ในงานแจกรางวัลออสการ์ประจำปี 1952 มีหนัง 5 เรื่องที่ผ่านเข้าไปชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ Moulin Rouge (ไม่เกี่ยวข้องกับหนังปี 2001 ของ Baz Luhrmann นะครับ), Ivanhoe, The Quiet Man, High Noon และ The Greatest Show on Earth ซึ่งผลที่สุดแล้ว เรื่องหลังก็คว้าออสการ์ไปได้
สมัยก่อนจะทราบกันดีครับว่ารางวัลออสการ์ทำขึ้นเพื่อเป็นรางวัลแด่คนทำหนัง ใครทำหนังอลังมาก ยิ่งใหญ่มาก ก็มักมีภาษีได้รางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง ซึ่ง The Greatest Show on Earth ก็เข้าอีหรอบนั้นทุกประการครับ (นอกจากนี้ยังมีเสียงร่ำลือว่าที่หนังได้ออสการ์ไป ก็เพราะผู้จัดงานอยากเอาใจท่านวุฒิฯ Joseph McCarthy ที่สนิทสนมกับ Cecil B. DeMille ผู้สร้างหนังเรื่องนั้นเป็นพิเศษ ว่ากันว่า DeMille เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินคนสำคัญของ McCarthy ด้วย… ออสการ์ยังมีการเมืองเลยนะครับ 555)
แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงแว่วๆ ค้านมาว่าถ้าเทียบกับถึงคุณภาพแล้ว High Noon ถือว่ามีมากกว่าอย่างมากทีเดียว
ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น ว่า High Noon คู่ควรกับรางวัลมากกว่า ซึ่งหลังจากได้รับชมแล้ว ผมเองก็พอจะเข้าใจครับ ว่าทำไมคนถึงชื่นชมขนาดนั้น
High Noon เปิดเรื่องขึ้น โดยฉายให้เราเห็นชาย 3 คนอันประกอบด้วย เบน มิลเลอร์ (Sheb Wooley), แจ็ค โคลบี้ (Lee Van Cleef) และ จิม เพียร์ซ (Robert J. Wilke) กำลังเดินท่อมๆ ไปรอใครบางคนที่สถานีรถไฟ
ฉากถัดมาเราก็จะได้เห็นพิธีวิวาห์เล็กๆ ของนายอำเภอวิลล์ เคน (Gary Cooper) กับเอมี่ ฟาวเลอร์ (Grace Kelly) ก่อนที่หนังจะเล่าให้เราทราบว่าหลังพิธีเสร็จ วิลล์ก็จะสละตำแหน่งนายอำเภอ ผันตัวเองไปเป็นพ่อค้าอยู่กับภรรยาสุดที่รัก โดยจะใช้ชีวิตห่างไกลเสียงปืนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ยังไม่ทันที่เขาจะได้ก้าวเท้าออกจากอาคาร ก็มีคนส่งโทรเลขมาบอกว่า แฟรงค์ มิลเลอร์ (Ian MacDonald) จอมอาชญากรที่วิลล์เคยจับตัวส่งขึ้นศาล ตอนนี้มันหลุดรอดเงื้อมมือกฎหมายมาได้และกำลังจับรถไฟเดินทางมาสมทบกับพวกอีก 3 คนที่เมืองนี้ เพื่อปิดบัญชีแค้นที่วิลล์เคยทำกับเขาเอาไว้ ซึ่งรถไฟขบวนนั้นจะมาถึงราวๆ เที่ยงวัน
เมื่อทราบดังนั้นชาวเมืองจึงขอให้วิลล์กับภรรยารีบหนีไป จะได้ไม่ต้องมาโดนพวกอันธพาลไล่ยิง แต่ทีนี้ระหว่างทางวิลล์ก็เปลี่ยนใจครับ เขาคิดว่ามันไม่ถูกต้องที่จะปล่อยให้ชาวเมืองต้องเผชิญกับเหล่าร้าย อีกทั้งยามนี้หากไม่มีเขาอยู่แล้ว ที่นั่นก็จะปราศจากนายอำเภอแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นวิลล์เลยเลี้ยวรถม้ากลับเข้าเมือง
