ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Oscar)

Moonlight (2016) มูนไลท์ ใต้แสงจันทร์ ทุกคนฝันถึงความรัก

18157542_1606427932721335_381479822146837696_n

“เราไม่ควรโทษสิ่งอื่นรอบตัวว่าสิ่งนั้นทำให้เราเป็นแบบนี้หรือสิ่งนี้ทำให้เราเป็นแบบนั้น แต่เราควรหันมารับผิดชอบตนเอง และเลือกที่จะกำหนดชีวิตให้เป็นไปตามที่เราต้องการ” นี่คือหนึ่งในวาทกรรมที่มีพูดกันแพร่หลายในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในแง่หนึ่งนี่เป็นคำกล่าวที่ดีครับ มันสอนให้เราเลิกเอาแต่โทษว่าที่ชีวิตเราแย่ๆๆ มันเป็นเพราะคนนั้น เพราะเหตุการณ์วันนั้น เพราะรัฐบาลชุดนั้น ฯลฯ เพราะจริงๆ การเอาแต่กล่าวโทษ “วันวาน” มันไม่ได้ทำให้วันนี้ดีขึ้นหรอก

ถ้าอยากให้วันนี้หรือพรุ่งนี้ดีขึ้นกว่าวันวาน เราก็ต้องทำอะไรก็ได้ที่จะส่งเสริมให้ชีวิตเราดีขึ้น ถ้าอยากมีเงินก็หาเงิน อยากมีงานก็หางาน อยากแข็งแรงก็ออกกำลัง อยากพัฒนาตนก็อ่านหนังสือ+เรียนเพิ่ม+หาประสบการณ์

การหันมารับผิดชอบชีวิตตน ถือเป็นการฝึกคุมหางเสือชีวิตเรา ลองว่าเรารับผิดชอบได้และคุมหางเสือชีวิตได้ แม้วันหน้าจะเจอคนไม่ดีมาทำร้าย แม้จะเจอมรสุมโหมกระหน่ำจนแทบกระอัก แต่อย่างน้อยหากเรามีความตระหนักถึง “การเป็นเจ้านายของชีวิตตน”เราก็จะสามารถบริหารจัดการทุกสิ่งที่เรามีในมือ ใช้ในการต่อสู้กับปัญหา และช่วยให้เราผ่านมรสุมต่างๆ ไปได้ั

ในมุมหนึ่ง วาทกรรมดังกล่าวมีไว้เพื่อให้เรารู้จักที่จะดำรงสติของตนเอาไว้ ไม่ปล่อยให้จิตอาละวาดฟาดงวงฟาดงา ไปเสียเวลากับการโทษสิ่งรอบตัว (เอาพลังที่ว่าไปเปลี่ยนชีวิตย่อมดีกว่ากันเยอะ)

แต่หากมองกันอีกมุม วาทกรรมที่ว่าก็กลายเป็นเหมือนเครื่องมือชั้นดีในการ “ปัดความรับผิดชอบอย่างชอบธรรม” ของคนอีกจำนวนหนึ่งในสังคมของเรา

อย่างคนบางคนเป็นโจรเพราะโดนเจ้าหนี้ทั้งบีบ ทั้งขู่ ทั้งรุมซ้อม ทั้งขวางการทำมาหากิน เลยลงมือปล้นทำร้ายคนอื่นเพื่อหาเงินมา หรือไม่ก็ลงมือโกงลูกค้าตน เพื่อเอาเงินมาส่งดอกปลดหนี้

จริงครับว่าคนที่เลือกเป็นโจร ก็เพราะเขาเลือกทางนั้นในท้ายที่สุด เขามีความผิด ไม่ว่าเขาจะอ้างเหตุผลประการใดๆ ก็ตาม แต่การปล้นชิงก็คือปล้นชิง การคดโกงก็คือการคดโกง เขาก็ต้องรับโทษไปตามนั้น

แต่ถ้าถามว่าในมวลรวมแห่งเหตุการณ์ “ปล้น” หนนี้ เขาทำผิดด้วยตัวเองล้วนๆ หรือเปล่า? หากมองในเชิงเหตุและผล หากไม่มีเหตุก็ย่อมไม่มีผล หากเจ้าหนี้ไม่ซ้อม ไม่ทารุณ ไม่ข่มขู่บีบบังคับ เขาก็มีโอกาสที่จะไม่เป็นโจร ไม่ลงมือก่อการดังกล่าว ว่าง่ายๆ คือเจ้าหนี้ก็มีส่วน ให้เกิดผลเช่นนี้

