ในคราวแรกผมหยิบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดูโดยที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันนักครับ รู้แค่ 2 อย่าง คือหนังว่าด้วยวันคริสต์มาส ซึ่งผมชอบหนังที่มีเทศกาลนี้เป็นฉากหลังอยู่แล้ว และอีกอย่างคือมี Peter O’Toole ดาราคนโปรดของผมร่วมแสดงด้วย
ผมเคยดูครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นเช่ามาดูครับ และผลก็คือผมชอบ เป็นหนังที่ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านได้ลองชมกัน โดยเฉพาะท่านที่ชอบหนังเกี่ยวกับวันคริสต์มาสหรือหนังชีวิตดีๆ สักเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหนังง่ายๆ ที่อาจไม่ได้ดีถึงขั้นยอดเยี่ยม ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ได้สิบเต็มสิบ แต่ก็มีความหมายดีๆ ของวันคริสต์มาสสอดแทรกอยู่ในเรื่องราว และมีดาราดีๆ มาสร้างความอบอุ่นให้กับหนัง
สำหรับวันนี้ (20 ธันวาคม 2556) ผมตัดสินใจหยิบขึ้นมาดูอีกครั้งเพราะเทศกาลคริสต์มาสใกล้จะมาถึง และเป็นการดูเพื่อรำลึกถึงคุณปู่ Peter O’Toole ผู้ล่วงลับด้วยครับ
หนังสร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของชีวิตนักวาดภาพชาวอเมริกันระดับยอดฝีมือ นามว่าโทมัส คินเคด (Jared Padalecki) และนี่คือเรื่องราวในวัยหนุ่มของเขาครับ เป็นช่วงที่เขากลับมาเยี่ยมบ้านช่วงคริสต์มาส ในเมืองพลาเซอร์วิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนีย (Placerville, California) โดยที่เขาเองก็คิดไม่ถึงว่าการเยี่ยมบ้านครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต
เมื่อมาถึง เขาและน้องชาย (Aaron Ashmore) ได้ทราบว่าบ้านของแม่ (Marcia Gay Harden) กำลังจะถูกยึดเพราะไม่มีเงินส่งธนาคารตามกำหนด เขากับน้องชายเลยตกลงกันว่าจะแยกย้ายกันทำงานเพื่อหาเงิน โดยโทมัสเลือกจะรับจ้างวาดภาพบรรยากาศของเมืองพลาเซอร์วิลล์ ด้วยค่าแรง 500 เหรียญ
นอกจากนี้หนังยังเล่าถึงบุคคลสำคัญในชีวิตของเขาอย่าง เกลน (Peter O’Toole) นักวาดภาพระดับตำนานที่หนีความวุ่นวาย (และหนีอดีต) มาใช้ชีวิตเงียบๆ ตรงข้างบ้านของโทมัสพอดี และเกลนนี่แหละครับที่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพเขียนของเขา
พอดีว่าในช่วงเวลานั้นโทมัสเองก็กำลังมีคำถามเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของการวาดภาพ ด้วยความที่เขาเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ เรื่องเงินๆ ทองๆ ทำให้เขาเขวไปในระดับหนึ่ง หรือกระทั่งตอนเขาจะวาดภาพเมืองพลาเซอร์วิลล์ตามที่มีคนจ้าง เขาเองก็ยังรู้สึกตื้อๆ ตันๆ แต่แล้วเกลนนี่แหละครับที่พยายามบอกกับโทมัสว่า คุณค่าของศิลปะมันให้อะไรกับเรา ให้อะไรกับสังคมและโลกได้มากกว่าเรื่องเงิน
เกลนเองก็เคยเป็นศิลปินใหญ่ (เกลนคนนี้คือ Glenn Anthony Wessels จิตรกรอเมริกันที่มีชื่อมากอีกท่าน) เขาวาดภาพทีไรได้เงินได้ทองและชื่อเสียง แต่การที่เขาปล่อยให้ใจตนหมกมุ่นในงานมากจนเกินไป ทำให้เขาต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าจริงๆ ในชีวิต โดยที่ไม่อาจหวนคืนและต่อให้มีเงินแค่ไหนก็ทำให้สิ่งที่เสียไปกลับคืนมาไม่ได้