กว่าวิลล์จะเข้าเมืองได้เวลาก็ปาเข้าไป 11 โมง อีกแค่ชั่วโมงเดียวพวกของแฟรงค์ก็จะบุกเข้าเมืองมา วิลล์จึงต้องรีบแข่งกับเวลารวบรวมอาสาสมัครมารับมือกับเหล่าร้ายให้ทัน
แล้วทีเด็ดก็อยู่ตรงนี้ล่ะครับ เพราะปรากฎว่าไม่มีใครในเมืองที่ยอมร่วมมือกับวิลล์เลยสักคน ทุกคนพยายามบ่ายเบี่ยง อ้างโน่นอ้างนี่ ทั้งผู้พิพากษา เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ภรรยาของเขาเองก็ยังยืนกรานว่าเธอจะไปจากเมืองก่อนพวกของแฟรงค์จะบุกมา
แล้วดวงอาทิตย์ก็คล้อยสูงขึ้นทุกขณะครับ จากชั่วโมงเป็นนาที จากนาทีก็เหลือแค่ไม่กี่วินาที… หรือว่าวิลล์จะต้องลุยเดี่ยว ปะทะกับ 4 วายร้ายเพียงคนเดียวกัน? จะไม่มีใครยื่นมือช่วยเขาจริงๆ หรือ?
เรื่องนี้ออก DVD ในบ้านเราด้วยนะครับ น่าจะประมาณ 2 – 3 ปีก่อน ตอนเห็นผมก็กรี๊ดอยู่เหมือนกัน แหม ใครจะนึกครับว่าจะมีแผ่นหนังคลาสสิกแบบนี้ออกมา ซึ่งถ้าใครเห็นที่ไหนก็คว้าได้เลยครับ เพราะนี่คือหนังระดับตำนานที่ไม่ควรพลาด ขอเพียงคุณเป็นคอหนังคุณภาพ ไม่ว่าคุณจะชอบหนังคาวบอยหรือไม่ ผมก็เชื่อว่าคุณค่าของหนังจะทำให้คุณรู้สึก “ฟิน” กับมันได้อยู่ดี
ผมออกจะเห็นด้วยกับคนอีกมากมายครับ ที่ว่าหนังเรื่องนี้มีคุณภาพ มีความเข้มข้นในระดับที่มากอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็พอจะเข้าใจว่าทำไมหนังถึงไม่ได้รับออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
นั่นก็เพราะเนื้อในและประเด็นที่หนังเล่นนั้น เราอาจมองได้ว่าเป็นการวิพากษ์อเมริกันแบบเจ็บแสบไม่ใช่เล่นทีเดียว
ตามปกติยามเราดูหนังคาวบอย เรามักจะได้เห็นภาพคาวบอยมะกันเป็นดั่งคนกล้า พร้อมต่อสู้ดวลยิงกับใครก็ตามที่มาหยามศักดิ์ศรี ซึ่งหนังสไตล์นี้ก็เหมือนจะเป็นอะไรที่ “โปร” อเมริกาอยู่ในที ประมาณว่าเป็นการประกาศศักดาว่าคนมะกันรุ่นบุกเบิกนั้นมีดี มีไฟ มีใจกล้าทรนง
แต่ใน High Noon ท่านจะได้เห็นอะไรที่ตรงข้ามเลยครับ เพราะนอกจากพระเอกอย่างวิลล์ เคนที่กล้าสู้แล้ว เราจะเห็นชาวเมืองเกือบทุกคนต่างพากันหลบ เลี่ยง ลี้ หนี ไม่มีใครกล้าออกหน้ารวมต้านภัยร่วมกับนายอำเภอเลย
เป็นที่โจษขาน (แกมกระซิบ) ว่าที่หนังเรื่องนี้ไม่เข้าวินออสการ์หนังยอดเยี่ยม ก็เพราะมันไม่เข้าตาคนดูหัวเก่า (หรืออนุรักษ์นิยม) ที่ไม่ถูกใจเท่าไร ยามเห็นคนมะกันยุคเก่า แสดงอาการใจเสาะขลาดเขลาเช่นนี้
