รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Confessions of a Shopaholic (2009) เสน่ห์รักสาวนักช้อป

confessions-of-a-shopaholic.41457

ผมรู้สึกดีที่ระยะหลังๆ มีหนังสไตล์ How to สอนคนให้รู้จักใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ อย่าง Yes Man ก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งการดูหนังพวกนี้เมื่อมาผสมกับการคิดเพิ่มรอยหยักในสมองสักนิดก็จะทำให้เราเห็นแนวทางการใช้ชีวิตที่เหมาะควร รู้ทันใจตนและเข้าใจโลกมากขึ้น อะไรแบบนี้แหละครับถึงจะเรียกว่าคืนกำไรตอบแทนคนดู

Confessions of a Shopaholic สร้างจากหนังสือดังของ Sophie Kinsella ซึ่งตัวหนังมีองค์ประกอบเปลี่ยนไปหลายอย่างเหมือนกัน ก็แน่ล่ะครับว่าฉบับหนังสือมีรายละเอียดกับแง่มุมชวนคิดเยอะกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนบอกว่าหนังสือสนุกกว่า แต่ถ้าว่ากันในฐานะหนังเรื่องหนึ่ง Shopaholic ก็ถือว่าสนุกสนานไม่ผิดหวัง

กำลังสำคัญที่ทำให้หนังออกรสตั้งแต่ต้นจนจบคือ Isla Fisher สาวน้อยที่ผมปลื้มตั้งแต่สมัยเล่น Scooby Doo กับการรับบท รีเบคก้า บลูมวู้ด แม่สาวคลั่งช้อปได้น่ารักสุดขีด ฉากแรกที่ได้ใจไปเต็มๆ คือตอนที่เธอเห็นผ้าพันคอสีเขียวเป็นครั้งแรกแล้วเกิดอยากได้ หน้าตาท่าทางเธอเหมือนโดนสะกดยังไงยังงั้น ไหนจะแววตาบ้องแบ้วกลมโตที่สื่อว่า “โอ้ ฉันอยากได้ผ้าพันคอนี้ มันถูกสร้างมาเพื่อฉัน” โอ้ แม่เจ้า แววตาแบบนี้ใช่เลย ดูแล้วเชื่อว่าแม่สาวคนนี้เข้าขั้นคลั่งช้อปตัวแม่ ไหนจะตอนหาข้อแก้ตัวสารพัดสำหรับการช้อปอีก ยกนิ้วให้เลยจริงๆ

หนังสามารถจัดไปเข้าชุดกับ The Devil Wears Prada ได้เลยครับ ถ้าคุณชอบเรื่องนั้นก็น่าจะโอเคกับเรื่องนี้ ดีกรีความเยี่ยมกับสไตล์จัดว่าพอๆ กัน (แต่เรื่องนั้นมี Meryl Steep พลังเลยสูงกว่าหน่อย) ส่วนเนื้อในของหนังก็เข้ากับกระแสปัจุบันดีครับ สอนให้ตระหนักในเรื่องการใช้เงิน บริหารเงินให้เป็น พยายามอย่าไปหลงระเริงกับของสวยงามราคาแพงหรือคำโฆษณาสวยหรูที่พยายามล้วงเงินจากกระเป๋าหรือรูดเงินจากบัตรเครดิตของคุณไป สิ่งที่ควรทำคือการซื้อของเท่าที่จำเป็น ต้องรู้จักถามตัวเองว่าเราอยากได้ของชิ้นนั้นเพราะมันจำเป็นจริงๆ หรือเป็นเพียงความอยาก เป็นเพียงกระแสแฟชั่นที่มักจะมาไม่นานแล้วก็ตกรุ่นไป แล้วก็มีของใหม่มาให้เราเสียเงินไปเรื่อยๆ ของแบบนี้เราก็ต้องรู้ทันกลยุทธ์การตลาดของสินค้าด้วยนะครับ และที่สำคัญที่สุดคือรู้เท่าทันใจของเรา จับให้ทันก่อนจะตัดสินใจจับจ่ายออกไป แหม เรื่องแบบนี้มันน่า Fresh Up อีกแล้วล่ะสิ (อิอิ ได้เรื่องเขียนแล้ว)

เป็นการกลับมาที่น่าพอใจของ P.J. Hogan (My Best Friend’s wedding, Muriel’s wedding และ Peter Pan) รสชาติกลมกล่อมดี มีสาระกำลังเหมาะ และยังเป็นการกลับมาจับงานเอาใจสาวๆ ของผู้อำนวยการสร้าง Jerry Bruckheimer หลังจากห่างหายไปนานตั้งแต่ Coyote Ugly โน่นแน่ะ โดยรวมก็ไม่ผิดหวังนะ ยังมีซาวน์แทร็กเพราะๆ เป็นส่วนผสมอยู่เช่นเคย (แต่ยังไม่ติดหูเท่าไร) ถือว่าหนังผสมสูตรสำเร็จกับแนวคิดได้ดีครับ

