รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

The Ides of March (2011) การเมืองกินคน

The-Ides-of-March-2011-movie-poster

“นักการเมืองก็ล้วนแต่พูดดีทั้งนั้นแหละ แต่เขาจะทำคุณผิดหวังไม่ช้าก็เร็ว เชื่อสิ” ไอด้า โฮโรวิทซ์ (Marisa Tomei) เหยี่ยวข่าวสายการเมืองที่คร่ำหวอดในวงการนี้ได้เอ่ยกับสตีเฟ่น เมเยอร์ส (Ryan Gosling) ตัวเอกของเรื่อง

สตีเฟ่นเป็นหนึ่งในทีมหาเสียงให้กับผู้ว่าไมค์ มอร์ริส (George Clooney) ที่กำลังลงแข่งขับเขี้ยวกับเท็ด พูลแมน เพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และถ้าใครชนะศึกครั้งนี้ ทางพรรคก็จะเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐสู้กับพรรครีพับลิกันต่อไป

ตอนผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาใจก็หวังจะดูหนังการเมืองดีๆ สักเรื่อง ปรากฏว่าเรื่องนี้ไม่ผิดหวังเลยครับ เพราะมันตีแผ่โลกการเมืองได้แบบโดนใจดี

หนังเล่าให้เราเห็นโลกแห่งการเกมการเมืองที่คนส่วนใหญ่หากถลำตัวลงไปแล้วก็มีแต่จะเปรอะเปื้อน ดังนั้นชื่อไทยของหนังที่ตั้งว่า “การเมืองกินคน” นั้นถือเป็นชื่อที่ตรงกับตัวหนังมากที่สุดในรอบหลายปีก็ว่าได้

ครับ มันจะมีการสปอยล์แน่นอน ดังนั้นหากไม่อยากทราบขอให้ข้ามไปอ่านดาวด้านล่างที่บรรทัดสรุปได้เลยนะครับ หรือไม่ก็อ่านคำสรุปเบื้องต้นของหนังตรงนี้ก็ได้ว่า “ถ้าคุณอยากดูหนังการเมืองดีๆ ล่ะก็ เรื่องนี้ดูได้เลยครับ”

อันที่จริงสิ่งที่เราเห็นในหนังไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่หรอกครับ ยิ่งบ้านเราเนี่ย หลังผ่านเหตุมามากมาย ผมเชื่อว่าสื่อน่าจะนำเสนอความฉ้อฉลและกลการเมืองมาตีแผ่ให้เราเห็นหรือพิมพ์เป็นหนังสือให้เราอ่านจนรู้กันไปถึงไหนๆ แล้ว แต่สำหรับในรูปแบบหนังถือว่ามีน้อยครับ ดังนั้นผมจึงค่อนข้างชอบครับที่ได้เห็นหนังแบบนี้ออกมาให้เราชมกันบ้าง

กลหรือเกมการเมืองในหนังเราจะได้เห็นสารพัดแบบครับ เช่น “การสาดโคลนแบบไม่เลอะมือ” ก็แค่ฝ่ายหนึ่งหาข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามมา จากนั้นก็เก็บไว้ คัดเลือกเอาข้อมูลเด็ดๆ ที่มีไว้พังฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาสักชุดเพื่อเตรียมสาดโคลน แต่แทนที่จะให้ฝ่ายเราจะเป็นคนกล่าวประจานหรือสาดโคลนเอง เราก็แค่เอาข้อมูลไปหย่อนให้สื่อ ทำเป็นเอกสารสนเท่ห์ไปก็ได้ หรือให้ข่าวลอยๆ ไปที่หนังสือพิมพ์ก็ได้ ซึ่งพวกนักข่าวกับสื่อชอบอยู่แล้วครับ ข่าวฉาวที่ขายได้แบบเนี้ย