แต่ถ้าเราไม่มองเรื่องรางวัลหรืออะไร แล้วเจาะที่คุณค่าของหนังแบบเพียวๆ จะพบว่า High Noon มีดีหลายแง่ด้วยกันครับ
คุณค่าอย่างแรก ถ้าดูในฐานะให้ความบันเทิง High Noon ถือเป็นหนังแอ็กชันตะวันตกที่น่าติดตามอย่างมากครับ ตลอดเรื่องเราก็จะลุ้นว่าที่สุดแล้วจะมีใครมาช่วยวิลล์ไหม และถ้าไม่มีใครช่วยล่ะ เขาจะรีบมือกับฝ่ายวายร้ายที่มากันถึง 4 คนได้อย่างไร? แล้วเขาจะรอดไหม? เนี่ยครับ แค่ดูไป ถามไป มันก็ลุ้นไปได้เรื่อยๆ และหนังก็ยาวเพียง 85 นาทีนะครับ การเดินเรื่องจึงกระชับมากๆ เล่าแต่เนื้อๆ ไม่มีช่วงเยิ่นเย้อมาชวนให้เราหาวเลย
คุณค่าอย่างที่สองคือดูในด้านเทคนิคการเล่าเรื่อง High Noon ถือว่ามาพร้อมความสดครับ เพราะหนังเล่าโดยอิงกับเวลาจริงๆ ทุกนาทีที่เดินไปคือนาทีจริงๆ ที่วิลล์กำลังหมดไปทุกขณะ หนังเหมือนพาเราเดินรอบเมืองไปพร้อมวิลล์ ไปสัมผัสความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าที่เกิดขึ้นกับเขา และยิ่งเวลาผ่านไป ความหวังก็เริ่มลดน้อยลง คนดูเองก็พลอยกดดันตาม ว่าเมื่อถึงเที่ยงวันแล้ว เราจะต้องเห็นชายผู้องอาจและไม่ยอมแพ้ผู้นี้ โดนอันธพาล 4 คน รุมสังหารเช่นนั้นหรือ?
คุณค่าอย่างที่สามคือแก่นสารสาระที่หนังสื่อความออกมา ซึ่งส่วนมากจะมองว่าหนังวิพากษ์อเมริกัน แต่ผมนั้นมองว่าหากจ้องให้ลึกไปถึงเนื้อใน จะพบว่าสิ่งที่หนังวิพากษ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แผ่นดินลุงแซม แต่มันสะท้อนถึงสังคม สะท้อนถึงมนุษย์ในทุกชาติทุกภาษา เรียกว่าถ้าใครเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน หนังก็พร้อมจะสื่อความบางอย่างให้รับรู้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีภัยใหญ่หลวงเดินทางมาถึงเมือง และเมื่อวิลล์ทราบเรื่อง เขาก็พร้อมจะกลับมาทำหน้าที่ปกป้องเมืองที่เขาดูแลมานาน แต่แล้วทุกคนกลับเลือกหนทางของตน ซึ่งโดยมากก็จะ “ชิ่งหนี” โดยมีเหตุผลต่างๆ นานาที่สนับสนุนพฤติกรรมการชิ่งนั้น
อาทิเช่น ผู้พิพากษาเพอร์ซี่ย์ เมททริค (Otto Kruger) แม้จะมีส่วนตัดสินคดีของแฟรงค์ มิลเลอร์ แต่เมื่อเขาพบว่าอันตรายกำลังมา เขาเลือกที่จะหนีออกนอกเมือง จนวิลล์เองพูดขึ้นว่า “คุณเป็นผู้พิพากษามานานแล้วนะครับ” ในความหมายของวิลล์นั้น คือต้องการกระตุ้นเตือนให้ผู้พิพากษาตระหนักว่าตนคือผู้รักษากฎหมายและความสงบของบ้านเมือง ดังนั้นก็ควรทำหน้าที่และไม่ควรกลัวต่ออิทธิพลมืดใดๆ
