รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

A Christmas Carol (1999) อัศจรรย์วันคริสต์มาส

91C+7BM9TnL._RI_

การแนะนำหนังวันคริสต์มาสของผมยังดำเนินต่อไปล่ะนะครับ ไม่สนแล้วล่ะว่ามันจะทันหรือไม่ เพราะพอมานั่งนึกก็พบว่าหนังวันคริสต์มาสนี่เยอะเอาเรื่องอยู่ แต่ไอ้เยอะน่ะไม่เท่าไหร่ ผมดันเคยตามไปดูซะเยอะด้วยนี่ซี่ เลยไม่รู้จะจับอันไหนมาว่าก่อนดี นี่ต้องนั่งทำใจเรียงอยู่ตั้งนานแน่ะ

สำหรับหนังที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้นะครับเป็นหนังทีวี ที่ทางช่อง Hallmark ทำออกมาฉายในช่วงคริสต์มาสปี 1999 ซึ่งก็แน่นอนครับว่าหนังต้องเกี่ยวกับวันคริสต์มาสน่ะแหละ และไม่ใช่เกี่ยวธรรมดาครับ เพราะมันสร้างจากนิยายคลาสสิคมากเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คือนิยายชื่อ A Christmas Carol ของ Charles Dickens โอ้ อันนี้ดังมากนะครับ ขึ้นชื่อว่าคลาสสิคแล้วยังถูกนำมาสร้างเป็นหนังบ้าง ละครบ้าง หนังทีวีหรือละครเวที คือสร้างกันเวียนไปมาหลายครั้งเหลือเกินครับ

แล้วอยากจะบอกว่าที่เขาฮิตสร้างเวียนไปมานี่ไม่ใช่เพราะมุขตันหรือเพราะอะไรหรอกครับ แต่ที่เขาทำกันออกมาบ่อยๆ ก็เพื่อเตือนสติให้คนระลึกถึงความสวยงามของชีวิตน่ะครับ … พูดแบบนี้อาจไม่เห็นภาพ ต้องเล่าเนื้อเรื่องซะหน่อย

หนังเล่าถึงนายอีบีเนเซอร์ สครูจ (Patrick Stewart) เศรษฐีเฒ่าที่ขี้งกครับ เห็นแก่เงินอย่างเดียว ไม่เห็นแก่หน้าใคร เป็นทั้งพ่อค้าหน้าเลือดและคนใจดำ ไม่มีน้ำใจให้ใคร มีแต่เรื่องเงินทองและผลประโยชน์ในหัว สิ่งที่เขาทำแต่ละวันก็คือทำงานหาเงินๆๆๆ โดยไม่สนว่าจะมีใครต้องทุกข์เพราะเขาหรือไม่ แล้วพอหมดวันก็มานั่งตามลำพังในคฤหาสน์หลังโต …

ไม่รู้สิครับ แค่คิดถึงตรงนี้ผมก็รู้สึกเลยล่ะว่าพี่ท่านอ้างว้างแค่ไหน มีเงินมีทอง แต่อยู่คนเดียวลำพังอ้ะ โปรดสังเกตนะครับผมไม่ได้ใช้คำว่าแกไร้ความสุขเลย คือผมว่าแกมีครับ ความสุขทางวัตถุน่ะ มีเงินทองมีข้าวของเครื่องใช้ครบถ้วน มีบ้านอยู่ สบายจะตาย ดีกว่าคนไร้บ้านหรือยากจนที่ต้องนอนหนาวข้างถนนเป็นกองสองกอง

… แต่นั่นคือความสุขที่แท้จริงแน่หรือ?

