รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

Ladies in Lavender (2004) ให้หัวใจเติมเต็มรักอีกสักครั้ง

1374993997

นานมาแล้วผมเคยดูหนังเรื่อง Harold and Maude แล้วก็เกิดอาการกระอักกระอ่วนใจพอประมาณ เมื่อพบว่าหนังเกี่ยวกับความรักระหว่างหญิงชราวัย 70 กว่ากับหนุ่มวัยละอ่อนอายุ 20 ต้นๆ

ครั้นพอดูจบก็รู้สึกชอบครับ เป็นหนังที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจ และที่ชอบมากคือหนังถือว่าเปิดโลกให้กับผม สะท้อนความจริงให้คนดูเช่นผมได้รับรู้ว่านี่เป็นหนึ่งในเรื่องราวนับร้อยพันที่มีจริง เกิดได้จริง แต่เราไม่เคยรู้ หรือไม่ก็ด้วยค่านิยมในสังคมที่กันเราออกจากเรื่องเหล่านี้

ส่วนหนึ่งที่ผมกระอักกระอ่วนในตอนแรกก็คงเพราะเราไม่คุ้นกับเรื่องนี้ เพราะเรื่องตรงหน้ามันขัดกับ “มาตรฐานอัตโนมัติของจิตใจเรา” ที่เราถูกหล่อหลอมให้คิด (ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ว่าการรักต่างวัยเป็นอะไรที่แปลก ผิดปกติและผิดธรรมชาติ

แต่เมื่อเราโตขึ้น ผ่านอะไรมากขึ้น เห็นมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เราก็ตระหนักว่าขอบเขตของ “ธรรมชาติ” นั้นกว้างใหญ่เหลือเกิน

ธรรมชาติอันแท้จริง” กว้างใหญ่กว่า “ธรรมชาติตามนิยามของเรา” มากนัก จนบางขณะก็อดหัวเราะตัวเองไม่ได้ยามเราเห็นเรื่องไหนที่ไม่คุ้นแล้วก็บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันผิดธรรมชาติ เพราะจริงๆ แล้วอะไรก็ตามที่มันเกิดได้ใต้ร่มเงาแห่งธรรมชาติบนโลกเรานี้ ก็ถือเป็น “เรื่องธรรมชาติ” ได้ทั้งหมดนั่นแหละ

พอคิดไปก็ลองย้อนดูตัวเองว่าสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแปลกยามได้รู้เรื่องเกี่ยวกับ “คนแก่รักกับเด็ก” นอกจากค่านิยมที่ติดหัวแล้ว ก็อาจเพราะข่าวสารด้านลบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรียกว่ามักได้ยินแต่มุมไม่ดี ครั้นมีมุมธรรมดาสามัญว่าด้วยคนแก่รักกับเด็ก คนเราก็ยังขยันมองลบทั้งที่เนื้อความเรื่องราวมันไม่มีเรื่องลบสักหน่อย เช่นมองคนแก่ไม่ดี แก่ไม่อยู่ส่วนแก่บ้าง หรือมองว่าเด็กคบหาเพราะหวังทรัพย์สมบัติบ้าง จนทำให้เราหลงเพลินคิดตามในเชิงนั้น ว่าคนแก่รักกับเด็กนั้นมันไม่มีทางจะดีไปได้หรอก

บางครั้งความเห็นหรือมุมมองที่สังคมนั้นๆ มีต่อเรื่องหนึ่งๆ มันสะท้อนทิศทางวิธีคิดของสังคมนั้นๆ มากกว่าจะสะท้อนเรื่องที่สังคมกำลังพูดถึงเสียอีก

อย่างไรก็ดีผมรู้สึกขอบคุณหนัง Harold and Maude ที่มีส่วนพอสมควรในการปูความคิดของผมให้อิ่มไปกับหนังเรื่องนี้ได้

