Mercury Rising หรือ คนอึดมหากาฬ ผ่ารหัสนรก ดูชื่อไทยก็รู้มาแต่ไกลว่าใครนำแสดงไปไม่ได้ นอกจากนาย Bruce Willis คนอึดตลอดกาล นี่ดีใจหน่อยนะครับที่ตอน The Sixth Sense ไม่มีใครอุตริไปตั้งชื่อว่าคนอึดผ่าผี
หนังจับเอาพล็อตเดิมๆ แบบตำรวจที่มีอดีตเลวร้าย ไม่สามารถช่วยชีวิตคนบริสุทธิ์หรือเด็กให้พ้นจากภัยได้ ก็เลยมานั่งอกตรมอยู่ไปแบบซังกะตายไปวันๆ นายตำรวจคนนั้นคือ อาร์ต เจฟฟรี่ส์ (Willis)
แล้วหนังก็แนะนำ ไซม่อน ลินช์ (Miko Hughes) เด็กออทิสติกที่ไม่รับรู้โลกภายนอก ชอบทำอะไรซ้ำๆ และกลัวคนแปลกหน้าอย่างที่สุด เขาได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ดีครับ แต่แล้วความสุขก็เป็นอันหมดสิ้นเพราะไซม่อนดันไปไขรหัสลับทางการที่ชื่อว่า “เมอร์คิวรี่” โดยบังเอิญ รหัสที่ว่านี่สร้างโดยคนระดับสูงอย่าง นายพลนิโคลัส คุโดรว์ (Alec Baldwin) ที่กำลังรับทรัพย์และชื่อเสียงอย่างมากจากการคิดค้นรหัสลับเมอร์คิวนี่ที่ว่ากันว่าทรงอานุภาพและไม่มีใครถอดได้
ทันทีที่คุโดรว์รู้ว่ามีคนแก้รหัสได้ นั่นหมายถึงทุกอย่างเป็นอันพังทลายไปจนสิ้น ดังนั้นทางเดียวที่จะรักษาเงินและเก้าอี้ของเขาได้คือต้องสังหารเด็กคนนั้นซะ
คุโดรว์ก็ส่งคนมาสังหารพ่อแม่ของไซม่อนจนตายเรียบ ส่วนไซม่อนรอดมาได้อย่างหวุดหวิดครับ พอดีที่ได้พบกับตำรวจนักสืบเจฟฟรี่ส์ ตอนแรกเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเด็กคนนี้เป็นอะไร เอาแต่อาละวาดโวยวาย ถามอะไรก็ไม่ตอบ ไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้ เจฟฟรี่ส์เลยต้องกระเตงเด็กคนนี้ให้พ้นจากมือสังหารที่ถูกส่งมาพร้อมทั้งหาทางไขปริศนาตามล่าผู้บงการมาลงโทษให้จงได้
หนังสร้างจากนิยายขายดีของ Ryne Douglas Pearson ซึ่งยำผสมหลายแนวพอดูนะครับ ไหนจะตำรวจอมทุกข์ ตามด้วยการไขคดี ให้ตำรวจมาคู่กับเด็กต้องปกป้องเด็กและไขความลับระดับรัฐบาลอีก จะว่าเป็นสูตรสำเร็จแบบปลอดภัยไว้ก่อนก็ได้ครับ ยังไงก็ออกมาโอเคไม่แหย่เกหรอก แต่จะยอดเยี่ยมน่าดูจนจบหรือไม่อันนี้อยู่ที่รสมือของคนทำ ซึ่งผู้กำกับก็คือ Harold Becker ที่นักดูหนังอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่ถ้าพูดถึงหนังอย่าง Taps, Sea of Love, City Hall และ Domestic Disturbance ก็น่าจะพอคุ้นบ้างนะครับ (แต่เชื่อเหอะ ท่านที่ไม่คุ้นเลยก็มี) เอาเป็นว่าพี่ท่านนี่ชอบจับหนังที่เน้นดราม่า เน้นพลังขับเคลื่อนของตัวละครเป็นสำคัญ ส่วนแอ็กชันจะแน่นหรือไม่ดูเหมือนแกจะไม่ใส่ใจเท่าไหร่
