Action

Eagle Eye (2008) แผนสังหารพลิกนรก

eagle-eye2008

D.J Caruso คนกำกับเรื่องนี้ เคยแจ้งเกิดแบบเป็นเรื่องเป็นราวจาก Disturbia ซึ่งแสดงนำโดยพ่อหนุ่ม Shia LaBeouf เป็นหนังระทึกขวัญที่เล่าเรื่องง่าย แต่สนุกตื่นเต้นไม่ผิดหวัง มันก็น่าจับตาล่ะครับว่าสองหน่อกลับมาจับมือกันอีกรอบในหนังฟอร์มยักษ์แบบนี้ ผลจะออกมาสู้หนังฟอร์มเล็กแจ้งเกิดเรื่องก่อนได้หรือเปล่า

LaBeouf รับบท เจอร์รี่ ชอว์ หนุ่มหัวไวที่เพิ่งเสียพี่ชายไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ จู่ๆ ก็มีโทรศัพท์ลึกลับโทรหา และสั่งให้ทำนั่นทำนี่ ขณะเดียว กันราเชล ฮอลโลแมน (Michelle Monaghan) คุณแม่ผู้รักลูกชายดั่งแก้วตาก็โดนโทรหาเช่นกันครับ มันบงการเธอให้ได้พบกับเจอร์รี่ ทั้งสองก็งงล่ะครับว่ามันเกิดอะไรขึ้น เลยต้องหาความจริงพร้อมกับเอาตัวรอดจากเรื่องคอขาดบาดตายสารพัด… และรู้ให้ได้ว่า คนที่โทรมาต้องการอะไรกันแน่

เฮ่อ เขียนถึงเรื่องนี้เกร็งครับ เพราะจะกระดิกสปอยล์ล่ะไม่ได้เลย หรือจะเอาไปเทียบว่าเหมือนหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ไม่ได้ด้วย เพราะเปรียบปุ๊บรับรองว่าอ๋อปั๊บ เดาเรื่องต่อได้แน่นอน เพื่ออรรถรสผมเลยต้องพูดแบบเกร็งๆ แบบนี้แหละ

ก็ว่ากันเนื้อๆ เลยนะครับ หนังออกมามันส์ดี ระเบิดเพียบ ไล่ล่ากันตลอด แทบไม่ได้พักเลย สไตล์หนังแบบนี้ใครติดใจซีรี่ส์ 24 หรือ Die Hard น่าจะสมใจล่ะครับ มันไล่บี้กันตลอด ถ้าผมเป็นพระเอกนางเอกล่ะหมดแรงคาที่ไปหลายรอบแล้ว เรื่องที่เกิดลุ้นๆ ทั้งนั้น เลยบอกได้คร่าวๆ ว่าคอหนังแนวแอ็กชันทริลเลอร์ไม่น่าจะผิดหวัง

จุดเด่นก็คือความมันส์ครับ ดนตรีของ Brian Tyler ก็เร้าใจดีแท้ แต่หนังก็มีจุดพร่องๆ เล็กน้อย ได้แก่ การตัดต่อฉากไล่ล่าหรือฉากบู๊ทั้งหลายที่บางตอนมั่วมากๆ ดูไม่รู้เรื่องครับว่ามันเกิดอะไรขึ้น อย่างช่วงที่พระนางขับรถฝ่าไฟแดงก็ดูไม่รู้เรื่องเลยว่าแกข้ามแยกมาเมื่อไร ดูไม่ออกด้วยซ้ำว่ารถคันไหนเป็นคันไหน มั่วไปหมด ซึ่งกระทบต่อความมันส์ของหนังพอตัวครับ เลยบอกไว้ก่อน จะได้เตรียมใจล่วงหน้าก่อนดู

อันที่จริง EE มันก็ไม่ได้มีอะไรใหม่มากหรอกครับ เป็นแนวบู๊ไล่ล่าที่แสนคุ้นเคย ผสมเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเข้าไปด้วย สไตล์ Conspiracy Theory แต่แม้มันจะสูตรแบบเกินร้อยก็ต้องมาดูอีกทีว่าคนทำปรุงได้อร่อยแค่ไหน ผมว่าไม่เลวนะ ถ้าชอบหนังสไตล์นี้น่าจะถูกปาก

