ในปี 2022 จำนวนประชากรบนโลกมีมากจนเกินไป ทำให้ทรัพยากรไม่เพียงพอโดยเฉพาะอาหาร แต่แล้วก็มีบริษัทที่ชื่อซอยเลนท์ คอร์เปอร์เรชั่น ยื่นมือมาช่วยแก้ปัญหาด้วยการผลิตอาหารในรูปแบบของเวเฟอร์สีเขียวที่ทำจากแพลงตอนที่เปี่ยมด้วยสารอาหาร ชื่อของมันคือ ซอยเลนท์ กรีน ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวนี้ก็ช่วยลดปัญหาอาหารขาดแคลนไปได้พอสมควร
แต่แล้ววันหนึ่ง วิลเลี่ยม อาร์ ไซมอนสัน (Joseph Cotten) ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทซอยเลนท์ก็ถูกฆาตกรรม เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนนามว่า ธอร์น (Charlton Heston) จึงถูกส่งตัวมาให้ตามคดี แต่ยิ่งเขาสืบมากเท่าไรกลับพบว่ามีคนมากมายพยายามจะยกเลิกการสืบสวนของเขา ตอนแรกก็แค่ขู่ แต่ตอนหลังเริ่มอันตรายถึงชีวิต นั่นทำให้ธอร์นยิ่งอยากรู้อยากสืบมากขึ้นไปอีก เพราะลองว่ามีคนหมายเอาชีวิตเขาขนาดนี้ คดีนี้ย่อมมีเบื้องหลังที่สำคัญใหญ่โตแน่นอน
หนังถูกดัดแปลง (แบบหลวมๆ) จากนิยายเรื่อง Make Room! Make Room! ของ Harry Harrison (แม้เนื้อในหลายอย่างจะไม่เหมือนนักก็ตาม) ตัวหนังก็ออกแนวสืบสวนสไตล์โลกอนาคตครับ บ้านเมืองในหนังดูแปลกตาไม่เหมือนโลกปัจจุบันเท่าไร ที่ว่าแปลกตาก็เพราะแม้หนังจะบอกว่าประชากรล้นโลก แต่หลายฉากดูโล่งโถงไร้ความหนาแน่นของผู้คน ดูเผินๆ อาจเหมือนหนังทำพลาดลืมใส่ตัวประกอบลงไป แต่จริงๆ แล้วผมว่าการทำแบบนั้นกลับเป็นผลดีครับ ทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงความน่าสงสัย ซึ่งไปๆ มาๆ ฉากที่ดูโล่งไร้ผู้คนนั้นกลับทำให้อารมณ์ลึกลับมันมากขึ้น และช่วงท้ายก็ได้อารมณ์ชวนขนลุกอีกต่างหาก
ผมว่าหนังน่าติดตามดีครับ ช่วงต้นอาจดูเรื่อยๆ บ้างและมีจังหวะอืดเป็นพักๆ ตามสไตล์หนังเก่าๆ แต่โดยรวมแล้วหนังมีปมเกี่ยวกับคดีให้เราคิดตามอยู่เรื่อยๆ หยอดลงมาเลี้ยงให้คนดูเกิดอารมณ์ติดตามเป็นระยะ ซึ่งจุดที่เป็นพลังดึงคนดูอย่างหนึ่งก็ต้องยกให้ Heston ครับ ขานี้เล่นหนังได้หายห่วง แต่ที่ต้องชื่นชม ปรบมือ และคารวะก็คือ Edward G. Robinson เจ้าของบทโซโลมอน ร็อธเพื่อนของพระเอกที่มาทีไรก็ดึงความสนใจได้เรื่อยๆ
ที่ต้องถึงขั้นคารวะก็เพราะระหว่างแสดงหนังนั้น Robinson เขากำลังป่วยเป็นมะเร็งครับ อาการถึงขั้นหนักจนหูของเขาใช้การแทบไม่ได้ ใครจะพูดด้วยก็ต้องไปพูดตรงหูไม่งั้นจะไม่ได้ยิน และบางทีตอนแสดง เขาก็จะแสดงแบบยาวไปเรื่อยๆ เพราะตัวเองไม่ได้ยินเสียง “คัท” จากผู้กำกับครับ เลยเลือกที่จะเล่นไปเรื่อยๆ ให้มันครบฉาก มีล้นบ้างก็ดีกว่าหยุดเล่นตอนที่เขายังถ่ายกันไม่เสร็จ
