Adventure

The Bounty (1984) ฝ่าคลั่งจอมบัญชาการเรือนรก

Untitled07769

เรื่องนี้ถือเป็นการรีเมคของรีเมคอีกทีครับ ต้นฉบับดั้งเดิมเลยคือ The Mutiny of the Bounty ที่สร้างในปี 1916 จากนั้นก็มีการสร้างใหม่ในปี 1933, 1935 และ 1962 ซึ่งฉบับที่คนรู้จักมากที่สุดก็คือของปี 1935 ครับ ฉบับนั้นนำแสดงโดย Charles Laughton และ Clark Gable และได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง

หนังว่าด้วยเรือเอช.เอ็ม.เอส. เบาน์ตี้ จากอังกฤษที่มีกัปต้นวิลเลี่ยม ไบล์ (Anthony Hopkins) เป็นผู้นำ พวกเขาเดินทางไปยังตาฮีติเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีแต่ทีนี้เฟลทเชอร์ คริสเตียน (Mel Gibson) กับลูกเรือกลุ่มหนึ่งเกิดผูกสมัครรักใคร่กับสาวชาวเกาะจนทำให้ไม่อยากจากเกาะมา และเมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็ก่อการยึดเรือเบาน์ตี้พร้อมทั้งขับไล่กัปตันวิลเลี่ยมและคนอีกส่วนหนึ่งให้ลงจากเรือไป

ตัวหนังถือว่าใช้ได้เลยครับ อาจยังไม่ถึงกับเด็ดสุดๆ แต่ก็เล่าเรื่องได้ดี มีอะไรให้ติดตามพอสมควร และแน่นอนว่าของดีของหนังต้องยกให้การแสดงของเหล่าดาราที่ตอนนั้นอาจยังไม่ดังมาก แต่ก็จัดว่ามีฝีมือและกลายมาเป็นดาราแถวหน้าในภายหลัง ไม่ว่าจะ Hopkins, Gibson, Daniel Day-Lewis และ Liam Neeson สมทบด้วยดารามากฝืมืออย่าง Laurence Olivier, Edward Fox และ Bernard Hill แต่ละคนมีส่วนให้หนังเข้มข้นในระดับที่น่าพอใจ

หนังสะท้อนให้เราเห็นว่าเมื่อความต้องการของคนต้องมาชนกับระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ผลลัพธ์ในด้านที่เลวร้ายมันจะออกมาเป็นเช่นไร และเรื่องในหนังก็สร้างอิงจากเค้าโครงเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ครับ ในแง่หนึ่งมันจึงสะท้อนมิติของคนได้อย่างน่าสนใจ

มันก็ขึ้นกับคนดูน่ะครับว่าจะเทน้ำหนักเห็นด้วยไปกับฝ่ายไหน บางท่านอาจเห็นใจและเข้าใจฝั่งของเฟลทเชอร์ที่ทำตามหัวใจตน และส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เขาตัดสินใจยึดเรือก็เพราะกัปตันเองก็เลือกปฏิบัติกับเขาด้วย หรือบางท่านก็อาจเห็นด้วยกันกัปตันที่ยึดตามกฎเกณฑ์โดยไม่ยืดหยุ่น หรือไม่ก็มองว่าหากยืนหยุ่นหย่อนยานแล้วความศักดิ์สิทธิ์ของกฎเกณฑ์มันจะไปอยู่ตรงไหน กฎใช้ได้กับบางคน แต่บางคนไม่ต้องก็ได้หรืออย่างไร

หรือถ้ามองแบบกลางๆ ก็อาจเห็นได้ว่าทั้งสองฝั่งล้วนใช้อารมณ์แล้วก็อ้างเหตุผล (ที่สนับสนุนความคิดตน) ด้วยกันทั้งคู่ จนสุดท้ายก็นำมาสู่การปะทะโดยไม่มีการประนีประนอม เรื่องจึงลุกลามเลยเถิดไปถึงขั้นยึดเรือ

Untitled07770

ถ้าผมจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ ก็คงเป็นแง่คิดเตือนสติน่ะครับ ว่าไม่ควรให้อารมณ์มันครอบงำมันเกินไป จริงครับที่บางครั้งอารมณ์ก็คือเหตุผลชนิดหนึ่งที่ควรรับฟังบ้าง แต่ถ้ามันถึงขั้นครอบหัวครอบตัวเราจนลืมประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ไป จนทำให้เราสุดโต่งไปเพียงด้านเดียว อันนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องตรวจสอบทั้งความคิดและอารมณ์ของตัวเองอย่างระมัดระวัง – แน่นอนว่าการคุมอารมณ์ตนอาจไม่สามารถทำได้ในชั่ววินาที แต่ของแบบนี้สามารถฝึกกันได้ครับ ช่วงแรกๆ เราอาจคุมอารมณ์ไม่ทัน แต่ถ้าเตือนตัวเองและฝึกหัดมันบ่อยๆ เราก็จะคุมได้ตัวเองได้เก่งขึ้นๆ ตามลำดับ

สำหรับตำนานการสร้างหนังเรื่องนี้ต้องย้อนไปปี 1977 ครับ แรกเริ่มเดิมทีคนที่จะมากำกับคือ David Lean แห่ง The Bridge on the River Kwai, Lawrence of Arabia และ Doctor Zhivago และแผนของเขาที่วางไว้คือจะทำเรื่องราวของเรือเอช.เอ็ม.เอส. เบาน์ตี้ออกมาเป็นหนัง 2 ภาค โดยภาคแรกใช้ชื่อว่า The Lawbreakers ซึ่งจะว่าด้วยการล่องเรือไปยังตาฮีติก่อนที่จะเกิดการยึดเรือ และภาค 2 จะใช้ชื่อว่า The Long Arm ที่จะเล่าเรื่องหลังเกิดการยึดเรือ ว่าชะตากรรมของแต่ละฝ่ายเป็นเช่นไร

