ผมออกจะแปลกใจหน่อยที่หนังเรื่องนี้คนพูดถึงน้อย ทั้งๆ ที่แนวมันยิ่งใหญ่นะครับ คิดดูดาวหางชนโลกน่ะ ดารานำก็มีระดับ อดีตเจมส์ บอนด์ 007 คนแรก Sean Connery แล้วทำไมมันเงียบเชียบขนาดนี้
เนื้อเรื่องตรงไปตรงมาไม่มีอ้อมค้อม เล่าถึงดาวหางขนาดยักษ์ที่บ่ายหน้ามาชนโลกหลังจากเกิดการระเบิดครั้งใหญ่กลางอวกาศ คนบนโลกเลยหาทางเตรียมการรับมือ ก็แน่นอนล่ะครับว่าไม่มีชาติใดเก่งกล้าสามารถเกินกว่าสหรัฐอเมริกา ที่รู้เรื่องก่อนใคร องค์การ NASA เลยมีการตามตัว ดร.พอล แบรดลี่ย์ (Connery) ให้มาร่วมมือกันคิดแผนถล่มดาวหางก่อนมันจะมาถล่มโลก
ผลปรากฏว่าวิธีที่เป็นไปได้คือใช้จรวดยิงถล่มไปยังดาวที่ว่า ซึ่งอเมริกาก็มียานที่ชื่อเฮอร์คิวลิสโคจรรอบโลกอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือลำพังพลังจรวดจากยานเฮอร์คิวลิสนั้นไม่แรงเพียงพอที่จะยับยั้งหายนะครั้งนี้ได้ ต้องมีจรวดอีกสักหนึ่งลูกยิงคู่ไปด้วยกันถึงจะเอาอยู่
จากการสืบไปสืบมาก็ได้ความว่า จริงๆ สหภาพโซเวียต (ในขณะนั้น) มียานที่ชื่อ Peter The Great โคจรรอบโลกเช่นกัน หากได้พลังจรวดจากยานนี้มาช่วยก็มีโอกาสหยุดยั้งเหตุร้ายได้มากขึ้น
แล้วคนทั้งโลกก็ต้องมาลุ้นกัน เนื่องด้วยอเมริกากับโซเวียตไม่ได้เป็นมิตรต่อกันเลย ก่อสงครามเย็นลับๆ มาตลอด มิหนำซ้ำไอ้ยานที่ชื่อเฮอร์คิวลิสของมะกัน ภารกิจเดิมสร้างขึ้นเพื่อเล็งเป้าหมายไปยังโซเวียต หากวันใดโซเวียตก่อการขัดใจอเมริกาขึ้นมาเป็นอันโดนถล่ม เช่นเดียวกับยาน Peter The Great ของโซเวียตที่ไปโคจรอยู่บนสหรัฐ เรียกว่าพร้อมรบกันอย่างแรง แล้วอย่างนั้นโลกจะรอดไปได้ทันเวลาหรือไม่
ฟอร์มหนังเบื้องต้นถือว่าไม่ใช่กระจอก เข้าข่ายรวมดาราเรียกว่ากะเดินตามรอยความสำเร็จของหนังแนวหายนะรุ่นพี่แห่งยุค 70 ที่นำโดย Airport ตามด้วย The Poseidon Adventure, The Towering Inferno, Earthquake และ The Swarm คิดดูดีๆ ไม่รู้คนดูหนังยุคนั้นจิตตกหรือเปล่านะครับ มีแต่หนังทำนายหายนะโลกออกมาเต็มไปหมด ใครคิดมากมีหวังจะทำอะไรทีเป็นได้ผวาว่ามันจะเกิดเหตุร้ายหรือเปล่าหว่า
แต่สำหรับคนทำหนังล่ะจิตไม่ตก โกยเงินกันเข้าไป
Meteor มีที่มาค่อนข้างเป็นวิชาการมากกว่าเขาใครหน่อย สองมือเขียนบท Stanley Mann และ Edmund H. North ดัดแปลงเรื่องโดยเอางานวิจัยที่ชื่อ Project Icarus ของสถาบัน MIT เป็นต้นขั้ว เนื้อในงานวิจัยได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการรับมือกับดาวหางที่อาจพุ่งมาสร้างความเสียหายให้กับโลกของเรา วิธีคือจัดการใช้จรวดมิสไซล์ยิงสกัดมันให้ราบคาบ