แล้วจากนั้นก็รอให้มันกระจายบอกต่อแบบปากต่อไปแบบเนียนๆ นั่งรอดูผลลัพธ์ไป เรียกว่าทำลายอีกฝ่ายโดยโคลนไม่เลอะมือ ต่อให้ใครจะพูดหรือลือว่าเราทำแต่มันก็ไร้หลักฐาน…

maxresdefault0260

กลต่อมาก็คือการยุแยง อย่างที่สตีเฟ่นโดนครับ จริงๆ แล้วในตอนแรกน่ะเขาซื่อสัตย์นะครับ จงรักภักดีต่อไมค์อย่างมาก ทำอะไรนึกถึงไมค์ พูดถึงไมค์ และศรัทธาไมค์ตลอดเวลา เพราะเขาก็เชื่อในภาพลักษณ์อันแสนเป็นสุภาพบุรุษของไมค์ เชื่อมั่นถึงขนาดยอมช่วยปกปิดความผิดให้โดยไมค์ไม่ต้องร้องขอ

สตีเฟ่นเป็นคนตรงครับ เป็นคนเก่งด้วย… แต่แล้วทุกอย่างก็พลิกผันเมื่อทอม ดั๊ฟฟี่ (Paul Giamatti) หัวหน้าใหญ่ของทีมหาเสียงฝ่ายตรงข้าม ตัดสินใจเดินหมากลวงตา โดยเล่นกับความไว้วางใจเป็นหลัก

สตีเฟ่นซื่อสัตย์ครับ แต่ทอมรู้ว่า พอล ซาร่า (Philip Seymour Hoffman) หัวหน้าของสตีเฟ่นน่ะเป็นคนหวาดระแวง (ก็เล่นเกมการเมืองกันมานานจนรู้ไส้กันหมดนี่ครับ) ทอมเลยโทรเรียกสตีเฟ่นมาคุยโน่นนี่นิดหน่อย ทำเป็นเอ่ยข้อมูลสำคัญให้เขารู้ พร้อมเสนอตำแหน่งให้สตีเฟ่นย้ายมาทำงานกับเขาดีกว่า

สตีเฟ่นก็ไปด้วยใจตรงๆ น่ะครับ เขาไม่คิดจะหักหลังไมค์หรือพอลอยู่แล้ว และอันที่จริงคือเขาหมายจะล้วงข้อมูลจากทอมด้วย

จากนั้นก็ทิ้งช่วงไปพักใหญ่ๆ กว่าที่สตีเฟ่นจะบอกกับพอลถึงเหตุการณ์ทั้งหมด ซึ่งสตีเฟ่นก็คิดว่าพอลคงเข้าใจ แต่สำหรับพอลแล้ว สิ่งที่สตีเฟ่นทำ มันเพียงพอที่จะทำให้เขาไม่ไว้ใจสตีเฟ่นอีกต่อไป ไม่ว่าสตีเฟ่นจะยืนยันในความบริสุทธิ์ใจแค่ไหนก็เถอะ…

… บางครั้งความบริสุทธิ์ของคน ก็ไม่ได้อยู่ที่ว่าคนนั้นบริสุทธิ์หรือไม่ แต่อยู่ที่ “คำตอบในใจ” ของคนที่มองมากกว่า

หลังจากสตีเฟ่นโดนพอลไล่ออก เขาก็เดินดุ่ยไปหาทอม พร้อมบอกว่ารับข้อเสนอ… แต่นาทีนั้นเองสตีเฟ่นถึงได้รู้ความจริง ว่าทอมไม่เคยต้องการได้เขามาทำงานเลยครับ จุดหมายที่แท้ของทอมก็แค่ทำให้พอลไม่ไว้ใจและไล่คนเก่งๆ อย่างสตีเฟ่นออก เพื่อให้ทีมของพอลอ่อนแอลง ทีนี้ทอมก็จะได้เอาชนะการเลือกตั้งง่ายขึ้น

1391100188

“ถ้าฉันไม่ได้คนเก่งๆ อย่างนายมาทำงาน ฉันก็ไม่ปล่อยให้อีกฝ่ายมันได้ไปเหมือนกัน” ทอมสรุปเรื่องทั้งหมดเช่นนั้น… นึกถึงสามก๊กขึ้นมาทันที

