มอบตำแหน่งให้เป็นหนังเยี่ยมยุทธ์ที่สุดในบรรดาหนังชุด X-Men และดีเด่นไม่แพ้ Spider-Man 2 ที่ผมยกให้เป็นหนังที่สร้างจากการ์ตูน Marvel ได้แจ๋วที่สุด
ยิ่งตามผลงานของผู้กำกับ Matthew Vaughn มากเท่าไรก็ให้แน่ใจว่าพี่แกนี่ของจริง ความสามารถพิเศษประการหนึ่งของเขาคือลีลาการปรุงพล็อตธรรมดา ให้ออกมาอร่อย มีสาระแบบพอดีๆ นั่นทำให้หนังพี่ท่านดูสนุก ตั้งแต่ Layer Cake, Stardust มาจนถึง Kick-Ass และกับเรื่อง X-Men รุ่นแรกนี้ก็ขอยกตำแหน่งหนังเยี่ยมให้โดยปริยาย
X-Men รุ่น 1 เล่าถึงการพบปะกันเป็นครั้งแรกระหว่าง ศจ. เอ็กซ์ ที่ตอนนั้นยังเป็นชาร์ลส เซเวียร์ (James McAvoy) กับ แม็คนีโต้ ที่ยังคงใช้ชื่อ อีริค ลันเชอร์ (Michael Fassbender) อยู่ ทั้งสองจับมือกับสร้างกองกำลังเพื่อรับมือกับเซบาสเตียน ชอว์ (Kevin Bacon) นาซีมิวแตนท์จอมวายร้ายที่ต้องการจะก่อสงคราม ให้มนุษย์ล้างผลาญกัน ซึ่งเรื่องในหนังก็มาเกิดช่วงสงครามเย็นกำลังระอุพอดี (อยู่ในช่วงวิกฤตการณ์คิวบา ในสมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้น่ะครับ)
สิ่งเจ๋งอย่างแรกในหนังก็คือการแบ่งสรรปันความเด่นให้ทุกตัวละครแบบพอเหมาะครับ โดยเฉพาะสองตัวนำ ชาร์ลสกับอีริค ที่ต่อให้เราไม่ได้เป็นมิวแตนท์อ่านใจตัวละครได้ แต่ด้วยการแสดงของ McAvoy กับ Fassbender และการกำกับของ Vaughn ก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงทัศนคติ เจตนา และความคิดของทั้งสอง ซึ่งอะไรแบบนี้แหละครับที่ทำให้ทุกครั้งที่สองคนปรากฏ เราจะสัมผัสได้ถึงสายสัมพันธ์บางอย่าง ระหว่างชาร์ลสกับอีริค จะว่ามิตรก็ไม่ใช่ ศัตรูก็ไม่เชิง (แบบ Brokeback … ยิ่งไม่ใช่ใหญ่)
ในฐานะหนังบีกินนิ่ง ยิ่งหนังทำให้คนดูเข้าถึงพื้นความคิดของตัวละครหลักได้มากเท่าไร มันก็ยิ่งอธิบายและเติมเต็มเหตุการณ์หลังจากนั้นได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นจุดดีอีกอย่างที่หนังเชื่อมกับเหตุการณ์ต่อๆ ไปได้อย่างเข้าท่าทีเดียว
ส่วนมิวแตนท์เจ้าอื่นก็จำกันได้ไม่ยากครับ พลังเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ด้านนักแสดงนี่แม้จะหน้าไม่คุ้น แต่ก็เล่นได้ดี ยิ่งตัวละครที่มารับเชิญ (คนดูแล้วน่าจะรู้นะครับ) ยิ่งเล่นได้ดีใหญ่ แหม ฉากเดียวก็เอานะพี่
