รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Collateral Beauty (2016) โอกาสใหม่หนสอง

17834810_1586554064708722_8850788337535292713_o

จริงๆ หนังเรื่องนี้ควรจะเข้าทางผมอย่างแรงเลยล่ะครับ เหตุผลก็เพราะ ข้อ 1) เป็นหนังว่าด้วยการค้นหาความหมายชีวิต ข้อ 2) หนังมีฉากหลังเป็นช่วงคริสต์มาส หนึ่งในช่วงที่บรรยากาศอบอุ่นกรุ่นหอมที่สุดแห่งปี และ 3) หนังรวมดารายอดฝีมือระดับตัวพ่อตัวแม่เต็มจอไปหมด

มีทั้ง Will Smith, Edward Norton, Kate Winslet, Michael Peña, Helen Mirren, Naomie Harris และ Keira Knightley คือแต่ละคนนี่ของดีของวงการทั้งสิ้น

แต่หนังเรื่องนี้ก็กลายเป็นหนังที่ไม่เข้าเป้าสักเท่าไร ไม่ว่าจะเรื่องรายได้ ที่แม้จะไม่ขาดทุนครับ เพราะหนังทำเงินรอบโลกไป $88 ล้าน จากทุนประมาณ $36 ล้าน แต่หลายคนก็มองว่ามันไม่มากเท่าไร ส่วนแง่คำวิจารณ์ก็เหมือนจะลบมากกว่าบวก

(ถึงจุดหนึ่งบทความนี้จะมีสปอยล์นะครับ ประมาณย่อหน้าที่ 6 เป็นต้นไป เอาเป็นว่าใครไม่อยากรู้ อ่านแค่ 6 ย่อหน้าพอครับ)

สำหรับผมนั้น พอได้ดูแล้วก็อยู่ในข่ายชอบครับ ชอบในประเด็น และชอบรายละเอียดหลายอย่าง แต่กระนั้นก็ยอมรับล่ะว่ารสชาติมันยังไม่กลมกล่อมซะทีเดียว บางอย่างดูขัดดูฝาดในอารมณ์ จนบางจังหวะนี่แอบเหวอเลยว่าทำไมถึงเล่าเรื่องได้ดูขัดๆ แบบนี้

แต่พอคิดสะระตะแล้วก็พบว่ามีจุดที่ชอบมากกว่าจุดที่ไม่โอ และพอจะแนะนำคอหนังได้ว่า หากท่านชอบดาราเหล่านี้ หรือชอบหนังสไตล์ชีวิตว่าด้วยการค้นหาตัวเอง ก็อยากให้ลองลิ้มเรื่องนี้กันดูครับ แต่ผมไม่การันตีนะว่าท่านจะชอบมันไหม

หนังว่าด้วยเรื่องของ ฮาเวิร์ด (Smith) ชายผู้ประสบความสำเร็จที่ต้องมาเสียลูกสาวตัวน้อยไป เขาเลยตกอยู่ในความเศร้าจนแทบไม่เป็นอันทำงาน และที่หนักสุดคือพอเขาไม่ทำงาน สถานภาพของบริษัทก็พลอยง่อนแง่นตามไปด้วย

… พอเล่าถึงตรงนี้ผมก็ตระหนักได้ว่า ผมต้องสปอยล์ครับ อันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ… เอางี้ดีกว่า ใครไม่อยากรู้ผมก็สรุปให้อีกทีตรงนี้ว่า หากท่านเป็นคอหนังชีวิต ก็ลองหยิบเรื่องนี้มาดูได้ครับ เพียงแต่อย่าคาดหวังอะไรให้มาก โดยเฉพาะจากตัวอย่างนี่ พยายามลบๆ มันไปก่อน เพราะมันอาจทำให้คุณสับสนทางอารมณ์เอาได้ง่ายๆ

JS115708737_A-2016-Warner-Bros-Entertainment-Inc-Village-Roadshow-Films-North-America-Inc-and-Ratpa_trans_NvBQzQNjv4BqZgEkZX3M936N5BQK4Va8RWtT0gK_6EfZT336f62EI5U

แล้ววันหนึ่งฮาเวิร์ดก็ส่งจดหมาย 3 ฉบับโดยจ่าหน้าถึง ความตาย, ความรัก และเวลา ประหนึ่งเป็นการบำบัดใจที่บอบช้ำของตน ทีนี้กลุ่มเพื่อนร่วมงานของเขาอันประกอบด้วย วิท (Norton), แคลร์ (Winslet) และไซมอน (Peña) ก็อยากจะหาทางแก้ โดยถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็อาจทำให้ฮาเวิร์ดหมดสิทธิ์ในบริษัทไปเลย

ประจวบเหมาะกับที่วิทได้เจอกลุ่มนักแสดงอย่างบริทเจ็ต (Mirren), เอมี่ (Knightley) และ ราฟฟี่ (Latimore) วิทเลยคิดจะให้ทั้ง 3 มาสวมบทเป็นตัวแทนแห่งความตาย, ความรัก และเวลา เข้าไปหาฮาเวิร์ดและลองช่วยเยียวยาเขาดู เผื่ออะไรจะดีขึ้น