มันคือเกมครับ มันคือการวางหมาก มันพลิกแพลงได้ตลอด บางสิ่งที่เราเห็นหรือเราคิดมันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป อย่างสตีเฟ่นเองก็คิดมาตลอดว่าทอมคงอยากได้ตัวเขาไปทำงานบ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นพอเขาโดนอีกฝ่ายเขี่ยทิ้งก็เลยไปรับข้อเสนอ…

แต่ที่ไหนได้ เขาเป็นแค่หมากตัวหนึ่งที่ทอมเตี๊ยมทุกสิ่งไว้ เพื่อกำจัดให้ออกจากกระดาน… กำจัดออก หาใช่ดึงมาเป็นพวกไม่

บางครั้งคนเก่งที่เก่งเกินไป ก็อันตรายเกินกว่าจะปล่อยให้มีส่วนในเกม…

หลังจากสตีเฟ่นโดนหมากล้อมหน้าหลัง เรียกว่าไม่รอดแน่นอน ยังไงก็ถูกกิน ไม่จากฝ่ายหนึ่งก็จากอีกฝ่ายหนึ่ง สตีเฟ่นจึงมีทางเลือกเพียง 2 ทาง หนึ่งคือยอมโดนกินและออกจากเกมไปเฉกผู้แพ้คนอื่นๆ

และทางที่ 2 (ซึ่งเป็นทางที่เขาเลือก) ก็คือ ล้มมันทั้งกระดาน แล้วกำหนดเกมใหม่ขึ้นมา เป็นคนตั้งกติกามันซะเลย!!!

เมื่อเรื่องถึงจุดนี้ยอมรับว่าทอมเก่งจริง เขาดูออกว่าสตีเฟ่นเก่งแค่ไหน เพียงแต่ทอมก็พลาด ที่ไม่รู้ว่าสตีเฟ่นจะเก่งได้ถึงขนาดนั้น!

จริงที่การเดินหมากผิดแม้ตาเดียวก็สามารถล้มทั้งกระดานได้ แต่อย่าลืมว่าถ้าใครมันคิดนอกกรอบและเมินกติกาสักหน่อย โดยการเลิกเล่นในกระดาน ไม่เอามือจับหมากมาวางอีกต่อไป แต่ใช้สองมือซัดกระดานให้หงายเก๋งไปเลย… จากที่แพ้ก็พลิกได้เหมือนกัน

1391100213

ในที่สุดสตีเฟ่นก็ใช้ความลับของไมค์ในการข่มขู่ พร้อมขอ (หรือสั่ง) ให้ไมค์ไล่พอลออกไป แล้วตั้งเขาเป็นหัวหน้าแทน…

สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันสะท้อนอะไรมากมายครับ ในโลกความจริงก็เชื่อเถอะครับว่ามันมีเรื่องแบบนี้แน่นอน เพียงแต่เราไม่รู้ชัดว่าใครคือสตีเฟ่น ใครคือพอล ใครคือทอม… แต่เรารู้นะ ว่าไมค์น่ะเป็นใครบ้าง

อย่างหนึ่งที่หนังสะท้อนให้เห็นชัด คือความน่ากลัวของการเล่นเกมการเมืองเหล่านี้ โดยเฉพาะการหักกันไปเฉือนกันมา ที่ว่าน่ากลัวเพราะเราไม่รู้เลยครับว่าเราจะไปปลุกปีศาจในตัวใครขึ้นมาบ้าง

คนบางคนอาจเดินบนถนนการเมืองด้วยความใสสะอาด (อย่างสตีเฟ่น) แต่เมื่อการเมืองสอนสิ่งผิด บังคับให้เขาต้องเอาตัวรอด ต้องรับมือกับคู่แข่งหรือผู้ไม่หวังดี จากคนที่มีเจตนาดีก็อาจกลายเป็นปีศาจที่อันตรายในที่สุด

อันที่จริงตัวร้ายในหนังหรือนิยายส่วนมากก็มีที่มาประมาณนี้นะครับ จากคนธรรมดาที่ไม่ดีไม่ร้าย แต่พอโดนคนอื่นกระทำมากๆ สุดท้ายเขาก็พลิกผันตัวเองกลายเป็นมารยุทธภพไป

