มีคำกล่าวว่า มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ก็คือหยดน้ำเล็กๆ มากมายมารวมตัวกัน
เป็นคำชี้ชวนให้เรารำลึกว่า สิ่งยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ล้วนมีจุดเริ่มมาจากสิ่งเล็กๆ
องค์กรคิงส์แมนก็เข้าข่ายนั้น
จุดเริ่มก็คือพ่อคนหนึ่งที่อยากปกป้องลูกชายให้พ้นจากภัยร้ายในโลก
เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ตระหนักได้ว่าภัยร้ายช่างมากมาย คนมุ่งร้ายต่อโลกก็มากมี ดังนั้นเขาจึงต้องหาทางทำอะไรสักอย่าง เพื่อลดทอนเขี้ยวเล็บของสิ่งเลวร้ายในโลกให้น้อยลง
จุดเริ่มต้นของคิงส์แมนอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการ บุคลากรส่วนใหญ่ในองค์กรก็หาใช่สายลับสายลุย แต่เป็นคนตัวเล็กๆ ประจำบ้านเรือนและองค์กรต่างๆ เช่น พ่อบ้านแม่บ้าน
และเพราะพวกเขาไม่ใช่คนที่ดูสำคัญในสายตาของใครๆ นั่นจึงเป็นสิ่งพรางตาชั้นดีที่ช่วยให้ทำงานสะดวก และแทรกซึมได้ลึกกว่าที่ใครจะคาดคิด
“ในขณะที่สายลับแอบฟังอยู่นอกห้อง แต่คนของเราจะอยู่ในห้องนั้นเลย” นี่คือคำที่ออร์แลนโด อ็อกซ์ฟอร์ด (Ralph Fiennes) ผู้ริเริ่มคิงส์แมนจำกัดความไว้
และขณะเดียวกันที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ก็กำลังมีคนอีกกลุ่มเดินแผนสร้างสงคราม เพื่อสร้างประโยชน์และความร่ำรวยให้ตนเองและพวกพ้อง
องค์กรเหล่าร้ายก็ใช้วิธีเดียวกัน คือใช้คนไม่กี่คนปลุกปั่นสร้างสถานการณ์ ก่อความไม่สงบ และจุดชนวนสงครามโลก
สิ่งที่เราจะได้เห็นใน The King’s Man ภาคนี้ จึงเป็นการพาเรากลับมาดูรากเหง้าจุดเริ่มขององค์กร ซึ่งเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งปะทะกับคนอีกกลุ่มเพื่อยับยั้งเหตุร้ายระดับโลก
และจุดเริ่มที่ว่านี้ ก็ย้อนเวลาไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นลีลาบู๊แปลกตาหรืออุปกรณ์ล้ำโลกแบบที่เราเห็นใน Kingsman 2 ภาคก่อนนั้น ขอบอกเลยครับว่าแทบไม่มีปรากฏให้เห็นครับ
ฉากต่อสู้ค่อนข้างติดดิน เทคนิคการเล่าเรื่องไม่หวือหวา ดังนั้นใครหมายมั่นว่าจะได้เห็นฉากบู๊ล้ำๆ มุมกล้องเหวี่ยงไหวอร่อยสายตา ก็ต้องปรับใจพอสมควร – บอกเลยว่าฉากที่สู้กับรัสปูตินนั้นถือว่าหวือหวาสุดในเรื่องแล้วครับ
ถ้าถามถึงความชอบ ก็ตอบตรงครับว่าผมยังชอบภาคแรกมากสุด ภาคสองชอบรองลงมา และปิดท้ายด้วยภาคนี้ครับ
เป็นที่เข้าใจได้หากลีลาของภาคนี้จะติดดินสักหน่อย เพราะหนังย้อนไปเล่าถึงยุคเก่าก่อน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากยุคเก่ากับยุคใหม่ลีลาจะต่างกัน
จริงๆ ต่างกันแบบนี้ถือเป็นเรื่องเข้าท่าด้วยครับ เวลาเอามาดูเคียงกันระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ก็จะทำให้เห็นว่าหน่วยคิงส์แมนมาไกลจากจุดเริ่มต้นเพียงใด – ประมาณเดียวกับ X-Men: First Class ที่ดูแล้วมีช่องว่าง ระยะห่าง และจุดที่ต่างจาก X-Men สมัยปัจจุบัน
โดยส่วนตัวมองว่าการติดดินไม่ใช่ปัญหา แต่จุดที่พร่องไปสำหรับหนังภาคนี้คือการเล่าเรื่องครับ ที่ออกจะเรียบเรื่อยไปสักหน่อย อีกทั้งขาดความกระชับในบางวาระ ซึ่งจริงๆ ความกระชับถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ภาคแรกลื่นไหลและมีพลัง (และความไม่กระชับก็ถือเป็นจุดอ่อนหนึ่งในภาค 2 ด้วย)
อย่างที่บอกครับว่าเรื่องติดดินไม่ใช่ปัญหา ถ้ามาพร้อมการเล่าเรื่องที่กระชับ น่าติดตาม หรือมีลูกเล่นบ้าง หนังก็น่าสนใจขึ้นมาได้ แบบผลงานก่อนๆ ของ Matthew Vaughn ไม่ว่าจะ X-Men: First Class หรือ Stardust ที่เอาเข้าจริงเรื่องราวก็ไม่ได้หวือหวาอะไร แต่ด้วยการเล่าเรื่องที่พอเหมาะ มีการกระตุ้นให้คนดูตามเรื่องเป็นระยะ มีลูกเล่นเวิร์กๆ ใส่ลงมาเสริมรสชาติ หนังเลยออกมาอร่อยพอดีคำ
และอีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือ หลายเหตุการณ์ในภาคนี้ ฉากที่เกิดเหตุมันดูธรรมดา ไม่เด่น ไม่ชวนจดจำ
ผมนึกย้อนไปภาคแรกครับ จุดเด่นอีกอย่างของภาคแรกคือ แต่ละฉาก แต่ละเหตุการณ์นั้น มันมาพร้อมความน่าสนใจที่ชวนให้เราจดจำ
บางฉากเด่นด้วยการออกแบบ บางฉากสวย บางฉากเท่ห์ บางฉากเด่นที่ตัวละคร – ไม่เด่นด้วยมุมกล้อง ก็เด่นด้วยการเซ็ทฉาก หรือไม่ก็เด่นด้วยการออกแบบเหตุการณ์ให้มีจุดพีคชวนจำ
แต่กับภาคนี้หลายเหตุการณ์มันดูเฉยๆ ดูเนิ่บๆ ทั้งที่บางฉากจัดว่าสำคัญ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเรื่องราว อย่างฉากลอบสังหารชนวนเหตุสงครามโลกนั่นเป็นต้น
ติดดินก็เรื่องหนึ่ง จุดนี้เข้าใจ – แต่การจะจับภาพจับเหตุการณ์ที่ทำให้วาระนั้นดูสำคัญ ดูเป็นโมเมนต์ที่มีความหมาย เป็นภาพปักหมุดจุดอารมณ์ จริงๆ ก็ทำได้ ท่ามกลางความติดดิน และจะทำให้การร้อยเรียงเรื่องราวมีความเข้มข้นมากขึ้น
ฉากที่จัดว่ามีพลังในความคิดผม ยกให้ฉากฝ่านรกกลางสมรภูมิของคอนราด ฉากนั้นถ่ายทอดความโหดร้ายชวนสะพรึงของสงครามได้ดีมาก ดีกรีความลุ้นถือว่าเยอะอยู่ – ไปๆ มาๆ ผมว่าลุ้นกว่าฉากไคลแม็กซ์ตอนท้ายด้วยครับ
ส่วนเหล่าดารานั้นถือว่าดีทุกคนครับ Fiennes แสดงได้ถึง ไม่ว่าจะในฐานะสามี, ฐานะพ่อ, ฐานะเจ้าบ้าน หรือฐานะผู้ก่อตั้งคิงส์แมน และเขาถือเป็นพลังสำคัญของหนังก็ว่าได้ และลึกๆ ก็แอบดีใจที่ได้เห็น Fiennes มาจับร่มซ่อนดาบอีกครั้ง (หลังจากเคยจับอาวุธนี้มาแล้วใน The Avengers แต่เรื่องนั้นไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีเขาสักเท่าไร)
Rhys Ifans ก็เป็นรัสปูตินได้ร้ายกาจ ดูเป็นนักบุญปีศาจอันตรายที่แฝงความกักขฬะได้อย่างน่าเชื่อ, Harris Dickinson ก็เหมาะกับบทคอนราด อ็อกซ์ฟอร์ด ท่าทางและแววตาของเขาสามารถบ่งบอกถึงความเป็นวัยรุ่นผู้รักชาติและลูกชายที่เคารพพ่อได้อย่างดี แต่กระนั้นถ้าว่าถึงความเด่น ก็ถือว่ายังมากได้อีก
Gemma Arterton และ Djimon Hounsou ในบทผู้รับใช้ในคฤหาสน์อ็อกซ์ฟอร์ด 2 รายนี้ก็เล่นได้ดีตามที่บทเปิดโอกาส (แต่ก็คิดเหมือนกันว่าบทพวกเขาดูจะน้อยกว่าที่คิด) แต่รายที่แสดงได้คุ้มเหนือใครคงหนีไม่พ้น Tom Hollander ที่โดดลงมารับบท 3 ตัวละคร อันได้แก่ พระเจ้าจอร์จแห่งอังกฤษ, ไกเซอร์วิลเฮล์มแห่งเยอรมัน และพระเจ้าซาร์นิโคลัสแห่งรัสเซีย
อีกรายที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือ Charles Dance ในบทคิทเชนเนอร์ รายนี้เล่นได้หมดไม่ว่าจะฝั่งดีหรือฝั่งร้าย เล่นเป็นฝั่งไหนก็ทำให้เราเชื่อด้วยใจเสมอว่าเขาเป็นฝั่งนั้นจริงๆ
ผมชอบธีมของเรื่องราวครับ นั่นคือการที่สิ่งยิ่งใหญ่เริ่มต้นได้จากสิ่งเล็กๆ
เรื่องราวเปลี่ยนโลกมากมายทั้งร้ายดี บางทีเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของคนไม่กี่คน
ในแง่หนึ่งก็ทำให้เราตระหนักว่าการกระทำของเรามีผลต่อสังคมเสมอ ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
เมื่อเรารู้เช่นนี้ เราจะเลือกกระทำเช่นไร ถือเป็นคำถามที่ควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน
อีกอย่าง… วันนี้คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากวันวาน – โลกทุกวันนี้ก็คือผลพวงจากสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำไว้
เราแก้อดีตไม่ได้… แต่อย่างน้อยก็พึงระลึกว่า สิ่งที่พวกเรากระทำกันในวันนี้ เปรียบได้ดั่งอิฐที่ถูกวาง สร้างรากฐานไปสู่วันหน้า
เรากำลังสร้างวันข้างหน้าแบบใดกันอยู่?