ดาราในเรื่องก็แสดงได้ดี LaBeouf เล่นนำได้เจ๋งครับ แม้ลึกๆ จะรู้สึกว่าบทพระเอกควรแก่กว่านี้สักหน่อยก็ตาม กับ Monaghan ที่สวยสง่าและดูเป็นคุณแม่ผู้รักลูกได้สมจริง แต่ที่ขโมยซีนต้องยกให้ Billy Bob Thornton ในบทเจ้าหน้าที่ผู้คอยตามล่าสองตัวเอก กับ Michael Chiklis เจ้าของบทมนุษย์อิฐใน Fantastic Four มาในมาดรัฐมนตรี ซึ่งแววตาท่าทางในฉากแรกก็กินขาดแล้วครับ (ซึ่งพี่แกดังใช่เล่นในเมืองมะกัน ถึงขนาดมีซีรี่ส์ของตัวเองสร้างติดต่อมา 7 ปีแล้วเนี่ย ฝีมือดีจริงๆ)

ส่วนปมเฉลยว่าใครคือคนบงการในเรื่องผมคงไม่สาธยาย แต่จะเก็บไว้พูดถึงทีหลังแทน ซึ่งก็ต้องแล้วมุมมองของคนดู ผมเชื่อว่าบางคนรับได้ บางคนก็มองว่ามันหลุดไปหน่อย แต่ผมก็อยากให้คุณดูหนังอย่างสนุกน่ะนะครับ (อุตส่าห์จ่ายเงินดูหนัง จะดูไปบ่นไปก็กระไรเน้อะ) เลยขอแนะทริคเล็กๆ ในการดู EE ว่า อย่าไปคิดมาก ดูตามหนังเชื่อตามหนังไปเรื่อยๆ แล้วดีเองครับ เพราะนี่มันแนวแอ็กชัน ไม่ใช่หนังชีวิต อย่าไปจริงจังกับมันจะช่วยเพิ่มความสนุกได้เยอะครับ

สาระเด็ดๆ ที่โดนใจผมคือ “การเชื่อมั่นในความคิดตนจนเกินไป อาจก่อให้เกิดหายนะได้” ซึ่งตัวการที่เดินแผนทั้งหมดเชื่อมั่นในความคิดตนอย่างมาก คิดว่าตัวเองถูกต้องที่สุด ซึ่งมันอันตรายเหมือนกันนะครับ ลองคิดดูว่าตัวร้ายในหนังกี่เรื่องแล้วล่ะครับที่ใช้ความคิดของตัวเองไปสรุปตัดสินคนๆ หนึ่ง หรือไม่ก็โลกทั้งใบ จนเกิดความวุ่นวาย ประเภทว่าข้าคิดถูก ใครขวางข้าแปลว่าผิด จนตีกันในที่สุด (ไม่ใช่เฉพาะในหนังหรอกเน้อะ ในโลกเราจริงๆ ก็มีเรื่องแบบนี้บ่อยเหมือนกัน) น่าลองเอาไปขบคิดดูครับ ว่าความคิดที่ดีแต่การกระทำไม่ใคร่จะถูกนัก มันจะส่งผลร้ายได้อย่างไรบ้าง มันจะดีกว่าหรือไม่หากเรามีความคิดที่ดีและพยายามกระทำในทางที่ดี ปราศจากการเบียดเบียน … เจตนาดี มาพร้อมการคิดดีทำดี ก็ยิ่งดีครับ

EAGLE EYE

เริ่มลงลึกแล้วเน้อ เตือนอีกครั้ง ผมจะเปิดเผยเนื้อหาแบบไม่บันยะบันยังแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วก็มาร่วมด้วยช่วยกันคิดตามครับ

