Adventure

Angels & Demons (2009) เทวากับซาตาน

Angels_and_demons

ลองคิดคำตอบสำหรับคำถามนี้สักนิดนะครับ… คุณคิดว่าศาสนานั้นให้สิ่งใดกับมนุษย์เราบ้าง? ….ได้คำตอบแล้วพักไว้ในใจก่อนนะครับ

ทีนี้ลองมาพบกับอีกคำถามหนึ่ง แล้วคุณว่าวิทยาศาสตร์นั้น ให้อะไรกับโลกและมนุษย์บ้าง?

ลองคิดตอบคำถามเหล่านี้แบบในใจ ไม่ต้องซีเรียส คิดเสียว่าเป็นการบริหารสมองเล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน

จะตอบอย่างไรก็ได้ครับ แต่ขออย่างเดียวเท่านั้น… ว่าไม่ควรจะพยายามเปรียบว่าระหว่าง “ศาสนา” กับ “วิทยาศาสตร์” อะไรที่ดีกว่ากัน อันไหนที่ประเสริฐศักดิ์สิทธิ์กว่ากัน… เพราะสองสิ่งนี้มีคุณค่าอื่นๆ ให้นำไปใช้อีกร้อยแปด ซึ่งดีกว่าการเอามาแปลงสภาพเป็นม้าแข่งมากมายนัก…

Angels & Demons คือ ผลงานนิยายลำดับที่ 2 ของ Dan Brown ซึ่งถือเป็นตอนแรกของการผจญภัยไขปริศนาที่มีตัวเอกชื่อ โรเบิร์ต แลงดอน แล้วพอเล่มนี้ดังก็จึงส่งผลให้มีภาคสองตามออกมาได้แก่ The Da Vinci Code ซึ่งดังยิ่งกว่าภาคแรก เพราะมีเนื้อหาที่ท้าทายความเชื่อของชาวคริสต์ทั้งมวล อันส่งผลให้มีทั้งคนที่ชื่นชอบในความกล้าและแปลกใหม่ของเนื้อหา กับความช่างจินตนาการผูกเรื่องของ Brown ขณะเดียวกันก็มีผู้ต่อต้านและมองว่านิยายของเขาเป็นวรรณกรรมที่ไม่เหมาะสมอยู่ไม่น้อย

และด้วยกระแสกึ่งดังกึ่งฉาวก็ยิ่งกระพือความแรงของนิยายจนได้รับการแปลไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งทางแพรวสำนักพิมพ์ก็ได้นำเอาเรื่อง The Da Vinci Code เข้าหาให้นักอ่านชาวไทยได้สัมผัสก่อน พอตัวนิยายดังก็ค่อยนำเอาภาคก่อนหน้าอย่าง Angels & Demons ตามออกมาวางจำหน่ายอีกที

ทีนีในฉบับภาพยนตร์ก็มีชะตากรรมคล้ายคลึงกันครับ ด้วยความที่ The Da Vinci Code กระหึ่มไปทั้งโลก ทำให้ค่ายหนังสนใจเอาการผจญภัยครั้งที่ 2 ของโรเบิร์ต แลงดอน เอาไปทำเป็นหนังใหญ่ก่อน แล้วพอหนังดังสมใจก็จึงค่อยเอา Angels & Demons สร้างต่อเพื่อโกยความสำเร็จอีกสักรอบ โดยทำการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องด้วย โดยให้ Angels & Demons กลายเป็นหนังภาคต่อไปโดยปริยาย ไม่ได้เกิดก่อน The Da Vinci Code แบบในฉบับนิยาย ซึ่งจะว่าไปการดัดแปลงแบบนี้ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับหนังชุดนี้ครับ… ตรงกันข้าม ผมว่ามันเป็นผลดีซะอีกด้วย

เรื่องราวก็ว่าด้วยการตามล่าปริศนา เมื่อพระคาร์ดินัล 4 รูปที่ได้รับการเสนอชื่อสำหรับตำแหน่งพระสันตปาปาองค์ใหม่ ได้ถูกลักพาตัวไปโดยองค์กรลึกลับที่อ้างตัวว่าเป็นพวกอิลลูมินาติ องค์กรที่ประกาศตนว่าเป็นพวกบูชาวิทยาศาสตร์และเคยมีเรื่องบาดหมางแค้นเคืองกับศาสนจักรอย่างมหาศาล และพวกมันยังขู่จะสังหารพระคาร์ดินัลที่ถูกจับไปทั้งหมด รวมถึงแสดงเจตนาว่าต้องการจะทำลายนครวาติกันให้ราบเป็นหน้ากลองอีกด้วย

แล้วพระเอกของเรา โรเบิร์ต แลงดอน (Tom Hanks) ก็ถูกตามตัวมายังวาติกันครับ เพื่อไขปริศนาตามหาพระคาร์ดินัลให้เจอ อีกทั้งยังต้องแข่งกับเวลาเพื่อตามหาที่ซ่อนของสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิสสาร” สสารที่สามารถสร้างพลังงานได้อย่างมหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็สามารถใช้เป็นอาวุธมหาประลัยที่ทำลายเมืองให้ราบได้ และแน่นอนว่าวายร้ายมันได้นำเอาปฏิสสารมาใช้ในทางร้ายครับ งานนี้แลงดอนจึงต้องพยายามถอดรหัสสัญลักษณ์ทั้งมวล ช่วยทั้งคน ช่วยทั้งเมือง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