ทว่าวาทกรรมที่ว่า สามารถถูกเจ้าหนี้นำมาใช้ในเชิงว่า “มันคือการตัดสินใจของเขาเอง เจ้าลูกหนี้คนนั้นมันลงมือทำเอง จะไปโทษใครได้ คนอื่นเจอเรื่องแบบนี้ ที่เขาไม่ทำผิดคิดเป็นโจรก็มี เพราะคนเหล่านั้นเขาเลือกที่จะไม่เป็นโจร แต่กับเจ้าลูกนี้คนนี้มันเลือกเอง มันก็ต้องรับผลเอง อย่าดึงฉัน (เจ้าหนี้) เข้าไปเกี่ยวสิ”

วาทกรรมที่ว่าหากใช้ในการเตือนสติหรือสร้างแรงบันดาลใจ มันก็ยังโอเค จริงๆ คือมันเป็นประโยชน์ด้วยครับ แต่หากโดนเอามาใช้ปัดความรับผิดชอบแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ก็อดคิดไม่ได้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวแค่ไหน?

อะไรคือปัญหาที่ใหญ่กว่ากัน ระหว่างคนที่ตัดสินใจทำผิด กับคนที่มีส่วนส่งเสริม, ผลักดัน, ชี้ช่อง, กดดันให้คนอื่นต้องทำผิด โดยไม่ต้องรับผิดชอบในการส่งเสริมเหล่านั้น? คนกลุ่มแรกสร้างความผิด แต่คนกลุ่มหลังเป็นเหมือนรังเอเลี่ยนที่จะผลิตคนหรือผลิตสถานการณ์แวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิด “คนทำผิด” ขึ้นมาแบบไม่รู้จบ

บางทีการที่ปัญหาในสังคมของเรามันซ้ำซ้อนซ้ำซากและยากจะหยุดยั้ง มันอาจเพราะเรามัวแต่แก้ปัญหาโดยการจับคนผิด ทว่ากลับไม่คิดหยุด “รังเอเลี่ยนที่ผลิตคนทำผิด” ดังนั้นต่อให้เราจับคนผิดได้หมด ก็จะมีคนทำผิดรุ่นใหม่ถือกำเนิดมาให้เราวิ่งไล่จับได้อยู่ดี… มันจะไม่มีวันจบ…

การดู Moonlight เหมือนการดู Boyhood เวอร์ชั่นดาร์ก เราจะได้เห็นเรื่องราวของ ไชรอน ตั้งแต่วัยเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งชีวิตของเขานั้นก็เต็มไปด้วย “สิ่งเร้าที่ทำให้ชีวิตสับสน” ไม่ว่าจะสังคมรอบตัวที่มีอันธพาล มีคนขายยา มีคนติดเหล้า หรือกระทั่งแม่ของเขาก็ยังชอบที่จะเมาหรือไม่ก็หาผู้ชายคนใหม่ มากกว่าจะมาใส่ใจเด็กเช่นเขา

เขาโตมาโดยไร้คนสอนสั่ง อาจถือเป็นโชคดีที่เขาได้เจอกับฮวน (Mahershala Ali) ที่พยายามสอนวิธีการใช้ชีวิตให้กับเขา แต่เอาเข้าจริงฮวนเองก็ไม่ใช่คนดีเต็มร้อย และหากจะมองไปแล้วนั้น สิ่งที่ฮวนทำก็อาจมีส่วนต่อความเหลวแหลกที่เกิดขึ้นกับไชรอนด้วย… มันคือความย้อนแย้งที่เจ็บแสบพอดู

ไชรอนยังคงเติบโตขึ้นท่ามกลางความสับสน เหมือนเขาต้องใช้ชีวิตแต่ละวันให้ผ่านไปโดยไร้จุดหมาย เขาไม่รู้จักคุณค่าของตน ไม่รู้ว่าตนมีที่ยืนที่ตรงไหน ไม่รู้ด้วยว่าเขาควรจะก้าวเดินอย่างไรต่อไป… แม้หนังจะโฟกัสที่ไชรอน แต่ผมก็คิดว่าหลายๆ ตัวละครในเรื่องก็คงไม่ต่างจากเขา… ดีไม่ดีเราก็อาจเคยเป็นเหมือนไชรอนกันมาแล้วก็ได้

ที่ผมสาธยายไปยืดยาวข้างต้น คือสิ่งที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้ครับ ตลอดเรื่องเราจะได้ตามติดชีวิตชองไชรอน ได้เห็นว่าสภาพแวดล้อมของเขามันเป็นเช่นไร แม้หนังจะไม่ได้นำเสนอแบบ Real แบบเต็มๆ แต่ก็ถือว่าจับประเด็นและแง่มุมมาบอกเล่าได้น่าสนใจไม่น้อย