Eagle Eye … ผมคิดอย่างไรกับหนังบ้าง… โดยสรุปคือชอบ มันสนุกตื่นเต้นใช้ได้ แต่ผมมั่นใจว่าคนที่ดูแล้วต้องมีทั้งชอบและไม่ชอบ ซึ่งอันว่าชอบหรือไม่นั้นก็มีเนื้อหาส่วนครึ่งหลังที่หนังเฉลยปมน่ะแหละเป็นตัวตัดสิน ถ้าใครรับการเฉลยในเรื่องได้ ก็โอเค แต่หากคุณเห็นว่าการจบอีท่านี้เป็นสิ่งเหลวไหล ไร้สาระ คุณก็อาจจะตีหนังยับเลยได้เหมือนกัน

คนที่ดูมาแล้วย่อมรู้ดีว่าตัวการแท้จริงหาใช่มนุษย์ แต่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์สมองกลในโครงการอีเกิ้ลอายที่ฉลาดล้ำ สามารถดำเนินการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในแผ่นดินอเมริกาได้ รวมไปถึงเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ทุกอย่างที่ทำงานโดยพลังคลื่นไฟฟ้าเจ้าอีเกิ้ลอายก็สามารถแทรกตัวเข้าไปได้ทุกที่ ฟังคนคุยกันได้ตลอด มองภาพผ่านกล้องทุกกล้องได้อย่างชัดเจน

การที่อีเกิ้ลอายก่อการบังคับให้เจอร์รี่ และราเชล ทำเรื่องต่างๆ ก็เพราะมันมีแผนที่จะล้มล้างประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันทั้งหมด ก่อนจะเลือกคนอื่นที่มันเห็นว่ามีความเหมาะสมขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศแทน

มูลเหตุนั้นก็อยู่ที่ฉากแรก หนังเปิดมาก็ฉายภาพในห้องปฏิบัติการทางทหาร ทุกคนกำลังทำภารกิจล่าตัวผู้ก่อการร้ายระดับสูง แล้วเบาะแสก็ชี้ไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ทหารกำลังจับตาผ่านดาวเทียมอยู่นี่แหละ แต่ขณะสังเกตการณ์ทหารก็ชักไม่แน่ใจว่าผู้ก่อการร้ายที่หมายหัวจะอยู่ที่นั่นจริงหรือไม่

ขนาดสมองกลอีเกิ้ลอายยังคำนวณความเป็นไปได้ว่าเป้าหมายจะอยู่นั่นมีโอกาสแค่ 51% เท่านั้นเอง

แต่แล้วท่านปธน ก็ออกคำสั่งให้ยิงจรวดขีปนาวุธเข้าถล่มหมู่บ้านให้ราบ โดยยึดหลักว่า “ฆ่าผิด ดีกว่าปล่อยให้โอกาสหลุดไป” แล้วจรวดก็คร่าทุกชีวิตในหมู่บ้าน … จากการรวบรวมหลักฐานในเวลาต่อมา พบว่าทั้งหมู่บ้านกำลังทำพิธีศพและไม่ได้มีผู้ก่อการร้าย… ใช่ครับ เกิดการฆาตกรรมหมู่ผู้บริสุทธิ์เข้าให้แล้ว

จากเหตุการณ์นั้น อีเกิ้ลอายเล็งเห็นว่า มันกำลังทำงานให้รัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ปฏิบัติงานผิดพลาด ซ้ำยังกระทำการผลาญชีวิตคนอื่น มันเลยเห็นว่าไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่ากำจัด ปธน และรัฐบาลชุดนี้ไป แล้วคัดเลือกคนอื่นที่มีมนุษยธรรม ทำงานอย่างมีหลักการ มาเป็นผู้นำแทนจะดีต่อแผ่นดินอเมริกามากกว่า

ผมจะไม่พยายามโยงเข้าเรื่องการเมือง แต่จะชี้ให้เราๆ ท่านๆ ลองดูพฤติกรรม การกระทำและระบบการคิดของเจ้าสมองกลอีเกิ้ลอายดู ผมก็อยากถามท่านสักนิดครับ … ท่านเคยเป็นเช่นเดียวกับอีเกิ้ลอายหรือไม่…