จุดนี้ใครเคยดูตัวอย่างมาอาจสับสน เพราะตอนแรกเราก็นึกว่าพล็อตมาในแนว A Christmas Carol ที่ให้ตัวเอกเจอกับผี 3 ตนเข้ามาเปลี่ยนชีวิตและความคิด เพียงแต่เปลี่ยนจากผีแห่งอดีต, ปัจจุบัน และอนาคต ให้กลายเป็นตัวแทนแห่งความตาย, ความรัก และเวลาแทน

แต่พอมาดูในหนัง เนื้อเรื่องกลับกลายเป็นว่าเพื่อนพระเอกไปจ้างนักแสดงมาแสดง ซึ่งมันก็แอบขัดทางความรู้สึกเหมือนกันน่ะครับ หรือต่อให้ไม่เคยเห็นตัวอย่างมาก่อนก็เถอะ พล็อตอันนี้ก็ถูกเล่าแบบไม่เนียนเท่าไร และในแง่ของการเดินเรื่องแล้ว หนังก็เล่าอะไรเหล่านี้ได้ไม่กลมกล่อมเท่าไร

หลายอย่างมันดูไม่น่าเชื่อน่ะครับ จนผมอดคิดไม่ได้ว่าถ้าตัวหนังให้ 3 ตัวแทนกลายเป็นเทพจริงๆ แล้วเดินเรื่องแบบเหนือธรรมชาตินิดๆ ไปเลย ผลที่ได้มันน่าจะลื่นไหลกว่าเยอะ เพราะหนังจะได้เล่าเน้นที่สาระแบบจัดเต็มไปเลย โดยไม่ต้องห่วงประเด็นอื่น

แต่พอหนังเล่าเรื่องในพล็อตแบบนี้ เลยทำให้หนังต้องใช้เวลาไปกับการปูพื้นเรื่อง “วิทจ้าง 3 นักแสดง” แล้วไหนจะต้องพยายามทำให้การที่ฮาเวิร์ดเชื่อว่า “3 คนนี้คือตัวแทนความหมายทั้งสามจริงๆ” มันดูสมเหตุสมผลอีก ทั้งหมดนี้บอกตรงๆ ว่าหนังยังเล่าได้ไม่เนียน และมันทำให้หนังต้องใช้เวลาไปโดยใช่เหตุ

ผมเชื่อว่าผู้ชมอยากเข้าไปดูเพราะอยากได้สาระชีวิต อยากได้ข้อคิดประดับหัว อยากได้หนังดีที่มีคุณค่าไว้เอามาสอนใจ แต่พอหนังใช้เวลากว่าครึ่งไปกับการปูพื้นเรื่องดังกล่าว เลยออกจะผิดจุดไปหน่อยน่ะครับ อันนี้เสียดายมาก

beaute-cachee-e1527330329267

และประเด็นที่สำคัญคืออะไรรู้ไหมครับ คือสรุปว่า 3 นักแสดงนี่จริงๆ ก็คือเทพทั้ง 3 ตัวจริงนั่นแหละ (จากที่หนังนำเสนอให้ตอนท้าย มันชวนให้คิดไปแบบนั้นน่ะครับ พวกเขาต้องเป็นเทพจริงๆ แน่) ดังนั้นแล้ว การนำเสนอแบบที่หนังใช้นี่ ดูเหมือนจะเป็นความพยายามให้หนังมันมีชั้นเชิงนะ แต่ในแง่หนึ่งมันคือการอ้อมโลกโดยไม่จำเป็น คือเล่าตรงๆ ไปเลยน่าจะดีกว่า

แต่กระนั้นผมก็พอเข้าใจล่ะครับว่าทำไมหนังถึงเดินเรื่องแบบนี้ ก็เพราะหนังมันมีพล็อตรองว่าด้วย 3 เพื่อนของฮาเวิร์ดที่จริงๆ ก็มีปมในใจเหมือนกัน อย่างวิทก็มีปมเกี่ยวกับความรัก, แคลรก็มีปมเกี่ยวกับเวลา ส่วนไซมอนก็มีปมเกี่ยวกับความตาย ดังนั้น 3 นักแสดงที่ว่าก็จะมีโมเมนต์มาให้กำลังใจหรือให้แง่คิดดีๆ กับเพื่อนทั้ง 3 ของฮาเวิร์ดเหมือนกัน

ทว่าเวลามันจำกัดน่ะครับ พล็อตหลักพล็อตรองที่ “มีดี” มันเลยไปไม่สุด และด้วยความที่หนังมีรายละเอียดเยอะอย่างที่บอก การพยายามยัดเรื่องราวของตัวละครตั้งหลายตัวใส่ลงไปในหนังที่ยาวแค่ 90 นาที มันเลยเป็นอะไรที่ชวนให้เสียดายของจริงๆ

