รีวิวหนังซีรี่ส์/หนังชุด

The Nanny Season 1 – 6 (1993 – 1999) เดอะ แนนนี่ ปี 1 – 6

Untitled07521

ในนาทีที่ผมดู The Nanny จบนี่ผมก็นั่งนิ่งๆ อยู่พักหนึ่งครับ พลางคิดในใจว่า “นี่เราดู The Nanny จบแล้วหรือนี่?”

ผมกับซีรี่ส์ The Nanny นี่ถือว่าผูกพันกันมานานครับ จำได้ว่าดูครั้งแรกทาง UTV (ยุคก่อนที่จะกลายเป็น UBC) สมัยนั้นมีพากย์ไทยด้วย ก็ดูอยู่พักหนึ่งจนซีรี่ส์กลายเป็นแบบบรรยายไทย (ไม่มีพากย์แล้ว) แล้วก็ห่างหายกันไป แล้วมาเจอกันอีกทีก็ตอนที่ซีรี่ส์นี้เข้าแอป HOOQ ตอนนั้นก็ย้อนดู 2 ปีแรกครับ แล้วมันก็เกิดอิ่มตัวจนหยุดดูไปพักหนึ่ง มารู้ตัวอีกทีคือ HOOQ ปิดตัวไปแล้ว ก็เลยอดดูต่อ

จนกระทั่งซีรี่ส์มาโผล่ใน Prime ครับ ผมก็เลือกที่จะย้อนดู 2 ปีแรกอีก แต่พอจะดูปี 3 กลายเป็นว่าซีรี่ส์นี้ดูไม่ได้ครับ ประมาณว่าออกจาก Prime ในบ้านเราไปชั่วคราว ทำให้ผมต้องร้องเพลงรออีกพักใหญ่ จนล่าสุดนี่แหละครับที่มันกลับมาดูได้ ผมเลยตะบันดูจนจบปี 6 เสียที… นับเวลานี่เท่ากับกว่าผมจะดูซีรี่ส์นี้จบนี่ก็ปาไปเกือบ 20 ปีเลยล่ะครับ

The Nanny เป็นซีรี่ส์ดูเอาฮาครับ เรื่องของสาวสวยสุดเดิ้น แฟรน ไฟน์ (Fran Drescher) ที่จับพลัดจับผลูได้มาเป็นพี่เลี้ยงให้บ้านตระกูลเชฟฟิลด์ที่ประกอบด้วยแม็กซ์เวลล์ (Charles Shaughnessy) พ่อม่ายที่มีลูกอยู่ 3 คนอันได้แก่ แม็กกี้ (Nicholle Tom), ไบรท์ตัน (Benjamin Salisbury) และเกรซ (Madeline Zima) ซึ่งแฟนนั้นก็ไม่เคยเป็นพี่เลี้ยงมาก่อนครับ การเลี้ยงเด็กตามสไตล์ของเธอเลยแหวกตำราสารพัด แล้วไปๆ มาๆ ดูเหมือนเธอจะสร้างเรื่องยุ่งบ่อยๆ ให้แม็กซ์เวลล์ต้องปวดหัวบ่อยๆ ด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีพ่อบ้านไนลส์ (Daniel Davis) ที่มักจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ ซีซี แบ็บค็อก (Lauren Lane) ผู้ช่วยของแม็กซ์เวลล์ที่หมายมั่นจะคว้าแม็กซ์เวลล์มาเป็นของตัวเอง การจิกกัดกันระหว่างไนลส์กับซีซีก็ถือเป็นไฮไลท์ที่สร้างความครื้นเครงให้กับซีรี่ส์ไม่น้อย