มาว่ากันที่ตัวหนังก่อนนะครับ ภาคนี้จะออกแนว Die Hard ครับ ประมาณว่าแลงดอนเป็นจอห์น แม็คเคลนยังงั้นเลย เพราะพี่แกต้องตระเวนไปทั่ววาติกัน ถอดรหัส ไขความลับ เพื่อหาที่ซ่อนที่วายร้ายได้นำพระคาร์ดินัลทั้ง 4 ไปซ่อนไว้ รวมทั้งหาระเบิดให้ทันเวลา หนังเลยกลายเป็นแอ็กชัน ผจญภัยไปในตัวครับ ซึ่งก็ทำออกมาได้ไม่เลวทีเดียว น่าติดตาม มีลุ้นแล้วก็ตื่นเต้นใช้ได้ และดนตรีประกอบของ Hans Zimmer ก็ช่วยกระตุ้นเร้าอารมณ์ระทึกได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกว่าใครก็ตามที่เคยบ่นว่าภาคก่อนมันไม่ค่อยบู๊ ไม่ค่อยมันส์ก็น่าจะถูกใจขึ้นกับภาคนี้นะครับที่เน้นแอ็กชันมากขึ้น

แต่ยังไงก็ต้องบอกไว้ก่อนว่ามันไม่ได้มันส์เต็มพิกัดกระชากอะดรีนาลีนเท่าหนังบู๊เก่าๆ อย่าง Die Hard หรือ The Rock หรอกครับ มันออกแนวบู๊แบบใช้สมอง บู๊ด้วยปัญญามากกว่า อะไรๆ มันก็เลยอาจจะเชื่องๆ ไปนิด… แหม จะให้แลงดอนกระเตงเอ็ม 16 ไปซัดกับผู้ร้ายก็คงไม่ไหวน่ะเน้อะ (ไม่งั้นคงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Armors & Destroy ฮ่าๆๆๆ)

สำหรับฉาก โลเกชั่นในเรื่องก็ทำออกมาได้น่าพอใจครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นฉากทำขึ้นมา เพียงแต่ถ้าใครอ่านนิยายมาก่อนอาจจะรู้สึกว่ามันน่าจะอลังการกว่านี้สักหน่อย หรือไม่ก็ดูแล้วชวนให้ตื่นตากว่านี้สักนิด แต่ก็โอเคน่ะครับ อย่างน้อยฉากช่วงท้ายๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องระเบิดก็ทำได้อลังการสมจริงดี

Angels_and_demons2

ด้านเนื้อหา ก็ไม่ต้องห่วงครับ หนังดัดแปลงจากนิยายไปเยอะอย่างแน่นอน อย่างตัวละคร เลโอนาร์โด เวตร้า พ่อของวิตโตเรีย (นางเอกของเรื่อง) กับ แมกซีมีเลียน โคห์เลอร์ ก็โดนตัดออกไปหมดครับ เหลือแค่ตัวหลักๆ ซึ่งก็ต้องเข้าใจล่ะครับ ในนิยายนั้นมีรายละเอียดเยอะมาก จนต้องทอนต้องลดอะไรลงไปสักหน่อย ไม่งั้นหนังยาวอีกเยอะแน่ ซึ่งก็ต้องบอกไว้ก่อนให้คนอ่านนิยายมาแล้วได้ทำใจครับ ว่าหนังอาจจะไม่เต็มอิ่มเท่านิยายหรอก

แต่ตัวหนังเองก็ไม่เลวครับ สนุก น่าติดตาม แต่ลึกๆ ก็รู้สึกว่าการตามปม การพูดถึงตำนานมันไม่ใคร่จะเร้าใจเท่าใน The Da Vinci Code ซึ่งถ้าจำกันได้นะครับ ภาคก่อนนั้นเวลาเล่าตำนานทีหนังจะสามารถดึงให้คนดูจมลงไปกับเรื่องราวได้อย่างดี ชนิดที่ฟังแล้วอดเชื่อไม่ได้น่ะครับว่ามันน่าจะจริง แต่กับภาคนี้เหมือนจะบอกเป็นข้อมูลคร่าวๆ ให้คนดูรับรู้เท่านั้น ความมันส์ในเชิงใช้สมองและความตื่นเต้นในการเล่าตำนานแบบภาคก่อนจึงหายไปพอสมควร

