รู้ไหมครับว่าผมชอบเชอร์ล็อค โฮล์มส์ มากที่สุดตรงไหน?
ชอบตรงที่พี่ท่านเป็นนักคิดนอกกรอบรุ่นลายคราม (ตัวพ่อรุ่นแรกๆ)
เป็นคนที่มองเรื่องเล็กๆ แล้วขยายไปสู่สิ่งใหญ่ๆ ได้
ทำโลกใบใหญ่ ให้ย่อขนาดเล็กลง ด้วยความจริงเพียงหยิบมือ
และที่ชอบเหนืออื่นใด คือ พี่ท่านเป็นนักสืบพันธุ์วิทยาศาสตร์
มีนิสัยชอบสลายสิ่งลึกลับให้เป็นความกระจ่าง
เป็นนักสร้างแสงสว่างจากความมืด แตะในเรื่องที่หลายคนไม่กล้าเข้าไปต้อง…
สุดยอดมากครับคุณโฮล์มส์ สุดยอดจริงๆ
ในฐานะแฟนโฮล์มส์คนหนึ่ง ยอมรับครับว่าอยากเห็นโฮล์มส์ขึ้นจอใหญ่อยู่ เคยนึกเล่นๆ ว่าอยากให้ John Cusack เป็นโฮล์มส์ 555 (สมัยนั้นกำลังชอบพี่แกจาก Grosse Pointe Blank แล้วก็ High Fidelity) ขณะเดียวกันในใจก็มีคำถามเล็กๆ ว่า คนทำหนังจะสร้างมันยังไงให้ออกมาน่าสนใจสำหรับนักดูหนังยุคใหม่ที่ไม่ใคร่จะสนใจหนังย้อนยุคเหมือนแต่ก่อน อีกทั้งหนังกับซีรี่ส์สืบสวนในยุคนี้ก็มีออกมาจนเกร่อ เอาแค่ CSI ก็มีให้ดูกันจนสาใจ ทั้ง Vegas, Miami แล้วก็ New York และอีกเป็นโหล
โจทย์ใหญ่คือ จะทำยังไงให้นักสืบยุควิคตอเรียนกลับมาครองใจคนยุคอินเตอร์เน็ตได้
แล้วทีมงานล่าสุดก็จัดแจงสร้างคำตอบด้วยสมการง่ายๆ ครับ เอาของเก่าที่ดีมาบวกกับของใหม่ที่ขายได้ รวมมิตรสร้างจุดขายเพื่อความบันเทิงแบบเต็มที่ ไม่ว่าจะดาราดีๆ อารมณ์ขัน แอ็กชัน และบทที่ซ้อนปมหลายทบ แต่ก็ไม่ได้หนักจนสมองมึนหลังดูจบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโฮล์มส์กับหมอวัตสันในเรื่องนี้ต่างกับต้นฉบับที่ท่านเซอร์ Arthur Conan Doyle ให้กำเนิดไว้หลายอย่าง แต่รู้ไหมครับ… ผมชอบแฮะ ด้วยเหตุผล 3 ประการ
อย่างแรก
หนังสนุก เนื้อหาไหลลื่น ตื่นเต้น น่าติดตาม การคลายปมจังหวะต่างๆ ก็โอเค
แม้จะไม่ถึงกับสุดยอดไร้ที่ติ แต่ในแง่หนังบันเทิงสักเรื่อง… ผ่านสบายๆ ครับ แนะนำให้ดูได้เลย
อย่างที่สอง