แล้วหนังก็น่าจะแจ้งเกิด Hugh Dancy (Blood and Chocolate) ได้ซะที หลังจากคั่วมาหลายเรื่องแต่ยังไม่เข้าเป้า กับบทพระเอกหล่อ ฉลาด นิสัยดี รักความก้าวหน้า รู้จักแยกเหตุผลกับอารมณ์ แล้วยังไม่หลงระเริงกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อีกด้วย ครบสูตรเทพบุตรขนานแท้ หนุ่มๆ ที่อยากสมาร์ทลองศึกษาตัวละครนี้ให้ดีๆ ครับ คุณจะได้ทริกสุภาพบุรุษน่ารักๆ ติดตัวแน่นอน อย่างในตอนท้าย (อันนี้สปอยล์นิด ไม่อยากทราบข้ามโลด) หลังจากเขารู้ว่ารีเบคก้าโกหก แม้จะโกรธจัด แต่พอไปอยู่ต่อหน้าผู้บริหาร พี่ท่านก็สงบอารมณ์พูดอย่างเป็นกลางว่า แม้รีเบคก้าจะทำไม่ถูก แต่หากเป็นเรื่องงานแล้วเธอก็เป็นคนที่มีฝีมือ ไม่ทำให้ใครต้องผิดหวัง… โอ้พี่ แมนโคตร

แค่จุดนี้ก็น่าเอาไปคิดตามแล้วครับคุณหนุ่มๆ ทั้งหลาย เวลาที่คุณไม่พอใจคนรัก คุณทำอย่างไรบ้าง… คุณโวยวายกับใครๆ แล้วเผาแฟนจนไม่เหลือซากหรือเปล่า คุณเอาแต่บ่นว่ามองเธอในแง่ลบหรือไม่ คุณให้เกียรติเธอตอนลับหลังสักแค่ไหน อืมม์ แล้วผมก็ได้อะไรไป Fresh Up อีกหนึ่งประเด็นจนได้ จัดเป็นหนังที่จุดประกายมุมคิดได้ทั้งชายและหญิงเลยนะครับ ยิ่งคิดยิ่งคุ้มขึ้นเรื่อยๆ แฮะ

เป็นหนังอีกเรื่องที่เชียร์ให้ไปชมครับ สนุก ฮา เดินเรื่องน่าติดตามและน่าคิดตามในหลายประเด็น ผมเชื่อว่าคุณจะต้องได้ทริกการใช้ชีวิตกลับมาเป็นกำไรแน่นอน ไหนจะมีดารามือเก๋าๆ มาช่วยเพิ่มรสอย่าง John Goodman กับ Joan Cusack ในบทพ่อแม่ผู้น่ารักแล้วก็ John Lithgow ที่ไม่ได้เจอตั้งนานมาเป็นเอ็ดการ์ เวสต์ โหงวเฮ้งแกเหมาะเป็นนักธุรกิจจริงๆ แต่เสียดายนิดๆ ที่บทอเล็ตต์ของ Kristin Scott Thomas ไม่ค่อยมีสีสันดังคาด

นี่ผมเชียร์ให้หนังดังอยู่นะครับ เพราะนิยายชุด Shopaholic น่ะยังมีอีกหลายเล่ม แต่ละเล่มก็มีเรื่องสนุกๆ รออยู่ ไหนจะเรื่องแต่งงานและปัญหาชีวิต น่าจะเป็นหนังชุดสอนหญิงที่น่าสนใจอีกเรื่องเลยล่ะครับ แต่ทำแล้วอย่าเหลวก็แล้วกัน ใช้บริหาร เฮีย P.J. กำกับไปเรื่อยๆ ก็น่าจะดีนะ

ถ้าพร้อมแล้วก็รีบไปดูเพื่อยกระดับความคิดได้เลย… และจำไว้ อย่าเป็นทาสบัตรเครดิตเชียวนะครับ

ถัดจากนี้เป็นที่ผมเขียนไว้ในคอลัมน์ Fresh Up Your Feeling นะครับผม

confessions_of_a_shopaholic16

 

Are You Shopaholic?

