รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

ปฏิบัติการลุยตลาดรัก (2007) Hooked on You

Untitled06232

เคยไหมครับ ยามเราดูหนังสักเรื่องแล้วก็พบว่าเรารู้สึกไม่สนุกกับการดูหนังเรื่องนั้นเลยเนื่องจากมันมีอะไรบางอย่างที่เราไม่ชอบปรากฏอยู่ในนั้น เช่น ไม่ชอบมุกตลก ไม่ชอบเนื้อเรื่อง ไม่ชอบโทน หรือไม่ชอบตัวละครบางตัวที่ยิ่งดูยิ่งรำคาญ จนแทบจะหยุดดูหนังซะเดี๋ยวนั้น แต่ครั้นพอทนดูไปเกินครึ่งเรื่อง นอกจากความไม่ชอบจะค่อยๆ หายไปแล้ว มันยังกลายเป็นว่าเราชอบครึ่งหลังของหนัง ประมาณว่ามันโดนใจเราอย่างยิ่ง

สำหรับผมแล้ว สถานการณ์แบบนี้ไม่ค่อยเจอครับ และล่าสุดก็มาเจอกับหนังเรื่องนี้นี่แหละ ปฏิบัติการลุยตลาดรัก – Hooked on You

หนังเล่าถึงเรื่องวุ่นๆ ในตลาดแห่งหนึ่งครับ เรื่องของอาเมี่ยว (Miriam Chin Wah Yeung) สาวขายปลาที่ตั้งใจทำงานหมายจะปลดหนี้เพื่อที่จะได้นำพาตัวเองออกจากตลาดและชีวิตแบบปัจจุบัน แล้วหันไปทำงานที่ชื่นชอบและใฝ่ฝันแทน ซึ่งระหว่างนั้นเธอก็ต้องเจอกับ วีไจ๋ (Eason Chan) พ่อค้าในตลาดที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาชอบหาเรื่องหาราวและทำตัวกักขฬะอยู่ทุกวี่วัน

คือดูหนังแล้วมันก็พอเดาได้น่ะครับ ว่าอาเมี่ยวกับวีไจ่เนี่ยต้องตีกันอยู่เรื่อยๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็จะเริ่มสนใจกันและกันและหันมารู้สึกดีๆ ต่อกันตามสูตร แต่บอกเลยครับว่าผมนั้นต้องใช้ความอดทนไม่น้อย เพราะยอมรับจากใจเลยว่าไม่ชอบคาแรคเตอร์ในตอนต้นๆ ของนายวีไจ๋คนนี้เลยจริงๆ ทั้งอันธพาล พูดจาไม่เข้าหู ชอบทำอะไรเห็นแก่ตัว เอาขยะร้านตัวเองไปทิ้งไว้หน้าร้านคนอื่นแล้วยังจะโวยวาย ครั้นคนอื่นจะพูดจะจาอะไรก็พร้อมบวกตลอด พร้อมจะหาเรื่องคนอื่นอยู่เสมอ ซ้ำยังชอบบังคับจิตใจชาวบ้านเหมือนตัวเองใหญ่โตเก่งกร่างเสียเต็มประดา คือคาแรคเตอร์นี่มาแนวมาเฟียกวนกร่างแบบที่นักข่าวชอบเอามาออกเลยล่ะ พูดก็พูดเถอะครับว่าดูหนังไปอึดอัดไปเพราะนายคนนี้นี่แหละ

ส่วนตัวละครอื่นๆ ในเรื่องนั้นก็ไม่บวกไม่ลบครับ อย่างอาเมี่ยวก็เป็นสาวขยัน บางทีก็ซื่ออย่างไม่น่าเชื่อจนนำพาชีวิตไปสู่ความวุ่นวาย หรือชีวิตในตลาดก็มีกระทบกระทั่งกันบ้างระหว่างร้าน หรือไม่ก็ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหายอดขายตกอันเนื่องมาจากมีซูเปอร์มารืเก็ตมาเปิดที่ใกล้ๆ อะไรเหล่านี้ผมมองว่ากลางๆ ไม่บวกไม่ลบ – แต่ที่ทนไมได้จริงๆ คือตัวนายวีไจ๋นี่แหละ

