รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Airport (1970) เที่ยวบินมฤตยู

1385446143

Airport ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะหนังว่าด้วยภัยพิบัติเรื่องแรกๆ ในยุคทองของหนังแนวนี้น่ะนะครับ แต่ถ้าดูกันจริงๆ แล้วโครงสร้าง 90% ของหนังจะออกแนวชีวิตมากกว่าครับ ส่วนอีก 10% ที่ว่าด้วยภัยพิบัตินั้นจะมีให้เห็นแบบชัดๆ ก็ตอนไคลแม็กซ์โน่นเลย

ถ้าถามว่าหนังดีไหมก็บอกได้เลยครับว่าดีทีเดียว ดูสนุกในเชิงดราม่าน่ะครับ ซึ่งในส่วนของดราม่านั้น เราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนดำเนินเรื่องไปคู่กัน ส่วนแรกคือดราม่าว่าด้วยความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งตัวละครหลักๆ ก็มี เมล เบเกอร์เฟลด์ (Burt Lancaster) ผู้จัดการดูแลสนามบินนานาชาติลินคอล์นที่กำลังเกิดวิกฤติในชีวิตคู่ เรียกว่าเจียนจะหย่าเต็มที แต่เขาก็จำต้องออกจากบ้านมาเพื่อทำงานที่ตนรับผิดชอบ ในคืนที่แสนจะวุ่นวายอย่างมหาศาล

คนต่อมาก็คือ เวอร์นอน เดอมอเรสต์ (Dean Martin) กัปตันเครื่องโบอิ้ง 707 ที่เที่ยวบินล่าสุดของเขาจะต้องนำพาผู้โดยสารเดินทางไปยังกรุงโรม แต่ในคืนนั้นเองเขาต้องมาพบว่าเกวน (Jacqueline Bisset) คนรักลับๆ กำลังตั้งครรภ์ลูกของเขาอยู่

ส่วนทันย่า ลิฟวิงสตัน (Jean Seberg) ก็ต้องปวดหัวกับพวกที่ชอบลักลอบขึ้นเครื่องฟรี ซึ่งรายล่าสุดก็คือสาวแก่อายุ 70 ปีนามว่าเอด้า (Helen Hayes) ที่เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว หาทางหนีขึ้นเครื่องได้ทุกรอบไม่ว่าจะมีการระวังป้องกันแค่ไหนก็เถอะ

และปิดท้ายด้วย ดี.โอ. เกอร์เรโร (Van Heflin) อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพที่ต้องตกงาน ขาดเงินเจือจานครอบครัว และกำลังจะหาทางออกให้ชีวิตตนและภรรยา (Maureen Stapleton) โดยการทำประกันชีวิตไว้ ก่อนจะหอบระเบิดทำมือขึ้นไปบนเครื่องบิน และหมายจะจุดชนวนกลางอากาศ

จะว่าไปในส่วนนี้ถือว่าทำได้ดีเลยครับ ยอมรับนะว่าตอนเด็กๆ ที่ผมดูรอบแรกผมค่อนข้างเบื่อ แต่พอโตขึ้นแล้วมาดูใหม่ รู้สึกว่าดาราแต่ละคนแสดงได้ดีมากๆ บทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องชีวิตของพวกเขาก็น่าสนใจดีครับ ในบางจังหวะเรายังได้แง่คิดติดหัวกลับไปด้วย

และดราม่าอีกหนึ่งส่วนก็ว่าด้วยการที่เหล่าตัวละครที่เป็นเจ้าหน้าที่สนามบินต้องมารับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนที่สุดในรอบหลายปี ไม่ว่าจะเคลียร์รันเวย์ งัดข้อกับผู้บริหาร หรือเจรจากับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากมลภาวะอันเนื่องมาจากเครื่องบิน ส่วนนี้ก็ถือว่าเติมรสชาติให้กับหนังได้ไม่น้อยเหมือนกัน

ยอมรับครับว่า 90% ของหนังที่เป็นดราม่านั้น อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะโอเคกับมัน บางคนอาจเบื่อ อาจรู้สึกเฉย ซึ่งอันนี้ต้องแล้วแต่รสนิยมครับ แต่หากคุณชอบอะไรที่มันดราม่าๆ นะครับ Airport ถือว่าทำได้ไม่เลวในฐานะหนังดราม่าบนรันเวย์ ดาราดี บทเข้าท่า การเดินเรื่องอาจช้าไม่ทันใจบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับน่าเบื่อเกินไป

และอีก 10% ที่ว่าด้วยภัยพิบัติก็ทำได้ไม่เลวเลยครับสำหรับยุคนั้น ดูตื่นเต้นน่าติดตามไม่น้อย และยังมีอารมณ์สะเทือนใจแทรกลงไปอีกด้วย