ผมทิ้งคำถามไว้ตรงนั้นนะครับ ขอเล่าเรื่องราวต่อ แล้วในคืนก่อนวันคริสต์มาสนั้นเองครับ จู่ๆ เขาก็ต้องเจอกับเรื่องประหลาด เมื่อมีวิญญาณของนายเก่าเขามาเยี่ยมเยือน แล้วก็บอกว่าให้พินิจพิจารณาชีวิตเขาให้ดี เพราะเจ้านายเก่าของเขานี่ก็มีชีวิตเหมือนเขาเลยครับ หาแต่เงิน ไม่สนใคร หน้าเลือดไปวันๆ ถือแต่เตารีดกับคันไถ (ก็รีดไถน่ะแหละครับ) จนพอตายไปก็ตายอย่างโดดเดี่ยว แล้วยังมีห่วงติดตัวอีก (เพราะไม่รู้จักปล่อยวางไงครับ หมกมุ่นในทรัพย์สินแม้ตายไปแล้วก็เถอะ) เขาเลยมาเตือนสครูจว่า ถ้าไม่อยากเป็นอย่างเขา ให้ลองพิจารณาชีวิตดู เพราะจากนี้ไปจะมีวิญญาณ 3 ตัวมาหาสครูจ เพื่อพาสครูจไปยังอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้เขาได้รู้ว่าหากเขายังดำเนินชีวิตในเส้นทางนี้ต่อไป สุดท้ายเขาจะลงเอยอย่างไร

… ผมเชื่อว่าต่อให้ท่านไม่เคยดูก็ต้องคุ้นกับเนื้อเรื่องแบบนี้นะครับ ประเภทที่ตัวเอกเห็นแก่ตัวมีวิญญาณมาพาเขาย้อนไปในอดีต ดูปัจจุบันแล้วก็ดูอนาคต ซึ่งก็อยากจะบอกว่ามันมีต้นกำเนิดมาจากเรื่องนี้นี่แหละครับ

a-christmas-carol-still
ดังกล่าวไปแล้วนะครับว่า A Christmas Carol นี่มีการสร้างหลายหนมาก ผมก็ตามดูไม่หมดหรอกครับ แต่ใจจริงอยากดูทุกเวอร์ชั่นนะ จะได้ตามหาว่าอันไหนดีที่สุด … ทว่านะครับ ทว่า เท่าที่ผมดูมา แม้จะไม่กี่แบบก็เถอะ แต่ยังไง๊ยังไง หนังที่สร้างจากนิยาย A Christmas Carol ก็มักจะทำให้ผมรู้สึกดีได้เสมอ

กล่าวคือมันมีแง่คิดติดปลายนวมทุกทีซิเอ้า

เรามาว่ากันที่เนื้อหาก่อนเลยนะครับ คือผมอยากเล่าน่ะ กลัวสปอยล์ก็หนีไปครับ แต่มันก็เป็นสาระดีๆ นะที่ผมจะพูดเนี่ย แล้วผมไม่ได้เล่าหมดด้วย แค่เล่าคอนเซปต์นะครับ

จุดเด่นของ A Christmas Carol เนี่ย ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นไหน ไฮไลท์มันจะไปอยู่ตรงที่การที่ตัวเอกถูกนำพาไปตามกาลเวลาต่างๆ ครับ เพื่อให้ตัวเอกได้ระลึกถึงวันเก่าๆ แต่ไม่ใช่แค่พาไปเห็นภาพแล้วกลับเท่านั้นนะครับ หากท่านดูดีๆ จะพบว่าภาพและเหตุการณ์ที่ท่านดูอยู่นั้น มีผลและมีความหมายต่อการที่ตัวเอกกลายมาเป็นอย่างที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสครูจเห็นอะไรตอนเด็กบ้างอันนี้ไปดูเองนะครับ

แต่สำหรับการมองย้อนอดีตนี้ ว่าตามจริงเลยครับ เราไม่ต้องรอให้มีผีมาพาเราย้อนไปดูหรอก เราเองก็ย้อนได้ ในกรณีสครูจนี่เขาเรียกว่าเกินเยียวยาครับ คือถ้าไม่เอาผีมาพี่แกก็ไม่สำนึกน่ะว่างั้นเถอะ แต่พวกเราๆ นี่ลองได้ครับ ลองนึกดูถึงตอนเรายังเด็ก ตอนเราไร้เดียงสาอยู่ … ผมเชื่อว่าหลายๆ คนอาจใช้คำว่า “โง่” นะ ประมาณว่าตอนเราเด็ก นี่เราโง่และไม่รู้เรื่องอะไรมากเพียงใด ซึ่ง … ไม่รู้สิครับ ท่านจะเรียกโง่ก็ไม่ผิด แต่ผมว่าไร้เดียงสาน่ะเหมาะดีครับ คือผมไม่อยากจะให้มองว่ามันโง่หรืออะไรอ้ะ บอกตามตรงนะครับ ตอนโตมาเนี่ย ผมยังอดคิดถึงชีวิตตอนเด็กไมได้นะ คือมันสบายน่ะครับ เรียนๆ เล่นๆ ตอนนั้นเรามักคิดว่า โอ้ ทำไมมันเหนื่อยอย่างนี้ว้า เรียนก็น่าเบื่อ ยังต้องมานอนเร็วๆ อีก เราอาจบ่นอะไรมากมาย อยากเป็นผู้ใหญ่เหลือเกินครับ เพราะเราเห็นกับตาอ้ะว่าผู้ใหญ่ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องนั่งโดนครูตีเหมือนเรา สบายจะตายไป …