หัวใจและวิญญาณของโฮล์มส์สมัยนิยาย ยังไม่หายไปไหนครับ
… ลอร์ดแบล็ควู้ด (Mark Strong) ตัวร้ายของเรื่องพูดไว้ว่า “มองให้กว้างไว้ คุณโฮล์มส์” แม้เขาจะบอกโฮล์มส์ แต่ผมรู้สึกว่าเขาพูดถึงคนดูอย่างเราๆ ด้วย… เพราะถ้าเรามองจำกัดบนกรอบเดิมๆ โฮล์มส์ฉบับนี้คงไม่ต่างอะไรจากหนุ่มแปลกหน้าที่พยายามบอกว่าตัวเองคือนักสืบคาบไปป์แห่งสมัยวิคตอเรียน
… แต่ถ้ามองอีกมุม… เราจะเห็นเค้าวิญญาณดั้งเดิมของนิยายโฮล์มส์อยู่ในหนังเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะการเป็นคนคิดนอกกรอบ, มองจากหลักฐานเล็กๆ แล้วขยายผลไปสรุปในภาพใหญ่, การกระตุ้นให้คนช่างสังเกต, การปลุกให้คนกล้าที่จะพิสูจน์ในสิ่งสงสัย ไม่ใช่นั่งตีขลุมสรุปแบบคิดเอาเอง ไม่ว่าจะเรื่องคดีฆาตกรรม หรือเรื่องการเชื่ออย่างงมงายในเรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆ… ทำให้เราหลุดพ้นจากความกลัวได้
ไหนจะทักษะการปลอมตัวระดับเจ๋งๆ และที่ลืมไม่ได้คือความสามารถในการผูกมิตรกับคนจรจัด ซึ่งคาดว่าถ้ามีภาคต่อไป การผูกมิตรกับคนเหล่านี้น่าจะทำให้โฮล์มส์ทำงานได้ง่ายกว่าเดิม
โดยเฉพาะทฤษฎีแมลงวันนั่น… ใช่เลยครับ นั่นน่ะจุดที่ผมรักที่สุดของนิยายโฮล์มส์เลยล่ะ… (ของแบบนี้ไว้ว่ากันอีกทีตอนท้ายครับ เพราะติดสปอยล์)
อย่างที่สาม
สิ่งเล็กๆ ครับ… สิ่งเล็กๆ ในหนัง
ผมได้ยินมาว่าคนส่วนใหญ่บ่นว่าช่วงแรกของหนัง น่าเบื่อ อืด ยืด เรื่อยไปไหนก็ไม่รู้ กว่าจะเข้าเรื่องก็ปาเข้าไปเกือบชั่วโมง… ถ้าเรามองภาพรวม มันดูเหมือนจะเรื่อยๆ จริงครับ …
ทว่าถ้ามองสิ่งเล็กๆ แต่ละอย่างที่ร้อยเรียงในแต่ละฉากให้ดี มันจะนำมาสู่ภาพรวมที่กว้างใหญ่ขึ้นได้…
ทำไมโฮล์มส์ถึงตอบสนองต่อผู้หญิงไม่ดีนัก…
ทฤษฎีแมลงวันของโฮล์มส์…
การทดลองแบบจับหมามานอนตาย…
คราบชอล์กที่ชุดของตัวละครลึกลับรายหนึ่ง…
ชายหน้าบากที่พุ่งไปขอเงินจากชายลึกลับคนนั้น…
ฯลฯ….