ถึงจุดนี้หลายท่านอาจมีคำถามว่าแล้วทำไมผมไม่หยุดดู? อันนี้มี 2 เหตุผลครับ เหตุผลแรกคือผมเป็นคนประเภทถ้าดูหนังแล้วต้องดูให้จบ ไม่หยุดดูกลางทาง และอีกเหตุผลคือ เพราะดนตรีครับ ดนตรีประกอบในเรื่องมันไพเราะโดนใจ

Untitled06233

ดนตรีประกอบนั้นเป็นเสียงเปียโนครับ ท่วงทำนองบรรเลงจะให้อารมณ์คล้ายเพลงเบาๆ ที่เราได้ยินตามร้านกาแฟ เป็น Jazz สวยๆ ที่สื่ออารมณ์ของตัวละคร เช่นบางซีนก็เป็นตอนที่อาเมี่ยวรู้สึกเหงา อ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว โทนเพลงก็จะเหงาๆ แต่ไม่ถึงกับเศร้า มันเป็นความเหงาที่เจือไว้ด้วยความรู้สึกยอมรับกับสภาพที่ตนเองต้องเผชิญ

บางช่วงทำนองก็ให้ความรู้สึกประมาณว่า “นี่แหละหนอ ชีวิต เบาบ้าง หนักบ้าง… มันไม่เป็นไปตามที่เราหวังเสียทั้งหมดหรอก…” ก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าเพราะดนตรีมันเหมือนตบบ่าแตะไหล่ปลอบผมเบาๆ อยู่เป็นพักๆ หรือเปล่า เลยทำให้ผมผ่านช่วงที่ไม่พึงประสงค์ตอนครึ่งแรกของหนังมาได้ – สำหรับคนทำดนตรีเรื่องนี้ก็คือ Dan-yee Wong หรือ Dennie Wong ครับ สำหรับผมนี่บอกได้เลยว่าผ่านช่วงแรกมาได้ก็เพราะดนตรีนุ่มนวล เบาๆ สวยๆ ของเขานี่แหละ

แล้วหนังก็อยู่ในห่วงวุ่นๆ ล้นๆ เยอะๆ อยู่พักหนึ่งครับ ผมก็รอดูอยู่ว่ามันจะมีจุดเปลี่ยนไหม ในที่สุดก็พบจนได้ครับ หนังมีจุดเปลี่ยนตอนกลางๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวีไจ๋กับอาเมี่ยวที่มาถึงทางแยก ตามด้วยตอนที่อาเต๋อ (Stanley Sui-Fan Fung) พ่อของอาเมี่ยวที่เป็นผีพนันและขยันเที่ยวผู้หญิง ปกติเขาจะเล่นพนันแบบไม่หมดไม่เลิกครับ ยิ่งพอเล่นได้นี่ยิ่งเล่นต่ออีกยาว แต่กลายเป็นว่าตอนกลางเรื่องนี้อาเต๋อเกิดคิดได้ และเขาก็หยุดเล่นพนัน เพราะตั้งใจจะเอาเงินที่ได้มาให้ลูกสาว

ถัดจากนี้หนังก็เหมือนเปลี่ยนโทนเลยครับ จากที่บอกเล่าเรื่องวุ่นวายในตลาด จากที่นายวีไจ๋ทำตัวไม่น่ารัก จากที่อาเมี่ยวต้องทนใช้ชีวิตในตลาดและเก็บงำความต้องการของตนไว้ หนังก็มาถึงทางแยก แต่ละชีวิตเมื่อพบทางแยกแล้ว ต่างก็เดินไปบนเส้นทางใหม่ ที่หลายสิ่งไม่เหมือนเดิม (หรือไม่อาจเหมือนเดิม) ได้อีกต่อไป – และครึ่งหลังนี่แหละที่หนังได้กลายมาเป็นแนวที่ผมชอบ ซึ่งผมคงบรรยายสรุปอีกทีในโซนสปอยล์ครับ

กลายเป็นว่าเมื่อผมดูหนังจบ ผมชอบหนังเรื่องนี้ครับ แล้วก็ตระหนักว่าครึ่งแรกนั้นแม้ผมจะไม่ชอบพฤติกรรมของวีไจ๋ แต่ถ้าถามว่าหนังไม่ดีใช่หรือไม่? คนแสดงเล่นไม่ดีหรือเปล่า? ผมตอบได้เลยว่า “ไม่ใช่”