แต่แล้วผู้พิพากษากลับตอบว่า “ใช่ ผมเป็นมานาน… และผมยังอยากเป็นต่อไปอีกนานด้วย” ในจุดนี้เขาไม่สนว่า “ตนมีบทบาท หน้าที่ หรือความรับผิดชอบอะไร” แต่เขาสนเพียง “ฉันมีหัวโขนนี้ และฉันยังอยากมีชีวิตอยู่เพื่อสวมหัวโขนนี้ต่อไป”
ประโยคต่อมาของเพอร์ซี่ย์ยิ่งชัดครับ เขาบอกทิ้งท้ายว่า “ที่นี่มันเมืองไกลปืนเที่ยง วิลล์ ไม่มีใครสนใจหรอก นายน่ะรีบไปเถอะ” ก่อนจะตะบึงออกจากเมืองไปโดยไม่หันหลังกลับมามอง
สิ่งที่ผู้พิพากษาเพอร์ซี่ย์แสดง สะท้อนถึงลักษณะของข้าราชการหรือผู้มีอำนาจประเภทที่จับจ้องใส่ใจในยศศักดิ์ ใส่ใจในประโยชน์ที่ตนเองครอบครอง เรียกว่าตัวเองมาก่อน ประชาชนมาทีหลัง ถือหลักรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี คิดว่าไม่ได้เป็นผู้พิพากษาเมืองนี้ก็ไม่เป็นไร ยังมีเมืองอีกเยอะให้ตนย้ายไปประจำการ
สารภาพว่าการตัดสินใจของผู้พิพากษาเพอร์ซี่ย์ทำให้ผมขนลุกเล็กๆ ราวกับดูหนังสยองขวัญ เพราะแม้จะเคยได้ยินเรื่องพวกนี้มามากต่อมา แต่ระหว่างดูฉากนี้ก็นึกขึ้นมาได้ว่า “มันน่ากลัวนะ เมื่อใดก็ตามที่ข้าราชการผู้ดูแลประชาชน อ้างเหตุผลที่จะเลิกดูแลประชาชน”
ตรงข้ามกับวิลล์ ที่ยอมย้อนกลับเข้าเมืองเพื่อ “ทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และหน้าที่นั้นก็คือ ทำเพื่อชาวเมืองที่เขาดูแลเสมอมา”
อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจก็คือ ผู้ช่วยนายอำเภอฮาร์วี่ย์ เพล (Lloyd Bridges) ที่รับปากจะช่วยวิลล์สู้กับผู้ร้าย ขอเพียงวิลล์สัญญาว่าจะมอบตำแหน่งนายอำเภอให้…
นายฮาร์วี่ย์คนนี้ก็เช่นกันครับ เข้าอีหรอบ “งบมา งานเดิน ผลประโยชน์มาเมื่อไร พร้อมรับใช้ทันที” ซึ่งแน่นอนครับว่าวิลล์ปฏิเสธ
แต่ฮาร์วี่ย์ก็ยังถามอีกว่าเพราะอะไร วิลก็ตอบไปเพียงว่า “ถ้าเรื่องนี้ยังดูไม่ออก นายก็ยังไม่พร้อมจะเป็นนายอำเภอหรอก”
ตำแหน่งนายอำเภอ สำหรับวิลล์แล้วถือเป็นโอกาสที่มีไว้ให้ใครสักคนทำหน้าที่ดูแลประชาชน ทำเพื่อประชาชน สร้างประโยชน์สุขให้ประชาชน ไม่ใช่ทำเพื่อตนเอง ดังนั้นถ้าวิลล์มอบตำแหน่งให้คนแบบฮาร์วี่ย์ไป นั่นก็เท่ากับเขาโยนอนาคตของชาวเมือง ลงสู่เหวลึกด้วยมือของเขาเอง
แต่แทนที่ฮาร์วี่ย์จะเข้าใจเหตุผล เขาดันพาลไปว่าที่วิลล์ไม่ให้ตำแหน่ง ก็เพราะวิลล์แค้นที่เขาคบหาอยู่กับเฮเลน รามิเรซ (Katy Jurado) อดีตคนรักของวิลล์ พอได้ยินดังนี้วิลล์ก็ถอนหายใจเลยครับ เพราะยิ่งเวลาผ่านไป เขายิ่งตระหนักว่าชายคนนี้มีแต่คิดเรื่องของตัวเอง มองอะไรก็เอาแต่ตัวเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
