หรอกว่าพวกเขาคือฮีโร่พันธุ์แท้แห่งโลกนี้ ไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความเป็นธรรมแบบฮีโร่เจ้าอื่นๆ แต่สื่อในเชิงว่าพวกเขาคือ “กลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนโลก หรืออยากทำอะไรเพื่อโลก” เท่านั้น แต่พวกเขาไม่ใช่ฮีโร่จ๋าที่ทำดีทุกเวลา ไม่ได้ใสสะอาดบริสุทธิ์มาจากไหน อีกทั้งยังมีปมเฉพาะตนที่บางคนก็หนักมากจนน่าสลดใจ บางคนโชคดีหน่อยก็เพียงแค่สับสนและเซ็งชีวิตเท่านั้น

ดูๆ ไปเหมือนฮีโร่วอทช์เมนส่วนใหญ่เลือกเส้นทางเดินฮีโร่โดยได้แรงผลักดันจากวิกฤตชีวิตหรือปมของตนเอง อย่าง ดร.แมนฮัตตันก็ตัดสินใจห่างจากโลกเป็นนักวิทยาศาสตร์เต็มตัวเพราะเขาไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตเดิมๆ ได้อีกต่อไป, ไนท์อาวล์ก็ต้องการหนีความซ้ำซากจำเจที่มีออกไปตีกับผู้ร้าย, ซิลค์ สเปกเตอร์ก็เหมือนจะออกไปต่อกรกับผู้ร้ายเพื่อระบายความเก็บกดของปมชีวิต ซึ่งจะคล้ายกับรอร์ชาร์ค เพียงแต่รายหลังมีปมที่เข้มข้นกว่าจนถึงขั้นมีอาการทางจิตหน่อยๆ, เดอะ คอมมิเดี้ยนก็ดูออกโต้งๆ ว่าระบายอารมณ์ ขับเครียดแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ส่วนออสซีแมนเดียสก็ก้ำกึ่งอย่างยิ่งระหว่างเป็นฮีโร่เพื่อกู้โลกกับเป็นฮีโร่เพื่อโปรโมตตัวเอง

ฮีโร่วอทช์เมนกลุ่มนี้มีมิติความเป็นคนและจับต้องได้มากกว่าฮีโร่เจ้าอื่นๆ พอตัวครับ ซึ่งพวกเขาทั้ง 6 ผมว่าเป็นคนที่มีตัวตนจริงๆ บนโลก เพียงแต่เราไม่รู้จักเท่านั้นเอง… แต่มันทำให้เราระลึกได้ว่าทุกการกระทำของคนล้วนมีผลมาจากจิตใจ จากประสบการณ์ วิกฤตการณ์ หรือไม่ก็การเลี้ยงดู ตามหลักจิตวิทยาทั่วไปนั่นเอง

จริงที่วิกฤตการณ์มีผลเร้าให้เรามีพฤติกรรมที่เลวร้ายได้ แต่เราก็เลือกได้เช่นกันว่าจะปล่อยใจยอมร้ายตามที่ใจเรียกร้อง หรือจะฝืนมันแล้วหาทางออกด้วยการทำสิ่งดีๆ แทน (ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการอัดใครนะครับ)

มองแบบนี้แล้ว ใครก็เป็นคนดีของสังคมได้ ขอเพียงจับเอาเจ้าปมชีวิตหรือความหงุดหงิดมาผันแปรเป็นพลัง เช่น เล่นกีฬาหรือใช้แรงช่วยคนอื่น ใช้แรงทำงานเป็นต้น

เราเลือกให้เหตุการณ์ใดเกิดหรือไม่เกินไม่ได้ แต่เราเลือกการกระทำหลังจากเกิดเหตุการณ์ได้เสมอ

ใครที่อ้างว่าจำต้องทำไม่ดีเนื่องจากเจอเรื่องเลวร้าย เห็นทีจะเป็นคำแก้ตัวมากกว่า

นอกจากนี้เท่าที่ดูก็พอจะแบ่งประเภทคนและเจตนาในการเป็นฮีโร่ของคนในกลุ่มวอทช์เมนออกได้เป็น 5 แบบ

แบบแรกคือเจตนาดีและทำดี นี่ก็หนีไม่พ้น ไนท์อาวล์ กับ ซิลค์ สเปกเตอร์รุ่นที่ 2 ที่รักในการต่อสู้กับเหล่าร้าย สยบอธรรมทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้