MV5BMzkwNTE0ZjktNDQyYS00OTE4LWJmZmMtZTg0MGIxNmMxZDE3XkEyXkFqcGdeQXVyMTAyNDU2NDM@._V1_SY1000_CR0,0,1333,1000_AL_

Ladies in Lavender เล่าถึงสองพี่น้องสูงวัยชาวอังกฤษ เจเน็ท (Maggie Smith) กับเออร์ซูล่า (Judi Dench) ที่อยู่กันแบบง่ายๆ ในบ้านริมชายหาดหลังงาม ใช้ชีวิตอย่างช้าๆ ตามประสาคนไม้ใกล้ฝั่ง แต่แล้ววันหนึ่งก็มีชายหนุ่มยามว่าแอนเดรีย (Daniel Brühl) หมดสติลอยมาเกยหาด สองพี่น้องก็ช่วยกันปฐมพยาบาลจนเขารอดตาย จากนั้นพวกเธอก็ช่วยกันดูแล ให้ความเป็นกันเองกับเขา ซึ่งเออร์ซูล่านั้นดูจะสนใจเขาเป็นพิเศษ จนเจเน็ทดูออกว่าเออร์ซูล่ากำลังมีความรู้สึกดีๆ เกิดกับพ่อหนุ่มคนนี้อย่างแน่นอน ยิ่งพ่อหนุ่มแอนเดรียมีความสามารถเชิงไวโอลินอย่างยอดเยี่ยมด้วยแล้ว เธอก็ยิ่งหลงในเสน่ห์ของเขามากขึ้นไปอีก

พอเวลาผ่านไปก็มีสาวสวยนางหนึ่ง (Natascha McElhone) ทราบถึงความสามารถเชิงไวโอลินของแอนเดรีย จึงพยายามติดต่อเขาผ่านทางสองพี่น้อง พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์ว่าอยากพาแอนเดรียไปสร้างชื่อด้วยการเล่นไวโอลินให้กับวงใหญ่ในเมือง… แต่นั่นก็หมายถึงแอนเดรียจะต้องจากพวกเธอไปตลอดกาล…

แล้วบทลงเอยจะเป็นเช่นไร ก็ลองติดตามได้ในหนังนะครับ

ตัวหนังนั้นเดินเรื่องแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรหวือหวา พลังสำคัญย่อมอยู่ที่ฝีมือของเหล่านักแสดงที่ถือเป็นรุ่นเทพทั้งนั้น ไม่ว่าจะ Dench, Smith หรือดารารุ่นเก่าฝีมือดีอีกรายอย่าง David Warner ในบทคุณหมอที่มาช่วยดูแลแอนเดรีย หรือดารารุ่นใหม่อย่าง Brühl ก็ถ่ายทอดบทหนุ่มน้อยหัวอิสระได้อย่างดี

ผมชอบการแสดงของ Dench มากครับ แม้ภายนอกเธอจะเป็นหญิงชราอายุคราวยายของแอนเดรีย แต่สีหน้า แววตา ท่าทางมันสื่อชัดเจนว่าเธอรู้สึกพิเศษต่อเขาแค่ไหน และมันไม่ใช่รักแบบคนแก่ตัณหากลับนะครับ ไม่ใช่เลย แต่มันคือรักอันบริสฺุทธิ์ รักที่สวยงามที่ผู้หญิงสักคนหนึ่งจะมีให้ชายคนหนึ่งได้ ในหลายวาระ Dench สามารถถ่ายทอดแววตาประหนึ่งดรุณีแรกแย้มที่เพิ่งริรักใครสักคนเป็นครั้งแรกได้อย่างน่าทึ่ง

ในขณะที่ Brühl ก็ถ่ายทอดบทแอนเดรียได้อย่างดีครับ นั่นคือเขาไม่ใช่พระเอกจ๋า ไม่ใช่สุภาพบุรุษมาจุติ แต่เขาคือผู้ชายทั่วไปที่มีทั้งความน่ารัก มีเสน่ห์และอารมณ์ขัน พอๆ กับที่มีโทสะ และความเป็นตัวของตัวเอง