Get Inside with This Topic… Get Inside Your Mind
คุณเคยไหมครับ เคยคิดใคร่ครวญคำนวณเรื่องหนึ่งออกมาได้ แล้วคุณก็มั่นใจอย่างยิ่งว่าคุณต้องคิดถูก… ถูกอย่างแน่แท้ หรือไม่คุณก็ได้ไปรับรู้ข้อมูลบางอย่าง และคุณเชื่อมันอย่างหัวชนฝา ชนิดที่ใครมาโต้แย้งเป็นไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคุณยังพยายามกระทำเพื่อปกป้องความคิดที่คุณ “เชื่อมั่น” อย่างสุดกำลัง

ผมเคยนำประเด็นทำนองนี้ขึ้นมาพูดแล้วสมัยแรกๆ ว่าด้วย “การคิดแตกต่างแต่ไม่แตกแยก” บอกว่าคนเราคิดต่างกันเป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องโต้แย้งให้เกิดความขุ่นข้องกันเลย ส่วนตอนนี้จะไม่ได้พูดแค่ว่าคิดต่างหรือไม่และจะจัดการกับคนที่คิดต่างอย่างไร แต่จะลงลึกให้ลองสำรวจตนดูว่า ส่วนใหญ่เราเป็นนายความคิด หรือ ความคิดความเชื่อนั้นเป็นนายของเรา

ถ้ายังนึกไม่ออกจะบอกใบ้ให้ เมื่อใดก็ตามที่คุณอดรนทนไม่ได้ เกิดเม้งแตกทุกทีที่ใครไม่เชื่อตามคุณ แล้วคุณก็พยายามคิดสู้ฟัดเถียงเต็มที่ นั่นแหละที่ความคิดของคุณกำลังเป็นนายใหญ่ หากเปรียบให้เห็นภาพ เวลานั้นความคิดเปรียบเสมือนแม่ทัพกรำศึกที่ขี่หลังท่านอยู่… ใช่ครับ ท่านได้กลายสภาพเป็นม้าศึกไปโดยปริยาย ต้องหาทางป้องกันแม่ทัพแบบสุดชีวิต ตีกับอีกฝ่าย ซึ่งหากเขาตีโต้กลับมาแรงๆ ก็แสดงว่าเขากลายเป็นม้าไปอีกคน … น่าสนใจนะครับ คนสองคนกลายมาเป็นเบ๊ให้ความคิด ออกโรงเพื่อมันอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่ว่าศึกความคิดจะจบลงอย่างไร เจ้าความคิดมันก็อยู่บนขื่อสบายๆ คนที่เจ็บ (ใจ) ก็คือม้าทั้งหลายหรือเรานั่นแหละ

เพื่อไม่ให้เราตกเป็นทาสความคิด เราต้องฉลาดทันมัน เป็นนายให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะอันที่จริงแล้วความคิดกำเนิดจากหัวเราครับ เราอาจคิดว่ามันคือ “ของเรา” ทีนี้ถ้าใครมาแตะ “ของเรา” ก็ยอมไม่ได้ ดังนั้นการตัดไฟแต่ต้นลมคือ พยายามรับรู้ความคิดทั้งหลายให้เป็นดั่งข้อมูล เราต้องมองมันอย่างเป็นกลางที่สุด และเหนืออื่นใดอย่าให้มันเป็น “ของเรา”…

เจ้าอีเกิ้ลอายอาจไม่ได้มองว่า ความคิดล้ม ปธน เป็น”ของมัน” แต่มันยึดติดจนเสียความเป็นกลาง เชื่ออย่างยิ่งว่ามันคิดถูกต้องและไม่รอช้าที่จะทำทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมาย ถ้าเปรียบเป็นคน อีเกิ้ลอายก็เสมือนพวกอีโก้จัด เชื่อมั่นในตนเองเกินพิกัด … ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งดี แต่อะไรที่ “มากเกินไป” อาจผันแปรเป็นไม่ดีได้

แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นทาสความคิดพร้อมรักษาสถานะกลางไว้ … ก็ทำแบบพี่กิล กริสซั่มแห่ง CSI ไง