แบบที่สองคือเจตนาดี แต่ทำไม่ใคร่จะดีนัก ได้แก่ออสซี่แมนเดส ที่มีเจตนาอยากช่วยโลก แต่การกระทำของเขาในตอนท้ายค่อนข้างรุนแรงมากถึงขั้นคร่าชีวิตคน

แบบที่สามคือเจตนาเป็นกลางกับการกระทำที่เป็นกลาง อันนี้ย่อมเป็น ดร.แมนฮัตตัน นั่นเอง

แบบที่สี่คือ เจตนากับสิ่งที่อยู่ในใจไม่ค่อยดี แต่ผลลัพธ์แห่งการทำกลับเป็นดี ซึ่งก็คือ รอร์ชาร์ค ที่วันๆ เอาแต่ระแวงและบ่นว่าคนอื่นไปทั่ว พร้อมจะใช้ความรุนแรงทุกเมื่อ แต่วิถีการเป็นฮีโร่ของเขาก็ยังคงคอนเซปต์ช่วยเหลือคน ปราบคนพาลอยู่เสมอ นี่แหละครับ คนที่เจอเรื่องไม่ดีมาแต่ยังพอประคองใจให้ทำผิดน้อยที่สุดได้

และแบบสุดท้ายคือเจตนาและการกระทำไม่ดีเลย ได้แก่ เดอะ คอมมิเดี้ยน ที่ทุกครั้งเมื่อสวมชุดวอทช์เมนออกมา มันกลายเป็นการระบายอารมณ์และคลั่งฆ่าเสียมากกว่า

… คน 5 ประเภทนี้… มองซ้ายมองขวาดีๆ ก็มีในโลกอีกเช่นกัน

การดู Watchmen สำหรับผมก็เหมือนการมองเข้าไปในธรรมชาติของใจมนุษย์อีกระดับหนึ่ง… มองว่าคนเรานั้นช่างซับซ้อนยิ่ง และยากต่อการเข้าใจ… แต่ใช่ว่าจะทำความเข้าใจไม่ได้ซะเมื่อไร

โลกเราไม่ได้มีแค่ คนดี กับ คนไม่ดี เท่านั้นหรอกนะครับ อย่างออสซี่แมนเดียสเป็นตัวอย่างที่ดีครับ เขาเป็นคนไม่ดี… หรือไม่… ถ้าวัดจากมุมของการกระทำว่าถึงขั้นคร่าชีวิตคน เขาย่อมเป็นคนเลวอย่างแรง… แต่ผลลัพธ์จากการตัดสินใจนั้นกลับให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม… เขาฆ่าส่วนน้อยเพื่อรีสตาร์ทจิตใจมนุษย์ใหม่อีกครั้ง

แต่ยังไงก็เหอะ การกระทำของออสซี่ก็เหมาะสำหรับประเทศที่พอจะมีวุฒิภาวะเท่านั้น หากทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ดูประเทศ การตายของคนกลุ่มนั้นอาจต้องเสียเปล่าอย่างน่าเสียดาย

ผมไม่ได้จะบอกว่าออสซี่ทำดีหรือไม่ แต่อยากจะบอกว่าเราจะต้องให้โลกเสียหายอีกแค่ไหน แตกแยกมีคนตายอีกเท่าไร ความสามัคคีแบบในหนังถึงจะเกิดขึ้นได้เสียที… มนุษย์เราจะตื่นรู้โดยไม่ต้องผ่านการสญเสียไม่ได้เชียวหรือนี่…

มนุษยชาติจะมีความหวังอีกครั้งก็ต่อเมื่อเกิดเหตุให้ทุกคนหมดหวัง…

คิดไปคิดมาก็เข้าอีหรอบเดิม… เป็นห่วงบ้านตัวเองจริงๆ

ทุกตัวละครใน Watchmen มีมุมให้พูดถึงทั้งสิ้น อย่างเมื่อกี้ผมพูดถึงออสซี่ไปแล้วก็ขอต่อด้วย ดร. แมนฮัตตัน นักวิทยาศาสตร์ที่ต้องประสบเคราะห์ก็เพราะวิทยาศาสตร์นั่นแหละ

