รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Eat Pray Love (2010) อิ่ม มนต์ รัก

1308026806

เมื่อคนพบเจอปัญหา เราก็มีวิธีจัดการกับมันหลากแบบต่างกันไปครับ บางคนเลือกที่จะหนี บางคนเลือกที่จะเผชิญหน้า บางคนเลือกที่จะค้นหาในกรณีที่ยังหาไม่เจอว่าไอ้ตัวที่ทำให้เราเจ็บช้ำ ต้องระกำใจนั้นคืออะไร

อะไรทำให้่ชีวิตฉันสะดุด แล้วฉันจะจัดการมัน เพื่อให้ชีวิตเป็นสุขได้อย่างไร?

นั่นคือคำถามที่ ลิซ กิลเบิร์ต (Julia Roberts) กำลังประสบครับ เธอคือผู้หญิงที่เจอมรสุม เจอกับความรักที่ไม่ลงตัวถึง 2 รอบ ทั้งๆ ที่ตอนแรกมันสวยงาม มันดูดี มันน่าจะใช่ แต่เมื่อก้าวเดินไป ความรักกลับพลิกผัน ลงเอยด้วยความเศร้า

ลิซเลยเลือกที่จะท่องเที่ยวไปให้ทั่ว เพื่อลืม เพื่อพักใจ เยียวยารักษาตน และแล้วในการเดินทางครั้งนี้ ก็ทำให้เธอได้อะไรมากกว่าแค่การพักครับ เพราะมันชักนำเธอไปสู่การเข้าใจตนเอง เข้าใจธรรมชาติของคน และเข้าใจชีวิต

จริงๆ พล็อตแบบนี้ล่ะอย่างเจ๋งเลยนะครับ มันเอื้อให้เป็นหนังชีวิตดีๆ เอื้อให้คนดูได้สาระติดสมอง และเอื้อถึงขนาดให้จูเลียเข้าชิงรางวัลยังได้ แต่ก็น่าเสียดายครับที่หนังยังไปไม่ถึงตรงนั้น

หนังมีองค์ประกอบดีๆ เยอะครับ มีสาระประเด็นชวนเข้าใจชีวิตเป็นพักๆ ซึ่งใครที่เคยอ่านฉบับหนังสือมาก่อน ย่อมเข้าใจครับว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยให้คุณมองโลกและเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะมันไม่ใช่แค่นิยายครับ แต่มันคือบันทึกชีวิตช่วงหนึ่งของ ลิซ กิลเบิร์ต ตัวจริงเสียงจริง แต่ถึงแม้หนังจะคงสาระเหล่านั้นไว้ แต่การถ่ายทอดออกมามันไม่ค่อยมีชีวิตชีวาเท่าไร

หนังเลือกจะนำเสนอแบบจบช่วงหนึ่ง แล้วก็ต่ออีกช่วงหนึ่ง แล้วก็ต่ออีกช่วงหนึ่ง โดยที่ไม่ค่อยจะได้เร้าอารมณ์อะไรนัก

ไปๆ มาๆ ตัวลิซที่น่าจะมีมิติเพราะเธอกำลังเดินทางเพื่อค้นหาตัวเองนั้น กลับไม่ค่อยเห็นพัฒนาการอะไรเท่าไร ซึ่งก็แปลกใจนิดๆ ที่ เจ๊ Julia เองก็เล่นไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีสีสัน ไม่ค่อยใส่ชีวิตชีวาลงไปในตัวลิซเท่าไร

ถึงตรงนี้ก็แอบย้อนนึกถึงหนัง 2 สาวค้นหาจังหวะชีวิตของตัวเองโดยการแลกบ้านกันอยู่ อย่าง The Holiday ซึ่งเรื่องนั้น Cameron Diaz กับ Kate Winslet กลับดูสดใส มีชีวิตชีวากว่ากันเยอะ

1308026722

คนหนึ่งที่คงต้องรับผิดชอบไปเยอะหน่อยก็คือ Ryan Murphy ผู้กำกับที่ผ่านงานทีวีมาพอตัว แต่กับเรื่องนี้ต้องบอกว่ามีโครงเรื่องที่ดีมาก สาระก็ใช่ย่อย แต่การเดินเรื่องมันดูขาดพลัง ขาดชีวิตยังไงก็ไม่รู้ เลยทำให้หนังอยู่ในระดับเกือบดีๆ ทั้งๆ ที่มันสามารถกลายเป็นหนัง “ค้นหาความหมายชีวิตชั้นดี” ได้อีกเรื่อง