หนังเลยออกมาแบบไม่ได้แอ็กชันยิงกระจายจนหลายคนอาจเบื่อเอาได้ เพราะเดินเรื่องแบบเอื่อยพอควร
หนังยาวเกือบสองชั่วโมงแต่ชั่วโมงแรกทั้งหมดก็อุทิศให้กับการแนะนำให้คนดูรู้จักกับไซม่อน แล้วช่วงต่อมาก็เป็นตอนที่อาร์ตต้องทำความรู้จักกับไซม่อน ให้เขาไว้ใจให้ได้อีก กว่าแอ็กชันจะมีก็ปาเข้าไปครึ่งเรื่อง แล้วที่มีก็มีไม่เยอะแยะ แค่พอหอมปากหอมคอ การคลายปมก็ไม่ได้ซับซ้อน ตอนจบผมเชื่อว่าท่านเดาไว้อย่างไรมันก็เป็นเช่นนั้นแล ไม่พลิกโผ
พูดเหมือนหนังเอื่อยจนไม่น่าดู แต่ผมกลับโอเคกับหนังเหมือนกัน
ครับ คอแอ็กชันผมไม่แนะนำให้ทัศนาหนังเรื่องนี้เท่าไหร่เพราะท่านคงเบื่อ ผมเองรอบแรกที่ดูก็อดเบื่อไม่ได้กับความเอื่อย แต่พอมีโอกาสดูอีกทีใคร่ครวญอีกรอบหนังกลับสอนอะไรบางอย่างให้ผมคิด
คำถามที่ผมลองตั้งเล่นๆ อยากให้ท่านคิดตามคือ สมมติว่าท่านเป็นอาร์ต หรือท่านต้องเจอกับเด็กออทิสติกกำลังตกระกำลำบากตรงหน้าท่านจะทำอย่างไร?
คิดดูว่าการติดต่อกับเด็กออทิสติกบางรายไม่ใช่ของง่าย เขาอาจวิ่งหนีท่าน โวยวายอาละวาด ไม่ใช่เพราะเด็กก้าวร้าวนิสัยไม่ดี แต่เพราะนั่นคืออาการชนิดหนึ่งของกลุ่มโรคนี้
ท่านจะอดทนให้ความช่วยเหลือเขาได้นานแค่ไหน?
การลองดูหนังเรื่องนี้อาจให้คำตอบกับท่านได้ หากท่านดูไปแล้วอยากเดินหน้าไปเร็วๆ ข้ามไปดูช่วงที่มันส์ยิงกัน หรือหงุดหงิดกับอาการง้องแง้งของเด็กไซม่อน นั่นอาจจะเป็นคำตอบต่อคำถามที่ผมถามท่านได้เหมือนกัน
ส่วนตัวผมมองว่าการที่ผู้กำกับ Becker ไม่พยายามเร่งเร้าหนัง ก็เพื่อให้มันดูสมจริงประการหนึ่ง และให้คนดูได้ซึมซับอารมณ์หนังอีกประการหนึ่ง ประมาณว่าให้ท่านเหมือนกำลังเผชิญอยู่กับเด็กออทิสติกจริงๆ ให้เจอกับสถานการณ์แบบนั้นทุกกระบวน แบบเดียวกับที่อาร์ตเผชิญอยู่ นี่ก็เป็นอีกประการคือทำให้เราพอจะตามอารมณ์ความรู้สึกของอาร์ตได้
บอกแล้วไงครับแกเน้นดราม่าและแรงขับเป็นสำคัญ
ดังนั้นไม่ว่าจะฉากที่อาร์ตตามไซม่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าแกจะยอมเข้ามาใกล้ๆ หรือกึ่งทนกึ่งโวยกับไซม่อนตอนที่อาละวาดทุกกิริยาอาการล้วนสื่อถึงตัวอาร์ตทั้งสิ้น