แต่จุดที่ผมสนใจเขาอยู่ตรงที่ “ความเทพ” ของเขาครับ เขาเก่งและฉลาดจนแทบจะตัดจากโลก หลุดจากความเป็นคนที่วนเวียนอยู่กับกิเลส ตัณหา แม้จะมีโทสะอยู่ก็เถอะ (เพราะยังไงเขาก็มีความเป็นคนอยู่บ้าง)

ผมชอบวิธีการหาความสงบของพี่แกมากๆ… เมื่อโลกนี้วุ่นวาย มีเรื่องให้เศร้า เครียด เสียใจเยอะเหลือเกิน ไหนจะสงคราม คนตีกัน ขัดแย้ง เห็นแก่ตัว ยุ่งเรื่องชาวบ้าน ฯลฯ (ซึ่งสาเหตุส่วนมากก็เกิดจากมนุษย์) ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการไปอยู่ดาวอังคารมันซะเลย … ยิ่งห่างจากมนุษย์เท่าไร ใจยิ่งสงบเท่านั้น… ผมเห็นด้วยแฮะ

อีกอย่างที่ผมชอบคือ วิถีการเป็นผู้รู้ที่แท้จริงของเขาไงครับ… เขาคือสุดยอดแห่งผู้รู้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเขามีสุดยอดวรยุทธที่จะทำให้ความรู้ของเขามีได้แบบไม่จำกัด… เขาใฝ่รู้และทดลองหาคำตอบ… ฟังดูสั้นๆ และติงต๊องใช่ไหมครับ แต่เรามาดูกันดีกว่า

คุณไม่มีทางรู้ได้ว่าโกโก้ผง ผสมน้ำร้อนแล้วจะกลายเป็นเครื่องดื่ม จนกว่าคุณจะได้เรียนรู้มัน…

คุณไม่มีทางรู้ว่าการจีบสาวแบบเสี่ยวๆ มันทำให้อกเราหักแทนที่จะได้ความรักมาครอบครอง…

ใครบ้างที่รู้เรื่องต่างๆ ได้โดยการนั่งเฉยเพียงอย่างเดียว… ไม่มีหรอกครับ โลกนี้ไม่ใช่แบบในหนัง The Matrix ที่เราสามารถให้คนป้อนข้อมูลความรู้เข้าสมองเมื่อไรก็ได้ ถ้าอยากรู้เราต้องทำ ทดลอง และหาคำตอบ แบบที่ ดร.แมนฮัตตันทำครับ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใฝ่หาคำตอบเรื่องต่างๆ อยู่ตลอด อย่างตอนประดิษฐ์เครื่องมือพิเศษนั่น หรือตอนหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตก็ตาม เขาก็ไปถึงดาวอังคารเพื่อจะได้เข้าถึงความสงบ ได้ทดลองเข้าใจความหมายของชีวิต เปรียบเทียบความต่างระหว่างการอยู่ลำพังกับการอยู่หลายคน

วันก่อนผมอ่านหนังสือฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่ม 5 ของพี่หนุ่มเมืองจันท์ไปอีกรอบ หลังจากอ่านเวียนเทียนไปหลายรอบ… ถ้าหนังสื่อพี่เขาเป็นเทียน ป่านนี้มือผมคงไฟลุกไปถึงศอกแล้วล่ะครับ เพราะอ่านแล้วติดใจวางไม่ค่อยจะลง

พอดีที่นึกถึงเรื่องความเงียบที่พี่เขาเขียนขึ้นมาได้ ว่าบทเพลงแห่งความเงียบนั้น จะทำให้เราได้มีโอกาสคุยกับตัวเองมากขึ้น

หลายคนเกิดไอเดียปิ๊งขึ้นมาได้ก็เพราะอยู่กับความเงียบ อยู่กับตนเอง ให้อะไรต่อมิอะไรที่รู้มาทั้งชีวิตได้จัดระเบียบสังคม ถอดสมการในตัวเราเอง ตกผลึกในสมอง… ถ้าคุณห่างเหินกับความเงียบ นี่เป็นโอกาสดีที่จะลองทักทายมันอีกสักรอบนะครับ

นั่นคือสิ่งที่ ดร.แมนฮัตตันทำ การอยู่นิ่งกลับให้อะไรเขาหลายอย่าง มากกว่าตอนที่โดนนักข่าวรุมสัมภาษณ์แบบไร้มารยาทเสียอีก

