บางสิ่งยิ่งเห็นชัด ก็จะยิ่งคลุมเครือ และบางสิ่งยิ่งคลุมเครือ ก็จะยิ่งเห็นชัด
ในชีวิตประจำวันของคนเรา แม้ทุกอย่างจะสามารถเห็นได้ง่าย มองได้ชัด มันก็อาจมีหมอกบางชนิดปิดบังตัวตนที่แท้จริงของเรา ซ่อนความคิดความเชื่อบางอย่างไว้ลึกๆ ภายใน
ครั้นยามเจอวิกฤติ ชีวิตผิดปกติ สังคมอลหม่าน สถานการณ์คลุมเครือ ยามนั้นอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ชักนำเอาตัวตนจริงๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ให้ออกมาโลดแล่น
ความชัดเจนที่คลุมเครือ… ความแน่นอนที่พร้อมผันแปร… เหล่านี้คือสิ่งธรรมดาบนโลก
จริงที่ The Mist คือหนังสัตว์ประหลาดบุกเมืองที่หากดูเผินๆ มันก็อีหรอบเดิมๆ ครับ ต้องมีสัตว์ร้ายเพ่นพ่าน มีคนตายอนาถ มีคนรอดหวุดหวิด มีคาวเลือดคละคลุ้ง
แต่พอมองให้ลึกก็ตระหนักได้ว่าสัตว์ประหลาด ความตาย ความตื่นเต้นและสยดสยอง คืออาหารจานรอง เพราะจานหลักจริงๆ คือ “เรื่องจิตใจของผู้คน”
คนกำกับคือ Frank Darabont เจ้าของผลงาน The Shawshank Redemption, The Green Mile , The Majestic และมีส่วนร่วมกับซีรี่ส์ซอมบี้เจาะใจคนอย่าง The Walking Dead (แกทำเรื่องไหนต้องมี The นำหน้าเสมอ ยกเว้น Buried Alive งานกำกับหนังยาวเรื่องแรก เรื่องนั้นแม้จะทำลงทีวี แต่คุณภาพนับว่าดีมีระดับ)
หนังสร้างจากนิยายขนาดสั้น (หรือเรื่องสั้นขนาดยาว) ของ Stephen King โดย King ได้ไอเดียตอนเขากับลูกชายไปซื้อของเข้าบ้านในวันหลังจากที่เกิดพายุใหญ่ ขณะที่กำลังเลือกขนมปังฮอทด็อกอยู่นั้นในหัวก็แล่นเกิดจินตนาการว่าถ้านาทีนั้นมีไดโนเสาร์บินได้โผล่เข้ามามันจะเป็นเช่นไร แล้วสมองก็แล่นต่อจนถึงตอนจ่ายเงินที่แคชเชียร์ เขาได้พล็อตคร่าวๆ ว่าด้วยคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องติดอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากข้างนอกมีสัตว์ประหลาดสารพัดรายล้อมพวกเขาอยู่ แล้วเขาก็กลับไปปั่นงานจนได้เป็นเรื่องลงตีพิมพ์ในปี 1980
แล้ว Darabont ก็ได้อ่านครับ สมัยนั้นเขากำลังอยากเป็นผู้กำกับหมายมั่นจะหาบทดีๆ มาทำ และ The Mist คือพล็อตที่เขาชอบจนอยากเอามาประเดิมกำกับเป็นงานแรก แต่เขาก็ตระหนักว่าในตอนนั้นงานเทคนิคหลายๆ อย่างยังไม่พร้อม เลยหันไปทำหนังที่ดีได้โดยไม่ต้องพึ่ง Effect อย่าง The Shawshank Redemption แทน (ซึ่งก็มาจากงานของ King เช่นกัน)
จากนั้นก็ต่อด้วย The Green Mile และ The Majestic จนถึงเดือนธันวาคม ปี 2004 Darabont เริ่มดัดแปลงนิยาย The Mist ให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ พร้อมเสริมตอนจบลงไปให้สมบูรณ์ (เนื่องจากนิยายจบแบบให้คนดูเอาเป็นคิดต่อเองวง่าชะตากรรมตัวละครที่เหลือจะลงเอยอย่างไร) พอเขียนเสร็จก็เอาโปรเจคท์ไปเสนอสตูดิโอหลายแห่ง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องปล่อยให้ตอนจบเป็นอย่างที่เขาเขียนไว้ ห้ามเปลี่ยนเด็ดขาด ทีนี้สตูดิโอใหญ่ๆ ก็ไม่อยากรับครับ จนมาสุดที่ Dimension Films อันเป็นบริษัทเดียวที่ยอมตกลงตามเงื่อนไข