ส่วนตัวผมเอง ก็ค่อนข้างชอบภาคก่อนมากกว่าหน่อยครับ เพราะมันมันส์ตรงตำนาน ตรงการเล่าให้เราจมไปกับเรื่องราวนี่แหละ และการผูกเรื่องของภาคก่อนมันค่อนข้างเดาทางได้ยากน่ะครับ ไม่รู้ว่าปมปริศนาแต่ละอันจะพาแลงดอนกับโซฟี เนอเวอ (นางเอกภาคที่แล้ว) ไปทางไหน มันเลยค่อนข้างสดและเด็ดพอตัว แต่กับภาคนี้มันก็เข้าอีหรอบหนังแอ็กชันไล่ล่าช่วยคนและกู้ระเบิดแบบที่เราๆ คุ้นเคยกันดี

แต่เอาเถอะครับ นั่นมันความชอบส่วนตัวน่ะเน้อะ เอาเป็นว่าภาคนี้กับภาคก่อนสนุกคนละแบบแล้วกันครับ ซึ่งโดยรวมๆ ผมก็ชอบทั้งสองภาคนั่นแหละ แต่จุดที่ชอบอาจจะต่างกันนิดๆ

ใน The Da Vinci Code นั้นผมประทับใจการเล่าเรื่อง การผูกปม และสไตล์การดำเนินเรื่องที่ชวนให้คิด กับประเด็นที่ชวนให้ตั้งคำถามในเรื่องความเชื่อ และเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับอำนาจกับศาสนาที่น่าสนใจ รวมไปถึงปมที่ยอมรับเลยว่า Brown กล้ามากที่จับเรื่องนั้นมาเล่น

ส่วน Angels & Demons หนังไม่ได้มาพร้อมประเด็นที่ชวนฉงนครับ แต่จะออกแนวแอ็กชันผสมไขปริศนาที่ไม่ได้มีเรื่องพลิกโลกเท่าใน Da Vinci แต่จุดที่ผมชอบก็คือ ประเด็นที่ชวนให้พิจารณาเกี่ยวกับ “ศาสนา” และ “วิทยาศาสตร์” … คล้ายๆ กับที่ผมตั้งคำถามไว้ในตอนต้นๆ นั้นแหละครับ

เอาล่ะ ถัดจากนี้ไปย่อมมีสปอยล์เป็นของธรรมดานะครับ ไม่ปลอดภัยครับ ถ้าหากไม่อยากทราบก็รีบเลื่อนลงไปอ่านดาวสรุปข้างล่างตามระเบียบเลยนะครับ ถ้าจะให้สรุปตรงนี้เกี่ยวกับหนังก็คือ หนังไม่เลวครับ สนุก ใช้ได้ ลุ้น แอ็กชันและผจญภัยผสมกันแบบไม่น่าผิดหวัง

ผมได้บอกไว้ใช่ไหมครับว่า การที่ Angels & Demons ซึ่งจริงๆ แล้วตามนิยายนั้น เรื่องราวต้องเกิดก่อน แล้วค่อยตามด้วย Da Vinci แต่การที่หนังจัดการสลับให้ภาคนี้มาทีหลังกลับส่งผลดี เพราะในภาค Da Vinci นั้น แลงดอนต้องเผชิญกับความจริง (ในหนังและนิยาย) ที่สุดแสนจะน่าตะลึงเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งเขาและผู้ชมหลายคนก็ต้องรู้สึกมีคำถามและมีความสั่นคลอนบางประการในเรื่องศาสนาเช่นกัน

หลายคนย่อมมีคำถามว่า “ถ้าเรื่องมันเกิดเป็นอย่างในหนังแล้ว สิ่งที่เราเชื่อมาเกี่ยวกับศาสนามันไม่มลายไปหมดหรือ” หรือ “การที่ศาสนจักรเคยมีส่วนในประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดนั้น (เช่น กรณีอัศวินเทมปลาร์ และ กรณีกวาดล้างแม่มด) มันก็ย่อมมีผลให้ศาสนาเปื้อนเลือดไปด้วยไม่ใช่หรือ

หากคิดในมุมเหล่านั้น ความเชื่อ ความศรัทธา ย่อมสั่นคลอนไม่มากก็น้อย…

แต่แล้วการมาของหนัง Angels & Demons ได้ช่วยเติมเต็มและตอบคำถามที่หนังภาคก่อนทิ้งท้ายไว้ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเจตนาของคนเขียนบท (David Koepp และ Akiva Goldsman) หรือไม่ก็ตาม

เรื่องแรกคือ อดีตที่เปื้อนเลือดของศาสนา… หนังได้ชี้ชวนให้เราคิดโดยผ่านทางการกระทำของผู้อยู่เบื้องหลังเหตุร้ายทั้งหมด คนที่ดูมาแล้วย่อมทราบนะครับว่าเป็นท่านคาเมอร์เลโญ่ ซึ่งแรงจูงใจที่ทำให้เขาทำ… ก็เพื่อพิทักษ์ศาสนา… เขาทำเพราะเขา “คิดและเชื่อ” ว่ามันเป็นวิธีเดียวที่จะดึงศรัทธากลับมาสู่วาติกัน และทำให้ “ศาสนา” มีชัยเหนือ “วิทยาศาสตร์

ดังนั้นเราลองมาดูกันสิครับ เหตุการณ์เปื้อนเลือดในหนัง ไม่ว่าจะการวางระเบิด สังหารพระผู้ใหญ่ หรือการทำให้คนต้องเสียเลือดเนื้อและชีวิต… มันจริงที่ผู้อยู่เบื้องหลังคือ คนในศาสนา หรือ พระในวาติกัน เขาทำโดยเจตนาต้องการจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเอาไว้… สังเกตให้ดีๆ ว่าใครคือผู้ลงมือกระทำ… คน หรือ ศาสนา?