เล็กๆ น้อยๆ พวกนี้แหละครับที่ทำให้ผมรู้สึกสนุกตอนดูหนัง และยิ่งรู้สึกว่าหนังมี “อะไร” มากขึ้น เมื่อดูจบ
สรุปคร่าวๆ ก็คือผมชอบครับ หนังดูสนุก คอหนังสืบสวนน่าจะโอเค ด้านบท เนื้อหาถือว่าสนุกสนานผ่านเกณฑ์ ดาราก็เล่นกันดี และดูจากรายได้เปิดตัวก็น่าจะมีภาคต่อตามมาแน่ๆ แต่ถ้าถามว่ามันยอดมากๆ เลยไหม ก็ตอบได้ว่า ยังไม่ขนาดนั้นครับ ยังมีจุดพร่องบ้าง ขาดบ้างเกินบ้าง แต่ก็พอจะมองข้ามไปได้
ทีนี้ก็จะเข้าเขตที่มีการสปอยล์แพลมๆ เป็นระยะๆ แล้วนะครับ ถ้าไม่อยากทราบอนุญาตให้ข้ามไปอ่านดาวแถวล่างสุดได้ครับ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
อย่างที่บอกครับ โฮล์มส์ภาคนี้อาจไม่ใช่สุดยอดหนังสืบสวน และไม่ใช่หนังที่เด็ดเทียบได้กับพวก The Dark Knight แต่โดยมาตรฐานแล้วมันก็มีดีน้องๆ Batman Begins หรือ Spider-Man กล่าวคือ สนุกตามมาตรฐานหนังภาคแรก และเผื่ออะไรดีๆ ไว้ไปปล่อยของอีกทีในภาคต่อ
จุดที่ถือว่าเด่นมากของหนังก็ต้องยกให้ลีลาของ Robert Downey Jr. พ่อพระเอกที่ใส่ลีลากวนบาทา ฉลาดหัวไว ฮาและจริงจังเข้าไว้ด้วยกันอย่างพอดี เป็นโฮล์มส์เวอร์ชั่นมันส์กับชีวิต ไม่ได้มันส์แบบสุขุมแบบในนิยาย ซึ่งก็จัดว่าเข้ากับโทนหนังดีล่ะครับ ยิ่งได้ดนตรีสไตล์ไอริชใส่ลงมาด้วย ก็ม่วนตามแบบฉบับโฮล์มส์สู้ฟัดได้พอดี
ส่วน Jude Law ก็ฉีกภาพหมอวัตสันผู้น่ารัก ลูกคู่ของโฮล์มส์ กลายเป็นหมอวัตสันเวอร์ชั่นหนุ่มแน่นที่ซ่อนสัญชาตญาณผจญภัยไว้ในบุคลิกนิ่มๆ ประมาณว่าใจหนึ่งก็คิดว่าอยากอยู่อย่างสงบ อยากมีครอบครัวเสียที แต่อีกใจ พอเจอนายโฮล์มส์มากระตุ้นด้วยหลักฐานก็อดไม่ได้ที่จะออกไปลุยกับเพื่อนซี้แทบทุกรอบ
โดยส่วนตัวผมก็ชอบหมอวัตสันแบบใหม่อยู่นะ แต่อย่าถามว่าแบบเก่าหรือใหม่ที่ไฉไลกว่า เพราะมันโอเคกันคนละแบบ อย่างฉบับใหม่นี่ก็จัดว่าดีสำหรับการปูคาแร็คเตอร์ที่สามารถต่อยอดได้ในภายภาคหน้า เป็นการเพิ่มมิติให้ตัวละครน่ะครับ
ดังนั้นวิธีง่ายๆ สำหรับคอนิยายที่อยากดูเวอร์ชั่นหนังให้สนุกก็คือ ไม่ต้องไปเปรียบอะไรให้มากมายครับ ของเก่ามีดี คลาสสิกระดับเทพก็ขึ้นหิ้งไว้ เก็บความปลื้มไว้ต่อไปได้ ส่วนของใหม่ที่พ่อ Guy Ritchie แกปรุงออกมา ก็คิดเสียว่าเป็นของใหม่ที่อัพเดตและอัพเกรดให้ฉับไว เข้าสมัยมากขึ้น