นั่นคือความคิดตอนเด็กครับ เชื่อเถอะ ส่วนใหญ่ก็คิดประมาณนี้ทุกคน แต่พอโตขึ้นแล้วท่านก็จะทราบครับว่าความมันส์มีจริง ไอ้ที่ผู้ใหญ่เดินไปเดินมาไม่ต้องไปโรงเรียนนั่น มันไม่ใช่ความสบายเลยครับ เขากำลังหาเงินหาทองมาใช้ เหนื่อยยากกับงานแบบต่างๆ แล้วก็ต้องเสี่ยงลองถูกลองผิดในการหาเลี้ยงชีพ เพราะไม่มีใครบอกว่าเขาควรทำอาชีพไหนแล้วจะรุ่ง ต่อให้หมอลักษณ์ฟันธงด้วยครับ ก้ไม่สามารถบอกได้ตรงๆ เป๊ะหรอกว่า อ้า คุณต้องทำงานนีเริ่มต้นในวันที่เท่านี้เดือนนี้จะมีคนหน้าตาแบบนี้มาหาคุณ แล้วจากนั้นคุณต้องพูดอย่างนี้อะไร โอย มันไม่มีหรอก มันแตกต่างจากในห้องเรียนเลยครับ เราไม่เข้าใจอะไรถามครูได้ ให้พอ่แม่ช่วยได้ แต่พอโตขึ้นเท่านั้นล่ะคุณเอ้ย ถามหมดทั้งบ้านบางทีก็ยังไม่ได้คำตอบของปัญหาเล้ย

จริงๆ ประเด็นนี้มองได้หลายแง่ดีนะครับ การย้อนอดีตเนี่ย เราทำเองได้ เราจะลองมองย้อนดูความไร้เดียงสาของเรา หรือการที่ว่าทำไมเรานั้นจึงมาเป็นผู้ใหญ่แบบนี้ในตอนนี้ ได้รู้ว่อาะไรคือแรงดลใจ แรงผลักดัน หรือแรงฮึดที่ทำให้เราโตมาแบบนี้ ที่ผมบอกนี่ไม่ใช่ให้ย้อนเพื่อเอามาตอกย้ำนะครับ อย่างบางท่านพอย้อนอดีตปุ๊บก็ “โอ้ … ตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ เราลำบากเหลือเกิน เรามันบริหารงานพลาดเอง” เวรล่ะครับ ถ้าคิดแบบนั้นก็อิ๊บอ๋ายแล้วล่ะ คืออยากให้มองในแบบที่ ผิดเป็นครูมากกว่า เราเคยทำอะไรพลาด มองมันแล้วก็คิดถึงมันดีๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ให้พลาดอีก ให้มันสอนเราครับ จริงๆ อดีตของทุกคนมันสามารถสอนตัวเองได้อยู่แล้วล่ะนะครับ บางทีเราแทบจะไม่ต้องไปหาหนังสือประวัติคนอื่นมาอ่านเลย เอาแค่ตัวเราเองนี่แหละครับ รู้จักตัวเองให้ดีก่อน แล้วค่อยไปเสริมจากประวัติคนอื่น แบบนั้นจะได้รู้จักประยุกต์ครับ ลองว่ารู้จักตัวเองดีๆ แล้วรู้ทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง ไม่ต้องทั้งหมดก็ได้ครับ แค่ในระดับหนึ่ง แล้วก็เอามาสรุปในตัวเรา ก่อนจะไปหาประวัติคนสู้ชีวิตคนอื่นๆ มาอ่านเพิ่ม แล้วก็จัดการรวบเอาส่วนที่น่าสนใจหรือเหมาะสมกับความเป็นตัวเองของเรามาประยุกต์ใช้ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นคนใหม่ ที่เข้มแข็งกว่าวันก่อน

