ผมหลงเสน่ห์หนังเรื่องนี้เข้าอย่างจังครับ
ปกติผมชอบผลงานของ ลุง Woody Allen อยู่แล้วน่ะนะครับ หนังโดยมากของลุงเขาก็จะเป็นสไตล์ “ขำคิด สะกิดชีวิต” มีจุดเด่นในการจับเรื่องชีวิตประจำวันมาบอกเล่าเชิงเสียดสีหยิกแกมหยอก ผสมอารมณ์ขันและแง่คิดเหยาะลงไปให้กลมกล่อมดูเพลินยิ่งขึ้น
และที่สำคัญคือตัวเอกของเรื่องก็มักจะเป็นร่างทรงของลุงเขาน่ะครับ ถ้าเป็นสมัยก่อนลุงเขาก็จะเล่นเอง มาพร้อมบุคลิกหลุกหลิกเล็กๆ พูดพล่ามไม่หยุด ดูท่าเหมือนจะเปี่ยมความมั่นใจแต่ก็แฝงไว้ด้วยความเปราะบางเล็กๆ อยู่ภายใน แม้ชื่อตัวละครจะเปลี่ยนแต่บุคลิกมักมาแนวนี้เสมอครับ แต่ระยะหลังๆ ลุงก็จะดึงดาราฝีมือดีรุ่นปัจจุบันสวมบทแทน แต่จะรับบทชื่ออะไรก็ตามบุคลิกแบบลุง Woody ก็ยังคงไม่จางไปไหน
อย่างเรื่องนี้ก็เช่นกันครับ บุคลิกลีลาของ กิล ที่รับบทโดย Owen Wilson นี่ก็ใช่เช่นเคยครับ หลุกหลิก พูดเยอะ (แต่ไม่เลอะเทอะ) แฝงความไม่มั่นใจในทีท่าเป็นระยะๆ เวลาตื่นเต้นก็จะพล่ามติดจรวด อีกทั้งยังเป็นคนชอบคิดใคร่ครวญ แต่กระนั้น Wilson ก็ไม่ได้โดนความเป็นลุง Woody กลืนนะครับ เขายังแสดงลักษณะซอฟท์ๆ เบาๆ และมุมขี้เล่นของตนเองออกมาได้อย่างพอเหมาะ เรียกว่ากิลนั้นเป็นทั้งร่างทรงของลุง Woody และเป็นตัวละครที่มีลักษณะเฉพาะในแบบของตัวเองไปในเวลาเดียวกัน
แล้วหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร? คืออย่างนี้ครับหนังเล่าถึงนายกิล เพนเดอร์ มือเขียนบทภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่ประสบความสำเร็จ แต่เขาอยากหันมาลองเขียนนิยายดูบ้าง ขณะเดียวกันก็กำลังจะแต่งงานกับ อินเนซ (Rachel McAdams) แฟนสาวไฮโซที่คบหาดูใจกันมานาน แล้วช่วงพักร้อนเขากับครอบครัวเธอก็ไปเที่ยวด้วยกันที่กรุงปารีส
แต่สำหรับกิลแล้ว การมาปารีสครั้งนี้มันขาดสีสันซะเหลือเกินครับ อินเนซก็ดูจะต้องการอะไรที่มันต่างจากเขาไปซะทุกอย่าง เพื่อนของอินเนซอย่าง พอล (Michael Sheen) และแครอล (Nina Arianda) ก็เหมือนจะทำให้รสชาติการเที่ยวชมปารีสดูกร่อยลงทุกที จนกิลตัดสินใจขอเลือกที่จะเดินเล่นในกรุงปารีสด้วยตนเองครับ