อันที่จริงการจะทำอะไรเพื่อตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องผิดครับ แต่หากเราตั้งหน้าตั้งตาโกยโดยไม่สนบทบาทหน้าที่ นั่นย่อมก่อความเสียหาย และเท่ากับเราไม่ซื่อสัตย์ต่อชาวบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเขาก็คือผู้เสียภาษีมาเป็นเงินเดือนให้กับพวกเรานั่นเอง
วิลล์ไม่ต้องการเพิ่มนายอำเภอ “พรรค์นี้” ให้กับสังคมอีก
แล้วเราก็จะได้เห็นวิธีหนีปัญหาอีกหลายแบบครับ เช่นวิลล์ไปหาเพื่อนคนหนึ่ง แล้วเพื่อนคนนั้นก็หลบไป พร้อมให้ภรรยามาบอกวิลล์ที่ประตูว่าเขาไม่อยู่บ้าน หรือบางคนก็ดูทิศทางลม พอเห็นแกวว่าวิลล์น่าจะรอดยาก และพวกมิลเลอร์ซึ่งมีมากกว่า อีกทั้งกำลังจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งในเมืองนี้ คนพวกนั้นเลยรีบหันไปเลียน้องของมิลเลอร์แบบสุดชีวิตแทน
พฤติกรรมทำนองนี้เหมือนจะเข้ากับคำว่า “นกย่อมเลือกไม้ใหญ่ทำรัง” แต่หากเราคิดให้ดีๆ แล้ว แม้นกจะมันเลือกไม้ใหญ่มาทำรัง แต่นกก็ไม่เคยเลือกไม้โกงๆ หรือไม้ใหญ่แต่ไร้ค่ามาทำรัง เพราะมันรู้ว่าไม้แบบนั้นใช้ทำรังถาวรไม่ได้หรอก เพราะข้างในมันจะเป็นโพรงอยู่ๆ ไปดีไม่ดีจะพาพวกนกไปตายยกรังกันสักวัน เนื่องจากกิ่งมันโค่นลงมาทั้งหมด
แต่ที่ออกจะหนักและเจ็บที่สุดสำหรับวิลล์ คือตอนที่เขาเดินเข้าโบสถ์ไปขอความช่วยเหลือ ปรากฏว่าคนในโบสถ์พากันถอยหนี ปัดความรับผิดชอบทุกกรณี อ้างว่านั่นไม่ใช่เรื่องของพวกเขา และยังกล่าวปิดท้ายว่า “ถึงที่สุดแล้ววิลล์กับพวกมิลเลอร์ก็ต้องฆ่ากัน แต่เมืองเราไม่ควรมีการฆ่ากันตาย เพราะนั่นจะทำให้นักลงทุนพากันหนีไป และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นฟูความมั่นใจคืนมาได้ใหม่ ดังนั้นวิลล์ไม่ควรกลับมาที่นี่ในวันนี้เลย เขาควรออกจากเมืองไป พวกมิลเลอร์ก็จะได้ไม่ก่อเรื่อง” ว่าเข้าไปนั่น
จุดนี้หากมองเผินๆ แบบที่ชาวบ้านมอง ก็จะเป็นว่าผู้ร้ายกลุ่มหนึ่งมาเพื่อล้างแค้นนายอำเภอ จึงมีคนมองแบบเหมาๆ ว่ามันเป็นเรื่องของนายอำเภอ ก็นายอำเภอไปทำมันไว้นี่ มันเลยกลับมาเอาคืน ส่วนชาวบ้านอย่างเราไปเกี่ยวอะไรด้วยเล่า แต่ชาวบ้านก็เหมือนจะลืมไปนะครับว่าที่นายอำเภอน่ะไปมีเรื่องกับมัน ก็เพื่อรักษาความสงบให้บ้านเมือง ทำงานให้พวกชาวบ้านนั่นแหละ และถ้าวิลล์ไม่จัดการปราบมัน ทุกวันนี้เมืองจะน่าอยู่อย่างที่เป็นหรือไม่ก็ยังไม่รู้
ส่วนในมุมเศรษฐกิจนั้น จริงๆ ต่อให้วิลล์หนีไปไม่ทำอะไร แล้วเรื่องก็ใช่ว่าจะจบครับ เพราะถ้ามิลเลอร์กลับมาจริงๆ เขาก็จะมาคุมทุกอย่างในเมือง ทำให้เมืองไร้ความสงบ ทุกคนตกอยู่ในความกลัวอีกครั้ง… แล้วเมืองแบบนั้นเศรษฐกิจมันจะดีขึ้นได้จริงๆ หรือ?
