รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Phantom Thread (2017) เส้นด้ายลวงตา

Untitled07759

แม้หนังจะยาว 2 ชั่วโมง 10 นาทีแต่ผมไม่รู้สึกว่ามันยาวเลย คงเพราะผมเพลินน่ะครับ เพลินกับสไตล์การเล่าเรื่องของ Paul Thomas Anderson ที่ค่อยๆ พาเราจมลงสู่เรื่องราว บวกด้วยการแสดงระดับไว้ใจได้ของ Daniel Day-Lewis ที่ได้ชิงออสการ์อีกเช่นเคย

หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรย์โนลด์ วู้ดค็อก (Day-Lewis) ช่างตัดเสื้อที่ได้รับการยกย่องในวงการ กับอัลม่า (Vicky Krieps) หญิงสาวผู้ที่กลายมาเป็นคนรักและแรงบันดาลใจให้กับเรย์โนลด์ในเวลาต่อมา

ผมรู้สึกว่าหนังประณีตมากครับ ทั้งการแสดง การถ่ายทำ การนำเสนอ งานภาพงานฉากต่างๆ มันสัมผัสได้เลยว่าคนทำตั้งใจและใส่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายนี่โดดเด่นมากจนไม่แปลกใจเลยที่จะคว้าออสการ์ไป

จริงๆ เรื่องระหว่างเรย์โนลด์กับอัลม่านั้นก็ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ของคนทั่วไปน่ะครับ คือในแง่รายละเอียดอาจมีความแตกต่างบ้าง แต่พวกความเยอะในประเด็นต่างๆ ของเรยโนลด์นี่ผมก็เชื่อว่าในความสัมพันธ์ของทุกคู่ แต่ละคนก็จะมีความเยอะและมีความต้องการเฉพาะตัวอะไรแบบนี้อยู่ ซึ่งแต่ละคู่ก็ต้องปรับตัวกันไป หากปรับเข้ากันได้ (หรืออดทนต่อกันได้) ความสัมพันธ์ก็จะดำเนินต่อ แต่หากปรับเข้ากันไมไหวก็จะแยกจากกัน มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในโลก – แม้แต่นาทีนี้ผมก็เชื่อว่าต้องมีคู่รักสักคู่กำลังจะเลิกกัน เช่นเดียวกันต้องมีคู่รักสักคู่ที่กำลังจะเริ่มต้นเรียนรู้กัน

แต่สิ่งหนึ่งที่หนังชี้ชวนให้เราคิดคือ ปกติเรามักจะมองว่าคู่รักที่เข้ากันได้หรืออยู่กันได้อย่างยืนยาวนั้น พวกเขาจะต้องมีชีวิตที่ดีเป็นส่วนใหญ่ มีความสุขทั้งกายและใจอยู่เสมอ และนั่นก็พลอยทำให้ผู้คนมากมายตีความกันไปว่า ชีวิตคู่ที่ดี หมายถึงสุขภาพในความสัมพันธ์ต้องดี ชีวิตพวกเขาก็ต้องมีแต่เรื่องดีๆ มีแต่เรื่องบวกๆ มอบให้แก่กันเท่านั้น ต้องเป็นคู่ที่มีแต่ความสมบูรณ์แบบน่ะครับ ว่างั้นเถอะ

แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นอีกรูปแบบหนึ่งของชีวิตคู่ครับ นั่นคือบางคู่ที่อยู่กันไม่ได้เพราะ “มันสมบูรณ์แบบเกินไป” ก็มีเหมือนกัน – และกลายเป็นว่าบางคู่จะอยู่กันได้นานๆ นั้น มันต้องมีความไม่สมบูรณ์เกิดขึ้นในชีวิตบ้าง เกิดแล้วจะได้เป็นประเด็นให้คู่รักหันหน้าเข้าหากัน ปรับตัวเข้าหากัน หรือทำให้บทบาทบางอย่างในคู่ของตนมีการเปลี่ยนแปลงให้ลงล็อคกันมากขึ้น – และบางครั้งก็อาจต้องสลับบทบาทกันบ้าง สลับกันนำ สลับกันตาม สลับกันดูแล อะไรประมาณนั้น

Untitled07760

รูปแบบความรักของแต่ละคู่ จะเอามาเปรียบกันซะทีเดียวก็ไม่ได้ครับ บางคู่อาจเหมาะกับรูปแบบหนึ่ง แต่บางคู่ก็อาจเหมาะกับรูปแบบที่ต่างออกไป – บางคู่ต้องแยกจากกันเพราะการทะเลาะเบาะแว้ง แต่บางคู่ยิ่งทะเลาะกลับยิ่งแน่นแฟ้นและเข้าใจกัน แบบนี้ก็มี