นึกแล้วสงสารดารารุ่นใหม่อยู่เหมือนกันนะครับ หลายคนสติกระเจิงโก๊ะไปหมด ทำอะไรไม่ถูกบ่อยๆ ก็เพราะเจอพี่ๆ นักข่าวมาตีฆ้องร้องป่าวไล่ความเงียบไปจนหมดสิ้น

เขาเลยไม่รู้ใจตนเองว่า ตกลงเขารักกับคนที่ตกเป็นข่าวหรือเปล่า

ส่วนใหญ่ตอบไม่ หรือไม่ก็บอกว่า เพื่อน… แต่บอกเพื่อนทีไรได้ควงเกือบทุกที… เห็นไหมครับ ถ้าได้ความเงียบช่วยล่ะคงรู้ใจสบายๆ ไปแล้ว

ที่ผมพูดเหมือนขำๆ แต่ก็ชวนให้คิดครับว่าความเงียบมีค่าแค่ไหน เพราะหนึ่งร้อยเสียงดังอาจมีพลังไม่เท่าหนึ่งความเงียบ… ไม่เชื่อถาม ดร.แมนฮัตตันดู

ถัดจากพี่ตัวฟ้าก็ขยับมาที่ ไนท์อาวล์ กับ ซิลค์ สเปกเตอร์ ที่ดูปกติที่สุด ดูไปดูมาเหมือนได้ดูหนังเพื่อนสนิทไปในตัว หลังจากรู้สึกดีๆ ให้กันมานานในที่สุดก็ได้ตกร่องปล่องชิ้นกันในตอนจบ… คงไม่พูดอะไรมากนอกจากขอให้ทั้งสองครองรักไปนานๆ… และ ฮาเลลูย่า…

มาที่ เดอะ คอมมิเดี้ยน ซึ่งเป็นตัวอย่างของคนประเภทต่อต้านสังคม Anti Social ทำตัวระรานทุกอย่างในโลก แต่ดูให้ลึกๆ จะพบว่าพี่ท่านไม่ได้อยากจะเป็นจอมก้าวร้าวแต่แรก แต่เจ้าความก้าวร้าวนี่เหมือนมันจะเป็นเกราะที่เขาใช้ป้องกันตัวเองออกจากโลกที่เขาเห็นว่าเลวร้าย

สำหรับ เดอะ คอมมิเดี้ยน โลกนี้ไร้ความหวัง เลวร้าย และเต็มไปด้วยความเหลวแหลก (ถ้าให้ประเมินใจของเขาก็คงเหลวแหลกไม่แพ้กัน) เขาอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ต้องเป็นผู้ลงมือก่อนโดนใครกระทำ และโลกนี้ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นจึงอยู่รอดได้

คนแบบเดอะ คอมมิเดี้ยนมีอยู่ทั่วไปในโลก คนที่เป็นฝ่ายรุกรานชาวบ้านเพื่อให้ตนเองครองความได้เปรียบ ไม่สนว่าใครจะเสียหายแค่ไหน รู้แค่ว่าตัวเองไม่เสียอะไรและได้ประโยชน์ก็เพียงพอ

แต่หากดูตัวตนพี่ท่านให้ถึงเนื้อในว่า การที่เขาสร้างเกราะแข็งกร้าวก็เพื่อปกป้องตัวตนจริงๆ ที่แสนจะอ่อนแอเอาไว้นั่นเอง… ดูตอนที่เขาร้องไห้เป็นเด็กๆ สิครับ… จริงๆ แล้วเขาเป็นเพียงเด็กหลงทางคนหนึ่ง… เห็นเขาแล้วก็น่าย้อนมองตัวเองนะครับว่าทุกวันนี้ เรามีพฤติกรรมร้ายๆ ก้าวร้าว แรงๆ ไว้เพื่อความสะใจหรือเพื่อใช้เป็นเกราะประคองใจที่อ่อนแอและอ่อนแรงที่ซ่อนอยู่ภายในกันแน่

ลองใช้ความเงียบรู้จักตนเองดู… คุณอาจค้นพบเหตุผลแห่งการกระทำของคุณ และค้นพบแนวทางสำหรั้บการบริหารชีวิตให้มีความสุขก็ได้