ถ้าเราจ้องมองผ่านทะลุ “การชิ่งหนีปัญหา” ในแบบต่างๆ ของชาวเมือง และมองไปถึงเหตุผลแต่ละข้อที่พวกเขายกขึ้นมาสนับสนุนการชิ่งหนีนั้น จะพบว่ามันคือการหนีปัญหาแบบพร้อมใจ จุดนี้ชวนให้นึกถึงกรณีในหนังชุด Harry Potter ตอนลอร์ด โวลเดอร์มอร์กลับมาแล้วทุกคนพยายามทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น พยายามหลอกตัวเองทุกวิถีทางว่า “ลอร์ดมืดยังไม่กลับมาหรอก” แต่ไม่ว่าจะใช้เหตุผลอะไรก็ตาม มันก็ยังคงเป็นการหลอกตัวเอง และยังเป็นการลวงเราให้หลงทาง อีกทั้งยังทำให้เราเสียเวลา แทนที่จะรีบแก้ปัญหาให้เสร็จๆ ไป
และหากลองพิจารณาดีๆ เราอาจพบว่าพฤติกรรมการชิ่งทั้งหลายนี้มีสาเหตุเกิดขึ้นมา ก็เพราะ… วิลล์นั่นเอง
ครับ วิลล์ไม่ได้เจตนาที่จะให้มันเป็นแบบนั้น แต่มันเป็นเพราะวิลล์ทำหน้าที่ดีมากๆ อย่างที่หญิงชาวบ้านคนหนึ่งพูดว่าเพราะวิลล์นี่แหละที่ช่วยทำให้เมืองๆ นี้สงบสุข ถ้าเป็นสมัยก่อนผู้หญิงในเมืองน่ะไม่กล้าไปไหนมาไหนเหมือนตอนนี้หรอก แต่ทุกวันนี้ทุกแห่งหนในเมืองปลอดภัยก็เพราะนายอำเภอวิลล์
เพราะเมืองสงบเกินไป ทุกอย่างดีเกินไป จนคนในเมืองส่วนใหญ่หลงระเริง ไปกับ Comfort Zone รู้สึกสบายจนเกินไป ขี้เกียจจนเกินไป เพราะในมุมหนึ่ง ปัญหาคือตัวกระตุ้นให้คนขยันได้ ถ้ามีปัญหาน้อยไป คนก็ไม่มีความจำเป็นต้องขยันให้มากมาย เช่นเดียวกับอันตราย ความไม่มั่นคง ฯลฯ อะไรเหล่านี้่จะปลุกพลังแห่งความกระตือรือร้นขึ้นมาได้อย่างดี
ดังนั้นในมุมที่ว่าหนังกัดอเมริกานั้นก็อาจไม่เชิงซะทีเดียวครับ แต่หนังออกแนวว่าจะกระตุ้นเตือนให้คนอเมริกันอย่าหลงระเริงไปกับความสบาย ความทันสมัย หรือความล้ำที่ตนมี อย่าให้ความสบายหรือข้อได้เปรียบที่เรามีกลายเป็นหอกมาทำร้าย ทำลายตนเองโดยไม่ทันตั้งตัว
อันที่จริงวิลล์อาจไม่ใช่อัจฉริยะที่เก่งกาจ แต่เขารู้ความจริงง่ายๆ ที่ว่า ถ้ามิลเลอร์เข้าเมืองมา ไม่ใช่มีแต่เขาที่จะได้รับอันตราย แต่ทุกคนในเมืองจะไม่ปลอดภัย หรือต่อให้พวกมันไม่ทำอะไรรุนแรง แต่จนแล้วจนรอดมันก็ต้องกดขี่ข่มเหงชาวเมือง ยิ่งชาวเมืองไม่กล้าตอบโต้มันจะยิ่งได้ใจ แล้วในที่สุดชาวเมืองก็ต้องตกเป็นเบื้ยล่างของมัน ดังนั้นในฐานะนายอำเภอ… นี่คือทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้
