มีหนังอยู่แนวหนึ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษครับ นั่นคือหนังประเภทที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตช่วงหนึ่งของใครสักคน
ตัวอย่างเช่น เล่าการเดินทางครั้งหนึ่งของเขา เล่าว่าเขาไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง ไม่ว่าจะไปกับเพื่อนหรือครอบครัว แล้วช่วงชีวิตสั้นๆ นั้นส่งผลต่อเขา ทำให้เขารู้จักตนเอง รู้จักครอบครัว หรือรู้จักโลกมากขึ้น
และหากหนังเรื่องไหนทำได้ดี (คือทำให้เราอิน) ล่ะก็ ในตอนจบของเรื่อง ผมจะรู้สึกบางอย่างขึ้นมา ซึ่งผมก็ไม่รู้จะนิยามอารมณ์นี้ยังไงนะครับ… มันเหมือนผมจะอิ่มใจไปกับตัวละครด้วย มันจะเหมือนมีประโยคว่า “แล้วเรื่องราวทั้งหมดก็กลายเป็นเพียงความทรงจำแล้วสินะ” ผุดขึ้นมาในหัว เสมือนหนึ่งว่าตัวเองเป็นพบ ไปเจออะไรร่วมกับเขาด้วยน่ะครับ
ยิ่งเรื่องไหนจบด้วยฉากขับรถกลับบ้าน โดยเหล่าตัวละครได้ทิ้งสถานที่กับเรื่องราวที่เกิดไว้เบื้องหลัง เหลือไว้เพียงความทรงจำ… แบบนั้นอารมณ์มันจะยิ่งได้ที่
และผมเกิดความรู้สึกทำนองนี้กับหนังเรื่องนี้ครับ
The Way Way Back พล็อตมาสไตล์ที่ผมบอกเลยครับ ตัวเอกมีนามว่าดันแคน (Liam James) หนุ่มน้อยวัย 14 ปีที่เดินทางมาเที่ยวชายทะเลกับครอบครัวอันประกอบด้วยแม่ชื่อแพม (Toni Collette), พ่อเลี้ยงชื่อเทรนท์ (Steve Carell) ที่หาเรื่องดูถูกเขาอยู่เรื่อยๆ และสเตฟ (Zoe Levin) ลูกสาวของเทรนท์ที่ไม่ชอบหน้าดันแคนเหมือนกัน
แน่นอนครับว่าดันแคนไม่มีความสุข เพราะเข้ากับเทรนท์และสเตฟไม่ได้ ส่วนแม่ก็เหมือนจะยอมเทรนท์ตลอด เขาเลยเดินท่อมๆ ไปในเมืองเพื่อหาที่ทางให้ตัวเอง และเขาก็ได้พบกับโอเว่น (Sam Rockwell) พนักงานสวนน้ำวอเตอร์ วิซซ์ที่เสนอให้เขามาทำงานที่สวนน้ำเพื่อแก้เหงาแก้เซ็งในช่วงวันหยุด ส่วนเนื้อเรื่องที่เหลือก็ไปดูกันต่อตามระเบียบครับ
เป็นหนังที่ดูสนุกมากครับ เพลินจริงๆ จนผมเองยังแทบไม่เชื่อ เพราะเคยได้ยินพล็อตมาซึ่งพล็อตก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไร ได้ดูตัวอย่างก็คิดว่าน่าสนุกแต่ก็ไม่คาดหวังมาก ทว่าพอดูแล้วมันลื่นไหลครับ ทุกอย่างพอดีสุดๆ ไม่มีช่วงน่าเบื่อเลย แต่ละนาทีของหนังมันจะมีอะไรให้เรารู้สึกสนใจตามดูไปตลอด ซึ่งต้องชมทั้งนักแสดง คนเขียนบท และผู้กำกับที่ปรุงหนังชีวิตผสมตลกเรื่องนี้ออกมาได้พอเหมาะและอร่อยเหาะเหลือกิน