แล้วเราก็ลองย้อนอดีตไปอีกหน่อย สำหรับหลากหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ที่ทำให้คนเกิดคำถามว่าจะศรัทธาในศาสนาที่มี “เลือดเปื้อน” ต่อไปดีหรือไม่ ไม่ว่าจะสงครามครูเสด, เหตุล่าแม่มด, เหตุนองเลือดของอัศวินเทมปลาร์ และอื่นๆ อีกมากมาย จนผมไม่แปลกใจถ้าเราจะมองว่าศาสนามีส่วนในเหตุสลดเหล่านั้น แต่ก็อยากให้ลองย้อนคิดอีกเช่นเคย สังเกตดีๆ อีกทีว่าใครคือผู้ลงมือทำ… คน หรือ ศาสนา?

ศาสนาทั้งหลายไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่พราหมณ์-ฮินดู ต่างก็พยายามบอกให้คนทำดีต่อกัน กรุณาต่อกัน ช่วยเหลือต่อกัน และเข้าใจซึ่งกันและกัน และอย่าได้เบียดเบียนทำร้ายให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หัวใจหลักๆ และจุดยืนร่วมของแต่ละศาสนาก็ไม่ลี้กันไปจากนี้หรอกครับ ซึ่งหัวใจเหล่านี้ย่อมไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือด แต่ผู้ที่ทำการตีความ คิด และกระทำจนเกิดเรื่อง ก็คือคนเรานี่แหละ

ไม่ว่าจะคาเมอร์เลโญ่ในหนังภาคนี้ หรือย้อนไปถึงท่านบิชอฟมานูเอล อริงกาโรซ่า กับ ซิลาส จากภาค Da Vinci ทั้งหมดคือคนในศาสนาที่พยายามจะพิทักษ์รักษาศาสนาของตน ด้วยแนวทางที่ตนคิดว่าถูกต้อง และคิดว่าการนองเลือดนั้นเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรักษาสถานภาพบางอย่างของศาสนาเอาไว้

พวกเขาล้วนมีส่วนนำเลือดมาชะโลมศาสนาตนด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งลึกๆ แล้วก็น่าเห็นใจ เพราะเขาพยายามทำในสิ่งที่เขาคิดว่าเหมาะสมและดี เขาจมอยู่กับสภาวะนั้นโดนลืมหรือเลือกที่จะไม่มองในมุมอื่น… แต่เสียดายที่มันไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เพราะพวกเขาลืมไปว่าหัวใจของศาสนาคือ การทำให้คนอยู่มิใช่ทำให้คนตาย

ลองนึกย้อนไปถึงการวางพระองค์ของเหล่าศาสดากันดู… พระพุทธเจ้า มิได้ทำอะไรนอกจากการเผยแผ่ศาสนา แม้จะมีคนไม่ชอบศาสนาพระองค์ก็มิทรงตอบโต้ดวยความรุนแรง แต่เลือกที่จะทรงแจ้งให้บุคคลเหล่านั้นทราบด้วยวิธีทางปัญญาและการสนทนาธรรม หรืออย่างกรณีพระเทวทัต ที่จองเวรจองกรรมของพระพุทธเจ้าเสมอมา ขนาดลงมือลอบสังหาร พระพุทธเจ้าก็มิทรงดำเนินการใดๆ ให้เกิดเหตุ นอกจากทรงเดินหน้า นำหัวใจแห่งศาสนาเผยแผ่ไปให้ทั่ว…

หรือพระเยซู ก่อนที่พระองค์จะถูกตรึงกางเขน อันที่จริงหากพระองค์จะใช้อำนาจความศรัทธาที่มีให้คนออกมาปกป้องก็ย่อมมิใช่เรื่องยาก แต่พระองค์เลือกที่จะยืนหยัดรักษาหัวใจแห่งศาสนาเอาไว้… ได้แก่ ความรัก การเสียสละ และการยืนหยัดที่จะมอบสิ่งดีๆ ให้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรูก็ตาม พระองค์ทรงทราบว่าการปลุกระดมย่อมเป็นปฐมบทแห่งการนองเลือดครั้งยิ่งใหญ่…

ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไร ศาสนาก็ยังคงเป็นศาสนา หัวใจแห่งคำสอนที่เน้นให้คนทำดีก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดก็เนื่องจากคนนี่เอง ที่ตีความไปตามศรัทธาหรือประสงค์ของตน แล้วแต่เหตุจูงใจและแนวความคิด