เราจะเป็นหยดน้ำแบบใด ในมหาสมุทรแห่งอนาคต?
อีกประเด็นคือเรื่องที่ออร์แลนโดม้กเอ่ยกับลูกบ่อยๆ ว่า “โลกนี้โหดร้าย” ซึ่งผมอยากขอเสริมเข้าไปอีกนิดว่า “โลกนี้ซับซ้อน” โลกนี้ไม่ได้ง่ายแบบที่ตาเห็น และไม่ได้ง่ายแบบในหนังสือเรียน
ทำดี ใช่ว่าจะได้ดีเสมอไป – ทำสิ่งเลวร้าย ใช่จะมีคนหยุดยั้งเสมอไป
อีกทั้งแต่ละคนก็ล้วนมีเหตุผล-แนวทาง-ความเชื่อของตน อย่างที่เห็นในเรื่องว่าสงครามหาใช่เรื่องดี สงครามสร้างความเสียหายได้เพียงไหน แต่ก็ยังมีคนยึดมั่นจะทำสงครามเพื่อเป้าประสงค์ส่วนตน-เมินเฉยต่อผลเสียหายของส่วนรวม
ยุคนั้นมี – ยุคนี้ก็ยังมี
====================
และอีกประเด็นที่สะดุดหัวในฐานะคนเป็นพ่อ คือ การสอนลูกให้รู้จักโลกอันแสนซับซ้อน
แนวทางที่หลายคนชอบเลือก คือปกป้องลูกโดยการป้องกันไม่ให้เขาเจอกับเรื่องร้ายในชีวิตจริง – แต่การทำเช่นนั้นอาจทำให้ลูกขาดประสบการณ์ ไม่ได้เรียนรู้ความซับซ้อนของโลกที่มีอยู่จริง
ดังเช่นตัวละครหนึ่งที่ถือเป็นคนดี มีอุดมการณ์ และมีความห้าวหาญเต็มร้อย แต่เนื่องด้วยประสบการณ์น้อย จึงทำให้เขาต้องจ่ายด้วยราคาอันสูงยิ่ง
บางครั้งการปล่อยให้ลูกเลอะ (ประสบการณ์) ในวันนี้ อาจช่วยให้ลูกรู้วิธีหลีกเลี่ยงการเลอะ (จากชีวิตจริง) ในภายหน้า
====================
ผลสรุปรวมของภาคนี้ จริงๆ ก็ถือว่ายังโอเคครับ เพียงแต่ความสนุกยังไม่มาก ความลื่นไหลยังไม่เยอะ ความน่าติดตามยังไม่พุ่ง
ไม่ผิดหวัง แต่ก็ยังไม่สมหวังครับ
สองดาวกว่าครับ
(6.5/10)
มุมนี้แอบคิด – ติดอยู่ในใจ (มีสปอยล์แน่นอนครับ ไม่อยากทราบอย่าอ่านครับ)
แอบคิดว่าการกำเนิดของคิงส์แมนค่อนข้างดูปเ็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ผิด แต่จริงๆ มันคงจะขลังมากขึ้นหากมีฉากที่ออร์แลนโดเดินทางไปเยี่ยมหลุมศพของลูก แล้วพอหันไปรอบตัวก็พบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางศพของทหารนับร้อยนับพันที่ต้องตายเพราะสงคราม – กี่ชีวิตที่ต้องดับสูญ กี่ครอบครัวที่ต้องสูญเสีย กี่หยดน้ำตาที่ต้องหลั่งริน กี่ความหวังที่ต้องพังทลาย – แล้วให้สิ่งนี้เป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่ทำให้เกิดคิงส์แมน ผมว่ามันคงดูขลังยิ่งขึ้นครับ
หมวดหมู่:Action, Adventure, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Thrillers