… อืมม์ นี่ผมร่ายไปไกลจาก A Christmas Carol มากทีเดียวนะครับเนี่ย (รู้ตัวอีกที เห็นฝั่งอยู่ลิบๆ แล้ว … ผมอยู่ไหนแล้วเนี่ย )

แต่ก็นั่นแหละครับ ดูแล้วคิดได้ ผมไม่ได้บอกว่าหนังมันสื่ออย่างไรนะครับ แค่บอกว่าดูแล้วมันปิ๊งให้คิดเรื่องนี้ขึ้นมาเท่านั้นเอง ไอ้เรื่องหนังสื่อนั่นเราจะว่ากันอีกทีครับ แต่ก็นั่นแหละที่ผมได้จากเรื่องส่วนของผีที่พาไปดูอดีตนะครับ

ซึ่งในเนื้อเรื่องส่วนอดีดตนี้มันก็มีอะไรให้คิดตามเยอะล่ะครับ อย่างตัวสครูจเองตอนเป็นเด็ก เขาก็เป็นเด็กดีเอื้อเฟื้อโอบอ้อมและมีความรักดวยนะครับ ได้พบสาวสวยน่ารักที่เขาควรจะใช้ชีวิตไปด้วยกันอย่างมีความสุข แต่เขากลับเลือกทางสู่ความร่ำรวยและความสำเร็จครับ เขาตัดสินใจไปจากเธอ เพื่ออนาคตที่มั่งคั่ง

… เอาแค่มุมนี้ผมว่าเราก้มีความคิดแตกได้หลายหลากแล้วล่ะครับ บางคนเห็นด้วย บางคนไม่เห็นด้วย บางคนเลือกเงิน บางคนเลือกความรัก … เรื่องนี้บอกตามตรง พูดลำบากนะครับ เพราะ .. แน่นอน ถ้าเราพูดกันแบบหนังน้ำเน่าหรือแบบพระเอกๆ เราก็ต้องบอกว่า สครูจทำไม่ถูกเลย ทำไมถึงไม่เลือกผู้หญิงที่ดีๆ ทำไมไม่มีชีวิตอันเป็นสุข แม้จะยากจนก็ไม่เป็นไรนี่ อย่างน้อยก็มีคู่ชีวิตที่ดีๆ คอยเกาะกุมมือไปจนแก่เฒ่า … ซึ่งผมก็คิดแบบนั้นนะว่าตามจริง

แต่ผมก็เข้าใจครับ หากท่านจะมองในอีกแง่หนึ่ง เพราะผมเชื่อว่าคนเรามีความต้องการที่ต่างกัน บางคนต้องการความรักมากกว่า บางคนต้องการความมั่นคงในชีวิตมากกว่า บางคนต้องการทั้งสองอย่าง และบางคนก็ไม่ต้องการอะไรเลย … คนแต่ละคนมีแผนที่ชีวิตแต่ละแบบครับ ถ้าไม่แตกต่างกัน ป่านนี้คนทั้งโลกคงมีชีวิตที่เป็นแพทเทิร์นเดียวกันเหมือนพวกแมลงไปแล้วล่ะครับ

ผมก็ไม่มาชี้ถูกชี้ผิดหรอกครับ เพราะแต่ละคนมีคำจำกัดความของ “ความสุข” ไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องแล้วแต่ท่านล่ะนะครับ

แต่ถ้าผมมองล่ะก็ ก็ต้องว่าไปตามนั้นน่ะครับ การเลือกของสครูจถ้าจะบอกว่าเขาเลือกผิดก็ไม่ใช่หรอกครับ เพราะเขาก็สำเร็จนี่จริงมั้ย มีเงินมีมองมากมายจะตาย … แต่เขาก็ต้องอยู่อย่างเดียวดายเป็นการแลกเปลี่ยน … มันเป็นความสุขที่จริงแท้หรือไม่