และสิ่งที่หนังชี้ชวนให้คิดก็คือ การกระทำของคนในศาสนา (เช่นที่ คาเมอร์เลโญทำ) กับ แก่นแท้ของศาสนานั้น เราก็ต้องแยกแยะให้ดี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของคาเมอร์เลโญ มีผลมาจากศาสนา แต่ชนวนหลักที่ก่อให้เกิดเรื่องราวก็คือการคิดใคร่ครวญจากตัวเขาเอง ในขณะที่ศาสนาก็ยังเน้นเรื่องการทำดีไม่เสื่อมคลาย

มันก็ทำให้นึกเรื่องในบ้านเราเหมือนกันนะครับ ศาสนาพุทธตอนนี้ก็ระส่ำระสาย สะเทือนเพราะการกระทำอันไม่เหมาะควรของพระบางองค์ ซึ่งอยู่รู้มากศรัทธาก็ยิ่งเสื่อมมาก แต่ก็น่าคิดในอีกมุมเช่นกันว่า การทำคนเหล่านั้นทำสิ่งผิด มันเป็นเพราะศาสนาหล่อหลอมให้เขาทำ หรือเขาทำด้วยตัวของเขาเองกันแน่… น่าคิดเหมือนกันว่าเมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้เราควรนำตัวให้ห่างจากศาสนา หรือควรเข้าใกล้ยิ่งขึ้นเพื่อช่วยตรวจสอบ ยกระดับ ปรับระบบในศาสนาให้เรื่องแบบนี้ลดลงไป

และคำถามที่ชวนให้คิดอีกหนึ่งประการจากทั้งในสังคมจริงๆ ตอนนี้กับที่เกิดในหนังก็คือ เรานั้นศรัทธาเพียงที่ตัวคน เพียงที่รูปลักษณ์ สัญลักษณ์ หรือศรัทธาไปถึงศาสนาที่เป็นแก่นจริงๆ กันแน่

หากเรารู้ว่าเนื้อแท้ของศาสนาของเราสอนคนให้ทำดี ละเว้นชั่ว ทำใจให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์ หากเราเข้าใจและศรัทธาแล้ว การกระทำของคนเพียงบางคนก็ย่อมยากที่จะสั่นคลอนสิ่งดีๆ ที่เราเชื่อได้

เช่นกันครับ นอกจากเรื่องประเด็นแรกเกี่ยวกับการเปื้อนเลือดนั้นแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่สองที่ว่าด้วย ประเด็นพลิกโลก ใน Da Vinci ที่เกี่ยวกับพระเยซู และ แมรี่ แม็กดาเลนนั้น ไม่ว่าเหตุจะเป็นเช่นไร แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่า ศาสนาได้สอนให้คนเป็นคนดี และมีความรักมอบให้กับทุกคน แม้หนังภาคก่อนจะคลอนความเชื่ออย่างไร แต่หนังภาคนี้ก็ได้ชวนให้เราคิดตามว่า ถ้าเราเชื่อในแนวคิดที่ศาสนาสอนให้เราทำดี ดังนั้นไม่ว่าตำนานจะเป็นเช่นไร หรือแม้แต่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในเรื่องเล่าทั้งหลายนั้นจะจริงแท้แค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่าประเด็นหลักว่าด้วยความดีหรอก

อย่างที่เขาว่านั่นแหละครับ ว่าเรื่องเหล่านี้พิสูจน์พลังศรัทธาที่คนเรามีต่อศาสนาที่นับถือได้เสมอ และพิสูจน์ได้ว่าเรานั้นเข้าใจในศาสนาของตนมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเข้าใจเพียงผิวๆ ก็ย่อมไม่ยากเย็นที่อารมณ์และความรู้สึกเราจะปลิวไปได้ เมื่อเกิดมีลมมาปะทะเพียงเบาๆ

และประเด็นต่อมาที่ยิ่งทำให้ผมรูสึกว่า Angels & Demons ช่วยเติมเต็มภาคก่อน ก็คือ ภาคนี้ได้จัดการนำเอา “ศาสนา” และ “วิทยาศาสตร์” มาบรรจบกันอย่างน่าสนใจ…

ในภาคที่แล้ว หนังได้จุดประเด็นกลายๆ ราวกับว่าศาสนาและวิทยาศาสตร์คือเส้นขนานที่เหมาะจะเดินคนละทาง เพราะการค้นหาความจริงในภาคที่แล้วของแลงดอนนั้น ถือเป็นการตามรอยถอดปมปริศนาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือการรวบรวมข้อมูล ตั้งสมมติฐาน แล้วก็หาหลักฐานเพื่อพิสูจน์แต่ละสมมติฐาน จนได้เป็นคำตอบในตอนท้ายของเรื่อง ซึ่งเหมือนว่ากระบวนการหาคำตอบแบบวิทยาศาสตร์นั้นได้คลอนความเชื่อลงไปเรียบร้อย

ถ้าไม่มีกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่มีการกระหายที่จะหาความจริง บทสรุปแบบใน Da Vinci ย่อมไม่เกิดขึ้น… ดังนั้นวิทยาศาสตร์คือตัวลดพลังศรัทธาแห่งศาสนาโดยแท้

