Action

Star Trek IV: The Voyage Home (1986) สตาร์ เทร็ค 4 ตอน ข้ามเวลามาช่วยโลก

1367918138

Star Trek III: The Search for Spock ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีครับ ทำเงินพอๆ กับภาค 2 จนหลายฝ่ายแน่ใจเลยว่าภาค 4 จะต้องมีตามมาแน่ๆ แต่จริงๆ แล้ว Paramount ได้คุยโครงการทำภาค 4 กับ Leonard Nimoy ไว้ตั้งแต่ก่อนภาค 3 จะออกฉายอีกครับ โดย Paramount เสนอจะให้ Nimoy กลับมากำกับอีกครั้ง พร้อมทั้งให้อิสระแบบเต็มที่ อยากทำหนังออกมาแนวไหน แบบไหนเลือกได้ตามสบาย

Nimoy กับ Harve Bennett มีแนวคิดคล้ายกันครับ ว่าอยากให้เนื้อเรื่องในภาค 4 ออกมาในโทนเบาๆ ไม่ต้องหนัก ไม่ต้องเข้มข้นแบบ 3 ภาคแรก และที่สำคัญคือพวกเขาไม่ต้องการให้มีผู้ร้ายในภาคนี้ครับ ว่าง่ายๆ พวกเขาอยากให้การทำภาคนี้เป็นเหมือนการตามทีมงานมาทำตอนสนุกๆ ให้ทุกคนได้ทำไปหัวเราะไป เป็นการพักร้อนไปในตัว

แต่ปัญหาเล็กๆ ก็เกิดเมื่อ William Shatner เจ้าของบทกัปตันเคิร์กรู้สึกไม่อยากกลับมาแสดงบทนี้อีก ทำให้ Nimoy กับ Bennett ต้องมานั่งหาทางออกด้วยการวางพล็อตใหม่เกี่ยวกับการทำภาคก่อนหน้า (Prequel) แต่ในที่สุด Shatner ก็ยอมกลับมาเมื่อสตูดิโอเพิ่มค่าตัวเป็น 2.5 ล้าน (เท่ากับที่ Nimoy ได้รับ) และสัญญาว่าจะให้เขากำกับ Star Trek 5

กล่าวกันว่าเมื่อดาราทีมเก่าพากันทยอยเพิ่มค่าตัว Paramount จึงตัดสินใจสร้างซีรี่ส์ Star Trek: The Next Generation (ชุดที่นำโดยกัปตันฌอง ลุค พิคาร์ดน่ะครับ) โดยจ้างเอาดาราที่ไม่มีชื่อเสียงเท่าไรมาแสดง และเพื่อให้พวกเขาเป็นทีมใหม่สำหรับขึ้นจอใหญ่ต่อไป เผื่อว่าในอนาคตทีมเก่ามีปัญหาเรื่องค่าตัวทำนองนี้อีกก็จะได้ยกทีมใหม่ขึ้น จอไปเลย

Nimoy กับ Bennett จึงหันมานั่งพัฒนาบทกันอีกครั้งตามความตั้งใจเดิมที่จะให้เนื้อหาออกมาเบาๆ และหมายจะให้มีการย้อนเวลาไปสู่อดีตด้วย ทีนี้พอทาง Paramount ทราบพล็อตคร่าวๆ ก็เลยเสนอ (แกมขอร้อง) ให้พวกกัปต้นเคิร์กย้อนมาปี 1986 (ปีปัจจุบันที่หนังออกฉาย) ได้ไหม คนดูจะได้รู้สึกเข้าถึงและสนุกไปกับเรื่องราวได้ง่ายขึ้น ซึ่ง Nimoy กับ Bennett ก็ไม่มีปัญหาครับ

