รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

The Perfect Catch (2005) เดอะ เพอร์เฟ็กต์ แค็ทช์ สาวรักกลุ้มกับหนุ่มบ้าบอล

The Perfect Catch (2005) สาวรักกลุ้มกับหนุ่มบ้าบอล

หนังเรื่องนี้มี 2 ชื่อครับ ชื่อแรกคือ Fever Pitch เป็นชื่อที่ใช้ตอนฉายที่อเมริกา และอีกชื่อก็คือที่ใช้ในตลาดต่างประเทศหลายๆ แห่งครับ ใช้ชื่อว่า The Perfect Catch

หนังอีกเรื่องที่ดังแบบเงียบๆ (เงียบจนบ้านเราไม่รู้เรื่องเลย เพราะมันออกแผ่นไม่ได้เข้าโรง) ส่วนที่มะกันดังแบบกลางๆ ได้ไป $42 ล้าน ซึ่งแทบจะเป็นรายได้มาตรฐานของหนังที่ Drew Barrymore แสดงนำในแนวตลกรักกุ๊กกิ๊กเลยล่ะนะครับ

หนังจับเอาเรื่องความรักของหนุ่มสาวที่ต่างกันในหลายๆ ด้าน พระเอกคือ เบน ไรท์แมน (Jimmy Fallon) พ่อหนุ่มจอมกะล่อนที่บ้าบอลเหนือกว่าสิ่งใดในโลก วิถีชีวิตก็ตามสบายไร้กฏเกณฑ์ อนาคตไม่คิด คิดแต่เรื่องบอลๆๆๆๆ เท่านั้น

ส่วนนางเอกมีนามว่า ลินด์เซย์ มี๊ค (Barrymore) สาวนักทำงานที่ชีวิตมีแบบแผน มีอนาคต เมื่อทั้งสองมาเจอกันในตอนแรก อะไรๆ มันก็สนุกดีล่ะครับ เพราะต่างฝ่ายต่างก็เหมือนคนที่เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายในชีวิต เบนก็ได้หญิงคนรักมาเพิ่มหลักยึดเหนี่ยวให้ชีวิตที่ไร้แก่นสาร ส่วนลินด์เซย์ก็เหมือนได้พักร้อน สนุกสนานไปวันๆ หลังจากหนักหนาสาหัสมากับการทำงาน

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนที่ไม่เข้ากันก็เริ่มสำแดงผลออกมา ตั้งแต่การที่เบนไปเจอพ่อแม่ลินด์เซย์แล้วจบไม่สวย ตามด้วยรูปแบบชีวิตที่เริ่มตั้งแง่คัดง้างกันมากกว่าจะทำความเข้าใจ จนในที่สุดความสัมพันธ์ก็ถึงจุดวิกฤติ

แล้วสองคนนี้จะรักษาความรักให้รอดไปได้หรือไม่ อันนี้ก็ดูกันในหนังนะครับ

เนื้อหาทำให้นึกไปถึง The Break-Up เลยครับ แต่เรื่องนี้ฉายก่อนนะ The Perfect Catch สร้างจากนิยายขายดีของนาย Nick Hornby นักเขียนที่ชอบหยิบยกเรื่องในชีวิตมาเสียดสีจิกกัดแบบสนุกสนานแฝงแง่คิด คอนิยายที่เป็นคอหนังด้วยน่าจะคุ้นนะครับ อย่าง High Fidelity กับ About A Boy ก็มาจากปลายปากกาของนายคนนี้ทั้งนั้น หนังก็สนุกกัดชีวิตได้อย่างออกรสอีกต่างหาก ส่วนเรื่องนี้พี่ท่านก็จงใจเขียนมาว่าด้วยเรื่องบอลที่หนุ่มๆ ชอบบ้ากัน มันส่งผลต่อชีวิตยังไง และผู้หญิงคิดยังไงกับพฤติกรรมเหล่านี้ของบุรุษเพศ (ประเภทห่วงบอลมากกว่าห่วงเมียน่ะครับ)

แต่พอมาเป็นฉบับหนัง บทดัดแปลงโดย Lowell Ganz กับ Babaloo Mandel สองซี้มือเขียนบทที่กอดคอกันสร้างผลงานตลกฮิตๆ อย่าง Splash, Parenthood, City Slickers ทั้งสองภาค, A League of Their Own ซึ่งผลงานของทั้งคู่ก็โอเคมาตลอด กับเรื่องนี้ก็ยังสนุกดูเพลิน แต่ประเด็นต่างๆ เหมือนจะจับมาแค่หลักๆ เท่านั้น นั่นคือ ความต่างของวิถีชีวิตพระเอกนางเอก จนนำมาสู่ปัญหา นอกนั้นพวกประเด็นเรื่องการบ้าบอล มุมมองที่ผู้หญิงมีต่อบอลไม่ค่อยจะได้รับการพูดถึงเท่าไหร่