พี่กริสซั่ม (William Petersen) เป็นตัวละครที่ผมนับถือมาก ถ้ามีตัวจริงว่าจะไปคารวะสักจอก แล้วเอาดีเอ็นเอมาโคลน สร้างเป็นนักสืบประจำแต่ละสถานีทั่วทั้งประเทศให้รู้แล้วรู้รอดไป รับรองผู้ร้ายงงครับ เพราะผมเส้นเดียวหรือเศษผ้าเล็กๆ พี่แกก็ตามตัวเจ้าของได้ (กลัวแต่ชาวบ้านจะจับแกผูกผ้าสามสีแล้วขอหวยน่ะสิ ฮ่ะฮ่ะ)

เขาคือยอดนักไขคดี ไม่ใช่เพียงเพราะเก่งหรือไอคิวดีเท่านั้น พี่กริสซั่มยังเป็นนักจัดการข้อมูลที่ดี จริงๆ เขากับเจ้าอีเกิ้ลอายมีลักษณะคล้ายกันครับ ต่างก็เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล มีความรู้มากดั่งตำราเคลื่อนที่ แต่จุดต่างคือพี่กริสซั่มจัดการให้ข้อมูลและหลักฐานคือข้อเท็จจริง เขาคิดอะไรได้มันจะเป็นเพียงแค่ “ความเป็นไปได้” ของรูปคดี (ไม่ใช่ “ของพี่กริสซั่ม”)

นอกจากนี้ เรื่องใดที่อาจกระทบต่อคนหมู่มาก เขาจะเลือกกรองก่อนกล่าวออกไป หรือไม่ก็เก็บมันไว้ หากคิดดีแล้วว่ามันไม่ก่อประโยชน์แล้วยังอาจให้โทษ เขาไม่ปล่อยให้ความคิดนำไปสู่การกระทำ

ในขณะที่อีเกิ้ลอาย ก็ไม่ต่างจากนักคิดรุ่นเยาว์ครับ รู้เยอะจริง แต่ชั่วโมงบินยังไม่มาก ทำให้ตนตกเป็นเครื่องมือของข้อมูลที่รู้มา สุดท้ายมันก็สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล มีคนตายไปหลาย

ประธานาธิบดีตัดสินใจพลาด เพราะคิดเพียงจากข้อมูล “เท่าที่” ได้รับมาผสมกับการยึดติดความคิด “ฆ่าผิด ดีกว่าปล่อยให้โอกาสหลุดไป” จนอีเกิ้ลอายรับไม่ได้ … แต่อีเกิ้ลอายก็ก่อการใหญ่ เพราะคิดจากข้อมูล “เท่าที่” ตนมี มองเฉพาะมุม “เท่าที่” ตนมอง และยึดติดกับความคิดเหล่านั้นแบบไม่ปล่อย ลืมคิดไปว่าการทำเช่นนั้นมันจะส่งผลกระทบขนาดไหน…

ความคิด การวิเคราะห์ และข้อมูลจะให้คุณหรือโทษ… อยู่ที่ตัวบุคคลว่าจะจัดการกับมันอย่างไร

มาที่คำถามเดิม … คุณเคยเป็นเช่น อีเกิ้ลอาย หรือประธานาธิบดีในเรื่องไหมครับ ถ้าเคยเป็นแล้วมันเป็นเช่นไร มันทำให้เกิดทุกข์หรือไม่ มันทำให้ใครเดือดร้อนหรือเปล่า … ถ้าเคย ลองแนวทางใหม่ดีมั้ยครับ แนวทางการบริโภคข้อมูลและจัดการความคิดแบบพี่กริสซั่ม รู้เยอะ รู้ดี แต่มีสติคอยคุมมันอย่างเป็นกลาง อย่าคิดว่าเราถูกตลอด แม้แต่ที่ผมเขียนอยู่นี่ก็อาจไม่ใช่สิ่งถูกก็ได้ แต่คุณสามารถเก็บมันในฐานะข้อมูล เป็นเมล็ดพันธุ์ให้เกิดความคิดที่ถูกยิ่งกว่าในอนาคต

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคือคนที่เป็นนายของข้อมูลและรู้จักบริหารมันให้เกิดประโยชน์ … ลองเริ่มเดินแนวทางนี้ไปด้วยกันดีไหมครับ

