Action

RoboCop (2014) โรโบคอป

RoboCop-2014-Movie-Poster

อเล็กซ์ เมอร์ฟี่ย์ (Joel Kinnaman) นายตำรวจมือดีที่ประสบเหตุลอบฆ่าจนอาการปางตาย แต่แล้วเขาก็ถูกนำตัวไปสร้างเป็นตำรวจเหล็กนามว่า โรโบคอป มีหน้าที่คอยออกปราบเหล่าร้ายให้หมดสิ้น

RoboCop ฉบับรีเมคนี้มีพล็อตหลักคล้ายของเดิมครับ แต่รายละเอียดหลายๆ อันก็ถูกปรับให้เข้าสมัยขึ้น ซึ่งถ้าว่ากันแบบไม่อ้อมค้อมก็คงต้องบอกว่ายังชอบ RoboCop ฉบับดั้งเดิมมากกว่าอยู่พอสมควรครับ

ผมว่า RoboCop ของเก่ามันลงตัวนะ มันเน้นไปที่แอ็กชันมันส์ๆ เนื้อเรื่องก็เข้มข้นพอเหมาะ มีจุดพลิกผัน มีจุดพีคให้คนดูลุ้น แล้วยังมีความแรงและการจิกกัดสังคมใส่ลงไป ในขณะที่ด้านดราม่านั้นก็มีครับ เพียงแต่หนังใช้เวลาไปกับซีนดราม่าไม่มากนัก ทว่าที่บอกว่ามีไม่มากน่ะ ไม่ได้แปลว่าด้านดราม่าจะแบนราบนะครับ ผมว่าหนังต้นฉบับสามารถใช้ฉากไม่กี่ฉากบรรยายปมดราม่าได้แบบครบถ้วน และถึงอารมณ์โดยไม่ต้องสาธยายยาว

แค่ให้โรโบคอปเดินรอบบ้านเก่าของเขา ให้เขามองหน้าตัวเองตอนถอดหน้ากาก และตอนสุดท้ายที่เขาเอ่ยนามตัวเองออกมาว่า “เมอร์ฟี่ย์” มันบอกอะไรได้ครบครับ ดังนั้นด้านดราม่าในภาคต้นฉบับที่ดูเหมือนจะน้อย แต่กลับแน่นและทำให้โรโบคอปกลายเป็นเมอร์ฟี่ย์แบบเต็มตัวในสายตาผู้ชม

ในขณะที่ RoboCop ฉบับใหม่เน้นดราม่ามากขึ้น มีบทบาทลูกและภรรยาของเมอร์ฟี่ย์มาเป็นเงื่อนไขมากขึ้น แต่ปมเหล่านี้กลับยังดูไม่เข้มข้นนัก

ไปๆ มาๆ ถ้าจะพูดถึงดราม่าแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าตัวละครอย่าง ดร.เด็นเน็ท นอร์ตัน (Gary Oldman) ผู้สร้างโรโบคอปยังทำให้คนดูสัมผัสอารมณ์ดราม่าได้มากกว่า อย่างฉากที่เมอร์ฟี่ย์เห็นสภาพตัวเองแล้วอึ้ง จากนั้นดร.นอร์ตันก็พูดไม่ออก ได้แต่แสดงความเห็นใจผ่านออกมาทางสีหน้าและแววตา ผมว่าฉากสั้นๆ แบบนี้มันให้อารมณ์ดราม่าได้พอเหมาะแล้วล่ะ

ยอมรับครับว่าลึกๆ แล้ว การดู RoboCop ก็เพราะอยากได้อะไรมันส์ๆ มาตอบสนองต่อมแอ็กชันในตัวเอง ซึ่งการที่หนังพยายามจับดราม่าให้เยอะขึ้น ก็เลยเท่ากับเป็นการลดอัตราส่วนของแอ็กชันลงไปโดยปริยาย

นอกจากนี้หนังยังเพิ่มในส่วนของการ “จิกกัดสังคม” ผ่านทางตัวละครที่ชื่อแพ็ท โนแว็ก (Samuel L. Jackson) เจ้าของรายการข่าว (ออกแนวเรื่องเด่นเย็นนี้อะไรประมาณนั้นน่ะนะครับ) ที่ชอบเสียดสีรัฐบาล จิกกัดคนไปทั่ว อันนี้มองในแง่หนึ่งก็พอเข้าใจว่าหนังอยาก “อัพเกรด” สิ่งที่มีในภาคที่แล้วให้มันดูเป็นเรื่องเป็นราวและเข้าสมัยมากขึ้น ซึ่งภาคต้นฉบับแล้ว การเสียดสีสังคมมันจะมี 2 แบบ แบบแรกเสียดสีผ่านรายการข่าวและโฆษณาที่ยิงแทรกเป็นซีนสั้นๆ ส่วนแบบที่ 2 คือแทรกผสมลงไปกับเนื้อเรื่อง ซึ่งผมว่าแบบเก่ามันไม่ต้องใช้เวลามาก ไม่ต้องเบียดเวลาประเด็นอื่นๆ ของหนังสักเท่าไร คือแทนที่ต้องทำฉากแอ็กชันทีแล้วก็ทำฉากจิกกัดที เขาก็รวมให้เป็นหนึ่งเดียวแล้วนำเสนอแบบเสร็จสรรพไปเลย