Rachel McAdams ก็มาเป็นแม่สาวร้ายไอรีน แอดเลอร์ได้น่ารัก น่าหยิกดี ส่วน Mark Strong ก็เหมาะกับบทลอร์ดมืด แบล็กวู้ดอยู่เหมือนกัน สองคนนี้บทไม่มาก แต่ก็เสริมรสชาติให้หนังได้ดี แต่คนที่บทน้อยไปนิดก็คือสารวัตรเลสเตรด (Eddie Marsan) ที่ไม่ค่อยได้มาโว ไม่ค่อยมาสร้างความปวดตับให้กับโฮล์มส์สักเท่าไร แต่ก็เข้าใจล่ะครับ แค่นี้ตัวละครก็ล้นจอแล้วล่ะ
องค์ประกอบทั้งหลายในหนังนั้นผมชอบนะ มันเข้ากับสไตล์ที่หนังเป็น ลงตัวในแบบของมันน่ะครับ ซึ่งคงต้องแล้วแต่คนชอบ ส่วนกระผมนั้น ที่ค่อนข้างชอบหนังเวอร์ชั่นนี้ก็เพราะหนังไม่ลืมที่จะเอาสิ่งดีๆ จากนิยายของโฮล์มส์ (หรือที่ผมเรียกว่า วิญญาณแห่งโฮล์มส์ที่ผมชอบ) มาเป็นแกนหลัก
บอกตามตรงว่าลีลาของโฮล์มส์ หรือการสืบคดี หรือแม้แต่การหักมุมอะไรผมก็ไม่ห่วงหรอกครับ มันทำได้ไม่ยาก แต่การนำเอาจุดที่ผมโปรดมากๆ จากนิยายโฮล์มส์มาลงจอนี่แหละที่สำคัญสุด… โชคดีที่หนังเรื่องนี้ก็มีด้วย
ทีเด็ดของโฮล์มส์ที่มีเหนือนิยายเรื่องอื่นๆ คือ การปลุกเซลล์สมองคนอ่านให้ตื่น รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ และมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์เบ่งบานขึ้นในตัว
ที่สำคัญที่สุดคือ การปลดปล่อยตัวเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความเชื่อ (สอนให้ใช้สมอง) และไม่ปล่อยให้ตัวเองถึงทางตัน (โดยการโยกสมองไปคิดมุมอื่น ในกรณีที่มุมนี้คิดแล้วมันไปไม่รอด)
อย่างใน The Hound of The Baskervilles หรือ หมาผลาญตระกูล นิยายโฮล์มส์ตอนที่ครองใจผมและนักอ่านอีกหลายๆ คน ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันโดนใจก็เพราะ มันสอนให้เราฉลาดที่จะเชื่อ สอนให้คิด ไตร่ตรอง ใช้สมองใคร่ครวญก่อนจะเชื่ออะไรลงไป
สิ่งที่ผมประทับใจเกี่ยวกับโฮล์มส์คือ เขาไม่ได้สอนให้เราต่อต้านอะไร แค่สอนให้คิดสักนิด ในเรื่องที่สำคัญๆ เรื่องที่จะมีผลต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการคิด การตัดสินใจ… เรื่องเกี่ยวกับความกลัว…
ความกลัว… คือสิ่งที่มีหลายมุมให้เราใส่ใจ ในแง่หนึ่ง ธรรมชาติทำให้คนมีความกลัวก็เพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย รักษาชีวิตเราและคนอื่น มุมนั้นไม่เป็นไรครับ เรามีมันเป็นกลไกป้องกันตัวตามธรรมชาติ เหมือนมีจมูกไว้หายใจ มีขาไว้เดิน
แต่เมื่อไรที่ความกลัวขึ้นขี่หลังเรา ข่มเรา ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือหลงงมงายจนทำลายสติ ก็เหมือนจมูกเราหายใจผิดจังหวะ หรือขาก้าวไม่ได้ตามใจคิด… เมื่อนั้นแหละที่เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อปรับ แก้ไขมัน