จุดพิสูจน์เพชรแท้ในตัวนายอำเภอวิลล์ก็คือตอนที่มีคนเดินมาเสนอตัวว่าจะช่วย คนหนึ่งคือคนตาเดียวร่างโทรมๆ ที่ไม่รู้จะสู้ใครไหวไหม ส่วนอีกคนก็คือเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ ที่ยืนกรานว่าตนอยากจะช่วยจริงๆ
จริงๆ แล้วนี่น่าจะเป็นโอกาสที่วิลล์ควรคว้าไว้ เพราะอย่างน้อยเขาก็มีคนมาช่วยอีก 2 โอกาสรอดของเขาน่าจะมากขึ้น แต่วิลล์กลับปฏิเสธคนทั้งสอง
นั่นคงเพราะวิลล์ตั้งเจตนาว่าเขามาเพื่อช่วยชาวเมือง ไม่ใช่พาชาวเมืองไปตาย โดยเฉพาะ 2 คนนี้ที่ดูภาษีก็ไม่น่าจะเหนี่ยวไกปืนได้ทันด้วยซ้ำ
วิลล์จึงเป็นพระเอกที่ทรนงมากๆ ครับ เขาพยายามทำสิ่งที่ถูกที่สุด แม้จะต้องทำมันลำพังก็ตาม…
บทสรุปของหนังเรื่องนี้จึงเป็นอะไรที่ลุ้นมาก น่าติดตามมากๆ ครับ หนังบิ้วอารมณ์เรามาเป็นชั่วโมง และในโค้งสุดท้ายก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องขอยกนิ้วให้ Fred Zinnemann (From Here to Eternity, A Man for All Seasons และ The Day of the Jackal) ผู้กำกับที่สามารถคุมหนังได้อยู่หมัด ลำดับเรื่องได้แบบถึงอารมณ์
แน่นอนครับว่าอีกคนที่ไม่ชมไม่ได้คือ Gary Cooper สุดยอดมากๆ ในทุกก้าวย่างภายใต้บทวิลล์ เคน นายอำเภอผู้ทรนง จุดที่ผมอยากปรบมือให้ดังๆ คือในเรื่องนี้เราจะได้เห็นการแสดงอารมณ์ที่หลากหลายมากๆ ครับ เพราะตลอดเรื่องเราจะได้เห็นวิลล์สมหวัง (ยามได้แต่งงาน), ตกใจ (ยามทราบข่าว), ห่วงใยชาวเมือง (ยามย้อนกลับเข้าเมือง), ผิดหวัง (เกือบตลอดเรื่อง) และไม่แยแสอะไรอีก (ในตอนท้าย)
ฉากที่ผมขอยกให้เป็นสุดยอดแห่งการแสดงคือตอนที่วิลล์ เดินไปที่บ้านของแซม ฟูลเลอร์ (Harry Morgan) เพื่อนของเขา แล้วแซมบอกให้ภรรยามารับหน้าและบอกว่าเขาไม่อยู่นั่นแหละครับ
ฉากนี้เรารู้เลยครับว่าวิลล์เองก็ทราบว่าแซมยังอยู่ในบ้าน แต่พอภรรยาของแซมบอกว่าแซมไม่อยู่และอ้างโน่นนี่สารพัด วิลล์ได้แต่นิ่ง สีหน้าเขาไม่มีความโกรธเคืองใดๆ แต่แววตาเขาอ่อนลง มันคืออารมณ์แห่งความสิ้นหวัง (เพราะขนาดเพื่อนยังไม่ยอมแม้แต่จะพบหน้าเขา) อีกทั้งเข้าใจว่าทำไมแซมถึงไม่ออกมา… ฉากนี้ผมสงสารวิลล์แบบสุดหัวใจครับ เพราะดูก็รู้ว่าใจของวิลล์แตกสลาย แค่สามารถทรงตัวเดินได้ต่อนี่ก็นับว่าหัวใจเขาหลอมเพชรขนานแท้แล้วล่ะ