สำหรับ The Mist ก็ว่าด้วยหมอกลึกลับที่คืบคลานมาปกคลุมเมืองทั้งเมืองเอาไว้ ซึ่งถ้าเป็นหมอกธรรมดาก็ไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่เผอิญมันมีบางสิ่งอยู่ในนั้น และมันก็พร้อมฆ่ามนุษย์ให้ตายอย่างสยดสยองอีกต่างหากด้วย
ทีนี้ก็มีคนกลุ่มหนึ่งติดอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องมองผ่านกระจกใสด้วยความผวาว่ามันจะมีอะไรโผล่มาหรือไม่ และมันจะบุกเข้ามาในนี้ได้หรือไม่ แต่ปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กันคือคนในซูเปอร์เริ่มขัดแย้งกันเอง จนเรียกได้ว่าข้างนอกก็น่ากลัวในสายหมอก และข้างในที่เหมือนจะปลอดภัยก็แฝงไว้ด้วยคลื่นใต้น้ำที่น่ากลัวไม่แพ้กัน
พล็อตไม่ได้ใหม่หรือซับซ้อน แต่ Darabont สามารถคุมให้หนังน่าติดตาม มีความสะพรึง สยดสยอง ตื่นเต้นกดดันแบบที่หนังแนวนี้ควรจะมี
และเทคนิคที่เยี่ยมมากๆ คือการใช้พลังแห่งความเงียบสร้างความสยอง มันทำให้เกร็งได้ครับ ดนตรีก็มีเท่าที่จำเป็น นอกนั้นให้เราฟังความเงียบ ให้ความเงียบมันดึงเราไปเป็นส่วนหนึ่งของหนัง ใช้ความไม่สงบที่แฝงด้วยความสงบ สะกดจิตใจเราให้ตื่นเต้นตามไปด้วยได้
ส่วนช่วงไหนที่ไม่เงียบหนังก็จะมาพร้อมเรื่องชวนกดดันทั้งจากสัตว์ร้ายและคนกันเอง เรียกว่าหนังดูแล้วเครียดใช้ได้ครับ
ด้าน Effect ของหมอกหรือสัตว์ประหลาดทำได้ดีจนน่าขนลุกค ยิ่งเจ้าตัวที่โผล่มารอบแรกนี่ก็เล่นเอาผวากันไป น่ากลัวจริงๆ ครับ หรือตอนที่เดวิด เดรย์ตัน (Thomas Jane) เห็นหมอกครั้งแรกที่ร่องเขาแถวบ้าน เจ้าหมอกที่ว่านั่นก็ดูน่ากลัวไม่น่าไว้ใจตั้งแต่แรกเลยเหมือนกัน ดังนั้นการที่ Darabont รอก็ถือเป็นการรอที่ดีครับ เพราะถ้าสมัยก่อน Effect ยังไม่ดี อาจจะไม่สามารถเนรมิตสิ่งน่ากลัวออกมาได้ดีขนาดนี้
ทีเด็ดของหนังคือการสร้างความสยองไปพร้อมๆ กับการบอกเล่าจิตใจของมนุษย์ ในหนังเราจะได้เห็ทั้งคนกล้า คนดี คนมีน้ำใจ คนกลัว คนขลาด คนเขลา และคนคลั่ง มาอยู่รวมกันในที่แคบๆ
หลังจากนี้มีสปอยล์ครับ ไม่อยากทราบไม่ควรอ่านครับ
แน่นอนว่าตัวละครที่ทุกคนต้องจำได้ก็คือ คุณนายคาโมดี้ (Marcia Gay Harden) หญิงกลางคนคลั่งศาสนา (ที่ชวนให้นึกถึงแม่ของแครี่ ไวท์ในนิยายเรื่อง Carrie ขึ้นมาตะหงิดๆ) เธอกล่าวว่าเธอเชื่อในพระเจ้าและอ้างคัมภีร์บอกเล่าให้ทุกคนเชื่อว่านี่คือวันสิ้นโลก ซึ่งตอนแรกคนเชื่อเธอก็มีไม่เยอะ แต่เพราะสิ่งที่เธอพูดมันถูกต้องเป็นจริงไปหลายเรื่อง จึงมีคนค่อยๆ เชื่อเธอมากขึ้นๆ