ถามโต้งๆ แบบไม่อ้อมไม่ค้อมเลยนะครับ คุณเป็นคนติดช้อปหรือเปล่าเอ่ย ประเภทว่าเสพติดการช้อปปิ้งขนานหนัก เห็นของลดราคาแล้วอยากได้จับจิต เห็นของที่ชอบแล้วมันอดใจไม่ได้ที่จะเข้าไปลูบคลำ สัมผัสผิวของมันอย่างช้าๆ แล้วพยายามบอกกับตัวเองว่า “ไม่ ฉันแค่มาดู ไม่นานก็ไปแล้ว” แต่สักพักสมองจะเริ่มคำนวณเหตุผลว่าทำไมถึงสมควรซื้อของชิ้นนี้ มันจะมีประโยชน์อย่างไรกับชีวิตบ้าง และที่น่าพิศวงคือยิ่งคิดคุณจะยิ่งพบเหตุผลที่ต้องซื้อของชิ้นที่ว่ามากมายเต็มไปหมด ส่วนเหตุผลว่าไม่ต้องซื้อก็จะโดนแก้ต่าง เช่น อย่าซื้อเลยเดี๋ยวเงินหมด… แล้วสักพักสมองจะโต้ตอบแบบอัตโนมัติว่า “แต่มันอาจหาไม่ได้อีกแล้วนะ ส่วนเงินน่ะหาใหม่ได้” หรือไม่ก็พยายามบอกตัวเองว่า “ฉันมีเยอะแล้ว ฉันไม่ต้องการมันอีก” แล้วสักพักความคิดก็จะแซงเลนซ้ายส่วนขึ้นมา “แต่ของชิ้นนี้ไม่เหมือนที่มีในบ้านเลยนะ เนี่ย เสื้อนี่มีตั้ง 6 กระดุม ส่วนที่บ้านมีแค่ 5 กระดุมเอง” สรรหาสารพัดเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองว่าต้องซื้อของชิ้นนี้ให้ได้

… จากนั้นครู่หนึ่ง รู้ตัวอีกทีคุณก็จะพบว่าในมือมีถุงใส่ของพร้อมใบเสร็จเรียบร้อย… มายก๊อด… ฉันช้อปอีกแล้ว

โปรดตอบอีกครั้งหนึ่ง คุณติดช้อปหรือเปล่า… ตอบมาเถอะครับไม่ต้องเหนียมอาย เพราะคนที่มีอาการแบบนี้มีอยู่ทั่วทั้งโลก สาวๆ กับการช้อปปิ้งนั้นเป็นของเกือบจะคู่กันอยู่แล้ว หนุ่มๆ หลายคนก็เป็น ซึ่งจริงๆ แล้วการจะจับจ่ายซื้อของ หากมันไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน คุณมีฐานะและทรัพย์สินพอจะซื้อได้นั่นก็คงไม่ก่อปัญหา แต่หากถึงขนาดต้องซื้อของตลอด ไม่ซื้อแล้วลงแดง อีกทั้งยังนำพาให้คุณเผชิญกับเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน อันนี้แหละเริ่มส่อลางมรณะว่าคุณกำลังจะแย่เพราะ “หนี้” เสียแล้ว โอ้ คำนี้น่ากลัวจนมีคนเอาไปตั้งเป็นว่า “การไม่มีหน้าเป็นลาภอันประเสริฐ” … ใครไม่มีหนี้ขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วย… สาธุ

เกริ่นขนาดนี้เรื่องที่ผมพูดต้องเกี่ยวกับ Confessions of a Shopaholic ว่าด้วยสาวน้อยคลั่งช้อปที่เล่นซะเป็นหนี้จนต้องหาทางใช้หนี้ แล้วก็ได้พบรักกับเจ้านาย ตามด้วยการได้ศึกษาวิธีการบริหารเงินขนานใหญ่ จนสามารถลุกขึ้นมายืนหยัด ปรับปรุงชีวิตใหม่ไม่บ้าช้อปอีก แล้วยังกระจายความรู้ที่มีให้กับคนอื่นๆ ด้วย

โดยส่วนตัวผมมองว่าหนังเรื่องนี้เข้ากับเศรษฐกิจโลกตอนนี้อย่างยิ่ง ก็ดูสิครับ เศรษฐกิจผันผวน น้ำมันขึ้นๆ ลงๆ ทองคำก็พุ่งแรงมากขณะที่ผมกำลังปั่นต้นฉบับนี้ก็แตะหลัก 16,000 ต่อหนึ่งบาท ลองว่าเศรษฐกิจมันเล่นบันจี้จั๊มพ์ขาลงขนาดนี้ การรู้จักบริหารทรัพย์สินเงินทองของคุณจึงเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้ ถ้าเริ่มแล้วผมก็ยินดีครับ แต่ถ้ายังรีบมาเริ่มกันดีกว่า สำหรับแนวทางการจัดการเงินนั้น ก็ไม่ยากครับ แค่หาให้เป็น ใช้ให้เป็น และเก็บให้เป็น สามตัวจำง่ายๆ หลักการออมหรือยุทธศาสตร์การเงินที่อลังการมีหนังสือออกมาไม่รู้กี่ร้อยเล่ม ทว่าแท้จริงมันก็เริ่มจากสามเรื่องหลักๆ นี่แหละครับ ถ้าบริหารได้ก็ฉลุย แต่หากไม่จัดการให้ดีก็จะมีวิบากกรรมแบบ รีเบคก้า บลูมวู้ด (อิสล่า ฟิชเชอร์) นางเอกของเรื่องนี่แหละ ใช้เงินลืมคิดแล้วติดหนี้หัวบาน ไหนงานยังมาบินหนีไปอีก แหม สงสารเธอเหมือนกันครับ ตอนดูกผมก็คอยเอาใจช่วยให้เธอชนะการติดช้อป กู้ชีวิตใหม่ให้สำเร็จให้ได้

เอาล่ะ ดังนั้นในเบื้องต้นการเอาชนะอาการติดช้อปคือแนวทางหนึ่งสำหรับการ “ใช้ให้เป็น” นะครับ เรามารู้จักเจ้าอาการ Shopaholic กันอีกสักหน่อยดีกว่า

 

What is Shopaholic?