“คุณค่าของศิลปะ คือการที่เราสามารถสะท้อนความงามของสิ่งต่างๆ ออกมาผ่านภาพ เราสามารถสะท้อนส่วนที่งดงามจากหลืบเร้นที่คนส่วนใหญ่อาจไม่สังเกต หรือสะท้อนความงามในแง่มุมที่คนอาจหลงลืม แม้จะเห็นมันอยู่ตรงหน้ามานานแรมปีก็ตาม”
ฟังคำแนะนำของเกลนแล้วอย่าว่าแต่โทมัสเลยครับ คนดูอย่างผมก็อดไม่ได้ที่จะเห็นคล้อยตาม และคำกล่าวนี้เองที่เป็นพลังสำคัญ ทำให้เขาสามารถวาดภาพเปี่ยมความหมายให้กับเมืองพลาเซอร์วิลล์ได้สำเร็จ เพราะเขาไม่ได้วาดแค่ภาพเมืองเปล่า แต่เขาใส่ความงดงามของเมืองลงไป และความงดงามที่ว่าก็คือ “ผู้คนที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักในเมืองเล็กๆ แห่งนี้”
ผมเป็นคนชอบดูหนังว่าด้วยเทศกาลคริสต์มาสครับ คือมันมักจะมีสาระดีๆ สอดแทรก ทั้งแง่มุมเกี่ยวกับความหมายอันงดงามของเทศกาล หรือไม่ก็แง่มุมที่ชวนให้เราทบทวนถึงบางสิ่งบางอย่างในชีวิต
ระหว่างดูนั้น ใจก็คิดอยากนะครับ อยากให้คนไทยทำหนังดีๆ ทำหนังที่สื่อความหมายอันแท้จริงของประเพณีวันสำคัญที่เรามีบ้าง อย่างวันสงกรานต์นี่จริงๆ ก็งดงามนะครับ มันคือวันครอบครัว วันที่เด็กเคารพผู้ใหญ่ด้วยการรดน้ำดำหัว วันที่่ผู้ใหญ่ให้คำสอนกับเด็กๆ อันเป็นมรดกที่ตีค่าเป็นเงินไม่ได้ คือวันที่เราใช้น้ำแทนคำสวัสดี กล่าวคือวันสงกรานต์บ้านเรานี่มีความหมายมากกว่าแค่ “สาด สาด สาด… โคโยตี้ โคโยตี้ โคโยตี้ และ เหล้า เหล้า เหล้า” มากมายนัก
กับเรื่องนี้หนังสะท้อนความจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นคนและเกี่ยวกับเทศกาลครับ
ความจริงเกี่ยวกับความเป็นคนก็คือ ชาวเมืองหลายคนหลงใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกทาง มัวแต่ยึดอะไรบางอย่างที่แท้จริงแล้วมันไม่ได้สลักสำคัญอะไร อย่างแทนย่า (Kiersten Warren) อดีตนางงามประจำเมืองที่ยังหลงยึดติดกับตำแหน่งเก่าๆ ทั้งๆ ที่เธอสามารถอยู่กับปัจจุบัน ก้าวต่อไป และทำสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์กับเมืองได้มากกว่าเพียงแค่ใช้ความสวยเพียงอย่างเดียว หรือ 2 ครอบครัวที่อยู่บ้านคนละฝั่งกัน แต่ชอบข่มกันด้วยการเอาไฟคริสต์มาสมาประดับเกทับกัน ถ้าบ้านหนึ่งเพิ่มไฟอีกบ้านก็ต้องเพิ่ม เกทับเอาชนะกันด้วยความอลังการ แต่แล้วพวกเขาก็ตระหนักว่าการทำแบบนั้นมันช่างน่าขันสิ้นดี สู้แค่ติดไฟไม่กี่ดวงแล้วหันหน้ามาคุยกัน ฉลองร่วมกันให้สนุกสนานย่อมดีกว่าเป็นไหนๆ
หรือแมรี่แอนน์ คินเคด แม่ของโทมัสที่แม้จะลำบากแต่ก็ยึดติดในศักดิ์ศรี ไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากใคร (ทั้งที่เธอช่วยเหลือและทุ่มเทให้ชาวเมืองเสมอมาในทุกๆ งานที่สำคัญ) กระทั่งลูกตนเองก็ไม่เอ่ยปากบอก จนในที่สุดปัญหาเรื่องเงินก็ลุกลามบานปลายจนจะทำให้เสียบ้าน ซึ่งเมื่อเกลนเห็นแบบนี้ เขาจึงบอกกับแมรี่แอนน์ว่า “อย่าทำแบบนี้ อย่ากินเพียงศักดิ์ศรีจนไม่เหลืออะไร” พร้อมทั้งแนะนำว่าการขอความช่วยเหลือนั้นไม่ได้เป็นการเสียศักดิ์ศรีแต่อย่างใด ยิ่งถ้าเราช่วยเหลือคนอื่นเสมอๆ อยู่แล้ว การจะเอ่ยปากให้คนอื่นช่วยเราบ้างมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก จะได้หรือไม่ได้ความช่วยเหลือก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าอยู่อย่างไร้ความหวัง