High Noon ได้เข้าชิงออสการ์ทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ดารานำชายยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม, เพลงยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม โดยหนังคว้ามาได้ 4 สาขาหลังครับ อย่างน้อยการแสดงของ Cooper ก็โดดเด่นเป็นเอกฉันท์จริงๆ จนออสการ์ “มิอาจมิให้” ซึ่งแรกเริ่มเดิมที บทวิลล์ เคนนี้ถูกเสนอให้ Gregory Peck ก่อนครับ แต่ Peck เห็นว่าบททำนองนี้จะซ้ำกับบทที่เขาเคยแสดงใน The Gunfighter (1950) เขาจึงตอบปฏิเสธไป ส่วนดารารายอื่นๆ ที่เข้าชื่อเป็นตัวเลือกของบทนี้ก็มี Charlton Heston, Marlon Brando, Kirk Douglas และ Montgomery Clift
หนังเรื่องนี้ยังได้รับการกล่าวขวัญในฐานะหนังเรื่องแรกของ Lee Van Cleef ดาราหนังตะวันตกผู้ยิ่งใหญ่อีกคน ที่ตอนนั้นเขาเป็นเพียงดาราโนเนม โดยตอนแรกเขาเกือบได้แสดงเป็นฮาร์วี่ย์ เพลแล้วครับ แต่ทีนี้คนแคสติ้งให้ความเห็นว่าจมูกของเขาดูงองุ้มมากเกินไป จนเหมาะกับจะเป็นผู้ร้ายมากกว่า โดยทีมงานก็ยังให้โอกาสให้เขาไปทำอะไรสักอย่างกับจมูกให้มันดูซอฟท์กว่านี้ แต่เขาปฏิเสธครับ เลยโดยโยกมาแสดงเป็นหนึ่งในกลุุ่มของแฟรงค์ มิลเลอร์ ซึ่งบทนี้เขาไม่ได้พูดเลยแม้แต่ประโยคเดียว
ส่วน Grace Kelly นางเอกของเรื่องก็อาจจะมีบทบาทไม่มากนักนะครับ แต่ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อเรื่องราว โดยเฉพาะช็อตสำคัญตอนท้ายที่เธอได้ยินเสียงปืนนัดแรกดังออกมาจากในเมืองนั่น อาการที่เธอแสดงออกมานับว่าน่าปรบมือทีเดียว
จากความสำเร็จของหนัง ทำให้มีการทำภาคต่อออกมาในปี 1980 เป็นหนังทีวีชื่อ High Noon, Part II: The Return of Will Kane โดยได้ Lee Majors มาแสดงเป็นวิลล์ เคน ซึ่งในด้านคำชมก็แทบจะไม่ได้ยินกัน เรียกว่าคนละชั้นกับภาคแรกมากจริงๆ
โดยรวมนี่คือหนังยอดเยี่ยมระดับออสการ์ (ที่ไม่ได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยม) ที่ครบเครื่องทั้งความบันเทิง ความตื่นเต้น และสาระสะท้อนสังคมที่นำมามองโลกได้ทุกยุคทุกสมัย
สามดาวครับ
(8/10)