ลักษณะการบ้าช้อปปิ้งนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Oniomania หรือ Shopaholism ซึ่งเริ่มได้รับการกล่าวถึงตั้งแต่ราวๆ ปี 1915 อาการก็คงพอจะทราบกันดีนะครับ คือการที่คนต้องทำการช้อปปิ้งเรื่อยๆ ซื้อของเพื่อตอบสนองความต้องการตนเองโดยขาดความยั้งคิดหรือไม่ก็ย้ำคิดย้ำทำระหว่างการตัดสินใจซื้อของอยู่นานจนในที่สุดก็แพ้ใจยอมซื้อหาของชิ้นนั้น ถ้าหากเป็นขั้นหนักก็จะถึงขั้นหมดความสามารถในการควบคุมตนเองโดยสิ้นเชิง จากสถิติล่าสุด (ปี 2008) ในอเมริกาพบว่ามีคนคลั่งช้อปแบบเต็มขั้นถึง 8.9% จากประชาชนอเมริกันทั้งหมด (แน่นอนว่ายังมีอีกจำนวนมากที่เป็นแต่ยังไม่เต็มขั้น) จนทางอเมริกาและอีกหลายประเทศเริ่มตื่นตัวมองว่านี่คือปัญหาอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถปล่อยปละได้อีก เพราะมันส่งผลกระทบถึงชีวิตคนรวมไปถึงระบบเศรษฐกิจได้

ไม่ว่าจะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะเงินมักไหลไปหาคนรวย (ก็คนรวยทั้งนั้นไม่ใช่หรือที่เป็นเจ้าของสินค้าที่คุณติดใจช้อปกันน่ะ) ส่วนคนจนก็ใช้เอาๆ เพราะโดนยุทธศาสตร์การจูงใจตลอดทำให้ต้องการซื้อมาผสมกับการไม่รู้จักคุมความอยากของตน แล้วก็ลงเอยด้วยการใช้เงินเกินตัว เป็นหนี้เป็นสิน… คุณคงจำได้นะครับว่าเราเคยพังพาบกันเพราะใช้เงินเกินตัวกันมาแล้วหลายรอบมาก

ผู้ที่มีลักษณะการคลั่งช้อปมักรู้สึกแฮ้ปปี้เมื่อตนได้ซื้อของที่หมายตาไว้ เป็นช่องทางหนึ่งในการคลายความเศร้า หลีกหนีปัญหาที่กำลังประสบอยู่ อย่างที่เราชอบเรียกกันว่าให้รางวัลตนเองไงครับ หลายคนเริ่มเป็นคนคลั่งช้อปก็เพราะซื้อของเพื่อให้ตนมีความสุข เครียดเรื่องอะไรมาไม่ทราบแต่อย่างน้อยฉันก็ให้รางวัลตนเองได้ก็แล้วกัน ซึ่งหากทำแบบนี้เป็นครั้งคราวก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนมากคนคลั่งช้อปมักติดเป็นนิสัย ทุกครั้งที่มีเรื่องไม่สบายใจก็เพื่อให้รางวัลตัวเอง ให้มันอยู่นั่นแหละ จากระยะแรกที่จะให้รางวัลตนเองเฉพาะตอนเจอปัญหาใหญ่ ก็จะเริ่มแผ่ขยายลุกลามครับ เจอปัญหาไม่ใหญ่ก็จะเอารางวัลปลอบใจท่าเดียว ขนาดโดนเจ้านายด่าเรื่องลืมปิดไฟแค่เนี้ยมันยังหาเรื่องซื้อของได้เลย สุดท้ายก็ติดครับ เป็นคนคลั่งช้อปในที่สุด ซึ่งสำหรับเขาเองมันก็ดูสมเหตุผลดีนะครับ ก็ซื้อแล้วฉันเป็นสุข ทำไมต้องหยุดด้วยล่ะ แต่ดูรีเบคก้าสิครับ ใช้จนเป็นหนี้เกินตัวแบบนี้ชักจะไม่ดีแล้วล่ะเน้อะ

CONFESSIONS OF A SHOPAHOLIC

 