ผมประหลาดใจแกมทึ่งอีกรอบเมื่อรู้ว่าผู้กำกับและเขียนบทที่มาเป็นแพ็คคู่อย่าง Nat Faxon และ Jim Rash เพิ่งทำงานบนเก้าอี้ผู้กำกับเป็นรอบแรก ส่วนงานเขียนบทก่อนหน้าก็มีเรื่อง The Descendants (ที่ทำให้พวกเขาได้ออสการ์ตัวแรกไปในทันที) และหนังตลกทางทีวีที่ชื่อ Adopted ซึ่งผมก็ยังไม่เคยดูเหมือนกัน แต่กับเรื่องนี้พวกเขาสำแดงฝีมือได้น่าประทับใจครับ จังหวะการเล่าเรื่องมันพอดี ดูแล้วเข้าใจตัวละคร อินไปกับเหตุการณ์ และสนใจใคร่รู้ว่าเรื่องมันจะไปจบลงอย่างไร ครั้นพอดูจบแล้วก็ให้ความรู้สึก “หนังจบอารมณ์ไม่จบ” มันรู้สึกราวกับว่าตัวละครทั้งหลายในเรื่องตอนนี้ยังคงดำเนินชีวิตต่อไป ที่ไหนสักแห่ง และแอบอยากรู้ว่าพวกเขาตอนนี้เป็นยังไงบ้าง… ว่าง่ายๆ คือดูแล้วอินอย่างยิ่งนั่นเองครับ
ดาราในเรื่องก็แซ่บถ้วนหน้า Liam James ตัวเอกของเรื่องอาจไม่ถึงกับแสดงได้สุดยอด แต่ก็น่าปรบมือครับ ทำให้เราเข้าใจและเห็นใจในชีวิตน่าเบื่อของเขา รู้สึกเหมือนตนเองเป็นส่วนเกินของครอบครัว ไม่รู้จะนั่งหรือยืนตรงไหนดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปพอเขาได้ทำอะไรมากขึ้น แววตาท่าทางเขาก็เริ่มมั่นใจมากขึ้น จนเมื่อถึงฉากสุดท้ายนั่นแหละครับ ที่เราก็พลอยดีใจไปกับเขาด้วยเมื่อบทสรุปของเรื่องราวเป็นแบบนั้น
ส่วนหนึ่งที่ James แสดงแล้วดูเด่น ผมว่าต้องขอบคุณทีมดาราระดับเทพที่มาเสริมความแกร่งให้กับหนัง ไม่ว่าจะ Carrell ที่เล่นบทน่ารำคาญทำนองนี้ได้ใจเสมอ, Collette ก็ถนัดเหลือเกินกับบทคุณแม่อมทุกข์และไม่กล้ายืนหยัดเพื่อตนเอง, Allison Janney ในบทเบ็ตตี้ เพื่อนบ้านที่เมาได้ทั้งวันขานี้ก็หายห่วงครับถ้าเป็นบทประเภทพูดพล่ามน้ำไหลไฟดับล่ะก็, AnnaSophia Robb สาวสวยอีกคนในบทซูซานน่า ลูกสาวของเบ็ตตี้ รายนี้ก็คอยเสริมคาแรคเตอร์ของดันแคนให้ดูเด่นขึ้นได้ในหลายวาระ ซึ่งผมว่าไม่ใช่ของง่ายครับ การเล่นให้ตัวเองไม่เด่นแต่ช่วยเสริมให้คาแรคเตอร์คนอื่นเด่นขึ้นเนี่ย แต่ Robb ก็ทำได้ครับ
แต่คนที่เด่นอย่างมากต้องยกให้ Rockwell ครับ ผมชอบบทโอเว่นนี่มากๆ คือพี่แกดูเป็นคนไร้กรอบไร้กฎ ทำอะไรรักสนุกไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยทำให้ใครรู้สึกแย่ (หมายถึงโดยเจตนานะครับ อาจมีเผลอบ้างแต่ไม่เคยตั้งใจ) ซ้ำยังหวังดีกับคนอื่นเสมอ คอยให้กำลังใจคนที่รู้สึกไม่ดี โดยเฉพาะกับดันแคน แค่ประโยคง่ายๆ ที่เขาบอกดันแคนว่า “ไม่มีใครมีสิทธิ์มาบอกว่านายไม่มีอะไรดีได้หรอกนะ” ก็สื่อถึงความเจ๋งที่มีในตัวเขาได้มากแล้วล่ะครับ ชอบจริงๆ บทนี้ ซึ่งผมว่ามันเหมาะมากๆ กับ Rockwell ด้วยล่ะครับ
