ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด เป็นหนังไทยในความทรงจำครับ ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อผมเกิดคำถามทันทีว่า อะไรคือลูกบ้า? หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร? ผมรู้สึกว่าหนังมันแปลกแหวกแนวสำหรับสมัยนั้นที่ถ้าไม่ได้มาในแนวรักกุ๊กกิ๊ก – ตลกวัยรุ่น – ตลกหนีผี – ชีวิตดราม่า ก็จะเป็นแอคชั่น
ตอนดูครั้งแรก ยอมรับว่าผมดูแบบงงๆ อาจเพราะหนังแปลกใหม่สำหรับผม ผมอาจไม่เข้าใจมันทั้งหมด แต่สารสำคัญที่ผมได้รับและยังจำแม่นมาจนถึงทุกวันนี้คือ “เราควรใช้ชีวิตให้คุ้ม ควรใช้เวลาให้มีค่า และไม่ผัดวันประกันพรุ่งในสิ่งที่อยากทำ เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจะตายเมื่อไหร่”
การดูรอบล่าสุด ผมยังคงชอบในสารนั้นอยู่ครับ ในขณะที่ตัวหนังนั้นก็อาจจะมีทั้งส่วนที่รู้สึกโอเค และส่วนที่รู้สึกแปร่งๆ อย่างเช่นบางฉากบางช่วง บางบทสนทนา หรือบางมุกตลกที่อาจจะดูประดิษฐ์อยู่ในที แต่ก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นไปตามยุคสมัย สมัยนั้นโทนหนังไทยมันก็จะออกมาประมาณนี้
แต่สิ่งที่สัมผัสได้มากขึ้นคือการวิพากษ์สังคม ตั้งแต่เรื่องทั่วไปอย่างการลุกให้เด็ก สตรี และคนชรานั่งบนรถโดยสาร, การโบ้ยความผิดให้กับคนอื่น, การโกงกินเล่นไม่ซื่อ, การใช้อำนาจในทางมิชอบ, การที่บางกลุ่มทำทุกอย่างที่อยากทำ (ในทางที่ไม่ดี) ในขณะที่คนบางกลุ่มก็ยินยอมปล่อยให้คนพวกนั้นทำ ยอมเลยตามเลย กัดฟันอดทนให้พวกนั้นทำไป – นั่นคืออะไรที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ทั้งตอนนั้น และปัจจุบันนี้
“แล้วก็คุ้นกันไปเอง” เพลงเอกของหนัง สะท้อนความจริงอันน่าเศร้าในสังคมได้ตรงประเด็นครับ สิ่งแย่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ – สิ่งผิดๆ เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ – ค่านิยมบางอย่างถูกบิดจนเบี้ยว เป็นเพลงจังหวะครึกครื้นที่ฟังแล้วต้องแอบถอนหายใจ (เพลงนี้เนื้อร้องแต่งโดย คุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้นี่แหละครับ)
ถ้าถามว่าชอบหนังไหม ก็ตอบได้ว่าชอบครับ อาจจะรู้สึกแปร่งๆ ไปบ้างกับบางจังหวะ บางฉากบางตอน แต่โดยรวมหนังก็ดูได้เรื่อยๆ การแสดงของคุณดู๋ สัญญา คุณากร ถือเป็นไฮไลท์ที่ทำให้หนังน่าติดตามไปจนจบ พี่ขาถือว่าเหมาะมากกับภาพตัวละครแบบนี้ เป็นคนธรรมดาทั่วไปที่ใช้ชีวิตไปวันๆ ใช้ชีวิตไปตามสภาพสังคม ไม่ค่อยหือไม่ค่อยอืออะไร ใครจะทำอะไรก็ยอมไป เป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ในสังคม – อันนี้ก็ต้องยอมรับนะครับว่าสังคมแต่ละถิ่นที่จะเป็นอย่างไรนั้น มันก็เป็นไปตามการกระทำ (หรือการไม่กระทำ) ของคนส่วนใหญ่นั่นเอง
ครั้นพอถึงจุดที่เขาระเบิดออกมาก็ดูน่าเชื่อครับ ดูเป็นคนที่อยู่ในห้วงอารมณ์ “ทนไม่ไหวต่อสิ่งที่โลกเป็น” แต่ละถ้อยคำที่เขาสะท้อนออกมาตอนลูกบ้าออกฤทธิ์นั้นผมเชื่อว่าเป็นอะไรที่คนมากมายก็อยากจะตะโกนออกไป
และที่ไม่รู้จะขำหรือไม่ขำดีก็คือ คำพูดวิพากษ์สังคมในตอนนั้น (เมื่อปี พ.ศ. 2536) ยังเป็นคำที่คนในทุกวันนี้ (พ.ศ. 2565) ก็อยากจะเปล่งออกมาเหมือนกัน – ปัญหาเหล่านั้นยังไม่ไปไหน และบางปัญหายังทวีความอัปลักษณ์จนหนักขึ้นกว่าเก่าด้วยซ้ำ
หากว่ากันตามแนวคิดวิธีการมีชีวิตให้เป็นสุขตามกระแสสมัย เรานั้นไซร้ก็ควรปรับตัวตามสภาพสังคม บางเรื่องก็วางเสีย ลดความยึดติด อย่าคิดอย่าคาดให้โลกเป็นไปตามที่ใจเราอยาก แบบนั้นเราจะได้ไม่ต้องบ้า – แต่ครั้นคนเราจะยอมอยู่อย่างนั้นโดยไม่ทำอะไรให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเลย ปล่อยให้สิ่งที่เรารู้ว่ามันไม่ถูกต้องออกลูกออกหลานแตกหน่อต่อยอดกลายเป็นปัญหาใหม่ๆ ต่อไปอยู่อย่างนั้น แบบนั้นก็คงไม่ใช่ทางที่ประเสริฐนัก
โดยส่วนตัวมองว่าสภาพจิตของตนก็ควรถนอมรักษาหาสมดุล ส่วนสังคมก็ควรได้รับการทำนุบำรุงปรับปรุงให้มันดี – มันคงมีเส้นทางสายกลาง อยู่ระหว่างสิ่งเหล่านี้
และอาจเพราะผมชอบคุณดู๋จากหนังเรื่องนี้ ผมเลยตามไปชอบเขาต่อใน ท้าฟ้าลิขิต อีกเรื่อง ซึ่งผมว่าแนวทางบางอย่างคล้ายกัน – เพียงแต่ผมอาจจะชอบ ท้าฟ้าลิขิต มากกว่าหน่อย
ถือเป็นหนังไทยที่น่าดูอีกเรื่องครับ แม้จะเก่าแต่ก็ยังน่าสนใจ ที่สำคัญคือสาระของหนังนั้นเป็นอะไรที่เหนือกาลเวลา
สองดาวครึ่งครับ
(7/10)
หมวดหมู่:Action, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, หนังไทย (Thai Movies), Comedy, Drama