Look Closer for This

เราลองมามองให้ลึกอีกสักหน่อยว่าการช้อปปิ้งนั้นมันไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ใครก็ทำกันได้ แต่มีข้อแม้อยู่ว่าการช้อปปิ้งนั้นต้องอยู่บนความพอดี ไม่ให้เดือดร้อนกระเป๋าเรามากเกินไป และต้องมาพินิจให้ดีว่าเราจำเป็นต้องซื้อแค่ไหน เราซื้อเพราะอยากหรือด้วยความจำเป็น คงไม่ต้องบอกนะครับว่าการซื้อแบบพอดีพอใช้มันดีกว่าฟุ่มเฟือยแค่ไหน เราจะได้ของเท่าที่ต้องการจริงๆ ในชีวิต ซ้ำยังมีเงินเก็บไว้สำรอง บางคนอาจบอกว่าจะสำรองเงินไปทำไม คนเราเกิดหนเดียวตายหนเดียว ยังไงตอนยมบาลมาพาตัวไปก็เอาเงินไปไม่ได้ อันนี้ไม่เถียง แต่โปรดมองให้ลึกว่า “แล้วระหว่างที่ยมบาลยังไม่มาเอาตัวเนี่ย เกิดเงินหมดหรือเป็นหนี้แล้วจะเอาอะไรกิน” ถ้าจะบอกว่าใช้ไปแล้วหาใหม่… แล้วเกิดดวงมันกุดแบบรีเบคก้าที่บริษัทเจ๊งพอดีล่ะ คุณจะทำยังไง มืดเก้าสิบเก้าด้านกันพอดีจริงไหมครับ

ที่ผมพยายามชี้ให้เห็นคือ การช้อปโดยไม่ยั้งคิดสามารถนำปัญหาชีวิตระดับบิ๊กมาสู่เราได้ คนไหนไม่เคยประสบสภาวะเงินตึงตัวย่อมยากจะเข้าใจ แต่ผมเองก็เคยครับ เมื่อสองปีก่อนผมก็ตระหนักว่าตัวเองก็คลั่งช้อปไม่ใช่เล่น ช้อปหนังครับ ช้อปวีซีดี ดีวีดี สารพัดชนิดแบบเต็มเหนี่ยว ยอมรับนะครับว่าสมัยก่อนตอนเดินผ่านร้านขายหนังพวกนี้แล้ว มันเหมือนมีพลังบางอย่างดึงเราเข้าไป ชวนให้เราคิดว่า แค่แวะเข้าไปคงไม่เป็นไรหรอกน่า สักพักก็เข้าไปสัมผัสกล่องหนัง ดูหน้าปก อ่านเรื่องราว กับทีมงานเบื้องหลัง มันเหมือนในหนังเลยที่รีเบคก้าโดนหุ่นโชว์กวักมือเขาไป แล้วก็หว่านล้อมให้ซื้อ (จริงๆ คือเรานี่แหละที่หว่านล้อมตัวเอง) ผมก็เป็นครับ หว่านตัวเองนี่แหละ อย่างครั้งหนึ่งจำได้ยืนยื้อยุดตัวเองอยู่นานมากว่าจะซื้อ Schindler’s List (1993) เวอร์ชั่น DVD แบบ Collector’s Edition ดีหรือไม่ อ้อ แต่บอกก่อนว่าผมน่ะมีแผ่นวีซีดีอยู่แล้วนะครับ แต่ตอนนั้นใจมันอ่อนแรง เห็นกล่องแล้วใจระทวย อยากเข้าไปใกล้ พอสัมผัสครู่หนึ่งเสียงเริ่มมาแล้วครับ “เฮ้ย ดูกล่องสิออกแบบดีจะตาย แล้วหนังก็ดีติดอันดับโลกทำไมเราไม่ซื้อเก็บล่ะ นิดหน่อย คุ้มนะ” แต่อีกใจก็พยายามดึงตัวเองนะ “ไม่เอาน่า เรามีวีซีดีแล้ว” ซักพักอีกใจรีบเถียงเลย “แต่มันไม่มีเบื้องหลังนะ อีกอย่างดีวีดีชัดกว่า แล้วไม่ต้องกลัวเปลืองเพราะยังไงเราทำงานเกี่ยวกับหนังเราก็ค่อยใช้หนังเรื่องนี้เขียนบทความหาเงินกลับมาก็ได้ ไม่ต้องคิดมาก ซื้อเลยๆ”… มันมาได้เรื่อยๆ อ้ะครับท่านที่เคารพ เราค้านเท่าไรเจ้าความอยากมันก็หาเหตุผลบ้าบอกมาตีทุกอย่างแตกยับ

เหตุทำนองนี้เกิดกับผมบ่อยมากเมื่อสมัยก่อน เข้าห้างผ่านร้านหนังทีไร อดไม่ได้ที่จะเข้าไปแล้วก็หยิบติดมือมาซักเรื่อง และที่เด็ดสุดคือซื้อมาแล้วได้ดูไหม… ในตอนนั้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วผมมีหนังที่ซื้อมาด้วยพลังแห่งความอยากแล้วยังไม่ได้ดูกองอยู่ที่บ้านร่วม 300 เรื่องเป็นอย่างต่ำ! โอ้ พระเจ้า… ผมติดช้อปนี่หว่า เพราะซื้อแล้วแฮ้ปปี้ ซื้อแล้วมันสบายใจ มีอะไรไม่สบายใจก็ปลดปล่อยด้วยการเสียเงินซื้อของชอบสักหน่อย สบายแฮ

