รีวิวหนังสือ

[ อ่านบ้านๆ #15 ] เรื่องของมิสเตอร์ซอมเมอร์ (The Story of Mr Sommer) (Patrick Suskind)

10888801_771608356242045_334272008319780906_n

วรรณกรรมจากเยอรมันครับเพิ่งอ่านจบและบอกได้ว่าประทับใจกับหนังสือเล่มนี้พอสมควร

สไตล์ของหนังสือทำให้นึกถึง The Cather in The Rye ที่ผมเพิ่งแนะนำไป แต่เล่มนี้จะไม่ตรงๆ แรงๆ แบบนั้น เพราะเป็นวรรณกรรมเยาวชน มีภาพประกอบสวยๆ ให้ยลตลอดเล่ม ช่วยให้เห็นเรื่องได้ชัดเจนขึ้น

หนังสือเล่าเรื่องของเด็กน้อยในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งกับเหตุการณ์สำคัญๆ 3 ช่วงในชีวิตวัยเยาว์ของเขา ซึ่งแต่ละช่วงนั้นจะมีชายชรานามว่า “มิสเตอร์ซอมเมอร์” ปรากฏในเหตุการณ์เหล่านั้นเสมอ

เล่มนี้ยาว 116 หน้า (แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ถึง เพราะมีภาพประกอบอีกประมาณ 10 หน้า) เนื้อหาน่าติดตามครับ จุดเด่นอย่างแรกคือการให้หนุ่มน้อยตัวเอกเล่าเรื่องด้วยตนเอง ซึ่งก็เล่าสนุกดี บางครั้งก็มีการนอกเรื่องไหลไปเรื่อย ได้อารมณ์เหมือนกำลังฟังเพื่อนเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เพลินดีครับ

และที่โดนมากสำหรับผมคือเรื่องของเด็กคนนี้มันกระตุ้นบางอย่างในตัวผม มันชวนให้เรานึกถึงเรื่องสมัยเด็กๆ ของเรา ไม่ว่าการแอบชอบใครสักคน, การต้องเลิกเรียนช้าเพราะอาจารย์นัดประชุม, การทนทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ (เช่น เรียนพิเศษที่ไม่ได้อยากเรียน), การไปกลับบนเส้นทางเดิมๆ ระหว่างบ้านและโรงเรียน ฯลฯ อันนี้ทำให้นึกถึง The Body เรื่องสั้นขนาดยาวของ Stephen King ที่เอามาทำเป็นหนัง Stand By Me อยู่เหมือนกัน

นอกจากนั้น เรื่องราวของหนุ่มน้อยในเรื่องชวนให้เกิดคำถามเล็กๆ ในใจว่า “เราเคยเปิดโอกาสให้เรื่องในอดีตทั้งดีและร้ายสอนเราบ้างหรือไม่… เราแปลงมันมาเป็นบทเรียนสักกี่มากน้อย”

บางครั้งเราจำอดีตได้เป็นฉากๆ จำละเอียดกระทั่งว่าใส่เสื้อสีอะไร จำความรู้สึกที่เกิดในตอนนั้นได้… ว่าแต่เราเป็นคนประเภทเอาแต่จำ เอาแต่ย้อนซ้ำอดีตโดยไม่เคยเรียนรู้อะไรจากมันหรือเปล่า?

เราใช้อดีตเป็นมีดเสียดแทงแผลเดิมๆ หรือเราใช้มันเติมเต็มเราให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น?

การเข้าใจวัยเด็กของเราตอนเราโตแล้วไม่ถือว่าสาย เพราะมันคือการเข้าใจตนเอง และที่สำคัญคือ นั่นเป็นพื้นฐานชั้นดีที่จะทำให้เราเข้าใจเด็กรายอื่นๆ ที่พบเจอในปัจจุบัน ไม่ว่าลูกหลานหรือวัยรุ่นคนอื่นในสังคม

และจุดที่โดนใจแบบที่ยังไม่แน่ใจในสาเหตุคือ “เรื่องของมิสเตอร์ซอมเมอร์” นั่นแหละ

ที่บอกว่ายังไม่แน่ใจก็เพราะในหนังสือนั้น แม้จะขึ้นชื่อมิสเตอร์ซอมเมอร์หรา แต่เอาเข้าจริงแม้จะอ่านจบครบทุกหน้า เราก็แทบจะไม่รู้จักเขาเลย (อันนี้รู้สึกตรงกับที่คุณสฤณี อาชวานันทกุล บรรยายไว้ท้ายเล่มเปี๊ยบ)

แต่แม้จะไม่รู้จัก… ก็ใช่จะไม่รู้สึกนึกถึง

อันที่จริงมิสเตอร์ซอมเมอร์คือบทสมทบในเรื่องราวของเด็กน้อยที่เรียกตัวเองตลอดว่า “ผม” สิ่งที่เขาทำมีเพียงเดินไปเรื่อยๆ พร้อมไม้เท้าคู่ใจ หากถอดความถึงสาระในการกระทำของเขา เราอาจไม่เห็นว่าจะมีสาระอะไร..

แต่แม้จะไม่มีสาระ… ก็ใช่จะไม่มีความหมาย

… รู้ไหมครับว่าหลังจากผมพิมพ์บรรทัดบนเสร็จ ผมนั่งยิ้มอยู่คนเดียวราวๆ 3 นาที ก่อนจะพิมพ์บรรทัดนี้ต่อ

3 นาทีนั้นมันมีภาพและเรื่องราวในหนังสือผุดขึ้นมา ภาพประกอบสิบกว่าภาพในเล่มถูกสมองของผมต่อเติมภาพเหล่านั้นเพิ่ม เหมือนจู่ๆ ก็มี MV มิสเตอร์ซอมเมอร์เล่นขึ้นในหัวผม… และมันสวยงามจริงๆ

ใน 3 นาทีนั้นผมรู้สึกถึงความหมายมากมายของมิสเตอร์ซอมเมอร์และหนึ่งในนั้นก็คือ

เด็กหนุ่มคนนั้นกับมิสเตอร์ซอมเมอร์… 2 คน 2 วัย

คนหนึ่งกำลังอยู่ในช่วงเติบโต เบ่งบาน พบพานทั้งสุขและทุกข์ผสมปนเป แล้วสักวันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นก็จะหลอมเราเป็นตัวเขาที่โตขึ้น… จะโตแค่กายหรือโตถึงใจ ย่อมขึ้นกับตัวเขาและสิ่งแวดล้อม

ส่วนอีกคนอยู่ในวัยร่วงโรย สุขและทุกข์มิใช่สิ่งแปลกหน้าแต่มันคือธรรมดาแห่งชีวิต… แต่กระนั้นจะมีคนสักกี่มากน้อยที่จะคุ้นเคยกับมัน…

นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ… “เรื่องของมิสเตอร์ซอมเมอร์”

==============================

#อ่านแล้วขอเล่า ลำดับที่ 15
เรื่องของมิสเตอร์ซอมเมอร์
The Story of Mr Sommer
ผลงานของ พัททริค ซึสคินท์ (Patrick Suskind)
แปลโดย ชลิต ดุรงค์พันธุ์