อันที่จริงต้องพูดว่า Eason Chan ที่แสดงเป็นวีไจ๋นั้นแสดงได้ดี ถึงทำให้เรารู้สึกอินและรำคาญตัวละครนี้ได้ซะขนาดนั้น

เหตุที่ผมชอบหนังเรื่องนี้คงเพราะแนวเรื่องมันเข้าทางครับ นั่นคือเป็นหนังที่บอกเล่า “ช่วงหนึ่งของชีวิตคน” เราจะได้เห็นชีวิตของตัวละครในครึ่งแรก ก่อนที่พวกเขาจะต้องพบกับจุดเปลี่ยน แล้วจากนั้นครึ่งหลังชีวิตของพวกเขาก็ไปอีกทาง ซึ่งบางอย่างก็เกิดจากการเลือกของพวกเขา และบางอย่างก็เกิดขึ้นโดยที่พวกเขาไม่อาจเลือกได้

หนังมีฉากที่ผมชอบอยู่หลายฉากครับ อย่างฉากหนึ่งที่หนังสะท้อนความจริงของชีวิตได้ดี คือตอนที่อาเมี่ยวนัดเจอคนที่เธอเคยคิดจะคบ แต่สุดท้ายเธอกับเขาก็ห่างกันไป พอมาวันนี้เธอคิดๆ อยู่ว่าจะลองคบกับเขา เลยนัดเจอเพื่อจะเริ่มต้นคบดูสักครั้ง แต่ที่ไหนได้เธอกลับพบว่าเขากำลังจะแต่งงานครับ แต่งงานกับผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่เธอ

Untitled06234

ฉากต่อมาอาเมี่ยวเลยตัดสินใจเดินเข้าหัางเพื่อจะไปซื้อกระเป๋าที่เธอเล็งไว้นานแล้ว แต่ไม่ยอมซื้อสักที แต่ก็กลายเป็นว่ากระเป๋าใบนั้นได้ถูกขายไปแล้ว

เธออึ้งไปนิดหนึ่ง แล้วถามว่า “ของจะมาอีกเมื่อไหร่?” พนักงานตอบทันทีว่า “รุ่นนั้นเขาไม่ผลิตแล้ว”

ครู่หนึ่งเธอก็ชี้ไปที่กระเป๋าอีกใบที่โชว์อยู่ พลางถามว่า “มีแบบกระดุมปิดไหม?” พนักงานตอบทันทีว่า “ไม่มี”

แล้วเธอก็ชี้ไปที่กระเป๋าอีกใบพร้อมถามว่า “มีสีอื่นไหม?” พนักงานตอบทันทีเช่นเคยว่า “ไม่มี”

ในที่สุดเธอก็ชี้เลือกไปที่กระเป๋าอีกใบที่คิดจะเอา แล้วถามว่า “มีใบใหม่ไหม?” พนักงานตอบว่า “มีแค่ใบนี้… จะเอาไหม?”

ฉากนี้มันสะท้อนความจริงของชีวิตแบบกระแทกเข้าเบ้าตาเลยน่ะครับ ว่านี่แหละคือชีวิตล่ะ บางครั้งเราก็เลือกไม่ได้ เราไม่อาจเรียกร้อง ร้องขอ หรือวิงวอนให้บางอย่างในชีวิตเปลี่ยนไปตามความต้องการของเรา และผมชอบที่ฉากนี้พนักงานขายดูแข็งกร้าว ไม่ค่อยเป็นมิตร ตอบแบบส่งๆ พูดแบบตรงๆ ไม่มีการพินอบพิเทา – ชีวิตไม่จำเป็นต้องพูดหวานๆ หรือสุภาพกับเราครับ บางครั้งมันก็แข็งกระด้างแบบนี้แหละ…

เราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ชีวิตก็ยังคือชีวิต โลกก็ยังคือโลก… โลกที่ไม่ได้หมุนรอบตัวเรา

