“การอ่านนั้นเปี่ยมคุณค่า… แต่บางครั้งการอ่านก็สร้างข้อจำกัดให้กับชีวิต แบบที่เราเอง อาจคาดไม่ถึง”
นี่คืออีกหนึ่งหนังที่ผมชอบมากครับ เพราะตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวังอะไรและแทบไม่รู้อะไรเลย นอกจากรู้ว่า Josh Radnor (ซีรี่ส์ How I Met Your Mother) กับ Elizabeth Olsen แสดงร่วมกัน แต่พอดูจบเท่านั้นล่ะโดนเลย
เจสส์ (Josh Radnor) ชายหนุ่มอายุ 30 ที่กำลังสับสนในชีวิตกลับไปร่วมงานเกษียณอายุของอาจารย์เก่า แล้วเขาก็ได้พบกับซิบบี้ (Elizabeth Olsen) สาวน้อยสดใสฉลาดเฉลียวที่สามารถคุยแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ กับเขาได้จนเขาทึ่งน่ะครับ (เพราะเธออ่อนกว่าเขา 16 ปี)
เขาและเธอรู้สึกดีต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่ความสัมพันธ์นี้จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่ ก็ต้องหาคำตอบต่อในหนังนะครับ ^_^
พอผมดูหนังเรื่องนี้จบ ผมบอกตัวเองเลยครับว่าชอบมาก ผมเลยรีบเข้าเน็ท Search ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ทันที และสิ่งแรกที่ผมเจอคือ มีคนเคยโพสต์กระทู้ใน Pantip แสดงความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้ว่านี่คือหนังที่ห่วยสุดที่เคยดู (555)
คือผมชอบน่ะครับ ชอบทั้งหนังและชอบทั้งการที่ผม Search ไปเจอกระทู้นี้ คือมันทำให้เราได้อ่านความคิดของคนอื่น ได้รู้และเข้าใจว่าเขาไม่ชอบสิ่งไหน ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นไปอีก (ทั้งเรียนรู้ในเชิงชีวิตและเรียนรู้เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้)
และด้วยเหตุนั้น ผมจึงบอกตรงนี้เลยครับว่า อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบหนังเรื่องนี้ ดังนั้นขอให้แม้ผมจะเขียนชื่นชมและชื่นชอบหนังเรื่องนี้ขนาดไหน ขอได้โปรดอย่าด่วนเชื่อนะครับ หากอยากรู้ว่าเราจะชอบหนังเรื่องนี้จริงไหม ลองหามาดูย่อมดีที่สุดครับ
สำหรับผมนั้น ผมชอบหลายอย่าง อย่างแรกภาพครับ สวยดี หนังยุคใหม่ก็แบบนี้แหละครับ กล้องดีขึ้น ภาพเลยสวยงามคมชัด ยิ่งภาพวิวทิวทัศน์ต้นไม้ใบหญ้ายิ่งสวยไปใหญ่ ซึ่งหนังก็ถ่ายทอดภาพสวยๆ พวกนี้ได้เข้ากับอารมณ์ของหนังดีครับ
ต่อมาคือผมชอบเรื่องราวครับ เรื่องของชายหนุ่มที่เป็นคนมีหลักการนะ รู้เยอะ แต่กลับไม่ค่อยมีความสุขในชีวิตเท่าไร และพอเขาได้เจอกับซิบบี้มันก็เหมือนอะไรๆ สื่อถึงกันน่ะครับ เขาคุยได้ทุกเรื่อง เขารู้สึกดีและไม่โดดเดี่ยว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็ย่อมต้องมีปมหรือประเด็นที่ทดสอบความสัมพันธ์ของพวกเขา ว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะไปกันได้จริงหรือไม่
และประเด็นที่ว่านี่ก็ชวนให้คนดูอย่างเราๆ คิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรองเกี่ยวกับตัวเราได้ไม่น้อยทีเดียว
ผมว่าคนที่จะโดนใจหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นนักอ่านครับ เพราะประเด็นคอนเซปต์ของเรามันเป็นการตั้งคำถามจุดประเด็นให้เราคิดได้อย่างดีเลย
(เอาล่ะครับ สปอยล์ สปอยล์ สปอยล์ พี่น้องท่านใดไม่อยากทราบ หยุดอ่านบัดเดี๋ยวนี้ครับ ไปหาหนังดูก่อนแล้วค่อยว่ากัน ^_^)
คอนเซปต์ใหญ่อย่างหนึ่งของเรื่องนี้ คือมันเหมือนทำให้คนอ่านหนังสือได้ทบทวนอะไรบางอย่างน่ะครับ
นักอ่านหลายคนหรือคนที่เรียนสูงๆ รู้ (ในตำราหริอวิชาการ) เยอะๆ อาจเคยมีห้วงอารมณ์หงุดหงิดโลก วิพากษ์สิ่งต่างๆ หรือไม่ก็ดูถูกหนังสือ หนัง หรือผลงานศิลปะบางอันว่าห่วย (โดยเฉพาะงานตลาดๆ) โดยเรามีธงมีหลักการชัดเจนในใจ พร้อมจะสนับสนุนเหตุผลที่เราไม่ชอบสิ่งนั้นๆ
แต่บางครั้งพฤติกรรมแบบนี้ก็ทำให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิตน้อยลง
เรารู้เยอะ แต่เราเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นมากน้อยแค่ไหน?
ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ใยเราถึงหงุดหงิดมากกว่าจะปล่อยวาง? มากกว่าจะบอกกับตัวเองว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”?
เรารู้เยอะ แต่เรากำลังถูกความรู้เหล่านั้นคุมขังจำกัดอะไรบางอย่างในตัวเราหรือไม่?
ผมเป็นคนชอบอ่านครับ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในบางวาระเราถูกชุดความคิดบางอย่าง (ที่ได้จากการอ่าน, ประโยคเท่ห์ๆ หรือคำพูดคมๆ) ครอบงำโดยไม่รู้ตัว
อย่างตัวเอกในเรื่องที่เป็นคนรู้เยอะ มีความคิดที่น่าสนใจ แต่ในบางครั้งเขาก็โดนกรอบความคิด, สิ่งที่เขาเชื่อว่ามันถูกต้องเหมาะควร หรือไม่ก็รสนิยม+ค่านิยมที่เขาสั่งสมมา บงการให้ทำหรือไม่ทำอะไร
อันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับซิบบี้เริ่มห่างกันมากขึ้น ในแง่หนึ่งมันอาจมีเรื่องวัยมาเกี่ยว แต่จุดสำคัญเลยก็คือ เขามีกรอบบางอย่าง มีชุดความคิดที่ทำให้รู้สึกว่า เขาและเธอคงไปกันไม่รอด และนั่นก็คือจุดที่ทำให้เขาทบทวนความสัมพันธ์นี้อีกครั้ง
ท่ามกลางความสับสน เขาก็ได้รับการสอน (จริงๆ ออกแนวบ่นมากกว่า) จากอาจารย์อีกคนที่บอกว่า “คนเรา มักทำให้ผิดหวังเสมอ” หมายถึงมันไม่มีอะไรสมหวังเราไปหมดหรอก โดยเฉพาะคนด้วยกันนี่ยิ่งกะเกณฑ์หมายมั่นอะไรแบบแน่นอนไม่ได้เลย
อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าถ้าเจสส์ไม่ได้มีกรอบความคิดแบบนั้น เรื่องราวจะไหลไปทางไหนต่อ? แต่ก็นั่นล่ะครับ สุดท้ายเจสส์กับซิบบี้ก็จบความสัมพันธ์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
และเจสส์ก็ได้พบเจอกับพนักงานร้านหนังสือที่เขาเจอตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งพนักงานคนนี้ได้พูดประโยคที่ผมชอบมากๆ ว่า “ทุกวันนี้ฉันเริ่มอ่านน้อยลง เพราะทุกนาทีที่ฉันอ่านชีวิตในหนังสือ มันทำให้ฉันใช้ชีวิตจริงๆ ได้น้อยลง”
อ่านแล้วชวนคิดนะครับ มันชวนให้นักอ่านใครครวญวิถีชีวิตของเรา แน่นอนครับว่าการอ่านหนังสือมันมีประโยชน์นั่นแหละ ได้ความรู้ เพิ่มรอยหยักในสมอง ฯลฯ แต่เราก็ยังมีชีวิตจริงๆ ให้ใช้ มีสังคมจริงๆ ให้เจอ และมีคนรอบตัวจริงๆ ให้สัมผัส ซึ่งมันคงดีหากเราสามารถได้รับประสบการณ์ทั้งจากหนังสือและจากชีวิตจริง
เขียนแบบนี้คนที่ไม่อ่านหนังสือก็อาจจะบอกว่า “อ้า งั้นไม่อ่านดีกว่า” ซึ่งผมก็ไม่อยากให้ด่วนคิดแบบนั้นครับ ลองอ่านบ้างก็ได้ เผื่อการอ่านจะนำพาเราไปเจอกับอะไรบางอย่างที่ชีวิตจริงไม่สามารถให้ได้
มันคือการจัดสรรสมดุลในชีวิตอย่างหนึ่งครับ การสุดโต่งอยู่กับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ก็อาจทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างเสียสมดุลได้