อย่าครับ อย่าลงเอยอย่าง เดอะ คอมมิเดี้ยน… แม้ชื่อเขาจะขำ แต่หาได้มีเรื่องขำไม่…นึกถึงเพลง ชีวิตตลกเหมือนดั่งนิยาย ขึ้นมาเชียว…

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด รอร์ชาร์ค… ผมเชื่อว่าหลายคนชอบตัวละครรายนี้อย่างยิ่ง เขาเท่ห์และมีบทเยอะสุดๆ แล้วในเรื่อง จนคุณอาจคิดว่าผมน่าจะมีเรื่องพูดถึงนายคนนี้มากกว่าชาวบ้าน แต่ขออภัยที่ทำให้ผิดหวังครับ ผมไม่ค่อยมีอะไรจะพูดเกี่ยวกับนายคนนี้นัก นอกจากว่าเขาเป็นคนที่มีปมชีวิต สิ่งแวดล้อมและอะไรหลายๆ อย่างหล่อหลอมให้เขาเดินทางเข้าสู่เส้นทางแห่งความรุนแรง

ด้วยเหตุการณ์ไม่ดีที่เขาต้องเผชิญมาตั้งแต่วัยเด็ก และยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่เสมอ เขาเลยเลือกที่จะพยายามทำให้โลกเบี้ยวๆ ใบนี้ เต็มไปด้วยความถูกต้องและความยุติธรรม ทุกคนสมควรได้รับความเป็นธรรม ในขณะที่พวกเหล่าร้ายนั้นหากเลือกที่จะทำไม่ดีแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องปรานีปราศรัย แต่ต้องจัดการให้พวกมันได้รับกรรมไปตามที่เขาเห็นสมควร

เขาคือคนที่อยู่บนโลกขาวและดำ สำหรับเขาไม่ขาวก็ดำ ไม่ผิดก็ถูก เขาตัดสินด้วยตรรกะง่ายๆ แบบนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาไม่ยอมที่จะปล่อยให้ออสซี่แมนเดียสลอยนวลไปได้ ต่อให้เขาตายก็ไม่ยอม!

รอร์ชาร์คเป็นลักษณะของคนที่สุดโต่งและเชื่อในความคิดของตนเองแบบสุดขั้ว เป็นคนที่สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลหากเขาเชื่อในเรื่องที่ถูกต้อง และจะกลายเป็นคนอันตรายอย่างยิ่งหากสิ่งที่เขาฝังหัวนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูก…

ในบทสุดท้ายของเรื่องเมื่อแผนของออสซี่ได้รับการเฉลย ผมสารภาพเลยว่าเข้าใจเจตนาของออสซี่ และเข้าใจด้วยว่าทำไม ดร.แมนฮัตตัน ถึงเห็นด้วย ขณะเดียวกันก็เข้าใจอีกนั่นแหละว่าทำไมรอร์ชาร์คถึงไม่ยอมปล่อยให้ ดร. แมนฮัตตันต้องตกเป็นคนผิด… มันเป็นเรื่องของความถูกต้อง…

จริงๆ แล้วความถูกต้องคืออาญาสิทธิ์ที่ควรเชื่อถือ และทรงประโยชน์อย่างยิ่ง โดยที่ไม่มีอะไรมาหักล้างได้… แต่ปัญหาคือ ความถูกต้องระดับสุดขั้วนั้นสมควรที่จะไปอยู่ในโลกอุดมคติ… ทว่าหากเป็นในโลกใบนี้แล้ว ผมชักไม่แน่ใจว่าความถูกต้องจะเป็นเครื่องมือสยบปัญหาได้ทุกอย่าง

บางครั้งเหตุนองเลือดก็เกิดเพราะความถูกต้องนี่แหละ

ถ้าโลกที่บริสุทธิ์และเป็นอุดมคติ ความถูกต้องคงเป็นเหมือนเสาหลักที่พิงได้ทุกเมื่อ แต่เผอิญว่าโลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์อาศัยอยู่และมีอิทธิพลต่อโลกเป็นส่วนใหญ่… และ มนุษย์ก็มีความคิดที่หลากหลาย มีสังคมที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อ ทัศนคติ และตามระดับการศึกษาของคน… เจ้าความถูกต้องที่ว่าเลยใช้กับมนุษย์ดุ้นๆ ไม่ได้ แต่ต้องปรับไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