ดังนั้นถ้าจะบอกว่าในบรรดาหนังที่ดัดแปลงจากนิยายของ Hornby เรื่องนี้ค่อนข้างอ่อนที่สุดก็คงไม่ผิดเท่าไหร่

อ่อน ณ. ที่นี้ไม่ได้แปลว่าแย่นะครับ แค่ไม่แน่นสมกับที่แปลงมาจากหนังสือของ Hornby เท่านั้นเอง ทว่าอย่างน้อยประเด็นที่หนังยกมา ก็เล่าได้เนื้อได้หนังพอสมควร

FEVER PITCH

จุดที่หนังยกมาเล่นคือความไม่เข้าใจกันของคู่รัก ที่มีสาเหตุมาจากความต่างทางวิถีชีวิต ผมเชื่อว่าคู่รักหลายรายมีปัญหาทำนองนี้นะครับ ประเภทตอนแรก ตอนพบรักกันใหม่ๆ อะไรรอบกายดูสดใสเป็นสีชมพู แม้ทั้งคู่จะมีความต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ตอนชอบกันมันจะยังไม่ใช่ปัญหาครับ กลายเป็นเรื่องดีเสียอีก ที่อีกฝ่ายเมื่อแตกต่างก็เหมือนเป็นส่วนเติมเต็มชีวิต เช่น บางคนบ้างานมากๆ เจอคนสบายๆ เข้ามาในชีวิตก็รู้สึกดี พอคบๆ ไปก็อยากลองสบายบ้าง หรือคนที่สบายมานานพอเจอแฟนประเภทชอบจัดระเบียบชีวิตก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้มีทิศทางที่ดีในอนาคตบ้าง … นี่ไงครับ ตอนรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน

แต่พอคบไปซักพัก เข้าช่วงยามชืดชัง … ทองหยิบฝอยทองยังว่าขมกว่าบอระเพ็ด!

ในเรื่องเบนและลินด์เซย์เข้าข่ายนี้เปี๊ยบ แรกรักดูดดื่ม แต่พอถึงระดับหนึ่งทั้งสองไม่ปรับตัวเข้าหากัน เป็นยังไงก็ยังเป็นเช่นนั้น มันก็เกิดปัญหาน่ะสิครับ

เรื่องอธิบายได้ง่ายดายนัก ว่าทำไมตัวตนของเราแบบเดียวกันแท้ๆ ตอนแรกก็ว่าดี แต่ไหงพอคบๆ ไปดันบอกไม่ชอบ

นั่นก็เพราะ เมื่อท่านเข้าสู่ชีวิตแบบ “คู่” แล้ว วิถีชีวิตแบบ “คี่” ที่ท่านใช้มานานอาจต้องถึงเวลาปรับเปลี่ยน

ของแบบนี้มันต้องปรับเข้าหากันครับ อย่างคุณผู้ชายที่บ้าบอล ประเภทดูบอลกับเพื่อนถึงตีสาม ไปไหนไปกันค่ำไหนนอนนั่นเช้าค่อยกลับบ้าน มันก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วนะครับ เพราะเมื่อเราตัดสินใจคบหากับใคร นั่นเท่ากับเรากำลังเพิ่มความรับผิดชอบอีกประการหนึ่งขึ้นมา เราไม่ใช่ตัวคนเดียวแล้วนะครับ นี่ผมพูดถึงกรณีที่ท่านคบจริงหวังแต่งนะ

เมื่อท่านคบหาใครแล้วกลับดึกนอนดื่น พอสาวเจ้าโทรมาถามว่าอยู่ไหน ทำไมไม่รีบนอนเท่านั้นท่านก็อาละวาดใส่ บอกว่า “ทำไมคุณไม่เข้าใจผมเลย ผมอยากสนุกนี่หน่า คุณอย่าบังคับผมมากได้ไหม?

ก็อยากถามต่อไป พี่บอกแฟนสาวไม่เข้าใจ แล้วพี่ล่ะครับเข้าใจแฟนสาวมากน้อยแค่ไหน เข้าโทรมาเป็นห่วงน่ะ แปลไม่ออกหรือไง?

