สมัยตอนยังเด็ก เคยคิดอยากได้ไทม์แมชชีนสักเครื่องครับ
กะเอาไว้ย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตบางช่วงที่เราคิดว่าหากแก้แล้วอะไรๆ มันจะดีขึ้น
หรือไม่ก็เอาไว้ป้องกันเรื่องร้าย หากรู้ว่าตอนไหนเราหรือคนที่เรารักจะเจอกับเรื่องไม่ดี ก็ย้อนเวลาไปเตือนซะ จะได้พ้นจากเหตุร้าย
ครั้นพอโตขึ้นจนตระหนักได้ว่าชาตินี้คงไม่มีไทม์แมชชีนให้ใช้แน่แล้ว วิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ก็เปลี่ยนไปตามสภาพความเป็นจริง
รู้ว่าย้อนอดีตไปแก้อะไรไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นใช้อดีตเป็นดั่งบทเรียน สอนให้เราเรียนรู้ เติบโต และใช้ชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน
รู้ว่าย้อนกลับไปช่วงเวลาต่างๆ ไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นฝึกตนเองให้มีสติ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และดำเนินชีวิตแบบเต็มที่ จะได้ไม่ต้องย้อนมาเสียดายหรือเสียใจในภายหลัง
หรือไม่ก่อนจะทำอะไรที่สำคัญ เราก็วางแผนล่วงหน้า คิดคำนวณเตรียมตัวรับเหตุการณ์ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ และพร้อมพลิกแพลงรับมือกับสิ่งต่างๆ โดยบอกตัวเองว่าอะไรๆ ก็ไม่แน่นอน เหตุพลิกผันเกินคาดหมายเกิดขึ้นได้เสมอ
ไม่ได้คาดหวังว่า The Adam Project จะออกมาสนุกสุดยอดอะไรมากมาย ครั้นพอได้ดูก็ถือว่าสมใจในระดับหนึ่งครับ หนังดูเพลิน ตอบโจทย์ความบันเทิงในฐานะหนังแอ็กชัน+ไซไฟ+ผจญภัยย้อนอดีตได้ไม่เลว
แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ ผมจะบังเกิดความรู้สึก “ประทับใจ” และ “อบอุ่นใจ” หลังจากดูจบ (บอกก่อนนะครับว่าบทความนี้มีสปอยล์แน่นอน ไม่อยากทราบไม่ควรอ่านต่อ รู้แค่ว่าหนังเรื่องนี้คุ้มค่าควรดูไม่เลวครับ)
เนื้อเรื่องหลักๆ ว่าด้วย อดัมวัยผู้ใหญ่ (Ryan Reynolds) จากปี 2050 ย้อนเวลามาเจอกับอดัมวัยเด็ก (Walker Scobell) ในปี 2022 ส่วนอดัมนั้นจะย้อนเวลามาทำไม และพวกเขาต้องผจญกับเรื่องอะไรบ้าง ก็แนะนำว่าลองค่อยๆ หาคำตอบไปพร้อมหนังน่าจะเหมาะสุดครับ
ก็ประมาณไว้แล้วครับว่าหนังคงจะดูได้เรื่อยๆ มีแอ็กชันประปราย มีมุกตลกเป็นระยะ แล้วก็มีการไล่ล่ากัน ก่อนที่ตอนท้ายปมทั้งหลายก็จะขมวดเข้าสู่ไคลแม็กซ์ ก็ถือเป็นหนังผจญภัยไซไฟตามสูตรอีกเรื่องที่ทำออกมาได้โอเค ดูแล้วได้กลิ่นอาย Star Wars + Star Trek + Back to the Future อย่างละนิดละหน่อย
ครับ ผมเตรียมตัวสำหรับความสนุกตามประสาหนังแนวนี้ แล้วผลที่ได้ก็ไม่ผิดหวัง แต่กลายเป็นว่าผมเจออะไรที่เกินคาดระหว่างดู นั่นคือ “อารมณ์อบอุ่น” และ “ความประทับใจ” ครับ
อันนี้สารภาพว่าไม่คิดเลยว่าจะได้เจอ เพราะหนังแนวนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้พื้นที่กับเรื่องเชิงดราม่าหรือปมตัวละครสักเท่าไร ต่อให้มีก็จะแค่แตะๆ ใส่ๆ ลงมาให้พอมีกลิ่นบ้าง แต่กลายเป็นว่าเรื่องนี้ทำในจุดนี้ออกมาได้ดีทีเดียว
ฉากแรกที่กระแทกใจแบบไม่ตั้งตัวคือตอนที่อดัมวัยผู้ใหญ่ไปนั่งในบาร์ แล้วพอดีว่าเอลลี่ (Jennifer Garner) แม่ของอดัมเข้ามาดื่มพร้อมทั้งระบายความทุกข์ตามประสาแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอสงสัยตนเองว่าเป็นแม่ที่ดีหรือไม่? เธอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อดูแลลูกให้ดีกว่านี้?
