ชีวิต คืออะไร?
ถ้าเราต้องเล่าชีวิตของเราเอง หรือชีวิตใครสักคน การเล่าตามความจริงเป๊ะๆ มันจำเป็นแค่ไหน… เราจะเล่าแบบปรุงรสเพิ่มอีกหน่อย จะได้ไหม?
ถ้าเราเล่าเรื่องตัวเองแบบเติมสีสัน จะถือว่าเป็นการบิดเบือนไหม?
ถ้าบางครั้งความจริงของชีวิตมันไม่สนุก หรืออาจไม่สวยงาม แต่หากเราเลือกจะเล่าให้มันน่าฟังกว่า จบสวยกว่า นั่นจะถือว่าผิดไหม?
คำถามเหล่านี้คงได้คำตอบต่างกันไปตามสไตล์ของแต่ละคน บางคนที่ยึดถือความจริงเป็นที่ตั้งก็อาจไม่ชอบให้ใครมาเล่าเรื่องโม้ๆ ปรุงๆ เหมือนหลอกคนฟังประหนึ่งเป็นคนโง่
แต่ผู้เล่าอาจไม่ได้อยากโกหก ไม่ได้คิดว่าใครโง่ เขาแค่อยากให้รสชาติของการเล่ามันอร่อยมากขึ้นก็แค่นั้น…
เกินจริง โกหก ใส่สี ปรุงรส จะโอเคหรือไม่อาจขึ้นกับบริบท ถ้าเราเล่าเรื่องเพื่อให้ข้อมูลที่ต้องเน้นความจริง เช่นให้ปากคำ เล่าเหตุการณ์เพื่อให้ความเป็นธรรมกับใครสักคน หรือข้อมูลสำคัญที่จะมีผลกับชีวิตคน อันนี้เราก็ต้องว่ากันตามจริง
แต่ในบางครั้งการเล่าเรื่องให้ลูกหลานฟัง โดยคงสาระไว้แต่เติมรสเข้าไป หรือการเพิ่มความหวือหวาให้กับเรื่องธรรมดาที่เราพบเจอ แล้วเอามาบอกเล่าให้เพื่อนฟัง เขียนให้คนอ่านผ่านบล็อก หรือเฟซบุ๊ค มันก็น่าจะถือเป็นสีสันชั้นดีประการหนึ่งให้กับโลกของเรา
โลกที่ปราศจากเรื่องเล่า ก็คงไม่ต่างจากหนังสือเรียนที่เรียบเรียงอย่างทื่อๆ อ่านแล้วชวนให้ตื้อมากกว่าจะกระตุ้นให้ฉลาด
นั่นคือความคิดคร่าวๆ ที่ลอยไปมาในหัวระหว่างดู Big Fish หนังที่ผมเข้าไปดูในโรงตอนมันเข้าฉาย แม้รอบจะน้อยแค่ไหน แต่ลองว่าเป็นหนังป๋า Tim Burton มันก็ต้องเข้าไปคารวะกันสักหน้อย นับไปนับมาก็ปาเข้าไป 20 ปีแล้วนะครับ ผมเพิ่งเอามาดูใหม่อีกรอบ ความรู้สึกชอบก็ยังคงอยู่ไม่จางไปไหน แล้วการได้ดูตอนอายุมากขึ้น (นี่พยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “แก่” แบบสุดลิ่้มแล้วนะนี่ 555) ก็ได้ความคิดแบบที่ผมร่ายไปข้างต้นโผล่ขึ้นมาในหัวนั่นแหละครับ
ตัวเอกของเรื่องคือ เอ็ดเวิร์ด บลูม (Albert Finney) คุณพ่อนักเล่าเรื่องที่ชอบสาธยายเรื่องราวชีวิตวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยสีสันและแปลกพิสดารของเขา แม้ใครต่อใครจะชื่นชอบแต่ วิลล์ (Billy Crudup) ลูกชายของเขากลับไม่สบอารมณ์ เพราะเขามองว่าทุกครั้งที่พ่อเล่าเรื่องตัวเองในเวอร์ชั่นปรุงแต่งใส่สีนั้นมันช่างเป็นการเสแสร้ง เหมือนโกหกตัวเอง และหลอกลวงคนอื่น ทำให้พ่อลูกคู่นี้มองหน้ากันไม่ติดมากขึ้นเรื่อยๆ
