ผมชอบ Doctor Strange in the Multiverse of Madness ครับ สนุกดีนะ ส่วนหนึ่งที่ชอบก็อาจเพราะถูกเส้นกับสไตล์นี้ของผู้กำกับ Sam Raimi ที่บรรเลงหนังออกมาเป็นแนวผจญภัยลุยไปเรื่อยๆ เพลินไปกับจินตนาการ อร่อยไปกับสารพัดแฟนตาซีผสมไซไฟ ได้อารมณ์เหมือนพลิกหน้าคอมมิครัวๆ
แต่ขณะเดียวกันถ้าใครคาดหวังหนังที่มีความลึกซึ้ง มีความเป็นผู้ใหญ่ มีอะไรๆ ที่ดูจริงแบบที่ภาคแรกปูไว้ล่ะก็อาจต้องทำใจรับปรับสักหน่อยครับ เพราะภาคนี้เน้นความเมามันส์ Madness เป็นหลักน่ะ
(ถัดจากนี้อาจมีสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “สปอยล์” นะครับ ไม่อยากทราบยังไม่ต้องอ่านก็ได้ เอาเป็นว่าผมสรุปคร่าวๆ ไว้ตรงนี้ว่า ภาคนี้ดูได้สนุกเพลินครับ)
โดยส่วนตัวผมยังชอบภาคแรกมากกว่าอยู่ครับ ชอบที่หนังทำให้เราเห็นหมอแปลกสั่งสมวุฒิภาวะทีละนิด บ่มเพาะความนิ่งทีละหน่อย จากคุณหมอจอมอหังการที่ฟังแต่เสียงตัวเองและเหยียบโลกไว้ใต้เท้า กลายเป็นจอมเวทย์ที่ตระหนักว่าตนยังไม่รู้อะไรอีกมากมาย กลายเป็นคนที่เห็นคุณค่าในชีวิตอื่นๆ และตระหนักว่าตนเองช่างเล็กจ้อยหากเทียบกับมิติจักรวาลต่างๆ ที่มีเอนกอนันต์
อีกทั้งยังเข้าใจสมดุลย์แห่งพลังสว่างและพลังมืด เข้าใจว่าบางวาระก็ต้องหยิบยืมพลังมืดมาใช้เพื่อพิทักษ์โลก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องถ่วงดุลจิตไว้ ไม่ปล่อยให้ความมืดเข้าครอบงำ ว่าง่ายๆ คือเป็นนายของพลัง มิใช่ปล่อยให้พลังกลายเป็นนาย ซึ่งประเด็นหลังนี่ก็จะมาขยายผลอีกทีในภาคนี้
ภาคนี้หมอแปลกผจญภัยข้ามมิติเป็นว่าเล่นครับ อันเนื่องจากการมาของสาวน้อย อเมริกา ชาเวซ (Xochitl Gomez) ที่โดนตามล่าจากบางสิ่งที่ต้องการครอบครองพลังแหวกมิติของเธอ ดร.สเตรนจ์ (Benedict Cumberbatch) กับหว่อง (Benedict Wong) เลยต้องโดดมาปกป้อง
อย่างที่บอกครับว่าหนังเพลินดี เมามันส์ใช้ได้ ในแง่หนึ่งมันอาจเหมือนหนังออกแนวผจญภัยลุยด่านไปเรื่อยๆ นะ แต่ก็เป็นการลุยด่านที่กลมกล่อมครับ ไม่ได้ลุยไปเรื่อยๆ แบบเอามันส์เพียงอย่างเดียว ระหว่างนั้นเราก็จะได้เห็นมิติ การเติบโต หรือร่องรอยของความเติบโตของแต่ละตัวละครไปพร้อมๆ กัน เพียงแต่มันอาจจะไม่ได้ลึกมากมายเท่านั้นเอง
จริงๆ ประเด็นที่น่าสนใจของภาคนี้คือ “ความเจ๋งไม่เหมือนใครของหมอแปลกของเรา” สิ่งที่หนังพยายามจะนำเสนอบอกเราก็คือหมอแปลกในมิติของเรานั้นเจ๋งสุดแล้ว เป็นหมอแปลกที่มีความสมดุล ยืนหยัดทำสิ่งที่ถูก แต่ก็พร้อมจะยืดหยุ่นพลิกแพลงเพื่อพลิกผันสถานการณ์ กล่าวคือไม่ได้ยึดมั่นแบบทื่อๆ และไม่ได้เอาแต่ยึดติด “ขาว/ดำ” แบบจัดๆ