ขณะเดียวกันคนในเมืองก็หลงอยู่กับเปลือกของเทศกาลวันคริสต์มาส อย่างเออร์นี่ (Chris Elliott) โต้โผของเมืองที่พยายามจะจัดงานให้ทีวีมาทำข่าว ให้อเมริกามาสนใจเมืองพลาเซอร์วิลล์ ทั้งที่ความจริงแล้วแก่นของคริสต์มาสไม่ใช่การสร้างชื่อเสียงหรือการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจ หากแต่มันคือการที่ครอบครัวได้มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน คือการที่คนในเมืองได้แบ่งปันความรู้สึกดีๆ ต่อกัน ได้ตระหนักถึงคุณค่าของกันและกัน และโดยเฉพาะคุณค่าของตนเอง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ควรสนใจ คืออะไรที่ควรสร้างโอกาสให้มันเกิดขึ้น
คริสต์มาสก็มีแก่นที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลยครับ นั่นคือ การให้ความสนใจเรื่องความรัก ความเข้าใจ การเห็นค่ากันและกัน การให้อภัย การทบทวนตนเอง การตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น เรื่องครอบครัว และคำขอบคุณ
ดังนั้นช่วงเวลาแห่งคริสต์มาสอันที่จริงคือช่วงเวลาที่ส่งเสริมให้มนุษย์ได้ใช้พลังด้านดีต่อกัน ได้ใช้ด้านที่สวยงามของมนุษย์แต่งแต้มโลกกลมๆ ใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้น
หนังอาจไม่ถึงกับทะลวงแก่นวันคริสต์มาสให้เราเห็นแบบเต็มๆ แต่ถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดีครับ ที่เราดูแล้วคิดตามได้
ดาราในเรื่องถือว่าแสดงได้น่าพอใจครับ อาจไม่ถึงกับเด่นมากมาย แต่ก็น่าพอใจ และคนที่เด่นมากๆ ต้องยกให้ O’Toole และ Gay Harden
หนังเรื่องนี้ทำให้ผมได้รู้จักโทมัส คินเคดและตามดูภาพผลงานอันแสนสวยของเขา ยอมรับเลยครับว่าภาพเขียนแต่ละภาพของโทมัสมีความสวยสด มีชีวิต และมีหัวใจ มีความอบอุ่นเจืออยู่ในแต่ละเฉดสีที่เขาวาดขึ้น แนะนำให้ลองค้นภาพของเขาดูนะครับ อย่างผมนี่ก็หาภาพของเขามาทำเป็นวอลเปเปอร์หน้าคอม มันสวยงามและให้ความรู้สึกดีจริงๆ
เป็นที่น่าเสียดายครับที่โทมัส คินเคดได้เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี 2012 ก็ขอแสดงความไว้อาลัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
เป็นหนังว่าด้วยวันคริสต์มาสอีกเรื่องที่ดูจบแล้วมีความสุขครับ อย่างที่บอกว่ามันอาจไม่ได้ดีเด่มากมาย แต่มันก็มีคุณค่าสวยงามในแบบของมันอยู่พอสมควร
ปล. สำหรับท่านที่อยากเห็นผลงานภาพของโทมัส คินเคด ผมได้รวบรวมภาพบางส่วนของเขามาแสดงไว้ที่ด้านล่างแล้วนะครับ สามารถเลื่อนลงไปลองชมดูได้ครับ ภาพงดงามอย่างมากจริงๆ
สองดาวครึ่งบวกๆ ครับ
(7.5/10)
และนี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของภาพเขียนโดย Thomas Kinkade ครับ