ก็สังคมมันเป็นแบบนี้น่ะครับ ไชรอนอยู่ในสังคมระดับล่าง แม่ก็แบบนั้น คนรอบตัวก็แบบนั้น เพื่อนที่โรงเรียนก็แบบนั้น ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็แบบนั้น ทั้งหมดทั้งปวงคือสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อชีวิตและตัวตนของไชรอน มันคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติในสังคมที่เขาโตมา… มันไม่แปลกเลยที่เขาจะโตมาแบบที่เราเห็นในหนัง

ว่าตามจริงผมชอบประเด็นในหนังนะ มันสื่อถึงสังคมที่เหลวแหลก และผลิตผลที่เกิดตามมาจากสังคมที่เหลวแหลกนั้น แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครใส่ใจแก้ไขมัน แค่ปล่อยให้สังคมเป็นไป ใครทำอะไรก็ทำไป… ในบางแง่มุมมองคิดนะว่าทำไมคนในสังคมไม่มีใครคิดจะตีปัญหาให้แตกแล้วพยายามทำอะไรกันเสียบ้าง

แต่พอคิดๆ ไปแล้ว ผมว่าจริงๆ พวกเขาไม่ได้สนใจที่จะแก้อะไรเลยด้วยซ้ำ พวกเขาอาจมองไม่เห็นมันด้วยซ้ำ (ไม่ใช่พยายามไม่มองนะครับ แต่ไม่เห็นเลยน่ะ ไม่เห็นโดยสิ้นเชิง) แต่ทุกคนสนใจแค่การทำมาหากินหรือการเอาตัวรอดให้ชีวิตผ่านไปได้เป็นวันๆ เท่านั้นเอง

การดูหนังเรื่องนี้ไม่ทำให้เกิดความสุขครับ เพราะเราต้องมาใช้เวลา 2 ชั่วโมงนั่งดู “ความจริงของสังคม” โดยที่เราไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ เพราะหากอยากเปลี่ยนสังคมจริงๆ มันต้องใช้แรงกาย แรงใจ และแรงคนมหาศาล จริงครับที่หากคนหนึ่งคนคิดเปลี่ยนโลกแล้วมันอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตราบใดที่คนหมู่มากยังไม่คิดเปลี่ยน มันก็เหมือนเอาไข้ไปปะทะหิน ไข่ทั้งหลาย (หรือคนที่มีเจตนาดี) ก็จะร้าวและแตกไป ลูกแล้วลูกเล่า…

เรากำหนดชีวิตตนเองได้ไหม? ผมว่าได้ในระดับหนึ่งครับ แต่ไม่ว่าจะยังไงสรรพสิ่งรอบตัวเราก็จะมีผลต่อชีวิตเราเสมอ เรียกว่าเราคงทำได้แค่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดใน “หุ้นชีวิตของเรา” แต่คงยากจะไปกะเกณฑ์สิ่งแวดล้อมเราให้เป็นไปตามใจเราต้องการได้ เพราะเอาแค่เปลี่ยนใจคนใกล้ๆ ตัวยังถือว่ายากเลย

สำหรับหนังเรื่องนี้ ก็ถือว่ามาพร้อมประเด็นที่ดีครับ แต่หากว่ากันถึงการเล่าเรื่องแล้ว ก็อาจไม่ถึงกับน่าติดตามหรือเปี่ยมพลังแบบเต็มๆ รวมถึงความลึกของตัวละครที่อาจยังไม่ถึงกับลึกแบบจัดๆ แต่ก็พอเข้าใจครับ เพราะหนังดูจะเน้นนำเสนอ “องค์รวมของภาพสังคม” มากกว่าจะเน้นดราม่าของตัวละคร จนพอจะบอกได้ว่านี่ไม่เชิงเป็นหนังชีวิต แต่ออกแนวหนังสะท้อน (สะเทือน) สังคมครับ

นี่อาจไม่ใช่หนังที่ทุกคนจะชอบนะครับ แต่ก็อยากให้ลองดูกันเพื่อเก็บเกี่ยวสารสาระในหนัง ที่หลายแง่มุมมันก็สะท้อนมาถึงปัญหาที่บ้านเรากำลังประสบอยู่

ปล. ดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ผมอยากดูรักแห่งสยามขึ้นมาอีกรอบครับ ครั้นดูเรื่องนั้นแล้ว ผมกลับค่อนข้างชอบเรื่องรักแห่งสยามของบ้านเรามากกว่าแฮะ

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)