แต่ในมุมหนึ่ง หนังก็ถือว่าทำได้แจ๋วในฐานะสารคดีนำเที่ยวครับ ลิซไปที่ต่างๆ ซึ่งหนังก็ไปถ่ายตามสถานที่จริงด้วยครับ ได้แก่ที่อิตาลี, อินเดีย และ เกาะบาหลี ที่อินโดนีเซีย ซึ่งจุดนี้ยอมรับว่าทำได้ดีมากครับ ได้ภาพสวยๆ ทิวทัศน์ธรรมชาติเลิศๆ ตลอดทั้งเรื่อง

สรุปว่าจุดดีของหนังที่ดึงให้คนดูติดตามจนจบได้ ก็คือสาระชีวิตที่แทรกลงมาเป็นพักๆ กับวิวทิวทัศน์ละลานตา… ตอนดูหนังเรื่องนี้รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังทำ “สปาทางตา” น่ะครับ ดูภาพสวย ต้นไม้ใบหญ้า ลำธาร อาคารเก่าแก่… มีความสุขจริงๆ

และอีกจุดดีของหนังคือพลังของดาราสมทบครับ ที่แม้เราจะไม่คุ้น แต่กลับมีเสน่ห์มากกว่าตัวเอกซะอีก โดยเฉพาะ Hadi Subiyanto ที่เล่นเป็น เคทุทได้น่ารักมากๆ ดูจริงใจ และเปี่ยมด้วยเมตตาอย่างสุดๆ ชอบมากครับ ชอบจริงๆ

ข้อดีอีกอย่างของหนัง (ซึ่งจริงๆ ต้องยกความชอบให้ Elizabeth Gilbert เจ้าของเรื่องราวตัวจริง) ที่ทำให้เราเห็นสเต็ปการฟื้นฟูใจและค้นหาชีวิตแบบชัดเจน อันนี้ผมชอบนะ ขั้นแรกหลังเราเจอปัญหา เราก็มักเศร้านิดหน่อย ก่อนจะพยายามพักใจ ทำให้ใจได้โล่ง สมองได้มีพลังบ้าง รอให้ใจเปิด สมองเปิด แล้วทีนี้ล่ะครับ เราค่อยๆ ตักตวงสาระดีๆ ได้จากรอบตัว

การเดินทางของลิซ จึงไม่ใช่แค่ไปมองวิวหรือคุยกับผู้คน แต่เธอไปเพื่อค้นความหมายหลายอย่างที่เธอยังไม่เข้าใจ อย่างเรื่องการแต่งงาน การใช้ชีวิตคู่ คุณค่าแท้ๆ ของการดำรงอยู่ของตัวเรา

สำหรับใครที่อยากค้นหาตัวเองให้เจอแบบลิซนะครับ คุณไม่ต้องถึงกับทุ่มเงินไปเที่ยวทั่วโลกหรอก เพราะลองว่าเราเปิดใจจริงๆ แล้ว ไม่ว่าที่ไหนก็ตักตวงสาระได้ จากคนรอบตัว จากต้นไม้ จากหนังสือ จากสัญลักษณ์ ฯลฯ

จุดนี้ทำให้ผมรู้สึกดีอย่างหนึ่งนะครับ สังเกตสิครับชาวตะวันตกมากมาย (อย่าง ลิซ ก็คนหนึ่งล่ะ) ต้องเดินทางมาค้นหาความหมายและคำตอบของชีวิตที่ฟากตะวันออก แต่ดูเราสิครับ เราอยู่นี่ เราอยู่ตะวันออกแล้ว อยู่มานานมากแล้ว เราจึงได้รับโอกาสชั้นยอดที่จะสามารถเรียนรู้ชีวิต คิดให้เกิดปัญญา เข้าใจปัญหา เอาชนะอัตตา หรือหาความสงบได้…. เราโชคดีจริงๆ นะครับ ผมว่า