มันน่าคิดนะครับ ถ้าโลกเราต้องยึดความถูกต้องจริงๆ มนุษย์ก็ต้องเสียอะไรไปหลายอย่าง ที่แน่ๆ คือเราไม่มีสิทธิ์ไปรุกรานที่อยู่ของสัตว์อื่น ไม่มีสิทธิ์ทำลายป่า ไม่มีสิทธิ์จับสัตว์มากักขัง ไม่มีสิทธิ์ผลิตอาวุธมาประหารกัน เราจะเหลือสิทธิ์น้อยมาก อาจทำได้แค่เดินโทงๆ นอนในถ้ำเท่านั้นแหละ

แต่ถ้าอยากให้ชีวิตมนุษย์หมุนไป บางครั้งเราก็ต้องเอาความถูกต้องมาขัดเกลาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตหรือให้เข้ากับสถานการณ์… มันอาจไม่ใช่ความถูกต้องสากล แต่มันก็คือความถูกต้องเวอร์ชั่นที่ได้รับการกลั่นกรองผ่านสมองมนุษย์

และแน่นอนว่าถูกต้องของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ถูกต้องของผมอาจหย่อนมาตรฐานกว่าถูกต้องของคุณก็ได้ เช่นเดียวกับที่ถูกต้องของกองเซ็นเซอร์มันเข้มงวดกว่า “ถูกต้อง” ของคนดูหนังน่ะแหละ

ความถูกต้องเพียวๆ ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมีมนุษย์เข้ามายุ่งปรุงแต่งเท่านั้นแหละ… เป็นเรื่อง…

วินาทีนี้ผมยังอดคิดไม่ได้… ถูกต้องที่ผมยึดอยู่นี้มันใช่ถูกต้องที่ดีที่สุดหรือไม่… ถูกต้องที่มนุษย์นิยามขึ้น คือ “ถูกต้อง” ในระดับบริสุทธิ์หรือเปล่า… โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่นะครับ… หรือคุณว่าอย่างไร ลองนำมาคิดเล่นๆ หากมีเวลานะครับ แต่หากมีงานมีอย่างอื่นต้องทำก็ไม่ต้องคิดหรอกครับ มนุษย์ยังมีอะไรต้องทำอะไรเยอะ เอาแค่เรื่องปากท้องก็คิดจนหมดอายุขัยได้แล้ว

จริงๆ ผมเห็นใจรอร์ชาร์ค แต่ก็น้ำท่วมปากที่จะช่วยเขาเถียงเหมือนกัน… เห็นไหมครับ ผมเลยนึกไม่ออกเลยว่าจะพูดอะไรเกี่ยวกับเขาดี… ว้า แย่จัง

Synopsis
ถึงบรรทัดนี้ ผมไม่แน่ใจว่าคุณจะได้คำตอบหรือยังนะครับว่าเขาคือฮีโร่หรือไม่ เพราะคนที่ทำดีบางคนต้องถูกถอดออกจากคำว่าคนดี เพียงเพราะเขามีประวัติในอดีตที่ไม่สะอาด หรือมีการกระทำในปัจจุบันไม่ผิดพลาดลงไป… คนเราหลุดจากความเป็นฮีโร่ได้ง่ายเหลือเกินครับ

และการหลุดจากความเป็นฮีโร่หรือคนดีก็ง่ายมาก… แค่ประชาชนรุมนินทาก็เป็นอันเสร็จพิธีแล้วล่ะ… ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนเราเลือกที่จะเป็นคนธรรมดาหรือไม่ก็ค่อนไปทางไม่ดีมากกว่า เพราะการรักษาความ “ดี” แบบที่คนทั่วไปนิยามนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ยังดีที่อย่างน้อยเราก็สามารถทำให้ชีวิตส่วนใหญ่ของเรา มีเปอร์เซ็นต์ความดีมากกว่าความชั่วได้… ดีซัก 51% ชั่วแค่ 49% ก็โอเคแล้วล่ะมั้งผมน่ะครับ เหอ เหอ เหอ

