รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

The Barefoot Contessa (1954) เดอะ แบร์ฟุต คอนเทสซ่า

Untitled07506

หนังที่ผมถือว่ามีความเข้าท่าในแง่ของการแสดง และเรื่องราวที่จริงๆ ก็นับว่าน่าสนใจอยู่ เพียงแต่ผลลัพธ์โดยรวมมันอาจยังไม่ถึงกับสุดยอดแบบสุดๆ เท่านั้นน่ะครับ

หนังเปิดมาก็เป็นฉากงานศพครับ ผู้ตายคือ มาเรีย วาร์กัส (Ava Gardner) นักแสดงสาวผู้โด่งดังแห่งยุค โดยเราจะได้รู้จักตัวตนของเธอผ่านการบอกเล่าของ 3 ตัวละครอย่าง แฮร์รี่ ดอว์ส (Humphrey Bogart) ผู้กำกับและมือเขียนบทที่เป็นคนชักนำเธอมาสู่วงการบันเทิง, ออสการ์ มัลดูน (Edmond O’Brien) ผู้ช่วยมือขวาของนักสร้างหนังอย่างเคิร์ก เอ็ดเวิร์ดส (Warren Stevens) ที่เปลี่ยนมาทำงานให้ อัลเบอร์โต้ บราวาโน่ (Marius Goring) เศรษฐีเพลย์บอยในเวลาต่อมา

และอีกคนก็คือเคาท์วินเซนโซ่ ทอร์ลาโต ฟาวรินี่ (Rossano Brazzi) ผู้ที่ได้เข้าพิธีวิวาห์กับมาเรีย และจริงๆ ชีวิตรักของพวกเขาน่าจะลงเอยด้วยความสุขดั่งเทพนิยาย แต่แล้ว…

ตอนแรกนี่ผมก็นึกนะว่าจะเป็นหนังรักพิมพ์นิยมที่แสนคุ้นเคย ที่ได้ Bogart มาควงคู่กับ Gardner แต่พอดูไปกลับไม่เป็นแบบนั้นครับ มันคือหนังดราม่าที่บอกเล่าชีวิตของดาราสาวคนหนึ่งที่พบเจอสิ่งต่างๆ มากมาย บางสิ่งก็เจอแบบเลือกไม่ได้ อย่างเช่นแม่ของเธอที่แสนจะร้ายกาจ หรือความวุ่นวายในโลกมายาที่เธอก็เบื่อหน่ายยามต้องเข้าไปสัมผัส

แต่บางสิ่งที่เธอเผชิญนั้น ก็เกิดมาจากการเลือกของเธอเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ที่ดูเหมือนเธอจะไม่ค่อยเข้าใจมันอย่างถ่องแท้นัก เธอรู้แต่ว่าตัวเธอต้องการอะไร แล้วเธอก็พร้อมจะเดินหน้าทำตามสิ่งที่เธอต้องการนั้นโดยไม่กลัวเกรงว่ามันอาจมีผลลัพธ์ที่ไม่สวยงามในท้ายที่สุด

หลังสำคัญของหนังคือการแสดงดีๆ ของเหล่าดารานำครับ Bogart นี่ผมว่าเขาเอาอยู่มากๆ และเขาก็ดูเหมาะกับแฮร์รี่อย่างยิ่ง และยิ่งตอนเข้าฉากกับ Gardner นี่ผมว่าหลายอย่างมันพอดีน่ะครับ คือรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างแฮร์รี่กับมาเรียนั้น คนดูอย่างเราๆ จะสามารถสัมผัสได้เลยน่ะครับว่าพวกเขาไม่ได้มีสายสัมพันธ์กันในเชิงชู้สาว แต่จะออกแนวพี่ชายน้องสาวอะไรแบบนั้นมากกว่า และพวกเขาก็สามารถแสดงออกมาให้เรารู้สึกแบบนั้นได้สำเร็จ – โดยส่วนตัวผมว่าจุดนี้สำคัญครับ เพราะถ้านักแสดงเกิดแสดงไม่ดี ทำให้คนดูมองพวกเขาไปในเชิงชู้สาวล่ะก็ รสชาติของหนังคงจะเพี้ยนไปจากสิ่งที่ควรเป็นไม่น้อย

ส่วน O’Brien ก็ถือว่าขโมยซีนได้เรื่อยๆ จนไม่แปลกใจที่เขาจะได้ออสการ์สาขาสมทบชายไปจากหนังเรื่องนี้ และ Stevens กับ Goring ก็ดูลื่นไหลไปกับบทคนรวยที่เอาแต่ใจ พวกเขาดูเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโต จะเอาอะไรก็ต้องได้ และไม่ยอมให้ใครขัดใจ ในขณะที่ Brazzi ก็ดูเป็นท่านเคาท์ที่ภูมิฐาน มีความหนักแน่นในแต่ละการกระทำ เรียกว่าแต่ละคนล้วนแสดงได้พอเหมาะกับบทครับ