จากนั้น Dino De Laurentiis ก็มาช่วยอำนวยการสร้างและสนับสนุนเรื่องทุนครับ แต่ในเวลาต่อมาการเจรจาเรื่องทุนกับสตูดิโอกลับไม่ลงตัว แม้ระหว่างนั้นจะมีการประกาศความคืบหน้าขึ้นมาหน่อยว่า Hopkins จะมาแสดงเป็นกัปต้นวิลเลี่ยม ไบล์และ Christopher Reeve จะมารับบทเฟลทเชอร์ คริสเตียนก็ตาม แต่การเจรจาเบื้องหลังยังไม่นิ่งจนสตูดิโอเดิมบอกศาลา (ว่ากันว่าสตูดิโอเดิมคือ Warner Bros ครับ) และสตูดิโอใหม่อย่าง Paramount ก็เข้ามาคุยพร้อมจะขอเปลี่ยนจากการทำเป็นหนัง มาทำเป็นมินิซีรี่ส์ความยาว 7 ตอนแทน

แต่แล้วทาง Paramount ที่ตั้งท่าจะเป็นนายทุนให้กลับถอนตัวครับ เพราะทางนั้นมองว่าหนังมันดู “เป็นหนังผู้ชาย” มากเกินไปเพราะตัวละครหลักมีแต่ผู้ชาย ไม่มีตัวละครหญิงเลย และขณะเดียวกัน Sam Spiegel ก็แนะนำ Lean ว่าควรจะทำเป็นหนังเรื่องเดียวไปเลยจะดีกว่า Lean ก็เลยต้องปรับบทปรับอะไรต่อมิอะไรด้วยตนเอง เนื่องจาก Robert Bolt ที่ช่วยเขียนบทนั้นมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถทำงานได้

ในที่สุด Lean ก็ถูกบีบ (แบบกลายๆ) ให้ก้าวออกจากโปรเจคท์ไปเนื่องจากผู้สร้างมองว่าขนาดยังไม่เริ่มถ่ายทำเนี่ย ก็ต้องใช้เงินไปแล้วกว่า $4 ล้านสำหรับขั้นตอนเตรียมงานสร้าง อีกทั้งการแคสดาราที่หลายบทต้องแคสกันแบบข้ามประเทศ ด้วย Cost ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้สร้างอยากจะส่งต่อโปรเจคท์นี้ไปให้คนอื่นทำแทน (อีกนัยหนึ่งคืออยากได้คนที่จะไม่ทำให้ Cost บานไปกว่านี้ และผู้สร้างรายที่ว่านี้ ว่ากันว่าคือ De Laurentiis) – Lean เลยจำยอมเดินจากมา แต่ใจก็เสียดายอย่างยิ่งเพราะเขาทุ่มเทกับงานนี้ไปกว่า 3 ปี และเขามองว่าบทที่เขามีนี้คือหนึ่งในบทหนังที่ดีที่สุดเท่าที่เขาเคยเจอมา

แล้ว De Laurentiis ก็เดินหน้าต่อครับ (เพราะใน Cost $4 ล้านที่ว่านั้น De Laurentiis ควักไป $2 ล้านครับ) ระหว่างนั้นเขาก็ได้เจอกับผู้กำกับ Roger Donaldson ที่ตอนแรกมาเจอกับเขาเพื่อคุยกันเรื่องภาคต่อของ Conan the Barbarian แต่คุยไปคุยมา Donaldson กลับสนใจบทหนัง The Bounty และพอคุยกันต่อสักพัก De Laurentiis ก็ชวน Donaldson มากำกับ The Bounty แทน แล้วงานสร้างหนังเรื่องนี้ก็เริ่มต้นขึ้นแบบเป็นเรื่องเป็นราวครับ และความเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังจากนั้นก็คือ Reeve ตัดสินใจถอนตัวในนาทีสุดท้าย แล้ว Mel Gibson ก็เข้ามาแสดงแทน

พูดถึง Gibson ก็มีกรณีหลังจากที่หนังออกฉายแล้ว Gibson รู้สึกยังไม่พอใจกับการแสดงของเขาสักเท่าไร เขามองว่าหนังยังไม่สุดทางอย่างที่ควรจะเป็น และเขาคิดว่าเฟลทเชอร์นั้นจริงๆ เป็นพวกชอบยกฐานะตัวเองให้สูงขึ้นหากมีโอกาส ดังนั้นจริงๆ แล้วเขาควรจะเป็นตัวร้ายไปเลยจะเป็นการตีความที่สดใหม่กว่า (เพราะฉบับเก่าๆ มักตีความให้กัปตันไบล์เป็นคนร้าย และเฟลทเชอร์เป็นคนดี) แต่แม้ Gibson จะไม่พอใจในบทของตน แต่เขาก็กล่าวยกย่อง Hopkins ว่าแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม

สรุปว่านี่เป็นหนังอิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจครับ แต่ใครไม่ชอบหนังดราม่า ไม่ชอบหนังที่ขับเคลื่อนด้วยการสนทนาและการแสดงก็อาจไม่ใช่แนว อันนี้แล้วแต่ครับ ลองก็ได้ แต่ก็ต้องปรับใจเตรียมรับก่อนดูด้วย ส่วนผมนั้นแค่ได้ดูดาราแสนคุ้นเคยในสมัยแรกๆ ที่พวกเขาแสดงก็จัดว่าคุ้มแล้วล่ะ

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)