ยิ่งในภาคนี้ก็เป็นการสานต่อที่เหมาะเจาะ เพราะหนังได้กล่าวถึงสมาคมลับอิลลูมินาติ ที่ว่ากันว่าเป็นกลุ่มคนที่ศรัทธาในการหาความจริงด้วยพลังแห่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้ทำการเสมือนฉีกหน้าศาสนจักร เช่น การประกาศว่าโลกมิใช่ศูนย์กลางจักรวาล เป็นต้น… เป็นอีกครั้งที่วิทยาศาสตร์ได้กระทำการคลอนศรัทธาทางศาสนา

แต่บทสรุปใน Angels & Demons มิได้ทิ้งคาให้เกิดประเด็นอย่างภาคแรก แต่ได้ทำให้สองอย่างมาบรรจบกัน ว่าแท้จริงแล้ว ศาสนา กับ วิทยาศาสตร์ มิได้เป็นศัตรูกัน มิได้อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน แต่คือมิตร และพี่น้องที่ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันต่างหาก

ศาสนา คือ สิ่งที่ผสมผสานกันระหว่างความจริงและความเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่าความจริงย่อมเป็นความจริง แต่ความเชื่อ เรื่องเล่า การพูดเอาเองกะเกณฑ์ต่อเติมเอาเองของคนในยุคต่อมามันอาจไม่จริง… ดังเช่นคำที่บอกว่าโลกคือศูนย์กลางจักรวาล, ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก, โลกแบน เป็นที่ตอนนี้เราได้เข้าใจแล้วว่ามันหาใช่เรื่องถูกต้องไม่

และวิทยาศาสตร์ก็ถือกำเนิดเพื่อหาความจริง เปิดโลกทัศน์มนุษย์ให้หลุดพ้นจากการเชื่อแบบงมงายโดยไม่ทำการพิสูจน์ตรวจสอบ

… ดังนั้น ในมุมหนึ่งแล้ว วิทยาศาสตร์จะทำหน้าที่ยืนยันสิ่งที่เป็นจริงในศาสนา และจะคอยขัดเกลา กำจัดสิ่งที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในศาสนาให้หมดสิ้นไป

แล้วก็กลับไปที่ผมลองตั้งคำถามเล่นๆ ไว้ตอนต้นครับ… ไม่ทราบว่าได้คิดได้ตอบกันไปแค่ไหนนะครับ ซึ่งแต่ละคำตอบผมเชื่อว่ามีความหมายในตนเอง และแต่ละคนย่อมมองสองสิ่งนี้ได้อย่างหลากหลาย ตามแต่ว่าใครเชื่ออย่างไรและโตมาแบบไหน และสองสิ่งนี้นึกๆ ไปก็มีคุณค่าต่อโลกในหลายทาง

แต่ที่ขอร้องไว้ว่าอย่าเปรียบ อย่าเทียบความดีเด่นระหว่างสองอย่างนั้นก็เพราะแท้จริงแล้ว สองสิ่งนี้ล้วนถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ต่อโลกและมนุษย์ด้วยกันทั้งคู่ เป็นดั่งเข็มทิศและแผนที่สำหรับการชี้ทางเดินให้คนเดินดินแบบไม่จำกัดวรรณะหรือเชื้อชาติ ซึ่งศาสนานั้นจะเน้นเรื่องการบำรุงยกระดับจิตใจ ส่วนวิทยาศาสตร์ก็มุ่งหน้าไปที่เรื่องพัฒนาและสร้างสรรค์ทางวัตถุ

และสองสิ่งนี้ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแข่งขันชิงชัย หรือ เกิดขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ตัดสินว่าอะไรดีกว่าอะไร และยิ่งไม่ใช่เกิดมาเพื่อเป็นอริตรงข้ามกัน ซึ่งการที่เรามองสองสิ่งนี้ในแง่นั้นก็เท่ากับเป็นการมองอย่างคลาดเคลื่อนไปจากวัตถุประสงค์แท้จริงอย่างน่าเสียดาย

เหมือนเรามัวแต่คิดพิจารณาว่าระหว่างน้ำยาล้างจาน กับ ฟองน้ำขัดจาน อันไหนมีความดีกว่ากัน สำคัญกว่ากัน และทรงคุณค่ากว่ากัน… ได้แต่ยืนมองและคิด แต่ดันไม่ใช้มันทั้งสองล้างจานที่กำลังสกปรกให้สะอาด หรือไม่ก็ได้แต่นำเอาสองอย่างนี้มาใช้แบบแยกกัน ไม่เอามาผสมรวมกัน แบบนั้นย่อมทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ยากยิ่ง

การเอาแต่เปรียบหรือหาทางเอาชนะกันระหว่าง ศาสนา กับ วิทยาศาสตร์ ก็เช่นกันครับ แทนที่จะใช้สองอย่างช่วยกันชำระโลกให้สะอาด ชำระใจคนให้ผ่องใส และใช้มันแก้ปัญหา แต่คนจำนวนมากกลับพยายามแบ่งแยก ตั้งฝ่ายเลือกข้าง จนในที่สุด โลกเราก็มีสภาพไม่ต่างจากจานที่รอการล้างมาเป็นศตวรรษแล้ว