นอกจากนี้ 2 ผู้กำกับ Faxon และ Rash ยังมาร่วมแสดงด้วย โดยรายแรกเป็นร็อดดี้ พนักงานสวนน้ำผมทองหน้าตาดีๆ หน่อย ส่วนรายหลังก็เป็นพนักงานสวนน้ำเหมือนกันครับ ชื่อ เลวิส ที่ใส่แว่นหัวเหน่งแล้วชอบบ่นว่า “ไม่มีใครมาซื้ออะไรที่เคาท์เตอร์ฉันเลย” นั่นแหละ
องค์ประกอบในเรื่องถือว่าเป๊ะมากครับ ดาราดี เล่าเรื่องดี หนังไม่ยาวเกินไป (หนังยาวประมาณ 100 นาทีนิดๆ) โลเกชั่นก็ได้อารมณ์เป็นเมืองท่องเที่ยวชายหาดดีครับ แต่สิ่งทั้งหมดนี้จะไม่ฉายประกายความเด่นเลยครับหาก “บทภาพยนตร์” ไม่ดีพอ… และกับเรื่องนี้ บทเจ๋งบนความเรียบง่ายครับ
มันเป็นเรื่องราวง่ายๆ นะครับ ไม่ได้ใหม่อะไร มันคือสิ่งที่คนมากมายเจอกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะปัญหาครอบครัว หรือคำถามที่เราอาจมีต่อตนเอง ว่าเรานั้นมีคุณค่าแค่ไหน และในกรณีที่เรารู้สึกโดดเดี่ยว เข้ากับใครไม่ได้ เราก็จะถามตัวเองว่า “มันมีที่ที่เหมาะสำหรับเราอยู่บ้างไหม ในโลกกลมๆ ใบนี้?”
ดันแคนก็คือหนุ่มน้อยที่เจอทุกสิ่งที่ผมร่ายไปนั่นกับตัวเองครับ อย่างแรกคือปัญหาครอบครัวที่แม่ก็หย่าร้างแยกทางกับพ่อ ส่วนพ่อเลี้ยงคนใหม่ก็นิสัยไม่น่ารักเลย มองเห็นเขาเป็นดั่งของแถมที่ติดมากับแม่ (และเป็นของแถมที่เขาก็ไม่อยากได้) ไหนจะแม่ของตนเองที่ไม่พยายามปกป้องหรือดูแลเขาอย่างที่เคยเป็น… แน่นอนครับว่าดันแคนสับสนหลายอย่าง และ “ความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อตนเอง” ก็น้อยลงทุกขณะ
ในขณะเดียวกัน ซูซานน่าก็เจออะไรคล้ายๆ กับดันแคนครับ พ่อแม่ก็แยกทาง โดยเธออยู่กับแม่ที่เมาได้ตลอดๆ จนเธอเองก็รู้สึกชีวิตเคว้งไปไม่น้อย ฉากหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเจ็บมากๆ คือตอนที่ดันแคนกับซูซานน่าไปเดินเล่นริมหาดด้วยกัน แล้วก็เดินคุยนั่งคุยปรึกษาปัญหาครอบครัว ส่วนบรรดาๆ พ่อแม่ๆ และผู้ใหญ่กลับเอาแต่ดื่ม กิน เล่น หนีปัญหา หรือไม่ก็ทำเป็นไม่เห็นปัญหาซะดื้อๆ แม้มันจะมาเกิดตรงหน้าก็เถอะ
ถ้ามองแบบคิดมากอีกหน่อยผมว่าหนังสะท้อนความหมายบางอย่างผ่านสถานการณ์ได้อย่างน่าสนใจครับ เพราะเอาเข้าจริงพ่อเลี้ยงและแม่ของดันแคนที่เดินทางมาพักผ่อน ก็เหมือนๆ กับจะมาเพื่อลืมปัญหา มาเพื่อสนุกเป็นหลัก พอพักเสร็จก็กลับบ้านไป แล้วก็นำชีวิตเข้าสู่วังวนเดิมๆ ในขณะที่ดันแคนมาแบบไม่เต็มใจ แต่เขากลับค้นพบตัวตน ค้นพบแง่คิดดีๆ และ พบเจอ “พื้นที่ของตนเอง” ติดตัวกลับไปหลังทริปนี้จบลง…