เจ๊คาโมดี้ทำให้ผมนึกถึงอะไรรู้ไหมครับ… หมอดูหรือผู้ที่บอกว่าตัวเองมีร่างทรง มีพลังพิเศษ ฯลฯ
จริงครับว่าสิ่งที่เจ๊แกพูดมันเกิดขึ้นตามนั้น ไม่ว่าจะความตาย การบุกเข้ามาของสัตว์ร้าย และความน่าสะพรึงหลากรูปแบบ จนคนเชื่อมากขึ้นว่าเธอรู้จริง และเธอคือผู้ที่จะนำทางทุกชีวิตในซูเปอร์นี้ไปสู่ทางรอดได้
แต่ลองมองอีกแง่หนึ่ง เจ๊แกคงไม่ใช่คนเดียวที่ทำนายถูกหรอกครับ เชื่อว่าหลายคนในที่แห่งนั้นก็คิดว่าเรื่องเหล่านั้นมันจะเกิดขึ้นเหมือนกัน หรืออย่างคนดูหนังสัตว์ประหลาดเยอะๆ ก็เดาในสิ่งเหล่านี้อย่างไม่ยากเย็น
แต่กระนั้นคนก็ยังเชื่อเจ๊แก เพราะเจ๊พูดไม่หยุด แล้วมันก็ตรงตามนั้น อีกทั้งยังอ้างถึงสิ่งเหนือธรรมชาติเช่นพระเจ้าอยู่ตลอดทุกนาที ในสภาวะแบบนั้นคนมากมายก็ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยว ต้องการผู้นำทางสักคน ยิ่งถ้าใครใช้ Back Up เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติก็จะยิ่โน้มน้าวคนอื่นง่ายขึ้นไปอีก
เหมือนหมอดูน่ะครับ พวกเขาจะทำนายสิ่งที่มันควรจะเกิดและเป็นไปได้ พร้อมทั้งอ้างพลังวิเศษ แล้วพอมันตรงก็จะถึงว่าหมอดูแม่น ทั้งที่จริงๆ แล้วแทบทุกเรื่อง หากเรามีสติในการศึกษาเรียนรู้ค้นคว้าเกี่ยวกับมันเพียงพอ จากนั้นก็ใช้สติวิเคราะห์ตรองดู เราก็สามารถทำนายเหตุการณ์ได้เหมือนกัน
เป็นความจริงอีกประการครับว่าระหว่างการวิเคราะห์เรื่องสักเรื่องหนึ่งโดยไม่อ้างใครเป็น Back Up นอกจากบอกว่าเราคิดเอง กับการบอกผลทำนายโดยอ้างว่ามีอะไรศักดิ์สิทธิ์มาเป็น Back Up ลองคิดดูครับว่าคนเราจะเชื่อใครมากกว่ากัน…
ในมุมหนึ่งการศรัทธาในพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ตามเพื่อสร้างพลังใจ เพื่อช่วยคนที่ล้มให้มีแรงลุก ใช้ขจัดความกลัว ก็นับว่ามีคุณค่า แต่หากเราใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อสนับสนุนสิ่งที่เราคิด เพื่อเอาชนะหรือยกตนข่มคนอื่น เพื่อสร้างพรรคสร้างพวก นั่นจะถือเป็นการใช้ศรัทธาในทางที่ถูกหรือเปล่า
จากการอ่านนิยายของ King พบว่าเขามักแทรกตัวละครที่คลั่งศรัทธาในพระเจ้า คลั่งลัทธิ หรือหมกมุ่นในอะไรสักอย่างอย่างผิดๆ และกลายเป็นตัวอันตรายในที่สุด อย่างแม่ของแครี่ ไวท์ ในเรื่อง Carrie, แอนนี่ วิลค์ส ใน Misery และ เหล่าเด็กคลั่งแห่งทุ่งข้าวโพดใน Children of the Corn เป็นต้น