สื่อที่ว่านี่ไม่ใช่หมายความว่าอาร์ตเป็นคนดีที่โลกรอหรอกนะครับ แต่สื่อถึงลำดับพัฒนาการของตัวละครนี้ อย่างช่วงแรกที่อาร์ตลองตามไซม่อนเพราะมันเป็นหน้าที่และพี่แกก็ไม่มีอะไรทำอยู่แล้ว วันๆ เอาแต่นั่งหน้ามู่ทู่จนแทบไม่มีใครคบหาตัวคนเดียวมาแต่ไหนแต่ไร ลองตามเด็กแบบเรื่อยๆ เปื่อยๆ มันก็มีรสชาติชีวิตดี ช่วงนั้นดูก็จะเห็นว่าถ้าไซม่อนโวยพี่อาร์ตก็เอาเรื่องเหมือนกัน แต่พอเริ่มรู้จัก เริ่มดูแลแกมากขึ้น จากเดิมที่มีอดีตฝังใจเกี่ยวกับเด็กเหมือนกัน แกเลยคิดทำดีไถ่โทษ จนพอเรื่องลงท้าย จิตวิญญาณของอาร์ตที่เหมือนจะตายซากไปในเหตุการณ์ผิดพลาดในอดีตก็กลับมามีชีวิตอีกรอบเพราะรู้จักกับไซม่อนนี่แหละ
เขาว่ากันว่าถ้าเครียด ให้รู้จักอยู่กับเด็ก แล้วท่านจะมองโลกได้สดใสยิ่งขึ้น
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นกำไรคิดได้ไม่เลว คือถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าอาร์ตและไซม่อนเป็นตัวเปรียบซึ่งกันและกัน สองคนนี้มีจุดที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือการแยกตัวจากคนอื่น อยู่คนเดียว ในโลกของตัวเอง ไม่ข้องเกี่ยวใคร ต่างกันตรงที่ไซม่อนเป็นเช่นนั้นเพราะอาการออกทิสติก แต่อาร์ตน่ะไม่ใช่ เขาเป็นก็เนื่องจากความเจ็บช้ำในอดีต
นี่ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาร์ตยอมทุ่มกายถวายชีวิตช่วยเด็กคนนี้… ทั้งสองตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวไม่ต่างกัน
จริงๆ แล้วคนแบบอาร์ตก็พบได้ทั่วไปในโลกนะครับ คนสักคนที่เคยมีอดีตอันเลวร้ายแล้วก็เป็นตราบาปจนถึงทุกวันนี้จนไม่อยากรู้จักใคร ไม่อยากมองหน้าผู้ใด ปิดกั้นตัวเองหมด เผื่อจะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆ การปิดตัวเองนี่ไม่ช่วยให้ใครดีขึ้นเลยครับ มีแต่ทำให้สุขภาพจิตแย่ เก็บกดหนักกว่าเก่า
การเยียวยาจากอดีตที่เจ็บปวดที่ดีคือการเรียนรู้จากมัน รู้ว่าอะไรคือปัญหาแล้วพยายามลุกขึ้นใหม่ สู้ต่อไป อาจจะออกไปเผชิญโลกใบใหม่ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่อะไรทำนองนั้น เพื่อเริ่มชีวิตใหม่
ผมจะได้แม่นอย่างหนึ่งว่าหนังเรื่องนี้ครึ่งแรกไม่มีนางเอกเลยนะ จนผมนึกว่าหนังชายล้วนรึไง กระทั่งครึ่งเรื่องค่อนเรื่องถึงได้มีนางเอกโผล่ เธอคือ สเตซี่ย์ เซบริงก์ (Kim Dickens) หญิงสาวที่อาร์ตได้ขอความช่วยเหลือให้ดูแลไซม่อนหน่อย