ประเด็นนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ภาคแรก ตั้งแต่ตอนที่หมอแปลกตระหนักว่าการพิทักษ์โลกของแองเชียนวันนั้นแม้หลักๆ แล้วจะใช้พลังด้านสว่าง แต่เพื่อให้มีอำนาจเหนือด้านมืด ก็ต้องมีการยืมพลังด้านมืดมาใช้บ้าง จุดสำคัญคือต้องเป็นคนใช้พลังมืด ไม่ใช่ปล่อยให้พลังมืดมาครอบงำตน
แล้วภาคนี้ก็สานต่อประเด็นที่ว่าโดยการให้เราเห็นว่าหมอแปลกของเรานั้นมีกำลังภายใน มีความเข้าใจ และมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะใช้ทั้งพลังสว่างและพลังมืดในทางสร้างสรรค์ ในทางพิทักษ์รักษา แต่ขณะเดียวกันหนังก็ทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่หมอแปลกทุกมิติที่จะทำแบบนี้ได้
บางมิติก็เคร่งเกินกับคำว่า “ความถูกต้อง” ส่วนบางมิติก็ไม่แกร่งพอจนโดนพลังมืดเทคโอเวอร์ไป หรืออย่างสการ์เล็ต วิชก็เป็นอีกตัวอย่างที่โดนพลังมืดกลืนไปแบบเต็มตัว (โดยมองว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น สมเหตุสมผล)
แต่ก็อย่างที่บอกครับว่าหนังเทน้ำหนักไปที่การผจญภัยไหลไปตามมิติมากกว่า ประเด็นนี้เลยมีใส่ลงไปแบบคร่าวๆ เล่าแบบสรุปๆ เท่าที่โอกาสจะอำนวย ซึ่งก็อาจไม่ได้ลงลึกมากนัก แต่ถ้ามองในแง่หนึ่งก็ถือว่ายังดีครับที่ประเด็นนี้ยังได้รับการสานต่อบ้าง ไม่ได้ถูกกลืนหายไปกับแสงสี CG
แต่ประเด็นนี้ก็ชวนให้นำมาคิดในโลกความจริงนะครับ ในหนังนั้นถือว่าดีหน่อยที่ตำราวิชาเวทย์มีการแยกประเภทไว้ว่าอันไหนศาสตร์มืด อันไหนศาสตร์สว่าง ในขณะที่สารพัดวิชาในโลกของเรานั้น หลายศาสตร์ไม่ได้มีการแยกไว้ และศาสตร์เหล่านั้นก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้ง 2 ทาง ใช้ทางดีก็ได้ร้ายก็ได้ มันขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะนำไปใช้ในทางไหน
และชะตากรรมของหมอแปลกในมิติต่างๆ ที่เราเห็น ต่างเป็นได้ทั้ง “แบบอย่าง” และ “เยี่ยงอย่าง” ให้เรานำไปพิจารณาปรับใช้กับชีวิตจริง
ยังมีเรื่องการเผชิญหน้ากับความกลัว และตระหนักถึงพลังในตนเองของอเมริกา ที่มันอาจดูเป็นประเด็นง่ายๆ อันแสนคุ้นเคยนะครับ แต่ผมก็รู้สึกดียามได้เจอประเด็นนี้ในหนังเรื่องต่างๆ
ชอบที่มันแวะเวียนมาเตือนใจให้เราระลึกถึงสิ่งนี้อยู่เสมอๆ
ความกลัว ความไม่มั่นใจ และความอ่อนล้านั้นเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตครับ มันเหมือนผีที่พร้อมจะโผล่มาหลอกหลอนเรา ยามที่เราไม่ตั้งตัว ดังนั้นการที่เราได้รับการเตือนเรื่องพวกนี้อยู่บ่อยๆ (ไม่ว่าจะจากหนัง จากหนังสือ จากคำคม จากผู้คน หรือจากชีวิต) ก็ถือเป็นอะไรที่ดีเหมือนกัน