และในวันนี้ เมื่อเขาเดินชมความงามของปารีสยามราตรีจนเพลิน จนเวลาล่วงเลยมาถึงเที่ยงคืน เขาก็ได้พบกับเรื่องเหลือเชื่อที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยคิดฝัน ว่ายามเที่ยงคืนของกรุงปารีสนั้นช่างเปี่ยมมนต์ขลัง ทรงพลังมหัศจรรย์อย่างยิ่ง…
กิลไปเจอกับอะไรผมยังไม่ขอเล่านะครับ อยากให้ไปดูกันเอง ซึ่งเราจะมีการสปอยล์แน่นอนครับ (ถึงสปอยล์เมื่อไรเดี๋ยวบอกครับ) ดังนั้นหากใครที่ยังไม่เคยดูผมก็ขอสรุปคร่าวๆ ตรงนี้เลยนะครับว่านี่เป็นหนังตลกขำคิดสไตล์ลุง Woody ที่เสริมโทนแฟนตาซีเข้าไปทำให้รสชาติอร่อยเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งก็ต้องขออธิบายก่อนนะครับว่า “หนังตลกขำคิด” หมายถึงหนังที่มีอารมณ์ขัน มีมุขตลกคำพูด (ไม่มีตลกท่าทางหรือตลกลามกใดๆ) และอารมณ์ขันแต่ละช่วงนั้นก็มีสาระน่าคิด มีการยั่วเย้าให้เราลองคิดต่างไปจากมุมเดิมๆ ท้าให้เราสำรวจความเชื่อเก่าๆ ที่เราได้รับจากคนรอบตัว จากสังคม หรือจากโลกกลมๆ ใบนี้
หนังตลกขำคิดของลุง Woody ทำให้ผมมองโลกเดิมๆ แปลกออกไปเสมอครับ คนที่ชอบแนวนี้ผมคงไม่ต้องบอกอะไรมากนอกจาก “เรื่องนี้ต้องดู” ส่วนคนที่อ่านแล้วสนใจหนังแนวนี้ผมก็แนะนำให้ดูเช่นกันครับ
และคนอีกกลุ่มที่เหมาะกับหนังแนวนี้คือคนที่รักหนังสือ ชอบอ่านผลงานของนักเขียน-ศิลปินตะวันตก (โดยเฉพาะฟากยุโรป) ไม่ว่าจะ F. Scott Fitzgerald, Ernest Hemingway, Gertrude Stein หรือ Luis Buñuel ผมค่อนข้างแน่ใจว่าคุณจะสนุกไปกับหนังเรื่องนี้พอๆ กับผมเลยล่ะครับ
แต่หากคุณเป็นคนที่ชอบหนังตลกโปกฮา ขำตลอดๆ มีมุขตลกเจ็บตัวและดูแบบไม่ต้องคิดอะไรเลย หนังเรื่องนี้ก็อาจไม่ใช่แนวที่เหมาะสำหรับคุณครับ… เอาล่ะ จะเข้าเขตสปอยล์แล้วนะครับ หากไม่อยากทราบข้ามไปอ่านดาวเลยครับ
ผมรักหนังเรื่องนี้จังเลยครับ จริงๆ แนวคิดของหนังอาจไม่ได้สดใหม่อะไร แต่นำมาใช้กับหนังได้อย่างเหมาะยิ่ง
เหตุการณ์หลังเที่ยงคืนที่กิลไปเจอก็คือ เขาได้พบกับเหล่าศิลปินระดับตำนานที่จากโลกนี้ไปแล้ว นอกจากชื่อที่ผมบอกไปก่อนหน้าก็ยังมี Cole Porter นักประพันธ์เพลงชื่อดังที่ประวัติของเขาเคยถูกสร้างเป็นหนังมาแล้วในชื่อ De-Lovely, Josephine Baker นักแสดงและนักเต้นสาวชาวอเมริกัน, Pablo Picasso จิตรกรเอกชื่อก้อง ตามด้วย Salvador Dalí จิตรกรผู้โดดเด่นในงานภาพแนวเหนือจริง, Man Ray ศิลปินแนวเหนือจริงอีกท่าน และ Luis Buñuel นักสร้างหนังระดับตำนานเจ้าของผลงานที่โลกไม่ลืมอย่าง Un Chien Andalou (ลองไปค้นหาคลิปใน Youtube ดูครับ โดยเฉพาะฉาก “เกี่ยวกับดวงตา” ที่เสียวไส้ได้ใจมาก)