ในความจริงเรื่องพวกนี้มันก็มีข้อพิสูจน์แล้วล่ะนะครับ ว่าเงินไม่ใช่คำตอบของทุกอย่างหรอก ไม่งั้นคนที่รวยพันล้านก็ต้องไร้ทุกข์สิครับ แต่ก็เปล่า ปรากฎว่ามันก็ยังมีทุกข์ตามมาอีกไม่ต่างจากคนจนทั่วๆ ไป ต่างกันแค่เนื้อหาของความทุกข์เท่านั้น แต่มันก็เข้าข่าย “ทุกข์” เหมือนกันน่ะแหละ

สุขแท้ สุขเทียม สุขจริง สุขปลอม … ลองคิดกันเล่นๆ แล้วกันนะครับ

แต่พอพูดถึงตรงนี้ ก็มีจุดหนึ่งที่ผมชอบในหนังที่สื่อออกมาได้ดี นั่นคือตัวเจ้านายเก่าของสครูจที่มาเยี่ยม ที่ปเนผีน่ะนะคัรบ แกมาเยี่ยมพร้อมทั้งมีโซ่ตรวนพันตูอยู่ อันนี้มันตีได้หลายอย่างดี บางคนอาจมองว่ามันเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งจากนรก พวกแบกของหนักน่ะนะครับ แต่ถ้ามองอีกอย่างหนึ่งว่าเจ้านายเก่าคนนี้ยังยึดติด ยังไม่คลายจากความงก ยังไม่หมดห่วงน่ะครับ เลยมีโซ่ตรวนรัดเต็ม มองในแบบนี้ก็ได้เหมือนกัน

… ผมเชื่อแล้วล่ะว่านิยายเรื่องนี้คลาสสิค … ก็คิดดูครับ แค่ช่วงแรก แค่เรื่องผีจากอดีตเนี่ยผมก็เอามาเขียนได้เป็นวรรคเป็นเวรขนาดเนี้ย คือมันปลูกฝังสาระๆ ดีไว้เยอะมากนะครับ มีแง่มุมน่าคิดเพียบ แล้วนี่ยังมีผีจากปัจจุบัน ผีจากอนาคตอีกด้วยนะ เห็นทีต้องต่อพรุ่งนี้ครับ ไว้ผมอัพต่อนะครับ ดาวยังไม่ให้ด้วย 555

(ส่วนอัพต่อนะครับ)

อ้ะ กลับมาแล้วครับ เมื่อวานไปยาวเลยไม่ได้กลับมาอัพ อัพซะวันนี้เลยนะครับ

ครับ มันตรึงใจดีนะ แล้วมันก็มีอะไรให้คิดเยอะทีเดียวสำหรับเรื่องราวของ Christmas Carol ผมก็ร่ายถึงเรื่องของวิญญาณในอดีตไปแล้วน่ะนะครับ ซึ่งผมก็เน้นย้ำไปว่า คนเราไม่ต้องรอให้วิญญาณจากอดีตมาเตือนหรอกว่าท่านลืมสิ่งมีค่าจริงๆ ในชีวิตไปหรือเปล่า หรือทม่านกำลังมัวเมากับอะไรมากไปหรือเปล่า นั่นก็สุดแท้แต่นะครับ แค่ลองชี้ชวนให้คิดเท่านั้นเอง

แล้วเราก็มาต่อกันครับ มาที่วิญญาณแห่งปัจจุบัน อ้า บางท่านอาจงง อ้าว ก็ในเมื่อมีวิญญาณอดีตไปย้อนรอยชีวิตตัวคุณสครูจให้ดูแล้วเนี่ย แล้วปัจจุบันจะมาดูอะไรอีก ดูว่าคุณสครูจทุกวันนี้ปเนยังไงน่ะเหรอ … ก็เปล่าครับ วิญญาณปัจจุบันไม่ได้พาคุณสครูจมาดูชีวิตตัวเอง แต่เขาพาไปดูชีวิตของคนรอบข้างตัวเขา ซึ่งในเรื่องก็จะทราบดีครับว่าสครูจไม่สนใจใคร คือเห็นแก่ตัวน่ะแหละครับว่างั้นเถอะ