และโฮล์มส์ตอนนี้ก็มีแกนหลักเหมือนกับโฮล์มส์ตอนโปรดของผมนั่นแหละครับ เป็นอีกครั้งที่วายร้ายใช้อาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุดในโลกชนิดนี้
หนังมีการเปรียบเปรยแบบเรื่องดังกล่าว ผ่านทางสิ่งนี้…
ทฤษฎีแมลงวัน
ในเรื่องโฮล์มส์ทำการทดลองดีดไวโอลินทีละโน้ต และเขาก็พบว่ามีอยู่คีย์หนึ่งที่ส่งผลให้เจ้าพวกแมลงวันบินวนเป็นขบวน
สรุปได้ว่าคลื่นเสียงที่เหมาะสม คุมทิศทางการบินแมลงวันได้… เป็นเหมือนกุญแจบงการชีวิตของพวกมัน
ในขณะที่โฮล์มส์กำลังตื่นเต้นกับการค้นพบนี้ ตัวร้ายอย่างลอร์ดแบล็ควู้ดไปได้ไกลกว่านั้นครับ… เขาเจอกุญแจบงการชีวิตมนุษย์ดอกเบ่อเริ่ม… คลื่นแห่งความกลัวและคลื่นแห่งความเชื่อนี่เอง
ทั้งหมดที่เขาทำคือกระบวนการดีดไวโอลินพิฆาตโลก วางแผนตะล่อมให้คนกลัว ก่อนจะปิดท้ายด้วยการสร้างสถานการณ์ให้ใครๆ เชื่อว่าเขาคือจอมอาคมที่อยู่เหนือความตาย และยังสั่งให้ใครต่อใครตายได้ตามต้องการ… และเขาก็เจอโฮล์มส์กล้าเอาไวโอลินไปเคาะกบาลเข้าให้ จนแผนกระเจิง…
โฮล์มส์ทำสิ่งที่ง่ายที่สุดสำหรับการไขปัญหาครับ แค่พิสูจน์และสังเกตอย่างมีสติ เหมือนคนกลัวว่าในความมืดตรงมุมห้องจะมีผีเพราะเห็นมีเงาตะคุ่มๆ ก็ตัดสินใจเดินไปซะ เอาให้เห็นกะตาว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเดี๋ยวความกลัวก็ลดลง ความกระจ่างจะมาแทนที่
แง่คิดง่ายๆ แต่มีคุณค่าที่โฮล์มส์ทั้งเวอร์ชั่นนิยายและเวอร์ชั่นหนังบอกก็คืออันนี้แหละครับ มีสติ ไตร่ตรองก่อนจะเชื่อ และอย่าลืมตรวจสอบให้ดีว่านาทีนี้เรากำลังโดนใครดีดไวโอลินใส่ เข้าคุม ขึ้นขี่หลัง หรือทำให้เชื่อแบบหัวปักหัวปำอยู่หรือเปล่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อหรือการเชื่อที่สามารถลุกลามไปสร้างความเสียหายให้ชีวิตหรือสังคมอย่างที่ลอร์ดแบล็ควู้ดทำเนี่ย ต้องระวังให้ดี เพราะถ้าเชื่อเมื่อไรบ้านเมืองเป็นไฟเมื่อนั้น
ถ้าไม่มีโฮล์มส์… สงสัยโลกในหนังคงจะจบสิ้นอย่างที่ลอร์ดแบล็ควู้ดบอกจริงๆ น่ะแหละ เพราะใครต่อใครพากันเชื่อโดยไม่ต้องหาคำตอบว่าลอร์ดแบล็ควู้ดแกคืนชีพแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์
ตรวจตราความคิดให้ดีนะครับผม อะไรที่เกาะกิน อะไรที่เราเชื่อแล้วทำให้เสียหายทั้งกายใจและทรัพย์สิน ก็ควรมองให้ดีครับ อย่าปล่อยตัวให้เป็นแมลงวันที่ทำตามพลังคลื่นโดยไม่โต้แย้ง อย่าลืมว่าเราเป็นมนุษย์ครับ มีสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้เป็นพิเศษไว้ช่วยกลั่นกรองคลื่นความคิดให้เราสรุปมัน ประมวลมันอย่างเหมาะสม… สติสัมปชัญญะ