การแสดงออกอาจจะดูจู้จี้ แต่โปรดเข้าใจไว้ เพศหญิงนั้นใส่ใจรายละเอียดมากกว่าผู้ชายเยอะ ดังนั้นการถามมากก็เป็นธรรมชาติประการหนึ่ง ถามว่าอยู่ไหน ไปไหนอะไรอย่างไร ใช้คำสารพัด แต่หากถอดความมาดีๆ ก็จะได้รูทง่ายๆ ว่า “เป็นห่วง” นั่นแหละ

นี่พูดให้คิดนะครับ เฉพาะในกรณีที่สาวเจ้าโทรมาแต่พองาม แต่หากโทรมาเยอะเกินไปจนกวนใจ นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้หญิงก็ต้องเข้าใจผู้ชายเหมือนกัน ว่าในบางมุมเขาก็ต้องการอิสระ ต้องการอยู่กับสิ่งที่เขาชอบบ้าง

ลองมองสมการนี้ดีๆ ผู้ชายต้องการอิสระบ้าง ส่วนผู้หญิงต้องการการใส่ใจและแสดงความเป็นห่วงบ้าง แล้วเราจะหาความพอดีได้ตรงไหน อันนี้เป็นเรื่องที่ท่านกับเธอต้องคุยกันให้เข้าใจ

ขอบอกไว้ก่อนล่วงหน้าว่า คุยไม่พอ ต้องเข้าใจด้วย บางครั้งต้องถอยคนละก้าว ยอมคนละส่วนเพื่อรักษาหัวใจของอีกฝ่ายไว้

คู่รักคู่ไหน ที่ต่างฝ่ายต่างก็จะเอาแต่สิ่งที่ตนต้องการโดยไม่ยอมถอย ไม่ยอมเข้าใจอีกฝ่าย บอกได้เลยว่า ย่อมยากจะไปรอด

ทั้งชายและหญิงที่ตัดสินใจคบหา “ดูใจ” กัน ไม่ใช่แบบฉาบฉวยย่อมแสดงว่าท่านหมายมั่นจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน มีอะไรปรับได้ปรับ อะไรที่ไม่เข้าใจกันก็ต้องแบ่งปันความรู้สึกกัน

คู่รักที่คบกันยืดๆ ส่วนใหญ่พอให้สัมภาษณ์ นักข่าวถามว่าทำอย่างไรจึงรักกันนาน คำตอบแทบเป็นพิมพ์เดียวกันว่า ต้องเข้าใจกัน

เบนกับลินด์เซย์ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่หนังยกมา เมื่อเกิดปัญหาต่างคนต่างก็เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็ระหองระแหงไม่ดีไม่งามเลยซักอย่าง

จุดเปลี่ยนอยู่ที่เมื่อเบนและลินด์เซย์เห็นสัจธรรมชีวิตคู่ง่ายๆ นั่นคือ หันมาทำความเข้าใจ ปรับตัวเอง เท่านั้นทุกอย่างเป็นอันเข้ารูปเข้ารอย

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา เช่นเดียวกับเรื่องรักใคร่ รู้ใจเขารู้ใจเรา เป็นอันยอดเยี่ยม

พูดอาจง่าย ทำได้หรือไม่ต้องแล้วแต่ท่านกับคู่ของท่านครับ … ขอให้ออกมาดีแล้วกัน

137638536_050927034947242_wideweb__300x500

ประเด็นนี้ถือว่าเข้าท่าเข้าทางจนน่าพูดถึง ส่วนตัวหนังก็ดูได้เพลินๆ แต่ไม่ได้ประทับใจมากมาย สองดารานำก็เล่นได้ดีไม่มีปัญหา ดาราสมทบไม่ค่อยเด่นนักแต่ก็ไม่มีปัญหาอีกนั่นแหละ

หน้าที่กำกับตกเป็นของ Bobby Farrelly และ Peter Farrelly พี่น้องที่ร่วมกันทำ Dumb and Dumber, Kingpin และ There’s Something About Mary ที่ระยะหลังๆ เบนเข็มมาทำหนังเบาๆ แฝงสาระ อย่าง Shallow Hall ส่วนเรื่องนี้ก็ไม่ผิดหวัง แต่ยังไม่เข้าที่เต็มตัว

หนังเรื่องนี้จะว่าเป็นกึ่งรีเมคก็พอได้ เพราะเคยมีคนเอานิยายเรื่องนี้ของ Hornby ไปทำเป็นหนังชื่อ Fever Pitch มาแล้วเมื่อปี 1997 ที่ประเทศอังกฤษได้ Colin Firth และ Ruth Gemmell มาแสดงคู่กัน งวดนั้น Hornby ดัดแปลงเรื่องราวเอง แต่สนุกแค่ไหนไม่ทราบเพราะยังไม่เคยดู ทว่าที่พอจะทราบ เขาก็ว่าดีแต่ไม่มาก

คอหนังแนวนี้คงดูเพลินๆ ได้ ส่วนผมก็เรื่อยๆ ชอบแนวคิด แต่พระนางยังเล่นเข้ากันไม่ได้เต็มที่ การเดินเรื่องก็มีช่วงผ่อนจนแหม่บไปเยอะเหมือนกัน ส่วนเรื่องขำๆ ถือว่าน้อยหากเทียบกับงานทั้งหลายแหล่ของ สองพี่น้อง Farrelly

สองดาวกว่า ค่าสาระครับ

Star21

(6.5/10)