รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2007)

1371810474

หนังกึ่งสารคดีที่น่าสนใจอีกเรื่องครับ เนื้อหาว่าด้วยการตามติดชีวิตเด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อสานต่ออนาคตของตน ก็เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนที่เคยผ่านสนามสอบนี้น่าจะจำกันได้ล่ะครับ สมกับคำโปรยบนในปิดว่าเป็นช่วงที่เรานั้นขยันที่สุดในชีวิตจริงๆ

อย่างที่บอกครับว่าหนังน่าสนใจ ครั้นพอดูแล้วก็รู้สึกโอเคในระดับหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือนี่เป็นหนังสารคดีครับ โทนย่อมต่างไปจากหนังปกติที่มีการผูกปม เล่นกับอารมณ์หรือวางสถานการณ์สร้างความอินให้กับผู้ชม ซึ่งในเรื่องนี้อาจมีการเซ็ทฉากบ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่าดิบสไตล์สารคดี เพียงแต่ความน่าติดตามอาจยังไม่มาก การร้อยเรียงเรื่องราวก็ยังไม่ถึงกับลงตัวเต็มร้อย เพราะจริงๆ แม้จะเป็นหนังสารคดี แต่การเล่าเรื่องให้คนดูจมลงไปกับเรื่องราวก็ยังสามารถทำได้ แบบที่ Fahrenheit 9/11 หรือหนังสารคดีที่มีแต่ดนตรีอย่าง Koyaanisqatsi เคยทำสำเร็จมาก่อน

แต่กระนั้นผมก็รู้สึกชอบหนังอยู่ครับ หลายตอนดูแล้วมันชวนให้นึกย้อนไปถึงวันเก่าๆ สมัยเรียน สมัยเล่นกับเพื่อน สมัยคุยกับพ่อแม่ (แล้วลงเอยด้วยการเสียงแข็งใส่กัน) สมัยกวดวิชา สมัยนอนดึกเพื่อ่อานหนังสือ สมัยอ่านหนังสือไม่ทัน สมัยลุ้นผลสอบ สมัยมีรักในวัยเรียน ฯลฯ

ฉากที่ผมชอบที่สุดต้องยกให้ช็อตสุดท้าย เมื่อเพลง “วัน เดือน ปี” ถูกเปิดขึ้น แล้วภาพวันเก่าๆ ของเหล่าเด็กๆ ในเรื่องก็ค่อยๆ ย้อนขึ้นมา ในจังหวะนั้นเองในหัวผมก็เกิดมีภาพเก่าๆ สมัยเรียนผุดขึ้นมาเหมือนกัน

ถ้าให้ว่ากันตรงๆ หนังอาจยังไม่สามารถทำให้ผมอินไปกับเรื่องราวของน้องๆ ในเรื่องได้ แต่มันก็มีดีพอที่จะทำให้ผมย้อนรำลึกถึงเรื่องของตัวเองเมื่อวันเก่าได้สำเร็จ… หนังเรื่องนี้สำหรับผมแล้ว จึงถือว่ามีดีในการปลุกวันคืนเก่าๆ เมื่อตอน Ent ให้คืนชีพมาสร้างรอยยิ้มและปริ่มน้ำตาได้ในระดับหนึ่ง

อีกฉากที่โดนใจคือตอนน้องๆ เปิดเน็ทเพื่อดูผลสอบ แล้วกว่าเน็ทมันจะโหลดได้แต่ละหน้าก็ช้าเหลือประมาณ เล่นเอาเกร็งลุ้นหนักกว่าเก่า (คนที่เคยผ่านชีวิตเน็ต 54k มาก่อนน่าจะรู้ซึ้งถึงอารมณ์นั้นได้ดี )

การดู Final Score ทำให้สมองน้อยๆ ขบคิดอะไรหลายอย่าง อย่างแรกคือการย้อนมองตัวเองในอดีต ว่าทำไมหนอเราถึงไม่ขยันอ่านหนังสือแต่เนิ่นๆ เพราะผมน่ะเป็นหนึ่งในคนที่ชอบเริงร่าฮาเฮไปกับชีวิต ครั้นพอใกล้สอบค่อยกอบหนังสือมาอ่านทีเดียว ทำให้ช่วงใกล้สอบ Ent นั้นต้องผันตัวเองเป็นคนนอนดึกและติดการนอนดึกมาจนถึงทุกวันนี้

และขอสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า ขนาดอ่านหนังสือรอบดึกก็ยังไม่วาย ต้องมีการเปิดรายการทีวีตอนดึกๆ ดูเป็นเพื่อน ซึ่งรายการเหล่านั้นก็ได้แก่รายการเพลงของ Dojo – Bakery จำได้ว่าครั้งแรกที่ดูนั้นมีน้องบอลลูนเป็นพิธีกร ตามด้วยการฟังเพลงของ ไทรอัมพ์ คิงดอม, มิสเตอร์ซิสเตอร์, Project H, ออย Shocking Pink, อ่านชีววิทยาเคล้าเพลงเผลอของ Mr. Z และมีอันหลับคาโต๊ะทุกครั้งที่เจอเพลงของพี่ธีร์ ไชยเดช 5555

1375725958

กลับมาคำถามที่ถามตัวเองดีกว่านะครับ ก่อนจะไหลไปไกลกว่านี้ ทำไมเราถึงมาอ่านตอนไฟล้นก้น? ส่วนหนึ่งคงเพราะเราเป็นเด็กน่ะครับ ยังสนุกกับการคบหาเพื่อน สนุกกับสีสันของชีวิต เราสนุกกับปัจจุบันและยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอนาคต ยังคิดอย่างขำๆ สวยๆ ว่าการสอบคงไม่เหนือบ่ากว่าแรงหรอก การเรียนเอาไว้ก่อนก็ได้ และอาชีพนั้นมันก็คงหาไม่ยากเกินไปล่ะมั้ง

ผมตระหนักว่าตัวเองได้เรียนวิชาคณิต, ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย, สังคม ฯลฯ พอจะรู้เนื้อความของแต่ละวิชา แต่สารภาพแบบตรงๆ ว่า ยังเห็นความสำคัญของแต่ละวิชาไม่ชัด และไม่รู้วิธีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้ากับสิ่งที่เรียกว่า “อนาคต”

แน่นอนครับว่ามีคนมากมายเข้าใจคุณค่าของความจริงนี้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งถือเป็นความโชคดียิ่ง แต่ผมนั้นก็เป็นหนึ่งในคนที่มาเข้าใจความหมายของมันก็ตอนโตแล้ว

ใช่ครับ ตอน Ent ผมก็ยังไม่เข้าใจ ผมรู้เพียงว่าเราเรียนเพื่อเอาไปสอบ เพื่อช่วยให้เรารอดตัว มีที่เรียนต่อ ไม่ต้องไปสอบอะไรแบบนี้อีก และสบายใจไปอีก 4 ปีโดยประมาณ

ถ้าย้อนเวลาไปได้ ผมอยากได้คำแนะนำ อยากได้คนสอนวิชาชีวิตสักท่านหนึ่ง มาเติมเต็มบางสิ่งลงในสมองอันอ่อนเดียงสาของผม

พอถึงตรงนี้ผมก็อยากบอกกับน้องๆ ทุกคนที่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “การสอบเข้ามหาวิทยาลัย” เป็นส่วนหนึ่งของอนาคตว่า

ประโยชน์ของการที่เราได้เรียนหลากหลายวิชาก็คือ เราจะได้มีสนามให้ค้นหาสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เป็นตัวเรา และสิ่งที่เราจะใช้มันมาประกอบอาชีพเพื่อสร้างอนาคตต่อไป

จริงครับ ที่หลายคนไม่โอกับการเรียนการสอนในประเทศเรา บ้างก็คิดว่าเรียนเยอะเกินไปไหม เยอะวิชามากไปหรือเปล่า ฯลฯ อันนั้นผมเข้าใจครับ แต่ความจริงก็คือเรายังทำอะไรกับมันไม่ได้ ยังไงเด็กๆ ก็ต้องเรียนในระบบนี้ (เว้นแต่คุณพ่อคุณแม่จะสอน Home School ให้กับลูก) ดังนันหากเราหนีไม่พ้นอยู่แล้ว จะบ่นไป ท้อไปมันก็เท่านั้นครับ สู้ปรับตัวเข้าหามัน ตักตวงประโยชน์และมองหาข้อดีจากมันให้มากที่สุดน่าจะดีกว่า