Untitled07507

ของดีอย่างต่อมาคือดนตรีของ Mario Nascimbene ที่ไพเราะมาก เข้ากับอารมณ์ของหนังอย่างยิ่ง ท่วงทำนองนี่สมเป็นหนังยุคเก่าน่ะครับ ฟังดูมีเสน่ห์ ช่วยเสริมบรรยากาศได้อย่างน่าปรบมือ และที่ลืมไม่ได้คืองานภาพครับ ถือว่าออกมาดีเลยล่ะ ซึ่งก็เป็นผลงานของผู้กำกับภาพระดับตำนาน Jack Cardiff แห่ง Black Narcissus (ที่ทำให้เขาได้ออสการ์), The African Queen, War and Peace หรือถ้าหนังยุคใหม่หน่อยก็อย่าง Conan the Destroyer และ Rambo: First Blood Part II

หนังกำกับโดย Joseph L. Mankiewicz ที่หลายคนคงจำชื่อเขาได้จาก All About Eve และ Julius Caesar ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ ดีกรีความเยี่ยมและกลมกล่อมก็ยังไม่เทียมเท่าเรื่องเหล่านั้นครับ แต่ก็ถือว่าเป้นหนังรุ่นเก่าที่ควรค่าแก่การรับชม ไม่ว่าจะชมการแสดงดีๆ การเล่าเรื่องที่ชวนให้เราติดตามค้นหาว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของมาเรียกันแน่ และเหตุใดเธอถึงต้องจบชีวิตลง ซึ่ง Mankiewicz ก็รับหน้าที่ทั้งกำกับและเขียนบทครับ ซึ่งเขาก็ได้เข้าชิงในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องนี้ด้วย – แต่ปีนั้นเจอ On the Waterfront คว้ารางวัลในสาขานี้ไปแทนครับ ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนั้นแข็งปั๋งกว่าจริงๆ

และผมอาจจะพูดถึงการแสดงของ Gardner ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะจริงๆ ผมว่าเธอก็แสดงได้ดีนั่นแหละครับ แต่ในใจลึกๆ ก็รู้สึกว่าบทยังไม่เปิดโอกาสให้เธอได้ปล่อยของแบบเต็มๆ ความเด่นของเธอดูจะโดนเหล่าดาราชายแย่งไปไม่น้อย จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าบทเปิดโอกาสให้เธอได้แสดงอะไรมากกว่านี้ ได้เห็นมิติตัวตนของมาเรียมากกว่านี้ หนังอาจจะทวีความเยี่ยมมากขึ้นก็เป็นได้

แต่กระนั้นผมก็รู้สึกเชื่อมกับเธอนะครับ… ผมหมายถึงตัวละครมาเรียในหนังน่ะครับ – ที่หนังตั้งชื่อว่า The Barefoot Contessa นั้น มันมีเหตุผลอยู่ครับ เพราะตัวละครมาเรียนั้นมักจะชอบถอดรองเท้า ชอบทำอะไรด้วยเท้าเปล่า และมีอยู่ซีนหนึ่งที่เธอเป็นแบบให้ช่างปั้นได้ปั้นรูปของเธอขึ้นมา ตอนที่ท่านเคาท์บอกกับแฮร์รี่ว่ามาเรียมักจะถอดรองเท้าเสมอตอนเป็นแบบปั้นรูป ฉากนั้นแฮร์รี่ยิ้มให้มาเรียแบบคนที่รู้ใจกัน และผมก็อมยิ้มไปพร้อมๆ กับพวกเขาด้วย

… มาเรียยังไงก็ยังคงเป็นมาเรียน่ะครับ จะเป็นนักเต้นในบาร์ เป็นดาราเจิดจรัส หรือเป็นเคาท์เตสสูงศักดิ์ เธอก็ยังคงเป็นมาเรียเท้าเปล่าคนเดิม…

ผมไม่รับประกันว่าท่านจะชอบหนังเรื่องนี้นะครับ แต่ผมบอกได้ว่าผมชอบ ผมเพลิดเพลินกับหนังตลอด 2 ชั่วโมง และนี่คงเป็นหนังอีกเรื่องที่ผมจะจดจำเอาไว้ในใจ – อาจเพราะทางของหนังน่ะครับ อย่างที่หลายท่านทราบว่าผมชอบอยู่แล้วล่ะ หนังประเภท “บอกเล่าห้วงเวลาหนึ่งในชีวิตของใครสักคน” และหนังเรื่องนี้ก็จัดอยู่ในข่ายนั้น

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)