หนังแบ่งเล่าเรื่องออกเป็น 2 ส่วนครับ ส่วนแรกก็ว่าด้วยสัมพันธภาพที่ไม่ดีนักระหว่างเอ็ดเวิร์ดกับวิลล์ ส่วนที่ 2 ก็คือการเล่าเรื่องสมัยหนุ่มของเอ็ดที่ต้องพบเจอกับเรื่องแปลกๆ มากมายทั้งแม่มด, ยักษ์, พี่น้องคู่แฝดตัวติดกัน ฯลฯ ซึ่งการเล่าเรื่องก็ถือว่าน่าติดตามดีครับ ดูสนุกเพลิน ในส่วนของแฟนตาซีนั้นไว้ใจป๋า Tim อยู่แล้วครับ ถ่ายทอดออกมาได้น่าสนใจ แต่ในด้านเนื้อหาเชิงดราม่าหรือความสัมพันธ์พ่อลูกอันนี้แม้จะออกมาดี แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นยอดเยี่ยม ซึ่งนั่นก็เป็นอะไรที่เผื่อใจอยู่ก่อนแล้วน่ะครับ เวลาดูหนังป๋า Tim สิ่งที่ไว้ใจได้คือเรื่องเพี้ยนๆ เรื่องจินตนาการและอารมณ์ขัน แต่ถ้าเป็นเรื่องของมิติตัวละครแล้วก็มีทั้งที่พี่ท่านทำได้และทำยังไม่ถึง แต่กระนั้นเท่าที่เป็นอยู่ในหนังก็ถือว่าดีในระดับหนึ่งแล้วล่ะครับ
ในมุมหนึ่งผมคิดว่าการนำเสนอแบบที่เห็นในหนังนั้นคงจะพอเหมาะกับเรื่องราว เพราะหนังตั้งใจจะบอกเล่าตัวตนของเอ็ดเวิร์ดในแบบนี้ ในแบบนักเล่าเรื่องอารมณ์ดีมากกว่าจะลงลึกในส่วนของมิติจิตใจ เช่น อะไรทำให้เอ็ดเวิร์ดมีพฤติกรรมเป็นนักเล่าอารมณ์ดีที่ชอบเติมสีสันให้ชีวิต, อะไรทำให้ซาร่าห์รักในตัวเอ็ดเวิร์ด (ซึ่งมันคงจะมีอะไรมากกว่าที่เอ็ดเวิร์ดเล่ามา) ซึ่งอันนี้ก็พอเข้าใจได้ครับ ว่าหนังอยากเล่นและเน้นกับบุคลิกนักเล่าของเอ็ดมากกว่า
แต่เพราะเหตุนั้นหากมองในอีกมุม คนดูก็อดรู้สึกเหมือนวิลล์ไม่ได้ครับ นั่นคือรู้สึกว่าเรายังไม่ได้รู้จักเอ็ดเวิร์ดจริงๆ ไม่ซึมลึกถึงตัวจริงของเขา ไปๆ มาๆ คนที่เราได้รู้จักจริงๆ ก็คือวิลล์ ลูกผู้ไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อทำ (หรือพยายามทำ) แต่สิ่งสำคัญที่คนดูได้เรียนรู้จากเรื่องทั้งหมดก็คงเหมือนที่วิลล์ได้เรียนรู้น่ะครับ นั่นคือ เราอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจคนสักคนให้หมดทุกมุม เราอาจไม่จำเป็นต้องขุดลึกไปให้เจอตัวตนของใคร แค่เรายอมรับในตัวตนที่เขาแสดงออก แค่เราพยายามเข้าใจในสิ่้งที่เขากระทำ นั่นก็อาจเพียงพอแล้วสำหรับการรู้จักใครสักคน เพราะบางครั้งธงที่เราตั้งในใจเกี่ยวกับตัวตนของใคร มันอาจจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็ได้
ผมชอบในบทสรุปของเรื่องครับ มันสวยงาม มันสอดรับกับสิ่งต่างๆ ที่หนังบอกเล่า มันคือบทสรุปที่ใช่ แต่ก็นั่นล่ะครับ ในใจลึกๆ ยังอดรู้สึกเล็กๆ ไม่ได้ว่าถ้าการเล่าเรื่องในหนังมันเปิดปมเฉลยบางมุมของเอ็ดเวิร์ด ให้เราได้สัมผัสด้านมนุษย์ธรรมดาของเอ็ดเวิร์ดมากขึ้นอีกนิด เราก็อาจจะเข้าถึงเรื่องราวได้มากกว่าเดิมก็ได้
แต่ยังไงผมก็ชอบหนังเรื่องนี้ครับ Ewan McGregor ถ่ายทอดบทของเอ็ดเวิร์ดวัยหนุ่มได้อย่างน่าสนใจ ส่วน Finney ก็รับช่วงเป็นเอ็ดตอนแก่ได้พอเหมาะ พวกเขาแสดงกันได้ดีเท่าที่บทเอื้ออำนวยครับ ยอมรับว่าผมเคยรู้สึกทำนองนี้กับหนังของป๋า Tim มาก่อน เรื่อง Ed Wood ไงครับ (แปลกดีที่ตัวเอกชื่อเอ็ดเวิร์ดเหมือนกัน) เรื่องนั้นดูสนุก ดาราก็ดี แต่ลึกๆ แล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเรายังไม่ได้รู้จักแง่มุมของตัวเอกเท่าที่ควร