ในส่วนของเนื้อเรื่องก็จะมีการนำพาคนดูให้ไปรู้จักกับตัวละครหลักสองคนที่อยู่ข้างตัวคุณสครูจมาตลอด รายแรกคือ คุณบ็อบ แครทชิท (Richard E. Grant) ลูกจ้างในสำนักงานของสครูจที่ทำงานให้นายจ้างและหวังดีต่อนายจ้างทุกอย่าง แต่ก็อย่างที่ท่านเดาได้ครับ คุณสครูจแกไม่ได้คิดแม้แต่จะชายตามองด้วยซ้ำไป แล้วยังโดนใช้งานแบบหนักด้วยนะครับ คิดดูวันคริสต์มาสเขาหยุดกันแต่คุณสครูจไม่สน บอกว่าแครทชิทต้องมาทำ ไม่งั้นก็ไม่ต้องมาทำงานอีกเลย

ตัวละครคุณแครทชิทเนี่ยนะครับ คือแทบทุกเวอร์ชั่นของ A Christmas Carol มักเป็นคนที่ผมต้องจับตามองเสมอ เพราะเขาสุดยอดครับ เป็นคนดีแบบไม่ฝังในด้วยนะ คือมีความจริงใจและรักครอบครัวแบบเปิดเผย คือถ้าเราดูๆ แล้วมันอาจดูเหมือนเป็นตัวละครในฝันมากเกินไป แต่ผมเชื่อครับว่าคนลักษณะนี้มีอยู่จริง

อกจุดหนึ่งที่น่าสนก็แทบจะต่อเนื่องมาจากประเด็นในอดีตของคุณสครูจนั่นแหละครับ คือในขณะที่สครูจเลือกทิ้งชีวิตรักที่น่าจะมีความสุขมาสู่การทำงานจนมีวันนี้ แต่คุณแครทชิทเขากลับแทบจะตรงกันข้าม คือเขามีครอบครัวที่น่ารัก มีภรรยาที่ดี มีลกหลายคน ซึ่งแม้เขาจะยากจน แต่เขาไม่เคยต้องอยู่ลำพัง เขามีลูกที่ดี (เพราะเขาสอนดีไงครับ ไม่ให้ไปโกงใครหรือเอาเปรียบใคร และไม่ให้กล่าวร้ายใคร ขนาดนายจ้างที่ว่าร้ายกาจอย่างคุณสครูจ คุณพี่แครทชิทเองยังปกป้องเลยครับ แกปกป้องไม่ใช่เพราะสครูจจ้างแกเท่านั้นนะฮะ แต่แกปกป้องเพราะเขาเห็นว่าสครูจเนี่ย แท้จริงแล้วน่าสงสารเพียงไหน มีเงินมากมายแต่ก็ไม่มีความอบอุ่นเลย อยู่ด้วยความหวาดระแวงกลัวทรัพย์สินจะร่อยหรอ ไม่มีใครเป็นที่ปรึกษาหรือแม้แต่ให้กำลังใจ … การอยู่แบบนั้นท่านว่าน่าสงสารหรือเปล่าล่ะครับ

ในขณะที่คุณแครทชิทแม้จะยากจน แต่ก็มีครอบครัวให้กำลังใจ … ท่านว่าแบบไหนดีกว่ากัน

จริงๆ งานเขียนของ Dickens ชิ้นนี้ก็สามารถตีความได้หลายหลากนะครับ เขาไม่ได้เขียนผูกแค่เนื้อเรื่องให้คนดูอ่านเท่านั้น แต่เขามีการวิพากษ์สภาพสังคม การเมือง เรื่องเศรษฐกิจ พวกระบบทุนนิยมหรืออาจจะอะไรแบบนั้นด้วย

คำถามง่ายๆ ครับว่า เงิน ทำให้คนสุขจริงหรือ?

พอลองมองตรงนี้ ถ้าว่าอย่างแฟร์ๆ นะครับ ถ้าเราไม่มีเงินก็คงจะทุกข์เหมือนกันแหละ เพราะมันต้องกินต้องใช้ ที่ผมเขียนๆๆๆ มานี่ไม่ใช่ว่าจะให้ทุกคนลืมเรื่องเงินซะ เพราะว่าตามจริงมันก็ทำไม่ได้หรอกครับ เพียงแต่หากเรามองอย่างกลางๆ ก็น่าจะลองคิดถึงว่า เอ แล้วจะทำยังไง มีเงินอย่างเดียวก็ไม่ใช่สุข หรือจะมีแต่ครอบครัวที่ดีแต่ไม่มีเงินยาไส้มันก็อาจจะทุกข์ได้ เอ แล้วยังไง ทำยังไงๆ