ระหว่างดูหนังดำเนินไป หนังทำสำเร็จครับในการสื่อให้เราเห็นอารมณ์รักของเออร์ซูล่า สื่อให้เราเห็นว่าแอนเดรียก็มีความรู้สึกดีๆ ให้เธอ (แต่ไม่ใช่ความรู้สึกแบบเดียวกันกับเออร์ซูล่า) สื่อให้เราเข้าใจในสายสัมพันธ์จากมุมมองของแต่ละคน และสื่อให้เราตระหนักล่วงหน้าว่ารักนี้จะลงเอยเช่นไรในท้ายสุด

จังหวะของหนังเรื่องนี้ก็คือหนังชีวิตขนานแท้ครับ ไม่ได้มีอะไรหวือหวา ไม่ได้เร่งเร้าหรือปรุงแต่งบีบน้ำตาอะไรให้มาก แต่ถ่ายทอดอออกมาเสมือนเรากำลังนั่งดูชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ได้เห็นเขารู้จักกัน พบปะสนทนา มีทั้งเรื่องชื่นใจและเรื่องชวนหม่นหมอง ซึ่งมันก็คือธรรมดาของชีวิตคน แต่สำหรับหลายคนที่มักนิยามว่าหนังควรมีรสชาติแตกต่างจากของเดิมๆ ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตจริง หนังเรื่องนี้ก็อาจไม่ใช่หนังน่าดูสำหรับนิยามของท่านก็ได้

ยอมรับว่าประหลาดใจพอตัวเมื่อรู้ว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ Charles Dance นักแสดงรุ่นเก่าอีกท่านที่นักดูหนังสมัยใหม่อาจไม่คุ้นชื่อและไม่คุ้นหน้า แต่ถ้าเป็นคอหนังยุค 80 – 90 ก็น่าจะพอจำได้จากบทตัวร้ายใน The Golden Child และ Last Action Hero อีกทั้งยังเคยแสดงเป็นเอียน เฟลมมิ่ง ผู้ประพันธ์นิยายเจมส์ บอนด์ในหนังเรื่อง Goldeneye ด้วย (คนละเรื่องกับ Goldeneye ที่ Pierce Brosnan แสดงเป็นเจมส์ บอนด์นะครับ)

ซึ่งจากลีลาการกำกับก็นับว่าเขาทำหน้าที่ได้ดีครับ เล่าเรื่องได้ชัด ดูง่าย แต่อาจไม่รวดเร็วฉับไวทันใจคนยุคใหม่ และอาจไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเตะตาเท่านั้นเอง

1375027690

ผมรู้สึกชอบบทสรุปของเรื่องมากทีเดียวครับ หนังเริ่มต้นอย่างเหงาๆ และจบลงด้วยอารมณ์ระดับใกล้ๆ กับตอนต้นเรื่อง ให้อารมณ์ที่น่าสนใจดีนะครับ เหมือนเราเพิ่งได้รับรู้ช่วงเวลาอันแสนพิเศษช่วงหนึ่งของเออร์ซูล่า แม้มันจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แม้มันจะไม่ใช่สิ่งถาวร แต่มันก็คือความทรงจำหนึ่ง คือเหตุการณ์ที่เธอยินดีเป็นส่วนหนึ่งของมัน แม้ผลข้างเคียงของการเป็นส่วนหนึ่งนั้น จะเป็นน้ำตาและความไม่สมหวังก็ตาม

แต่ประสบการณ์ที่มักจะตราตรึงอยู่ในความทรงจำของมนุษย์ส่วนใหญ่นั้น ก็มักเป็นอะไรทำนองนี้มิใช่หรือ