Edward G. Robinson ได้จากโลกนี้ไปในอีก 12 วันถัดมา หลังการถ่ายทำหนังเรื่องนี้จบลง ก็ต้องขอแสดงความไว้อาลัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ และขอชื่นชมจริงๆ ว่าสปิริตในการแสดงยิ่งใหญ่มาก เพราะระหว่างถ่ายทำเขาไม่บอกใครเลยครับว่าเป็นมะเร็ง นอกจาก Heston คนเดียว เนื่องจากไม่อยากรบกวนใคร
บทสรุปของหนังจะว่าไปก็ชวนช็อคเอาเรื่องครับ โดยเฉพาะที่มาที่แท้จริงของ “ซอยเลนท์ กรีน” เวเฟอร์สีเขียวประทังหิวเหล่านั้น
หนังสะท้อนความจริงที่เราควรตระหนักครับ เพราะเรื่องประชากรเพิ่มขึ้นจนล้นโลกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด ขนาดทุกวันนี้ประชากรยังไม่ถึงขั้นล้นแต่ทรัพยากรของโลกก็ร่อยหรอลง ธรรมชาติก็แปรปรวนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เรากระทำต่อโลก จนโลกต้องปรับตัว และสุดท้ายคนที่โดนผลลัพธ์เต็มๆ ก็คือมนุษย์อย่างเรานี่แหละครับ (รวมถึงสัตว์โลกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกด้วย)
หนังเรื่องนี้อายุปาเข้าไป 40 ปี แต่เรื่องที่เล่านั้นก็ยังร่วมสมัยครับ เพราะปัญหาประชากร, ทรัพยากรธรรมชาติ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังมีให้เห็น แต่ถ้าถามว่าจากวันนั้นถึงวันนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงในด้านดีหรือร้ายก็คงต้องบอกว่าแล้วแต่คนมองครับ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีนั้นก็มี (คนมีจิตสำนึกต่อธรรมชาติมากขึ้น, องค์กรเพื่อโลกมาขึ้น) หรือจะมองว่ามันไม่เปลี่ยนเลยก็ได้ (เพราะคนที่ยังไม่ใส่ใจธรรมชาติก็ยังมี หรือคนที่ตั้งหน้ากอบโกยจากธรรมชาติก็ยังอุดมอยู่)
แต่ผมก็อยากมองในด้านดีครับว่า อย่างน้อยถ้าโลกไม่ถึงกับมีแต่คนเห็นแก่ตัว จนไม่เหลือคนที่พยายามช่วยโลกอยู่เลย มันก็ยังพอมีความหวัง เพราะคนที่พยายามทำสิ่งดีก็ยังมีครับ คนที่ได้รับรู้แนวคิดดีๆ และนำไปคิดต่อ นำไปปฏิบัติต่อก็ยังพอมี
ในมุมหนึ่งบทสรุปเกี่ยวกับ “ที่มาของซอยเลนท์ กรีน” มันก็สมเหตุผลน่ะนะครับ เมื่อโลกประชากรล้น เมื่อโลกมีปัญหาเรื่องทรัพยากร แล้วจะให้ทำอย่างไรเพื่อมอบทางออกให้กับโลก?
ทางหนึ่งก็คือบทสรุปของหนังนั่นแหละครับ
ผมเลยมองว่าจุดจบของหนังนั้นก็เป็นการเตือนมนุษย์อยู่กลายๆ คล้ายๆ ตอนจบของ Planet of the Apes นั่นลืะครับ
ไหนๆ มีคนเตือนแล้ว ก็ควรฟังควรคิดต่อกันสักหน่อยนะครับ อย่าให้เรื่องจริงมันตรงกับในหนังเลย… เอ หรือมันกำลังจะเกิดขึ้นหนอ?
สองดาวครึ่งครับ
(7/10)
หมวดหมู่:รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, หนังแนะนำ Recommended, Mystery, Sci-Fi, Thrillers