เหมือน King จะพยายามเตือนผู้คนผ่านนิยายของเขาว่า การจะเชื่อในอะไรนั้นควรระมัดระวัง อย่างมงายหมกมุ่นจนถึงขั้นคลั่ง ไม่เช่นนั้นเราอาจลงเอยเป็นตัวอันตรายในนิยายชีวิตจริงของตัวเองหรือของใครคนอื่นก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน King ก็ยังเตือนให้เราตระหนักว่าโลกนี้มีความเชื่อหลากหลายมากมายนัก บางอันก็ดี ที่มุ่งหมายให้เราตื่นรู้มีสติก็มาก แต่บางอันก็มุ่งครอบงำเราอย่างแยบคาย ซึ่งความเชื่อลักษณะนี้มักอาศัยยามที่เราอ่อนแอที่สุด ตื่นกลัวที่สุด แล้วก็ฉวยโอกาสหว่านล้อมตะล่อมคำให้เราตกเป็นทาสในความเชื่อนั้น ประดุจแมงมุมที่หว่านใยที่แสนบางเบา แต่กว่าเราจะรู้ตัวเราก็ดิ้นไปไหนไม่รอดแล้ว
หนังเรื่องนี้ชี้ชวนให้เราเข้าใจธรรมชาติยามหวาดกลัวของมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจครับ ที่เรารู้ไว้ก็เพื่อเข้าใจคนอื่น ว่าทำไมยามที่เขาเจอปัญหาชีวิต หรือเจอเรื่องหวาดกลัวมากๆ แล้วบางทีเขาถึงหลงกลเชื่อคนที่มาปอกลอกต้มตุ๋นได้ง่ายๆ และยังชวนให้เราสำรวจตัวเองด้วยครับว่าตอนเราอ่อนแอ ตอนเราเจอป้ญหารุมล้อม เรามีสติพอไหม เรามีพลังพอที่จะรับมือกับการถูกฉวยโอกาสเพื่อครอบงำเราได้หรือไม่
ดูให้ตื่นทางจิต มิใช่หลับทางใจ ถ้ากลัวภาพสยองจะปิดตาไว้ขณะดูก็ไม่ผิดกติกา ขอให้ค้นหาสาระมาต่อยอดให้มากก็พอ
โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากยกตำแหน่งตัวร้ายให้เจ๊คาโมดี้หรอกครับ หากว่ากันโดยเจตนาเธอก็มีเจตนาดี หวังจะรอดและพาทุกคนรอด แต่เพราะเธอคลั่งเกินไป ขาดสติเกินไป เลอะเทอะยึดอัตตาเกินไป แม้เจตนาจะอยู่ในทิศทางดี แต่การกระทำของเธอกลับส่งผลร้ายมากกว่า
บางครั้งเราก็ต้องแยกแยะระหว่างสิ่งที่เขาแสดงออกมากับเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใน เพื่อให้เห็นทุกอย่างได้ชัดเจน ท่ามกลางกระแสแห่งความคุลมเครือ
อยากจะขอยกหลายๆ นิ้วให้กับการแสดงเยี่ยมๆ ของ Harden เล่นได้สุดยอดใกล้ๆ กับที่ Kathy Bates เล่นไว้ใน Misery เลยครับ
ผมคิดเสมอครับว่า ถ้าเจ๊คาโมดี้แกเชื่อในพระเจ้าแบบไม่คลั่งไม่เพี้ยน แทนที่จะปลุกระดมตั้งแง่หาเรื่องคนอื่น หรือหมายเอาชนะคนที่คิดต่าง แต่หากเธอเลือกที่จะรวมใจผู้คน สร้างพลังสามัคคี ชวนให้คนรักกัน ปกป้องกัน รักใคร่กัน มีศรัทธาและเชื่อว่าเราจะต้องรอดพ้นผ่านเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้อภัยกันหากมีอะไรผิดใจ หากคิดต่างไปก็หาทางปรับจูน ฯลฯ บรรยากาศในที่แห่งนั้นคงเปลี่ยนไป และอาจมีจำนวนคนรอดชีวิตมากขึ้นก็ได้
หรืออย่างน้อยถ้ามีคนที่ศรัทธาในพระเจ้าเหมือนกัน และกล้ายืดหยัดด้วยเหตุผล ใช้ความสงบและสติเป็นพลัง ทำตัวให้เหนือเจ๊คาโมดี้แล้วรวมใจคนด้วยพลังด้านดี… ผลลัพธ์มันก็อาจจะเป็นอีกทางหนึ่งก็ได้
ถ้าจะบอกว่าการเชื่อในพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีประโยชน์ใดๆ หรือเป็นเรื่องงมงายก็อาจเป็นคำกล่าวที่หนักไปสักหน่อย เพราะความเชื่อนี้จะสร้างสรรค์โลกหรือทำลายโลก ก็อยู่ที่คนเชื่อนั่นแหละ