หากมองต่ออีกนิดก็จะเห็นครับว่าพ่อเลี้ยงและแม่ของดันแคนได้อยู่กับเพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว เพื่อนเล่น เพื่อนเม้าท์ แต่ดันแคนได้เพื่อนดี เพื่อนที่คอยห่วงใย เพื่อนผู้มอบคำแนะนำดีๆ ต่อชีวิตให้… ทริปนี้เติมเต็มชีวิตใครได้มากกว่ากัน เราคงเห็นๆ กันอยู่ชัดเจนพอสมควร
ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วรู้สึกดีใจแทนดันแคนครับ เขาได้ใช้ชีวิตสนุกสนานไปกับกลุ่มคนดีๆ ที่อาจไม่ได้ดีเลิศ แต่ก็ห่วงใยและให้กำลังใจเขา ทำให้เขาได้ขบคิดทบทวนเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา อีกทั้งสำรวจเส้นทางที่กำลังเป็นอยู่ ณ ปัจจุบันของตนเอง อันทำให้เขาเห็นแนวทางที่จะพาตัวเองเดินไปสู่อนาคตชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสำหรับชีวิตวัยรุ่นคนหนึ่งแล้ว สิ่งเหล่านี้จัดว่าล้ำค่ามากๆ ครับ เพราะผู้ใหญ่มากมายโตขึ้นโดยที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่เข้าใจวิถีชีวิตทั้งอดีตและปัจจุบันของตนเอง มองปัญหาไม่ออก ประเมินคุณค่าตัวเองไม่เป็น จนทำให้เขาเหมือนติดอยู่ในกับดัก แต่ก็ต้องก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ และเดินวนในเขาวงกตแห่งชีวิตไปจนสิ้นลม
ประเด็นที่น่าหยิบยกมาต่อยอดจากหนังเรื่องนี้ก็คือการเข้าใจตนเองมากขึ้นของดันแคน น่าพิจารณาครับว่าองค์ประกอบอะไรที่ช่วยทำให้เขาไปถึงจุดนี้ หากจะมองคร่าวๆ ก็คงได้แก่
+ มิตรที่ดี สิ่งแวดล้อมและคนรอบตัวมีอิทธิพลต่อเราเสมอครับ กลุ่มคนที่สับสน กึ่มๆ งงชีวิต หรือใช้ชีวิตแบบซังกะตายให้หมดวันย่อมทำให้เรารู้สึกหมดพลัง จนไม่แปลกที่ดันแคนจะรู้สึกหมดแรง หมดความสุขในชีวิตเมื่ออยู่กับครอบครัวของตนเองมากๆ แต่ในทางกลับกันครับ เขารู้สึกดีขึ้นๆ สนุกขึ้นๆ กล้าขึ้นๆ และยิ้มง่ายขึ้นๆ เมื่อได้มาเจอกับโอเว่นและพรรคพวก ยิ่งโอเว่นคอย “ชี้ทางแบบไม่ชี้นิ้ว” ก็ยิ่งทำให้ดันแคนเติบโตและเข้าใจอะไรมากขึ้น
สำหรับผู้ใหญ่ทุกท่าน ลองเอาวิธีแบบโอเว่นไปใช้ในการสอนวัยรุ่นดูนะครับ “ชี้ทางแบบไม่ชี้นิ้ว” และ “สอนแบบไม่เน้นสั่ง”
+ ได้ทำงาน งานสร้างคนได้ครับ เพราะประสบการณ์ทำงานจะสอนอะไรเราหลายอย่าง มันจะทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น รู้จักสัมผัสกับสิ่งเล็กๆ แต่สำคัญที่ชื่อว่า “ความรับผิดชอบ” นี่เป็นเหตุผลหนึ่งครับที่ทำให้วัยรุ่นเมืองนอกโตไวกว่าบ้านเรา เพราะใครก็ตามที่ได้ลองทำงาน เขาจะพบเจอพื้นที่ที่สอนให้พวกเขารู้จักผสมผสาน ระหว่าง “การเล่นตามใจ” กับ “การเล่นตามกฎ” ซึ่งเมื่อสองอย่างนี้มาเจอกัน และพวกเขาได้เรียนรู้จากมันแล้ว เขาจะเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และขอบเขตอิสระที่เขามีหลังจากเรียนจบ ซึ่งนั่นแหละครับก้าวแรกที่สำคัญของการเป็นผู้ใหญ่ที่ (มีโอกาส) ดี