จริงๆ แล้วเรื่องการติดช้อปนั้นมันเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ เลยนะครับ อย่างเด็กเล็กๆ ที่ขาดความอบอุ่นจนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เห็นว่าตนไร้ความสำคัญ มีความภูมิใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) เลยทดแทนเติมเต็มด้วยสิ่งของครับ เช่น ของเล่นหรือวัตถุต่างๆ บางคนที่พ่อแม่รวยแต่ไม่มีเวลาให้เลยซื้อของให้ลูกแทนที่จะมอบความอบอุ่น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการสร้างผู้ใหญ่คลั่งช้อปในอนาคตนะครับ

นอกจากนี้สังคมก็มีบทบาทสำคัญมากในการทำให้คนคลั่งช้อป ไม่ว่าจะการตัดสินคุณค่าของคนเพียงแค่เสื้อผ้าสวมใส่หรือของใช้ติดตัวที่ถ้ามีราคาก็จะทำให้คนผู้นั้นมีค่าในสายตาคนอื่น ทำให้คนจำต้องช้อปเพื่อรักษาหน้าตนเอง จะเห็นได้ว่าสังคมที่เอาแต่มองคนจากเปลือกนอกมันไม่ใคร่จะน่าอยู่เท่าไรเลยนะครับ

และตัวเร่งล่าสุดที่ทำให้คนคลั่งช้อปคือ สารพัดนวัตกรรมที่ทำให้คนรู้สึกว่า “การช้อปเป็นเรื่องง่าย สบายๆ” อย่างเจ้าสารพัดบัตรเครดิต รูดปรื้ดๆ ผ่อนสบายแท้, หากอยากได้เงินด่วนก็เอารถเอาบ้านไปแปะ แป๊บเดียวได้เงินทันที แสนสบายอีกแล้วครับ หรือเงินไม่พอก็ผ่อนได้ กู้ได้ สบาย สบาย… ยอมรับครับว่าคนคิดแคมเปญหรือโปรโมชั่นพวกนี้เก่งขั้นเทพ จับเอาจุดอ่อนที่สุดของมนุษย์มาเล่นได้ เพราะเราทุกคนล้วนชอบ “ความง่าย และความสบาย” ดังนั้นหากอะไรที่ทำแล้วง่าย เป็นทางลัดที่แสนรวดเร็ว เราก็พร้อมจะเดินตามเส้นทางนั้น โดยไม่สนว่ามันจะส่งผลต่ออนาคตอย่างไร รู้เพียงว่าตอนนี้มันทำให้ฉันสบายได้ก็เกินพอแล้ว เมื่อก่อนต้องเสียเงินทีละหลายหมื่นกว่าจะได้ทีวีจอยักษ์ แต่ตอนนี้คุณผ่อนได้ตามสะดวก จ่ายแค่ไม่กี่พัน แหม แบบนี้ทำไมจะไม่เอา

ไม่เถียงครับว่าตอนต้นน่ะสบาย ตอนเราจ่ายค่าบัตรเครดิตตรงก็แสนสบาย แต่พอเราติดหนี้เมื่อไร เราจะกลายสภาพจากลูกค้าเทวดาเป็นหมูหมาข้างถนน พวกพี่แกจะโทรมาจิกเช้าทวงเย็นวันดีคืนดีก็ขู่ฟ่อๆ ว่า “จะฟ้องแล้วนะ คุณเสร็จแน่ถ้าถึงศาล คุณโดนยึดทรัพย์แน่นอน เนี่ย ยื่นเรื่องให้ศาลแล้ว” น้ำเสียงดุกว่าโคตรมารดาเราเสียอีก ขอกระซิบเถอะครับ ไอ้ที่บอกว่ายื่นๆ น่ะส่วนใหญ่เขาขู่ให้คุณรีบเอาเงินมาใช้หนี้… แต่มันก็ไม่คุ้มเลยจริงไหมครับ ต้องมาเสียสุขภาพจิตแบบนี้… ทำไมเราต้องไปวางกับดักให้ตัวเองลำบากด้วยล่ะ

15246_002

Stop! Shopaholic!