จะว่าไปแล้วพลังสำคัญของหนังเรื่องนี้ต้องยกให้เหล่าดาราระดับแม่เหล็กที่ตกเท้ากันเข้ามาร่วมฝากฝีมือไว้ครับ ตั้งแต่ Lancaster ที่เหมาะเสมอครับกับบทสุภาพบุรุษผู้องอาจและมีมาดผู้นำ ส่วน Martin ก็ลื่นไหลได้โล่ห์ กับบทกัปตันเจ้าเสน่ห์ ครั้นพอถึงตอนดราม่าเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ, Bisset ก็สวย น่ารัก เป็นสีสันที่ไม่เลวให้กับเรื่องราว, George Kennedy รับบทเป็นโจ พาโทรนี่ ตัวละครเดียวในเรื่องนี้ที่ได้เล่นในหนังชุด Airport ครบทั้ง 4 ภาคครับ โดยภาคนี้เขาเป็นช่างเครื่องยนต์ คอยแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับภาคพื้นสนามบินและเครื่องที่บินบนฟ้า

Airportlt

แต่คนที่แสดงได้สุดยอดมากมายจนสมกับรางวัลออสการ์สาขาดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยมก็คือ Hayes ครับ เธอเล่นเป็นหญิงชราน่ารักที่แฝงความแสบเล็กๆ เอาไว้ได้อย่างดี ยิ่งฉากไหนที่เธอต้อง “ดราม่า” นี่ก็ทำได้ฉลุยสุดๆ จนถือได้ว่าเป็นจุดเด่นอย่างมากของหนังเลยล่ะครับ

Heflin ก็น่าจดจำมากๆ ครับในบทชายผู้น่าสงสาร ดี.โอ. เกอเรโร ดูแล้วเห็นใจเขามากเลยครับ เพราะจริงๆ เขาเป็นแค่คนหมดตัว หมดทางออกในชีวิตคนหนึ่งที่ไม่รู้จะทำยังไง แววตาเศร้าๆ สร้างความสลดให้หนังได้มากครับ ซึ่งนี่ก็เป็นผลงานทางจอเงินเรื่องสุดท้ายของเขา ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไปในอีกไม่กี่ปีต่อมา

อีกคนที่ลืมไม่ได้คือ Maureen Stapleton ที่แสดงได้ยอดเยี่ยมไม่น้อยหน้าใคร เธอคือภรรยาของดี.โอ. ที่ต้องมาตกตะลึงยามรู้ว่าสามีของเธอกำลังจะทำอะไร ฉากที่สะเทือนใจผมสุดๆ คือตอนที่เธอวิ่งเข้าหาเหล่าผู้โดยสารที่เพิ่งรอดชีวิตมาจากเหตุการณ์ที่สามีของเธอก่อไว้ เธอได้แต่กล่าวคำขอโทษทั้งน้ำตา มือไม้สั่นเทาด้วยความเสียใจ โอย ฉากนี้เธอน่าสงสารมากครับ และด้วยการแสดงดีๆ เช่นนี้ก็ไม่แปลกใจเช่นกันที่เธอจะได้เข้าขิงออสการ์สาขาเดียวกับ Hayes เลยครับ แต่ก็พอเข้าใจที่สุดท้ายแล้ว Hayes จะได้ไป เพราะความเด่นในเรื่อง Hayes เด่นกว่าหน่อยจริงๆ ครับ

ความสำเร็จของหนังถือว่ามากมายครับ ลงทุน $10 ล้าน ได้คืนมา $100 ล้าน แต่หากเราคำนวณค่าตั๋วโดยใช้เรตปัจจุบันและปรับอัตราเงินเฟ้อ จะเท่ากับหนังเรื่องนี้ทำเงินไปถึง $532 ล้านเลยทีเดียวครับ (ก็จะติดอยู่ที่อันดับ 43 ของหนังทำเงินตลอดกาลแบบปรับค่าตามอัตราปัจจุบันแล้ว) ลองว่าทำเงินระดับนี้ก็ไม่แปลกล่ะครับที่จะมีการทำภาคต่อตามมาอีกเพียบ ไหนจะหนังแนวเดียวกันที่ตามออกมาอีกเป็นพรวนด้วย

หนังได้เข้าชิงออสการ์ไป 7 ตัวครับ รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ก็ได้มารางวัลเดียวคือที่ Hayes ได้ไป แต่ยังไงซะหนังก็ถือว่าทำออกมาดีล่ะครับ อาจไม่ดีเลิศแต่ก็น่าพอใจ ผู้กำกับ George Seaton ที่ทำหน้าที่ทั้งดัดแปลงบทจากนิยายของ Arthur Hailey และควบเก้าอี้กำกับด้วยก็คุมหนังได้ไม่เลวครับ (เพียงแต่ถ้าหนังกระชับกว่านี้อีกนิดก็จะแจ๋วเลย )

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)