ว่าง่ายๆ คือคนที่อ่านมากเกินจนโลกในหัวคือชุดความคิดจากหนังสือล้วนๆ หรือคนที่ใช้ชีวิตล้วนๆ ไม่เคยเติมอาหารสมองเข้าหัวเลย ก็อาจต้องมีการริเริ่มทำอะไรอีกอย่าง เพื่อเติมชีวิตให้เต็มยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้เราเดินบนเส้นทางสายชีวิตได้ดีขึ้น หรือถ้าจะเดินเซก็เซน้อยลง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ผมชอบประเด็นหนังสือ Twilight นะครับ คือเจสส์น่ะค่อนข้างเหยียดหนังสือชุดนี้ มองประมาณว่าเป็นขยะวรรณกรรม (ซึ่งหลายคนก็มองแบบนั้น) แต่หนังก็ทำให้เรามองในอีกมุมครับ ว่าหนังสือแต่ละเล่ม มันมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป
หนังสือที่ไม่ได้มีสาระปรัชญาขั้นสูง หรือไม่ได้มีคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์มากมาย ไม่ได้จำเป็นว่ามันจะต้องไร้ค่าและทำประโยชน์อะไรกับใครไม่ได้
ในทางกลับกัน หนังสือดีบางเล่มที่โลกยกย่อง แม้จะมีแง่คิดที่ยอดเยี่ยม แต่ก็อาจสามารถทำให้คนอ่านมีความสุขน้อยลง พึงพอใจกับชีวิตน้อยลง หรืออยากมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้น้อยลงเหมือนกัน
อย่างหนังสือที่ดีน (ตัวละครที่เจสส์ไปเจอนั่งหลับในร้านกาแฟ) อ่านก็คือ Infinite Jest ของ เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ (ที่ลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย) ที่แม้จะเป็นหนังสือดีมากมายอย่างไรก็ตาม แต่มันกลับทำให้ดีนรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงามากขึ้น และทำให้เขาเบื่อโลก จนอยากตายเสียให้รู้แล้วรู้รอด
ในฉากตอนท้าย หลังจากเจสส์ได้เรียนรู้อะไรมากมาย และดีนคิดฆ่าตัวตาย เขาเลยบอกกับดีนให้อ่านหนังสืออย่างอื่นบ้าง
“อย่าเป็นอัจฉริยะที่ตายเร็ว” นั่นคือประโยคที่เจสส์พูดกับดีน
และผมก็อยากให้ประโยคนี้ไปถึงคนอีกมากมายที่อาจเป็นเหมือนดีนครับ… อ่านหนังสือบันเทิงเริงใจบ้าง อ่านที่มันปรัชญาหรือสาระน้อยๆ บ้าง
จริงๆ มนุษย์เรานิยามขึ้นทั้งนั้นล่ะครับ ทั้งคำว่า “สาระ” และ “ไร้สาระ” (จริงๆ ก็นิยามเองหมดทุกคำนั่นแหละ) แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสาระแท้จริงมันมีนิยามตรงเป๊ะกับ “สาระ” ที่เรานิยามไหม
หรือเรื่องที่เราว่าไร้สาระมันอาจไม่ได้ไร้สาระเสียทีเดียว เพราะบางครั้งเรื่องไร้สาระก็อาจช่วยชีวิตใครบางคนได้อย่างคาดไม่ถึง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ครับ ผมชอบหนังเรื่องนี้มากมายเลย ดาราเล่นกันดีครับ Radnor จริงๆ ก็เล่นคล้ายบทเท็ดในซีรี่ส์นั่นแหละ แต่กระนั้นเขาก็แสดงได้ดีครับ ส่วน Olsen ก็น่ารักและฉายเสน่ห์แบบสุดๆ ผมชอบฉากที่เธอขอให้เจสส์กอดน่ะครับ แววตาเธอช่างมุ่งมั่น อิ่มเอม และรู้สึกว่าการกอดระหว่างเธอกับเจสส์คือการตัดสินใจที่จะเติมเต็มอะไรบางอย่างให้กับเธอได้ (ณ ขณะนั้น)
Zac Efron มาแจมในบทนักศึกษาจอมปาร์ตี้ที่มีแง่คิดเจ๋งๆ หลายอย่าง (ถือเป็นบทที่น่าจดจำมากๆ ของเขา) และ Richard Jenkins รับบทอาจารย์ของเจสส์ที่กำลังเกษียณ
และคนที่กำกับหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครครับ เขาคือ Radnor เองนั่นแหละ ถือเป็นผลงานที่ไม่เลวเลยทีเดียว ^_^
สองดาวครึ่งบวกๆ ครับ
(7.5/10)