1375725913

ประโยชน์ก็อย่างที่บอกครับ เรียนเยอะหลายวิชามันอาจจะไม่ได้ทำให้เรารู้เยอะขึ้น แต่อย่างน้อยมันก็แนะนำให้เราได้รู้จักกับศาสตร์แขนงหลักๆ ของโลก ซึ่งเราสามารถค้นหาว่าเราชอบอะไรได้ผ่านการเรียนการสอน หาให้พบว่าเราชอบอะไร

หากเราพบว่าเราชอบอะไรแล้ว เราย่อมเห็นแนวทางในอนาคตว่าเราจะประกอบอาชีพอะไรดี (จำไว้ว่าเมื่อได้ทำงานในสิ่งที่รัก เราจะมีแรงใจ มีความสุข มีความสนุก ดังคำที่ว่า “หากได้ทำงานที่รักแล้ว เท่ากับเราไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิต”) แล้วเราก็จะรู้ว่าควรเรียนต่อที่ไหนดีเพื่อปูก้อนอิฐนำเราไปสู่เส้นทาง

บางคนแม้เรียนไปเรื่อยๆ ก็ยังไม่รู้ว่าตนชอบอะไร อันนี้ก็ขอบอกว่า หากเราไม่รู้ว่าชอบอะไร อย่างน้อยก็ค้นหาว่าเราพอจะเรียนวิชาไหนเข้าใจบ้าง หรือหากยังไม่เจอวิชาที่ชอบ ก็ลองเริ่มหา “วิชาที่เราไม่ชอบ” แทนก็ได้ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงไม่เดินไปบนเส้นทางนั้น

ตอนดูน้องๆ ใน Final Score ก็แอบเห็นใจพวกเขา แอบเห็นใจตัวเอง (ในอดีต) และแอบเห็นใจใครก็ตามที่กำลังเผชิญหรือไม่ก็จะต้องเผชิญเรื่องกดดันอันนี้ในสักวันหนึ่งข้างหน้า แต่ก็อยากจะบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำ ไม่จำเป็นต้องตกอยู่ในสภาพ “โดนระบบการศึกษากดดันบังคับ” หรือรอให้ใครมากำหนดชะตาชีวิตตน เพราะเราคือคนที่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะหาทางลิขิตชีวิตตนเอง

ดังนั้นเราจึงเลือกได้ว่าเราจะใช้วิชาเรียนมาเป็นเพียงบัตรผ่านในการสอบเข้า เลือกได้ว่าจะปล่อยให้วิชาเรียนทั้งหลายมานั่งบนบ่าและสร้างความหนักใจ สร้างความเคร่งเครียดให้กับเรา หรือเราจะใช้วิชาเรียนเหล่านั้นมาช่วยค้นหาตัวเอง มาเติมเต็มอะไรบางอย่าง มาปลุกศักยภาพบางประการที่เรามี

ผมรู้ครับว่าน้องๆ เรียนกันหลากวิชาในทุกวันนี้ แต่โดยลึกๆ แล้วถ้ามีการเพิ่มวิชาเข้าใจชีวิต เข้าใจความหมายของอนาคต เข้าใจตนเอง เข้าใจเหตุผลแห่งการสอบเข้า ฯลฯ เพิ่มอะไรเหล่านี้ลงไปอีกมันก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะผมเชื่อว่าสำหรับหลายคนแล้ว ยังมองว่าโลกในรั้วโรงเรียนกับโลกนอกรั้วคือโลกคนละใบ แต่จริงๆ มันคือใบเดียวกันครับ มันมีจุดเชื่อม มันมีความเกี่ยวเนื่อง เพียงแต่น้องๆ มากมายยังไม่ได้รับการชี้ชวนให้มองเห็นอะไรเหล่านี้เท่านั้น

และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมว่าเราควรให้ความรู้กับเด็กๆ คือการบอกให้พวกเขาเข้าใจว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต เราเต็มที่กับมันได้ เราฟิตซ้อมเพื่อสอบได้ แต่อย่าถึงขั้นกดดันหรือเอาลมหายใจทั้งหมดไปฝากไว้กับการสอบ เพราะแม้เราจะสอบไม่ได้แต่ฟ้าก็ยังไม่ถล่ม แม้จะสอบไม่ติดแต่พระอาทิตย์ก็ยังขึ้น เรายังมีทางออก มีทางให้เดินต่อ และมีโอกาสสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเองได้

คนสอบไม่ติดไม่ใช่คนล้มเหลว ก็แค่สอบไม่ติดเท่านั้น

สมัครสอบสนาม Ent (หรือ Admission) แล้วไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร เราจะเลือกสอบใหม่บนสนามชีวิตอื่นๆ มันยังมีหนทางเสมอ ขอเพียงเราเต็มที่กับมัน และที่สำคัญคืออย่าดูถูกตัวเอง ที่ว่าดูถูกในที่นี้คืออย่าดูถูกว่าเรานั้นไม่เก่งหรอก เรานั้นทำให้เจ๋งกว่านี้ไม่ได้หรอก ได้โปรดครับอย่าดูถูกตัวเองอย่างนั้น ขอให้ลองทำแบบเต็มที่ดูสักรอบ ไม่แน่ว่า “ของดี” ในตัวน้องๆ อาจรอการถูกปลุกให้ตื่นขึ้น น้องๆ อาจเก่งกว่าที่ตัวเองคิดก็ได้นะครับ

1375726003

อย่างต่อมาที่หนังทำให้ผมคิดถึงก็คือชีวิตวัยเรียน ที่จริงๆ แล้วคุณค่าของมันไม่ได้มีแค่การเข้าห้องเรียน ไม่ได้มีแค่เกรด หรือใบประกาศนียบัตร หรือปริญญา แต่มันยังมีเรื่องเพื่อน มิตรภาพ เรื่องความรัก การใช้ชีวิต การเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมขนาดต่างๆ ไม่ว่าจะสังคมครอบครัว สังคมเพื่อน สังคมในห้องเรียน ฯลฯ คนมากมายอาจไม่เก่งในสนามสอบ แต่เก่งในสนามมิตร เก่งในสนามคน ก็สามารถกรุยทางไปสู่อนาคตที่ดีให้กับตนเองได้

อันที่จริงผมว่าคนที่จะสนุกกับชีวิตได้มากที่สุด คือคนที่รู้จักบริหารชีวิตอย่างสมดุล สนุกทั้งยามเล่น ได้ทั้งยามเรียน และจะแจ๋วยิ่งขึ้นถ้าสามารถหาจุดเชื่อม 2 สิ่งนั้นเข้าหากัน

… รู้ไหมครับ เอาเข้าจริงๆ แล้ว หนังตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์เรื่องนี้มันสะท้อนความจริงให้เราเห็นว่า ความสวยงามแท้ๆ ของชีวิตวัยรุ่นวัยนี้คือ “การได้เจอะ อารมณ์พีค กับเรื่องต่างๆ สักหน”

พีคยามได้เฮกับเพื่อนหลังเลิกเรียน ยามได้เที่ยวที่ไกลๆ ยามได้เที่ยวเป็นหมู่กับเพื่อนรู้ใจ ยามได้เฮ้วเฮี้ยวเฟี้ยวไปกับประสบการณ์ใหม่ๆ ยามได้โยกหัวสุดมันส์หรือร้องเพลงสุดเสียงตอนดูคอนเสิร์ต

พีคยามได้รักใครสักคน (ทั้งแอบรักและสมหวัง) พีคยามได้แซวเพื่อนที่มันมีแฟน และพีคมากมายยามความรักไม่เป็นไปดังหวัง ไอ้การนั่งเศร้า เล่าให้เพื่อนฟัง ซัดน้ำซักขวด (เบาก็น้ำโค้ก หนักก็น้ำเมา) นี่แหละมันคือความพีคที่ต้องเจอกับตัวเท่านั้น ถึงจะรู้ในความจี๊ด เรียกว่าแม้มีเงินหลักล้านก็ซื้อประสบการณ์ “หัวใจดับ” นี้ไม่ได้