ศาสนา และ วิทยาศาสตร์ คือ สิ่งที่รอให้มนุษย์นำไปปรับใช้แบบผสมผสานกัน ไม่ว่าจะใช้คิดอ่านเพื่อสร้างสรรค์ หรือใช้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ หนทางใหม่ๆ ให้กับชีวิต และยังเป็นเสมือนสิ่งที่คอยตรวจสอบให้กันและกัน คอยถ่วงดุล สร้างสมดุลย์ให้คนบนโลก

เพราะวิทยาศาสตร์จะช่วยเราพัฒนาโลก พัฒนาวัตถุให้เจริญก้าวหน้า สร้างความสะดวกสบาย และค้นหาความจริง ช่วยให้คนพ้นจากความงมงาย และมันยังช่วยให้ศาสนาได้ขจัดสิ่งไม่ถูกออกไป ส่วนสิ่งไหนถูกก็จะได้รับการสนับสนุนยืนยันว่ามันจริงยิ่งขึ้น

ส่วนศาสนาก็มีไว้ให้คนได้พึ่งพาทางจิตใจ ได้ขัดเกลาให้วิทยาศาสตร์นั้นดำเนินไปอย่างมีทิศทางที่สร้างสรรค์มิใช่ทำลาย ศาสนาและแนวคิดแห่งการทำความดี ก็มีไว้คุมมิให้คนหลงจมไปกับวัตถุจนลืมความเป็นคน ไม่ให้คนเห็นแก่ได้จนลืมความดี

สองสิ่งนี้หากนำมาใช้ทำงานสอดประสานกัน… คิดดูสิครับว่าโลกเราจะไปได้ไกลแค่ไหน และสิ่งดีๆ จะเกิดได้มากแค่ไหน…

แต่กระนั้นก็ยังมีเรื่องละเอียดอ่อนให้มองต่ออีกหน่อย… แล้วการที่วิทยาศาสตร์ไล่เปิดโงความจริงในศาสนาจนหมดจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ ในใจลึกๆ ก็เห็นว่าคงไม่ดีนัก

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าคนหลายคนยอมทำ ยอมเชื่อในศาสนาและเรื่องพลังความดีก็เพราะเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์บางอย่าง ดังคำที่พระพุทธเจ้าเคยบอกว่าบัวในโลกนั้นมี 4 เหล่า ทำให้บางครั้งการจะดึงบัวเหล่าล่างๆ ให้เชื่อในบางสิ่งก็ต้องเอาสิ่งเหนือธรรมชาติกับเรื่องกุศโลบายมาดึงดูด ไม่เช่นนั้นคนคงไม่เชื่อและไม่ทำตาม

สมมติว่าวิทยาศาสตร์พิสูจน์เรื่องปาฏิหาริย์ทั้งหลายให้ประจักษ์ เช่น อภินิหารทั้งหลายขององค์ศาสดา ก็น่าคิดเหมือนกันว่าบัวเหล่าล่างๆ จะถือโอกาสเลิกเชื่อ หันไปทำทุกอย่างที่ตนต้องการไม่ว่าจะดีหรือชั่วหรือไม่

นี่แหละครับ มุมที่ล่อแหลม มุมที่บอบบาง… มุมที่เล่นกับความเชื่อของคน เพราะคนนั้นจะว่าซับซ้อนทางความคิดก็ได้ แต่จะว่ายังมือใหม่ในการควบคุมความคิด เหตุผลก็ได้เหมือนกัน… เป็นความซับซ้อนของระบบสังคม ระบบคน และระบบโลกจริงๆ ครับ

ผมประทับใจพอสมควรกับบทสรุปของเรื่องราว โดยเฉพาะการที่ศาสนจักรได้มอบสิ่งที่แลงดอนขอมานานมาให้เขาในที่สุด… เป็นบทสรุปที่ว่าศาสนาได้ญาติดีกับวิทยาศาสตร์แล้ว (ในเรื่องนะครับ) ถ้าโลกเราเป็นได้เช่นนั้นจริงๆ ก็คงดี

และชอบอีกอย่างที่แลงดอนพูด ตอนคาเมอร์เลโญถามว่า “คุณเชื่อในพระเจ้าไหม” แล้วแลงดอนก็ตอบตรงๆ ว่า “ผมคิดว่าผมไม่จำเป็นต้องเชื่อ” นั่นไม่ได้แปลว่าเขากำลังแสดงความไม่เคารพหรอกครับ แต่มันคือการแสดงความจริงใจและตรงไปตรงมาต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้า เชื่อก็ว่าเชื่อ ไม่ก็ว่าไม่ แต่ใจความที่นักวิทยาศาสตร์อย่างแลงดอนคิดก็คือ แม้เขาจะไม่เชื่อ แต่การกระทำของเขาก็ไม่ได้ค้านกับศาสนา… อย่างน้อยที่สุดเขาก็ไม่ได้ทำชั่ว ไม่ได้มือเปื้อนเลือดเท่าคนในเครื่องแบบบางคนด้วยซ้ำ