เมื่ออดัมวัยผู้ใหญ่ได้ยินคำพูดเหล่านั้น ก็เลยตัดสินใจร่วมวงสนทนา ทั้งปลอบใจ ไขคำตอบ และให้คำแนะนำกับเธอ
อดัมในวัยเด็กนั้นทำตัวไม่น่ารักกับแม่สักเท่าไร เนื่องจากเขายังเด็ก และต้องมาสูญเสียพ่อไป ไหนจะฮอร์โมนพุ่งพล่าน ความสับสนหลายประการกำลังวิ่งวนอยู่ในหัวและความรู้สึก – ตอนนั้นอดัมยังไม่เข้าใจแม่ และไม่เข้าใจกระทั่งความรู้สึกของตนเอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป อดัมโตเป็นผู้ใหญ่ ผ่านโลก ผ่านความสุข ผ่านความทุกข์ ผ่านการสูญเสีย เขาจึงพอจะเข้าใจตนเองเมื่อวัยเด็ก และยิ่งเข้าใจความรู้สึกอันโดดเดี่ยวของแม่
ผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียสามีไป ต้องดูแลลูกตามลำพัง ต้องแบกภาระความรับผิดชอบทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องบ้าน ทั้งชีวิตตนและชีวิตลูก… ไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่กระนั้นสิ่งที่เอลลี่ทำก็คือพยายามรับมือทุกสิ่ง พยายามเข้มแข็ง พยายามทำให้ดูเหมือนว่าเธอรับได้ทั้งความเศร้าจากอดีต และความทุกข์ใจในปัจจุบัน
“คุณควรบอกเขา” อดัมพูดแนะนำว่าเอลลี่ควรบอกลูกว่าเธอรู้สึกเช่นไร “ปัญหาของการทำตัวว่าเข้มแข็งก็คือ ลูกจะเชื่อแบบนั้น…”
“เขาควรได้รู้นะว่าคุณไม่ไหว… ไม่ไหวก็ไม่เป็นไรครับ”
ฉากนี้เรียบง่าย กินใจ และลึกซึ้ง – น้ำตาไม่ซึม ไม่ใช่หมื่นทิพ…
อีกฉากคือตอนจบครับ เป็นอะไรที่ผมชอบมาก เป็นการจบแบบที่เหมาะมากๆ สำหรับหนังว่าด้วยการข้ามเวลา ที่ตัวละครต่างช่วงเวลาได้มาเจอกัน
ตอนท้าย หลังจากพ่อของอดัม (Mark Ruffalo), อดัมวัยผู้ใหญ่ และอดัมวัยเด็กช่วยกันยุติเรื่องราวลงได้ พวกเขาก็รู้ทันทีครับว่าอีกไม่นานพวกเขาต้องจากกัน อดัม 2 วัยก็ต้องกลับไปสู่ช่วงเวลาตน และพ่อของอดัมเอง ในที่สุดก็จะต้องตายจากอดัมไป หลังจากนั้นไม่นาน
ผมชอบที่หนังไม่พยายามหาทางผูกเรื่องให้ลงเอยแบบแฮปปี้ เช่น เปลี่ยนอดีตให้พ่อของอดัม… หนังจบลงตามครรลองของเรื่องราว สิ่งใดต้องเกิด ย่อมต้องเกิด…
พวกเขาจากลาในตอนนี้ และคงจะไม่มีได้พบเจอกันอีก… แต่พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันตลอดไป
หนึ่งนาทีในเวลานี้ของเรา เกิดขึ้นจากการถักทอของนาทีก่อนหน้านับหมื่นล้าน
มันคือความยิ่งใหญ่ ที่แฝงเร้นไว้ ในแต่ละลมหายใจ…
เป็นการจบที่ทำให้อารมณ์ไม่จบ เป็นการจบที่เปิดไปสู่เรื่องราวบทอื่นๆ ต่อไป
=========================
กลายเป็นว่าระยะหลังมานี่ผมกลับรู้สึกขอบคุณนะ ที่เราไม่มีไทม์แมชชีนใช้
คิดเล่นๆ ว่าถ้าเรามีไทม์แมชชีนใช้ขึ้นมาจริงๆ และเราสามารถย้อนกลับไปแก้อะไรต่อมิอะไรได้ง่ายดั่งใจคิด เราคงจะไม่ได้เรียนรู้อะไรสักเท่าไร
ทำผิดไปก็ย้อนเวลา พลาดไปก็ย้อนเวลา เราคงจะเอาแต่จดจ่อย้อนเวลา หมกมุ่นกับอดีต ไม่ได้อัพเกรดตัวเอง…
ไปๆ มาๆ ไทม์ แมชชีนอาจกลายเป็นสิ่งระงับยับยั้งความสามารถในการพัฒนาและยกระดับตัวเรา
มันอาจทำลายโอกาสที่เราจะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม เก่งกว่าเดิม เก๋ากว่าเดิม มีสติกว่าเดิม ลุ่มลึกกว่าเดิม คุมตัวเองได้ดีกว่าเดิม ฯลฯ
