หน้าหนังของ The Dresser อาจทำให้บางท่านเข้าใจไปว่ากำลังจะได้ดูหนังว่าด้วยมิตรไมตรีที่คน 2 คนมีให้กันมานาน ซึ่งก็ต้องบอกไว้ก่อนครับว่ามันไม่เชิงเป็นอะไรแบบนั้นหรอก
หนังดัดแปลงจากละครเวทีของ Ronald Harwood ที่เคยทำเป็นหนังมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1983 ฉบับนั้น Albert Finney แสดงคู่กับ Tom Courtenay ส่วนฉบับนี้นักแสดงหลักคือ Anthony Hopkins กับ Ian McKellen ครับ โดยรายแรกมารับบทเป็นนักแสดงชรากับคืนแห่งการแสดงละครเวที King Lear เป็นรอบที่ 227 ส่วนรายหลังรับบทนอร์แมน ผู้ช่วยคนสนิทที่คอยดูแลและให้กำลังใจนักแสดงชราผู้นี้มานาน
การเดินเรื่องก็เป็นไปแบบละครเวทีครับ มีฉากอยู่ไม่กี่ฉาก และหนังก็ไม่ได้มาพร้อมพล็อตที่ซับซ้อน หรือมีอะไรให้ตื่นเต้นชวนลุ้น เนื้อเรื่องหลักเลยก็คือในการแสดง King Lear รอบนี้ นักแสดงชราก็รู้สึกไม่พร้อมที่จะเล่นสักเท่าไร แต่ก็ได้นอร์แมนนี่แหละคอยพูดจาให้กำลังใจ บางทีก็หว่านล้อมเพื่อปลุกพลังให้กับเขา แล้วก็มีตัวละครอื่นแวะเข้ามาในฉากบ้างเป็นระยะๆ
โทนของหนังไม่ใช่ Feel Good ครับ อันนี้ต้องบอกก่อนเพราะเดี๋ยวจะคาดหวังกันผิดทาง โทนของหนังออกแนวนำเสนอแบบตีแผ่ความเป็นคนที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง มีทั้งด้านบวกที่สวยงาม และด้านลบที่ชวนให้แสลงใจ แต่ส่วนใหญ่พลังจะเทไปที่อะไรลบๆ เสียมาก
สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ทำให้ผมดูหนังไปจนจบก็คือการแสดงของ 2 ดาราระดับตำนานอย่าง Hopkins กับ McKellen ครับ 2 คนนี้ปล่อยของกันสนุกเลย แต่ก็คิดเหมือนกันครับว่าถ้าบทหนัง (ที่ดัดแปลงจากบทละคร) มันมีอะไรชวนให้ติดตามมากกว่านี้ หนังคงจะลงตัวและสมบูรณ์กว่านี้มากครับ
บอกเลยครับว่าหนังไม่มีอะไรหวือหวา มันคือการให้ดารามาประชันฝีมือกันจริงๆ เดินเรื่องไปเรื่อยๆ จนหนังจบที่ประมาณ 100 นาทีกว่าๆ ดังนั้นใครไม่สันทัดหนังที่เดินเรื่องไปเรื่อยๆ ในฉากไม่กี่ฉาก (และแต่ละฉากก็ค่อนข้างจำกัด) ก็เป็นไปได้ว่าหนังอาจไม่ใช่แนวสำหรับท่านครับ ว่าง่ายๆ คืออาจเบื่อได้ ไม่ต้องอื่นไกลครับ ผมเองก็แอบนิ่งในบางวาระเหมือนกัน เพราะบางบริบทเรื่องราวก็เหมือนพายเรือในอ่าง ซึ่งในแง่ของการสะท้อนความจริงที่ว่าชีวิตของนักแสดงชราและนอร์แมนนั้นไม่สามารถไปได้ไกลกว่านี้แล้ว ก็พอเข้าใจน่ะครับ เพียงแต่การนำเสนออาจจะนิ่งไปสักหน่อยเท่านั้น
ผมชอบประเด็นหนึ่งในหนังครับ นั่นคือเรื่องของดารารุ่นใหม่ที่บางครั้งก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อก้าวหน้าในอาชีพให้เร็วที่สุด โดยไม่เกี่ยงวิธีการ หรือปมเกี่ยวกับดารารุ่นเก่าที่ตกรุ่นไปแล้วอย่าง ธอร์นตัน (Edward Fox) จริงๆ คือเขาไม่มีงานแล้วล่ะครับ เกษียณไปถึงไหนๆ แล้ว แต่ที่ได้กลับมาทำงานก็เพราะตอนนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดาคนหนุ่มเลยไปออกรบ แรงงานในหลายๆ วงการเกิดขาดแคลน เลยทำให้เขาได้มีโอกาสกลับมาแสดงอีกครั้ง – ซึ่งเขาก็ไม่รู้จะดีใจดีหรือไม่ ในแง่หนึ่งก็รู้สึกดีที่ได้กลับมาทำงานแสดง แต่อีกแง่ก็ห่วงคนรุ่นหลานที่ต้องไปออกรบ ไม่รู้จะได้กลับมาหรือไม่ – ก็เป็นความสับสนทางความรู้สึกที่น่าสนใจดี
สำหรับ Fox นั้นเคยร่วมแสดงใน The Dresser เวอร์ชั่น 1983 มาก่อนครับ แต่ฉบับนั้นเขาแสดงเป็น อ็อกเซนบี้
สิ่งหนึ่งที่หนังสะท้อนให้เราเห็นแบบตรงๆ คือ ผลรวมในชีวิตของเรานั้นก็เกิดจากการกระทำของเราที่สะสมมาตั้งแต่วันวานน่ะครับ ว่าง่ายๆ คือตอนเราแก่ตัวนั้น เราจะมีชีวิตแบบไหนก็ขึ้นกับสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ยังหนุ่มเรื่อยมาจนวัยกลางคนและเรื่อยมาจนแก่เฒ่า ซึ่งสิ่งที่นักแสดงชรากำลังเผชิญในวันนี้ก็เป็นไปตามกรรมที่เขากระทำมาเช่นกัน – ดูแล้วก็เป็นการเตือนตนเองที่ดีเหมือนกันครับ ประเด็นนี้ใครตระหนักได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งกำไร
โดยรวมแล้วหนังเรื่องนี้ถือว่ามีดีที่การแสดงครับ ในขณะที่การเดินเรื่องอาจจะเรื่อยๆ ไปสักหน่อย
สองดาวกว่าๆ ครับ
(6.5/10)
หมวดหมู่:รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Comedy, Drama