ผมนึกถึงคำที่ ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ เคยบอกว่า บ้านเรานี่แหละ คือแหล่งเรียนรู้แหล่งฝึกฝน เพื่อการดูจิตใจและเข้าใจตนที่ดีที่สุด ขนาดฝรั่งยังต้องมาเลย… หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นเยอะครับ ว่าตะวันตกน่ะเก่งแท้เรื่องเทคโนโลยี ส่วนบ้านเราแม้จะไม่มีจรวดสำรวจดวงจันทร์ แต่เราก็มี จรวดสำรวจดวงใจ มีหลักมีวิถีที่ช่วยให้เราหันมารู้จักตนเอง เข้าใจชีวิตซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญมากสำหรับการมีชีวิตที่ดีและมีสุข

สำรวจดวงจันทร์ละเอียดแค่ไหน ก็สุขสู้สำรวจดวงใจให้ลึกซึ้งไม่ได้

925419 - EAT PRAY LOVE

สิ่งที่ลิซพบเจอนั้น คือบทเรียนอันมีค่าที่ทำให้เธอเรียนรู้ที่จะให้อภัยตน รู้จักก้าวจากอดีตไปสู่อนาคต ไม่ปล่อยให้อดีตมาทำร้าย แต่มอบตำแหน่งครูให้มันสอนเรา ขัดเกลาเราจนมีวัคซีนป้องกันทุกข์

… ลิซยังได้เรียนรู้ว่าบางครั้งความสุขของชีวิต ก็ไม่ได้เกิดจากการที่ทำให้ตัวเรามีสุขเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการทำให้คนรอบตัวมีความสุข มีความสว่างเกิดขึ้น มันคือระบบเกื้อกูลตามธรรมชาติเลยนะครับ เพราะถ้าเราทำให้คนรอบตัวมีความสุข สิ่งแวดล้อมของเราก็จะมีพลังแห่งความสุขตามไปด้วย

ในตอนแรกนั้นชีวิตลิซเกิดรอยแยกครับ เมื่อเจอปัญหา หลายคนทำให้ปัญหากลายเป็นแผล กลายเป็นรอยแยกที่แยกเราออกจากโลก ออกจากคนอื่น ออกจากธรรมชาติ

แต่กับคนอีกมากมาย ที่รู้ทริคและเข้าใจความจริง เขาจะรู้ว่าปัญหามันเป็นรอยแยกก็ได้ เป็นพลังประสานก็ได้ มันทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจทุกสิ่ง เข้าใจตัวเรามากขึ้นได้เหมือนกัน… มันอยู่ที่เราครับ ว่าเราจะให้ปัญหาหลอมรวมคุณเข้ากับโลก เข้ากับชีวิตหรือไม่

Eat Pray Love ยังสอนสิ่งหนึ่งที่สำคัญนะครับ นั่นคือบางครั้งคนเราก็ต้องมีคนนำทาง มีครูบอกสิ่งที่เราไม่รู้ (เช่นเคล็ดลับที่ทำให้เรารู้ว่าจะทำให้ปัญหาเป็นตัวประสานชีวิตยังไง) ต้องมีคนชี้ทางบางครับ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้เองได้ ดังนั้นเมื่อเจอปัญหา หรือมีทุกข์ อย่าอายที่จะขอคำปรึกษาจากใคร ดีกว่าคิดเองเออเองในสมองของเราครับ

และสาระอีกหนึ่งในตอนจบก็ออกแนวเซนนิดๆ …. ไม่สมดุลก็คือสมดุลอย่างหนึ่ง ไม่เข้าที่ก็คือความเข้าที่อย่างหนึ่ง… การหวัง การรอในสิ่งที่สมบูรณ์แบบนั้น ถือเป็นจุดเริ่มของรอยแยกชนิดหนึ่ง เพราะนาทีใดที่ชีวิตไม่เป็นไปตามที่หวัง เราจะทุกข์

… แต่ถ้าเราเข้าใจในความไม่ลงตัวบางส่วนของชีวิต ในความไม่เข้าที่เข้าทางบางประการของสังคมรอบตัว… เราจะสุขได้ ท่ามกลางภาวะกระเพื่อมไหวของชีวิต…

สรุปว่าหนังมีดี แต่ยังขาดพลัง กระนั้นผมก็ยังอยากให้ลองดูกันครับ เพราะในความไม่ลงตัวของหนังนั้น ก็มีสาระดีๆ ที่นำเราไปสู่ความเข้าใจชีวิตได้ไม่น้อยเหมือนกัน

ถ้าเป็นหนังสือล่ะให้หลายดาวเลยล่ะครับ แต่สำหรับฉบับหนัง

สองดาวครับ

Star21

(6/10)

Eat-Pray-Love-DI