ตอนดูนั้นผมรู้สึกตื่นเต้นนะครับ แบบเดียวกับที่กิลตื่นเต้นนั่นแหละ ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมไม่ได้รู้รายละเอียดของหนังมาก่อนเลยไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรแบบนี้ นั่นก็เป็นข้อดีประการหนึ่งครับ ทำให้รู้สึกเหมือนกิลที่แทบจะกรี๊ดยามได้เห็น Ernest Hemingway หรือ Gertrude Stein ตัวเป็นๆ มาแสดงทรรศนะในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่หนังสือ, การเป็นนักเขียน, ชีวิตและสังคม รวมไปถึงการวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์
หนังที่มีพล็อตแบบนี้เหมือนจะทำไม่ยากนะครับ แต่จริงๆ มือคนทำต้องแม่น ต้องทำคุณภาพ 3 ประการให้ถึงเครื่อง ผลที่ออกมาถึงจะกลมกล่อม ได้ที่ และได้อารมณ์
องค์ประกอบที่ว่าอย่างแรกก็คือดาราที่ต้องแสดงได้ถึง สวมวิญญาณได้ถึงบทซึ่งดาราที่คัดมาก็เหมาะทีเดียวครับ โดยเฉพาะ Tom Hiddleston ในบท ฟิตซ์เจอรัลด์ ที่สลัดคราบโลกิจอมโฉดแห่ง Thor ไปได้แบบปลิดทิ้งครับ หรือ Kathy Bates ในบทเกอร์ทรูด สไตน์ รายนี้ก็เป็นสไตน์ได้แบบมีพลังล้นเหลือ แต่ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษคือ Adrien Brody มาเป็นซัลวาดอร์ ดาลี่ครับ ตอนพี่แกพึมพำวนเวียนอยู่แต่กับ “แรด” นี่มันใช่ มันได้อารมณ์จริงๆ ครับ สัมผัสได้จริงๆ ว่าพี่แกหลุดไปอยู่ในโลกเหนือจริงเรียบร้อย (ว่าง่ายๆ คือ “พี่แกกำลัง ART ครับ 5555)
องค์ประกอบต่อมาคือ บทสนทนาต้องได้ ประมาณว่าฟังแล้วมันรู้สึกใช่น่ะครับ รู้สึกว่า “แบบนี้ล่ะ เฮ็มมิงเวย์ต้องพูดประมาณนี้แหละ อ้า สไตน์ก็ต้องพูดแบบนี้แหละ” ฟังแล้วมันใช่จริงๆ ครับ ซึ่งคนที่ต้องชมก็หนีไม่พ้นลุง Woody ที่เขียนบทได้ดีมากๆจนไม่แปลกใจเลยครับที่หนังจะสามารถกวาดได้ทั้งออสการ์และลูกโลกทองคำในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะเขียนได้ถึงเครื่อง เขียนได้อารมณ์ เขียนได้น่าสนใจ เขียนบทพูดได้เสมือนเหล่าศิลปินในตำนานมาเอ่ยปากเอง