ของเก่าเราเลยได้ทั้งความมันส์พร้อมการจิกกัดสะท้อนสังคมไปพร้อมๆ กัน

แต่กับฉบับใหม่นี้ รายการของแพ็ท โนแว็กที่แม้จะจิกสังคมตามคอนเซปต์ แต่ก็เบียดเวลาสำหรับแอ็กชันและการสืบสวนของโรโบคอปไปไม่น้อยเหมือนกัน

robocopheader

ที่ร่ายมายาวนี่ก็เพื่อจะบอกว่า สำหรับ RoboCop ฉบับใหม่นี้ ในแง่ของแอ็กชันแล้ว มีไม่มากเท่าไร และที่มีไม่มากนี่ก็ยังไม่ค่อยโดนใจสักเท่าไรนัก

โดยส่วนตัวแล้วผมว่าทีมงานพยายามทำให้ RoboCop ภาคใหม่นี้มีครบทุกรส (ทั้งแอ็กชัน, ไซไฟ, ดราม่า และเสียดสีสังคม) โดยการสร้างแต่ละซีนขึ้นมา ก็เพื่อกล่าวถึงแต่ละรสแบบเต็มๆ ชัดๆ มันเลยต้องใช้เวลาเล่าเยอะ แต่ลึกๆ ผมกลับมองว่านั่นไม่จำเป็นนัก เพราะการทำออกมาแบบรวมหลายรสในซีนเดียว (แบบภาคแรก) มันก็สนุก มันก็ออกมาครบรส และให้สาระความคิดได้เหมือนกัน

ในแง่ตัวร้าย ก็ยังไม่ถือว่าร้ายมากมาย แม้ Michael Keaton จะแสดงบท เรย์มอนด์ เซลล่าร์สได้แบบน่าพอใจ แต่เพราะดีกรีความร้ายไม่มากนัก เลยทำให้ความอร่อยและความสะใจในส่วนนี้เลยลดลงไป… ความร้ายและความเก่งของตัวร้ายนั้น มันเพิ่มดีกรีความสนุกให้หนังได้เยอะอยู่ครับ

สรุปว่าทั้งเรื่องผมชอบ Oldman สุดๆ ครับ พี่แกเล่นได้ยอดเยี่ยม น่าจดจำ ดูเป็นตัวละครที่มีมิติมากที่สุด มีความกลัว ความโกรธ ความกล้า และที่สำคัญคือมีคุณธรรมในใจ ถือเป็นบทที่ดูมีมิติและดูน่าเอาใจช่วยมากกว่าพี่โรโบซะอีก (555)

เมื่อมองย้อนไป จุดเด็ดอีกอย่างของฉบับเก่าคือ โรโบคอปจะดูมีความเป็นหุ่นมากกว่าเป็นคน นั่นทำให้เวลาพี่แกพูดจาจะชอบพูดสั้นๆ แต่ออกแนวพูดน้อยต่อยหนัก พูดไม่ยาว แต่พูดทีไรได้ประโยคเด็ดๆ โดนๆ หรือบางครั้งก็พูดเหมือนติดตลกค้านกับการกระทำ อย่างแกพูดว่า “นั่งก่อนสิ” แต่มือน่ะผลักไอ้หมอนั้นกระเด็นไปอัดกับตู้เกมแล้ว อะไรอย่างนั้นเป็นต้น ในขณะที่พี่โรโบของใหม่ยังดูมีความเป็นคนมากกว่า เหมือนหลายอย่างยังเหมือนเดิม แค่อวัยวะต่างๆ เป็นหุ่นเท่านั้นเอง

คิดไว้แล้วล่ะครับ ว่าผมคงชอบของเก่ามากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ของแปลกนะครับ คนเราชอบต่างกันได้ บางคนอาจชอบของใหม่มากกว่า นั่นย่อมแล้วแต่รสนิยม แต่สำหรับผมแล้ว ของเก่ามันโดนใจกว่า เอามาดูใหม่ก็ยังมันส์ ยิ่งช่วงท้ายตอนพี่โรโบค่อยๆ เก็บตัวร้ายทีละรายๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเล่นงานตัวบอสใหญ่นั้น มันสะใจและไล่ระดับความตื่นเต้นได้ดีจริงๆ

และในประเด็นความรุนแรงนั้นจริงๆ ทั้งผู้กำกับ Padilha และพระเอกอย่าง Kinnaman ต่างก็สู้สุดใจที่จะให้หนังออกมามีกลิ่นอายความรุนแรงแบบต้นฉบับ หมายมั่นเลยว่าจะให้ออกมาเรต R แต่เนื่องจากทุนสร้างมันบานปลายเป็นร้อยล้านครับ ผู้สร้างเลยสั่งลงมา (แกมบังคับ) ว่าต้องไม่รุนแรงมาก ต้องได้เรต PG-13 (เพื่อให้ตลาดผู้ชมกว้างขึ้น) ถึงขั้นส่งคนมาจับตาผู้กำกับให้แน่ใจว่าหนังจะต้องออกมาไม่เกินเรต PG-13 นั่นจึงทำให้โรโบคอปภาคนี้ไม่รุนแรงเท่าของเก่าครับ

ในแง่ของรายได้ จริงๆ ก็ไม่เลวนะครับ ทำไป $242 ล้านจากทั่วโลก จากทุนประมาณ $100 ล้าน เพียงแต่ทำเงินในบ้านไปไม่มากเท่านั้นแหละ (ทำไปแค่ $58 ล้านครับ)

สองดาวครับ

Star21

(6/10)