ก็ไม่ยากครับ สองคำ พอเพียง

ผมรู้ครับ คำนี้เจอบ่อยมาก แต่ผมว่าชัดเจนที่สุดแล้วนะ คือเราไม่จำเป็นต้องสุดโต่งต่อต้านระบบเงินในโลกหรอก และขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่เป็นทาสมันอย่างมัวเมาด้วย ถ้าเช่นนั้นก็ใช้เพียงสองคำครับ พอเพียง เท่านั้นเอง คือมีแต่พอดี หาเงินก็หาไป แต่อย่าลืมที่จะแบ่งสรรแบ่งเวลาให้คนที่คุณรักนะครับ เหมือนกับเป็นการจัดระเบียบชีวิตน่ะ อย่าเพิ่งบอกว่าท่านทำไม่ได้ครับ ลองก่อน ทำเท่าที่จะทำได้ เพราะมีคนอีกมากมายทำได้ครับ ทำงานทำเงินยุ่งยากวุ่นวาย แตก่ยับงมีเวลาจัดสรรมาให้ความอบอุ่นกับครอบครัวได้ มันก็มีอยู่

แต่ขอความกรุณาครับ เอาชีวิตคนอื่นมาเป็น “ตัวแบบ” พอ อย่าเอามาเป็น “ตัวเปรียบ”

การเอาชีวิตคนอื่นมาเป็นตัวแบบคือลองดำเนินรอยตามครับ อย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็นั่นไงครับ เดินตามรอยพ่อหลวง ลองทำอย่างพอเพียงเท่าที่เราสามารถ ไม่ใช่จะต้องให้เราทำได้เทียบเท่าคนอื่น เช่นคนอื่นมีเวลาให้ครอบครัวตั้ง 50% มีเวลางาน 50% เราก็ต้องทำให้ได้ หากเราให้ครอบครัวได้น้อยกว่านั้นแสดงว่าไม่ดี นั่นก็ไม่ใช่อ้ะครับ เพราะทุกชีวิต ทุกครอบครัวย่อมีหนทางและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จะเอามาเปรียบว่าต้องได้เท่าเขาจะจะเรียกว่าประสบความสำเร็จน่ะมันไม่ถูกต้องหรอกครับ พาลจะเหนื่อยเอาด้วยจะบอกให้เลย

รับ นั่นคือเรื่องราวของตัวละครที่ชื่อคุณแครทชิท ยังมีอีกตัวหนึ่งนะครับนั่นก็คือ เฟรด (Dominic West) หลานชายของคุณสครูจ ซึ่งพี่คนนี้ตรงข้ามกับลุงอย่างเต็มที่เลยฮะ เพราะลุงงก แต่เฟรดใจบุญ ลุงชอบอารมณ์เสีย แต่เฟรดอารมณ์ดี อันนี้ก็มองความต่างของการดำเนินชีวิตได้ง่ายๆ เลยครับ เหมือนสครูจจะให้ชีวิตแบบตึงเต็มที่ ไม่มีหย่อนหรือผ่อนคลายซะบ้าง ในขณะที่เฟรดมีชีวิตที่สบาย ไม่คิดมาก แล้วยังเอื้อเฟื้อจริงใจ ก็มีคนรักใคร่มากมาย

เรื่องของเฟรดก็คงไม่ต้องสาธยายมากล่ะนะครับ เพราะมันก็เหมือนการตอกย้ำให้สครูจได้เห็นว่า ชีวิตเขานั้น อ้างว้างแค่ไหน

และนั่นคือเรื่องวิญญาณในปัจจุบันครับ พาสครูจไปพบเจอวิถีชีวิตของคนรอบตัวงเขา ที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณแครทชิทมีลูกกี่คน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหลานมีชีวิตแบบไหน

อย่าลืมใส่ใจคนรอบข้างนะครับ

แล้วเราก็มาถึงวิญญาณตัวสุดท้ายนะครับ วิญญาณจากอนาคต ซึ่งก็จะมาบอกให้คุณสครูจรู้ว่า เมื่อเขาตายไปแล้ว เขาจะเหลืออะไรบ้าง ซึ่งท่านคงพอคาดเดาได้ใช่มั้ยครับ ว่าเขาไม่เหลืออะไรเลย เงินทั้งหมดที่มีก็เอาไปไม่ได้ มีคนมาร่วมงานศพแค่ไม่กี่ราย และด้วยความร้ายกาจที่เขาทำไว้ เมื่อตายไป ชื่อเสียงที่มีก็กลายเป็นชื่อเสียไปจนสิ้น