+ การรู้จักขบคิดและหาคำตอบ จริงๆ ผมว่าทุกคนที่มีปัญหาชีวิต จะมีความสามารถในการสังเกตสิ่งแย่ๆ ได้เสมอครับ แต่ประเด็นคือเมื่อสังเกตแล้วเราทำอย่างไรต่อ เราจะยอมแพ้ ยอมตาม ปล่อยให้ปัญหามันคาราคาซังต่อไป หรือเราจะขบคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม และหาคำตอบเกี่ยวกับมัน
อย่างดันแคนนั้นเขาติดใจติดหัวมาตั้งแต่เปิดเรื่อง ยามโดนพ่อเลี้ยงด่า (แบบอ้อมๆ) ว่าเขาไร้ค่า มีคะแนนแค่ 3 เต็ม 10 เท่านั้น ซึ่งนั่นก็อยู่ในหัวดันแคนต่อมา จนเขาตัดสินใจเอ่ยเพื่อหาคำตอบโดยถามโอเว่น เพื่อนที่เขาไว้ใจมากๆ ไปตามตรง และคำตอบที่โอเว่นให้ก็ทำให้ดันแคนกล้ายืนหยัดขึ้นมา ไม่ใช่เพียงเพราะคำตอบของโอเว่นให้กำลังใจ แต่เพราะดันแคนเองก็สังเกตเก็บรายละเอียดของตนเองมาตลอด เขารู้ว่าตนเองพยายามทำสิ่งที่ดี ทำตนให้มีคุณค่ามากแค่ไหนในช่วงวันหยุดนี้ เขาแค่ยังมีคำถามติดใจอันนี้อยู่เท่านั้นเองที่ทำให้เขาไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนรับรู้เกี่ยวกับตัวเอง
การสังเกตนั้นทำได้ทั้งกับสิ่งที่ดีและไม่ดีที่เกิดกับเราครับ และสังเกตได้ทั้งนอกและในตัวเราด้วย… อย่าลืมเก็บข้อมูลเพื่อประมวลสิ่งดีๆ (ตามความเป็นจริง) และเพื่อสร้างความเข้าใจอันถูกเหมาะให้กับชีวิตเรานะครับ และอย่าปล่อยให้การสังเกตกลายเป็นการมองอะไรต่อมิอะไรในแง่ลบ พยายามมองกลางๆ ทั้งบวกและลบเอาไว้ และต้องไม่ลืมที่จะหาทางไขข้อสงสัยที่ตนเองมี โดยเฉพาะข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณค่าของตัวเราเอง
+ การปรับเปลี่ยนตนเอง เมื่อเราค้นพบจุดอ่อนในตัว เมื่อเราค้นพบวิธีคิดหรือทัศนคติที่ทำให้เรารู้สึกแย่ หรือเมื่อเราเจอนิสัยไม่ดีในตนเอง สิ่งที่น่ารักที่สุดอย่างหนึ่งที่เราจะทำได้ คือเราต้องยืดอกยอมรับ ตามด้วยหันมามองมันอย่างจริงจัง และจากนั้นเราค่อยเปลี่ยนตัวเอง พัฒนาตนเองให้ดีกว่าเก่า โดยใช้ร่องรอยหลักฐานต่างๆ ที่เราค้นพบหรือที่คนอื่นพบเจอมาเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยน ยกระดับตนเองให้ดีขึ้น
อันนี้ไม่เฉพาะแต่กับดันแคน แต่ตัวโอเว่นเองก็ทำครับ เมื่อเขารู้ว่าตนเองทำให้ใครบางคนรู้สึกแย่ เขาก็พร้อมจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลง เขายอมรับในสิ่งผิดที่ตนเอง ตามด้วยการแก้ไข นี่แหละครับคนจริง