ผมชอบอารมณ์ขันที่หนังใส่ลงมาเป็นระยะๆ มันพอดีครับ ช่วยให้หนังลื่นด้วย ขณะเดียวกันประเด็นดีๆ ในเรื่องก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างใจความหลักเลยก็คือ อดีตของชาร์ลสและอีริคส่งผลให้ทั้งคู่เป็นขั้วตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง แม้โดยหลักแล้ว ทั้งสองจะมุ่งเน้นอย่างเดียวกัน คือ การรวมเหล่ามิวแตนท์และปกป้องให้พวกเขาพ้นจากภัยภายนอก แต่วิถีทางกลับต่างกัน อันนี้ก็เนื่องจากอดีตนั่นแหละครับ สภาพแวดล้อมมันหล่อหลอมให้ทั้งสองมองโลกต่างกัน
อย่างชาร์ลสนี่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ในบ้านหลังงาม เขาเลยมีศรัทธาในด้านบวก แต่อีริคไม่โชคดีอย่างนั้นน่ะสิครับ เขาเจอเรื่องหนักหนามากมาย จนผมไม่แปลกใจว่าทำไมเขาถึงมองมนุษยชาติในแง่ลบเช่นนั้น
แม้หนังจะว่าด้วยมนุษย์กลายพันธุ์ แต่มันก็สอนเราเต็มๆ ครับ ตั้งแต่สอนพ่อแม่ให้ตระหนักว่าการเลี้ยงดูลูกนั้นสำคัญยิ่ง เพราะแต่ละสิ่งที่เราทำมันจะส่งผลหล่อหลอมเป็นตัวเขาในอนาคต แน่นอนครับว่าไม่ใช่พ่อแม่เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบต่อการเติบโตของเด็ก แต่รวมถึงพี่น้อง ญาติมิตร เพื่อนบ้าน ครูอาจารย์ พูดง่ายๆ สังคมทั้งหมดน่ะแหละครับ
ต้องอย่าลืมที่จะถามตัวเองว่า “ตอนนี้เรากำลังสร้างสภาพแวดล้อมแบบไหนให้เด็กซึมซับอยู่… เรากำลังสร้าง ศจ. เอ็กซ์ หรือ แม็คนีโต้”
และจะว่าไปส่วนหนึ่งที่ชาร์ลสคิดมุมบวกได้ ก็เพราะพลังพิเศษของเขามันยังไม่พิสดารอะไรมาก จริงๆ ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้หรอก นึกว่าพี่แกเป็นเด็กเนิร์ดธรรมดา แต่กับคนอื่นๆ อย่าง ราเวน (Jennifer Lawrence) หรือ แฮงค์ (Nicholas Hoult) อันนี้ก็น่าเห็นใจครับ เพราะพวกเขาต้องพยายามหลบซ่อนตัวตนที่แท้จริงอยู่ตลอด ซึ่งความกดดันก็ย่อมถามหาเป็นธรรมดา
ย้อนมองมาถึงสังคมเรานะครับ ว่าสังคมโลกส่วนใหญ่นิยมแซวคนที่ไม่ปกติ หรือคนที่ทำอะไรไม่เหมือนใคร แทนที่จะให้ความเข้าใจหรือเปิดกว้างรับสิ่งที่เขาเป็น แต่เรามักจะเล่นง่ายๆ โดยการไม่ไปยุ่งหรือถ้าไปยุ่งก็ไปในเชิงแซว เห็นเขาเป็นตัวตลก ซึ่งคนที่โดนแบบนี้เขาไม่ตลกด้วยล่ะครับ และพอเขาเจอแบบนี้มากๆ ก็ย่อมหงุดหงิดและมองโลกมุมลบ
ทีนี้พอเขาแสดงความหงุดหงิดออกมา เราก็ไปสรุปเหมารวมว่า “นี่ไง พวกประหลาด”… หารู้ไม่ เรานั่นแหละ ตัวก่อชนวนแท้ๆ