เพราะบางทีเราก็ลืมมันไป บางทีเราก็เหนื่อยเกินไปที่จะนึกถึง และบางทีปัญหาที่รุมล้อมก็ทำให้เราสับสน
อย่าด่วนดูถูกแง่คิดง่ายๆ เดิมๆ หรือซ้ำๆ ที่เราพบเจอในหนังครับ เพราะมันอาจช่วยตั้งหลักให้คนบางคนได้
และในบางครั้งมันอาจช่วยเราได้ในภายหน้า เมื่อเราได้ย้อนมาดูหนังเรื่องนั้นๆ ซ้ำอีกครั้ง
ผมชอบฉากที่สการ์เล็ต วิชสำนึกในตอนท้ายครับ
เป็นฉากง่ายๆ นะ แต่ตรงประเด็น ทำเอาน้ำตาซึมเหมือนกัน เพราะสงสารสการ์เล็ต วิชจริงๆ
และตระหนักเลยว่าชีวิตของเธอนี่มีวิบากกรรมหนักหนามากจริงๆ สูญเสียซ้ำซ้อน ยิ่งนึกย้อนไปถึงเส้นชีวิตของเธอแล้วก็ยิ่งเห็นใจครับ เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไรวันด้าถึงต้องกลายมาเป็นสการ์เล็ต วิช ถือเป็นหนึ่งในตัวร้ายของหนังที่เกลียดไม่ลง ได้แต่รู้สึกสงสาร
และแอบดีใจในตอนท้ายที่เธอได้พ้นทุกข์ (แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีใครปลุกเธอมาให้ทุกข์ทนต่ออีกมั้ยนะเนี่ย)
Elizabeth Olsen เล่นได้ดีครับ แววตาเธอหอบเอาความชอกช้ำมากเต็มกระบะจริงๆ และเธอเหมาะกับบทนี้อย่างยิ่ง เหมาะเสมอมา และจะเหมาะเสมอไป
=========================
สำหรับฉากของกลุ่มอิลลูมินาติ ตอนแรกที่ผมรับรู้ว่าจะมี (ตั้งแต่สมัยดูเทรลเลอร์) ก็รู้สึกตื่นเต้นนะ ครั้นพอได้ดูของจริงแล้วก็รู้สึกกลางๆ ครับ คือตื่นเต้นนิดนึง แต่สักพักก็ไม่รู้สึกอะไรมาก
ส่วนหนึ่งอาจเพราะ Spider-Man: No Way Home ทำให้เราพีคไปกับการเจอตัวละครจากมัลติเวิร์สแบบมากๆ ไปแล้วนะครับ พอมาเรื่องนี้มันเลยไม่รู้สึกมากมายอะไร ยิ่งการนำเสนอดูไม่ค่อยหวือหวาด้วยแล้ว ก็ทำให้ไม่รู้สึกอะไรเยอะ
แต่พอมานั่งคิดๆ ดูแล้ว ทีมงานอาจตระหนักถึงประเด็นนี้ด้วย เลยไม่ได้ทำให้ฉากของเหล่าอิลลูมินาติในเรื่องให้ออกมาแกรนด์มากมาย แต่นำเสนอเหมือนเป็นชูรสเสริมให้กับเรื่องราวเสียมากกว่า
และโดยส่วนตัวนะครับ ผมมองว่าพวกเขาถูกเอามาเพื่อให้เราเห็นความร้ายกาจแบบเต็มๆ ของสการ์เล็ต วิชมากกว่า (ว่าง่ายๆ คือเอามารองมือรองเท้าเธอน่ะครับ – แต่ผมว่าชาร์ลส์ เซเวียร์แพ้ง่ายไปนิดนะ – แต่ถ้าจะให้มองว่าจักรวาลนี้ตัวละครไม่เก่งเท่าจักรวาลหลักก็ได้เหมือนกัน)
และการที่หมอแปลกกับคริสทีน (Rachel McAdams) ไม่ได้ลงเอยกันนั้น เป็นความเศร้าที่แสนหวานครับ
ในแง่หนึ่งก็รู้สึกว่ามันคือปมที่สร้างความสะเทือนใจให้หมอแปลกไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันปมนี้ก็ทำให้หมอแปลกได้เรียนรู้ที่จะเดินต่อไปข้างหน้า เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้เขาเติบโตขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการถนอมสิ่งมีค่าในชีวิตเอาไว้