ก็เข้าข่ายกรรมใครทำก็ได้รับสนองนั่นล่ะครับ

แล้วเนื้อรื่องต่อจากนี้ก็จบลงอย่างมีความสุขครับ คุณสครูจคิดได้ แล้วเขาก็เปลี่ยนกลายเป็นคนใหม่ กลายเป็นคนมีน้ำใจซึ่งนั่นส่งผลให้เขาได้พบกับชีวิตรูปแบบใหม่ที่เขาเองก็ไม่เคยนึกฝันว่ามันจะทำให้เขามีรอยยิ้มได้ขนาดนี้

… นั่นล่ะครับ หนังเรื่องหนึ่ง ผมก็ร่ายซะเยอะเลยนะครับ แต่มันมีอะไรให้พูดถึงจริงๆ ในเรื่องของแนวคิดและสาระ ซึ่งอันนี้ขอชมท่าน Charles Dickens ครับ มีความเยี่ยมและอมตะมากจริงๆ ในขณะที่ฉบับหนังนี้ ผมว่าก็ออกมาดีครับ แต่ด้วยความที่โปรดักชั่นมันเป็นหนัง TV เลยไม่ได้ยิ่งใหญ่นัก มันเลยดูเป็นฉากซะโดยมาก ส่วนเนื้อเรื่องมันก็ดีครับ เพียงแต่ความซาบซึ้งอิ่มเอมอาจจะไม่มากมาย โดยเฉพาะในช่วงวิญญาณอนาคตเห็นมั้ยครับผมอธิบายสั้นมาก เพราะช่วงนั้นหนังยังบีบคั้นได้ไม่เต็มที่ และหนังโดยรวมก็ถือว่าออกมาในระดับดีครับ แต่ไม่ได้สุดยอดเรียกน้ำตาได้อย่างชะงัดอย่างที่คาดหวังไว้

แต่ด้านนักแสดงนั้นไว้ใจได้ครับ Patrick Stewart อดีตกัปตันพิคาร์ดแห่ง Star Trek นั้นก็ออกมาดูเป็นคนใจร้ายได้ดี แต่ตอนอารมณ์ดีนี่อีกเรื่องเลยล่ะครับ แต่คนที่เด่นกว่าต้องยกให้ Richard E. Grant ในบทคุณแครทชิทและ Dominic West ในบทเฟรด หลานชายของสครูจที่สองคนแสดงได้อย่างสุดยอดครับ ตีบทแตกกระจุย แววตาท่าทาง คือไม่ใช่คนดีแบบไร้มิตินะครับ เป็นคนดีแบบมีอารมณ์ความรู้สึก มีความเศร้าและความโอบอ้อมเจือจางอยู่ในดวงตาตลอด ก็เลยบอกได้เต็มปากครับว่าถ้าขาดสองคนนี้ไปหนังคงไม่น่าจดจำขนาดนี้หรอก

ถือเป็น A Christmas Carol ฉบับที่ทำได้ดีครับ แต่ดีที่สุดมั้ยอันนี้ไม่ทราบจริงๆ เพราะผมยังตามดูหนังที่สร้างจากงานชิ้นนี้ไม่ครบเลยครับ (ชิ้นแรกที่สร้างกันมาคือปี 1901 อ้ะจ้า จะไปหาจากหนาย ) แต่ก็เป็นงานอีกชิ้นที่ดูแล้วอบอุ่นใจครับ

ก็ลองดูนะครับ ผมอยากให้ท่านลองหาหนังที่สร้างจากงาน A Christmas Carol มาดูซักครั้งหนึ่งครับ มันต้องให้อะไรกับท่านแน่ๆ หรือไม่ก็อ่านหนังสือครับ อรรถรสและความยอดเยี่ยมจะได้แบบเต็มๆ

สองดาวครึ่งสำหรับหนังนะครับ

Star22

(7.5/10)

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.