ผมชอบ 2 ปีแรกสุดครับ มันพอเหมาะพอเจาะ มุกต่างๆ และการเล่าเรื่องจัดว่าลงตัว ในขณะที่ปี 3 นี่จะออกแนวยืด เพราะโดยพล็อตเนี่ยเราก็พอจะเดาได้อยู่แล้วล่ะครับว่าสุดท้ายแล้วแฟรนกับแม็กซ์เวลล์ต้องรักกัน แต่เหมือนปี 3 จะเป็นปีที่พยายามยืดเรื่องน่ะครับ พูดตรงๆ เลยคือเนื้อเรื่องมันไม่ค่อยจะไปไหนเท่าไร ส่วนปี 4 ก็เกือบจะยืดเหมือนกัน แต่ยังดีที่เรื่องมันยังพอเดินไปข้างหน้าบ้าง ในขณะที่ปี 5 กับ ปี 6 นี่ว่ากันตรงๆ ก็เหมือนหนังจะเริ่มวนแล้วครับ มุกและอะไรหลายๆ อย่างไม่สดเหมือนปีแรก แต่อย่างน้อยเรื่องราวก็สรุปจบลงได้อย่างน่าประทับใจ

Untitled07522

แม้ผมจะชอบซีรี่ส์นี้แต่ก็คงต้องพูดแบบไม่อ้อมค้อมล่ะครับว่า ความชอบของผมมันกลับไม่สุด มันกลับไม่เบ่งบานแบบซีรี่ส์ในดวงใจเรื่องอื่นๆ ซึ่งหลังจากนั่งคิดดูแล้วก็พบเหตุผลครับ ว่าที่ความชอบผมไม่สุดและความผูกพันกับตัวละครไม่ค่อยเกิดเท่าไร มันเพราะตัวซีรี่ส์เองไม่ใคร่จะให้ความสำคัญกับพัฒนาการของตัวละครมากนัก พูดแบบตรงๆ ก็คือแม้เวลาจะผ่านไปกี่ปี แต่ก็เหมือนตัวละครทั้งหลายดูจะยังเหมือนเดิม ไม่ได้มีพัฒนาการขึ้น ไม่ได้เติบโตขึ้น

และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมว่าสำคัญก็คือ หลายๆ ซีรี่ส์ที่ผมรักอย่าง Friends, Parks and Recreation และ Gilmore Girls เนี่ย มันจะมีความซึ้งกินใจแทรกเข้ามาเป็นพักๆ มันจะมีฉากหรือเรื่องราวที่ทำให้เราสัมผัสได้ว่าตัวละครในเรื่องนั้นรักกัน ผูกพันกัน ห่วงใยกันมากเพียงไหน และยิ่งเวลาผ่านไปพวกเขาก็ยิ่งรักกันซึมลึกแน่นปึ้ก ใจเราเลยอินตามไปได้แบบไม่ยากเย็น ในขณะที่กับ The Nanny นี่เหมือนจะไม่เน้นจุดนี้สักเท่าไรครับ อย่างที่บอกน่ะว่าดูไป 6 ปีก็เหมือนเวลาไม่มีการเดิน ตัวละครไม่ได้ดูรักกันหรือผูกพันกันมากขึ้น

และอันที่จริงคือบางตอนมันดันกลายเป็นว่าตัวละครเหมือนไม่รู้จักกันเลยน่ะครับ อย่างตอนที่แฟรนสงสัยว่าไนลส์จะเป็นฆาตกรเป็นต้น คือแม้จะเป็นหนังตลกก็เถอะ เอาขำก็เถอะ แต่แฟรนมองไนลส์เป็นฆาตกรนี่บอกตรงๆ ว่าผมไม่ขำแฮะ หรือจริงๆ ไนลส์กับแม็กซ์เวลล์นี่ ถ้าจะให้ดีมันต้องมีบรรยากาศประมาณว่า พอเวลาผ่านไปนานเข้า แม็กซ์เวลล์กับไนลส์ก็ผูกพันกันมากขึ้น จนเส้นแบ่งระหว่าง “เจ้านายและลูกน้อง” ดูจางลง

แต่นี่กลายเป็นว่าจะผ่านไปกี่ปีแม็กซ์เวลล์ก็ยังเห็นไนลส์เป็นพ่อบ้านที่สามารถใช้งานได้เรื่อยๆ จนบางครั้งก็ใช้แบบไม่เกรงใจ แม้จะให้ขำก็เถอะครับ แต่ผมว่ามันทำให้ความรู้สึกเชิงบวก ความรู้สึกผูกพันน่ะไม่ก่อตัว