การเมืองกินคน และใช่ครับ มันเปลี่ยนคนได้มากกว่าที่ใครจะคาดคิด

อันที่จริงแล้ว หากการเมืองเป็นการเมืองจริงๆ ที่หมายถึงการทำงานเพื่อบ้านเมือง การเข้าไปบริหารจัดการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรของชาติให้พอเหมาะพอดี มีเหลือใช้และเหลือเก็บสำหรับทุกคน มันก็คงดีนะครับ เพราะมันน่าจะหล่อหลอมให้คนมีความรับผิดชอบ มีวินัย และมีใจสาธารณะ

… แต่เพราะการเมืองในนิยามปัจจุบันว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งโจทย์คำถามและคำตอบ จะหลงทิศผิดทางไปกันใหญ่ และแน่นอนว่าคนที่ต้องผ่านสนามการเมืองลักษณะนี้ (ที่สอนให้เอาตัวรอด สู้คน และกันผลประโยชน์อันพึงได้) ก็จะมีสภาพไม่ต่างจากไมค์ จากสตีเฟ่น และจากใครต่อใครในเรื่อง เพราะเขาถูกหล่อหลอมแบบนั้น

1391100721

จำได้ว่าตอนดูซีรี่ส์ Change ที่ทาคูยะ คิมูระแสดงนำนั้น เขาเป็นนายกขวัญใจเลยนะครับ ซึ่งผมก็คิดตั้งแต่ตอนนั้นว่าที่เขาใสซื่อ ตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์อะไรนัก ก็เพราะเขาไม่ได้ผ่านสนามที่หล่อหลอมนักการเมืองแบบคนอื่นๆ แต่เขาลัดตัดตรงแล้วไปบริหารประเทศเลย

ส่วนเรื่องนี้ ดูแล้วก็ตระหนักอย่างสลดนิดๆ ครับ ว่าคนในวงการเมืองนั้น ที่เก่งก็มีมาก ที่ฉลาดก็มีเยอะ ถ้าพวกเขาช่วยกันเอาพลังสมองมาทำเพื่อประเทศจริงๆ แบบที่ทำเพื่อตัวเองน่ะ… เราจะไปได้ไกลขนาดไหนกันนะ?

หนังยังมีจุดแสบๆ ให้เราขำและเข้าใจการเมืองมากขึ้น อย่างตอนที่สตีเฟ่นอธิบายถึงการกำหนดนโยบายบางอย่าง ที่จะให้ประโยชน์กับคนอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น พอไมค์ถามว่า “แล้วคนที่อายุต่ำกว่า 18 ล่ะ จะได้อะไร?” สตีเฟ่นก็ตอบไปว่า “คนต่ำกว่า 18 น่ะหรือครับ? ก็พวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งนี่ครับ อายุไม่ถึง… ก็แค่ซวยไป” เอาแค่ฉากนี้ก็ขำแบบเจ็บแสบจี๊ดๆ แล้วล่ะครับ

ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องขอชม Beau Willimon, George Clooney และ Grant Heslov ที่ช่วยกันคิดบทหนังเจ๋งๆ แบบนี้ขึ้นมา โดย Willimon นั้นเป็นคนประพันธ์เรื่องทั้งหมดสำหรับใช้แสดงละครบอร์ดเวย์ชื่อ Farragut North ซึ่งก็เป็นงานแสดงที่ประสบความสำเร็จครับ แล้วก็ไปเข้าตา Clooney เข้า เขาเลยเซ็นต์สัญญาซื้อบทมาดัดแปลงร่วมกัน Heslov แล้ว Clooney ยังอำนวยการสร้างและนั่งเก้าอี้กำกับด้วย โดยในช่วงเจรจาจะสร้างนั้น Leonardo DiCaprio ก็เกิดชอบบทละครนี้พอดี ในที่สุดก็เลยมานั่งเก้าอี้ร่วมสร้างและช่วยหาทุนให้อีกต่างหาก