ผมชอบสารสาระที่หนังสื่อในครึ่งหลังว่าชีวิตเรานั้น เราอาจควบคุมบางอย่างได้ และเราอาจโชคดีในบางวัน แต่กระนั้นมันก็ต้องมีวันที่ไม่ใช่วันของเรา และมันต้องมีความผิดหวัง ต้องมีสิ่งที่เราพลาดไป ต้องมีอะไรที่ไม่เป็นไปตามแผน

บางครั้งสิ่งที่เราทำได้ในวันที่อะไรๆ ไม่เป็นใจ ก็คือการโอบกอดตัวเองเบาๆ ใช้ลมหายใจพยุงร่างของเราให้ก้าวต่อไป

บางครั้งสิ่งที่เราทำได้ในวันที่เราตระหนักว่าใครบางคนที่เราต้องการให้มาอยู่ชิดใกล้ได้หลุดลอยไปแล้ว ก็คือการโบกมือลา และขอบคุณที่อย่างน้อยก็เคยมีความรู้สึกดีๆ ให้กัน – ขอบคุณที่ให้โอกาสเราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา แม้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ผมชอบที่อาเมี่ยวพูดสรุปในตอนท้าย “10 ปีมานี้ ฉันไม่ได้ทำสำเร็จทั้งหมด ถ้าเป็นเมื่อก่อนฉันคงมองว่าตัวเองแพ้แล้ว แต่ตอนนี้ฉันคิดว่าตัวเองไม่ได้แพ้ แต่ฉันพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นแค่ทางที่เราต้องผ่าน”

ถือเป็นหนังที่น่าดูอีกเรื่องครับ ส่วนว่าหนังจะดีหรือไม่ดี ดูแล้วชอบหรือไม่ชอบนั้นก็ต้องแล้วแต่ท่านจะตัดสิน แต่ผมอยากให้ลองชมครับ เพราะมันเป็นมากกว่าหนังโรแมนติกเบาสมอง จริงๆ แล้วผมว่าหนังมันหนักไปทางดราม่านะ แล้วก็สอดแทรกแง่มุมของชีวิตคน สะท้อนความจริงของโลกที่มีครบทั้งด้านสวยงามและด้านหม่นหมอง – มันอาจไม่ได้ลึกซึ้ง แต่ผมแน่ใจว่าใครก็ตามที่เกิดมาเป็นคน ต้องพบเจออะไรเหล่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหนก็ตาม

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)

===================
===================
ผมอยากขอสปอยล์หน่อยล่ะนะครับ
===================
===================

ผมว่าผมแพ้ทางหนังที่จบแบบนี้ครับ โดยสรุปเลยคือหนังจบแบบที่สุดท้ายแล้วอาเมี่ยวและวีไจ๋ก็ไม่ได้ครองคู่ เพราะยามที่อาเมี่ยวรู้สึกอยากจะลองคบหากับวีไจ๋นั้น กลายเป็นว่าวีไจ๋แต่งงานแล้ว มีลูกแล้ว – ฉากสุดท้ายของพวกเขาก็คือ อาเมี่ยวมองวีไจ๋เดินอุ้มลูกไปกับภรรยา มองดูครอบครัวน้อยๆ เดินไปเรื่อยๆ อย่างมีความสุข ก่อนที่เธอจะเดินกลับเข้าไปในร้านเสริมสวยของตัวเอง – เพียงลำพัง

จบแบบนี้มันเฮิร์ตดีนะครับ มันกระแทกใจอยู่ไม่น้อย แต่ผมชอบตอนจบแบบนี้นะ มันมีความ Real ผสมอยู่ และการจบประเภทว่า “ตัวละครไม่สมหวัง” มันทำให้เราจดจำได้มากกว่าการจบแบบแฮปปี้ เพราะชีวิตเรานั้นไม่ได้อะไรอย่างที่หวังไปเสียทุกอย่างอยู่แล้ว ดีไม่ดีบางคนนี้ได้สมหวังในเรื่องเล็กๆ อยู่บ่อยๆ แต่พอเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหลักของชีวิตทีไร เป็นอันต้องพลาดหวังมันทุกที