บางครั้งคนเราจะรู้ว่าสิ่งใดมีค่า ก็เมื่อเราสูญเสียสิ่งนั้นไปแล้ว
ถือเป็นการสานต่อประเด็นที่ดีครับ และน่าจะเป็นการปิดประเด็นนี้ลงด้วย (ถ้าดูจากการมาของตัวละครหนึ่งในช่วง End Credits น่ะนะครับ)
Sam Raimi ยังคงเป็น Sam Raimi ครับ ทำหนังออกมาได้สนุกเพลินเหมือนเดิม หลังจากไม่ได้ทำหนังใหญ่มา 9 ปี กลับมาหนนี้ก็ไม่ผิดหวังครับ หนังจัดว่าครบรส จัดเต็มความบันเทิง มีลุ้นมีตื่นเต้น มีสยองผสมลงไปนิดๆ บางช็อตก็นึกถึง Evil Dead มาเชียว
และที่ขาดไม่ได้คือ Bruce Campbell ครับ ต้องลงมาแจมและมาเจิมหนังให้ลุง Sam อยู่เสมอ
ดนตรีประกอบในภาคนี้หน้าที่เป็นของ Danny Elfman ครับ ในด้านหนึ่งก็คิดถึงลีลาที่ Michael Giacchino ทำเอาไว้ในภาคแรกเหมือนกัน แต่ก็เข้าใจน่ะแหละว่าด้วยความ Madness ของภาคนี้อีกทั้ง Raimi มากำกับ ก็อาจจะเข้าทาง Elfman มากกว่า ซึ่งท่วงทำนองของดนตรีก็จัดว่าเวิร์กครับ ได้อารมณ์ Madness ปนสยองมาพร้อมกลิ่นอายยุค 80 หน่อยๆ ผสมกันได้อย่างพอดี
สรุปว่าผมชอบหนังเรื่องนี้ครับ ชอบในความสนุก ชอบในความลื่นไหล ชอบในความเมามันส์ Madness ดูเพลิน ชอบจินตนาการในหลายๆ ฉาก และชอบงานฉากในหลายๆ ช่วง ออกแบบมาได้ดีครับ อย่างฉากบ้านเมืองในจักรวาลที่หมอแปลกไปเจอกลุ่มอิลลูมินาตินั่น ผมชอบนะ ชอบต้นไม้ใบไม้ที่แทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของตึกรามบ้านช่อง ดูสวยดีครับ (จริงๆ จัดว่าน่าไปเดินเล่นไม่น้อยทีเดียวล่ะครับ)
ยอมรับครับว่าหนังอาจไม่ถึงกับสุดยอด ยิ่งเมื่อหนังตามหลัง Spider-Man: No Way Home ที่ถือว่ามีสมดุลมากกว่าทั้งในส่วนเนื้อหา สาระ ดราม่า และแอ็กชันผจญภัย จนอดคิดไม่ได้ครับว่าถ้าหนังเพิ่มเวลาอีกสักนิด เพิ่มอารมณ์ในบางฉากอีกสักหน่อย หนังอาจเจ๋งยิ่งขึ้นก็เป็นได้
แต่ถ้ามองกันที่ปัจจุบัน สำหรับผมก็ถือว่าสนุกพอใจกับภาคนี้ครับ ต้องหาเวลาดูซ้ำอีกสักรอบก่อนลงสตรีม เพราะเสพภาคนี้ในโรงนี่ถือว่าตื่นตาคุ้มค่าแก่การชมจริงๆ อันนี้ถ้าพูดถึงงานด้านภาพน่ะนะครับ อลังการยิ่งใหญ่ จินตนาการสะใจกันไปเลย
อีกอย่าง ผมชอบฉากดวลกันด้วยตัวโน้ตครับ เท่ห์ดี (ถ้าเป็นหนังจีน ก็คงเป็นฉากดีดพิณปะทะกัน ประมาณนั้นน่ะครับ ^_^)
สองดาวครึ่งบวกๆ ครับ
(7.5/10)
หมวดหมู่:Action, Adventure, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, หนังแนะนำ Recommended, Fantasy, Sci-Fi, Superheroes