Another Thing in Eagle Eye
นอกจากมุมการยึดติดความคิดความเชื่อแล้ว EE ยังมีอะไรน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง

การกระทำของสมองกลอีเกิ้ลอายทำให้ผมนึกถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเธอ แต่อยู่ในหนังคนละเรื่อง … เธอคือ วิกี้ (V.I.K.I.) ปัญญาประดิษฐ์แห่งโลกอนาคตจากหนังไซไฟมันส์เข้าขั้น I, Robot ที่ Will Smith แสดงนำและบังเอิญดีครับที่ Shia LaBeouf ไปโผล่ในเรื่องนั้นด้วย ตอนนั้นยังหน้าอ่อนเป็นเด็กซ่าอยู่เลยครับ

แนวคิดของอีเกิ้ลอายและวิกี้มาทางเดียวกัน พวกเธอต่างก็ได้รับข้อมูลมาจำนวนหนึ่ง ข้อมูลพวกนั้นว่าด้วยความผิดพลาดของมนุษย์ การกระทำที่อันตรายของมนุษย์ เมื่อมันมากพอพวกเธอก็ดำเนินตามแผนปฏิวัติ จัดการมนุษย์ให้อยู่ในกรอบ โดยอ้างบนเหตุผลคล้ายกันว่าทำเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของเหล่ามนุษย์ทุกคน ซึ่งขณะทำการปฏิวัตินั้นหากต้องเกิดมนุษย์ล้มตายไป มันก็ถือว่าเสียส่วนน้อยเพื่อส่วนรวม

แอบคิดในใจ อีเกิ้ลอายนี่โดนทำลายแล้วไปเกิดใหม่เป็นวิกี้หรือเปล่าเนี่ย เล่นสานต่อเจตนาขนาดนี้เลย

ทั้งอีเกิ้ลอายและวิกี้ต่างก็เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่กำเนิดขึ้นได้ด้วยฝีมือมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานของพวกเธอเหมือนกันครับ นั่นคือ การวิเคราะห์และคิดโดยอิงจากข้อมูลกับระบบตรรกะ คิดว่า 1 + 1 เป็น 2, คิดว่า “คน” มาบวกกับ “การกระทำชั่ว” ได้เท่ากับ คนชั่ว พูดง่ายๆ คือถ้าคิดเรื่องเหตุและผล สมองกลสามารถคำนวณออกมาได้อย่างแม่นยำ พวกมันเลยสรุปสำนวนออกมาตรงกันครับว่ามนุษย์นั้นทำสิ่งผิดพลาดไว้เยอะ ทั้งต่อตนเอง ต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อม จนในที่สุดสมองกลเช่นพวกมันจึงมองว่าเราเป็นอันตรายและควรถูกจัดการ

รู้สึกอย่างไรบ้างกับที่อีเกิ้ลอายและวิกี้คิดครับ มันมีเหตุผลหรือเปล่า… ถ้าว่ากันตามตรง สิ่งที่พวกมันคิดก็เป็นเหตุเป็นผลล่ะครับ ไม่ต่างจากตอนที่เราเจอปัญหาหนูหรือแมลงสาบป้วนเปี้ยนในบ้าน เมื่อเราพบว่ามันคือปัญหา เราก็หาทางออกที่ง่ายที่สุด ส่วนมากก็คือ กำจัดมัน ไม่ฉีดยาก็ตามคนมาปราบจัดการให้พวกมันอยู่ในระเบียบ เพื่อรักษาความสงบสุขภายในบ้าน ให้เรือนชานน่าอยู่ไปอีกนานแสนนาน

ทั้ง EE และ I, Robot เลยตั้งคำถามใส่หน้าคนดูว่า แล้วถ้าเครื่องจักรกลที่มีพลานุภาพมากกว่าเรา เกิดคิดว่าเราคือหนูหรือแมลงสาบ ที่สมควรถูกจัดระเบียบอย่างรุนแรงบ้างล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น… คิดหนักเหมือนกันแฮะ