ตอนแรกก็คิดเหมือนกันว่าผู้กำกับแกพยายามยัดๆ เหมือนให้มีผู้หญิงเข้ามาหรือเปล่า แต่พอดูไปก็ตระหนักว่าที่ตอนแรกไม่มีตัวละครหญิงหรือตัวละครใหม่โผล่ในชีวิตของทั้งอาร์ตและไซม่อนก็เพราะ ทั้งคู่ไม่คิดจะมีปฏิสัมพันธ์กับใครเลยครับ ปิดกั้นตัวเองทั้งคู่ ต้องรอจนตอนท้าย เมื่อน้ำแข็งในใจอาร์ตเริ่มละลาย เขาถึงเริ่มลองเปิดใจอีกรอบ คิดขอความช่วยเหลือจากคนอื่น แม้จะเป็นไปโดยไม่ตั้งใจก็ตาม
อะไรเหล่านี้เลยทำให้ผมมองบวกกับหนังเยอะขึ้น และแน่นอนครับมอง Becker ในแง่บวกมากขึ้น เพราะผมว่าหนังส่วนใหญ่ของแกจะมาแนวนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าคนไปจับไปจ้องส่วนของแอ็กชัน ความลุ้นหรืออย่างอื่นอาจมองว่าไม่ค่อยเต็มที่เท่าไหร่ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะพี่แกมาเต็มที่กับประเด็นเหล่านี้มากกว่าต่างหาก
กินอาหารโดยรู้ใจฝีมือคนปรุงย่อมทำให้อร่อยและเข้าใจธรรมชาติของอาหารจานนั้น เช่กนันครับถ้าเข้าใจรู้ใจสไตล์ของผู้กำกับ เราก็งับสาระเก็บตกจากหนังได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
ที่ร่ายมาเยอะแยะไม่ได้แปลว่าหนังจะไร้ที่ติ เพราะเอาเข้าจริงๆ แม้หนังจะพยายามสื่อ พยายามทำอะไรอย่างที่ผมร่ายไปน่ะ แต่ก็ต้องเข้าใจครับว่าคนมากมายที่อยากได้ความบันเทิงก็พากันนิ่งไปหมด ไม่ได้สนุกอิ่มเอมไปด้วย เพราะการ Weight น้ำหนักระหว่างความสัมพันธ์ตัวละคร กับความบันเทิงมันไม่ใคร่จะไปด้วยกันเท่าไหร่
ต้องว่าอย่างเป็นธรรมว่ามีดีจริงๆ แต่ก็ดีในด้านหนึ่ง ส่วนด้านอื่นๆ กลับออกมาไม่หวือหวานัก ไม่ว่าจะการตามปม หรือการแอ็กชันไล่ล่า ออกมาเรื่อยๆ ไม่น่าเบื่อแต่ก็ไม่ได้น่าตื่นตา
ส่วนดาราไว้ใจได้ครับ Willis ไร้ปัญหาอยู่แล้ว เล่นได้สบายๆ, Baldwin ที่ระยะหลังๆ ชอบเล่นบทโกงเรื่อยก็ดูดีมีราศีสำหรับบทครับ แต่ความฉลาดไม่ร้ายกาจดังคาด เลยทำให้ดีกรีความสนุกในส่วนเฉือนคมของหนังลดลงไปเหมือนกัน
แต่คนที่เล่นดีแบบต้องยกนิ้วให้คือหนูน้อย Hughes ขานี้โผล่หน้าทีไรเล่นบทเด็กน่ารักปกติไม่เป็น ไหนจะต้อนเล่นซะน่าผวาใน Pet Sematary หรือจะตอนเจอกับพี่เฟรดดี้ ครูเกอร์ใน Wes Craven’s New Nightmare แต่ละอันนี่น่ากลัวทั้งนั้น มาเรื่องนี้ก็เป็นออทิสติกอีก เล่นบทปกติไม่เป็นแล้วมั้งเนี่ย แต่เล่นดีนะครับ สมจริงเอาเรื่องเลยล่ะ
โดยสรุปเบ็ดเสร็จ Becker ยังมีจุดยืนที่มั่นคงในหนังเรื่องนี้ล่ะครับ เน้นตัวละครเป็นสำคัญ แต่เรื่องอื่นๆ ยังไม่ใคร่จะลงตัวซะทีเดียว
ถัวเฉลี่ยออกมาเลยอยู่ที่สองดาวนะครับ
(6/10)
หมวดหมู่:Action, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Thrillers