… หน้าที่หนึ่งของอดีต คือเป็นดั่งอิฐที่ก่อร่างสร้างฐานของชีวิต
ทำให้เรามั่นคง ทำให้เราก้าวได้ไกล และยกให้เราไปได้สูง
เป็นบทเรียนสอนเรา เป็นความทรงจำย้ำเตือนเรา และเป็นวันวานให้เราได้ระลึกนึกถึง
อดีต ทำให้เรามีปัจจุบัน และอนาคตเราจะเป็นเช่นไร ก็อยู่ที่เราจะดำเนินปัจจุบันอย่างไรนั่นเอง
ชีวิตถือว่ามีแบบแผนที่น่าศึกษา หากเราเข้าใจและใช้มันเป็น ก็จะเห็นหนทาง…
=========================
Ryan Reynolds คล่องปรื่อไปกับบทตามเคยครับ บททำนองนี้พี่เขาเล่นได้สบายอยู่แล้ว และที่น่าจับตาคือ Walker Scobell ในบทอดัมวัยเด็ก ซึ่งแสดงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกเลยครับ ยอมรับนะว่าเล่นได้ลื่นดี ตีคู่กับ Reynolds ได้ไม่เลวเลย ตอนฮาก็ฮาไปกันได้ ตอนดราม่าก็กำลังเหมาะ
อีกคนที่ไม่ชมไม่ได้คือ Jennifer Garner รายนี้รับบทคุณแม่ได้ดีครับ โดยเฉพาะฉากในบาร์ที่ผมบอกไปเธอรับส่งพลังกับ Reynolds ได้อย่างน่าปรบมือ ส่วน Zoe Saldana ก็ถือว่าเล่นได้ดีตามที่บทเปิดโอกาสครับ (บทของ 2 สาวนี้น้อยกว่าที่คิดพอสมควร แต่พวกเธอก็แสดงได้ดีครับ)
Mark Ruffalo ในบทคุณพ่อนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทเอาตอนหลัง แต่ก็ได้ใจไปพอตัวครับ ท่าทางที่เขาแสดงออกต่อลูก (ทั้งลูกตอนโตและลูกตอนเด็ก) ดูแล้วเชื่อครับว่าเขาคือพ่อที่รักลูกและเป็นคนเปี่ยมความรับผิดชอบ มีหลักการในชีวิตพอตัว และ Catherine Keener ในบทตัวร้ายของเรื่อง รายนี้ไม่ต้องทำอะไรมากครับ แค่ทำท่าเห็นแก่ตัวก็พอ
ในแง่ความบันเทิง ผมว่าผู้กำกับ Shawn Levy (Free Guy, Real Steel และ ไตรภาค Night at the Museum) คุมหนังได้โอเคเหมือนเคยครับ คืออาจไม่ได้สนุกโคตรๆ มันส์มากๆ แต่ก็น่าพอใจ ดูแล้วพูดได้ว่าสนุกดี แต่ที่ผมจะชื่นชมมากหน่อยคือซีนอารมณ์นี่แหละครับ แน่นอนว่าฉากเหล่านี้ดาราต้องแสดงให้พอเหมาะ แต่ขณะเดียวกันผู้กำกับก็ต้องคุมโทน ลำดับซีน และร้อยเรียงภาพเข้าด้วยกันให้ดี ไม่งั้นต่อให้นักแสดงเล่นดี แต่ฉากนั้นจะไม่มีพลังอย่างที่ควรจะเป็น
ไปๆ มาๆ ผมประทับใจกับฉากเหล่านี้ในหนังครับ ฉากตัวละครมาคุยกัน ปรับทุกข์กัน ถ่ายทอดความรู้สึกต่อกัน ฉากเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกผูกพันกับตัวละคร ทำให้พวกเขามีเลือดเนื้อขึ้นมาในใจคนดู
โดยรวมแล้ว หนังโอเคเลยครับ ดูเอาสนุกก็ได้ ดูเอาแง่คิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต, การเติบโต หรือมุมมองต่างวัยหนังก็พอมีให้ แม้ว่าหน้าหนังอาจไม่ได้สดใหม่และเป็นอะไรที่เราเคยเห็นมาแล้วจากหนังเรื่องอื่นก็ตาม
ที่ชอบอีกอย่างคือดนตรีของ Rob Simonsen ที่ให้อารมณ์ไซไฟย้อนยุคกำลังดี ยิ่งตอน End Credits นี่ผมว่าท่วงทำนองดนตรีสามารถรับอารมณ์ตอนจบของหนังได้อย่างน่าปรบมือเลยครับ
สองดาวครึ่งครับ
(7/10)
หมวดหมู่:Action, Adventure, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Comedy, Sci-Fi