ส่วนประเด็นที่ผมไม่ชอบวีไจ๋ในตอนแรกนั้น พอดูหนังไปก็ตระหนักครับว่าหนังทำให้เราเห็นว่าคนหนึ่งคนสามารถเปลี่ยนตัวเองได้หากเจอจุดเปลี่ยนที่มีพลังมากพอ อย่างสำหรับวีไจ๋นี่ จุดเปลี่ยนที่ทรงพลังนั้นคือการพูดตรงๆ ของอาเมี่ยวที่บอกว่าเธอจะไม่เลือกเขาเป็นคู่ครอง – จุดนี้สะท้อนความจริงได้อย่างหนึ่งครับ นั่นคือคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เสมอ ทั้งจากดีไปร้าย และจากร้ายไปดี มันขึ้นกับว่าชีวิตเราไปโดนตัวไหนมา – และผมมองประเด็นนี้ในเชิงบวกว่า คนเรานั้นอัพเกรดตัวเองได้ หากเราพยายามมากพอ

อีกสิ่งที่ผมชอบคือคำว่า Miss ครับ – คืออย่างนี้ครับ ตอนต้นเรื่องนั้นอาเมี่ยวได้พูดบรรยายเอาไว้ว่า เธอได้เข้าใจความหมายของคำว่า Miss แบบชัดเจนก็หลังจากผ่านเรื่องราวทั้งหมด

คำว่า Miss นั้นในหนังได้บรรยายไว้ 4 ความหมาย ความหมายแรกคือ พลาด, ความหมายที่ 2 คือรู้สึกคิดถึงหรือเสียใจกับบางสิ่งหรือบางคนที่จากไปแล้ว, ความหมายที่ 3 คือการไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะอยู่ และความหมายที่ 4 คือคำนำหน้าผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน

แล้วพอดูถึงตอนจบ อาเมี่ยวซึ่งได้ผ่านพานพบเหตุการณ์ทั้ง 4 ความหมายก็ตัดสินใจตั้งชื่อร้านเสริมสวยของตัวเองว่า Miss ครับ ซึ่งมันเป็นการสรุปเรื่องราวได้อย่างชัดเจนอย่างยิ่ง และอดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวิวๆ เพราะชีวิตของอาเมี่ยวนั้น แม้วันนี้จะสมหวังในเรื่องหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ผ่านการ Miss มาแล้วหลายครั้งหลายหน จนทำให้คำว่า Miss สำหรับเธอแล้ว มีความหมายมากกว่าแค่ชื่อร้านธรรมดาๆ

แล้วหนังก็จบลงโดยมีเพลง Mei Dang Bian Huan Shi (每當變幻時) ปิดท้ายครับ อันว่าเพลงนี้เป็นเพลงเก่าเพลงหนึ่งที่มีการร้องมาแล้วหลายเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นหนึ่งร้องโดย Ricky Hui ก็เพราะดีครับ – บางครั้งเพลงมาในทำนองช้าๆ แต่บางทีก็มาในทำนองรวดเร็ว ส่วนเวอร์ชั่นที่เปิดในหนังนั้นเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ Miriam นางเอกของเรื่องร้องครับ โดยมีการเรียบเรียงเสียงประสานใหม่โดย Dennie Wong คนทำดนตรีเรื่องนี้นั่นเอง และเพลงเวอร์ชั่นนี้ก็ถือว่าไพเราะทีเดียวครับ

ความหมายของเพลงนี้ก็เข้ากับเรื่องราวแบบสุดๆ ครับ ชื่อเพลงแปลคร่าวๆ ว่า “เมื่อถึงกาลต้องเปลี่ยนแปร” แน่นอนว่าเนื้อเพลงก็ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในชีวิตน่ะครับ

“วัยเยาว์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ฤดูกาลผันผ่านดั่งก้าวกระโดด
สิ่งใดไปแล้ว ก็ไปลับ (ไม่หวนกลับมา)”

บางทีสรรพสิ่งทั้งดีร้ายที่ผ่านเข้ามา อาจมีส่วนช่วยเปลี่ยนให้หินธรรมดา กลายเป็นมรกตที่งดงามก็เป็นได้

ใครที่ผ่านชีวิตมาหลายฝนหลายหนาวคงเข้าใจความหมายของมันเป็นอย่างดี

… จริงไหมครับ

Untitled06235