นักแสดงถือว่าคัดระดับเทพมาทั้งนั้นครับ นอกจากที่เอ่ยนามไปแล้วก็ยังมี Evan Rachel Wood ในบทมอลลี่ สเติร์น หนึ่งในทีมหาเสียงต้องตกอยู่ในวังวนของเกมนี้ด้วย, Jeffrey Wright ในบทท่านวุฒิฯ เจฟฟรี่ย์ ทอมป์สัน ที่กินตามน้ำแบบเนียนๆ ใครให้ผลประโยชน์มากกว่าก็เทไปหาคนนั้นและ Gregory Itzin ในบทแจ็ค พ่อของมอลลี่

ดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนเราดูภาพสะท้อนของเกมการเมืองจริงๆ นั่นแหละครับ และประเด็นหนึ่งที่หนังยกมาเล่นได้อย่างน่าสนใจ คือตอนที่ไมค์กำลังปราศรัยชนะใจคนทั้งหอประชุม แต่ที่หลังเวทีนั้นพอลกับสตีเฟ่นกำลังถกเครียด เพราะได้ข่าวมาว่าท่านวุฒิฯ ทอมป์สันไปเจรจาตกลงจะเทคะแนนในกำมือของตนให้อีกฝ่าย เพราะฝ่ายนั้นให้ผลประโยชน์มากกว่า

ดังนั้นต่อให้ไมค์พูดชนะใจประชาชนไปแค่ไหนก็เท่านั้นครับ ยังไงพี่แกก็ไม่ได้ตำแหน่ง เว้นแต่จะส่งคนไปเจรจาเสนอผลประโยชน์ที่สูงกว่าให้กับท่านวุฒิฯ (ซึ่งก็ไม่ต่างจากหัวคะแนน) เมื่อนั้นแหละถึงจะมีโอกาสชนะ…

นั่นแหละครับความจริงของการเมือง การแบ่งผลประโยชน์ แบ่งเค้กให้พอดีคำ และอันว่าองศาในการจรดมีดเพื่อตัดแบ่งมันเปลี่ยนได้เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนจับมีด จะจรดมีดลงตรงไหน หรือจะให้ใครได้เค้กชิ้นใหญ่กว่า

1391100431

หลายคนอยากเป็นคนจับมีด และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าบางครั้งคนจับมีดก็ไม่ใช่คนที่เป็นหัวหน้าหรือมีตำแหน่งใหญ่ที่สุด… อย่างในฉากสุดท้ายของเรื่อง ท่านจะได้เห็นว่าใครกันแน่ คือคนจับมีดตัวจริง

หลังดูจบผมจ้องโปสเตอร์หนังอีกครั้ง แล้วจึงเข้าใจความหมายของมัน… หนังเฉลยตอนจบตั้งแต่ในโปสเตอร์แล้ว

… ยังมีอีกจุดที่ผมรู้สึกสะท้อนในใจพอสมควร เมื่อตัวละครอย่างไอด้า นักข่าวสาวที่ดูเหมือนจะบินโฉบไปมา หาข่าวเพื่อเอาไปเขียนอย่างเดียวนั้น แวะมาหาสตีเฟ่นในช่วงสุดท้าย หลังจากคุยไปคุยมาสักพัก สตีเฟ่นเอ่ยขึ้นว่า “คุณคือเพื่อนคนเดียวที่ผมมีนะ”

ไอด้าอาจไม่ใช่เพื่อนที่ดีที่สุดเท่าที่ใครสักคนจะมี เพราะเธอก็นึกถึงผลประโยชน์ส่วนตนเช่นกัน แต่หากเทียบกับเสือสิงห์กระทิงแรดในเกมการเมืองที่สตีเฟ่นเพิ่งเจอมา ไอด้ากลายเป็นคนดีขึ้นมาทันที

แต่หากเล่นการเมืองแล้ว คุณต้องเหลือเพื่อนดีๆ น้อยลง จนอาจจะเหลือแค่คนเดียวแบบที่สตีเฟ่นเผชิญ… มันยังคุ้มแก่การเล่นการเมืองอีกไหม?

เชื่อว่าหลายคนก็ยังคงตอบว่า “คุ้ม!”

ถือเป็นหนังการเมืองที่ถึงใจมากๆ ในรอบหลายปี

สามดาวครับ

Star31

(8/10)