พีคยามคุยกับพ่อแม่แล้วมีเรื่องให้เห็นไม่ตรงกัน พีคยามพ่อแม่เป็นห่วงแต่เราดันมองว่าท่านยุ่งกับชีวิต พีคด้วยความโกรธและไม่พอใจยามพ่อแม่ตักเตือนให้เราขยันอ่านหนังสือ โดยไม่ดูตัวเองเลยว่า “ก็เราไม่ได้อ่านหนังสือจริงๆ นี่หว่า”

พีคยามได้เห็นสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าเกรดทุกๆ ครึ่งปี พร้อมมีคำถามในใจว่าไอ้เลขชุดนี้มันมีผลกับชีวิตเราขนาดนั้นเลยรึ?

พีคยามที่ได้รู้ว่าวันแห่งการเป็นเด็ก กำลังนับถอยหลังลงทุกวินาที ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

อย่างที่ผมเคยบอกไว้ และจะขอบอกอีกครั้งเป็นการสรุปครับ ว่าหนังสารคดีเรื่องนี้โอเคครับ น่าลองดูสักครั้ง และน่าลองตั้งคำถามใคร่ครวญสักหน่อยระหว่างดู แต่ถ้าถามว่าชอบไหม ผมกลับยังไม่รู้สึกชอบอะไรมากมาย

แต่ที่รู้สึกกลับเป็น… คิดถึงเพื่อน และคิดถึงวันเก่าๆ ของตัวเองอย่างสุดหัวใจ

ขอบคุณทุกสิ่งในอดีตที่ส่งให้ผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้

ขอบคุณที่วันเก่าๆ อันมีค่าที่มาเกิดกับชีวิตผม ทำให้ผมมีอัลบั้มวันชื่นคืนสุขไว้คอยเปิดดู… ด้วยการปิดตา

ขอบคุณเพลง “วัน เดือน ปี” ที่เปี่ยมความหมาย… ฟังทีไรคิดถึงสมัยเรียนเหลือเกินเลย

รักเพื่อนทุกคน โดยเฉพาะเพื่อนจิตวิทยาที่เกษตร… นอกจากพ่อแม่ ภรรยาและลูกที่กำลังจะเกิดมา ผมคงไม่มีอะไรที่มีค่ามากไปกว่าเพื่อนเหล่านี้อีกแล้ว

เขียนถึงหนังแท้ๆ แต่เข้าเรื่องตัวเองเสียส่วนมาก… ก็หนังมันพาไป

สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทุกคนที่ต้องพบเจอกับการสอบ Ent ที่ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็น Admission โอเน็ท เอเน็ท (ไม่รู้ว่าอีกสิบปีจะเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรอีก… มันก็สอบเข้ามหาลัยเหมือนกันนั่นแหละท่านทั้งหลาย)

อย่าลืมนะครับ ลองเรียนให้เต็มที่ ไหนๆ เกิดมาหนึ่งรอบลองวัดพลังของตัวเองดู ว่าถ้าฟิตเต็มฟัดแล้วเราทำได้ถึงขนาดไหน ครั้นถ้าเราทำเต็มที่แล้ว Ent ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อนุญาตให้เศร้าได้เต็มที่ หลั่งน้ำตาและระบายออกมาให้หมด ขอเพียงหลังจากนั้นจงบอกกับตัวเองว่า

“Ent ไม่ได้ก็ช่าง นับจากนี้ไปฉันจะพิสูจน์ให้คนออกข้อสอบเหล่านั้นต้องอาย จะพิสูจน์ให้เห็นว่าฉันมีดีมากกว่าที่ผลสอบบอกแค่ไหน ฉันจะประสบความสำเร็จจนสถาบันเหล่านั้นต้องหันมามอง”

แพ้ข้อสอบก็ไม่เป็นไร เพียงชนะคำว่า “แพ้” ได้ ก็ชนะชีวิตแล้ว

สองดาวกว่าสำหรับตัวหนัง
(แต่ขอขอบคุณจากใจครับ สำหรับทุกคนที่มีส่วนทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา)

Star21

(6.5/10)