หรือถ้าคิดในอีกแง่ ป๋า Tim แกอาจจะไม่ได้ต้องการให้คนรู้จักตัวเอกแบบลึกซึ้ง แต่ให้คนดูได้รับรู้เบื้องหน้าเท่าที่เขาเป็น จากนั้นก็ปล่อยให้เราไปต่อเติมจินตนาการถึงสิ่งที่ตัวเอกเป็นเอาเอง หลังดูหนังจบ… สำหรับบางคน การเล่าแบบนี้ทำให้ตัวละครนั้นๆ มีชีวิตในหัวเราได้นานกว่า เพราะตัวละครนั้นยังคงมีความลับให้ใจเราลองค้นหาอยู่เรื่อยๆ
Crudup มีโอกาสแสดงอะไรหลากอารมณ์มากสุดครับ แล้วเขาก็ดูเหมาะดีโดยเฉพาะตอนไคลแม็กซ์ครับ ในขณะที่ Jessica Lange และ Alison Lohman เจ้าของบทซาร่าห์ตอนแก่และตอนสาว (ตามลำดับ) ก็ดูน่ารักดีครับ เพียงแต่ก็เหมือนกับบทเอ็ดเวิร์ดนั่นแหละ ไม่ค่อยได้มีโอกาสแสดงอะไรนัก
ดาราสมทบในเรื่องออกจะโดดเด่นกว่าครับ ไม่ว่าจะ Helena Bonham Carter ที่มารับบทแม่มดลึกลับและสาวน้อยเจนนี่ (ไม่แน่ว่าอาจเป็นบทเดียวกันก็ได้ ^^), Steve Buscemi ในบทกวีที่มาพร้อมลีลาเพี้ยนๆ ตามแบบของพี่แก, Marion Cotillard ในบทโจเซฟิน คนรักของวิลล์, Danny DeVito ในบทเจ้าของคณะละครสัตว์ และ Deep Roy ในบทมิสเตอร์ซองกี้บ็อทท่อม แต่ละเจ้าก็ขโมยซีนกันไปตามโอกาสจะอำนวยครับ
ครับ ผมอาจเหมือนจะบ่นในส่วนของดราม่าหรือมิติตัวละคร แต่เชื่อเถอะครับว่าความดีที่หนังมีนั้นมีมากอยู่ ในส่วนของแฟนตาซี ภาพสวยๆ การออกแบบภาพแปลกๆ สไตล์ป๋า Tim ยังคงเป็นส่วนดีที่ชวนให้หนังน่าดูไปจนจบ และดนตรีโดย Danny Elfman ก็ยังเข้ากับโทนหนังดราม่าแฟนตาซีเรื่องนี้ด้วยครับ
เมื่อหนังดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ผมว่าหนังก็มอบอะไรง่ายๆ ให้เราอย่างหนึ่งนะ… วิลล์พยายามค้นหาและบอกให้พ่อแสดงตัวตนที่แท้ออกมา แต่ถึงที่สุดแล้ววิลล์ก็เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อทำประจำ สิ่งที่พ่อแสดงออกเสมอนั่นแหละคือตัวตนของพ่อ เราอาจมองแบบตีค่าว่าตัวตนที่เอ็ดเวิร์ดแสดงนั้นออกแนวเสแสร้ง ไม่อยู่กับความเป็นจริง… ว่าแต่ความจริงคืออะไร
การทำอะไรแบบใส่สีเติมไข่ ก็อาจเป็นความจริงชนิดหนึ่งที่มนุษย์เรากำหนดนิยามว่ามันไม่ใช่ความจริง มันไม่ใช่ความจริงตามมาตรฐานทั่วไปที่เรารับรู้กัน
บางครั้งคนเราก็พยายามแหวกผ่านคำลวงเพื่อค้นหาความจริง ทั้งที่ความจริงนั้นอาจอยู่ตรงหน้าเรามาตลอด… ความจริงมันอาจเผยตัวออกมาในรูปแบบของคำลวง คำเกินจริง หรือคำเพ้อฝัน
ความจริงมีหลายระดับชั้น คำเล่าเกินจริงก็มีหลายโฉมหน้า คนที่จะกลั่นกรองไตร่ตรองเกี่ยวกับมัน ก็คงต้องเป็นเรา
คนมักพูดเสมอว่า เราควรอยู่กับความเป็นจริง อยู่บนโลกแห่งความจริง หรือเข้าใจถึงหลักความจริง
และความเป็นจริงประการหนึ่งก็คือ โลกเรามีทั้งคำจริง และคำเกินจริง ซึ่งบางทีคำจริงก็มีพิษเจือพอๆ กับคำลวง ในขณะที่คำเกินจริงก็กระตุ้นจินตนาการได้มากกว่าคำจริง (และความจริงของแต่ละคน ไม่เคยเท่ากัน)
หนังเรื่องนี้ ดีจริงสำหรับผม
สามดาวครับ
(8/10)