องค์ประกอบสุดท้ายก็คือการคุมบรรยากาศ การเลือกสถานที่ให้เหมาะสม ให้ได้สัมผัสมุมศิลป์ทรงเสน่ห์ของปารีส ให้ได้อารมณ์เหมือนเรากำลังฝัน และผจญภัยร่วมไปกับกิล ซึ่งอันนี้ก็ขอชมลุง Woody และทีมงานครับ
ที่ผมชอบมากๆ คือฉากบ้านของสไตน์ที่สื่อตัวตนของผู้หญิงเท่ห์ล้ำยุคคนนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม และอีกช่วงคือตอนที่กิลเดินเพียงลำพังตามถนนหนทางในปารีส มันได้อารมณ์เหงา มันสัมผัสได้ถึง “ความขาด” บางประการที่อยู่ในใจของกิล บางสิ่งภายในที่รอการเติมเต็มอย่างเงียบๆ…
และพอถึงตอนท้าย เมื่อเรื่องราวสรุปลง… ผมรู้สึกอิ่มครับ รู้สึกดีใจไปกับกิลเมื่อบทสรุปมาถึง เจ้าความรู้สึกที่ว่า “ขาด” ที่มีตอนแรกก็ค่อยๆ จางหายไป พร้อม End Credits ขึ้นตามมา
มันได้อารมณ์เช่นนั้นจริงๆ เลยครับ
ดาราถึง บทถึง การกำกับอารมณ์+บรรยากาศ+ทิศทางการเล่าเรื่องราวทำได้ถึง ครบเครื่อง 3 คุณภาพแบบที่บอกครับ
ถ้าถามว่าผมชอบหนังเรื่องนี้ตรงไหนผมพอตอบได้ครับ แต่อย่าถามเชียวล่ะว่าหนังสื่อถึงอะไร เพราะแฟนหนังของลุง Woody Allen จะทราบดีครับว่าลุงเขาชอบทำหนังแบบ “เล่าตามที่คิด สื่อเท่าที่อยาก” และหลายครั้งทีเดียวที่ลุงเขาแอบเหน็บนักวิจารณ์หรือคนที่ชอบบอกกับใครๆ ว่าคนทำหนังเรื่องนั้นพยายามสื่ออะไร คนทำหนังเรื่องนี้สอดแทรกอะไร แอบกัดบ่อยๆ จนผมรู้สึกเลยครับว่าการจะถอดรหัสจากหนังแล้วบอกว่า “ลุง Woody ต้องการสื่ออะไร” ถือเป็นอะไรที่เสียมารยาทสำหรับหนังของลุงเขา
แต่ก็นั่นล่ะครับ ไม่บอกว่าลุงเขาสื่ออะไรก็ได้ แต่ถ้าจะบอกว่าผมดูแล้วได้อะไร คิดอะไร ปิ๊งอะไรบ้าง ก็คงพอได้น่ะนะครับ
หนังเรื่องนี้ยังคงมีกลิ่นอาย “ธีม” ที่เราพบเห็นในหนังของลุงเขาบ่อยๆ นั่นคือเรื่องความไม่ลงตัวของชีวิตคู่ ประมาณว่าตัวละครในเรื่องมักจะต้องมีคนรักอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็จะตระหนักว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วพวกเขาคงอยู่ด้วยกันไม่ได้ หรือไม่ก็จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเจอคนที่ใช่กว่า อันนำมาสู่การแยกทางกันในที่สุด (ซึ่งคุณผู้ชมหลายท่านก็ชอบลิ้งค์ประเด็นนี้เข้ากับชีวิตจริงของลุงเขาอยู่เสมอๆ)