บางคู่มีอันต้องแยกจากกันเมื่อบทบาทในชีวิตคู่มีความเปลี่ยนแปลง (เช่นฝ่ายหนึ่งเคยนำแล้วอีกฝ่ายเคยตาม แล้วต่อมามีการกลับขั้วเป็นตรงข้าม) แต่กับบางคู่ความเปลี่ยนแปลงทางบทบาทนี่แหละที่กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้พวกเขายังสามารถอยู่ต่อกันไปได้

เมื่อเกิดความผิดปกติ มันก็ต้องซ่อมแซม แต่บางครั้งความผิดปกติที่เกิดนี่แหละ กลับกลายเป็น “การซ่อมแซม”

และบางเวลา เราก็อาจควรลองพักจากการเป็นตัวเองดูบ้าง ใครต้องสวมหัวโขนหรือใส่หน้ากากเป็นกิจวัตร ก็ลองถอดมันออก วางมันลง… ไม่ได้บอกให้เลิกนะครับ แต่ขอให้พักบ้าง วางบ้าง…

… พอดูชื่อเรื่อง Phantom Thread มุมหนึ่งก็ทำให้คิดไปถึงสิ่งแฝงเร้นที่ค่อยๆ ก่อพิษในชีวิต แพร่พิษอย่างช้าๆ ค่อยๆ ซึมเข้าเส้นเลือดไปทีละน้อย แต่อันว่าสิ่งแฝงเร้นนั้นหาใช่หมายถึงแต่ “สิ่งที่ไม่ดี” เพียงเท่านั้น – หาใช่เพียง “สิ่งที่ไม่ดี” ถึงจะสามารถก่อพิษได้

เพราะบางครั้ง “สิ่งที่ดี” หรือ “สิ่งธรรมดา” ที่เราเคยชิน ในบางบริบทก็อาจก่อพิษสะสมในตัวเราได้เหมือนกัน – และสิ่งแฝงเร้นประเภทนี้แหละที่แยกแยะพิจารณาได้ยาก… ยากกว่าสิ่งที่ไม่ดี ที่เห็นได้ชัดๆ ว่าก่อพิษ

เหล่านี้คือห้วงความคิดที่เกิดขึ้น หลังดูหนังเรื่องนี้จบครับ

สำหรับผมหนังเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญครับ เพราะ Daniel Day-Lewis ประกาศไว้ว่าเขาจะเกษียณจากการแสดง และนี่จะเป็นบทบาทสุดท้ายของเขา ซึ่งผลงานที่เขาฝากไว้ก็ยังคงมีอะไรน่าจดจำ ผมจะไม่บอกว่านี่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดของเขาหรือไม่ แต่อยากบอกว่าผมรู้สึกได้ว่าเขาเต็มที่เสมอไม่ว่าจะสวมบทบาทใดก็ตาม

เกร็ดหนึ่งที่อยากเล่าคือ ตอนถ่ายทำนั้น Vicky Krieps เจ้าของบทอัลม่าไม่เคยเจอ Day-Lewis มาก่อนครับ เธอเจอเขาหนแรกก็ตอนเริ่มการถ่ายทำ ซึ่งในเวลานั้น Day-Lewis ก็อยู่ในโหมดเรย์โนลด์ วู้ดค็อกไปแล้ว ส่งผลให้ Krieps ติดปากที่จะเรียก Day-Lewis ว่าเรย์โนลด์อยู่ตลอดการถ่ายทำ กระทั่งตอนให้สัมภาษณ์เธอก็ยังเรียก Day-Lewis ว่าเรย์โนลด์ครับ เรียกว่าอินกับบทบาทกันไปข้างหนึ่งเลย

ถือเป็นหนังน่าดูครับ คอหนังสายคุณภาพควรได้รับชมสักครั้ง และผมว่าคนที่มีคู่ชีวิต (ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นแฟนหรือแต่งงานแล้วก็ตาม) ควรได้ลองชมหนังเรื่องนี้ มันอาจให้แง่คิดที่ “น่าใส่ใจ” เกี่ยวกับชีวิตคู่ก็เป็นได้

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชมด้วยนะครับ เพราะหนังเรื่องนี้เหมาะแก่การละเลียด – ค่อยๆ ละเลียด ทั้งตัวหนังและเนื้อหาสาระนี่แหละ

สองดาวสามส่วนสี่ดวงครับ

Star22

(7.5/10)