แม่สาวรีเบคก้ายังคิดได้เลยว่าชีวิตติดช้อปของเธอมันทำลายความสุขได้ยาวนานแค่ไหน คุณก็อย่าลืมพิจารณาสักหน่อยนะครับว่าการซื้อของโดยไม่ยั้งคิดมันอันตราย หรือต่อให้คิดก็เข้าข้างตัวเองว่า “ฉันเกิดมาเพื่อของสิ่งนี้!” โธ่ ไม่มีอะไรเกิดมาเพื่อคุณหรอกครับ เราคิดปรุงแต่งไปเองทั้งนั้นแหละ ได้เวลามองให้ดีแล้วครับ ว่าหากยังไม่หยุดการคลั่งช้อปจนเกินไปมันจะทำให้คุณหมดเงินและอาจจะหมดอนาคตได้ ผมจึงอยากให้คุณทุกคนที่ชอบหนีปัญหาด้วยการซื้อรางวัลให้ตนเองประจำจนเสพติดช้อป แล้วยังต้องซื้อของแพงด้วยเนี่ย ปรับแก้โดยด่วนครับ

ผมล่ะชอบมากฉากที่รีเบคก้าค้นพบความจริงว่าถุงมือแคชเมียร์แท้ราคาแพงนั้นแท้จริงแล้วมันมีแคชเมียร์แค่ 5% เท่านั้น เราต้องรู้ทันนะครับสำหรับเรื่องพวกนี้ เช่นเดียวกับรู้ทันมนต์มายาของบัตรเครดิต มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คุณคิดหรอกครับ มันต้องมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ มันจะทำให้คุณสบายที่สุดเพื่อที่คุณจะได้จ่ายผ่านบัตรเยอะๆ… มันอาจไม่ทำร้ายคุณโดยตรง แต่มันก็เอาเงินไปจากคุณ และไม่เคยเตือนให้คุณระวังการใช้เงินเลย… น่ากลัวนะ

สำหรับคนที่ซื้อเพื่อคลายทุกข์ ก็ควรมองให้ชัดนะครับว่ามันเป็นการแก้ทุกข์ได้จริงเหรอ… คิดตรรกะดูสิครับ ฉันทุกข์เรื่องงาน เลยต้องซื้อของคลายทุกข์… ตรรกะบ้านป้าเหรอครับ มันเข้ากันตรงไหนอ้ะ ซื้อของมันเกี่ยวกับงานเรอะ เราต้องมองชัดๆ ว่าความทุกข์แท้ๆ อยู่ที่ใจ เราต้องรักษาที่ใจครับ ค่อยๆ ให้เวลาตัวเองในการแก้ปัญหานั้น

จริงที่เมื่อเราทุกก็ต้องหาทางออก แต่ใช่ว่าต้องซื้อของอย่างเดียว เราทำอย่างอื่นที่เสียเงินน้อยกว่าก็ได้ เช่น นัดทานอาหารกับเพื่อน เช่าหนังมาดู เดินเล่น ออกกำลัง… นี่ก็อีก ฟิตเนสที่ต้องจ่ายเป็นหมื่นๆ กับวิ่งออกกำลัง ตีแบตหรือขี่จักรยานรอบสวนจตุจักร มันก็ออกเหมือนกันน่ะ พ่อแม่เราก็มีสุขภาพดีได้ทั้งๆ ที่เมื่อปี พ.ศ. 2500 กว่าๆ ก็ยังไม่มีฟิตเนส ของแบบนี้อย่าลืมครับ Look Closer & Look Clever… นี่ผมทะแล่นไปเรื่องไหนแล้วเนี่ย แฮะๆ เอาเป็นว่าใช้เงินอย่างฉลาดครับ อย่าหลงกับคำโฆษณา พยายามมองข้อมูลบนความเป็นจริงเข้าไว้ครับ

เอาล่ะครับ ผมหวังว่าคุณจะเริ่มเห็นทางออกจากวงจรคลั่งช้อปแล้ว เหตุผลแห่งการช้อปคือการสร้างความสุขชั่วครู่ให้ใจ (เพราะไม่นานหลังจากช้อป คุณก็ต้องอยากช้อปอีก ไม่มีสิ้นสุด) ซึ่งเราสามารถเบี่ยงเบนสร้างความสุขด้วยวิธีอื่นได้ดังกล่าวไปแล้ว ทีนี้ก็มาถึงการซื้อของ คุณควรคิดว่าเราซื้อเพราะอะไร มันจำเป็นจริงๆ หรือแค่ความอยาก และเมื่อเราซื้อไปแล้วจะทำให้สภาพการเงินเราสั่นคลอนหรือไม่ (เช่น มีเงินเดือน 15,000 บาท ซื้อกระเป๋า 5,000 บาท…พิจารณาดูครับ เปลี่ยนเป็นซื้อกระเป๋าไม่เกินพัน แล้วที่เหลือเก็บให้พ่อแม่ ให้ภรรยา หรือให้ลูก… น่าจะเข้าท่ากว่าเน้อะ หรือคุณว่ายังไงครับ) คาถาง่ายๆ อย่างที่ผมบอกก็คือ ใช้ให้เป็นและเก็บให้เป็น

 