ยอมรับว่าระหว่างดู ผมรู้สึกว่าดาราแต่ละคนก็พยายามแสดงกันอย่างดีล่ะครับ แต่หลายครั้งก็รู้สึกว่าพวกเขายังตีบทไม่แตก ซึ่งถ้ามองในแง่ความสามารถผมว่าแต่ละคนเล่นได้อยู่แล้วล่ะไม่ว่าบทจะหนักหรือซับซ้อนแค่ไหน แต่ดูท่าว่าแม้แต่ตัวบทในสคริปเองหรือทิศทางของหนังเองก็ยังไม่ชัดว่าจะให้ไปทางไหน และมันก็รู้สึก “เหมือน” ดาราแต่ละคนตีความบทไปในทิศทางของตนเอง มันเลยมีอยู่หลายวาระเหมือนกันที่การแสดงดีๆ ของพวกเขามันดูขัดกันในทางอารมณ์

คนที่เล่นได้พอดีที่สุดก็ต้องยกให้ Mirren ครับ เธอคุมขอบเขตบทของเธอได้เหมาะ และแผ่บารมีได้ในระดับกำลังดี ไม่ข่มตัวละครอื่นๆ เป็นตัวละครที่ดูกลมกล่อมกับเรื่องมากที่สุดแล้วครับ และอีกคนที่บทถือว่าพอเหมาะก็คือ Harris ครับ เหุที่เป็นแบบนั้นก็คงเพราะบทของเธอแยกเป็นเอกเทศจากตัวละครอื่นๆ ไม่ได้ข้องแวะกับใครเลยนอกจาก Smith เลยทำให้บทของเธอดูมีทิศทางชัดที่สุด

ส่วน Smith, Norton, Winslet, Pen และ Knightley จริงๆ ก็เล่นดีครับ แต่ตัวละครมันไม่ชัด อย่าง Smith ก็ดูจะเศร้าและเครียดตลอด แต่พอถึงฉากที่เขาเจอ Mirren ที่เป็นตัวแทนของความตาย โทนมันกลับออกมาในเชิงตลกซะอย่างงั้น มันเลยกลายเป็นเวลาการแสดงฉากนี้มันดูขัดกับฉากนั้น

ถ้าถามว่าผมชอบการแสดงฉากไหนของเขาที่สุด ผมว่าผมชอบตอนเขาเล่นกับ Harris ครับ มันเป็นบทที่พอดี ผสมกันระหว่างเศร้า, เครียด และโรแมนซ์นิดๆ ได้แบบลงตัว ซึ่งก็สอดคล้องกับตอนจบครับ จนบอกได้เลยว่าในบรรดาสารพัดพล็อตในหนังเรื่องนี้ ผมชอบเส้นเรื่องของ Smith และ Harris ที่สุดแล้ว

collateral-beauty-2016

นี่น่าจะเป็นหนึ่งในหนังที่ให้อารมณ์แปลกมากสำหรับผมครับ คือถ้าถามว่าอยากดูซ้ำไหม ผมก็ว่าผมอยากดูอีกนะ แต่อยากดูเป็นฉากๆ อยากดูแค่บางโมเมนต์เท่านั้น ประมาณว่าอยากดูฉากที่ “3 ตัวแทน” มาคุยกับฮาเวิร์ดและคุยกับตัวละครอื่นๆ น่ะครับ มันมีแง่คิดดีๆ อยู่เหมือนกัน… ผมว่าถ้าผมสคิปดูเฉพาะเส้นเรื่องที่ว่า โทนหนังมันอาจดูดีขึ้นมาก็ได้

ผมไม่อยากจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ดีครับ เพราะจริงๆ มันมีดีนะ มันมีความตั้งใจและเจตนาที่ดี “แต่มันมีวิธีเล่าเรื่องที่ผิด” ผลที่ได้เลยจัดอยู่ในข่ายดีได้อีกถ้าโฟกัสทิศทางเรื่องราวให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งพอมาดูชื่อคนเขียนบทแล้วก็พอจะถึงบางอ้ออยู่เหมือนกัน เขาคือ Allan Loeb ที่แจ้งเกิดจากบทหนัง Things We Lost in the Fire และ 21 แต่บทหนังเรื่องอื่นๆ หลังจากนั้นมักจะคล้ายกับเรื่องนี้ คือ “มันมีดี แต่เล่าเรื่องได้ยังไม่ดี” ตัวอย่างผลงานอื่นๆ ของเขาก็เช่น Just Go with It, Here Comes the Boom, Wall Street: Money Never Sleeps และ Rock of Ages (โดยเฉพาะเรื่องหลังนี่เป๋หนักมากจนผมยังงง)

ส่วนผู้กำกับคือ David Frankel (The Devil Wears Prada, Marley & Me และ Hope Springs) ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ผมว่าเขาก็พยายามคุมอะไรหลายๆ อย่างแล้วล่ะครับ แต่พอบทมันไม่นิ่ง ผลที่ได้เลยไม่กลมกล่อม

เอาเป็นว่าจะลองลิ้มก็ได้นะครับ เพราะอย่างที่บอกว่าหนังมันมีดีในตัวอยู่ไม่น้อย แต่การเล่าเรื่องและทิศทางมันเหวอไปหน่อยเท่านั้นเอง ^_^

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)