ผมว่าอันนี้แหละที่ทำให้ผมแม้จะสนุกกับซีรี่ส์นี้ แต่มันไม่เกิดความรู้สึกกินใจ ไม่เกิดความรู้สึกซึ้งแบบซีรี่ส์เรื่องอื่นๆ – แต่ก็ยังดีครับที่ในเรื่องยังพอมีฉากตอนที่แม็กซ์เวลล์ระลึกถึงภรรยา ซึ่งผมชอบนะ มันให้ความรู้สึกที่ดี แต่ก็มีอะไรทำนองนี้ไม่เยอะเท่าไรครับ

Untitled07523

นี่ถ้าซีรี่ส์เน้นประเด็นพวกนี้ซะหน่อยนะ หรือให้แฟรนกับเหล่าเด็กๆ เชฟฟิลด์สนิทสนมมากๆ รักกันมากๆ และใช้เวลาร่วมกันประหนึ่งแม่ลูกจริงๆ ผมว่ามันคงน่ารักน่ะครับ แต่นี่บางช่วงบางตอนเหมือนเหล่าเด็กๆ เชฟฟิลด์จะหายไปเลย ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไร

แต่ก็เอาเถอะครับ รู้น่ะว่าเขาสร้างแบบไม่คิดมาก กะให้ขำ ก็ดูแบบเรื่อยๆ แล้วกัน – แต่อันนี้ต้องขอพูดหน่อย ผมว่าปีหลังนี่มุกซ้ำเหมือนไม่รู้จะเล่นอะไรจริงๆ นะ โดยเฉพาะมุกที่ให้แม่ของแฟรนมากินอาหารหรือใช้ของบ้านที่เชฟฟิลด์จนเป็นกิจวัตรเนี่ย มันเหมือนนึกอะไรไม่ออกก็เลยใส่มุกนี้ไว้ก่อน ให้ได้เวลาเพิ่มอีกนิดอะไรประมาณนั้น แต่พอเจอบ่อยๆ เข้ามันชักจะเกร่อน่ะครับ และบางโมเมนต์มันรู้สึกราวกับว่าแม่ของเฟรนชอบแต่เงินและความร่ำรวยของตระกูลเชฟฟิลด์ ซึ่งบอกตรงๆ ว่าผมไม่อยากรู้สึกแบบนั้นเลยแฮะ

สรุปว่าก็เป็นซีรี่ส์ที่ดูเอาขำครับ เน้นคลายเครียดเป็นหลัก 2 ปีแรกน่ะสนุกสุดแล้วครับ เพราะผมนี่จำได้เลยว่าดู 2 ปีแรกวนไม่ต่ำกว่า 3 รอบ แล้วก็ไม่รู้สึกเบื่อซะด้วย แต่กลายเป็นว่าปี 3 – 6 นี่ รู้สึกว่าดูรอบเดียวก็พอ คงไม่ดูซ้ำ – ถ้าจะดูซ้ำอีก ผมก็คงย้อนไปดู 2 ปีแรกน่ะครับ

ผมพูดเหมือนบ่นๆ แต่ลึกๆ ก็รู้สึกเสียดายน่ะครับ อยากให้ซีรี่ส์นี้ทำให้เรารู้สึกอิน รู้สึกผูกพันมากขึ้นอีกสักหน่อย – อยากรู้สึกกับซีรี่ส์นี้มากกว่าแค่ดูเอาขำน่ะครับ แต่ก็คงต้องยอมรับในสิ่งที่เป็น – อย่างน้อยก็อยากขอบคุณน่ะครับ ที่ทำให้ผมได้บันเทิงและคลายอารมณ์

ปล. แต่ซีรี่ส์นี้ก็ให้ประสบการณ์กับผมอย่างหนึ่งนะครับ คือจะมีอยู่ปีนึงที่ Lauren Lane ดูตัวใหญ่จนผิดสังเกต ไปค้นข้อมูลมาก็พบว่าตอนนั้นเธอท้องครับ แต่กระนั้นเธอก็ยังคงมาแสดงอยู่ แสดงทั้งที่ท้องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นั่นแหละ แต่ตามเนื้อเรื่องเธอไม่ได้ท้องนะครับ เลยออกจะเป็นประสบการณ์ในการดูที่แปลกสักหน่อยสำหรับผม

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)