เคยมีคนแนะนำยุทธการหนึ่งในการระงับใจไม่ให้ซื้อของว่า ถ้าอยากได้ของเพราะความอยากไม่ใช่ความจำเป็น ให้ถามตัวเองว่า “ไม่ซื้อจะตายไหม” ถ้าไม่ซื้อแล้วไม่ตายแสดงว่ามันไม่จำเป็นขนาดนั้น และเมื่อเราฝึกฝนการชั่งตวงจิตใจไปเรื่อยๆ เราจะเป็นคนเข้มแข็งต่อการช้อปครับ อันนี้เรื่องจริงนะ แหะๆ ผมเองนี่แหละที่เคยช้อปหนังแหลก แต่ก็พยายามปรับ… ทุกวันนี้ซื้อหนังเฉลี่ยไม่ถึงเดือนละเรื่องครับ แต่ยอมรับนะครับการเลิกช้อปมันเหมือนถอนยายังไงก็ไม่รู้ ช่วงแรกๆ มันไม่ง่ายเลยที่จะคุมตัวเอง แต่ก็ไม่มีอะไรยากไปกว่าความพยายามของมนุษย์หรอกนะครับ ยังไงผมก็ขอเอาใจช่วยครับ แต่มีข้อแม้นะครับ เมื่อคุณคุมใจตนเองได้ อย่าปล่อยใจไปตามความอยากอีก เพราะการติดช้อปมันเปิดปุ๊บติดปั๊บ เลิกน่ะยาก แต่เป็นโรคคลั่งช้อปอีกครั้งน่ะไม่ยากเลยครับ

อ้อ ผมว่าผมยังเล่าไม่จบนะ เรื่องแผ่น Schindler’s List ไงครับ คุณว่าวันนั้นผมซื้อหรือไม่…

เหตุการณ์ถัดจากการจ้องและลูบคลำแผ่นที่ว่านั้นก็คือ ผมวางมันลง ก่อนจะเดินออกมาจากร้าน ผมรีบหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วกดโทรหาแม่ของผม คุยเรื่องสัพเพเหระอยู่พักหนึ่งจนเดินออกจากห้างได้ และอยู่บนรถเพื่อจะกลับบ้าน… ทำไมผมถึงโทรหาแม่น่ะเหรอครับ… ผมเพียงคิดอยากลองว่าถ้าได้คุยกับใครสักคน มีอะไรทำเบี่ยงเบนความสนใจจากตรงนั้น… มันจะช่วยได้ไหม… ครับ มันไม่ได้เต็มร้อยหรอก แต่นั่นคือการเริ่มต้นที่ดีนะ จากวันนั้นผมคิดต่อยอดว่าเงินทุกบาทที่หาได้ มันคงดีกว่าถ้าเรามีไว้ใช้ดูแลพ่อแม่และดูแลคนที่เรารัก ถ้าถามว่ามนุษย์แท้จริงแล้วต้องการอะไร ผมว่าไม่ใช่เรื่องของวัตถุ ไม่ใช่แผ่นหนัง เสื้อผ้ารองเท้าราคาแพงหรือรถหรูๆ หรือบ้านหลังโต หากเป็นเช่นนั้นจริงมนุษย์ยุคหินคงมีแต่ความทุกข์… ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเด็กตามภูเขาคงไร้สุข… แต่เราก็เห็นแล้วว่าเด็กหรือชาวบ้านที่มีน้อย มีแค่พออยู่ ก็มีรอยยิ้มได้… แล้วพวกเราล่ะ มีทั้งของแบรนด์เนม ของไฮเทคสารพัด… แต่ทำไมเราถึงไม่สุขเต็มที่เสียที… ก็เพราะเราเอาความสุขไปผูกติดกับวัตถุไงล่ะครับ เราปล่อยใจให้สร้างข้อแม้ว่าต้องมีของเหล่านั้นถึงสุข ไม่มีคือทุกข์… ใจเรานี่แหละตัวดี แบบนี้ต้องตีมันให้รู้ว่าใครเป็นนาย

เมื่อคิดได้ดังนั้น และคิดแบบนั้นอยู่เสมอ มันก็ค่อยๆ ถอนเราออกจากความเป็น Shopaholic ได้… ผมไม่ว่าหรอกครับหากคุณไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเลิกคลั่งช้อป ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมาหาเหตุผลระงับความสุขจากการซื้อของ แค่อยากเขียนให้คุณได้ลองคิดสักหน่อยเท่านั้นเองครับ ทุกอย่างทุกการตัดสินใจย่อมเป็นสิทธิ์ของเรา แต่เราก็ต้องคิดให้รอบด้านนะครับ ยิ่งในเศรษฐกิจลักษณะนี้ด้วยแล้ว ทำตัวเองให้สุขได้ง่ายเข้าไว้ ไม่ต้องเสียเงินมากก็สุขได้ย่อมสบายในทุกยุคสมัยครับ

… อย่างไรก็ขอให้คุณได้พบสุขที่แท้จริงนะครับทุกท่าน

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)