มองดีๆ จะพบว่าสิ่งที่เดวิดคิดก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด และสิ่งที่เจ๊คาโมดี้เอ่ยก็ไม่ได้ผิดทุกบรรทัด…
The Mist ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับหนั้งแนวสยองและสัตว์ประหลาดที่ทำให้สนุกได้ ตื่นเต้นได้ และเปี่ยมสาระได้ ทั้งที่มันก็สูตรเดิมเป๊ะ ไม่ว่่าจะสัตว์ประหลาด, Effect ,เลือด, การทดลองลับ และอันตรายที่เกิดได้จากคนด้วยกันเอง
ดาราทุกคนก็แสดงได้ดีครับ แน่นอนว่า Harden เด่นมากๆ คนอื่นก็เล่นได้ดี และดาราขาประจำหนังของ Darabont อย่าง Jeffrey DeMunn และ William Sadler ก็ยังตามมาเล่นกัน ซึ่ง Sadler นั้นเคยพากย์เสียงเป็นเดวิด เดรย์ตัน ใน The Mist ฉบับ Audio Book มาแล้วด้วย
เกร็ดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือแรกเริ่มเดิมที Darabont อยากทำหนังเรื่องนี้ออกมาเป็นขาวดำ เพราะเขารู้สึกได้ตั้งแต่ตอนอ่านนิยายครั้งแรกว่าสไตล์ของเรื่องราวและสัตว์ประหลาดนั้นมันเหมือนสไตล์ของหนังแนวนี้่ในยุค 50 – 60 เขาเลยอยากทำเป็นขาวดำซะ แต่จนแล้วจนรอดด้วยเหตุผลทางการตลาด เขาเลยต้องทำออกมาเป็นสี แต่ใน DVD ฉบับพิเศษเราจะได้ดูหนังฉบับนี้เป็นขาวดำได้ด้วย
สำหรับบทสรุปของหนังนั้นก็ยังคงย้ำธีมที่ Darabont พูดเสมอครับ นั่นคือความหวัง หากเรื่องราวใน The Shawshank Redemption คือตัวอย่างแห่งการไม่ยอมแพ้และมีความหวังจนในที่สุดทุกอย่างก็จบด้วยดี เรื่อง The Mist นี่ก็เป็นตัวอย่างของการทิ้งความหวังทั้งที่เรื่องราวยังไม่ถึงที่สุด ปัญหายังไม่จบ ถนนยังมีให้ไปต่อ แม้ทางข้างหน้าจะมากด้วยหมอกและไม่เหลือน้ำมันแล้วก็ตาม
แต่ก็อีกนั่นล่ะครับ การจะสรุปว่าพวกเขาตัดสินใจผิดก็คงยากจะกล่าว เพราะสำหรับคนที่เจอแต่เรื่องเลวร้ายมามากขนาดนั้น เราจะยังมีความหวังเหลือได้แค่ไหน ลองว่าเราไม่ได้เจอเท่าที่พวกเขาเจอก็คงสรุปไม่ได้ว่าถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างนั้นหรือไม่
แต่หากมองในมุมบวกแล้ว แม้เราจะตกอยู่ในสถานการณ์นั้น เราก็ยังมีชีวิตครับ จริงที่เราอาจตายในไม่กี่นาทีต่อไป แต่เราก็ไม่มีทางรู้ได้ เพราะเราอาจไม่ตาย เราอาจรอด เราอาจแก้ปัญหาได้ เราอาจโชคดี ฯลฯ
บางครั้งการตัดสินใจที่จะจบชีวิตตนหลังทนปัญหามานานแล้วยังหาทางออกไม่เจอ ก็อาจเป็นทางออกที่เหมาะที่สุดสำหรับบางคน แต่เราจะเลือกแบบนั้นหรือไม่ย่อมอยู่ที่ตัวเรา
โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “ความหวัง” และมีสิ่งที่เรียกว่า “ความสิ้นหวัง” มันอยู่ที่เราจะเลือกครับว่าเราจะเลือกเชื่อเลือกรับสิ่งไหน
และในตอนนี้ผมรู้แล้วว่าผมจะเลือกให้ดาวสักเท่าไร
สามดาวครับ
(8/10)
หมวดหมู่:รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, หนังแนะนำ Recommended, Horror, Monster Movies, Sci-Fi