1367980834

ทีนี้ประเด็นต่อมาคือ จะให้พวกเขาย้อนเวลามาทำไม… แล้วไอเดียก็เดินเครื่องครับ นอกจากพวกเขาจะให้โทนหนังออกมาเบาแล้ว ยังอยากให้หนังเน้นให้คนรักษ์ธรรมชาติ หันมาสนใจโลกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ถูกมนุษย์ทำลายไปเรื่อยๆ แล้วมนุษย์เองนั่นแหละที่ต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่เลวร้าย ไม่ว่าการทำลายธรรมชาติจนระบบนิเวศน์เสีย เราขุดน้ำมันกันขึ้นมาใช้แล้วก็เกิดปัญหามลภาวะเป็นพิษตามมา เราทำลายป่า ทำลายสัตว์ให้สูญพันธุ์ หรือถ้าสัตว์ป่าชนิดไหนยังไม่สูญพันธุ์ แต่พอไม่มีป่าให้มันอยู่ มันก็มาอาละวาดสร้างความวุ่นวายให้กับชุมชนหมู่บ้านต่างๆ (ทั้งที่ถ้าหากให้ป่ามันอยู่ มันก็จะต่างคนต่างอยู่ได้ แบบที่บรรพบุรุษของเราเคยทำกันมา)

Nimoy ก็ทยอยคิดถึงเรื่องเหล่านี้ แล้วเขาก็นึกถึงวาฬหลังค่อม (Humpback whale) ขึ้นมาครับ เพราะ Nimoy มีคำถามเสมอว่าเจ้าวาฬเหล่านี้ชอบส่งเสียงเหมือนร้องเพลง เขาเลยเกิดคำถามว่ามันร้องอะไร มันสื่อความหมายอะไร เพราะวาฬหลังค่อมสามารถส่งเสียงที่แตกต่างได้ไม่น้อยกว่า 34 เสียง และเสียงเหล่านั้นยังส่งไปได้ไกลกว่า 150 กิโลเมตร เป็นไปได้ไหมว่ามันกำลังสื่อสารในสิ่งสำคัญบางอย่างที่มนุษย์เองก็ยังไม่อาจ แปลออกมาได้ เป็นไปได้ไหมว่าความหมายในเสียงนั้นมีอะไรมากกว่าแค่การส่งเสียงสื่อสาร เรียกคู่เท่านั้น

แต่ทว่ามนุษย์กลับไล่ล่าเข่นฆ่าสิ่งมีชีวิตที่น่าค้นหาเหล่านี้…

พอได้ไอเดียประมาณนี้ Nimoy ก็ลองเอาเรื่องนี้ไปปรึกษา Daniel Petrie, Jr. คนเขียนบท Beverly Hills Cop ทีนี้เรื่องก็เลยรู้ถึง Eddie Murphy ซึ่งพี่แกก็ประกาศตัวครับว่าเขาเป็นแฟน Star Trek พันธุ์แท้มาแต่ไหนแต่ไร และเขาจะยินดีมากหากได้ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้

Nimoy เลยส่งไอเดียทั้งหมดที่มีให้กับ 2 มือเขียนบท Steve Meerson และ Peter Krikes จนได้บทออกมาโดยบทของ Murphy จะเป็นศาสตราจารย์ที่เชื่อในเรื่องเอเลี่ยนและหลงใหลในเพลงของวาฬหลังค่อม และเขาก็จะมีส่วนช่วยในการผจญภัยครั้งใหม่ของกัปตันเคิร์กและพรรคพวก

แต่ไปๆ มาๆ Murphy ไม่ชอบบทนี้ครับ เพราะเขาอยากแสดงเป็นเอเลี่ยนหรือไม่ก็เจ้าหน้าที่สหพันธ์ดวงดาวมากกว่า ในที่สุดเขาก็โบกมืออำลาไปทำหนังเรื่อง The Golden Child แทน (และในเวลาต่อมา Murphy ก็ออกมายอมรับครับ ว่านั่นเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเขา) ส่วนบทศาสตรจารย์คนนี้ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นผู้หญิงชื่อว่า ดร. จิลเลี่ยน เทเลอร์แทน