มองในมุมหนึ่งเราอาจเห็นว่าหนังของลุง Woody มีเรื่องการนอกใจกันบ่อยจัง แต่ถ้ามองอีกมุมหนังก็สะท้อนความจริงบางประการได้เหมือนกันครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้วคู่รักบางคู่ก็อาจจะยังไม่ใช่จริงๆ อย่างกิลและอินเนซที่แม้จะคบหากันมานานนม แต่ก็เหมือนคู่รักอีกมากมายที่พอหมดช่วงโปรโมชั่นแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (หรือทั้งคู่) ก็จะเริ่มแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา ซึ่งจะอยู่กันได้หรือไม่ก็ต้องมาดูกันตอนนี้ล่ะครับ
ชีวืตคู่ก็เหมือนเครือข่ายมือถือนั่นแหละครับ อย่าดูแค่ตอนช่วงโปรว่าบริการดีไหม แต่ต้องดูยาวมาถึงตอนหมดโปร ว่าอะไรๆ ที่เคยดียังดีอยู่หรือเปล่า
จุดนี้หากจะกล่าวว่าฝ่ายใดไม่ดีก็อาจไม่เป็นธรรมนักครับ จริงๆ เขาอาจไม่ได้ไม่ดีอะไรหรอก แค่ตอนคบกันแรกๆ เขาก็พยายามทำตัวเองให้ดี จนบางทีก็ฝืนธรรมชาติตนแต่ก็ทนๆๆ เอง
ครั้นพอจีบสำเร็จได้อยู่กันไปพักหนึ่ง คนที่ฝืนก็อาจอ่อนล้าจนเผยตัวตนออกมา หรือ ฝ่ายที่เคยถูกตามใจมาเสมอๆ ก็อาจเสพติดการตามใจนั้น ครั้นอีกฝ่ายไม่ค่อยตามใจเราก็จะมองว่าเขาเปลี่ยนไป ฯลฯ นี่เพียงตัวอย่างนะครับ อันว่า “วันหมดโปร” “วันรักหมดอายุ” หรือ “วันรักจืดจาง” นั้นมันเกิดได้หลายสาเหตุ อาจเพราะเขาเปลี่ยนไปจริงๆ หรือไม่ได้เปลี่ยนแต่แค่กลับเป็นตัวตนคนเดิมที่เขาเคยเป็นมาก็ได้
หนังของลุง Woody หลายเรื่องพอดูแล้วมันฉุกคิดนะครับ ยิ่งช่วงไหนมีปัญหากับคนรักแล้วดูหนังของลุงเขาเข้ามันเหมือนเตือนสติให้เราทบทวนว่าปัญหาระหองระแหงที่มีนั้นมันเกิดจากอะไร มันเกิดเพราะเรา เพราะเขา หรือทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญคือปัญหาที่เกิดนั้น มันเกิดเพราะเราสองเข้ากันไม่ได้จริงๆ หรือเป็นเพียงข้อขัดแย้งที่สามารถแก้ไขได้ สามารถปรับตัวเข้าหากันได้
หลายคนอาจมองว่าหนังลุง Woody ชอบว่าด้วยเรื่องนอกใจหรือสนับสนุนเรื่องชู้ๆ แต่ผมกลับมองว่าหนังของลุงเขาชวนให้ใจเราทบทวนชีวิตรักของเรา สำรวจดูว่ารักที่เรามีนั้นมีปัญหาแอบแฝงหรือไม่ เรารักเขาจริงไหม แล้วนิยามรักของเรามันคืออะไร ฯลฯ
หลายครั้งที่ดูหนังของลุงเขาแล้วเหมือนโดนลุง Woody แอบยัดคำถามข้อหนึ่งไว้ในสมอง… คำถามก็คือ “รู้จักตนเอง รู้ใจตนเอง มากน้อยแค่ไหน?”