ไม่เป็นฮีโร่แต่อย่าเป็นวายร้ายก็แล้วกันนะครับพวกเรา…

เอาล่ะ ส่วนงานด้าน Effect ก็เนี๊ยบครับ พวกภาพ เสียง แสงเงา สีสันจัดว่าไม่ผิดหวัง ไม่เสียฟอร์มคนทำหนังศิลป์สุดมันส์อย่าง 300 ครับ คนกำกับคือ Zack Snyder เจ้าเก่า พี่คนนี้ทำหนังแล้วไม่ค่อยผิดหวังเลยครับ อย่าง Dawn of the Dead ฉบับรีเมกก็ดูได้ไม่ขี้ริ้ว ส่วน 300 ก็ดีเข้าขั้นกันไป เรื่องนี้ก็จัดว่าเด็ดอีกเช่นเคย ทั้งภาพและเนื้อหา แต่แน่นอนว่ามันคงไม่สมบูรณ์ที่สุดหรอกครับ มีพร่องบ้าง มีจุดที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กบ้าง คละเคล้ากันไป แต่โดยรวมๆ ถือว่าสาใจสำหรับแฟนการ์ตูน Watchmen และคนที่ชอบหนังสไตล์นี้

และที่ไม่ชมไม่ได้คือดนตรีประกอบครับ คัดมาได้สุดยอดจริงๆ ด้านนักแสดงก็เลือกมาได้เหมาะดีจริงๆ ครับ โดยเฉพาะ Jackie Earle Haley เจ้าของบท รอร์ชาร์ค ส่วน Jeffrey Dean Morgan ก็ไปได้ดีมากๆ กับบทคอมมิเดี้ยน ซึ่งจริงๆ แล้วตอนแรกเขาจะถอนตัวไม่เล่นครับ เพราะอ่านบทปุ๊บเจอตัวเองตายตั้งแต่ต้นเรื่องเลย แต่พอผู้จัดการบอกให้ใจเย็นแล้วก็อ่านบทต่ออีกนิด พี่ท่านก็รับเปลี่ยนใจ ไม่เล่นไม่ได้ทันที เพราะแม้จะตายตอนต้นเรื่อง แต่ก็ยังมีบทบาทอีกตั้งแต่ต้นจบตอนท้าย

ส่วนดาราเจ้าอื่นๆ ก็เล่นได้เยี่ยมไม่ผิดหวังครับ ไม่ว่าจะ Malin Akerman ที่น่าจะแจ้งเกิดได้เต็มๆ หนุ่มๆ น่าจะปลื้มเธอกันแน่นอน, Billy Crudup กับสภาพที่จำแทบไม่ได้ก็เล่นเป็น ดร.แมนฮัตตันได้อย่างน่าปรบมือครับ แววตาแกดูนิ่งมากจริงๆ แต่พอเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมา นัยน์ตาก็พร้อมจะแปรเปลี่ยนได้เสมอ, Patrick Wilson กับบทไนท์อาวล์ที่ดูไม่ค่อยทำอะไรนัก แต่ก็เป็นบทธรรมดาที่เติมเต็มสมดุลย์ให้หนังได้อย่างดีครับ พอๆ กับ Matthew Goode ที่ดูธรรมดาเหมือนกัน แต่พอถึงเวลาไม่ธรรมดา ก็เล่นซ้ะ

จัดเป็นหนังฮีโร่ดราม่าที่น่าสนใจและสนุกอีกเรื่องหนึ่งครับ แต่ถ้าคุณๆ หวังแฟนตาซีแอ็กชันฮีโรแบบเรื่องอื่นๆ ก็อาจอึ้งได้

สรุปว่าผมชอบครับ ในหลายๆ ส่วน ทั้งสไตล์ ภาพ เนื้อหา และเพลง ต้องเรียกว่าถูกเส้นพอดีเลยชมเปาะแบบเต็มที่ แต่ของแบบนี้ลางเนื้อชอบลางยาครับ ผมทำได้แค่เล่าว่าผมรู้สึกอย่างไรกับหนัง แต่ตัดสินไม่ได้หรอกว่าหนังเรื่องนี้ดีสุดยอด

คุณต้องตัดสินด้วยตนเองถึงจะเหมาะที่สุด

เอาล่ะ ก่อนจะให้ดาวผมขอพูดฉากที่ผมติดตาและประทับใจที่สุดในหนังเรื่องนี้ก่อนแล้วกัน… พูดแบบสั้นๆ สี่พยางค์ คนที่ดูมาแล้วจะเก็ททันที

ฮาเลลูยา

สามดาวครึ่งดาวครับ

Star32

(8.5/10)