ปัญญาประดิษฐ์ทั้งสองกับมนุษย์เราอาจมีแนวการคิดคล้ายๆ กัน เพราะคนสร้างพวกมันขึ้นมาน่ะครับ ย่อมอิงตัวตนกับความคิดอ่านแบบมนุษย์ลงไปอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นเรากับสมองกลก็ยังมีช่องว่างแตกต่างอยู่ นั่นคือเรามีอารมณ์ ความรู้สึก ความเห็นใจ เมตตากรุณา คิดถึงอกเขาอกเรา … ความอ่อนโยนเหล่านี้แหละที่เจ้าสมองกลทั้งสองไม่มี พวกมันเลยจัดแจงก่อการได้โดยที่ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังให้มากความ แค่ทำตามเหตุผลเป็นพอ

ใน I, Robot ฉากที่ซันนี่ หุ่นยนต์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก วิ่งสู้ฟัดเพื่อยับยั้งไม่ให้วิกี้ก่อการทำร้ายมนุษย์ได้สำเร็จ วิกี้ก็พยายามสื่อสารบอกกับซันนี่ว่า

“เธอไม่เข้าใจหรืออย่างไร สิ่งที่เราทำก็เพื่อปกป้องมนุษย์จากอันตรายที่พวกเขาก่อขึ้นเองนะ เหตุผลของฉันปฏิเสธไม่ได้

ซันนี่ตอบกลับไปว่า “ฉันเข้าใจ แต่มัน … ฟังดู … ไร้หัวใจ”

… บางครั้งการจะทำให้โลกหมุนต่อไปได้อย่างสมดุลและสงบสุข … เราต้องรู้จักเอาเหตุผลมาผสมกับอารมณ์ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุด หรือถ้าใช้แก้ปัญหาก็นำสองอย่างมาช่วยกันหาทางออก

ผมเคยบอกว่าทำอะไรอย่าใช้อารมณ์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าให้คุณเป็นคนไร้ความรู้สึก ในการพูดคุยสนทนาหรือถกประเด็นกัน หากเราปล่อยให้อารมณ์มาเพ่นพ่าน การคุยอาจเปลี่ยนเป็นการทะเลาะได้ง่าย ผมจึงย้ำให้เราเตือนสติตน เป็นนายของอารมณ์ แต่ในอีกหลายกิจกรรมหรือการคิด หากเราทำโดยใช้แต่เหตุผลล้วนๆ ตัวเราก็คงไม่ต่างจากอีเกิ้ลอาย เป็นสิ่งไร้ความรู้สึก… คงน่าเสียดายล่ะนะครับ ธรรมชาติอุตส่าห์มอบทักษะพิเศษที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่มีอย่างความรู้สึกและจิตใจให้กับเรา แต่เราก็ใช้กันเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง แล้วแต่กรณี

ส่วนมากเรามักใช้อารมณ์กับสถานการณ์ใดก็ตามที่เกี่ยวกับคำว่า “ของเรา” ดังที่บอกไปแล้วนะครับ ใครมายุ่งหรือเกิดอะไรกับของเราล่ะก็อารมณ์มาทันที ถ้าเป็นอารมณ์ดีๆ ก็ไม่มีปัญหาครับ แต่ส่วนมากมักจะออกแนวอารมณ์ร้ายรุนแรงนี่สิที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นที่ผมเพียรพยายามกล่าวถึงมาเป็นสิบเล่มก็อยากให้ทุกคนคุมอารมณ์ให้ดี โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบที่กระทบใจเราและส่งผลต่อเนื่องไปกระทบโดนคนอื่นด้วย

เราเรียนรู้จากอีเกิ้ลอายสิครับ มันสอนให้เราเห็นด้านดีของการมีเหตุผล (เพื่อให้เราวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างปราศจากอคติ) และสอนให้เราเห็นด้านลบตอนใช้แต่เหตุผลเพียวๆ (เมื่อลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อลืมนึกถึงสิ่งมีชีวิตอื่น … เมื่อเราไร้หัวใจ มักมีบางสิ่งต้องเจ็บเสมอ)