จะว่าไปใน Midnight in Paris ก็เหมือนภาพการเดินทางค้นหาบางสิ่งในตนเองของกิล (ที่อาจจะออกแนวแฟนตาซีสักหน่อย) ที่พอเปิดเรื่องมาเราก็จะเห็นว่ากิลยังไม่มั่นใจในงานเขียน อีกทั้งความรักที่ว่าแน่ๆ ของเขากับอินเนสก็เหมือนจะมีช่องว่างเกิดขึ้น และในช่วงที่เขาสับสน ว้าวุ่น และว้าเหว่ก็มีราชรถจากอดีตมานำพาเขาไปรู้จักกับนักเขียน ศิลปิน และนักสร้างหนังมากมาย…
ในทางหนึ่งมันก็คือการเดินทางที่ทำให้กิลได้รู้จักเหล่าศิลปิน แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการเดินทางที่ทำให้เขาได้รู้จักตนเองมากขึ้นด้วย
บางครั้งเราสามารถรู้จักตัวเองมากขึ้นได้ โดยมีผู้อื่นนี่แหละครับ ทำหน้าที่เป็นดั่งกระจกสะท้อนตัวตนของเรา
นอกจากนี้ยังมีปมชวนคิดเล็กๆ น้อยๆ โปรยอยู่ตลอดเรื่อง เช่น ตัวละครอย่าง พอล เพื่อนจอมอวดรู้ของอินเนซที่ชอบโชว์ภูมิว่าตนรู้เยอะ ครั้นพอมีคนทักท้วงว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมันผิดก็เอาแต่ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมรับว่าตัวเองรู้มาผิด (เพราะไม่ยอมเสียฟอร์ม) นี่ก็แอบจิกกัดคนชอบอวดภูมิได้แบบน่ารักพอสมควร อันนี้ขอชื่นชม Sheen ที่แสดงบทนี้ได้เยี่ยมดีจริงๆ
อีกหนึ่งสิ่งที่ผมชอบคือ “เรื่องการเดินกลางสายฝน” ครับ ที่กิลมักจะพร่ำพูดเสมอว่าการเดินในกรุงปารีสกลางสายฝนนั้นมันคือสุดยอดกิจกรรมที่งดงาม แต่อินเนซกลับมองเพียงว่ามันจะไปสนุกอะไรกับการทำให้ร่างกายเปียกปอน ซึ่งจะว่าไปก็ไม่มีใครผิดครับ มองถูกทั้งคู่นั่นแหละ เพียงแต่มันคนละมุมเท่านั้นเอง และนั้นก็สะท้อนความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้อย่างดี
และแน่นอนว่าประเด็นนี้ทำให้ฉากจบมัน “งดงาม” และ “ถึงอารมณ์” อย่างสุดๆ ด้วย
เป็นหนังที่ดูสนุกและเพลินมากๆ ของลุง Woody ครับ จนไม่แปลกใจเลยที่หนังเรื่องนี้จะทำเงินสูงสุดในบรรดาหนังทั้งหมดของลุงเขา มันลงตัวมากครับ บทชวนติดตามและชี้ชวนให้คิด ดาราแสดงดี ลีลาเล่าเรื่องน่าสนใจ บรรยากาศงดงามของกรุงปารีสก็ถูกนำมาใช้แบบพอเหมาะ และที่ผมชอบมากๆ อีกอย่างก็คือดนตรีครับ โดยเฉพาะช่วงต้นของหนังความยาวประมาณ 4 นาทีก่อนจะเข้าเรื่อง เราจะได้เห็นภาพทิวทัศน์ในกรุงปารีสพร้อมดนตรีแสนไพเราะ จนผมขอยกให้เป็นหนึ่งในฉากเปิดเรื่องของภาพยนตร์ที่จับใจผมที่สุด ดิดอันดับ Top 10 ตลอดกาลทีเดียวครับ (สามารถลองคลิ้กไปดูฉากเปิดได้นะครับ คลิ้กตรงนี้เลยครับ)
(เพลงที่บรรเลงตอนเปิดเรื่องนี้มีชื่อว่า Si Tu Vois Ma Mère ของ Sidney Bechet บรมครูอีกท่านแห่งวงการเพลงแจ๊สที่โดดเด่นมากในลีลาแซ็กโซโฟนและแคลริเน็ทครับ)
เชียร์ให้ชมเลยครับสำหรับหนังเรื่องนี้ สนุก สวยงาม กลมกล่อมในแบบของลุง Woody จริงๆ แค่สนุกไปกับความคิดของตัวละครและฟังเพลงตอนเปิดเรื่องนั่นก็คุ้มเกินคุ้มแล้วล่ะครับ
สามดาวบวกๆ ครับ
(8/10)