ขณะเดียวกันบทชิ้นนั้นก็ยังไม่เป็นที่พอใจของ Paramount ครับ เพราะบทออกจะรุงรัง มีฉากไม่จำเป็นเยอะ อีกทั้งยังมีการเขียนบทให้ซาวิค สาววัลแคนที่มีบทในภาค 2 และ 3 ตั้งท้องลูกของสป็อกด้วย ซึ่งผู้บริหาร Paramount พออ่านแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่เข้ากับโทนของ Star Trek

ในเวลาต่อมาเลยมีการติดต่อให้ Nicholas Meyer มือเขียนบทและผู้กำกับ Star Trek II ให้กลับมาช่วยเกลาบท Meyer เลยทำงานร่วมกับ Bennett ที่ต่างฝ่ายต่างก็เห็นว่าการทำงานครั้งนี้มันล่าช้าเสียเวลามาหลายเดือนเกินไปแล้ว Meyer เลยเสนอให้ Bennett รับหน้าที่เกลาบทในช่วงต้นและช่วงท้าย ส่วนเนื้อเรื่องส่วนตรงกลางที่ว่าด้วยโลกยุคปัจจุบัน เดี๋ยวเขาจะทำให้เอง

แล้วพวกเขาก็แท็กทีมกันปั่นบทใหม่ เสร็จใน 12 วัน… เท่ากับตอนปั่นบทStar Trek II เป๊ะๆ

1367980881

บทในฉบับนี้ถูกใจ Nimoy มากครับ เพราะมันเปี่ยมอารมณ์ขัน และที่สำคัญคือ “ไม่มีใครตาย ไม่มีการต่อสู้ ไม่มีการไล่ยิง ไม่มีมีโฟตอนตอร์ปิโด ไม่มีลำแสงจากปืนเฟเซอร์ และไม่มีตัวร้าย

สำหรับเรื่องราวในภาคนี้ก็ต่อเนื่องจากภาค 3 เลยครับ หลังจากกัปตันเคิร์ก (Shatner) สามารถช่วยสป็อก (Nimoy) กลับมาได้แล้ว พวกลูกยานเอ็นเตอร์ไพรส์ (ที่ตอนนี้ต้องใช้ยานนกต่อของคลิงออนไปพลางๆ) ก็เตรียมเดินทางกลับโลก พร้อมเผื่อใจว่าคงต้องรับโทษจากสหพันธ์เนื่องจากคราวก่อนพวกเขาขโมยยาน เอ็นเตอร์ไพรส์ออกมาโดยไม่ได้รับอนญาต มิหนำซ้ำพวกคลิงออนยังส่งคนไปยังสหพันธ์เพื่อทวงความเป็นธรรม หลังจากพวกเคิร์กสังหารคนของคลิงออนไปในภาคที่แล้ว (แต่ความจริงคือเคิร์กจำต้องทำน่ะครับ)

แต่ทว่าก็เกิดเหตุการณ์ไม่ คาดฝันขึ้นเมื่อมียานลึกลับไม่ปรากฏที่มาตรงดิ่งไปยังโลก แล้วส่งสัญญาณบางอย่างทำให้โลกทั้งใบสั่นสะเทือน น้ำทะเลพากันพุ่งขึ้นอย่างเป็นปริศนา กัปตันเคิร์กซึ่งกำลังเดินทางกลับโลกก็ทราบเรื่อง จึงช่วยกันสืบกับสป็อก จนทราบว่ายานลำนั้นน่าจะส่งสัญญาณสื่อสารไปถึงประชากรวาฬหลังค่อม แต่พอดีว่าวาฬหลังค่อมนั้นสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 แล้ว จึงไม่มีวาฬเหลือให้ส่งสัญญาณตอบกลับครับ และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปยานลึกลับนั่นก็จะส่งสัญญาณต่อเนื่องไป เรื่อยๆ และแน่นอนว่าโลกจะต้องเกิดภัยพิบัติจนถึงขัั้นโลกจมอยู่ใต้น้ำได้