สิ่งที่น่าเรียนรู้ในหนังเรื่องนี้ นอกจากความจริงง่ายๆ ที่ว่าหญิงชราก็รู้สึกรักคนหนุ่มๆ ได้แล้ว ก็ยังมีเรื่อง “สิ่งสำคัญที่ช่วยประคองให้เออร์ซูล่าผ่านพ้นช่วงแห่งคราบน้ำตามาได้” สิ่งที่ว่าก็คือความรักที่พี่น้องของเธอมีให้ครับ นั่นคือเจเน็ทที่คอยเคียงข้างเธอตลอด ยามหน้าเศร้าก็จะถามไถ่ว่าเป็นอะไร ยามร้องไห้ก็พร้อมจะช่วยโอบกอดและซับน้ำตา

หากกะเทาะเนื้อเรื่องดีๆ ก็จะพบว่าหนังเรื่องนี้ว่าด้วยความรักในหลากหลายมุมครับ อย่างรักแก่-หนุ่ม รักหนุ่มสาว (ระหว่างแอนเดรียและสาวอีกคน) และรักของพี่น้องซึ่งมีสีสัน รสชาติ และผลลงเอยที่ต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดก็คือ “ธรรมชาติแห่งรัก” ที่เกิดได้หลายแบบ ไม่มีขอบเขตหรือกฎเกณฑ์ตายตัว (ไม่นับกรอบที่มนุษย์กำหนดขึ้นมานะครับ) และโดยธรรมชาติแห่งรักแล้ว ผลที่ได้ย่อมมีทั้งสมหวัง ผิดหวัง บางรายก็สมหวังก่อนแล้วค่อยผิดหวังตาม หรือบางรายก็ผิดหวังก่อน มีอุปสรรคก่อนแล้วค่อยสมหวังตาม

เมื่อลองคิดดูแล้ว ความรักครั้งหนึ่งๆ จะเป็นเช่นไร ก็มีมนุษย์นั่นแหละครับที่เป็นตัวแปรสำคัญ แม้เรามักจะคิดว่ารักมีพลัง รักสามารถชักใยให้เราทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ จนเหมือนกับเรานั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีความรักและอารมณ์เป็นนายเหนือชีวิต

แต่หากมองดูดีๆ แล้ว จะพบว่าความรู้สึกรักอาจเกิดในใจเราก็จริง แต่ส่วนการตัดสินใจว่ารักแล้วจะทำอย่างไรต่อนั้น ธรรมชาติในตัวเรานั่นแหละเป็นผู้ชักนำ รักเป็นเพียงสารตั้งต้นที่ถูกใส่เข้ามา มันจะมีผลการทดลองเช่นไรนั้น ก็ผันแปรได้ด้วยใจเรา ความคิดเรา และตัวตนของเรา

บางคนเมื่อ “รัก” แล้วก็เลือกจะ “ให้” ตามตัวตนดั้งเดิม

แต่บางคนเมื่อ “รัก” แล้วเลือกจะ “ครอบครอง” นั่นก็เพราะเราต้องการเช่นนั้น หาใช่รักสั่งการ แต่เพราะใจสั่งมา

ผมชอบที่ในที่สุดแล้วเออร์ซูล่าจะทำใจยอมรับ แม้ผลจะไม่ใช่ความสุขแบบที่เธอต้องการ ไม่เพ่งโทษใครหรืออะไร ไม่โทษแม้แต่ “ความรัก

และผลสุดท้ายที่เราได้พบในหนังนั้นก็ถือเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า รักในครอบครัวนั่นแหละที่จัดว่ายั่งยืนอย่างยิ่ง และใครที่ยังมีรักในครอบครัวอยู่ ก็จะสามารถรับมือกับเรื่องต่างๆ ได้ เยียวยาใจที่บาดเจ็บได้เร็วขึ้น

ถือเป็นหนังที่เหมาะสำหรับคอแนวดราม่า ยิ่งถ้าชอบดาราลายครามอย่าง Smith และ Dench แล้วล่ะก็ ขอบอกครับว่าไม่ควรพลาด

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)