ประจวบเหมาะที่ช่วงนั้นหนังหายนะมาแรง แต่ยังไม่มีคนเอาดาวหางไปเล่น สบโอกาสสร้างเงินแบบนี้ไม่ทำก็ประหลาดแล้ว
ท่านคาดหวังอะไรจากหนังแนวภัยพิบัติบ้างล่ะครับ อ้า สงสัยหนีไม่พ้นฉากทำลายล้างแบบตะลึงตาอะไรทำนองนั้นจริงไหมครับ มาว่ากันซื่อๆ เลย ความยิ่งใหญ่ถ้าเอาปัจจุบันมาเป็นมาตรวัดก็จัดว่าสามัญเหลือกิน แต่ถ้าเทียบกับยุค 70 ถือว่าไม่ธรรมดา ที่ค่อนข้างติดตาหน่อยคือตอนที่ดาวหางมันพุ่งลงน้ำ แล้วคลื่นค่อยๆ ซัดเข้าเมืองจนตึกพากันโดนแรงน้ำกระแทกจมอยู่ใต้สมุทร ฉากที่ว่านี่เอามาเทียบกับหนังใหม่แกะกล่องอย่าง The Day After Tomorrow ไม่ได้แน่ๆ แต่ถ้าพูดถึงยุคนั้นจัดว่าไม่เลวครับ พวก Effect นี่เข้าท่า
แต่จุดที่ผมดูแล้วชอบกึ่งสะใจกับไม่ใช่อะไรที่เกี่ยวกับดาวหางเลยครับ กลับเป็นเรื่องการงัดข้อกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจ อเมริกากับโซเวียต อันนี้หนังกัดได้ค่อนข้างอร่อย เช่นมีอยู่ฉากหนึ่งเป็นตอนที่นักวิทยาศาสตร์ระดับสูงชาวโซเวียตถูกเชิญตัวมายังฐานทหารในอเมริกา สองชาตินี้จะคุยกันก็ต้องใช้ล่ามใช่ไหมครับ แต่แทนที่จะใช้คนเดียว ปรากฏว่าฝ่ายนายพลอเมริกันชื่อแอดลอน (Martin Landau) กับนักวิทย์รัสเซีย ดูวอฟ (Brian Keith) มีล่ามข้างกายฝ่ายละหนึ่งคน แต่ละคนก็จะฟังแต่ล่ามตัวเอง ซ้ำยังมีการให้ล่ามฟังอีกฝ่ายแปลให้ดี หากมีอะไรผิดเพี้ยนก็เตรียมจวกกันทุกเมื่อ
ฉากที่ว่านี่ถ้าเป็นเรื่องจริงของออกมากดดันน่าดู แต่หนังนำเสนอแบบเสียดสี คิดแล้วก็หงุดหงิดเล็กๆ เพราะโลกกำลังมีภัย จริงๆ น่าจะหันหน้าเข้าหากัน เพื่อหาทางออก แต่นี่ดันมาหวาดระแวงกันอยู่ได้
จริงๆ อยากแก้ปัญหาก็ไม่ยาก อย่าเป็นศัตรูกันก็หมดเรื่อง
จุดนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการมีมิตรย่อมดีกว่ามีอริ เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นใครจะรู้ว่าเราจำต้องบากหน้าไปหาศัตรูเราให้ช่วยก็ได้ ซึ่งถ้าเราทำให้ศัตรูเป็นมิตรเสียแต่แรก อะไรๆ ก็คงง่ายขึ้นมาก
แต่ในเมื่อเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นมิตรได้ ก็เลือกเป็น “มีศัตรูให้น้อยที่สุด” ก็แล้วกัน
ส่วนตัวหนังก็เรื่อยๆ อืดมากไปหน่อยช่วงกลางๆ กว่าจะเจอฤทธิ์ดาวหางก็ปาเข้าไปหนึ่งชั่วโมงได้ อันนี้ก็เห็นใจเพราะ Effect สมัยก่อนไม่ได้เนี๊ยบเท่าปัจจุบัน เลยต้องถนอมไว้ เห็นเยอะๆ ไม่ดีเดี๋ยวคนดูจับได้ เลยต้องเก็บไว้ในช่วงไคลแม็กซ์เท่านั้น