ทางแก้ก็คือพวกเขาต้องรีบย้อนเวลากลับไปหาวาฬหลังค่อม เพื่อนำพวกมันกลับมาสู่อนาคต

แล้ว ความสนุกก็เริ่มตรงนี้ล่ะครับ เมื่อลูกยานเอ็นเตอร์ไพรส์จากอนาคตต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในปี 1986 ที่แสนวุ่นวาย พวกเขาเลยทำอะไรเปิ่นๆ แปลกๆ สารพัด ไหนจะต้องมาลุ้นกันอีกว่าพวกเขาจะหาวาฬหลังค่อมจากที่ไหนได้ และจะเอากลับไปอย่างไร เพราะการจะขนวาฬหลังค่อมตัวใหญ่ใส่ลงในยานนกต่อคลิงออนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ นึกจะทำก็ทำได้ทันทีครับ ลูกยานคนอื่นๆ อย่างสก็อตตี้ (James Doohan) ที่ต้องลงไปตระเวนหาอุปกรณ์มาประกอบแทงค์ใส่วาฬ โดยที่มีซูลู (George Takei) ทำหน้าที่ช่วยขนมันกลับมาที่ยาน, เชคอฟ (Walter Koenig) และ อูฮูร่า (Nichelle Nichols) ต้องเดินทางไปหาแหล่งพลังงานมาชาร์จให้ยาน และหมอแม็คคอย (DeForest Kelley) ที่คอยประสานงานต่างๆ ที่บางครั้งก็ออกแนวจับปูใส่กระด้ง โดยเฉพาะตอนสนทนากับสป็อกที่สื่อสารกันคนละมุมทุกที เรียกว่าก่อนและหลังตายสป็อกก็ยังทำให้คุณหมอมึนได้ไม่ต่างกัน (5555)

ภาคนี้สนุกครับ ออกแนวเหมือนจับทีมงานมาพักร้อนในโลกปัจจุบันจริงๆ เพราะหนังไม่มีความรุนแรงเลย ออกมาเบาๆ ฮาๆ ชนิดที่แฟน Star Trek จะปลื้มได้ไม่ยากครับ เพราะเหล่าตัวละครทุกคนได้รับการแบ่งบท มีซีนของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น และที่สำคัญคือมีวาระเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูอยู่ตลอดๆ ทีเดียว

ถือว่า Nimoy ประสบความสำเร็จทีเดียวครับ เขาคุมหนังได้สนุก ถึงเครื่องในเรื่องความบันเทิงพร้อมๆ กับมีสาระดีๆ เกี่ยวกับการกระตุ้นให้คนหันมารักธรรมชาติ เป็นการผสมกันอย่างลงตัวจริงๆ

1367980924

ดาราในเรื่องก็ลื่นยิ่งกว่าลื่นครับ ยอมรับเลยว่าพวกเขาแสดงบท “คนจากอนาคตที่มาเปิ่นในปัจจุบัน” ได้ดีจริงๆ ฮาแล้วฮาเล่า ส่วนดาราหน้าใหม่ที่มาร่วมผจญภัยในคราวนี้ก็มี Catherine Hicks ในบท ดร จิลเลี่ยน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลที่เป็นกำลังสำคัญในการนำวาฬไปสู่อนาคตครั้งนี้ แล้วก็ได้ดาราจากตอนก่อนอย่าง Mark Lenard ในบทซาเร็ก และ Robin Curtis ในบทซาวิค มาร่วมแจมเล็กๆ น้อยๆ และยังเป็นการเปิดตัวผู้การคาร์ทไรท์ (Brock Peters) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหพันธ์ และ ท่านฑูตชาวคลิงออน (John Schuck) ซึ่งทั้ง 2 จะมีบทบาทต่อไปอีกในภาค 6

และในภาคนี้ยังได้ Grace Lee Whitney กลับมารับบทเจ้าหน้าที่แรนด์ และ Majel Barrett ในบทเจ้าหน้าที่ชาเปล ซึ่งทั้งคู่้ในเรื่องนี้ก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจนเป็นผู้การไปเรียบร้อย