ปิดท้ายด้วยเรื่องเล็กๆ
อีกอย่างที่ผมชอบคือ เรื่องเล็กๆ ในหนังครับ อย่างที่เกริ่นไปน่ะแหละ สิ่งเล็กๆ ในหนังถ้าสังเกตอยู่เรื่อยๆ พอดูจบแล้วเอามาประมวลก็จะพบว่ามันมีอะไรเกี่ยวเนื่องกันอยู่ตลอด และยังบอกใบ้แนวทางของภาคต่ออีกต่างหาก
อย่างหนึ่งที่ผมว่าเจ๋งคือพฤติกรรมของโฮล์มส์ที่มีต่อผู้หญิง สังเกตดีๆ จะพบว่าพี่แกมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ใคร่จะดีนักกับผู้หญิง ไม่ว่าจะมิสซิสฮัดสัน (Geraldine James) เจ้าของห้องเช่า หรือแมรี่ มอร์สแตน (Kelly Reilly) คู่หมั้นของหมอวัตสัน
รอบแรกที่ผมดูก็ตะหงิดๆ ไม่น้อย กับการที่โฮล์มส์อนุมานเรื่องราวชีวิตของมอร์สแตนซะออกทะเลไปโน่น จนเรียกว่าผิดวิสัยของโฮล์มส์ เพราะเขาถือว่าเป็นเซียนแห่งการอนุมาน ไม่น่าจะพลาดได้… แต่พอดูๆ ไปก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่น่าสนใจ… โฮล์มส์ก็โดนดีดไวโอลินเหมือนกันแฮะ!
โฮล์มส์ที่เรารู้จักนั้นจะมีสมอง มีพลังในการคาดคะเนอนุมานที่ดีเยี่ยมครับ ทำงานไม่มีพลาด เพราะเขามีสติและสกัดอารมณ์ออกจากเหตุผล แต่ถ้าปล่อยให้โฮล์มส์เทพแบบนั้นหนังคงไม่ต้องลุ้นอะไรกันพอดี ทีมงานเลยฉลาดที่จัดแจงให้โฮล์มส์มีปม… ก็แม่สาวไอรีน แอดเลอร์ไงล่ะครับ
คอนิยายน่าจะจำเธอคนนี้ได้ดี เพราะเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ทำให้โฮล์มส์หัวปั่นได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่ค่อยมีคนจับประเด็นของเธอมาต่อยอดสักเท่าไร จนกระทั่งเวอร์ชั่นนี้นี่แหละครับ ที่ไอรีน แอดเลอร์มีบทประกบกับโฮล์มส์แบบเต็มๆ
การที่เธอทำให้โฮล์มส์ว่อกแว่กนี่แหละ น่าจะมีอะไรให้เล่นอีกเยอะในภายหน้า โดยเฉพาะเจ้าตัวร้ายในภาคต่อไป ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ ก็จะเห็นครับว่าแกเดินเกมล่วงหน้า ดีดไวโอลินใส่โฮล์มส์ปูพื้นตั้งแต่ภาคนี้แล้วล่ะ
เป็นเรี่องเล็กๆ ที่น่าติดตามตอนต่อไปอยู่เหมือนกัน
ก็ขึ้นกับเราล่ะครับว่าจะทำใจปรับ รับกับโฮล์มส์เวอร์ชั่นมีเลือดมีเนื้อ มีอารมณ์ขันพอๆ กับวิทยายุทธกันได้หรือไม่ ถ้าได้หนังก็รสชาติอร่อยพอดี
แต่ถ้ารักโฮล์มส์ของเก่าแก่ ก็ว่าไปตามเรื่องครับ ทว่าอย่างน้อย ของใหม่ก็ไม่ได้ทำให้ของเก่าต้องเสื่อมเสียแต่อย่างใด…
หนังโดนใจหลายจุด แม้จะเล็กน้อย แต่พอรวมกันแล้ว ก็กลายเป็นชอบ
เลยสามดาวด้วยประการละฉะนี้
(8/10)