ความเชื่ออาจสำคัญ… แต่การกระทำต่างหากที่จะบอกว่าเรานั้นเชื่อในอะไรอย่างแท้จริง

และบทสรุปตอนท้าย เมื่อแลงดอนเปิดเผยความจริงในแผนของคาเมอร์เลโญให้เหล่าพระผู้ใหญ่ได้รับรู้ จนในที่สุดคนในวาติกันก็ได้ลงมือจับกุมคาเมอร์เลโญ ผมเห็นการวางตัวที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง… ถ้าเป็นในหนังบู๊ทั่วไป พระเอกย่อมต้องวิ่งไล่จับวายร้ายเรียบร้อยไปแล้ว แต่ในเรื่องแลงดอนกลับปล่อยให้เป็นเรื่องของศาสนจักร ก็เพราะเขารู้ตัวดีว่าตนเป็นคนนอก และคนที่เหมาะจะจัดการกับเรื่องศาสนจักร ก็หนีไม่พ้นคนของศาสนจักร

คนเรามีหน้าที่ขอบข่ายความรับผิดชอบเสมอ บางครั้งการข้ามเขต ไม่รู้จักพื้นที่ของตนกับคนอื่นก็เป็นชนวนแห่งปัญหาได้ง่ายๆ ดังนั้นแลงดอนจึงขอวางตัวอยู่ภายนอก คอยบอกแนะนำ นอกจากนั้นก็ต้องใช้ผู้มีวุฒิภาวะในเรื่องนั้นๆ รับช่วงต่อ นี่ก็คืออีกหนึ่งเรื่องบอบบางที่ต้องระวังเช่นกัน…

เนื้อในของหนังมีอะไรให้ชวนคิดตามเยอะครับ ผมถือว่าทำได้ไม่เลวทีเดียวในประเด็นชวนคิด แม้จะไม่ถึงกับชัดเจนมากๆ แต่ก็จุดชนวนปิดประเด็นได้ไม่เลว ส่วนตัวหนังก็อย่างที่บอกครับ ไม่เลว แต่ก็ไม่ได้สุดยอดอะไร ด้านการแสดงก็จัดว่าดีครับ Hanks ก็เป็นแลงดอนได้ดี แม้จะไม่เหมือนแลงดอนในนิยายโดยตรง แต่ก็เป็นแลงดอนในแบบของเขาเองได้อย่างน่าพอใจ ส่วน Ewan McGregor กับบทท่านคาเมอร์เลโญแพทริค แม็กเคนนา ก็ดูเหมาะสมกับบทดีครับ นิ่ง ดูมีปัญญา เหมือนในนิยายทีเดียว ในขณะที่ Ayelet Zurer ในบท วิตโตเรีย เวตร้า นางเอกของเรื่องก็เลือกมาได้ไม่เลว แต่บทบาทเธออาจจะน้อยไปนิด และรัศมีของเธอเหมือนจะยังสู้กับ Hanks ไม่ได้ อันนี้ก็ผิดคาดเหมือนกันครับ เพราะในนิยายมันรู้สึกเลยนะว่าวิตโตเรียเนี่ย เท่ห์ และฉลาด จนไม่น่าแปลกใจที่ตามเรื่องในนิยาย แลงดอนจะเกิดประทับใจและชอบขึ้นมา

Stellan Skarsgard ที่ตอนแรกผมนึกว่าแกจะมาเล่นเป็นโคห์เลอร์ ก็มาแสดงเป็น ผู้การริชเตอร์ ผู้ดูแลด้านความปลอดภัยในคริสตจักรแทน ขานี้ก็เนียนดี เล่นดีตามสไตล์ และ Armin Mueller-Stahl ดาราลายครามในบทคาร์ดินัลสเตราส์ก็เล่นได้ไว้ลาย น่าพอใจอีกเช่นกัน

Ron Howard ผู้กำกับหนังที่หลังๆ เริ่มทำหนังได้เข้าที่ แต่อาจจะยังไม่เข้าฝักเต็มร้อยก็ยังคุมหนังได้ไม่เลวครับ แต่ลีลาการเล่าเรื่องยังไม่เด่น จะว่าไปดูหนังแกมานานยังไม่ค่อยจะเห็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของแกสักเท่าไร เหมือนแกทำหนังให้เป็นหนังได้ คุมอารมณ์และเรื่องราวให้เป็นไปตามบทภาพยนตร์ได้ แต่ยังขาดลายเซ็นต์ครับ ความเด่นในหนังจึงยังไม่มากเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยก็ดูได้ไม่ผิดหวัง

สรุปเลยนะครับ ว่า หนังไม่เลว สนุกดี และมีสาระให้คิดกำลังเหมาะ เป็นตัวต่อยอดจากภาคที่แล้วได้อย่างน่าพอใจ แม้จะไม่สุดยอดก็เถอะ

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)