เป็น ภาคที่ดูเพลินดีครับ แม้หนังจะไม่มีความรุนแรงแต่พอถึงคราวต้องลุ้นหนังก็ออกมาลุ้นได้อย่างน่าพอ ใจ ผมว่าเป็นหนังกรณีศึกษาได้เรื่องหนึ่งเลยครับ ว่าความบันเทิง ความลุ้น และสาระชวนให้รักษ์โลกนั้นสามารถไปกันได้ ขอเพียงทำบทให้พอดีและมีรสชาติผสมแบบพอเหมาะ

ความสำเร็จของภาคนี้ถือว่าสูงสุดในบรรดาหนัง Star Trek รุ่นเก่าครับ (10 ภาคแรก) หนังใช้ทุนสร้างประมาณ 25 ล้านเหรียญ และสามารถทำเงินเฉพาะในอเมริกาไป 109 ล้านเหรียญ หากรวมทั่วโลกก็ประมาณ 133 ล้านเหรียญ ซึ่งรายได้นอกอเมริกาอาจดูน้อยนะครับ แต่หนังไปทำเงินอีกเพียบตอนออกเป็นวีดีโอ จากที่มีการบันทึกไว้ Star Trek IV สามารถทำรายได้จากวีดีโอทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 99 ล้านเหรียญเลยทีเดียวครับ

สาระ ในเรื่องผมว่าสวยงามแบบไม่ต้องหนักมากนะครับ อย่างแรกคือการจะทำอะไรให้สำเร็จนั้นไม่จำเป็นต้องห่ำหั่นรุนแรงหรือเข่นฆ่า กันก็ได้ครับ อย่างที่พวกเคิร์กทำเป็นต้น ใช้วิธีละม่อมก็ถึงเป้าได้ อย่างต่อมาก็คือเรื่องธรรมชาติครับ หนังว่ากันง่ายๆ เลยว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีคุณค่า ไม่ต่อตัวเราก็ต่อระบบนิเวศน์ เราไม่มีวันรู้หรอกครับว่าการที่เราล้างผลาญสิ่งมีชีวิตบางพันธุ์ให้สูญไป นั้น มันจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรในอนาคต เหมือนทฤษฎี The Butterfly Effect นั่นล่ะครับ เช่นนั้นแล้วการหาทางที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ รักษาถนอมสิ่งมีชีวิตอื่นเอาไว้ มันก็น่าจะเป็นหนทางป้องกันเหตุไม่คาดฝันที่อาจมาในรูปของภัยธรรมชาติใน อนาคตก็ได้

จุดเด่นอีกอย่างของภาคนี้คือดนตรีครับ โดย Leonard Rosenman เพื่อนของ Nimoy ที่คร่ำหวาดในการทำดนตรีมาตั้งแต่ยุค 50 ผลงานเด่นๆ ของเขาก็มีเรื่อง East of Eden, Rebel Without a Cause, Beneath the Planet of the Apes และ RoboCop 2 ยอมรับครับว่าทำนองดนตรีของท่านนี้ไม่เหมือนใคร ทำนองจะมีจังหวะนิ้งหน่องแบบชวนให้กระฉับกระเฉงตื่นตัวอยู่เสมอ ซึ่งเข้ากับอารมณ์เบาๆ ขบขันของภาคนี้อย่างยิ่ง

จัดเป็นภาคที่คนรัก Star Trek น่าจะชอบ ส่วนคนที่ไม่คุ้นเคย Star Trek มาก่อนก็น่าจะสนุกไปด้วยได้ครับ เพราะมันไม่ได้ไซไฟจ๋า ไม่จำเป็นต้องมีพื้นจากภาคไหนๆ มาก่อน แค่รู้จักลูกยานและสนุกไปกับพวกเขาก็พอ ส่วนผมนั้นก็ชอบครับภาคนี้ สนุก ฮา เพียงแต่ดีกรีความเข้มข้นที่หนังเจตนาใส่ลงมาไม่เยอะก็อาจทำให้รสชาติความ มันส์บางประการมีน้อยไปนิด

เฉียดสามดาวครับStar22(7.5/10)