ในทางกลับกันเราจะได้เห็นว่าเทรนท์นั้นไม่คิดจะยอมรับผิดอะไร ฉันไม่แคร์ ไม่สน เพราะฉันถูกตลอด เพราะฉันเป็นของฉันอย่างนี้ ซึ่งผลลงเอยเป็นเช่นไรในหนังก็มีคำตอบให้เป็นแนวๆ อยู่แล้วน่ะนะครับ
และอีกตัวละครหนึ่งที่เปลี่ยน อันนี้ต้องดูในซีนสุดท้ายครับ แต่บอกได้แค่ว่าการเปลี่ยนของตัวละครนี้ถือเป็นไคลแม็กซ์อีกหนึ่งฉาก ที่ไม่ต้องใช้คำพูดหรือคำบรรยายอะไรให้มากกความ… แต่ถือเป็นการเปลี่ยนที่สวยงามจริงๆ
หนังเรื่องนี้ดูแล้วมีความสุขครับ มันเรียบง่ายแต่ได้อะไรดีๆ กลับมาคิดหลายอย่าง ซึ่งแง่คิดจริงๆ มันก็ไม่ได้ใหม่ครับ เห็นมีแล้วในหนังหลายเรื่อง ในหนังสือหลายเล่ม หรือแม้แต่ข้อความสั้นๆ ให้แง่คิดทางเฟซหน้าทางเน็ต แต่ประเด็นก็คือ ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจแง่คิดเหล่านี้กันดีแล้ว และใช่ว่าทุกคนจะนำมันไปปรับใช้กันแบบแพร่หลายๆ สุดๆ แล้ว (ไม่งั้นโลกคงจะสับสนวุ่นวายน้อยลงกว่านี้เยอะครับ)
การที่หนังแนวนี้มีออกมาเรื่อยๆ มันก็ดีครับ มันดีในแง่ดูแล้วรู้สึก Happy และมันดีในแง่ช่วยกระตุ้นกระทุ้งให้เราทบทวนชีวิตตนเรื่อยๆ เพราะการจะเข้าใจชีวิตตนนั้นมันไม่ได้ทำได้ทันทีแค่วันสองวัน มันอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือนานกว่านั้น ซึ่งเราก็ต้องหมั่นสำรวจ ตรวจสอบ และขบคิดเรื่อยๆ ครับ จะพักบ้างก็ได้ไม่มีปัญหา ขอเพียงอย่าทิ้งโอกาสที่จะทำให้เราเข้าใจตนเองไปเท่านั้นเองครับ จะใช้หนังเป็นตัวช่วย ใช้ธรรมะเป็นตัวช่วย ใช้คำคมดีๆ เป็นตัวช่วย หรือใช้การพินิจพิเคราะห์สังเกตชีวิตด้วยตนเองก็สุดแท้แต่ ขอเพียงแค่ลองทำดูครับ
ถือเป็นหนังชีวิตผสมตลกที่ดูแล้วสบายใจครับ และฉากสรุปของหนัง ผมว่ามันเปี่ยมความหมายมากนะครับ อันที่จริงผมว่าเพียงแค่นั้นแหละ แค่ที่มีตัวละครหนึ่งทำเพื่อเขาแบบนั้นแหละ เป็นอะไรที่ดันแคนต้องการมาตลอด แค่รู้ว่าเขาไม่ได้ต้องใช้ชีวิตลำพังแบบแปลกแยกในครอบครัวนี้ แค่นั้นก็เกินพอ
แล้วรถที่มีดันแคนนั่งอยู่ด้วยก็ค่อยๆ แล่นจากเมืองไป มันค่อยๆ ไกลจากชายหาดที่ทุกอย่างเริ่มต้นอย่างไม่สวยงามนัก…
ค่อยๆ ไกลจากบ้านของเบ็ตตี้และซูซานน่า แม่ลูกที่ห่างกันแม้ตัวจะอยู่ใกล้…
ค่อยๆ ไกลจากวอเตอร์ วิซซ์ ที่ซึ่งชีวิตของดันแคนค้นพบความหมาย ค้นพบเพื่อนที่ดีอย่างโอเว่น และอื่นๆ อีกมากมาย
…แล้วเรื่องทั้งหมดที่เกิดก็ค่อยๆ กลายเป็น “ความทรงจำ”…
สองดาวสามส่วนสี่ดวงครับ
(7.5/10)