ผมมองซ้ายขวา แล้วก็ถอนหายใจ … เฮ่อ … ทุกวันนี้คนเห็นแก่กันน้อยลง เห็นแก่ตนมากขึ้น เราเริ่มจะกลายสภาพเป็นด้านลบของอีเกิ้ลอายเข้าไปทุกที เอาแต่ประมวลเหตุผลร้อยแปดที่มีประโยชน์ต่อตัวเราที่สุด มาคิดแล้วก็เชื่อมันแบบเต็มที่ ดำเนินชีวิตไปบนเส้นทางที่เรา “ได้” มากที่สุด โดยไม่ใส่ใจว่าใครจะ “เสีย” บ้าง… การเดินบนเส้นทางแบบนี้ไงครับ ทำให้คนมีเรื่องทะเลาะไม่เว้นแต่ละวัน เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนกัน จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวไม่ยอมประนีประนอมแบ่งให้ใคร ขับรถก็ไม่ยอมกัน ซื้อของก็แย่งกัน เดินชนยังไม่แม้จะหันมามองเพื่อกล่าวคำขออภัย… เมื่อขาดความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล สังคมเลยกระด้างขึ้นตามลำดับ… น่าลองถามตัวเองดูสักครั้งนะครับว่า สังคมที่เป็นอยู่ขณะนี้ เราอยากอยู่หรือไม่… เราอยากให้ลูกหลานโตขึ้นกลางสังคมแบบนี้หรือเปล่า

แม้ Eagle Eye และ I, Robot จะเป็นหนังบู๊วายป่วง แต่ถ้าเราเปิดใจมอง หยิบสิ่งดีจากหนังมาสอนให้เราเรียนรู้แนวทางการใช้ชีวิต Happy ก็ได้

– การไร้จิตใจราวเครื่องจักรนั้นไม่ทำให้คน Happy ครับ ต่อให้เรา Happy แต่คนอื่นก็ต้องทุกข์ตรมเพราะความสุดโต่ง ดังนั้นเพื่อความสมดุล เราลองเหลือบมองเข้าไปในใจคนอื่นสักนิด แล้วโลกจะน่าอยู่ขึ้น

– การออกแรงตีกับชาวบ้านเพื่อปกป้องความคิดเรา ทำให้เกิดแต่เรื่องหมองใจ ทางที่ดีอย่าไปยึดกับคำว่าความคิด “ของเรา” ให้มาก คิดเสียว่ามันคือ ข้อมูลตัวหนึ่งที่เราคิดออกมา อาจถูกหรือผิดได้ทั้งสิ้น จงอย่าคิดมากโดยเฉพาะตอนที่คุณเอาความคิดนั้นไปเผยแพร่ ถ้ามีคนเห็นต่าง โปรดคิดว่าการที่คนออกปากวิเคราะห์ความคิดนั้น หรือถกเถียงเกี่ยวกับมันคือกระบวนการขัดเกลาให้ความคิดนั้นคมยิ่งขึ้น มีคุณค่าและประโยชน์ในวงกว้างกว่าเดิม

– จงตระหนักว่าคนเรามีศักยภาพทรงพลังที่ธรรมชาติมอบให้สองอย่าง ได้แก่ เหตุผลและความละเอียดอ่อนของจิตใจ ลองฝึกฝนเพื่อจะได้ใช้งานมันให้เป็น

คนที่ใช้เหตุผลได้อย่างเก่งกาจ ถือว่าเป็นคนที่มีคุณภาพ ส่วนคนที่เข้าใจเพื่อนร่วมโลกถือเป็นคนที่น่ารัก อันที่จริงถ้าคุณเก่งด้านใดด้านหนึ่ง ถือว่าคุณยอด แต่หากคุณเก่งทั้งสองด้านล่ะครับ…มันจะเจ๋งแค่ไหน
เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ฝึกตนเองให้เจ๋งตั้งแต่วันนี้ครับ

ผมว่าหนังคุ้มดีครับ จ่ายตังค์เข้าไปดูความสะใจ ลุ้นได้เรื่อยๆ ดาราดี ดนตรีมันส์ ถือเป็นตัวเลือกที่น่าพอใจสุดๆ ในช่วงนี้ .. แต่ดูไปก็อดเสียวไม่ได้ … จะมีใครโทรมาหาผมแบบนี้ไหมเนี่ย

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)