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการที่หนังมีภัยพิบัติเป็นอุกกาบาตก็คือ ตราบใดอุกกาบาตยังไม่ชนโลก เหตุการณ์ตื่นเต้นย่อมยังมาไม่ถึง ทีนี้ช่วงเว้นว่างที่ว่าหากคนทำไม่สามารถจับเอาเรื่องน่าสนใจมาใส่ ความอยากดูหนังต่อของผู้ชมก็จะลดลงตามลำดับ ก็พอดีเหลือเกินที่หนังดันมีช่วงว่างอืดๆ เยอะเกินไป หนังเลยกึ่งๆ น่าเบื่อไปบ้าง
ยิ่งดูด้วยสายตาคนสมัยนี้คงบอกว่าหนังเชยสุดขีด ไม่เหมือนหนังหายนะรุ่นพี่ที่สนุกสนานน่าติดตามเป็นส่วนใหญ่ เพราะใส่ฉากลุ้นลงมาเรื่อยๆ
เห็นใจผู้กำกับ Ronald Neame ที่ต้องมาเจอโจทย์ยาก หนังมันว่าด้วยดาวหางน่ะครับ เหตุตื่นเต้นเลยไม่มีทางเกิดจนกว่าดาวจะมาชน แต่กว่าดาวมาชนก็ปาเข้าไปค่อนเรื่องแล้ว ระหว่างนั้นถ้าไม่มีเรื่องน่าสนใจเป็นอันจบ แล้วหนังก็ไม่มีเรื่องน่าสนใจจริงๆ ด้วย
เหมือนทีมงานจะเน้นบทส่วนทฤษฎีดาวหางเพียงอย่างเดียว ประเด็นดราม่าอื่นๆ จึงโดนละเลยไปอย่างน่าเสียดาย
Neame เคยมีผลงานแนวภัยพิบัติชั้นเยี่ยมมาแล้วจาก The Poseidon Adventure แต่อันนั้นมันมีเรื่องตื่นเต้นตั้งแต่หนังเปิดเรื่องไปแค่ไม่กี่สิบนาที ซึ่งพอหนังมาถึงช่วงตื่นเต้นเล่น Effect ผู้กำกับ Neame ก็คุมหนังได้ลงล็อคไม่มีปัญหา
ถ้าช่วงแรกๆ หนังใส่เรื่องดราม่า ใส่มิติลงในตัวละครดึงความสนใจคนดูไปพลางๆ ก็คงโอเคกว่านี้เยอะทีเดียว
ปู่ Sean ก็แสดงตามมาตรฐานล่ะฮะ นิ่งๆ ดูเหมาะเป็นนักวิทยาศาสตร์พอตัว, Natalie Wood มารับบททาเทียน่า นิโคเลฟน่า ดองสกายา ผู้ช่วยสาวของนักวิทยาศาสตร์รัสเซีย เป็นล่ามด้วยนั่นแหละครับ ตอนแรกนึกว่าจะมีอะไรกุ๊กกิ๊กตีคู่กับปู่ Sean ซึ่งจริงๆ ตอนจบสรุปเรื่องมันก็บอกว่ามีอะไรกุ๊กกิ๊กกันจริงๆ น่ะแหละ เพียงแต่ระหว่างนั้นมันไม่ได้มีอะไรบ่งบอกเลยว่าสองคนนี้จะปิ๊งกัน เข้าข่ายปิ๊งตามบทไปอีกแล้ว
ดารานอกนั้นมาเล่นแบบเท่าทุน เห็นหน้าแต่ไม่ได้แสดงฝีมือ แม้แต่ Henry Fonda ที่ถูกเชิญมาเล่นเป็นประธานาธิบดีก็ไม่สามารถขโมยซีนอย่างที่คาดไว้
เป็นอันว่านี่คือหนังแนวหายนะที่เน้นความสมจริงมากกว่าเรื่องอื่นๆ … แต่เพราะอย่างนั้นแหละความสนุกเลยพลอยหดหายไปจนเรียบ เพราะมันเหมือนนั่งดูสารคดีช่อง Discovery มากกว่า … จะว่าไปสารคดีช่อง Discoveryยังมันส์กว่ากันเยอะ
พอดูจบเลยเข้าใจว่าเหตุไฉน Meteor ถึงไม่ค่อยได้รับการพูดถึงนัก
ไม่ถึงสองดาวครับ
(5/10)
หมวดหมู่:Action, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Disaster Movies, Sci-Fi