สิ่งที่ผมรู้สึกเสมอมาใน X-Men คือ มันไม่ใช่แค่การ์ตูนฮีโร่เอามันส์ แต่มันเป็นภาพสะท้อนเรื่องการปฏิบัติตนต่อกันระหว่างคนกับคน มิวแตนท์กับมิวแตนท์ คนกับมิวแตนท์ และคนกับสิ่งแวดล้อม
มันชี้ชวนให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าใครหรืออะไรก็มีส่วนเกี่ยวโยงต่อกัน อยู่ในโลกในนี้เหมือนกัน การกระทำต่อหนึ่งคน (หรือหนึ่งมิวแตนท์ หรือหนึ่งสิ่ง) มันส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ เสมอ แต่ที่อะไรต่อมิอะไรมันวุ่นวาย ก็เพราะเราลืมมองกันที่ความเหมือน ลืมสนสายใยที่โยงทุกสิ่งเข้าด้วยกัน มัวแต่ไปจับจ้องที่ความต่าง จับจ้องจุดที่ทำให้เกิดรอยแยกแทน
การที่พวก X-Men กลายพันธุ์อาจเป็นผลจากธรรมชาติ แต่การที่ X-Men มีทั้งดีและไม่ดีนั้น ธรรมชาติไม่ได้สั่งมาครับ เช่นเดียวกับที่คนมีทั้งดีและไม่ดีนั่นเอง
ที่ผ่านมา X-Men ฉบับหนังก็จะออกแนวซูเปอร์ฮีโร่สู้กันเป็นหลัก แต่กับภาคนี้ต้องขอชมครับที่ Vaughn กล้าดันประเด็นนี้ออกมาให้ชัดขึ้น ทำให้การผจญภัยปฐมบทของมิวแตนท์ในคราวนี้มีครบสูตรความเยี่ยม ตั้งแต่ดาราดี เนื้อเรื่องดี งาน Effect อาจจะไม่เน้นเท่าไร แต่สาระน่าสนใจกับแรงผลักดันของตัวละครค่อนข้างดีครับ
แต่กระนั้น หนังก็ยังมีจุดโหวงๆ นิดหน่อย ตรงจังหวะความสนุกความลุุ้นที่ค่อนข้างจะโมโนโทนไปนิดหนึ่ง คือหนังทั้งเรื่องมันจะคงอารมณ์อยู่ในระดับเดียวกันตลอดน่ะครับ อันนี้ยกความรับผิดชอบให้ Vaughn ไป เพราะดูหนังพี่ท่านมา 4 เรื่องก็รู้สึกถึงจุดโหวงนี้ตลอด จริงที่หนังแกสนุก แต่มันไม่มีจุดดึงอารมณ์ให้พีค เร้าอารมณ์ให้ลุ้น หรือเหวี่ยงอารมณ์คนดูเล่นสักเท่าไร ดังนั้นหนังพี่ท่านแม้จะดี แต่ก็ยังไม่ค่อยถึงระดับที่เรียกว่า “มันส์” เท่าที่ควร
และคงเพราะแบบนี้ รายได้หนังพี่แกถึงไม่ค่อยไปถึงฝั่งฝัน อย่าง X-Men ภาคนี้ก็ยังลุ้นครับ กลัวจะเป็นภาคที่รายได้น้อยที่สุดเหลือเกิน เฮ่อ สรุปคือหนังพี่ท่านมีดี แต่อาจจะไม่ถูกปากตลาดในวงกว้างเท่านั้นแหละ
และที่รู้สึกอีกอย่างก็คือ แม้ดาราจะเล่นดี ดูจบแล้วจำได้ว่าใครเป็นใคร แต่ก็แอบรู้สึกว่าหนังยังดันให้เราจำ “เสน่ห์” ของแต่ละตัวได้ไม่มากเท่าภาค 2… แต่ยังไงก็ยังอยากให้เขามาทำตอนต่อครับ คราวหน้าหนัก “มันส์” อีกนิดก็แล้วกัน
ก็ยกให้เป็นตอนที่ดีที่สุดของตำนานมนุษย์กลายพันธุ์
สามดาวครับ
(8/10)